หมู่บ้านที่ชาวมุสลิมนิกายซุนนีและชีอะห์ใช้ทุกอย่างร่วมกันได้ แม้แต่มัสยิด

Article data
- Creator, อิฟติคาร์ ข่าน
- Feature, บีบีซีแผนกอัฟกานิสถาน
ความตึงเครียดระหว่างนิกายต่าง ๆ ของศาสนาอิสลามเป็นเรื่องปกติในหลายประเทศมุสลิม มันเป็นปัจจัยหนึ่งที่เป็นรากฐานของการสู้รบในซีเรียเมื่อเร็ว ๆ นี้ และการปะทะกันอย่างรุนแรงระหว่างผู้ศรัทธาในนิกายซุนนีและชีอะห์ก็เพิ่มขึ้นในปากีสถาน แต่ในทางตอนเหนือของปากีสถานมีหมู่บ้านแห่งหนึ่งที่เป็นตัวอย่างจุดประกายให้เห็นว่าทั้ง 2 นิกายสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ
มัสยิดที่มีหอคอยเหล็กและลำโพงบนดาดฟ้าสูง คือสิ่งแรก ๆ ที่นักท่องเที่ยวจะได้เห็นเมื่อเข้าสู่หมู่บ้านพีระ (Pira village) ในแคว้นแคบาร์ปัคตูนควา (Khyber Pakhtunkwha) ทางตะวันตกเฉียงเหนือของปากีสถาน
นอกจากการเป็นแลนด์มาร์ก ที่นี่ยังเป็นสัญลักษณ์ของความเอื้อเฟื้อระหว่างนิกาย เพราะเป็นตัวอย่างที่หาได้ยากของมัสยิดที่คนในหมู่บ้าน ทั้งนิกายซุนนีและชีอะห์ ใช้ร่วมกันอย่างเท่าเทียม
เมื่อได้ยินเสียงประกาศให้ละหมาด สมาชิกของชุมชนหนึ่งจะเร่งรีบกันเข้าไปภายใน จากนั้น 15 นาที หลังประกอบศาสนกิจเสร็จสิ้น พวกเขาก็จะเดินออกไปตามถนน และอีกชุมชนก็เข้ามาแทนที่
ไซเอด มาซาร์ อาลี อับบาส นักเทศน์ชีอะห์ที่มัสยิดนี้ ระบุว่า การปฏิบัติแบบนี้สืบทอดมานานร่วมศตวรรษแล้ว และถึงแม้มัสยิดนี้จะถูกสร้างใหม่ระหว่างนั้น แต่ก็ไม่มีใครเห็นเหตุผลในการเปลี่ยนแปลงแนวปฏิบัติแบบเดิม
เรื่องแนะนำ
ตามเอกสาร มัสยิดดังกล่าวเป็นของชุมชนนิกายชีอะห์ แต่ทั้ง 2 ชุมชนก็ช่วยกันจ่ายค่าไฟและค่าดำเนินการอื่น ๆ และ มาซาร์ อาลี ก็เน้นย้ำว่าชาวนิกายซุนนีมีสิทธิเท่า ๆ กันในการใช้มัสยิดนี้
แน่นอนว่าการละหมาดของชาวซุนนีและชีอะห์แตกต่างกันตามธรรมเนียมปฏิบัติของแต่ละนิกาย ซึ่งการประกาศเวลาละหมาด หรือที่เรียกว่า “อาซาน” (azan) จะแตกต่างกันด้วย ขึ้นอยู่กับว่าผู้ศรัทธาในนิกายไหนเป็นคนประกาศ
ตามข้อตกลงที่ไม่ได้มีการระบุเป็นลายลักษณ์อักษร การอาซานตอนเช้า เที่ยง และเย็น จะรับผิดชอบโดยชุมชนชีอะห์ ขณะที่การอาซานรอบบ่ายและค่ำรับผิดชอบโดยชุมชนซุนนี
อย่างไรก็ตาม ช่วงเดือนรอมฎอน ชาวซุนนีจะละศีลอดก่อนชาวชีอะห์ไม่กี่นาที ดังนั้นพวกเขาจะอาซานรอบเย็นแยกกันในช่วงเดือนศักดิ์สิทธิ์นี้
