ทำไมสนามเลือกตั้งนายก อบจ. อุดรธานี จึงกลายเป็นศึกแห่งศักดิ์ศรีระหว่าง ‘ส้ม-แดง’ ? ประชาไทวิเคราะห์เรื่องนี้จากหลายปัจจัย ไล่มาตั้งแต่ความพิเศษของพื้นที่ในฐานะ ‘เมืองหลวงคนเสื้อแดง’ , ข้อค้นพบเมื่อเปรียบเทียบตัวเลขผลการเลือกตั้งปี 2562 กับปี 2566 ที่กระแสส้มรุกคืบจนแชมป์เก่าหวั่นใจ รวมถึงมุมมองจากแกนนำระดับแม่เหล็กของทั้ง 2 พรรค
การเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) อุดรธานีในวันอาทิตย์ที่ 24 พ.ย. ที่จะถึงนี้ เป็นการแข่งขันระหว่างผู้สมัครจาก 2 พรรคหลัก คือ
พรรคประชาชน เบอร์ 1 – คณิศร ขุริรัง ประธานสภาทนายความจังหวัดอุดรธานี 2 สมัยติด และอดีตรองนายก อบจ. (2552-2555)
พรรคเพื่อไทย เบอร์ 2 – ศราวุธ เพชรพนมพร อดีต สส. 4 สมัย
ทว่าศึกชิงนายก อบจ.ในครั้งนี้ถูกจับตามากกว่าสนามท้องถิ่นอื่นใด เพราะเป็นการประชันกันระหว่างพรรคส้ม-แดงเป็นครั้งแรกในภาคอีสานนับตั้งแต่การเลือกตั้งครั้งล่าสุดที่พลังส้มกสามารถแทรกตัวผ่านกำแพง ‘บ้านใหญ่’ ได้หลายจังหวัด
ในขณะที่อุดรธานียังมีความพิเศษเชิงพื้นที่เพราะเป็นพื้นที่พรรคเพื่อไทยมาตลอด 2 ทศวรรษ และถูกเรียกว่าเป็นเมืองหลวงของคนเสื้อแดง การเลือกตั้ง 2548, 2554, 2562 อุดรธานีแบ่งพื้นที่เป็น 8-10 เขต เรียกว่า เพื่อไทยได้ สส. กวาดทุกเขตยกจังหวัด
จนมาปี 2566 นี้เองที่กระแสของก้าวไกลผงาดขึ้นช่วงชิงความนิยมเดิม แม้จะคว้า สส.เขตในจังหวัดอุดรได้เพียงเขต 1 เขตเดียว แต่หากดูคะแนนปาร์ตี้ลิสต์ จะพบว่า ในความ “อันดับ 2” นั้น หลายพื้นที่ก็สูสีกับอันดับ 1 มากขึ้นทุกที
คะแนน สส.บัญชีรายชื่อ 10 เขต อุดรธานี
เขต 1
- ก้าวไกล 39,529
- เพื่อไทย 26,599
เขต 2
- เพื่อไทย 37,194
- ก้าวไกล 37,024
เขต 3
- เพื่อไทย 32,096
- ก้าวไกล 28,124
เขต 4
- เพื่อไทย 33,209
- ก้าวไกล 24,956
เขต 5
- เพื่อไทย 36,683
- ก้าวไกล 26,633
เขต 6
- เพื่อไทย 36,134
- ก้าวไกล 26,368
เขต 7
- เพื่อไทย 36,301
- ก้าวไกล 31,191
เขต 8
- เพื่อไทย 36,527
- ก้าวไกล 27,505
เขต 9
- เพื่อไทย 39,407
- ก้าวไกล 29,012
เขต 10
- เพื่อไทย 39,167
- ก้าวไกล 27,585
หากมองระดับภาคอีสาน เทียบปี 2562 กับ 2566 จะพบว่า
เพื่อไทย จากที่เคยได้ สส.เขต ทั้งหมด 84 คน ลดเหลือ 73 คน
ก้าวไกล จากที่เคยได้ สส.เขต ทั้งหมด 1 คน เพิ่มเป็น 8 คน
ภูมิใจไทย จากที่เคยได้ สส.เขตทั้งหมด 16 คน เพิ่มเป็น 35 คน
