สุดยอดการค้นพบทางโบราณคดีแห่งปี 2024

ที่มาของภาพ, JULIA MAYO/FUNDACION EL CANO

คำบรรยายภาพ, (ซ้าย) แผ่นทองคำสำหรับสวมทับทรวงอก มีลวดลายเป็นสัตว์ประหลาดที่เกิดจากการผสมผสานลักษณะของสัตว์หลายชนิด (ขวา) ตุ๊กตาทองคำขนาดเล็กที่มีหูและจมูกเหมือนค้างคาว

ในรอบปี 2024 ที่กำลังจะผ่านพ้นไป มีการค้นพบทางโบราณคดีอันน่าทึ่งมากมายเกิดขึ้นทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการค้นพบโบราณสถานและโบราณวัตถุใหม่ ๆ ของอารยธรรมเก่าแก่ในภูมิภาคอเมริกากลางและใต้ รวมทั้งการค้นพบที่น่าตื่นตะลึง อย่างเช่นกำแพงหินอายุกว่าหมื่นปีของนายพรานปลายยุคน้ำแข็ง ที่ยังจมอยู่ใต้ทะเลบอลติกด้วย

หมอผีทองคำแห่งปานามา

ที่อุทยานโบราณคดีเอลกานโญ (El Caño Archaeological Park) ในทางตอนกลางของประเทศปานามา ทีมนักโบราณคดีได้ทำการขุดค้น จนพบหลุมศพที่น่าตื่นตะลึงซึ่งมีอายุเก่าแก่ 1,250 ปี โดยร่างของผู้วายชนม์ที่นอนอยู่ในหลุมศพนั้น ถูกห่อหุ้มด้วยเครื่องประดับทองคำเต็มตัว ทั้งยังมีรูปปั้นทองคำขนาดเล็กและของมีค่าจำนวนมากฝังรวมอยู่ด้วย

บริเวณที่พบหลุมศพดังกล่าวเป็นสุสานโบราณริมฝั่งแม่น้ำของชาวโกเกลย์ (Coclé) โดยศพที่ถูกฝังในท่านอนคว่ำหน้านั้น นักโบราณคดีเชื่อว่าเป็นหมอผี (shaman) ระดับผู้นำคนสำคัญ ซึ่งมีหน้าที่ทำการปกครอง รวมทั้งบำบัดรักษาโรคทางกายและความเจ็บป่วยทางจิตวิญญาณ ให้กับชนเผ่าโบราณในแถบอเมริกากลาง

ที่ข้างกายของหมอผีคนดังกล่าว ทีมนักโบราณคดียังพบท่อสั้น ๆ ที่ทำจากกระดูกกวาง ซึ่งในตอนแรกพวกเขาคิดว่าอาจเป็นเครื่องดนตรีจำพวกขลุ่ย แต่ในเวลาต่อมาผลการตรวจสอบโดยละเอียดกลับชี้ว่า มันคือบ้องสำหรับสูดดมควันจากการเผาสมุนไพรเพื่อรักษาโรค ซึ่งการสูดดมควันสมุนไพรนี้ยังใช้ในการประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ โดยหมอผีจะเต้นรำหรือทำสมาธิไปด้วยเพื่อให้ตกภวังค์หรือเกิดภาพหลอน จนสามารถสื่อสารกับเหล่าวิญญาณและเทพเจ้าได้

รูปทรงและลวดลายที่ปรากฏบนรูปปั้นขนาดเล็กและแผ่นประดับทรวงอก ส่วนใหญ่เป็นสัตว์ประหลาดที่เกิดจากการผสมผสานลักษณะของสัตว์หลายชนิด เช่นค้างคาว, ฉลาม, ผีเสื้อ, นก, และจระเข้ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญชี้ว่าชาวโกเกลย์เลือกใช้สัตว์ที่มีองค์ประกอบของธาตุทั้งสี่ คือดิน,น้ำ,ลม,ไฟ มาเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงความเปลี่ยนแปลงและการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่โลกหลังความตาย

Skip เรื่องแนะนำ and proceed readingเรื่องแนะนำ

Damage of เรื่องแนะนำ

ท้องพระโรงของราชินีแห่งชนเผ่าโมเช

ที่มาของภาพ, LISA TREVOR

คำบรรยายภาพ, ท้องพระโรงที่ถูกขุดพบใต้ดิน มีจิตรกรรมฝาผนังที่แสดงถึงพระราชอำนาจของราชินี ทั้งในโลกมนุษย์และบนสวรรค์

