เลือกตั้งท้องถิ่นรอบนี้ทำไมถูกจับจ้องมาก
- การเลือกตั้งนายก อบจ.กลายเป็นข่าวระดับประเทศ เพราะอย่างแรก- พรรคการเมืองเปิดหน้าชัดเจนว่าส่งใครลงสมัครในจังหวัดใดบ้างอย่างไม่เคยมีมาก่อน และพากันส่ง ‘ตัวตึง’ ลงหาเสียง สังคมจึงจับตาการวัดพลังของพรรคต่างๆ เพื่อวิเคราะห์แนวโน้มผลการเลือกตั้งครั้งหน้าในปี 2570
-
อย่างที่สอง- ผลเลือกตั้งปี 2566 มีการเปลี่ยนแปลงสูงและดูเหมือนยังไม่นิ่ง โดยเฉพาะ ‘ภาคอีสาน’ ซึ่งเคยเป็นฐานสำคัญของพรรคเพื่อไทย เมื่อเทียบปี 62 กับปี 66 ปรากฏว่าเพื่อไทยเคยได้สส.รวม 84 ที่นั่ง ลดเหลือ 73 ที่นั่ง ขณะที่พรรคภูมิใจไทยจาก 16 ที่นั่ง เพิ่มเป็นสองเท่า 35 ที่นั่ง พรรคก้าวไกลที่เคยได้ 1 ก็ขยับเป็น 8 ที่นั่ง ไทยสร้างไทย 5 ที่นั่ง พรรคน้องใหม่อย่าง เพื่อไทรวมพลัง (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น ไทรวมพลัง) ส่ง สส. 2 คน ได้ทั้ง 2 คนที่อุบลราชธานี
อุบลเลือกหลากหลาย หวาดเสียวดุลอำนาจเปลี่ยน
- อุบลเป็นจังหวัดที่น่าสนใจ เพราะมีความหลากหลายของการเลือก สส. จากที่เพื่อไทยมักเป็นเจ้าของพื้นที่ ได้ สส.เยอะโดยตลอด เช่น ปี 62 เคยได้ 8 เขต แบ่งให้ภูมิใจไทย 1 เขต ประชาธิปัตย์ 1 เขต มาถึงปี 66 เพื่อไทยได้ สส.เพียง 4 เขต ภูมิใจไทย 3 เขต เพื่อไทรวมพลัง 2 เขต ไทยสร้างไทย 1 เขต ประชาธิปัตย์ 1 เขต
- ศึก อบจ.อุบลเมื่อ 22 ธ.ค.ที่ผ่านมาจึงเคี่ยวข้นยิ่งนัก แข่งกันอยู่ 3 เบอร์หลัก คือ
- เบอร์ 1 กานต์ จากตระกูล ‘กัลป์ตินันท์’ เจ้าของพื้นที่ และเป็นนายก อบจ.สมัยที่แล้วและก่อนหน้า ลงสมัครไม่ใช่ในนามพรรคโดยตรง แต่ในนาม ‘สมาชิกพรรคเพื่อไทย’
- เบอร์ 2 สิทธิพล เลาหะวนิช อดีตรองนายก อบจ.สมัยที่แล้วที่แยกตัวออกมาลงในนาม ‘พรรคประชาชน’
- เบอร์ 3 จิตรวรรณ หรือ ‘มาดามกบ’ ลงสมัครในนาม ‘อิสระ’ เธอเป็นน้องสะใภ้ของกำนันป้อ-วีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล ซึ่งสื่อชอบเรียก ‘เสี่ยแป้งมัน’ เพราะทำธุรกิจใหญ่รับซื้อมันสำปะหลังจากชาวบ้านหลายจังหวัด และเป็นผู้อยู่เบื้องหลังกำเนิดพรรคไทรวมพลัง
- ตัวเต็งคือ เบอร์ 1 กับ เบอร์ 3 หรือพูดง่ายๆ ว่าคนเก่าเจ้าของพื้นที่ กับน้องใหม่ไฟแรง ซึ่งปี 66 กลุ่มกำนันป้อซึ่งย้ายจากภูมิใจไทยมาลงสมัครในนามเพื่อไทย ได้ สส.เขตในโคราชถึง 12 ที่นั่ง ส่วนอุบลก็ได้มา 2 ที่นั่ง
- “การเลือกตั้ง อบจ.รอบนี้สำคัญมาก ถ้าคนใหม่ชนะ ดุลอำนาจในอุบลจะเปลี่ยน และจะส่งผลต่อการเลือกตั้งเทศบาลนครที่จะเกิดขึ้น รวมถึงการต่อสู้ของ สส.ทั้ง 11 เขตในการเลือกตั้งใหญ่รอบหน้าด้วย”