ดังนั้น การเลือกตั้ง อบจ.ครั้งนี้ จึงไม่ใช่การเลือกตั้งท้องถิ่นเพียงอย่างเดียว (โดยเฉพาะในจังหวัดที่มีลักษณะสูสี) แต่เป็นการวัดกระแสของ 2 พรรคใหญ่ เพื่อไทย-ประชาชน เพื่อดูทิศทางอนาคตการเลือกตั้งใหญ่ระดับประเทศในครั้งหน้า
แม้หลายคนจะบอกว่า ‘วิธีเลือก’ ของประชาชนตอนเลือกตั้งท้องถิ่นต่างจากการเลือกตั้งใหญ่ เพราะท้องถิ่นอาศัยความสัมพันธ์กันจริงๆ ขณะที่เลือกตั้งประเทศนั้นอาศัยกระแส แต่ดูเหมือนตอนนี้ ‘อุดร’ กลายเป็นกระแสท้ารบกันเสียแล้ว
ในช่วงสัปดาห์ที่แล้วแกนนำระดับแม่เหล็กของทั้ง 2 พรรคต่างทุ่มสรรพกำลังในการลงพื้นที่หาเสียงและเนื้อหาปรากฏตอบโต้กันในหน้าข่าวอยู่หลายวัน
เทียบวิธีหาเสียง-นโยบาย
พรรคเพื่อไทยและพรรคประชาชนต่างลงพื้นที่หาเสียงในช่วงไล่เลี่ยกัน แต่แตกต่างกันที่จุดขายที่นำมาใช้หาเสียง สะท้อนมุมมองต่อท้องถิ่นที่ต่างกัน
สำหรับพรรคเพื่อไทย มีการปรากฏตัวของทักษิณ แกนนำพรรคเพื่อไทยและอดีตแกนนำคนเสื้อแดง อาทิ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี, วิเชียร ขาวขำ อดีตนายก อบจ.อุดรธานี, พิพัฒน์ชัย ไพบูลย์ อดีตแกนนำ นปช., จิราพร สินธุไพร รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, ก่อแก้ว พิกุลทอง สส.บัญชีรายชื่อ, ขัตติยา สวัสดิผล สส.บัญชีรายชื่อ
ทางด้านณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ผู้เคยเป็นแกนนำ นปช. ได้โพสต์ภาพคู่กับ “ขวัญชัย สาราคำ” อดีตแกนนำ นปช. ผู้มีดำแหน่งเป็นประธานชมรมคนรักอุดรฯ พร้อมบอกด้วยว่าการต่อสู้ในอดีตส่งผลให้สุขภาพของขวัญชัยไม่ค่อยแข็งแรงเหมือนเก่า แต่ว่าหัวใจยังเหมือนเดิม
ในช่วงวันที่ 13-14 พ.ย. อดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณเปิดหน้าบนเวทีหาเสียงอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรกในรอบ 18 ปี ในฐานะผู้ช่วยหาเสียงของผู้สมัครนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) อุดรธานี และเป็นครั้งแรกที่เดินทางมาอุดรธานี นับตั้งแต่กลับเมืองไทยตั้งแต่ปีที่แล้ว
ทักษิณอ้อนขอคะแนนจากคนเสื้อแดงหลายครั้ง ตั้งแต่ “คิดฮอตหลาย” “อย่าลืมผมนะ” และ “ผมกลับมาแล้ว” ปราศรัยหวนคืนความทรงจำเมื่อ 20 ปีที่แล้วเรื่องความสำเร็จของนโยบายไทยรักไทยและปลุกความเชื่อมั่นต่อนโยบายของรัฐบาลแพทองธาร อาทิ ดิจิทัลวอลเล็ต รวมทั้งการแก้ปัญหาหนี้สิน, การปราบยาเสพติด, การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาทต่อวัน
