ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 41 ประกอบมาตรา 59 กำหนดว่าสิทธิลาคลอดของประเทศไทยอยู่ที่ 98 วัน นายจ้างจ่ายค่าแรง 45 วัน และประกันสังคมช่วยจ่ายอีก 45 วันที่เหลือ (โดยคิดเป็นอัตรา 50% ของฐานเงินเดือน 15,000 บาท ดังนั้น กองทุนจะจ่ายให้ตลอดระยะเวลาการลา 11,250 บาท) ทั้งนี้ ลูกจ้างสามารถใช้สิทธิลาคลอดได้ในช่วงตรวจครรภ์ก่อนคลอด ช่วงคลอดลูก และช่วงฟื้นฟูหลังจากคลอด
อย่างไรก็ดี ในปีนี้ (2567) ร่างแก้ไข พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน เพิ่มสิทธิลาคลอดเป็น 180 วัน ‘แบ่งพ่อ-แม่ได้' ของวรรณวิภา ไม้สน สส.พรรคประชาชน สามารถผ่านวาระ 1 ชั้นรับหลักการ จนมาถึงคณะกรรมาธิการวิสามัญแก้ไขร่างกฎหมาย
โดยเมื่อ พ.ย.ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการพิจารณาร่างแก้ไขกฎหมายได้มีมติเสียงข้างมากเพิ่มสิทธิลาคลอดที่ 120 วันเท่านั้น โดยยังได้รับค่าจ้าง และสามารถแบ่งให้คู่สมรสได้ 15 วัน ลดลงจากเดิม 60 วัน ส่วน กมธ.เสียงข้างน้อยสงวนความเห็นไว้ที่สิทธิลาคลอด 180 วัน ขั้นต่อไปคาดว่ากฎหมายจะเข้าสู่สภาฯ ในสมัยประชุมหน้า โดยมีคิวเปิดสภาฯ ในวันที่ 12 ธ.ค. 2567 เป็นต้นไป
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ในช่วงก่อนที่ร่างกฎหมายจะเข้าสู่ประชุมสภาฯ เพื่อพิจารณาว่าจะยึดเอาตามมติ กมธ. หรือยึดตามข้อสงวนเสียงส่วนน้อยที่ให้ดันสิทธิลาคลอด 180 วัน ประชาไท ชวนดูมุมมองของฝ่ายสนับสนุนสิทธิลาคลอด 180 วัน ว่ามีความสำคัญอย่างไร และโจทย์ต่อไปคือทำอย่างไรที่จะทำให้แรงงานที่อยู่นอกระบบประกันสังคม ได้รับการคุ้มครองในสิทธิดังกล่าวด้วยเช่นกัน
ทำไมต้องลาคลอด 180 วัน
ฝ่ายสนับสนุนสิทธิลาคลอด 180 วัน จะอ้างอิงข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ที่เคยให้ความเห็นว่า ลูกควรได้รับนมแม่ติดต่อกันเป็นระยะเวลา 6 เดือน หรือ 180 วัน ซึ่งจะทำให้ลูกมีสุขภาพและมีภูมิต้านทางที่แข็งแกร่ง รวมถึงลดความเสี่ยงจากโรคต่างๆ อีกทั้งได้รับสารอาหารที่จำเป็นอย่างเหมาะสม ส่งผลให้เด็กมีพัฒนาการที่สมบูรณ์
นอกจากลูกจะได้รับประโยชน์แล้ว การได้ลาในช่วงระยะเวลา 6 เดือนจะทำให้แม่ได้มีเวลาพักผ่อนจากการดูแลลูกอย่างเต็มที่ และลดความเสี่ยงจากโรคภัยไข้เจ็บติดตามมา เช่น โรคมะเร็งเต้านม ขณะเดียวกัน ก็เป็นการส่งเสริมสายสัมพันธ์ระหว่างแม่กับลูก
