เรื่อง: ศศิธร อักษรวิลัย, ศิชา รุ่งโรจน์ธนกุล
ภาพปก: กิตติยา อรอินทร์
พักหลังมานี้กระแสชาตินิยมดูจะกลายเป็นประเด็นในโซเชียลมีเดียถี่ขึ้นมาอย่างมีนัยยะสำคัญ ทว่ามันแตกต่างไปจากชาตินิยมแบบเดิมๆ ที่เราคุ้น ความชาตินิยมใหม่นี้มีลักษณะผูกติดกับ “ความเป็นไทยใหม่” ซึ่งอิงจากความภูมิใจหรือความผูกพันเชิงอารมณ์ในระดับประชาชนมากขึ้น ไม่ได้กระจุกตัวอยู่กับประวัติศาสตร์ของชนชั้นสูงเหมือนเมื่อก่อน
ไล่มาตั้งแต่การเกิดขึ้นของพันธมิตรชานม กระแสเกลียดชังแรงงานพม่า ความภูมิใจว่าอาหารไทยดีที่สุดในโลก ดรามาเรื่องเคลมวัฒนธรรมระหว่างชาวเน็ตไทยและกัมพูชาที่ดูเหมือนไม่มีวันสิ้นสุด จนถึงเรื่องล่าสุด มีเหตุการณ์โรคไอกรนระบาดในโรงเรียนชั้นนำกลางเมือง แต่ชาวเน็ตกลุ่มหนึ่งกลับตั้งข้อสงสัยว่าต้นเหตุของการระบาดมาจากพวก “ต่างด้าว” หรือเปล่า
กระแสชาตินิยมแบบใหม่ๆ ในโลกออนไลน์เกิดขึ้นมาได้อย่างไร ทำไมคอนเทนต์ประเภทนี้จึงไวรัลง่าย อีกทั้งคนรุ่นใหม่จำนวนหนึ่งที่มีความคิดทางการเมืองแบบก้าวหน้าก็ดูจะอินกับกระแสนี้ด้วย เราควรมอง ‘ชาตินิยม’ อย่างไร และมันไหลลื่นไปจากความเข้าใจเดิมมากเพียงไหน
ประชาไทหาคำตอบเรื่องนี้กับผู้ช่วยศาสตราจารย์ติณณภพจ์ สินสมบูรณ์ทอง อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปัจจุบันลาศึกษาต่อในระดับปริญญาเอกสาขาสังคมวิทยา มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์
นิยามคำว่า “ชาติ” ที่ต่างกัน
ติณณภพจ์ผู้มีความสนใจทางวิชาการเรื่องหลังอาณานิคมนิยมและข้ามชาตินิยมอธิบายว่า กระแสชาตินิยมไม่เคยหายไปไหน และไม่ได้ปรากฏอยู่กับแค่กลุ่มอนุรักษนิยมเท่านั้น แต่ยังรวมถึงกลุ่มก้าวหน้านิยมด้วย ทว่าหน้าตาของชาตินิยมที่ทั้งสองกลุ่มสมาทานนั้นแตกต่างกัน
ในสังคมไทย ชาตินิยมมักถูกให้ภาพว่าเป็นฝั่งตรงข้ามความเป็นสากลนิยม ดังนั้นภาพของชาตินิยมจึงมักถูกผูกติดกับขบวนการของกลุ่มอนุรักษนิยม (Conservatism)
ตัวอย่างเช่น ภาพของการจัดตั้งขบวนการเคลื่อนไหวของคนเสื้อเหลือง หรือพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ในการทวงคืนปราสาทเขาพระวิหาร และ ขบวนการ กปปส. ที่มีแนวคิดต่อต้านประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนแบบสากล โดยใช้ข้ออ้างว่าเราชาวไทยเรามี “ประชาธิปไตยแบบไทย” ของเราเอง
