ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ยกฟ้องคดีอดีตรองปลัดฯนายม-สามี ฉ้อโกงอ้างชื่อบิ๊กสถ.เรียกค่าขนมถนนยางฯ ยุค‘บิ๊กตู่‘ วงเงินโครงการรวมเกือบ 400 ล้าน หลังฝ่ายโจทก์ตกลงเข้าไปร่วมงานแล้ว 15% ตามได้งานแค่ครึ่งเดียว ยกเหตุพิพากษากลับมาจากฟ้องโจทก์ซ้อนคดีอาญาก่อนหน้า
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานความคืบหน้ากรณี นางสาวรักษยา แสงฤทธิ์ ผู้บริหารบริษัททราฟฟิคอินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ที่ทำธุรกิจรับเหมาก่อสร้างในพื้นที่ภาคอีสาน เข้าร้องเรียนสำนักข่าวอิศรา ในช่วงกลางปี 2562 ว่า ถูกปลัด อบต.แห่งหนึ่ง และคนใกล้ชิด อ้างชื่อผู้บริหารระดับสูงในกรมหนึ่งในกระทรวงมหาดไทย เรียกรับเงินค่าเปอร์เซ็นต์ตอบแทน จากการเข้าไปได้รับงานโครงการก่อสร้างถนนดินซีเมนต์ผสมยางพาราของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นวงเงินเกือบ 60 ล้านบาท โดยจำนวนเงิน 60 ล้านบาทดังกล่าวนี้คิดเป็น 15% จากจำนวนงานโครงการที่ตกลงกันไว้ประมาณเกือบ 400 ล้านบาท อ้างเป็นค่าขนม แต่เมื่อจ่ายเงินไปแล้วกลับไม่ได้จำนวนงานโครงการครบตามที่ตกลงกัน ได้งานเพียงแค่ครึ่งเดียว และไม่ยอมคืนเงินค่าเปอร์เซ็นต์ตอบแทนส่วนเกินกว่า 39 ล้านบาทให้ ซึ่งปัจจุบันมีการยืนเรื่องเรียนไปยังหน่วยงานตรวจสอบหลายแห่งเข้าให้มาสอบสวนเรื่องนี้เป็นทางการแล้ว และยังฟ้องฉ้อโกงอีกหลายคดี
โดยคดีนี้ ในช่วงเดือน ก.ค.2566 ศาลจังหวัดร้อยเอ็ด มีคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ อ 348/2564 และคดีหมายเลขแดงที่ อ2202/2564 ที่นางสาวรักษยา เป็นโจทก์ ฟ้องห้างหุ้นส่วนจำกัด (หจก.) โรงรับจำนำทรัพย์ชวนชม จำเลยที่ 1 นางพัชรากร กุลรัตนจินดา อดีตรองปลัดเทศบาลตำบลนายม ทำหน้าที่นายกเทศมนตรีตำบลนายม อำเภอเมือง จังหวัดอำนาจเจริญ จำเลยที่ 2 นายชัยรัชต์พงษ์ กุลรัตนจินดา จำเลยที่ 3 ร่วมกันกระทำความผิดฐานฉ้อโกง โดยอ้างว่านายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น จะอนุมัติโครงการก่อสร้างถนนดินซีเมนต์ผสมยางพาราให้
ศาลจังหวัดร้อยเอ็ด มีคำพิพากษาว่า นางพัชรากร กุลรัตนจินดา จำเลยที่ 2 และนายชัยรัชต์พงษ์ กุลรัตนจินดา จำเลยที่ 3 (สามีนางพัชรากร) มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ประกอบมาตรา 83
จำคุกคนละ 2 ปี
ล่าสุดไม่นานนี้สำนักข่าวอิศราได้รับรายละเอียดคำพิพากษาในชั้นศาลอุทธรณ์ในคดีนี้ ลงวันที่ 19 ก.ค.2567 ซึ่งพิพากษากลับศาลชั้นต้น จ.ร้อยเอ็ด มีรายละเอียดดังนี้
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยก่อนว่า ฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นฟ้องซ้อนกับคดีอาญา หมายเลขดําที่ 2631/2563 หมายเลขแดงที่ 1204/2564 หรือเป็นฟ้องซ้อนกับ คดีอาญาหมายเลขดําที่ 287/2564 หมายเลขแดงที่ 723/2565 ของศาลชั้นต้น หรือไม่ ในปัญหานี้เมื่อพิจารณาสาระสําคัญแห่งคําฟ้องของโจทก์ทั้งสามคดี จะเห็นได้ว่า โจทก์บรรยายฟ้องกล่าวหาจําเลยที่ 2 และที่ 3ในคดีนี้ว่าเป็นผู้กระทําความผิดในคดีก่อนในช่วงวันเวลาเดียวกันโดยอาศัยมูลเหตุแห่งการกระทําความผิดในเรื่องเดียวกัน