“ช่วงแรกของพัฒนาการ และการเจริญเติบโตเป็นสิ่งที่สำคัญ ภูมิคุ้มกันจากนมแม่จะคุ้มกันทารกจากโรคภัยไข้เจ็บ และการเสียชีวิต นี่เป็นเรื่องที่สำคัญในภาวะฉุกเฉิน การให้นมแม่จะทำให้เด็กทารก และเด็กเล็ก เข้าถึงแหล่งอาหารที่ปลอดภัย และอุดมไปด้วยคุณค่าทางโภชนาการ นมจากเต้ายังลดความเสี่ยงเรื่องโรคภัยไข้เจ็บของเด็ก และความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งบางประเภทและโรคไม่ติดต่อเรื้อรังสำหรับแม่” แถลงการณ์ร่วมขององค์การ ยูนิเซฟ และ องค์กรณ์อนามัยโลก เนื่องในสัปดาห์ให้นมแม่สากล เมื่อ ส.ค. 2567
สุเพ็ญศรี พึ่งโคกสูง มูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม หนึ่งในผู้สนับสนุนแนวคิดลาคลอด 180 วัน เชื่อว่าการเพิ่มสิทธิลาคลอดจะสร้างแรงจูงใจให้คนไทยอยากมีลูกเพิ่มมากขึ้น และจะช่วยแก้ไขปัญหาสังคมผู้สูงวัย เนื่องจากขณะนี้สังคมไทยมีอัตราการเกิดต่ำกว่าอัตราการตาย
สุเพ็ญศรี พึ่งโคกสูง
ในงานประชุมวิชาการของสำนักงานประกันสังคม ประจำปี 2567 ดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) อ้างอิงข้อมูลรายงานการคาดการณ์ประชากรในประเทศไทย เผยให้เห็นถึงสถานการณ์จำนวนประชากรของไทยที่เข้าสู่สังคมผู้สูงวัยโดยสมบูรณ์แล้ว โดยมีผู้สูงอายุมากกว่า 20% ของจำนวนประชากรทั้งหมด
นอกจากนี้ หากประเทศไทยยังไม่มีการปรับเปลี่ยนทางด้านนโยบาย คาดว่าในปี 2576 ไทยจะเข้าสู่สังคมสูงวัยระดับสุดยอด โดยมีจำนวนผู้สูงวัยมากกว่า 28% และปี 2583 ไทยจะมีจำนวนประชากรสูงวัย 1 ใน 3 จากจำนวนประชากรทั้งหมด
ส่องกรณีศึกษาจากต่างประเทศ
อนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 183 ระบุเกณฑ์ขั้นต่ำสิทธิลาคลอดต้องได้ไม่น้อยกว่า 98 วัน ขณะที่ประเทศในเอเชียส่วนใหญ่ให้สิทธิลาคลอดอยู่ที่ 98 วัน รวมถึงประเทศไทย แต่เพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศเวียดนาม ให้สิทธิลาคลอดแซงไปแล้วที่ 180 วัน
ขณะที่ประเทศในยุโรปอย่าง สวีเดน อนุญาตให้พ่อแม่ (รวมถึงผู้ที่เป็น LGBTQA+ พ่อแม่บุญธรรม หรือพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว) มีสิทธิลาคลอดยาวนาน 480 วันต่อลูก 1 คน (ประมาณ 16 เดือน) โดยที่พ่อกับแม่แบ่งลาได้คนละ 240 วัน
ช่วง 390 วันแรก ผู้ปกครองสามารถรับเงินอุดหนุน 80% ของเงินเดือน แต่มีเพดานอยู่ที่ 47,750 โครนสวีเดน (147,839 บาท) และหลังจากนั้นจะได้รับเงินอุดหนุนเป็นรายวันที่ 180 โครนสวีเดน (557 บาท)
นอกจากนี้ เมื่อ 1 ก.ค. 2567 ที่ผ่านมา สวีเดน ยังเป็นประเทศแรกที่อนุญาตให้พ่อ-แม่โอนวันลาได้คนละ 45 วัน (รวม 90 วัน) ให้บุคคลอื่นที่ไม่ได้เป็นผู้ปกครองเด็กตามกฎหมาย เช่น ปู่ย่าตายาย หรือเพื่อน ถ้ากรณีเป็นแม่หรือพ่อเลี้ยงเดี่ยวสามารถโอนให้ได้ 90 วัน