ในปีนี้แหล่งขุดค้นทางโบราณคดีปานญามาร์กา (Pañamarca) ของประเทศเปรู มีการค้นพบครั้งสำคัญเกี่ยวกับอารยธรรมโมเช (Moche) ซึ่งเป็นอารยธรรมของชนเผ่าโบราณที่ปกครองดินแดนหุบเขาริมฝั่งทะเลตอนเหนือ ระหว่างค.ศ. 350 – 850 หรือประมาณ 1,700 – 1,200 ปีที่แล้ว

ทีมนักโบราณคดีชาวอเมริกันได้ขุดพบโครงสร้างใต้ดินแห่งหนึ่ง ซึ่งภายหลังตรวจสอบพบว่าเป็น “ท้องพระโรง” สำหรับกษัตริย์ออกว่าราชการและต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง โดยภาพจิตรกรรมฝาผนังสีสันสดใสที่ยังอยู่ในสภาพดี บ่งบอกว่าท้องพระโรงแห่งนี้เป็นของกษัตริย์หญิงหรือราชินีผู้ทรงอำนาจแห่งอาณาจักรโมเช

ยิ่งไปกว่านั้น ทีมนักโบราณคดียังค้นพบร่องรอยหลักฐานจากบุคคลจริง ซึ่งพิสูจน์ยืนยันว่าเรื่องราวที่ปรากฏในจิตรกรรมฝาผนังไม่ใช่แค่ตำนานปรัมปรา โดยพบเส้นผมมนุษย์และลูกปัดทำจากหินสีเขียว ฝังอยู่ในผิวหน้าของบัลลังก์ที่ประทับซึ่งสร้างจากอิฐตากแห้ง ส่วนพนักพิงของบัลลังก์นั้นก็ปรากฏร่องรอยการสึกกร่อน เนื่องจากมีคนนั่งพิงหลังตรงจุดดังกล่าวเป็นเวลานานติดต่อกันร่วมร้อยปี ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 7 หรือเมื่อกว่า 1,300 ปีมาแล้ว

บรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านอารยธรรมโมเชบอกว่า นี่เป็นครั้งแรกที่มีการค้นพบหลักฐานของสตรีผู้ทรงอำนาจทางการเมืองที่ไม่ใช่นักบวชหญิง ซึ่งทำให้เหล่านักโบราณคดีต้องเปลี่ยนมุมมองใหม่ เกี่ยวกับเรื่องบทบาททางเพศที่ยืดหยุ่นและเลื่อนไหลได้มากกว่าที่คิดในสังคมของชาวโมเชยุคโบราณ

ถิ่นกำเนิดที่แท้จริงของชาวซิเธียน

ที่มาของภาพ, SISSE BRIMBERG

คำบรรยายภาพ, วัตถุโบราณรูปม้าทองคำของชาวซิเธียน ซึ่งขุดพบที่เนินดิน Tunnug 1 ทางตอนใต้ของไซบีเรีย

ชนเผ่าซิธ (Scyth) หรือชาวซิเธียน (Scythian) คือกลุ่มคนในอารยธรรมเก่าแก่ที่เรืองอำนาจในช่วง 900-200 ปีก่อนคริสตกาล บริเวณทุ่งหญ้าของภูมิภาคยูเรเชียไปจนจรดพื้นที่ทางยุโรปตะวันออก คนเหล่านี้เป็นนักรบที่ห้าวหาญและต้อนเลี้ยงฝูงสัตว์แบบเร่ร่อน โดยหัวใจของวัฒนธรรมซิเธียนอยู่ที่การเลี้ยงม้าและขี่ม้าเป็นสำคัญ

ที่ผ่านมานักประวัติศาสตร์ยังไม่ทราบอย่างแน่ชัดว่า ถิ่นกำเนิดของชาวซิเธียนมาจากที่ไหนกันแน่ แต่ปัจจุบันยิ่งมีการขุดค้นเชิงโบราณคดีไปทางตะวันออกหรือเอเชียกลางมากขึ้นเท่าใด ก็ยิ่งพบร่องรอยหลักฐานของชาวซิเธียนที่มีอายุเก่าแก่มากขึ้นเท่านั้น

ในปีนี้ทีมนักโบราณคดีนานาชาติ จากสถาบันมักซ์พลังก์ของเยอรมนีและสถาบันวิชาการวิทยาศาสตร์ของรัสเซีย ได้ค้นพบหลักฐานที่เป็นรูปธรรมในเขตสาธารณรัฐตูวาทางตอนใต้ของไซบีเรีย ซึ่งพิสูจน์ยืนยันถึงเรื่องราวของชาวซิเธียนได้ตรงตามที่บันทึกไว้ในเอกสารโบราณ

