สำรวจเหล็กที่ใช้ก่อสร้างตึก สตง. หลังกระทรวงอุตสาหกรรม พบเหล็กบางส่วนผิดมาตรฐาน

ที่มาของภาพ : Thai Data Pix
สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย (ITSI) แถลงผลตรวจสอบเหล็กตัวอย่างที่เก็บจากซากอาคาร สตง. ถล่ม ช่วงค่ำวันนี้ (31 มี.ค.) พบว่าเหล็กที่ใช้ มีบางส่วนไม่ได้มาตรฐาน อย่างไรก็ตาม ในการแถลงข่าวดังกล่าวยังไม่ได้ระบุรายละเอียดมากนัก เพราะยังต้องตรวจสอบเพิ่ม
ที่ผ่านมามีการตั้งคำถามจากหลายภาคส่วน ถึงคุณภาพของวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างอาคาร ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องหรือไม่กับการทำให้อาคารดังกล่าวกลายเป็นเพียงอาคารเดียวในประเทศไทย ที่พังถล่มลงมาจากเหตุแผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มี.ค. โดยเฉพาะคุณภาพของเหล็กที่ใช้ ซึ่งปรากฏรหัส “SD50T” ว่าได้มาตรฐานหรือไม่
บีบีซีไทย รวมข้อสงสัยและคำตอบต่าง ๆ จากฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
พบเหล็กบางส่วนไม่ได้มาตรฐาน
“แค่เห็นผมก็อึ้งแล้วครับ” นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยเมื่อวานนี้ (30 มี.ค.) ถึงความผิดปกติที่พบ หลังเข้าไปตรวจสอบซากอาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่พังถล่ม
เขาเปิดเผยว่า เหล็กที่เจ้าหน้าที่พบขณะเก็บตัวอย่างวัสดุไปตรวจสอบ ประกอบด้วย เหล็กข้ออ้อย 5 ขนาด ตั้งแต่ 12–32 มม. และเหล็กกลมขนาด 9 มม. ซึ่งส่วนใหญ่มาจากผู้ผลิตรายเดียว มีเพียงเหล็กขนาด 32 มม. ที่มาจากผู้ผลิต 3 ยี่ห้อ
เรื่องแนะนำ
of เรื่องแนะนำ
เขายังยืนยันอีกว่า ตัวอย่างเหล็กทั้งหมดเก็บจากสถานที่จริง โดยมีกล้องบันทึกภาพกระบวนการเก็บหลักฐานไว้ อย่างไรก็ตาม ขนาดของเหล็กที่แท้จริงยังคงต้องไปตรวจสอบว่าเป็นไปตามที่ระบุไว้บนวัสดุหรือไม่
ตัวอย่างเหล็กดังกล่าวถูกนำไปตรวจสอบที่สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย (ITSI) ช่วงบ่ายวันนี้ (31 มี.ค.) โดยมีคณะทำงานของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมด้วย วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ (วสท.) และตัวแทนจากศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ พร้อมสื่อมวลชนร่วมเป็นสักขีพยาน
