แชร์ลิ้งค์นี้ : https://ด่วน.com/65ag | ดู : 0 ครั้ง

‘สภาผู้บริโภค’ เรียกร้อง ‘กสทช.’ เปิดประมูล ‘คลื่นมือถือ’ เท่าที่จำเป็น กังวลไม่เกิดการแข่งขัน เหตุมีรายใหญ่เพียง 2 เจ้า พร้อมเปิดฟังความเห็นฯผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรง‘ทุกกลุ่ม’ สร้างหลักประกัน ‘คุณภาพ-ราคา’

…………………………………

เมื่อวันที่ 2 เม.ย. สภาองค์กรของผู้บริโภค ยื่นหนังสือต่อประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เพื่อเรียกร้องให้มีการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นเฉพาะกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรงทุกกลุ่ม ก่อนเปิดประมูลคลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่ในย่านความถี่ 850 MHz, 1500 MHz, 1800 MHz, 2100 MHz, 2300 MHz และ 26 GHz ซึ่งปัจจุบัน กสทช. อยู่ระหว่างการเปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ ตั้งแต่วันที่ 29 มี.ค.ถึง 4 เม.ย.2568

น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ ประธานคณะอนุกรรมการด้านการสื่อสาร โทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ สภาผู้บริโภค กล่าวว่า ประเด็นสำคัญที่สภาผู้บริโภคจะนำไปเสนอต่อ กสทช. ในงานเวทีรับฟังความคิดเห็น คือ ข้อเสนอให้ระบุเงื่อนไขการเตือนภัยพิบัติ ให้เป็นข้อบังคับในใบอนุญาตการใช้คลื่นความถี่ โดยต้องมีการสำรองคลื่นเพื่อรองรับเหตุฉุกเฉิน และกำหนดมาตรการด้านเทคนิคที่ชัดเจน เพื่อให้โครงข่ายโทรคมนาคมสามารถรับมือกับภัยพิบัติในยุค 6G

น.ส.สุภิญญา ระบุด้วยว่า การเปิดประมูลคลื่นความถี่ฯครั้งนี้ อาจไม่ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้บริโภค โดยเฉพาะเมื่อเหลือผู้ให้บริการรายใหญ่เพียงสองราย ได้แก่ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) ซึ่งอาจส่งผลต่อการแข่งขันในตลาดที่ถูกจำกัด และละเมิดสิทธิของผู้บริโภค รวมถึงไม่มีหลักประกันว่าการประมูลจะนำไปสู่การให้บริการที่มีคุณภาพ ราคาที่เป็นธรรม และครอบคลุมพื้นที่อย่างทั่วถึง

นอกจากนี้ สภาผู้บริโภคยังตั้งข้อสังเกตถึงการนำคลื่นย่าน 850 MHz ซึ่งใบอนุญาตของบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT กำลังจะหมดอายุในเดือนสิงหาคมนี้ มาประมูลพร้อมกับคลื่นอื่นๆ โดยที่ยังไม่มีแนวทางชัดเจนในการเยียวยาผู้ใช้งานเดิม

“เพื่อป้องกันปัญหาดังกล่าว สภาผู้บริโภคเสนอให้ กสทช. พิจารณาขยายระยะเวลารับฟังความคิดเห็นออกไป เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย อาทิ หน่วยงานภาครัฐที่ใช้คลื่นของ NT และผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบโครงข่ายเสมือน (เอ็มวีNO) ได้มีเวลาพิจารณาและเสนอความเห็นอย่างรอบด้าน ซึ่งจะเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้เล่นรายใหม่เข้าสู่ตลาดและยังช่วยสร้างการแข่งขันที่หลากหลายและยั่งยืนในตลาด” น.ส.สุภิญญา กล่าว

นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา รองเลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค กล่าวว่า การเปิดประมูลคลื่นความถี่ ควรทำเฉพาะเท่าที่มีความจำเป็น เพราะการเปิดให้ประมูลคลื่นความถี่หลายคลื่นพร้อมๆกัน ทั้งที่ไม่มีเหตุจำเป็น อาจจะทำให้ไม่เกิดการแข่งขันที่แท้จริง ขณะเดียวกัน การนำคลื่นของบมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ (NT) ที่หมดสัญญาแล้ว ไปเปิดประมูลอาจกระทบความมั่นคงในยามวิกฤติ กระทบต่อกลุ่มประมูลเปราะบางที่จำเป็นต้องใช้บริการโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ต

