ที่ประชุมร่วมรัฐสภา ลงมติเห็นชอบรับหลักการ ร่าง พ.ร.ป. ป้องกันและปราบปรามการทุจริต ช่วยเหลือ-คุ้มครองพยาน แจ้งเบาะแสการทุจริต – โอนคดีทุจริตในศาลทหารให้อัยการสูงสุดดำเนินการมาอยู่ในศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ
สำนักข่าวอิศรา . รายงานว่า ที่ประชุมร่วมรัฐสภาลงมติเห็นชอบรับหลักการร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการป้องกันและปราบปราบการทุจริต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้เสนอ ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปราบการทุจริต พ.ศ. 2561 และร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ที่เสนอโดยนายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชนกับคณะ โดยเป็นการแยกลงมติเป็นรายฉบับ ดังนี้
1.ร่าง พ.ร.ป. ว่าด้วยการป้องกันและปราบปราบการทุจริต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ที่ ครม. เสนอ ที่ประชุมร่วมรัฐสภามีมติเห็นด้วย 488 เสียง ไม่เห็นด้วย 1 เสียง งดออกเสียง 1 เสียง จำนวนผู้ลงมติ 490 เสียง
2.ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ที่เสนอโดยนายวิโรจน์กับคณะ เสนอ ที่ประชุมร่วมรัฐสภามีมติเห็นด้วย 354 เสียง ไม่เห็นด้วย 129 เสียง งดออกเสียง 3 เสียง จำนวนผู้ลงมติ 486 เสียง
โดยที่ประชุมร่วมรัฐสภาตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปราบการทุจริต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. จำนวน 39 คน กำหนดระยะเวลาแปรญัตติ 15 วัน
สำหรับสาระสำคัญของร่างกฎหมายทั้งสองฉบับ มีดังนี้ 1.ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปราบการทุจริต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ที่ครม.เสนอ
- แก้ไขเพิ่มเติมบทยกเว้นความรับผิดของผู้ให้ถ้อยคำ แจ้งข้อมูลหรือเบาะแส หรือแสดงความคิดเห็น แก่คณะกรรมการ ป.ป.ช. หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ เกี่ยวกับการกระทำความผิดที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้ได้รับความคุ้มครองไม่ต้องรับผิด ทั้งทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางวินัย เฉพาะส่วนความรับผิดที่เกิดจากการให้ถ้อยคำ แจ้งข้อมูล หรือเบาะแส หรือแสดงความคิดเห็นดังกล่าว (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 132)
- กำหนดกระบวนการและขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในการให้ความช่วยเหลือแก่บุคคลซึ่งได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 132 (เพิ่มมาตรา 132/1)
- กำหนดมาตรการให้ความช่วยเหลือของสำนักงาน ป.ป.ช. โดยให้กระทำได้ตามความจำเป็น ซึ่งรวมถึงการให้ความช่วยเหลือโดยการส่งข้อมูลและมติของคณะกรรมการ ป.ป.ช.เกี่ยวกับการให้ความคุ้มครองบุคคลที่ถูกร้องทุกข์ ถูกกล่าวโทษ ถูกฟ้องคดี หรือถูกดำเนินการทางวินัยไปให้พนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ ศาล หรือผู้บังคับบับบัญชา แล้วแต่กรณี เพื่อแจ้งว่าบุคคลดังกล่าวได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 132 การให้ความช่วยเหลือทางคดีและสนับสนุนค่าใช้จ่ายในระหว่างการดำเนินคดีทั้งในคดีแพ่งและคดีอาญา และการให้ความช่วยเหลือในการปล่อยชั่วคราวในคดีอาญา (เพิ่มมาตรา 132/3)
- กำหนดหลักเกณฑ์การปล่อยชั่วคราวบุคคลซึ่งได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 132 (เพิ่มมาตรา 132/3)
- แก้ไขเพิ่มเติมวัตถุประสงค์ของกองทุนป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติเพื่อให้ครอบคลุมถึงค่าใช้จ่ายในการให้ความช่วยเหลือบุคคคลซึ่งได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 132 (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 162 (2))
- กำหนดบทเฉพาะกาลเพื่อรองรับให้บทบัญญัติตามมาตรา 132/1 มาตรา 132/2 และมาตรา 132/3 สามารถนำมาใช้ในการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ให้ถ้อยคำ แจ้งข้อมูลหรือเบาะแสหรือแสดงความคิดเห็นแก่คณะกรรมการ ป.ป.ช. หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ก่อนวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับด้วย (ร่างมาตรา 6)
ประโยชน์ที่ได้รับ เป็นการให้ความคุ้มครองและช่วยเหลือแก่ประซาชนผู้ให้ถ้อยคำแจ้งข้อมูลหรือเบาะแส หรือแสดงความคิดเห็นแก่คณะกรรมการ ป.ป.ช. หรือพนักงานเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ถ้าหากประชาชนถูกร้องทุกข์ ถูกกล่าวโทษ ถูกฟ้องคดี หรือถูกดำเนินการทางวินัยจากการให้ถ้อยคำดังกล่าว ก็จะได้รับความช่วยเหลือในการต่อสู้คดี เช่น การจัดหาทนายความให้ การสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการต่อสู้คดี หรือการให้ความช่วยเหลือในการปล่อยชั่วคราว และได้รับความคุ้มครองให้ไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่งทางอาญา และทางวินัย ซึ่งจะมีผลต่อการสร้างความเชื่อมั่นและส่งเสริมให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตอย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น
2.ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ที่เสนอโดยนายวิโรจน์
- ยกเลิกการดำเนินคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกับผู้ถูกกล่าวหาซึ่งเป็นบุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหารในศาลทหาร (ร่างมาตรา 3)
- กำหนดให้โอนบรรดาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบที่อยู่ในระหว่างการดำเนินคดีของอัยการทหารก่อนวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับไปให้อัยการสูงสุดเป็นผู้ดำเนินการในศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ (ร่างมาตร 4)
ประโยชน์ที่ได้รับ คดีทุจริตและประพฤติมิชอบเป็นคดีอาญาร้ายแรงและมีลักษณะเฉพาะ การยกเลิกมาตรา 96 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 และให้โอนบรรดาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบที่อยู่ในระหว่างการดำเนินคดีของอัยการทหารก่อนวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับให้โอนไปให้อัยการสูงสุดเป็นผู้ดำเนินการในศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบซึ่งใช้ระบบไต่สวน จะส่งผลให้การดำเนินคดีทจริตและประพฤติมิชอบได้รับการพิจารณาดำเนินคดีภายใต้มาตรฐานและหลักการเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นประชาชน หน่วยงานข้าราชการพลเรือนหรือข้าราชการทหาร และการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งคดีความที่เกี่ยวข้องทั้งหลายได้รับการพิจารณาอย่างรวดเร็วและเสมอภาค เกิดความเป็นธรรมกับผู้ที่เกี่ยวข้องในคดี และเกิดเสถียรภาพและความมั่นคงของรัฐและประชาชน
ที่มา สำนักข่าวอิศรา ( isranews.org )