- ดร.ประเทือง ม่วงอ่อน จาก ม.อุบลฯ วิเคราะห์ไว้ก่อนเลือกตั้ง สอดคล้องกับ vigorous citizen อย่าง สรวีย์ ฤทธิชัย เจ้าของร้าน ‘สามชัย’ แห่งเมืองอุบล ที่บอกว่า ไทรวมพลังเป็นพรรคที่มีศักยภาพยิ่ง และหากชนะศึก อบจ.ก็จะส่งผลต่อท้องถิ่นส่วนอื่นๆ แน่นอน
ดร.ประเทือง ม่วงอ่อน
สำรวจก่อนเลือกตั้ง เบอร์ 3 มาแรงมาก
-
‘ประชาไท’ มีโอกาสลงสำรวจพื้นที่อุบล 1-2 วันก่อนมีการเลือกตั้ง อบจ.ได้พูดคุยกับนักวิชาการท้องถิ่น, ประชาชนผู้สนับสนุนหลายพรรคในเขตเมืองอุบล และพื้นที่รอบนอก อย่างบ้านตามุยและบ้านท่าล้ง ต.ห้วยไผ่ อ.โขงเจียม พบว่ากระแสของ เบอร์ 3 มาแรงมาก หลายคนประเมินว่า “น่าจะล้มแชมป์” เหตุผลหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ คนอยากเปลี่ยน อยากลองของใหม่ อันเป็นโจทย์คลาสสิคของผู้ที่อยู่ในตำแหน่งมานาน
“ผมเลือกสีส้ม คนรุ่นใหม่ก็เลือกสีส้ม คะแนนเยอะอยู่นะ … แต่ผมคำนวณแล้วว่า เบอร์ 3 ได้ รอบนอกน่าจะได้เยอะเลย ส่วนในเมืองสีส้มน่าจะได้” ไชยา ดีแสง ช่างเย็บผ้าและอดีตคนเสื้อแดง วัย 60 ปีกล่าวไว้ก่อนจะมีการเลือกตั้ง
“เบอร์ 3 น่าจะมาเที่ยวนี้ ผมก็ไม่รู้จักส่วนตัว แต่ผมดูการขับเคลื่อนมวลชน ดูพิเชษฐ์ ทาบุดดา (ดีเจต้อย กลุ่มชักธงรบ) แล้วก็ดูการทำงานของสุพล ฟองงาม, อดุลย์ นิลเปรม, วิฑูรย์ งามบุตร, รำพูล ตันติวณิชชานนท์ คิดว่าพวกนี้อยู่ทีมทำงานของมาดามกบ ชาวบ้านเขาอยากเปลี่ยน กระแสนี้มาแรง” เจ้าของร้านกาแฟ-อาหาร ‘สามชัย’ ร้านเก่าแก่ที่ชาวอุบลรู้จักดี วิเคราะห์ไว้ก่อนการเลือกตั้ง พูดง่ายๆ ว่า มีเหล่าบ้านใหญ่และอดีต สส.จากภูมิใจไทย ไทยสร้างไทย ประชาธิปัตย์ หนุนมาดามกบ
“ใจผมชอบก้าวไกล แต่เบอร์ 3 เห็นรถเขาไปทั่ว ที่นี่ก็มา แล้วคนเขาก็เบื่อๆ ของเก่าแล้ว ไม่เห็นการเปลี่ยนแปลง แต่จริงๆ แล้วผมว่าพรรคไหน คนไหนก็เหมือนกัน ไม่เคยมีใครแก้ปัญหาให้กับชุมชนเราได้ เจอกันเฉพาะตอนหาเสียง” หนึ่งในชาวบ้านแห่งบ้านตามุย ชุมชนริมฝั่งแม่น้ำโขงใน อ.โขงเจียม ซึ่งมีปัญหาไม่มีเอกสารสิทธิในที่อยู่อาศัยทั้งที่เป็นชุมชนเก่าแก่ แสดงความเห็นไว้ก่อนเลือกตั้ง
ประชาชนในพื้นที่บ้านตามุย อ.โขงเจียม
-
22 ธ.ค.2567 สิ้นแสงตะวัน ผลการเลือกตั้ง ผู้ชนะคือ ‘กัลป์ตินันท์’ ที่ยังรักษาพื้นที่ไว้ได้ และคะแนนก็ค่อนข้างขาด หักปากกาเซียนในพื้นที่หลายแท่ง
- 387,456 คะแนน เบอร์ 1 กานต์ กัลป์ตินันท์
- 138,837 คะแนน เบอร์ 2 สิทธิพล เลาหะวนิช