อัลเบเนีย ให้หยุดลาคลอด 365 วัน โดยแบ่งเป็นลาก่อนคลอดอย่างน้อย 35 วัน และหลังคลอด 330 วัน สำหรับแม่ที่มีลูกแฝดสามารถใช้สิทธิลาคลอด 390 วัน โดยแบ่งเป็นลาก่อนคลอดล่วงหน้าอย่างน้อย 60 วัน และหลังลูกคลอด 330 วัน และสำหรับลูกบุญธรรม อายุ 0-1 ปี ลาได้ 330 วันนับตั้งแต่วันรับเลี้ยง
กฎหมายว่าด้วยกองทุนประกันสังคมของอัลเบเนีย จะให้เงินอุดหนุนฯ ระหว่างที่แม่ใช้สิทธิลาคิดเป็น 80% ของรายได้ต่อเดือนในช่วง 6 เดือนแรก และ 50% ของรายได้ต่อเดือนในอีก 6 เดือนหลัง
สำหรับประเทศฟินแลนด์ ข้อมูลจากเว็บไซต์ Kela ซึ่งเปรียบเสมือนสำนักงานประกันสังคมของประเทศฟินแลนด์ ระบุว่าผู้ปกครองสามารถใช้สิทธิลาคลอด (Pregnancy Leave) 14-30 วันก่อนถึงวันกำหนดคลอด และทาง Kela จะสนับสนุนเงินอุดหนุนเพื่อคลอดบุตร 40 วันทำงาน
ด้านสิทธิการลาไปดูแลลูก (Parental Leave) ผู้ปกครองฟินแลนด์สามารถใช้สิทธิฯ ได้ทันทีหลังจากลูกเกิดจนถึงอายุ 2 ปี (รวมถึงลูกบุญธรรม) โดยผู้ปกครองสามารถใช้สิทธิลาไปดูแลลูกเป็นเวลา 320 วันต่อลูก 1 คน โดยได้รับเงินอุดหนุนจาก ‘Kela’ (ขึ้นอยู่กับรายได้ต่อปี) หากกรณีที่เด็กมีผู้ปกครอง 2 คน ผู้ปกครองสามารถแบ่งลาได้คนละ 160 วัน ทั้งนี้ ผู้ปกครองสามารถใช้สิทธิวันลารวดเดียว หรือแบ่งลาเป็นช่วงๆ ก็ได้ และต้องมีการพูดคุยกับนายจ้างเพื่อตกลงวันลา
คล้ายกับสวีเดน ผู้ปกครองแต่ละคนยังสามารถแบ่งวันลาให้ผู้ปกครองคนอื่นที่มาช่วยดูแลลูกได้สูงสุด 63 วัน (จาก 160 วัน) ขณะที่สิทธิลาฯ สามารถใช้ได้จนกระทั่งลูกอายุครบ 2 ปี
ข้อมูลการแบ่งวันลาคลอดของฟินแลนด์ (จากเว็บไซต์ Kela)
ใครควรรับผิดชอบเรื่องค่าจ้าง (?)
ช่วงที่ผ่านมาอุปสรรคสำคัญที่ยังไม่สามารถดันเพดานสิทธิลาคลอดในไทยได้ถึง 180 วันโดยได้รับค่าจ้างเต็มจำนวน คือการคัดค้านจากฝั่งนายจ้าง
อุกฤษณ์ กาญจนเกตุ ที่ปรึกษาอาวุโส สภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ทางฝ่ายนายจ้างไม่ว่าจะเป็นสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสภาองค์การนายจ้างฯ ตอนเข้าไปคุยใน กมธ.แก้ไขร่างกฎหมาย ต่างไม่เห็นด้วยกับสิทธิวันลาคลอด 180 วัน เพราะมีส่วนที่นายจ้างต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายมากขึ้น ในภาวะที่เศรษฐกิจในประเทศซบเซา และสถานการณ์เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะงักงันเนื่องจากสงคราม การเปลี่ยนผ่านด้านเทคโนโลยี ตลอดจนปัจจัยอื่นๆ ทำให้นายจ้างไม่พร้อมเรื่องการเพิ่มค่าใช้จ่ายอย่างก้าวกระโดด