เฮโรโดตุส (Herodotus) นักปราชญ์ชาวกรีกโบราณที่มีชีวิตอยู่ในช่วง 500 ปีก่อนคริสตกาล เคยบันทึกไว้ว่าพิธีฝังพระศพของกษัตริย์ซิเธียน จะมีการบูชายัญโดยสังหารทั้งคนและม้า เพื่อนำไปเป็นเครื่องสังเวยที่วางบนเนินดินเหนือหลุมฝังพระศพ โดยจะเลือกจากเหล่านักรบผู้ขี่ม้าศึกติดตามกษัตริย์ในระหว่างการทำสงคราม

บันทึกดังกล่าวตรงกับการค้นพบชิ้นส่วนกระดูกมนุษย์จำนวนมาก รวมทั้งชิ้นส่วนกระดูกของม้าจำนวน 18 ตัว ที่ส่วนยอดของเนินดิน “ตุนนุก 1” (Tunnug 1) ซึ่งเป็นสุสานยุคปลายศตวรรษที่ 9 นอกจากนี้ยังพบอุปกรณ์ในการขี่บังคับม้า, อาวุธ, และวัตถุโบราณรูปม้าทองคำด้วย

การค้นพบดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า อารยธรรมที่เน้นการเลี้ยงม้าและขี่ม้าของชาวซิเธียน ได้แพร่ขยายออกไปอย่างรวดเร็วจากดินแดนของบรรพบุรุษในมองโกเลียสู่ไซบีเรียตอนใต้ ก่อนจะบุกไปประชิดยุโรปตะวันออกในเวลาต่อมา

กำแพงหินใต้ทะเลฝีมือนายพรานปลายยุคน้ำแข็ง

ที่มาของภาพ, MICHAL GRABOWSKI

คำบรรยายภาพ, ภาพจำลองจากฝีมือศิลปิน แสดงให้เห็นแนวกำแพงสำหรับใช้ล่ากวางเรนเดียร์ในช่วงยุคหินกลาง

ทีมนักโบราณคดีใต้น้ำของเยอรมนี ค้นพบโครงสร้างฝีมือมนุษย์โบราณที่พื้นทะเลบอลติก โดยเป็นซากกำแพงหินสูง 1 เมตร และยาวเกือบ 1 กิโลเมตร จมอยู่ใต้น้ำทะเลที่ระดับความลึกประมาณ 20 เมตร ห่างจากชายฝั่งทางภาคเหนือของเยอรมนีออกไปราว 10 กิโลเมตร

กำแพงดังกล่าวก่อจากหินที่เรียงซ้อนกันกว่า 1,600 ก้อน โดยหินแต่ละก้อนมีขนาดเล็กพอที่คนผู้หนึ่งจะยกมาวางได้ด้วยตนเอง ทำให้นักโบราณคดีสันนิษฐานว่า มีความเป็นไปได้สูงที่กำแพงนี้จะถูกสร้างขึ้นด้วยฝีมือมนุษย์ในยุคหินกลาง (Mesolithic length) ซึ่งตรงกับช่วงปลายยุคน้ำแข็งครั้งล่าสุดเมื่อราว 10,000 ปีก่อน

ในตอนนั้นสถานที่ตั้งของกำแพงหินยังไม่ถูกน้ำทะเลท่วมทับ ผลการตรวจสอบทางธรณีวิทยายังพบว่า ในอดีตบริเวณดังกล่าวอาจเป็นป่าพรุหรือพื้นที่ริมฝั่งทะเลสาบ ซึ่งแนวของกำแพงหินถูกสร้างให้ขนานไปกับหนองบึงหรือทะเลสาบนั้น ทำให้สันนิษฐานได้ว่า แท้จริงกำแพงดังกล่าวอาจมีไว้เพื่อต้อนฝูงสัตว์ป่าให้เข้ามาติดกับในที่แคบ ก่อนที่เหล่านายพรานที่ซุ่มซ่อนตัวอยู่จะลงมือล่าได้โดยสะดวก

