“เมื่อชนชั้นนำดั้งเดิมไม่สามารถเอาชนะในสนามเลือกตั้งได้ รวมมาถึงจนกระทั่งหลังสุด สิ่งที่ชนชั้นนำดั้งเดิมจะทำคือ ใช้องค์กรที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งมากำกับทิศทางการเมืองแทน องค์กรที่มาจากการเลือกตั้ง ไม่ใช่แค่ศาลรัฐธรรมนูญอย่างเดียว กกต. ป.ป.ช. และศาลยุติธรรม นี่คือสิ่งที่เรียกว่าการพลิกผัน ศาลรัฐธรรมนูญไทยจากเดิมที่จะทำหน้าที่ปกป้องประชาธิปไตย กลายเป็นการพิทักษ์อำนาจนำดั้งเดิม”
วันที่ 1 ธ.ค. 67 ที่ผ่านมา ประชาไทจัดเสวนา ‘องค์กรอิสระ-ศาลรัฐธรรมนูญ ตรวจสอบอย่างไร ไม่ขวางประชาธิปไตย’ ที่สโมสรผู้สื่อข่าวต่างประเทศประจำประเทศไทย (FCCT) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของซีรีส์เสวนา ‘ประเทศไทยในรอบ 20 ปี’ ในวาระครบรอบ 20 ปี ก่อตั้งสำนักข่าวประชาไท ร่วมเสวนาโดย รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และศุภณัฐ บุญสด นักวิจัยจากสถาบันพระปกเกล้า โดยทั้ง 2 คนมีประสบการณ์การทำวิจัยเกี่ยวกับองค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญ
สมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวถึงประเด็นพลวัตรขององค์กรอิสระ-ศาลรัฐธรรมนูญตั้งแต่ปี 2540 จนถึงปัจจุบัน ที่แต่เดิมในช่วงแรกมีเจตนาดี ต้องการเป็นกลไกตรวจสอบถ่วงดุลระบบการเมืองที่เข้มแข็ง รักษาเสรีภาพของประชาชน แต่ท้ายที่สุดกลายเป็น ‘บ้องกัญชา’ ที่ทำลายระบอบประชาธิปไตย และพิทักษ์อำนาจชนชั้นนำทางการเมือง
สมชาย มองว่า แนวทางปฏิรูปศาลรัฐธรรมนูญมีด้วยกัน 3 แนวทาง คือ 1. ยกเลิกศาลรัฐธรรมนูญ และให้อำนาจตัดสินข้อพิพาทด้านรัฐธรรมนูญ อยู่กับศาลยุติธรรม แต่ปัญหาที่พบคือ ศาลยุติธรรม ก็มีความยึดโยงกับประชาชนน้อยมาก การเลื่อน ลด ปลด ย้าย ไม่เกี่ยวกับประชาชนเลย
2. การปฏิรูปศาลรัฐธรรมนูญบางจุด โดยดูเรื่องที่สำคัญ เช่น กระบวนการคัดคนเข้ามา เพิ่มการตรวจสอบความรับผิดทางกฎหมาย
3. ตั้งองค์กรรูปแบบใหม่ขึ้น โดยยึดโยงกับสถาบันทางการเมืองมากยิ่งขึ้น เช่น ตุลาการพิทักษ์รัฐธรรมนูญ โดยใช้บุคคลที่เกี่ยวข้องกับสถาบันทางการเมืองเข้ามาวินิจฉัยชี้ขาดมากยิ่งขึ้น เช่น ผู้นำฝ่ายค้าน ตัวแทน สส. และอื่นๆ นี่จะเป็นองค์กรที่เชื่อมโยงกับอำนาจทางการเมืองมากขึ้น
ที่มา ประชาไท ( prachatai.com )