- 322,986 คะแนน เบอร์ 3 จิตรวรรณ หวังศุภกิจโกศล
- 3,620 คะแนน เบอร์ 4 อธิปไตย ศุ้ย ศรีมงคล
ที่มา: องค์การบริหารส่วนจังหวัดอุบลราชธานี (22 ธ.ค.67)
จับตาขั้วอำนาจใหม่ ‘หวังศุภกิจโกศล’
- แม้พรรคเพื่อไทยไม่ได้ส่งกานต์ในนาม “พรรค” แต่เป็นในนาม “สมาชิกพรรค” แปลความได้ว่าอยู่ในระดับเป็นพันธมิตรกัน แต่กระนั้น ทักษิณ ชินวัตร ก็มาขึ้นเวลาปราศรัย จากที่ตอนแรกมีข่าวว่าจะลงพื้นที่แบบไม่ขึ้นเวทีปราศรัย นักวิเคราะห์ทุกสายต่างเห็นตรงกันว่า การขึ้นปราศรัยของทักษิณยัง ‘ได้ผล’ และเป็นการส่งสัญญาณหนุนคนเก่า ‘กัลป์ตินันท์’ กลายๆ สังเกตได้จากเจ้าตัวปราศรัยไม่ดุเดือดเหมือนจังหวัดอื่น เพียงระบุว่ามาเพราะความสัมพันธ์กับ ‘เกรียง กัลป์ตินันท์’ ผู้ไม่เคยทิ้งไปไหนในยามยาก เรียกว่าสนับสนุนแบบไม่ทำลายความสัมพันธ์กับ ‘หวังศุกกิจโกศล’ ไปในเวลาเดียวกัน
-
แม้ท้ายที่สุด ‘กัลป์ตินันท์’ ยังรักษาพื้นที่ไว้ได้ แต่สิ่งที่น่าสนใจยิ่งคือ เบอร์ 3 ผู้ร่วมก่อตั้งพรรคไทรวมพลัง ซึ่งกวาดคะแนนได้กว่า 320,000 คะแนน
ถ้าดูจากฐานคะแนนพรรคไทรวมพลัง จะพบว่าคะแนนเลือกตั้ง สส.ที่ส่ง 2 เขต ได้ทั้ง 2 เขต รวมกันอยู่ที่ 94,345 คะแนนปาร์ตี้ลิสต์อยู่ที่ 14,029 คะแนน แล้วคะแนน อบจ.พุ่งเป็น 3 แสนกว่าได้อย่างไร ศักยภาพของพรรคนี้มาจากไหน ที่ทางทางการเมืองอยู่ ‘ฝ่ายไหน’ บางคนบอกว่าไทรวมพลังเป็นตัวของตัวเอง มีความเป็นพรรคท้องถิ่น และเป็น ‘พรรคพี่พรรคน้อง’ กับเพื่อไทย บางส่วนมองว่า ใกล้ชิดและเป็นตัวแทนของภูมิใจไทย อีกบางคนบอกว่า ศึกนี้คือการชิงกันเองระหว่างคนเก่า-คนใหม่ในค่ายเพื่อไทยว่าใครจะเป็นใหญ่ในอุบล
สงครามตัวแทน เพื่อไทย VS ภูมิใจไทย
-
อาจารย์ประเทืองจาก ม.อุบลฯ เป็นผู้ที่ทำวิจัยเรื่องการเลือกตั้งในอุบลฯ เก็บสะสมข้อมูลมากว่า 10 ปี ทั้งระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ วิเคราะห์ให้ฟังก่อนการเลือกตั้งโดยมองว่า ‘หวังศุภกิจโกศล’ นั้น ออกจากพรรคภูมิใจไทยแล้วก็จริง แต่ในการเลือกตั้ง อบจ. รอบนี้ ข้อมูลในพื้นที่พบว่า เบอร์ 3 ยังคงใช้เครื่องมือของพรรคภูมิใจไทย มี สส.ของพรรคสนับสนุนหลายเขต เช่น เขตเดชอุดม เอารถ สส.ตวงทิพย์ จินตะเวช มาหาเสียง มีการขึ้นปราศัย เขตวารินฯ ก็เอาสุพล ฟองงาม ขึ้นเวทีปราศัย เขตศรีเมืองใหม่ โขงเจียม ก็เอาตี๋เล็ก-เชิดศักดิ์ โภคกุลกานนท์ ขึ้นเวที รวมทั้งการใช้หัวคะแนนก็พบว่า ใช้หัวคะแนนเดียวกับพรรคภูมิใจไทย