ตรงกันข้ามกับกลุ่มก้าวหน้านิยม (Progressivism) ที่มักจะถูกมองว่าห่างไกลกับคำว่าชาตินิยมพอสมควร เนื่องจากกลุ่มก้าวหน้านิยมถวิลหาในสิ่งที่เชื่อมโยงกับความเป็นสากลนิยมมากกว่า
อย่างไรก็ตาม เราจะเห็นว่าคำอธิบายข้างต้นกลับดูไม่ไปด้วยกันกับกระแสชาตินิยมในหมู่คนรุ่นใหม่ที่เกิดขึ้นมาในโลกออนไลน์มาสักพัก ติณณภพจ์อธิบายว่าเป็นเพราะว่าหน้าตาของความชาตินิยมสำหรับคนรุ่นใหม่นั้นได้เปลี่ยนไปจากเดิม
แต่เดิมเราจะเห็นว่าชาตินิยมของกลุ่มอนุรักษนิยมมีสถาบันหลักของชาติเป็นศูนย์กลาง แต่สำหรับกลุ่มก้าวหน้านิยม ศูนย์กลางของคําว่าชาติคือประชาชน ความหมายของคําว่า “ประชาชน” คือต้องเป็นประชาชนกลุ่มที่มีใจรักประชาธิปไตย สนับสนุนหลักสิทธิมนุษยชน ใช้ภาษาที่สอดคล้องกับ “ลัทธิตื่นรู้นิยม” (Wokeism) และสนับสนุนความถูกต้องทางการเมือง (political correctness)
หน้าตาของชาตินิยมใหม่
ติณณภพจ์อธิบายว่า ปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้หน้าตาของความชาตินิยมในยุคปัจจุบันแตกต่างไปจากเดิม เป็นเพราะตัวแสดง (actor) ที่เผยแพร่อุดมการณ์ชาตินิยมไม่ได้ผูกขาดไว้ที่รัฐเพียงอย่างเดียว กลายเป็นว่าในระดับประชาชนหรือชาวเน็ตก็ทำได้ด้วย
“สรุปแล้วชาตินิยมหายไปไหม คําตอบคือไม่หายไป มันดํารงมาตลอด แต่สิ่งที่ต่างไปจากเดิมก็คือ ตัวแสดงที่เผยแพร่ชาตินิยมซึ่งเดิมทีเป็นรัฐแต่ปัจจุบันเป็นองคาพยพทางวัฒนธรรม”
ติณณภพจ์กล่าวต่อไปว่า ภายใต้ร่มของกลุ่มขบวนการชาตินิยมก้าวหน้า (Progressive nationalist motion) เองก็สามารถแบ่งระดับความชาตินิยมออกได้เป็น 3 กลุ่มย่อย
หนึ่ง – กลุ่มที่อยู่สุดขอบ อย่างเช่น ชาวเน็ตที่กำลังทวงคืนวัฒนธรรมกลับมาจากกัมพูชา
สอง – กลุ่มต่อต้านแนวคิดกรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลาง ที่พยายามบอกว่าความเป็นชาตินั้นต้องรวมวัฒนธรรมของชาติพันธุ์อื่นๆ เช่น ล้านนาและมลายู เข้ามาด้วย
สาม – กลุ่มภูมิภาคนิยมที่ยึดถือความเป็นพลเมืองโลก
โดย 3 กลุ่มนี้ก็มีการกระทบกระทั่งกันบ้าง แต่เป็นการปะทะสังสรรค์กันแบบย่อมๆ เพื่อจูงใจให้อีกฝ่ายหันมาสมาทานจุดยืนของตนเองมากกว่า ซึ่งไม่ได้ถึงขั้นไต่ระดับไปเป็นขบวนการชาตินิยมแบบเดียวกับฝั่งอนุรักษนิยม หรือกลุ่มเรียกกันว่า “สลิ่ม”
เมื่อถามว่าหน้าตาความชาตินิยมของฝ่ายก้าวหน้านิยมเป็นแบบไหน ติณณภพจ์ยกตัวอย่างกรณีการเกิดขึ้นของพันธมิตรชานมเมื่อปี 2563 ซึ่งเดิมทีเริ่มต้นจากสงครามคีย์บอร์ดระหว่างชาวเน็ตไทยกับชาวเน็ตจีนแผ่นดินใหญ่ ก่อนจะแปรเปลี่ยนมาเป็นการรวมตัวหลวมๆ ของคนรุ่นใหม่ในเอเชียซึ่งสะท้อนแนวคิดเรื่องชาติที่เปลี่ยนแปลงลื่นไหล
