ศาลปกครองสูงสุดนัด 19 พ.ย.นี้ ฟังคำพิพากษากรณี ‘สุภา โชติงาม’ ฟ้องสตช.และรวม 2 คน กระทำการไม่ชอบด้วยกฎหมายกรณีทำ MOU การเชื่อมโยงข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์กับกรมขนส่งเกี่ยวกับการชำระและนำส่งค่าปรับตามกฎหมายว่าด้วยการจราจรทางบก
สำนักข่าวอิศรา . รายงานว่า วันที่ 15 พฤศจิกายน 2567 สำนักงานศาลปกครองแจ้งกำหนดการพิจารณาคดีที่น่าสนใจระหว่างวันที่ 18-22 พ.ย. 2567 โดยมีคดีที่น่าสนใจในวันที่ 19 พ.ย. 2567 เวลา 10.00 น. ศาลปกครองกลางนัดอ่านคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดในคดีหมายเลขดำที่ 85/2567 และหมายเลขแดงที่ 282/2567 ระหว่างนางสุภา โชติงาม ในฐานะผู้ฟ้องคดี กับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) จำเลขที่ 1 และพวกรวม 2 คน ในฐานะผู้ถูกฟ้องคดี ในคดีพิพาทเกี่ยวกับการทื่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
คดีนี้ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ที่ 1 กับพวกรวม 2 คน กระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย กรณีผู้ถูกฟ้องคดีได้ทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการเชื่อมโยงข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการจราจรทางบกและหลักเกณฑ์การปฏิบัติระหว่างสตช.และกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เกี่ยวกับการชำระและนำส่งค่าปรับตามกฎหมายว่าด้วยการจราจรทางบก โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีและผู้ทเี่ป็นเจ้าของรถต้องยินยอมชำระค่าปรับทุกกรณีไม่ว่าจะกระทำความผิดหรือไม่ จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาล
คดีนี้ศาลปกครองชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณาและให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ เนื่องจากเมื่อพิเคราะห์เหตุผลในการตรากฎหมายและบทบัญญัติมาตรา 141/1 แห่ง พ.ร.บ.จราจรทางบก 2522 เห็นว่า เป็นกรณีที่ สตช. และ ขบ. ดำเนินการร่วมมือ เพื่อบังคับใ้ช้กฎหมายว่าด้วยการจราจรทางบก โดยกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการไว้ในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือที่พิพาท แต่โดยมาตรา 141/1 ดังกล่าว กระบวนการต่างๆไม่ว่าจะเป็นการแจ้งจำนวนเงินค่าปรับค้างชำระ การแจ้งให้ผู้มาติดต่อขอชำระภาษีประจำปีสำหรับรถชำระค่าปรับที่ค้างชำระ การแจ้งให้ผู้มาติดต่อขอชำระภาษีประจำปีสำหรับรถ การส่งเรื่องให้พนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินการฟ้องคดีต่อศาล และเมื่อมีการชำระค่าปรับครบถ้วนถูกต้องแล้ว ให้คดีเป็นอันเลิกกัน ดังนั้น แม้จะมีกระบวนการพิจารIาทางปกครอง เพื่อการเสียภาษีประจำปีรวมอยู่ด้วย แต่กระบวนการดังกล่าว เป็นกระบวนการนำไปสู่การบังคับใช้กระบวนการยุติธรรมทางอาญา เพื่อให้มีการชำระค่าปรับจราจรกับบุคคลที่ฝ่าฝืน พ.ร.บ.จราจรทางบก 2522 และทำให้กฎหมายว่าด้วยการจราจรทางบกบรรลุผล
กรณีจึงถือได้ว่า เป็นกระบวนการยุติธรรมทางอาญา มิใช่การกระทำทางปกครองที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง แห่งพ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง 2542 ผู้ฟ้องคดีจึงยื่นอุทธรณ์คำสั่งต่อศาลปกครองสูงสุด ณ ห้องพิจารณาคดี 10 ชั้น 3 อาคารศาลปกครอง ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร
ที่มาภาพ: Google Plot
อ่านประกอบ
เปิดตัว‘สุภา โชติงาม’ผู้ฟ้อง‘ตร.’ จน’ศาล ปค.’สั่งเพิกถอนประกาศฯ‘ค่าปรับจราจร-แบบใบสั่ง’
ตร.จ่ออุทธรณ์คดีเพิกถอนประกาศฯ'ค่าปรับจราจร-แบบใบสั่ง'-‘บิ๊กโจ๊ก'สั่งจนท.ปฏิบัติตามเดิม
ผู้ขับขี่ไม่เสียสิทธิปฏิเสธ! ความเห็นแย้ง‘ตุลาการเสียงข้างน้อย’คดีถอนประกาศฯ‘แบบใบสั่งฯ’
ตัดอำนาจจนท.-ไม่แจ้งสิทธิโต้แย้ง! พลิกคดี‘ศาล ปค.’สั่งถอนประกาศฯ‘ค่าปรับจราจร-แบบใบสั่ง’
ให้มีผลย้อนหลังตั้งแต่ ก.ค.63!‘ศาล ปค.’สั่งเพิกถอนประกาศฯกำหนด‘ค่าปรับจราจร-แบบใบสั่ง’
ที่มา สำนักข่าวอิศรา ( isranews.org )