“มันเชื่อมโยงกับการเมืองของโคราชด้วย ในการต่อรองการต่อสู้ของพรรคเพื่อไทยในโคราชเองว่าจะให้ใครลงสมัคร มีการประลองกำลังกันอย่างหนัก ส่งผลให้พื้นที่อุบลนั้นสำคัญ เหมือน proxy battle สงครามตัวแทน ฝั่งภูมิใจไทยก็ดันเบอร์ 3 ฝั่งเพื่อไทยสนับสนุนเบอร์ 1” อ.ประเทืองให้ความเห็น
-
นอกจากนี้ อ.ประเทืองยังอ้างอิงถึงงานวิจัยในปี 2562 ว่าเคยเก็บข้อมูลโดยสัมภาษณ์จิตรวรรณสมัยที่มีบทบาทสูงในการคัดคนลงสมัครในนามพรรคภูมิใจไทย แต่วันนั้นกลับพ่ายแพ้อย่างหมดรูปในอุบล ซึ่งเจ้าตัวบอกว่ากำลังถอดบทเรียน ซึ่งคงคิดได้ว่า กระแสพรรคมีผลมากๆ จึงได้ข้อสรุปในการออกมาสร้างฐานเอง ตั้งพรรรคเองก่อนในอุบล และพยายามอิงกับเพื่อไทย ดูจากสัญลักษณ์ของพรรค สีโลโก้ในช่วงแรก เรียกว่าถามชาวบ้าน ชาวบ้านยังคิดว่าเป็นพรรคเดียวกัน
“กระแสการต่อต้านภูมิใจไทยในพื้นที่ที่เคยเข้มข้น (ช่วงประยุทธ์) เริ่มเจือจางลง ประชาชนยอมรับได้ พอๆ กับกระแสความนิยมของเพื่อไทยเองก็ดรอปลงเหมือนกัน ดังนั้น พรรคเพื่อไทยเจอข้าศึกสองด้าน ด้านแรก คู่แข่งที่เปิดหน้าชนตรงๆ คือ พรรคภูมิใจไทย ด้านที่สองคู่แข่งที่มาแย่งฐานคะแนนตัวเองคือ พรรคประชาชน” นักวิชาการจาก ม.อุบลวิเคราะห์ตั้งแต่ก่อนเลือกตั้ง อบจ.
พรรคพี่พรรคน้องที่แข็งแกร่ง รอวันจับมือ 3 พรรค
- ในขณะที่เจ้าของร้านสามชัย มองว่าไทรวมพลังหรือสายหวังศุภกิจโกศลทั้งหมด คือ พรรคพี่พรรคน้องกับพรรคเพื่อไทย
“ผมมั่นใจว่าไทรวมพลังจะขยายตัวอีก มวลชนเขาแข็งแรง เขาดูแลดี เขาสร้างตัวเองขึ้นมาแล้ว เป็นอีกตัวเลือกหนึ่งของอีสาน เขาจะกลับไปภูมิใจไทยเพื่ออะไร ตอนนี้ฐานการเมืองมี สส.เกือบ 20 คนแล้ว (รวมที่โคราช)”
“ผมมองอย่างนี้ เพื่อไทยกับไทรวมพลัง เป็นพี่น้องกันอยู่แล้ว ส่วนพรรคประชาชนกับเพื่อไทย สักวันก็ต้องจับมือกัน ขณะที่ภูมิใจไทยนั้นไม่น่าไว้วางใจ เราเห็นว่า 3 พรรค เพื่อไทย ไทรวมพลัง พรรคประชาชน จับมือกันก็เพียงพอแล้ว สักวันหนึ่งเขาอาจจับมือกันได้ การเมืองไม่มีมิตรแท้และศัตรูถาวร ผมอยากเห็นเขาจับมือกัน” เจ้าของร้านชื่อดังผู้ออกตัวว่าไม่สนใจการเมืองตั้งความหวัง
เกิดการแข่งขันย่อมเป็นเรื่องดี
-
ส่วนนักวิชาการหญิงอีกคนหนึ่งจาก ม.อุบล เห็นว่า ไทรวมพลังน่าจะตั้งตนเป็นพรรคท้องถิ่นที่พยายามไม่วางตัวเองเป็นคู่ขัดแย้งกับใคร อย่างไรก็ตาม ไม่อยากให้มองเรื่องของการมีพรรคนี้ว่าอยู่ค่ายไหนมากกว่าเรื่องการทำพื้นที่ของนักการเมือง อย่างไทรวมพลังก็มีฐานจากการลงช่วยชาวบ้านเยอะตั้งแต่ช่วงโควิดระบาด
