วันที่ 30 มกราคม 2568 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จออกแทนพระองค์ ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท พระบรมมหาราชวัง พระราชทานพระราชวโรกาสให้ศาสตราจารย์ นายแพทย์อภิชาติ อัศวมงคลกุล รองประธานมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ นำผู้ได้รับพระราชทาน
รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2567 เฝ้าทูลละอองพระบาท รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2567 ดังนี้
สาขาการแพทย์ ได้แก่ ศาสตราจารย์ โทนี ฮันเตอร์ (Professor Dr. Tony Hunter, Ph.D.) ศาสตราจารย์สาขาวิชาชีววิทยา สถาบันซอล์กเพื่อการศึกษาชีววิทยา ศาสตราจารย์สมทบ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานดิเอโก รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา มีผลงานจากการค้นพบเกี่ยวกับเอนไซม์ไทโรซีนไคเนส (Tyrosine Kinase) และกระบวนการฟอสโฟรีเลชั่น (Phospyorylation) ซึ่งเป็นการเติมโครงสร้างหมู่ฟอสเฟต ที่กรดอะมิโนไทโรซีนในโปรตีน กระบวนการดังกล่าวเป็นกลไกพื้นฐานของการส่งสัญญาณภายในเซลล์ที่ควบคุมการเจริญเติบโตและการทำงานของเซลล์ การกระตุ้นการทำงานของเอนไซม์ไทโรซีนไคเนสที่ผิดปกติ โดยไวรัสหรือสารที่ก่อโรคมะเร็งสามารถส่งสัญญาณกระตุ้นผ่านเยื่อหุ้มเซลล์ นำไปสู่การทำงานของกระบวนการเติมโครงสร้างหมู่ฟอสเฟตที่มากผิดปกติของโปรตีนภายในเซลล์ ซึ่งเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้เปลี่ยนเซลล์ปกติให้กลายเป็นเซลล์มะเร็งได้ กลไกดังกล่าวนำไปสู่การพัฒนาการรักษาโรคมะเร็งแบบมุ่งเป้า (centered therapy) โดยการยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ไทโรซีนไคเนส เกิดการพัฒนายาที่สามารถยับยั้งเซลล์มะเร็งได้อย่าง
มีประสิทธิภาพจำนวนไม่น้อยกว่า 86 ตัว เช่น อิมาทินิบ (Imatinib, GleevecTM) ซึ่งใช้รักษามะเร็งเม็ดเลือดขาว เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพอนามัยของมวลมนุษย์ทั่วโลก และสร้างความก้าวหน้าให้กับการรักษา และวิจัยด้านโรคมะเร็ง สาขาการสาธารณสุข ได้แก่ ศาสตราจารย์ โจนาธาน พี. เชฟเพิร์ด (Professor Dr. Jonathan P. Shepherd, D.D.Sc., Ph.D.) ศาสตราจารย์เกียรติคุณ สาขาศัลยกรรมช่องปากและแม็กซิลโลเฟเชียล (Oral and Maxillofacial Surgical contrivance)
ผู้อำนวยการสถาบันนวัตกรรมทางอาชญากรรม ความมั่นคงและการสืบสวน มหาวิทยาลัยคาร์ดิฟฟ์ สหราชอาณาจักร มีผลงานคือการริเริ่มสร้าง “คาร์ดิฟฟ์โมเดลเพื่อป้องกันเหตุความรุนแรง” (Cardiff Mode For Violence Prevention) การบาดเจ็บจากเหตุความรุนแรงต่างๆ นับเป็นปัญหาสาธารณะที่สำคัญของประเทศ ก่อให้เกิดการบาดเจ็บ สูญเสียชีวิต และเกิดผลกระทบต่ออารมณ์และจิตใจ รวมทั้งเกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจ โดยพบว่าปัญหาอาชญากรรมที่รุนแรง ทำให้มีผู้ป่วยมารับการรักษาที่แผนกฉุกเฉินของโรงพยาบาลเป็นจำนวนมาก แต่เหตุดังกล่าว ส่วนใหญ่ไม่ได้มีการรายงาน ทำให้เจ้าหน้าที่ด้านการบังคับใช้กฎหมายไม่ได้รับทราบ ถึงร้อยละ 75 จึงได้มีการเชื่อมโยงข้อมูลการบาดเจ็บจากเหตุความรุนแรงต่างๆ ระหว่างโรงพยาบาลและตำรวจ เพื่อวิเคราะห์สถานที่เกิดเหตุบ่อย วันเวลาที่เกิดเหตุ ขนาดและประเภทของความรุนแรง นำไปสู่การสร้างเป็นคาร์ดิฟฟ์โมเดล ที่สามารถใช้ในการวางแผนป้องกันเหตุความรุนแรงได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้จำนวนผู้ป่วยที่ต้องมาแผนกฉุกเฉินลดลง และช่วยลดค่าใช้จ่าย