หลังใช้เวลาตรวจสอบอยู่หลายชั่วโมง นายนนทิชัย ลิขิตาภรณ์ ผู้อำนวยการกองตรวจการมาตรฐาน 1 สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) แถลงข่าวพร้อมตัวแทนจากหน่วยงานที่เข้าร่วมตรวจสอบ เมื่อเวลาประมาณ 19.20 น. ที่ผ่านมา ระบุว่า ตัวอย่างเหล็กที่เจ้าหน้าที่เก็บมาจากที่เกิดเหตุ มีทั้งที่เป็นไปตามมาตรฐาน และไม่เป็นไปตามมาตรฐาน อย่างไรก็ตาม พบว่าส่วนที่ได้มาตรฐานมีจำนวนมากกว่า
โดยส่วนที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานนั้น ตัวแทนหน่วยงานที่ร่วมตรวจสอบเปิดเผยว่า พบมวลของเหล็ก (น้ำหนักต่อเมตร) รวมถึงความต้านแรงดึง ที่ไม่เป็นไปตามที่กำหนด ซึ่งในการแถลงข่าว เจ้าหน้าที่ที่ร่วมแถลงไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดของผลการตรวจสอบมากนัก โดยให้เหตุผลว่า พวกเขายังต้องเข้าไปเก็บตัวอย่างเหล็กจากสถานที่เกิดเหตุมาวิเคราะห์เพิ่มเติมอีก ซึ่งหากเปิดเผยรายละเอียดไปก่อน อาจทำให้เข้าพื้นที่ไปเก็บหลักฐานได้ยากขึ้น หรือสภาพพื้นที่อาจเปลี่ยนแปลงไป
“ผมยังไม่อยากชี้บ่งไปในตอนนี้นะครับ เพราะว่าเดี๋ยวมันอาจจะไปส่งผลให้ ณ ที่หน้างาน มีการเปลี่ยนแปลงสภาพในบางเรื่อง” ผู้อำนวยการกองตรวจการมาตรฐาน 1 สมอ. ระบุ “คือยิ่งถ้าเราให้รายละเอียดมากเท่าไหร่ สภาพหน้างานอาจจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างที่เราคาดไม่ถึงนะครับ ขอสงวนตรงนี้ไว้เพื่อให้ผลการพิสูจน์มันสะท้อนข้อเท็จจริงโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงสภาพใดที่หน้างาน”
ทำความรู้จักเหล็ก “SD50T” ที่ใช้สร้างอาคาร สตง.

ที่มาของภาพ : Thai Data Pix
ก่อนหน้านี้ผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งโพสต์ภาพเหล็กเส้นที่มีรหัส “SD50T” พร้อมตั้งข้อสังเกตว่าเหล็กที่มีรหัสตัว T นั้น อาจไม่เหมาะกับการใช้สร้างอาคารสูง ซึ่งโพสต์ดังกล่าวถูกแชร์อย่างรวดเร็วและมีหลายสำนักข่าวในไทยเผยแพร่ต่อ
รศ.เอนก ศิริพานิชกร ที่ปรึกษาสาขาวิศวกรรมโยธา วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) ให้ข้อมูลกับบีบีซีไทยในช่วงบ่ายวันนี้ (31 มี.ค.) ว่า เหล็กข้ออ้อยที่มีรหัส “SD50T” นั้น มีความสามารถในการรับน้ำหนักที่ไม่ได้ด้อยไปกว่าเหล็กรหัส “SD50” ซึ่งถือเป็นเหล็กชั้นคุณภาพสูงสุดที่ใช้ในการก่อสร้างอาคารในไทยในปัจจุบัน
เขาอธิบายความหมายของรหัส SD ว่าย่อมาจาก “Regular Deformed bar” ซึ่งหมายถึง “ชั้นคุณภาพของเหล็กข้ออ้อย” ส่วนตัวเลข 50 นั้น หมายถึงกำลังดึงที่จุดครากของเหล็ก (จุดที่ถ้าเหล็กถูกดึงถึงจุดนี้แล้วจะไม่คืนสภาพ) ซึ่งเท่ากับไม่น้อยกว่า 5,000 กิโลกรัมต่อตารางเซนติเมตร