ดังนั้น กสทช. ควรพิจารณาเงื่อนไขการจัดสรรคลื่นความถี่ให้กับหน่วยงานภาครัฐ โดยไม่ต้องใช้วิธีประมูลเพื่อให้ทำหน้าที่ให้บริการสาธารณะ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคอย่างแท้จริง

“ภายใต้บรรยากาศตลาดโทรคมนาคมที่มีการควบรวมกิจการระหว่างค่ายมือถือและผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตบ้าน ก็ไม่มีหลักประกันเลยว่าจะเกิดการควบรวมที่เป็นอุปสรรคต่อการแข่งขันทางการค้าอีกหรือไม่ นอกจากนี้ จากการควบรวมครั้งที่ผ่านมา กสทช. ได้มีการกำหนดหลักเกณฑ์ที่ผู้ประกอบการต้องทำเงื่อนไขที่กำหนดไว้ ให้ได้หลังจากควบรวม แต่จนปัจจุบันก็พบว่าบริษัทดังกล่าวยังไม่ได้ทำตามเงื่อนไขอย่างครบถ้วน อย่างเป็นที่ประจักษ์” นายอิฐบูรณ์ กล่าว

นายอิฐบูรณ์ ระบุว่า สภาผู้บริโภคขอเรียกร้องให้ กสทช. กำหนดเงื่อนไขการประมูลที่เหมาะสม มีมาตรการจูงใจให้เกิดการแข่งขันที่เอื้อต่อผู้เล่นรายใหม่ และมีแนวทางชัดเจนในการคุ้มครองผู้บริโภค ทั้งด้านคุณภาพการให้บริการและราคาหลังการประมูลที่เป็นธรรม เพื่อให้การจัดสรรคลื่นความถี่ในครั้งนี้เกิดประโยชน์ต่อผู้บริโภคและประเทศอย่างแท้จริง

รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อวันที่ 1 เม.ย.ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (สำนักงาน กสทช.) ได้จัดงานการประชุมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล 850 MHz 1500 MHz 1800 MHz 2100 MHz 2300 MHz และ 26 GHz ครั้งที่ 2

นายสุทธิศักดิ์ ตันตะโยธิน รองเลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า จากที่สำนักงาน กสทช. ได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ฯ เมื่อวันที่ 20 ม.ค.-20 ก.พ.2568 และได้นำเสนอผลการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ และร่างประกาศหลักเกณฑ์ ต่อ กสทช. ในการประชุม ครั้งที่ 8/2568 เมื่อวันที่ 18 มี.ค.2568 และการประชุม ครั้งที่ 9/2568 เมื่อวันที่ 26 มี.ค.2568 นั้น

กสทช. มีมติเห็นชอบให้สำนักงาน กสทช. จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและประชาชนทั่วไปต่อ (ร่าง) ประกาศหลักเกณฑ์ฯ อีกครั้งหนึ่ง จึงเป็นที่มาของการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะในครั้งนี้ โดยสำนักงาน กสทช. จัดงานการประชุมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะฯ ครั้งที่ 2 เพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ได้รับความคิดเห็นที่รอบด้าน ข้อมูลที่ครบถ้วนสมบูรณ์ และเพื่อให้เกิดประโยชน์สุงสุดต่อประชาชน และประเทศไทย

โดยมีหัวข้อที่เปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะฯ ดังนี้ 1.คลื่นความถี่ที่จะนำมาประมูล 2.ความเหมาะสมของวิธีการประมูลและการจัดกลุ่มคลื่นความถี่ เพื่อให้ส่งเสริมการแข่งขันในการประมูลคลื่นความถี่ 3.ความเหมาะสมของมูลค่าคลื่นความถี่และวิธีการคำนวณ รวมถึงปัจจัยต่างๆ ในการกำหนดราคาขั้นต่ำของการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ (Reserve ticket)