ขณะที่ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อปราศรัยตอนหนึ่งว่างบประมาณท้องถิ่นมีไม่มาก แต่ถ้า อบจ. กับรัฐบาลมาจากพรรคเดียวกัน เชื่อมประสานกัน การทำงานก็หนุนส่งกันได้
ส่วนทางฝั่งพรรคประชาชนขนทัพ สส. และแกนนำระดับแม่เหล็กของพรรคส้มเดิมไปช่วยหาเสียงในช่วง 15-17 พ.ย. อาทิ ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ, พรรณิการ์ วานิช รวมทั้ง พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ที่บินกลับจากสหรัฐอเมริกามาช่วยอ้อนขอคะแนนให้คณิศร โดยในช่วงก่อนหน้านั้น ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ, ปิยบุตร แสงกนกกุล และศิริกัญญา ตันสกุล ก็ได้ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนมาปราศรัยก่อนแล้ว แต่อาจไม่ได้เป็นกระแสมากนัก
พรรคประชาชนชูสโลแกน “เปลี่ยนอุดรให้ก้าวไกล อบจ.รับใช้ประชาชน” แนวคิดหลักคือการกระจายอำนาจและงบประมาณลงสู่ท้องถิ่นเพื่อพัฒนาบริการสาธารณะ โดยชูโครงการเรือธงอย่าง “น้ำประปาดื่มได้” เป็นนโยบายด่วนทำทันทีภายใน 1 ปี นอกจากนี้ยังมีการกล่าวถึงนโยบายรถเมล์ไฟฟ้า กำหนดเส้นทางเชื่อมโยงกลางเมืองอุดรธานี, ถนนปลอดหลุม ไฟสว่าง มีกล้องวงจรปิด เป็นต้น
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
พรรคสีแดงมีแต้มต่อ
ถ้ามองตามสภาพพื้นที่ เพื่อไทยมีความได้เปรียบอยู่หลายประการ ได้แก่
หนึ่ง – ก่อนหน้านี้ตำแหน่งนายก อบจ. อุดรธานีเป็นของ “วิเชียร ขาวขำ” คนของเพื่อไทย 2 สมัยติดต่อกัน การส่งศราวุธลงเลือกตั้งในครั้งนี้จึงคือการรักษาเก้าอี้ให้ฝ่ายแชมป์
สอง – ศราวุธมีฐานเสียงในเมืองอยู่แล้วพอสมควร เขาเป็นอดีต สส.อุดรธานี เขต 1 อำเภอเมืองมาถึง 4 สมัยติดต่อกัน บวกกับเขายังเป็นลูกเขยของ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก อดีตรองนายกฯ และรมว.ยุติธรรมในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ส่วน “หทัยรัตน์ เพชรพนมพร” ผู้เป็นน้องสาวของศราวุธก็เป็น สส.อุดรธานี เขต 2 พรรคเพื่อไทย
ทว่าในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาปี 2566 เขาเพิ่งสอบตกครั้งแรก หลังพ่ายแพ้ให้กระแสพรรคส้มที่ลามเข้ามาถึงอำเภอเมืองอุดรธานี
สาม – พรรคสีส้มที่มีฐานเสียงเป็นคนรุ่นใหม่จำนวนมากเป็นฝ่ายเสียเปรียบในสนามท้องถิ่น เนื่องจากการเลือกตั้งท้องถิ่นมีปัจจัยที่แตกต่างจากการเลือกตั้งทั่วไปคือ ไม่มีการเลือกตั้งล่วงหน้า ซึ่งทำให้กลุ่มฐานเสียงของพรรคประชาชนที่ไปเรียนหรือไปทำงานที่จังหวัดอื่น ไม่สามารถมาโหวตให้พรรคประชาชนได้