“การเอาชาไทยมาใช้สู้กับชาวเน็ตจีนสะท้อนให้เห็นว่าสําหรับชาวไทย ชาติไทยเป็นสิ่งที่ดํารงอยู่ ไม่ได้หายไป เพราะถ้ามันหายไปมันจะไม่มีการกล่าวถึงชาไทย”
ในบริบทนี้ “ชานม” ที่เป็นเครื่องดื่มที่ฮิตในหลายประเทศ กลายมาเป็น “ภาพตัวแทนทางวัฒนธรรม” (Cultural Representation) โดยจะเห็นว่า “ชาไทยสีส้ม” ที่คนไทยชอบกินถูกนำมาใช้เป็นสัญลักษณ์แทนชาติไทยและคนไทย นับเป็นความภูมิใจในระดับประชาชนจากความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของสังคมนานาชาติ
เมื่อม็อบปี 63 ซาลง กระแสชาตินิยมในอินเตอร์เน็ตเพิ่มขึ้น ?
เดิมทีความเป็นชาตินิยมมักถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างความเป็นปึกแผ่นเพื่อต่อสู้กับศัตรูร่วม กรณีช่วงการชุมนุมปี 2563 ศัตรูร่วมของคนไทยคือรัฐบาลในขณะนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นในตอนนั้นคือการร่วมกันต่อสู้และสร้างนิยามความเป็นชาติขึ้นมาใหม่
แต่เมื่อกระแสการชุมนุมซาลงไป ศัตรูของชาติไม่ปรากฏเด่นชัดแล้ว ความชาตินิยมจึงกลายมาเป็นเครื่องมือในการสร้างศัตรูเพิ่ม
“พอเราไม่ได้มีรัฐเป็นศัตรูอย่างชัดเจนแล้ว กลายเป็นว่าเราต้องแสวงหาศัตรูใหม่และตั้งเป็นศัตรูทางวัฒนธรรมมาเป็นเป้าหมายที่จะต้องสู้ด้วย”
ตัวอย่างของเรื่องนี้มีมากมาย ไล่มาตั้งแต่ปรากฎการณ์ “เคลมโบเดีย” ซึ่งหมายถึง ดรามาการแย่งชิงทางวัฒนธรรมระหว่างชาวเน็ตไทยกับกัมพูชาที่ปะทุขึ้นมาได้เสมอมา หรือกรณี “เหยียดมา เหยียดกลับ” ของชาวเน็ตไทยและเกาหลีใต้ ทั้งในประเด็นเรื่องเค-ป็อป ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง หรือการด่าคนต่างชาติที่มาดูถูกอาหารไทย
“หากไร้ซึ่งศัตรูเราจะไม่รู้สึกถึงความเป็นเราร่วมกัน ดังนั้นคอนเซปต์แบบนี้ซึ่งฟังดูเป็นเรื่องการเมืองมาก มันก็ไหลบ่ามาสู่คอนเซ็ปต์ในทางวัฒนธรรมด้วย เพราะว่าก็ต้องยอมรับว่าอารมณ์ความรู้สึก (Sentiment) ของคนไทย ลึก ๆ แล้วเราเปราะบางกับความเป็นไทยมาตลอด”
ติณณภพจ์ระบุว่าคนไทยเปราะบางกับความเป็นไทยมากเสียจนกระทั่งเมื่อมี “คนอื่น” โดยเฉพาะชาวต่างชาติชื่นชมอาหารไทย ภาษาไทย หรือการท่องเที่ยวไทย คนไทยก็จะดีใจจนขนลุกขนพองและเกิดอารมณ์ความรู้สึกที่ว่า “เห็นไหม ขนาดชาวต่างชาติยังเห็นคุณค่าเลย”