อุกฤษณ์ กาญจนเกตุ
ขณะที่ตัวแทนจากคณะกรรมการประกันสังคม ฝ่ายผู้ประกันตน ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี เคยเขียนบทความลงในมติชนสุดสัปดาห์ ชี้ว่าการเพิ่มสิทธิลาคลอด 180 วัน จะไม่กระทบกับสถานะของกองทุนประกันสังคม
ษัษฐรัมย์ อธิบายว่า แต่เดิมสิทธิลาคลอด 90 วัน กองทุนประกันสังคมจ่ายเงินให้ผู้ประกันตน มาตรา 33/39 ที่ 7,500 บาทต่อคนต่อเดือน (คิดบนฐาน 50% ของฐานเงินเดือน 15,000 บาท) ดังนั้น ประกันสังคมจะจ่ายเงินสูงสุด 11,250 บาทต่อคน ตลอดระยะเวลาการลา 45 วัน โดยใช้เงินงบประมาณกองทุน 4 กรณี ได้แก่ ลาคลอด เจ็บป่วย พิการ หรือเสียชีวิต จำนวน 3,000 ล้านบาทต่อปี โดยประมาณ
ษัษฐรัมย์ กล่าวว่า ปัจจุบันมีเงินเข้าสู่กองทุน 4 กรณีที่ 84,000 ล้านบาท แบ่งทำเป็นสิทธิประโยชน์ 72,000 ล้านบาท ส่วนที่เหลือจะนำไปลงทุน ซึ่งผลตอบแทนจากการลงทุนอยู่ที่ 3,000 ล้านบาท ทำแบบนี้ซ้ำๆ ทุกปี
ดังนั้น สมมติว่าเพิ่มเงินอุดหนุนสิทธิลาคลอดเป็น 90 วันจากทั้งหมด 180 วัน ต้องใช้เงินกองทุน 4 กรณี เพิ่มประมาณ 6,000 ล้านบาทต่อปี แต่อย่างไรก็ดี เขาคาดการณ์ว่าในอีก 20 ปีข้างหน้า การใช้งบกองทุน 4 กรณี ในกรณีลาคลอดจะลดลงเหลือเพียง 4,000 ล้านบาทต่อปีเท่านั้น เนื่องจากกำลังคนวัยทำงานที่ลดลงจากภาวะสังคมผู้สูงวัย
“สิ่งที่ผมยืนยันคือการกล่าวว่าการเพิ่มสิทธิลาคลอดจะทำให้กองทุนประกันสังคมล้มละลายไวขึ้น เป็นเรื่องที่กล่าวเกินจริงไปไม่น้อย”
“หากเราหมกมุ่นต่อการรักษาความสมดุลของการคลัง ไม่กล้าเพิ่มสิทธิประโยชน์ใดๆ ประกันสังคมก็จะไร้ความหมาย เพราะมันไม่ยึดโยงต่อผู้คน คนไม่เห็นความสำคัญ สุดท้าย ผู้คนก็จะปล่อยมันตายอย่างไม่แยแส” ษัษฐรัมย์ ระบุ
อีกข้อเสนอเพื่อลองแก้ไขปัญหามาจากชินโชติ แสงสังข์ สมาชิกวุฒิสภา โดยเขาเคยเสนอทางออกใหม่ โดยให้นายจ้างรับผิดชอบค่าจ้าง 60 วัน และให้กองทุนประกันสังคมรับผิดชอบ 120 วัน เพื่อไม่ให้นายจ้างรับภาระมากเกินไป แต่เรื่องนี้ก็เป็นเพียงข้อเสนอในวงเสวนาเท่านั้น ยังไม่ได้มีการเสนออย่างจริงๆ จังๆ
ขณะที่สุเพ็ญศรี เสนอว่า ภาครัฐอาจต้องมีมาตรการส่งเสริมหรือสนับสนุนนายจ้างที่ให้ลาคลอด 180 วัน อย่างมาตรการทางด้านภาษี หรือนโยบายอื่นๆ
ทั้งนี้ เมื่อ 11 ธ.ค.ที่ผ่านมา กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ประชุมนัดสุดท้าย พร้อมเคาะสิทธิวันลาคลอดที่ 120 วันโดยได้รับค่าจ้างตามสัดส่วนเดิม คือนายจ้างครึ่งหนึ่ง และกองทุนประกันสังคมครึ่งหนึ่ง และสามารถแบ่งให้คู่สมรสได้ 15 วัน ซึ่งต่อไปจะเข้าสู่ชั้นวาระ 2-3