ทั้งนี้ ในการเลือกตั้งปี 2566 เมื่อดูคะแนนของจังหวัดอุดรธานีทั้ง 10 เขตเลือกตั้ง โดยดูเฉพาะส่วนของบัตรเลือกตั้งนอกเขตและนอกราชอาณาจักร จะพบว่าพรรคก้าวไกลได้คะแนนส่วนนี้เป็นอันดับ 1 ทั้งแบบเขตและบัญชีรายชื่อ (อ้างอิงข้อมูลจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง)
พรรคสีส้มก็มีแต้มต่อ
หนึ่ง – ผู้สมัครพรรคเพื่อไทยถูกยื่นเรื่องร้องเรียนกับ ป.ป.ช.ให้ตรวจสอบบัญชีทรัพย์สิน ซึ่งก่อนหน้านี้สำนักข่าวอิศราเปิดเผยว่าภรรยาของเขาได้ร่วมถือหุ้นบริษัทอสังหาฯ ในภูเก็ตเมื่อปี 2557 ร่วมกับ ‘ตู้ห่าว’ นักธุรกิจจีนผู้ต้องหาคดียาเสพติด แม้ศราวุธได้มีการยื่นเพิ่มเติมบัญชีทรัพย์สินเพิ่มเติมแล้วและเคยให้สัมภาษณ์ว่า บริษัทดังกล่าวยังไม่ได้ทำธุรกิจอะไร ภรรยาก็ยังไม่ได้รับประโยชน์ใด ผลสอบสวนก็ยังไม่มีความชัดเจน แต่เรื่องนี้ก็สุ่มเสี่ยงกลายเป็นเป้าสร้างความลังเลให้กับผู้ลงคะแนนได้
ชัยธวัช ตุลาธน ในฐานะผู้ช่วยหาเสียงพรรคประชาชนก็หยิบยกเรื่องนี้มาปราศรัยบนเวทีอุดรฯ จนท้ายที่สุดศราวุธได้มอบหมายทนายความให้ไปแจ้งความดำเนินคดีกับชัยธวัช และร้องเรียนกับ กกต.ว่าเป็นการจงใจปราศรัยใส่ร้าย
สอง แม้ไม่มีเลือกตั้งล่วงหน้า แต่การเลือกตั้งใหญ่ปี 2566 ก็เห็นพลังของ ‘หัวคะแนนธรรมชาติ’ อย่างคนรุ่นใหม่แล้วว่าพวกเขาจำนวนไม่น้อยติดต่อสื่อสารและบอก ‘ที่บ้าน’ ว่าควรเลือกใคร
ทั้งนี้ ปัจจุบันพรรคประชาชนประกาศตัวแล้วว่าจะส่งผู้สมัครลงชิงนายก อบจ.12 จังหวัด ล็อคเป้าพร้อมประกาศชัดเจนว่าจะเลือกสู้ในพื้นที่ใดบ้าง
แกนนำ 2 พรรคมองเกมนี้ยังไง
พรรณิการ์ วานิช แกนนำคณะก้าวหน้า กล่าวในรายการ The Politics ทางมติชนทีวีว่า พรรคเพื่อไทยใช้เวทีเลือกตั้ง อบจ.อุดร เพื่อสนองเป้าหมายการเมืองภาพใหญ่ เห็นได้จากการที่ทักษิณปราศรัยพาดพิงพรรคส้มรวมถึงให้สัมภาษณ์พาดพิงธนาธร ทำให้คนหันมาสนใจสนามเลือกตั้งท้องถิ่นอุดรธานีในฐานะที่เป็นเวทีปะทะกันของส้ม-แดง
“พอบอลมันถูกเตะเข้ามาสู่พวกเราแล้วกลายเป็นการเมืองระดับชาติ ดิฉันต้องใช้คำว่ามันไปกระตุ้นต่อมผู้รักประชาธิปไตยในอุดรธานี คำว่า “ตระบัดสัตย์ข้ามขั้ว” “ไปหลอมรวมกับอำมาตย์” หรือคำอย่างเช่น “ประชาชนเข้าใจผิด” “สีตก” มันไปกระตุ้นต่อมให้คนรู้สึกว่า เฮ้ยไม่ได้แล้ว นี่ไม่ใช่แค่การเมือง อบจ. ที่เป็นเรื่องน้ำไหล ไฟสว่าง ทางดี มีงานทำ แต่มันเป็นการแสดงพลังให้เห็นว่าคนอุดรจะต้องการการเมืองแบบไหน ไม่ใช่แค่เฉพาะ อบจ.”