ความเปราะบางเช่นนี้ก็สะท้อนให้เห็นถึงภาวะที่คุณค่าหรือตัวตนเป็นสิ่งที่ต้องรอให้คนอื่นมาเติมเต็ม โดยเฉพาะการได้รับการยอมรับจากต่างชาติ แต่ในขณะเดียวกัน ความย้อนแย้งอีกอย่างหนึ่งก็คือความภาคภูมิใจที่ประเทศไทยไม่เคยตกเป็นเมืองขึ้น
วาทกรรม “ประเทศไทยไม่เคยตกเป็นเมืองขึ้น” เป็นหนึ่งในองค์ประกอบของก้อนความรู้สึกชาตินิยมของคนไทย
ติณณภพจ์ให้ความเห็นว่า ในประโยคนี้ประกอบด้วย 2 อารมณ์ความรู้สึกที่ทับซ้อนกันอยู่
หนึ่ง – สะท้อนแนวคิดที่ว่าไทยเป็นประเทศพิเศษไม่เหมือนผู้ใด (Thai Exceptionalism) เพราะในภูมิภาคนี้ไทยรายล้อมไปด้วยประเทศอดีตอาณานิคม
สอง – เมื่อเป็นเรื่องของขบวนการชาตินิยม ชาวเน็ตไทยในกลุ่มก้าวหน้านิยมมักจะมีอารมณ์ความรู้สึกของการต่อต้านการครอบงำในทุกมิติเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว กล่าวคือ ความรู้สึกเป็นปฏิปักษ์กับฝ่ายที่กุมอำนาจนำในความขัดแย้งต่างๆ เช่น อิสราเอลที่มีแนวโน้มครอบงําและใช้อํานาจบาตรใหญ่ข่มเหงรังแกชาวปาเลสไตน์ หรือจีนที่ถูกมองว่าครอบงำประเทศลาว เป็นต้น
“เพราะฉะนั้นเวลาเราพูดว่าภูมิใจจังเลยไม่เป็นเมืองขึ้นใคร เพราะความหมายที่หนึ่ง มันคือเรื่องของการโดดเด่นไม่เหมือนใคร กับความหมายที่สอง คือฉันไม่เคยรู้สึกภาคภูมิใจ ไม่เคยรู้สึกสมาทานกับปรากฏการณ์ที่เรียกว่า อำนาจนำ (hegemony) หรือ domination (การครอบงำ) ดังนั้น ตัวฉันไม่เคยถูก ครอบงำ (dominate) ไม่เคยถูกควบคุมโดยอำนาจนำ (hegemonize) ฉันรอด”
ชาตินิยมเท่ากับ ‘สลิ่ม’ จริงหรือ
คำว่า “สลิ่ม” เป็นคำศัพท์ในบริบทการเมืองไทยร่วมสมัย แต่เดิมใช้เรียกกลุ่มคนหรือพฤติกรรมของคนที่ดูจะไม่เชื่อมั่นในการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย สนับสนุนให้กองทัพเข้ามามีบทบาททางการเมือง และมีความหลงผิดว่าตนเองดีเลิศและสูงส่งกว่าคนอื่น ต่อมาคำว่าสลิ่มก็ถูกนำไปใช้ในบริบทความหมายที่กว้างขึ้น
ประเด็นหนึ่งที่กลายมาเป็นข้อถกเถียงคือ กระแสความชาตินิยมที่เกิดขึ้นในอินเตอร์เน็ตในช่วงระยะหลังมานี้ มีความเหมือนหรือต่างกับ “ทัศนคติแบบสลิ่ม” หรือไม่ อย่างไร
ติณณภพจ์ให้คำตอบว่า “การนิยามความเป็นสลิ่ม” มีมากกว่าแค่เรื่องแนวคิดชาตินิยม เพราะการเกิดขึ้นของสลิ่มมีองค์ประกอบ 3 ประการ
ประการแรก – จุดยืนแบบการปฏิเสธความเป็นการเมือง (depoliticization) เนื่องจากกลุ่มคนที่ถูกจัดว่าเป็นสลิ่ม มีจุดยืนเรื่องเกลียดชังทางการเมืองและลดทอนความเป็นการเมืองในทุก ๆ เรื่อง