ส่วนตัวอักษร T นั้น รศ.เอนก อธิบายว่า สื่อถึงวิธีการผลิต ซึ่งเหล็กข้ออ้อยดังเดิมที่ไม่ปรากฎตัวอักษร T นี้ จะใช้วิธีการ “เติมคาร์บอน” ทำให้ตัวเหล็กมีกำลังสูง และอาจเติมเคมีอื่น ๆ แต่เหล็กที่ระบุตัวอักษร T ใช้ “กรรมวิธีทางความร้อน” มาทำให้ผิวของเหล็กมีความแข็งโดยที่ไม่ได้ต้องเติมคาร์บอน ซึ่งเป็นวิธีการใหม่กว่าที่ถูกใช้ในการก่อสร้างอาคารต่าง ๆ ในไทยมาเป็นเวลา 20 ปีแล้ว
“มาตรฐานก็มีตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 นะครับ เป็นมาตรฐานทั้งเหล็กเส้นกลมและก็เหล็กข้ออ้อย ก็คือ มอก. 20 และ มอก. 24 ซึ่งในนั้นเองเนี่ย เราก็เริ่มมีการผลิตเหล็กในลักษณะที่เป็นด้วยความร้อน ก็เลยระบุไว้นะครับว่า ผู้ผลิตจะต้องระบุว่าตัวนี้ทำด้วยกระบวนการความร้อน ทั้งนี้ก็เพื่อให้ผู้ใช้ทราบล่วงหน้า เพราะสาเหตุสำคัญก็คือว่า พอเราใช้กระบวนการผลิตด้วยความร้อนเนี่ย ผิวมันจะแข็งนะครับ แต่ข้างในจะเป็นชั้นคุณภาพโดยปกติ แต่ว่าการรับน้ำหนักก็รับน้ำหนักเต็มมาตรฐานนะครับ” รศ.เอนก ระบุ
เขาเปิดเผยด้วยว่า ข้อห้ามอย่างเดียวของการใช้เหล็กที่ระบุรหัสตัว T นั้น คือห้ามนำไปกลึงนำเปลือกด้านนอกออก เพราะจะทำให้กำลังของเหล็กหายไป ซึ่งหากใช้งานอย่างถูกต้องแล้ว เหล็กประเภทนี้จะมีความเหนียวกว่าแบบเดิม และมีสมรรถะในการยืดที่ดีขึ้นด้วยซ้ำ
“เนื่องจากว่าตัว T นี่มันได้มาจากตัวเหล็กที่มีกำลังนะครับ ผลิตด้วยกำลังที่ต่ำ แต่ว่าทำให้มันมีกำลังที่สูงขึ้นจากกระบวนการความร้อน ในตัวนี้เองเรายังเชื่อว่ามันจะจะยืดมากกว่า มันจะเหนียวกว่าในเชิงวิศวกรรมครับ” ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมโยธาผู้นี้ระบุ
“แต่มันก็จะมีปัญหาคนก็จะมีความรู้สึกว่า มันก็มีงานวิจัยไหม เช่นว่าเรากลัวเรื่อง fatigue (ความล้า) คือการที่เหล็กได้รับน้ำหนักซ้ำแล้วซ้ำเล่า มันก็จะเกิดการล้าไหม อันนี้ก็เป็นเป็น quiz (คำถาม) ซึ่งจริง ๆ แล้วในต่างประเทศก็ผลิตเหล็กด้วยวิธีนี้นะครับ เพียงแต่ว่าเขาไม่ได้ระบุตัว T” เขาอธิบาย
ก่อสร้างตึก สตง. ใช้เหล็กจากบริษัทจีนหรือไม่ ?
นายชุติพงศ์ พิภพภิญโญ สส.พรรคประชาชน โพสต์ตั้งคำถามว่า เขาสังเกตภาพตัวอย่างเหล็กของกลางที่เจ้าหน้าที่ยึดไป มีการตีตรา SKY ซึ่งตรงกับเหล็กกั้นหน้าโรงงานของบริษัท ซิงเคอหยวน
โดยเขาพบว่าเหล็กดังกล่าวมีการโฆษณาขายในเว็บไซต์หนึ่ง ซึ่ง สส. ผู้นี้ระบุว่า ตนเองเคยสื่อสารไปหลายครั้งว่าโรงเหล็กที่ได้ BOI นี้มีปัญหา เพราะที่ผ่านมาเคยเกิดเหตุทั้งเครนถล่ม ไฟไหม้ รวมถึงเคยได้รับรายงานว่าสร้างมลพิษ และทำเศษเหล็กกระเด็นออกมาโดนโรงงานข้าง ๆ เสียหาย