เธอมองว่า การเมืองท้องถิ่นมีความสลับซับซ้อนของตัวบุคคลที่เชื่อมโยงสัมพันธ์กันไปมาระหว่างพรรค และอยู่ที่เงื่อนไขของแต่ละพื้นที่ บางคนอยากขอลงกับพรรคนี้แต่กลุ่มเครือข่ายเจ้าของพื้นที่ไม่เห็นด้วย ก็ต้องไปหาช่องทางอื่น ยังไม่นับรวมว่า บางทีก็เป็นปัญหาความขัดแย้งภายในกลุ่ม จากที่เคยอยู่ด้วยกันก็แยกทางกันก็มี
“ชอบมองอะไรเป็นพลวัตร เราไม่รู้หรอกว่ามันดีหรือไม่ดี (ที่พรรคไทรวมพลังโตขึ้นเรื่อยๆ) แต่มันมีการแข่งขัน การแข่งขันมันดีทั้งนั้น และไม่ว่าใครจะเข้ามาต้องทำงานระดับหนึ่ง มันไม่ใช่เรื่องว่าใครจะเอาเงินมาเทแล้วได้”
“และด้วย dynamics ของอะไรที่มีมาก่อน บางทีการเกิดใหม่ในพื้นที่ที่พร้อมในทุกเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องทรัพยากร ถ้าคิดในเชิงหลักการและความเป็นไปได้ มันก็อาจจะง่ายที่จะมีพรรคของตัวเอง แต่เป็นพรรคขนาดเล็ก แล้วไม่ residing ในขั้วขัดแย้งใด เน้นการทำพื้นที่ ทำผลงาน แล้วในอนาคต หากพรรคใหญ่เห็นผลงานและแนวทางตรงกัน ก็เป็นอีกเรื่อง อีกขั้น” นักวิชาการหญิงสรุป
วิธีคิดต่างจากเลือก สส. – ท้องถิ่นชาวบ้านเน้น ‘ตัวบุคคล’
- อาจารย์ประเทือง จาก ม.อุบลฯ เป็นผู้ที่ทำวิจัยเรื่องการเลือกตั้งในอุบลฯ มานาน อธิบายวิธีตัดสินใจของชาวบ้าน โดยอ้างอิงจากโพลในพื้นที่ที่ทำไว้นับหมื่นตัวอย่างว่า การตัดสินใจเลือกตั้ง สส.ระดับชาติ ประชาชนจะเลือกที่พรรค พร้อมทั้งดูว่าพรรคจะส่งใครเป็นนายกฯ ส่วนการเลือกตั้งท้องถิ่นนั้นจะดูที่ ‘ตัวบุคคล’ เป็นหลัก ธรรมชาติเป็นเช่นนั้น เรียกว่าต้องการสิ่งจับต้องได้ ดูจากคนที่รู้จัก ได้เห็นการทำงานในพื้นที่ หรือได้ฟังจากเครือข่ายมาว่าเวิร์ก
-
จากการสอบถามคนในพื้นที่ก่อนเลือกตั้งนายก อบจ. ได้รับเสียงสะท้อนว่าทั้งพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาชนในศึก อบจ. ต่างมีข้อวิจารณ์ที่ ‘ตัวบุคคล’ อาจเพราะเป็นคนหน้าเก่าย่อมมีข้อวิจารณ์ได้เยอะกว่าคนหน้าใหม่
“ผมเลือกเพราะพรรคเลย บุคคลคนนี้ก็ไม่ได้ชอบ แต่ก่อนอยู่เพื่อไทย ผมก็งงว่าทำไมเอาคนนี้มา ถ้าเป็นคนอื่นอาจจะดีกว่านี้” ไชยา ช่างเย็บผ้ายังยืนยันว่า แม้จะติดที่ตัวคนแต่ก็มองข้ามได้
ไชยาเคยเป็นคนเสื้อแดงและเผชิญชะตากรรมต้องติดคุกติดตาราง เขาเคยเลือกพรรคเพื่อไทยมาตลอด ด้วยเหตุผลว่าไม่มีตัวเลือกที่ดีกว่า และร่วมชุมนุม นปช.เพราะโกรธที่ ‘เสธ.แดง’ ถูกยิง เนื่องจากเขาเคยเป็นทหารที่ได้มีโอกาสร่วมรบในสมรภูมิช่องบก หลังออกจากคุกเขาเปลี่ยนไปเป็น ‘สีส้ม’ เพราะอยากเปลี่ยนแปลง และมองว่าคนในพื้นที่ของเพื่อไทยนั้นเชื่อถือไม่ได้ ทั้งจากการที่เขาไม่ได้รับความช่วยเหลือในยามยากลำบาก รวมถึงการจัดตั้งรัฐบาลข้ามขั้วรอบล่าสุด เขาบอกด้วยว่า คนเสื้อแดงในกลุ่มก๊วนเขาหลายคนก็เปลี่ยนเป็นสีส้มเช่นเดียวกัน