สอง – แนวคิดเรื่องการมองคนไม่เท่ากัน
สาม – ความรู้สึกต่อต้านความเป็นสถาบันทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย
ติณณภพจ์กล่าวต่อไปว่า สิ่งที่เราเห็นการแปะป้ายในโลกโซเชียล เช่น “พรรคเธอไปจับมือพรรคนั้นที่เคยก่อรัฐประหาร พวกเธอนั่นแหละเป็นสลิ่ม” การตอบโต้กันในลักษณะนี้เป็นแค่การใช้ภาษาในทางปฏิบัติเท่านั้น โดยในทางวิชาการ สิ่งนี้จะถูกเรียกว่า วัจนปฏิบัติศาสตร์ (Pragmatics) ซึ่งเป็นศาสตร์แขนงหนึ่งของภาษาศาสตร์
อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่ต้องพิจารณาคือคำว่า “ชาติ” และ “ความเป็นไทย” ในมุมมองที่แต่ละคนยึดถือนั้นไม่เหมือนกัน
จึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่คนบางกลุ่มอาจไม่อินหรือหวงแหนกับสินค้าไทย เพลงไทยเก่าๆ หรือชุดไทย แต่ผูกโยงตัวเองเข้ากับ T-Pop ซึ่งก็คือเพลงป๊อปแบบไทยที่มีความเป็นสากล หรือความเป็นสมัยใหม่ทางการเมืองไทย (Thai Political Modernity) สิ่งเหล่านี้คือความเป็นไทยที่เป็นส่วนหนึ่งเข้ากับสังคมนานาชาติ ในทำนองเดียวกับชาไทยในพันธมิตรชานม
“เพราะฉะนั้นการที่เราบอกว่าไม่เคยอวยความเป็นไทยเลย แต่อยู่ดีๆ มาหวงแหน ก็ต้องเข้าใจนิดหนึ่งว่าที่เขาไม่หวงแหนเพราะเขาไม่หวงแหนชาติแบบเก่า แต่เขาหวงแหนชาติแบบใหม่” ติณณภพจ์กล่าว
จุดอันตรายของชาตินิยม
ตั้งแต่ต้นเดือนแล้วที่พรรคพลังประชารัฐจุดกระแสว่าไทยจะเสียเกาะกูดให้แก่กัมพูชา สืบเนื่องมาจาก MOU 44 ที่ไทยลงนามไว้ร่วมกับกัมพูชาตั้งแต่เมื่อปี 2544 ดรามาล่าสุดนี้ยังไม่ถึงกับลุกลามใหญ่โตอย่างกรณีเขาพระวิหาร ที่กลุ่มคนเสื้อเหลืองจุดประเด็นทวงคืนเขาพระวิหารเพื่อเป้าประสงค์ด้านการเมืองในประเทศแต่บานปลายไปเป็นความขัดแย้งระหว่างประเทศ
ติณณภพจ์แสดงความกังวลว่า ถ้าหากดูท่าทีของบรรดานักร้องเรียนที่ออกมารับลูก ประเด็นเกาะกูดก็อาจถูกยกระดับจากความขัดแย้งทางวัฒนธรรมไปสู่ความขัดแย้งทางการเมืองได้เหมือนกัน
“จุดที่เริ่มอันตรายก็คือเมื่อเราเปลี่ยนกลุ่มที่เราถือว่าเป็นศัตรูทางวัฒนธรรม ให้กลายมาเป็นศัตรูทางการเมือง อย่างที่เรากําลังเห็นกันอยู่ตอนนี้ กรณีเกาะกูดและ MOU 44”
ติณณภพจ์กล่าวว่า กรณีปราสาทเขาพระวิหารเป็นความขัดแย้งทางการเมืองและทางวัฒนธรรมที่รุนแรงที่สุดของไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน ในช่วงเวลานั้นขบวนการคนเสื้อเหลืองได้ทำให้ประเด็นดังกล่าวกลายเป็นความขัดแย้งที่ลุกลามจนกลายเป็นปัญหาระดับอาเซียน บวกกับเดิมทีไทยกับกัมพูชาเขม่นกันหนักอยู่แล้ว และมีปัจจัยหลายประการที่เอื้อให้มีการยกระดับความรุนแรงอยู่ตลอดเวลา