นายชุติพงศ์ ยังระบุอีกว่า ก่อนหน้านี้ “รมต.เอกณัฐ” เคยมีคำสั่งให้โรงงานดังกล่าวหยุดกิจการและอายัดเหล็กไปบางส่วนแล้ว แต่ตนเองเห็นสภาพปัจจุบันของด้านหน้าโรงงาน ยังเต็มไปด้วยคนงานและคนจีน รวมถึงมีรถจักรยานยนต์จอดจำนวนมาก
ขณะที่สำนักข่าวฐานเศรษฐกิจ รายงานว่า เหล็กเส้นที่ถูกนำมาตรวจสอบที่สถาบันเหล็กฯ วันนี้ มีที่มาจาก 3 บริษัท ได้แก่ SKY (บริษัทซินเคอหยวน ซึ่งเป็นผู้ผลิตจากจีน) TATA (บริษัท ทาทา สตีล ผู้ผลิตจากอินเดีย) และ TYS (เครือบริษัทไทยคูณ ผู้ผลิตจากจีนร่วมทุนกับไทย)
โดยการตรวจสอบของสถาบันเหล็กฯ จะดูทั้งค่าองค์ประกอบทางเคมี ขนาด และน้ำหนัก ว่าเป็นไปตามมาตรฐานหรือไม่

ที่มาของภาพ : กระทรวงอุตสาหกรรม
ด้าน รศ.เอนก ยืนยันกับบีบีซีไทยว่า ตัวอย่างเหล็กที่พบส่วนใหญ่ มีสัญลักษณ์ที่บ่งบอกว่าผลิตจากโรงงานของบริษัทจีนที่มาตั้งฐานในประเทศไทย
“ตรงไปตรงมาส่วนใหญ่ก็จะเป็นเหล็กที่ผลิตมาจากบริษัทที่มาตั้งโรงงานในประเทศไทยนะครับ บริษัทจีนที่มาตั้งโรงงาน” เขาระบุพร้อมอธิบายว่า ที่ผ่านมาบริษัทจีนที่เข้ามาตั้งโรงงานผลิตเหล็กในไทยนั้น มักจะใช้วิธีการผลิตที่แตกต่างจากผู้ประกอบการไทย
โดยในการทำเหล็กแท่งทรงยาว เขาระบุว่า ปกติจะต้องมีกระบวนการ “ต้มเหล็ก” คือ นำเศษเหล็กมาทำให้เหลว และทำให้บริสุทธิ์ ซึ่งวิธีการดั้งเดิมที่ผู้ประกอบการไทยใช้มี 3 วิธี คือ ใช้เตาอิเล็กทริก (Electrical Arc Furnace) เตาโอเพนฮาร์ธ (Originate Hearth Furnace – ปัจจุบันเลิกใช้แล้ว) และ เตาเบสิกออกซิเจน (General Oxygen Furnace)
แต่วิธีการของผู้ประกอบการจีนนั้น ส่วนใหญ่จะใช้เตาที่เรียกว่า “เตาอินดักชัน” (Induction Furnace) ซึ่งมีการกำหนดมาตรฐานรองรับมาตั้งแต่ปี 2559 หลังมีผู้ประกอบการเข้ามาตั้งฐานในไทย โดยเหล็กที่ผลิตออกมาด้วยวิธีนี้ จะมีสัญลักษณ์ IF ระบุไว้ที่ท้ายของตัวบาร์มาร์ก (รหัส) ที่ปรากฏบนเหล็ก
“กลุ่มประเทศจีนเขาจะผลิตเหล็กในลักษณะที่ใช้เตาอินดักชัน (Induction) ซึ่งเตาอินดักชัน ในข้อกำหนดเราก็จะมีว่า ถ้าจะผลิต ขนาดต้องเท่าไหร่ของเตานะครับ ต้องมีการเทต่อเนื่องหรืออะไรต่าง ๆ ลักษณะของเตาอินดักชั่นก็เหมือนเตาหม้อสุกี้นะครับ ขนาดใหญ่มาก” เขาอธิบาย
“เหล็กขนาดนี้ที่เราไปเห็น ท้ายสุดของตัวบาร์มาร์กในเหล็ก จะลงว่าเป็น EF หรือเป็น IF หรือเป็น OH อันนี้ก็เป็นกระบวนการที่เราทำเพื่อให้ผู้ใช้ได้ทราบว่า เขาผลิตเหล็กมาจากเตาอย่างไรครับ”