โจทย์ต่อไป คือทำอย่างไรที่จะขยายสวัสดิการครอบคลุมคนทุกกลุ่ม
ษัษฐรัมย์ กล่าวว่า โจทย์ต่อไปคือจะทำอย่างไรที่จะขยายสิทธิลาคลอดให้คนกลุ่มแรงงานอิสระซึ่งคาดว่ามีกำลังแรงงานหญิงประมาณ 10 ล้านคนจากแรงงานทั้งหมด 20 ล้านคน รวมถึงแรงงานที่อยู่นอกระบบประกันสังคม
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
- สรุปเสวนา ทลายมายาคติ มองกรณีศึกษาต่างประเทศ ร่วมออกแบบสิทธิลาคลอดในฝันควรเป็นแบบไหน
อย่างไรก็ดี ษัษฐรัมย์ เคยเสนอเงินอุดหนุนช่วงลาคลอดสำหรับผู้ประกันตน มาตรา 40 รายละ 3,000 บาทต่อเดือน รวมระยะเวลา 3 เดือน โดยคาดว่าจะใช้งบประมาณกองทุนฯ เพิ่มขึ้น 155 ล้านบาทต่อปี (ประมาณการคนใช้สิทธิ์ 17,257 คนต่อปี)
กฤษฎา ธีระโกศลพงศ์ อาจารย์ประจำคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เสนอสอดคล้องว่า รัฐอาจต้องมองถึงนโยบายที่ครอบคลุมคนทุกคน เช่น นโยบายเงินอุดหนุนแรงงานภาคเศรษฐกิจที่ไม่เป็นทางการ โดยอาจจะให้ตัวแรงงานเองหรือลูกก็ได้ เพื่อให้พวกเขาสามารถดำรงชีวิตได้ และต้องมีนโยบายที่มาสนับสนุนช่วยเหลือการเลี้ยงดูลูก อย่างโครงการศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่ไม่ได้ครอบคลุมเฉพาะเด็กที่ยากไร้ แต่รวมถึงชนชั้นกลาง พนักงานออฟฟิศ คนทำงานนอกระบบ หรือเด็กที่เลิกเรียนแล้วก็สามารถมาที่ศูนย์ได้ เพื่อลดภาระของแม่ในการเลี้ยงดูลูก
กฤษฎา ธีระโกศลพงศ์
นอกจากนี้ กฤษฎา มองด้วยว่า การที่เราทำนโยบายให้ครอบคลุมคนทุกคน จะส่งผลให้ภาคประชาชนยกระดับการขับเคลื่อนนโยบายได้ด้วย เพราะว่าปัญหาตอนนี้เราเรียกร้องสิทธิให้คนกลุ่มเดียว ขณะที่คนอีกส่วนไม่ได้ประโยชน์ อย่างเรื่องนโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ แรงงานนอกระบบคือคนที่ไม่เห็นด้วย เพราะว่าค่าจ้างของเขาไม่อิงตามกฎหมาย แต่ต้องเจอปัญหาค่าครองชีพที่แพงขึ้นตาม สุดท้ายก็กลายเป็นว่าเราไม่สามารถหลอมรวมคนทั้งสังคมให้ขับเคลื่อนขบวนการที่เราเรียกร้องเดียวกันได้ การลาคลอดก็เช่นเดียวกัน ดังนั้น เราต้องขยายออกไป
“ระยะยาว ผมว่าเราควรผลักดัน ‘care coverage kit’ ที่จัดสวัสดิการมาดูแลครอบคลุมทุกวงจรชีวิต และให้ครอบคลุมทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นปัจเจกบุคคลในฐานะคนทำงาน ผู้หญิงในบ้าน หรือคนที่ต้องได้รับการพึ่งพิงคือคนพิการ ผู้สูงอายุ …มันต้องมองภาพใหญ่ และขับเคลื่อนไปพร้อมๆ ก้อนเดียวกัน” กฤษฎา กล่าว
ที่มา ประชาไท ( prachatai.com )