พรรณิการ์กล่าวว่า สถานการณ์ที่โทนอารมณ์ของผู้คนเป็นแบบนี้ถือเป็นคุณกับพรรคส้ม เพราะมันสอดคล้องกับสิ่งที่พรรคส้มสื่อสื่อสารมาตลอดในภาพใหญ่อยู่แล้ว และจากที่เมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ตนเองได้ไปเดินแจกแผ่นพับหาเสียง เจอชาวบ้านหลายคนบอกว่าลูกๆ ของพวกเขากำลังจะบ้านมาเลือกตั้ง ซึ่งก็อาจเป็นผลมาจากการหาเสียงเลือกตั้ง อบจ.ที่ถูกโหมกระแสให้เป็นเรื่องการเมืองภาพใหญ่ “เป็นการเทสต์ว่าอีสานหลังจากตั้งรัฐบาลข้ามขั้วเป็นแบบไหน”
พรรณิการ์กล่าวว่า สมรภูมินี้คล้ายกับการ “เทสต์ระบบ” เพราะเมื่อมองย้อนดูสนามการเลือกตั้งท้องถิ่นในพื้นที่อื่นๆ ที่ผ่านมา ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ที่ไม่ได้ปะทะกันอย่างชัดเจนระหว่างพรรคเพื่อไทยกับประชาชน แต่อุดรธานีเป็นสนามการเลือกตั้งท้องถิ่นแรกที่แดงกับส้มต้องแข่งกันในภาคอีสาน และก็เป็นธรรมดาที่พรรคการเมืองจะมองยาวไปถึงเลือกตั้งใหญ่ปี 2570 ฉะนั้นสนาม อบจ.อุดรธานีจึงสามารถบอกความนิยมได้ระดับหนึ่ง
ทางด้าน ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กับจอมขวัญ หลาวเพ็ชร์ ในรายการมีเรื่อง (อยาก) Stay ว่าพรรคส้มเคยขึ้นสู่กระแสสูงในการเลือกตั้งครั้งที่แล้วก็จริง แต่มันก็ไม่เป็นเช่นนั้นเสมอไปในทุกกรณี ถ้าดูจากโพลสำรวจความนิยมในช่วงหลัง เราจะเห็นว่าระดับความนิยมพรรคประชาชน ทั้งในตัวพรรคและผู้นำพรรคลดลง ในขณะที่ระดับคะแนนนิยมของพรรคเพื่อไทยและผู้นำพรรคอย่างแพทองธารก็เพิ่มขึ้น
“ถ้าเป็นสนามการเมืองท้องถิ่น ส่วนตัวผมให้น้ำหนักกับความเป็นจริงทางการเมือง ก็คือนักการเมืองหรือกลุ่มการเมืองที่เกาะติดกับคนในพื้นที่ ทำงานเครือข่าย ทำงานกับประชาชนมายาวนาน โอกาสเขาจะสูงกว่า ซึ่งพรรคประชาชนยังไม่เด่นในเรื่องนี้”
ณัฐวุฒิกล่าวว่าตั้งแต่อนาคตใหม่มาจนถึงก้าวไกล พรรคสีส้มก็ยังไม่ประสบความสำเร็จในสนาม อบจ.สักครั้งเลย ส่วนหนึ่งจึงต้องยอมรับว่าผู้สมัครที่อยู่ติดพื้นที่ มีผลงาน หรือวงศ์ตระกูลที่ผูกพันใกล้ชิดกับชาวบ้านก็มีโอกาสจะได้รับเลือกตั้งสูงกว่า ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับการเลือกตั้งระดับประเทศเมื่อปีที่แล้ว กระแส “มีลุงไม่มีเรา” ที่สอดรับกับวาระทางการเมืองในตอนนั้น “มันก็วูบเดียวนำพาไปสู่ชัยชนะได้” แต่ในการเลือกตั้งท้องถิ่นมันไม่สามารถใช้กระแสแบบนั้นได้
มุมมองนักวิชาการ
รศ.ดร.โอฬาร ถิ่นบางเตียว รองคณบดีคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพาให้มุมมองกับสำนักข่าวทูเดย์ว่า การลงพื้นที่ของทักษิณในครั้งนี้สามารถมองได้ว่าเป็นการยิงปืนนัดเดียวได้นกทั้งฝูง กล่าวคือเป็นการปลุกกระแสนิยมพรรคเพื่อไทยเพื่อหวังผลการเลือกตั้งในปี 2570 อีกทั้งยังป้องกันการรุกคืบของพรรคภูมิใจไทยที่จะขยับดึงคะแนนเสียงจากอีสานใต้ เริ่มเข้ามาอีสานกลางแล้ว รวมถึงเป็นการส่งสัญญาณไปถึงกลุ่มบ้านใหญ่ที่อาจยังลังเลในการเข้าร่วมกับเพื่อไทย
ทางด้าน ดร. สติธร ธนานิธิโชติ ผอ.สำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า วิเคราะห์กับสำนักข่าวพีพีทีวีว่า การที่ทักษิณเดินเกมปลุกกระแสชนกับพรรคส้ม อาจเป็นไปเพื่อรักษาบรรยากาศการต่อสู้ของ 2 พรรค ซึ่งในมุมหนึ่งก็อาจมองได้ว่าเป็นไปเพื่อสกัดความเคลื่อนไหวของกลุ่มที่หวังจัดการกับทักษิณและพรรคเพื่อไทยผ่านกระบวนการทางกฎหมายและนักร้องต่างๆ
ที่มา ประชาไท ( prachatai.com )