“พรรคประชาชน ผมชอบเกี่ยวกับทหาร เรื่องให้สมัครเอา ไม่ต้องไปเกณฑ์ ผมเคยเป็นทหาร ผมรู้ หนักอยู่นะ เหมือนขี้ข้าทำทุกอย่าง แต่เสียอย่างเดียว ผมไม่สนับสนุนให้แก้ 112 จริงๆ เสื้อแดงกลุ่มผมก็ติดเรื่อง 112 ไม่อยากให้ยุ่งเรื่องนี้ ผมเคยเป็นทหาร รักชาติ เคยรบเคยอะไรด้วย” ไชยาว่า
ขณะที่เจ้าของร้านสามชัยเห็นว่า คน 80% เวลาเลือกท้องถิ่นจะดูที่ตัวบุคคลเป็นหลัก
“คิดต่างกันนะ การเมืองระดับชาติคือการดูแลโดยรวมทั้งประเทศ ท้องถิ่นก็ดูแลเฉพาะท้องถิ่น สำหรับ อบจ.ผมจะเลือกคนทำงานเป็น ไม่ใช่เลือกพรรค เลือกคน แต่ถ้าเลือก สส. ผมจะเลือกพรรค ไม่ได้เลือกคน”
นอกจากนี้เจ้าของร้านสามชัยยังวิจารณ์ตัวบุคคลทั้งเบอร์ 1 เบอร์ 2
สำหรับเบอร์ 1 นั้นเจ้าของร้านสามชัยซึ่งมักจะชงกาแฟไป พูดออกเครื่องเสียงไป ในร้านของตัวเองเพื่อให้ลูกค้าได้ฟังการเมืองยามเช้า อันเป็นสไตล์เฉพาะตัว เขาพูดระหว่างขายของในเช้าวันหนึ่งวิจารณ์ เบอร์ 1 ที่ลาออกจากนายก อบจ. ก่อนพ้นวาระ ทำให้ไม่สามารถเลือกพร้อม สจ. ในเดือน ก.พ.ปีหน้าได้
“เราพูดตรงๆ เรื่องการลาออกก่อนกำหนด ต้องใช้งบประมาณเพิ่ม จาก 50 ล้านเป็น 100 ล้าน ก็ต้องพูด และที่ผ่านมาก็ไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน… กรณีเลือกตั้งเอาพรรคเพื่อไทยมาใช้แบบนี้ เราก็ไม่เห็นด้วย ที่จริงพรรคอย่าวุ่นวายกับการเมืองท้องถิ่นจะดีกว่า ให้เขาเล่นไปตามเกมเขา”
“ส่วนพรรคก้าวไกลตอนปี 66 กระแสแรงมาก จนทุกวันนี้ พวก สจ.ที่สอบตกก็วิ่งไปอยู่กับก้าวไกล ถามจริงๆ ว่าพรรคก้าวไกลคัดคนได้ไหม เอา สจ.สอบตกหลายๆ พรรคไปเป็นพวก แล้วคนในพื้นที่จะคิดยังไง แทนที่จะเอาคนรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพ จริงๆ ผมชอบก้าวไกลมากนะ”
เรื่องการคัดตัวบุคคลของพรรคประชาชน โดยระบบแล้วจะขึ้นอยู่กับคณะกรรมการระดับจังหวัด และโดยปรัชญาของพรรคก็มีแนวโน้มไม่เน้น ‘ตัวบุคคล’ ซึ่งในเรื่องนี้อาจารย์ประเทืองให้ข้อมูลเสริมว่า นั่นอาจเป็นจุดอ่อน เพราะทำให้การทำพื้นที่ไม่ต่อเนื่อง ความต่อเนื่องในการลงพื้นที่ของบุคคลเป็นรากฐานสำคัญมากสำหรับต่างจังหวัด
สรวีย์ ฤทธิชัย เจ้าของร้าน ‘สามชัย’ แห่งเมืองอุบล
‘ทรัพยากร’ สำคัญ แต่ไม่ใช่ปัจจัยทั้งหมด
-