“เหล็กที่ทำในประเทศไทย เราจะเป็น EF เป็นส่วนใหญ่นะครับ ส่วนเหล็กที่ผลิตจากเตา Induction เนี่ยมันจะลงท้ายด้วย IF เพราะฉะนั้นกระบวนการเนี่ย เป็นกระบวนการที่ถ้าเขาทำได้ตามมาตรฐาน ก็ไม่ได้เป็นประเด็นครับ” เขากล่าวสรุป
เหล็กจีนรุกตลาด กระทบผู้ประกอบการไทย
สำนักข่าวกรุงเทพธุรกิจ เคยรายงานเมื่อ 12 ส.ค. ปีแล้ว ถึงกรณีอุตสาหกรรมเหล็กไทย ได้รับผลกระทบจากเหล็กจีนที่เข้ามาแข่งขันในตลาดอาเซียนตลอดช่วงทศวรรษนี้
รายงานดังกล่าว อ้างอิงการให้ข้อมูลจาก นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ที่เปิดเผยกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ในขณะนั้นว่า ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2567 (ม.ค.-มิ.ย.) อัตราการใช้กำลังผลิตของอุตสาหกรรมเหล็กไทย อยู่ที่ระดับ 29.3% ซึ่งถือว่าต่ำสุดในรอบ 7 ปี
ขณะที่มีบริษัทจีนเข้ามาลงทุนขนาดกำลังการผลิตรวม 12.42 ล้านตัน เทียบกับความต้องการใช้เหล็กของไทยในปี 2567 อยู่ที่ 16 ล้านตัน ทำให้การเข้ามาของบริษัทจีน กระทบกับผู้ประกอบการไทย เนื่องจากกำลังการผลิตเหล็กของผู้ประกอบการไทยเพียงพอต่อความต้องการใช้เหล็กในประเทศอยู่แล้ว
รายงานดังกล่าว ยังอ้างถึง บริษัทผู้ผลิตเหล็กในไทยบางแห่ง ที่ประกาศหยุดกิจการชั่วคราว ด้วยเหตุผลสภาวะทางเศรษฐกิจ และผลกระทบจากอุตสาหกรรมเหล็กจากนอกประเทศที่เข้ามาเข้ามาประกอบธุรกิจในไทย

ที่มาของภาพ : กระทรวงอุตสาหกรรม
ในห้วงเวลา 3 – 4 เดือนที่ผ่านมา มีรายงานข่าวผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ของกระทรวงอุตสาหกรรม ชุดที่ใช้ชื่อว่า “ทีมตรวจการสุดซอย” เข้าตรวจยึดเหล็กเส้นเสริมคอนกรีต และเหล็กข้ออ้อย ที่ไม่ได้มาตรฐาน อยู่หลายครั้ง อาทิ
- 12 มี.ค. 2568 ตรวจยึดอายัดเหล็กข้ออ้อย ชั้นคุณภาพ SD 40 ความยาว 10 เมตร จำนวน 230 ตัน มูลค่าประมาณ 4.6 ล้านบาท จากบริษัท เอบี สตีล จำกัด ต.ศาลาลำดวน อ.เมืองสระแก้ว จ.สระแก้ว หลังพบว่ามีขนาดสั้นกว่ามาตรฐาน
- 7 ธันวาคม 2567 ยึดอายัดเหล็กเส้นน้ำหนักหมื่นกว่าตัน มูลค่ากว่า 200 ล้านบาท จากบริษัทแห่งหนึ่งใน อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี หลังพบนำเหล็กไม่ได้มาตรฐาน มาขายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ซึ่งการตรวจค้นพบว่าบริษัทจดทะเบียนได้รับใบอนุญาตถูกต้อง แต่ได้รับการว่าจ้างจากกลุ่มทุนชาวจีนให้ผลิตเหล็กไม่ได้มาตรฐานเพื่อจำหน่ายในประเทศไทย
ที่มา BBC.co.uk