และไม่ว่าจะเป็นช่วงเวลาใดก็ตาม หากมีคนในชุมชนแรกที่มาสาย พวกเขาก็สามารถละหมาดร่วมกับอีกชุมชนได้ โดยปฏิบัติตามแบบของนิกายตนเอง

หมู่บ้านพีระยังมีอีกหลายมัสยิดที่อยู่ใกล้เคียง แต่มัสยิดร่วมนี้มีขนาดใหญ่ที่สุด
ประชากรในหมู่บ้านที่มีอยู่ประมาณ 5,000 คน มีผู้ที่นับถือนิกายชีอะห์และซุนนีในสัดส่วนพอ ๆ กัน พวกเขาอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขในด้านอื่นด้วย ทั้งการใช้สุสานร่วมกัน และบ่อยครั้งก็มีการแต่งงานข้ามนิกาย
โมฮัมหมัด ซิดดิค ชาวนิกายซุนนี แต่งงานกับหญิงชีอะห์ เขายอมรับว่าต้องใช้เวลาอยู่พอสมควรกว่าจะทำให้ญาติของฝ่ายหญิงเห็นด้วยกับความคิดที่จะแต่งงานกัน แต่ความจริงที่ว่าเขานับถือนิกายซุนนีไม่ได้เกี่ยวอะไรกับเรื่องนี้ เขามองว่าปัญหาคือเขาแต่งงานเพื่อความรัก ซึ่งไม่ใช่ธรรมเนียมปฏิบัติในปากีสถาน
ปัจจุบันเขาแต่งงานมาแล้วเกือบ 18 ปี โดยเขาระบุว่าทั้งตัวเขาและภรรยาต่างก็ยังปฏิบัติพิธีกรรมทางความเชื่อตามแนวทางของตัวเอง
ขณะที่ อัมจาด ฮุสเซน ชาห์ ผู้ที่อาศัยในหมู่บ้านแห่งนี้อีกรายหนึ่ง เปิดเผยว่า มีบางครัวเรือนในหมู่บ้านที่พ่อแม่นับถือนิกายชีอะห์ ขณะที่ลูก ๆ ของพวกเขานับถือซุนนี หรือในทางกลับกัน
“คนที่นี่เข้าใจว่าความเชื่อทางศาสนาเป็นเรื่องส่วนบุคคล” เขากล่าว
เทศกาลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับศาสนา ก็มีการบูรณาการระหว่าง 2 ความเชื่อ
ในวันอีฎิ้ลอัดฮา (Eid-ul-Adha) บางครั้งชาวชีอะห์และซุนนีก็จับกลุ่มร่วมกันไปซื้อสัตว์มาบูชายัญ เพื่อรำลึกถึงความพร้อมเสียสละลูกชาย ของศาสดาอับราฮัม
และเมื่อชาวซุนนีเฉลิมฉลองวันประสูติของศาสดามุฮัมมัด ในเทศกาลของชาวซุนนีที่เรียกว่า มิลาด (milad) ในหมู่บ้านพีระก็จะมีชาวชีอะห์มาร่วมด้วย จากคำบอกเล่าของ ไซเอด ซัจจาด ฮุสเซน คาซมี นักเทศน์ซุนนีของมัสยิด เช่นเดียวกัน ชาวซุนนีและชีอะห์ยังรวมตัวกันในเทศกาลมุฮัรรอม (Muharram) ที่ระลึกถึงการพลีชีพของอิหม่ามฮุสเซน หลานชายของศาสดา
ในวิถีทางเช่นนี้ ชาวหมู่บ้านพีระแบ่งปันความสุขและทุกข์ร่วมกัน
วันที่บีบีซีไปเยือน เหล่าผู้อาวุโสในหมู่บ้านกำลังลงคะแนนเลือกประธานคณะกรรมการซะกาต ซึ่งรวบรวมและแจกจ่ายเงินบริจาคเพื่อการกุศล
เป็นเวลาหลายปีผ่านมาแล้วที่ตำแหน่งนี้ถูกครอบครองโดยชาวซุนนี แต่ครั้งนี้ผู้สมัครชาวชีอะห์ได้รับเลือก
นักเทศน์ชีอะห์ มาซาร์ อาลี เปิดเผยว่า ครอบครัวของเขาสนับสนุนผู้สมัครที่แพ้ ซึ่งผู้สมัครที่แพ้ในครั้งนี้คือชาวซุนนี