เมื่อเทียบกับพม่า แม้ที่ทางในทางประวัติศาสตร์ถูกจัดวางให้เป็นประเทศศัตรูคู่ขัดแย้งกับไทย แต่ในทางการเมือง ไทยกับพม่าไม่เคยมีจุดขัดแย้งที่รุนแรงจนสั่นคลอนความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเช่นเฉกกรณีไทย-กัมพูชา
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
- ทำไมชาวเน็ตไทย-กัมพูชาตีกันฉ่ำ ? วิเคราะห์รากปัญหา ดรามาแย่งชิงวัฒนธรรม
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 22 พ.ย. ที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้อง 6 ข้อที่กล่าวหาว่า ทักษิณ ชินวัตรและพรรคเพื่อไทยกระทำการล้มล้างการปกครอง เนื่องจากมีหลักฐานไม่เพียงพอให้เชื่อได้
แต่มีข้อสังเกตว่าคำร้องในประเด็นที่สอง เรื่อง MOU 44 รัฐบาลเพื่อไทยเอื้อประโยชน์ให้กัมพูชาหาประโยชน์ในเขตอธิปไตยทางทะเลของไทย ตุลาการมีมติ 7 ต่อ 2 ไม่รับคำร้องไว้พิจารณา
ซึ่งนั่นหมายความว่า ตุลาการเสียงข้างน้อยเห็นว่ามีหลักฐานเพียงพอว่าการกระทำของทักษิณและพรรคเพื่อไทยเป็นการล้มล้างการปกครอง จึงต้องรับเรื่องไว้วินิจฉัย
“การทำให้เป็นมีม” จะช่วยลดความรุนแรง
ติณณภพจ์กล่าวว่าปัจจัยที่จะช่วยยับยั้งศึกในโลกออนไลน์ไม่ให้กลายเป็นเรื่องรุนแรงได้คือ การทำให้เป็นมีม (Memetization)
ตัวอย่างเช่น ความขัดแย้งระหว่างแฟนนางงามไทยกับแฟนนางงามฟิลิปปินส์ที่ปะทะกันในโลกออนไลน์เรื่อยมา อีกกรณีคือเหตุการณ์ตบกู้ศักดิ์ศรีระหว่างกะเทยไทยกับกะเทยฟิลิปปินส์ ที่ซอยสุขุมวิท 11 ที่ถูกเรียกว่าเป็น ‘วันกะเทยผ่านศึก’
กรณีหลังนี้ถูกทำให้เป็นมีมในโลกออนไลน์ทั้งในโซเชียลมีเดียไทยและต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็น การตัดต่อภาพ จากภาพของการต่อยกันให้กลายเป็นการใช้เวทมนตร์หรือภาพใช้คฑาต่อสู้กัน
เราจะเห็นว่าศึกของชาวเน็ตไทยกับฟิลิปปินส์ไม่มีความเสี่ยงที่จะถูกยกระดับความรุนแรงได้เท่ากับกรณีไทย-กัมพูชา ทั้งนี้ ก็มาจากการที่ไทยกับฟิลิปปินส์ไม่เคยมีข้อพิพาทกันในทางการเมืองที่รุนแรงด้วย
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
- เควียร์ศึกษาใน #สุขุมวิท 11 | หมายเหตุประเพทไทย EP.513 [Live]
ที่มา ประชาไท ( prachatai.com )