เมื่อถามว่า ประเด็น ‘กระสุน’ หรือ ‘ทรัพยากร’ เป็นจุดสำคัญไหม ในมุมนักวิชาการที่เก็บข้อมูลในพื้นที่ยาวนาน อ.ประเทืองระบุว่า ปฏิเสธไม่ได้ว่าสำคัญในทุกระดับเลือกตั้ง แต่มันก็ไม่ใช่ปัจจัยทั้งหมด เพราะยังมีเรื่องพรรค เรื่องตัวบุคคล เรื่องความใกล้ชิดกับประชาชนในพื้นที่ประกอบด้วย
“ผมไม่ได้มองมันเลวร้าย มันเกิดจากข้อจำกัดของการนำเสนอนโยบาย พอผู้สมัครมีข้อจำกัดในการออกนโยบายใหม่ๆ ติดระเบียบ ติดแผนว่าต้องสอดคล้องกับจังหวัด กลุ่มจังหวัด ผมจึงมองเป็นเรื่องการกระจายอำนาจที่ไม่กระจายเท่าที่ควร งบไม่กระจาย อำนาจไม่กระจาย มิหนำซ้ำยังถูกแทรกแซงจากการปกครองส่วนภูมิภาคด้วย ทำให้ท้องถิ่น โดยเฉพาะ อบจ.มีข้อจำกัดในการออกแบบนโยบายมาแข่งขันกัน จะทำอะไรที่พลิกฟ้า หรือส่งผลกระทบต่อวงกว้างก็ทำไม่ได้ ทำให้คนไปพิจารณาที่ตัวบุคคลและการให้รางวัลตอบแทนอื่นๆ เพราะชาวบ้านบอกว่าเลือกใครไปนโยบายก็ไม่ต่างกัน รอบนี้นโยบายก็ไม่ต่างกัน ประปาดื่มได้ ส่งเสริมการเกษตร โครงสร้างพื้นฐาน เป็นต้น ถ้าเราอยากจะแก้ปัญหานี้ การกระจายอำนาจอย่างจริงจังต้องเกิดขึ้นได้แล้ว เพื่อให้เกิดการแข่งขันนโยบายกันอย่างจริงจัง” อ.ประเทืองกล่าว
หรือแม้กระทั่งการจ่ายเงินให้คนไปฟังปราศรัยหลักร้อยบาทที่พรรคการเมืองต่างๆ มักทำกัน ผู้สังเกตการณ์ใกล้ชิดในพื้นที่ก็ไม่ได้มีมุมมองเชิงลบ เพราะมองเห็นสภาพบริบทของชาวบ้าน พร้อมนำเสนอให้พรรคการเมืองต่างๆ สามารถสนับสนุนได้อย่างเปิดเผยเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ทางการเมือง
“อย่างการการจ่ายเงินมาฟังปราศรัย มันไม่ใช่สิ่งที่มีความเสียหายอะไร เพราะอย่างชาวบ้านบางทีเขาไม่มีเงินจริงๆ เวลาเขาเอารถออกมามันมีต้นทุน โครงสร้างพื้นฐานก็ไม่มี รถโดยสารสาธารณะก็ไม่สะดวกจริงๆ สุดท้ายก็ต้องจ่ายค่ารถ อยากไปฟังแต่ว่าไม่มีค่ารถ ส่วนนี้ผมมองว่ามันสามารถที่จะซัพพอร์ตได้ เพราะว่าการไปฟังแต่ละครั้งมันมีต้นทุนของประชาชน ผมมองว่ามันควรจะเป็นสิ่งที่ควรจะให้ด้วยซ้ำไป เพื่อเป็นการให้ประชาชนเขามีส่วนร่วมทางการเมือง” อาจารย์ประเทืองกล่าว
ด้านนักวิชาการหญิงจาก ม.อุบลฯ กล่าวถึงประเด็นเรื่องการแจกเงิน ซึ่งหลังเลือกตั้ง อบจ.ดูเหมือนจะกลายเป็นเรื่องถกเถียงกันเล็กน้อยอยู่ในโลกโซเชียล ว่า อยากให้มองเห็นความสลับซับซ้อนของพื้นที่สักนิด