โดยคดีอาญาหมายเลขดําที่ 2631/2563 ซึ่งโจทก์ยื่นฟ้องเป็นคดีแรกอันเป็นความผิดต่อเจ้าพนักงานและความผิดต่อตําแหน่งหน้าที่ราชการที่อยู่ในเขตอํานาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 4 ไม่ได้อยู่ในอํานาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลชั้นต้นที่จะรับฟ้องไว้ไต่สวนมูลฟ้องหรือรับพิจารณาพิพากษาได้ แม้ว่าศาลชั้นต้นจะรับไว้ไต่สวนมูลฟ้อง และลงสารบบความโดยกําหนดวันนัดไว้ก็ตาม แต่ก็ไม่ถือว่าเป็นคดีที่อยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น เพราะเป็นกรณีที่โจทก์ยื่นฟ้องผิดศาลอันเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ดังนั้นการที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีหมายเลขดําที่ 287/2564 เป็นคดีลําดับที่สองและคดีนี้เป็นลําดับที่สาม ในเวลาต่อมา จึงไม่เป็นฟ้องซ้อนกับคดีลําดับที่หนึ่งแต่อย่างใด ถึงแม้ว่าจะเป็นเรื่องเดียวกัน และคู่ความคนเดียวกันก็ตาม ส่วนคดีนี้ซึ่งเป็นคดีลําดับที่สาม โดยโจทก์ยื่นฟ้องจําเลยที่ 2 และที่ ซึ่งเป็นจําเลยที่ 1 และที่ 2 ในคดีหมายเลขดําที่ 287/2564 คดีลําดับที่สอง ในข้อหาเดียวกันคือร่วมกันฉ้อโกงโจทก์โดยเพิ่มเติมจําเลยที่ 1 เข้ามาด้วย โดยอาศัยมูลเหตุ ในเรื่องเดียวกัน ในขณะที่คดีลําดับที่สองยังอยู่ระหว่างพิจารณาในชั้นไต่สวนมูลฟ้องของ ศาลชั้นต้น ย่อมถือว่าเป็นกรณีที่มีคดีค้างอยู่ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้นแล้วโจทก์นําคําฟ้องเรื่องเดียวกันมายื่นฟ้องจําเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นคู่ความเดียวกันกับคดีก่อนเป็นสองคดีซ้อนกันในคราวเดียวกันซึ่งเป็นการต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 173 วรรคสอง (1) ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15
และแม้ว่าคดีก่อนศาลชั้นต้นจะพิพากษายกฟ้องเพราะเป็นฟ้องซ้ำกับคดีนี้เนื่องจากคดีนี้ศาลได้มีคําพิพากษาก่อนก็ตาม แต่ก็ไม่เป็นเหตุให้ฟ้องของโจทก์คดีนี้กลับกลายเป็นฟ้อง ที่ไม่ต้องห้ามไปได้ ปัญหาเรื่องฟ้องซ้อนเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลอุทธรณ์ภาค 4 จึงมีอํานาจยกขึ้นวินิจฉัยและพิพากษายกฟ้องโจทก์ได้ตามประมวล กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง แม้จําเลยที่ 2 และที่ จะมิได้อุทธรณ์ในปัญหาข้อนี้ก็ตาม สําหรับข้ออุทธรณ์ของจําเลยที่ 2 และที่ 3 นั้น เมื่อได้วินิจฉัยในปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวข้างต้นแล้วกรณีไม่จําต้องวินิจฉัยอีกเพราะไม่ทําให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลงไป
พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
อ่านเรื่องในหมวดเดียวกัน :
ประเด็นเรื่องการผูกขาด
ที่มา สำนักข่าวอิศรา ( isranews.org )