ที่เกี่ยวเนื่องกับการบาดเจ็บได้จำนวนมาก ศาสตราจารย์ โจนาธาน พี. เชฟเพิร์ด ได้ริเริ่มและพัฒนาคาร์ดิฟฟ์โมเดล ระหว่างปี พ.ศ. 2540 – 2544 จนสมบูรณ์ และนำมาใช้เป็นครั้งแรกในเมืองคาร์ดิฟฟ์ เมืองหลวงของเวลส์ ในปี พ.ศ. 2544 และต่อมาได้นำมาใช้ในกรุงลอนดอน พบว่าได้ผลดีมากในการลดความเสียหายจากเหตุความรุนแรง จึงนำไปใช้ต่อทั่วสหราชอาณาจักร และในหลายประเทศ เช่น เครือรัฐออสเตรเลีย ราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ สาธารณรัฐแอฟริกาใต้ สาธารณรัฐโคลอมเบีย จาเมกา แคนาดา และสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ องค์การอนามัยโลกยังได้นำไปใช้ในการป้องกันความรุนแรงในเด็ก รวมถึงศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐอเมริกา ได้นำไปประยุกต์ใช้เช่นเดียวกัน คาร์ดิฟฟ์โมเดล จึงเป็นเครื่องมือและนวัตกรรมด้านสาธารณสุขที่สำคัญ สำหรับการลดเหตุความรุนแรงในชุมชน ช่วยลดการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินได้จำนวนมาก สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้แก่ชุมชนต่างๆ และได้รับการยอมรับในหลายทวีป เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพอนามัยของผู้คนทั่วโลก
โอกาสนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานพระราชดำรัส ความว่า การศึกษาค้นคว้าวิจัย ทั้งทางการแพทย์และการสาธารณสุข เพื่อประโยชน์ในการรักษาโรคใดโรคหนึ่งโดยเฉพาะ หรือเพื่อหาวิธีแก้ไขปัญหาทางสาธารณสุขนั้น จำเป็นต้องเข้าใจถึงสาเหตุหลัก รวมทั้งปัจจัยแวดล้อมที่ร่วมอยู่ด้วย จึงจะบรรลุผลสำเร็จ ดังเช่นผลงานของ ศาสตราจารย์ โทนี ฮันเตอร์ ที่ค้นพบว่าการทำงานของเอนไซม์ไทโรซีนไคเนสในกระบวนการฟอสโฟรีเลชั่นของร่างกาย ที่ถูกกระตุ้นอย่างผิดปกติ เป็นกลไกสำคัญที่ทำให้เซลล์ปกติกลายเป็นเซลล์มะเร็ง จึงนำไปสู่การพัฒนายาหลายชนิด ที่สามารถยับยั้งเซลล์มะเร็งได้อย่างมีประสิทธิภาพ กับผลงานของ ศาสตราจารย์ โจนาธาน พี. เชฟเพิร์ด ที่สร้างและพัฒนา “คาร์ดิฟฟ์โมเดลเพื่อป้องกันเหตุความรุนแรง” ช่วยให้สามารถป้องกันและบรรเทาความเสียหายจากอาชญากรรมรุนแรงต่างๆ ทำให้ผู้ป่วยแผนกฉุกเฉินลดลงเป็นจำนวนมาก จึงช่วยลดความสูญเสียทรัพยากรอันมีค่าของนานาประเทศได้อย่างมากมาย ผลงานของท่านทั้งสอง สร้างความก้าวหน้าให้แก่การบำบัดรักษาโรค และการวางนโยบายสาธารณะ เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศต่างๆ เป็นประโยชน์แก่มวลมนุษยชาติอย่างไม่อาจประมาณได้ จึงขอแสดงความยินดีด้วยใจจริง ที่ท่านทั้งสองได้รับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2567 ในครั้งนี้
รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล เป็นรางวัลที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดตั้งขึ้น เพื่อถวายเป็นพระราชานุสรณ์แด่สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ในโอกาสจัดงานเฉลิมฉลอง 100 ปี แห่งการพระราชสมภพ 1 มกราคม 2535 ดำเนินงานโดยมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นองค์ประธาน มอบรางวัลให้แก่บุคคลหรือองค์กรทั่วโลกที่มีผลงานดีเด่นเป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติ ทางด้านการแพทย์ 1 รางวัล และด้านการสาธารณสุข 1 รางวัล เป็นประจำทุกปีตลอดมา แต่ละรางวัลประกอบด้วย เหรียญรางวัล, ประกาศนียบัตร และเงินรางวัล 100,000 เหรียญสหรัฐ
ที่มา สำนักข่าวอิศรา ( isranews.org )