“ในการเลือกตั้ง พวกเราไม่เคยสนับสนุนหรือต่อต้านใครจากนิกายทางศาสนา แต่พวกเราจะเลือกคนที่เราเชื่อว่าจะสามารถให้บริหารชุมชนได้ดีที่สุด” เขากล่าว

เมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว เคยมีความพยายามครั้งหนึ่งในการปลุกปั่นให้เกิดความแตกแยก ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับหมู่บ้านพีระ แต่ครอบคลุมพื้นที่ที่ใหญ่กว่าซึ่งประกอบด้วย 11 หมู่บ้าน
ขณะที่หมู่บ้านพีระประกอบด้วยชาวชีอะห์และซุนนีในจำนวนเท่า ๆ กัน หมู่บ้านอื่น ๆ เป็นชาวซุนนีโดยเฉพาะ แต่ผู้สมัครชาวชีอะห์ คือ ไซเอด มูนีร์ ฮุสเซน ชาห์ ลงสมัครรับเลือกตั้งในขณะนั้นเพื่อจะเป็นตัวแทนของพวกเขาทั้งหมดในสภาท้องถิ่น
คู่แข่งของเขาคนหนึ่งพยายามหาประโยชน์จากสิ่งนี้
“พวกเขาพาคนจากเมืองการาจีที่มีชื่อเสียงไปทั่วประเทศด้านวาทศิลป์ในการพูดต่อต้านชีอาะห์เข้ามา เขาพูดปราศรัยในการชุมนุม เรียกร้องให้คนไม่ลงคะแนนให้กับผู้สมัครชาวชีอะห์” มูนีร์ ชาห์ เปิดเผย
แต่มันไม่เป็นผล ผู้คนยังคงลงคะแนนเลือก มูนีร์ ชาห์
“คนส่วนมากบอกว่าพวกเขาไม่ได้กำลังเลือกตั้งนักเทศน์ในมัสยิด แต่กำลังเลือกตัวแทนที่มีความสามารถในการหยิบยกและสะท้อนประเด็นปัญหาของพวกเขา โดยไม่ได้คำนึงถึงนิกายที่นับถือ” เขาระบุ
เขาเชื่อว่าเป็นเพราะมัสยิดร่วมที่สร้างความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวในสังคมนี้

แล้วมัสยิดมาถูกใช้ร่วมกันได้อย่างไร ?
เมื่อราว 100 ปีที่ผ่านมา ประชากรส่วนใหญ่ในหมู่บ้านพีระเป็นชาวซูฟีซุนนี ซึ่งสืบทอดเชื้อสายมาจากชายผู้ก่อตั้งหมู่บ้านในช่วงศตวรรษที่ 17
แต่ ดร.ซิบเทน บูคารี นักประวัติศาสตร์ในท้องถิ่น เปิดเผยว่า ครอบครัวที่ขยายขนาดใหญ่นี้ค่อย ๆ เปลี่ยนมานับถือนิกายชีอะห์ ขณะที่ประชากรส่วนที่เหลือยังคงยึดมั่นในซุนนี อย่างไรก็ตาม ทั้ง 2 กลุ่มยังคงใช้มัสยิดอยู่ตลอด
ช่วงปลายทศวรรษที่ 1980 ผู้สูงอายุชีอะห์ในหมู่บ้านเสนอให้มีการสร้างมัสยิดขึ้นมาใหม่ และนักบวชซุนนี โมลวี กุหลาบ ชาห์ ก็อนุญาต ตราบใดที่มัสยิดที่สร้างจะยังคงถูกใช้ร่วมกันทั้ง 2 นิกาย ซึ่งสุดท้ายบรรดาผู้อาวุโสชีอะห์เป็นผู้จ่ายเงินสำหรับการบูรณะมัสยิด ทำให้ในเอกสารทางการแล้วมัสยิดเป็นของพวกเขา แต่ในทางปฏิบัตินั้นแตกต่าง เพราะที่นี่เป็นหัวใจของชุมชนที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันโดยสมบูรณ์
ที่มา BBC.co.uk