4.ความเหมาะสมของการกำหนดเงื่อนไขการชำระเงินประมูลคลื่นความถี่และการจัดให้มีโครงข่ายโทรคมนาคมย่าน 850 MHz 1500 MHz 1800 MHz 2100 MHz หรือ 2300 MHz สำหรับผู้ให้บริการรายใหม่ และ 5.ความเหมาะสมของการกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับการให้ดำเนินการเพื่อสังคม และการคุ้มครองผู้บริโภคเพิ่มเติมสำหรับผู้ถือบัตรประจำตัวคนพิการผู้ถือบัตรโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ และผู้สูงอายุตาม พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ พ.ศ.2546 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

“กสทช. ในฐานะองค์กรกำกับดูแล ตระหนักดีว่า คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล เป็นรากฐานสำคัญสำหรับโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลประสิทธิภาพสูง ที่สามารถรองรับการเกิดขึ้นของเทคโนโลยีที่ทันสมัย ซึ่งจะขับเคลื่อนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลของประเทศ ดังนั้น การออกแบบการจัดสรรคลื่นความถี่สำหรับบริการ การสื่อสารความเร็วสูงของประเทศ สำนักงาน กสทช. จึงได้คำนึงถึงหลักการแข่งขัน และการกระจายทรัพยากรของชาติอย่างเหมาะสม เพื่อสร้างความเชื่อมั่น และผลักดันนโยบายจัดสรรคลื่นความถี่ อย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใส ยุติธรรม” นายสุทธิศักดิ์ ระบุ

สำหรับการประชุมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อ (ร่าง) ประกาศ กสทช.ฯ ดังกล่าว จัดขึ้นเพื่อให้เป็นไปตามมาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 โดยได้เชิญผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และประชาชนทั่วไปเข้าร่วมแสดงความคิดเห็น และข้อเสนอแนะต่อ (ร่าง) ประกาศ กสทช. ข้างต้น ซึ่งสามารถนำส่งแบบแสดงความคิดเห็นได้ตั้งแต่วันที่ 29 มี.ค. ถึงวันที่ 4 เม.ย.2568

ที่มา สำนักข่าวอิศรา ( isranews.org )

เรื่องที่เกี่ยวข้อง:

เก๋งป้ายเขียวเนียนเป็นญาติ ขับจี้รถพยาบาล 3 เม.ย

‘ธปท.’เผยอยู่ระหว่างประเมินผลกระทบ‘สหรัฐฯ’ขึ้นภาษีสินค้าไทย 37%-ดูแลความผันผวนตลาดเงิน

CIB ก็มี Artwork Toy นะ มาถ่ายรูปกับน้อง และผู้กอง CIB ได้ ที่งา

รัฐบาลทหารพม่าประกาศหยุดยิvชั่วคราวถึง 22 เม.ย. เปิดทางช่วยเหลือแผ่นดินไหว

ตำรวจสอบสวนกลาง(CIB) ร่วมงาน THAILAND TOY EXPO generat

CPAC มุ่งขับเคลื่อนสังคมคาร์บอนต่ำด้วย EV Mixer Truck ชูแนวบริหารต้นทุน,ลดโลกร้อน

FM91 24 ชั่วโมงข่าว : วันที่ 2 เมษายน 2568 FM91 24 ชั่วโมงข่ 2025-04-01 22:06:00

รุมตื๊บกระบะติดโลโก้ข่าวกร่าง ขู่ยิv จยย.ซ้ำ 3 เม.ย

เปิดปัจจัยเหตุใดการค้นหาและกู้ภัยตึก สตง. ถล่ม จึงทำได้ยาก ความคืบหน้าล่าสุดเป็นอย่างไร

ผู้เรียบเรียง

ให้คะแนนความพอใจของคุณ :

0 / 5 คะแนน 0

คุณให้คะแนน:

แชร์ลิ้งค์นี้ : https://ด่วน.com/65ag | ดู : 0 ครั้ง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *


Share via
Click to Hide Advanced Floating Content