“การแจกเงินมันไม่ใช่หลักประกันว่าคุณจะได้คะแนน มันอยู่ที่ว่าผู้เลือกเขาตัดสินใจไปกับใคร เป็นเรื่องความสัมพันธ์ด้วย รวมถึงปัจจัยอื่นๆ เช่น ชาวบ้านบอกอยากลองเปลี่ยน ชาวบ้านเห็นผลงาน บางคนชอบหรือไม่ชอบตัวบุคคล เหตุผลมันหลากหลายมากกว่าแค่ว่าเงิน คุณคิดว่าเบอร์ไหนซื้อเสียง คุณไม่ขายก็ได้ หัวคะแนนธรรมชาติแบบ archaic เขาก็ยังมี หัวคะแนนในพื้นที่ก็คนในครอบครัว นี่มันก็ตรรกะเดียวกันกับหัวคะแนนออแกนิคแบบคนรุ่นใหม่ที่แนะนำคนในครอบครัว ปี 66 ที่เสียงของลูกหลานค่อนข้างจะดัง ได้ผลนะ เสียงคนอื่นๆ จะดังด้วยก็ไม่แปลก เรื่องนี้เป็นสิ่งดีด้วยซ้ำที่เราปัจเจกพยายามขยาย พยายามโน้มน้าวคนอื่นๆ ในสิ่งที่เราเชื่อ ประเด็นก็คือ ความสัมพันธ์ระหว่างคนมันมีผล แต่เราอย่าลดทอนความสัมพันธ์ของคนเจน (เจเนอเรชั่น) อื่น มันเวิร์กในตรรกะเดียวกัน”
คำอธิบายนี้สอดคล้องกับชาวบ้านตามุยคนหนึ่งที่เล่าว่า เวลาเลือกตั้งแต่ละที หัวคะแนนแต่ละเบอร์ก็จะมาหา ต่างคนต่างบอกว่าเลือกเบอร์นี้หน่อย และทั้งหมดล้วนเป็นเครือญาติลูกหลานทั้งนั้น คุณลุงจึงใช้วิธีว่าในบ้านมี 4 คน แบ่งกันเลือกคนละเบอร์ จบปัญหาการเลือกปฏิบัติกับลูกหลาน
เสียงรากหญ้า วิธีดีลกับการซื้อเสียงของ ‘คนจน’
-
ขณะที่เสียงจากชาวบ้าน อย่างสายสมร ลครวงษ์ อดีตผู้ใหญ่บ้าน (2544-2549) บ้านท่าล้ง ต.ห้วยไผ่ อ.โขงเจียม มองว่า การใช้เงินนั้นมีอยู่ แต่จากประสบการณ์ของเขาชาวบ้านมีความหลากหลาย บางคนอาจเลือกคนที่ให้มากที่สุด แต่บางคนแม้ให้เงินมากก็ไม่เลือกถ้าไม่ชอบ นอกจากนี้บรรดาผู้ใหญ่บ้านก็ไม่สามารถชี้นำชาวบ้านได้ง่าย เหมือน 20-30 ปีก่อน เพราะเทคโนโลยีก้าวหน้า เท่าทันกันหมด พวกเขามีความคิดของตัวเอง ตัดสินใจเอง โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ๆ ยิ่งแล้วใหญ่
“ผมโสเหล่อยู่ศาลาเรื่องนี่แหละ บ่น่าจะไปว่าเรื่องการซื้อสิทธิขายเสียง นักกฎหมายน่าจะเปิดให้เขาซื้อโลด อยากรู้เงินมันหลายปานใด๋ คนมันตื่นโตแล้วมื้อนี้ หัวละ 200-300 มันน้อย แข่งกันโลด เงินหลายก็เอามา ซื้อผมห้าพันบาท ใครจะไปซื้อร้อยสองร้อย คนเขาว่ามันก็ซื้อแล้วจะไปโกง แต่ผมว่าการโกงมันหนีบ่ได้จากคนไทย ถึงไม่ซื้อเสียงมันก็กิน ในความคิดของผม เขาก็ต้องไปหาผลประโยชน์อยู่แล้ว เพียงแต่ทำให้ชาวบ้านด้วย
คนชนชั้นกลางเขามี จะว่ายังไงก็ได้ พออยู่พอกิน แล้วไปว่าคนรากหญ้า เขาบ่มี เขาเอาเงินมาก็มีไปซื้อของซื้อมาม่าให้ลูกให้เต้าเขากิน บ่แม่นเขามาขาย อันนี้มีคนเขาเอามาให้ คนในเมืองบอกบ้านนอกขายเสียง ผมเห็นตามข่าวอยู่ ก็คิดว่า อย่าไปว่าเขา เขาก็มีเกียรติมีศักดิ์ศรีของเขา บางทีเขาเอาเงินแล้วไม่กาก็มี รู้ไหม ได้เข้าคูหากับเขาหรือว่าเขากาอะไร ผมไม่อยากให้ว่าแบบนั้น”
สายสมร ลครวงษ์
ที่มา ประชาไท ( prachatai.com )