เนื่องจากสังคมมนุษย์ในช่วงปลายยุคน้ำแข็งยังไม่รู้จักการทำเกษตรกรรม จึงเป็นไปได้ว่าเหล่านายพรานในสังคมที่ยังล่าสัตว์และหาเก็บของป่าเลี้ยงชีพ ได้ร่วมมือร่วมใจกันสร้างกำแพงนี้ขึ้น เพื่อทำการล่าครั้งใหญ่ตามฤดูกาลปีละ 1-2 ครั้ง ซึ่งนักโบราณคดีคาดว่าสัตว์ป่าที่ถูกล่าน่าจะเป็นสัตว์มีกีบเท้าขนาดใหญ่ อย่างเช่น “กวางเรนเดียร์ยูเรเชีย” (Eurasian reindeer) ซึ่งเริ่มอพยพขึ้นมาในทางตอนกลางของยุโรป เพราะอากาศที่อบอุ่นขึ้นทำให้เริ่มมีป่าหนาทึบขึ้นในบริเวณนั้น

กระดูกนักสำรวจยุคศตวรรษที่ 19 เผยเรื่องราวดำมืดในเขตอาร์กติก

ที่มาของภาพ, D.STENTON

คำบรรยายภาพ, แหล่งขุดค้นทางโบราณคดีในเขตอาร์กติก บนเกาะคิงวิลเลียมส์ในประเทศแคนาดา

โศกนาฏกรรมของเรือหลวงเอเรบัส (HMS Erebus) และเรือหลวงเทอร์เรอร์ (HMS Fear) ซึ่งออกเดินทางจากอังกฤษในปี 1845 เพื่อสำรวจ “ช่องทางตะวันตกเฉียงเหนือ” (Northwest Passage) ในท้องทะเลที่เต็มไปด้วยภูเขาน้ำแข็งของเขตอาร์กติก โดยมุ่งหวังจะหาเส้นทางเดินเรือลัดที่เชื่อมต่อมหาสมุทรแอตแลนติกเข้ากับมหาสมุทรแปซิฟิกนั้น เป็นที่ทราบกันดีว่าลงเอยด้วยการจบชีวิตของลูกเรือทั้งหมด 134 คน เนื่องจากความอดอยากหิวโหยและอากาศหนาวเย็น เพราะเรือติดอยู่ในแผ่นน้ำแข็งหนาจนเคลื่อนที่ต่อไปไม่ได้

จนกระทั่งเกือบสองร้อยปีต่อมา นักโบราณคดียังคงค้นหาข้อเท็จจริงเบื้องหลังเหตุโศกนาฏกรรมดังกล่าวอยู่อย่างไม่ลดละ โดยในช่วงทศวรรษ 1990 มีการค้นพบร่างของผู้รอดชีวิตกลุ่มสุดท้าย 13 ราย บนเกาะคิงวิลเลียมส์ของประเทศแคนาดา พร้อมทั้งพบบันทึกลงวันที่ 25 เม.ย. 1848 ที่เขียนโดยกัปตันเจมส์ ฟิตซ์เจมส์ แห่งเรือหลวงเอเรบัส ซึ่งระบุว่าพวกเขาตัดสินใจทิ้งเรือที่ติดอยู่ในผืนน้ำแข็งมานานนับปี หลังจากมีผู้เสียชีวิตไปมากมาย

ผู้รอดชีวิตกลุ่มสุดท้ายตัดสินใจเดินเท้าลงไปทางทิศใต้ แต่พวกเขาก็ไปได้ไม่ไกลนักก่อนจะจบชีวิตลงทั้งหมด ร่องรอยตัดเฉือนที่พบบนโครงกระดูกของลูกเรือ 4 ราย แสดงว่าพวกเขาจำต้องกินเนื้อมนุษย์จากร่างของเพื่อนเพื่อประทังชีวิต

ล่าสุดในปีนี้ ผลการตรวจสอบพันธุกรรมบนโครโมโซมวาย (Y) ชี้ว่ากระดูกขากรรไกรล่างชิ้นหนึ่งที่มีรอยบากจากของมีคม ซึ่งนักโบราณคดีพบบนเกาะคิงวิลเลียมส์นั้น แท้จริงเป็นของกัปตันฟิตซ์เจมส์ผู้เขียนบันทึกฉบับสุดท้าย แสดงว่าสถานะผู้นำการสำรวจ ไม่ได้ช่วยปกป้องเขาให้พ้นภัยจากสัญชาตญาณดิบของคนที่กำลังหิวโหยและดิ้นรนเอาชีวิตรอด แต่ทว่าการกินเนื้อเพื่อนในครั้งนี้ กลับช่วยต่อลมหายใจให้ลูกเรือที่เหลืออยู่ได้เพียงไม่กี่วันเท่านั้น