ออกกฎหมายสกัดรัฐประหาร จะได้ผลจริงหรือไม่ในการเมืองไทย
แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) ระบุรัฐบาลไม่มีเจตนาที่จะไปแทรกแซงงานของกองทัพ หลังจากนายประยุทธ์ ศิริพานิชย์ สส.บัญชีรายชื่อของ พท. เสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม หรือที่ถูกเรียกว่า “กฎหมายสกัดรัฐประหาร” เข้าสู่ระเบียบการประชุมของสภาฯ ขณะที่พรรค พท. ส่งสัญญาณ “ยอมถอย” โดยจะมีการสอบถามความคิดเห็นจาก สส. ในระหว่างการประชุมพรรค 12 ธ.ค. นี้
น.ส.แพทองธาร แถลงหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี ถึงร่าง พ.ร.บ. ฉบับที่นายประยุทธ์เป็นคนเสนอ ซึ่งมีสาระสำคัญให้อำนาจคณะรัฐมนตรี มีอำนาจพิจารณาแต่งตั้งนายพลว่า เรื่องนี้มีความคิดเห็นที่แตกต่างที่ต้องรับฟังเสียงจากทุกฝ่าย และในรัฐธรรมนูญก็มีเรื่องนี้ แต่ต้องแสดงจุดยืนว่าในวันนี้ ในพุทธศักราชนี้ รัฐบาลไม่มีเจตนาที่จะไปแทรกแซงงานของกองทัพ ส่วนเรื่องใดที่ดำเนินการแล้ว เกิดประโยชน์กับประเทศชาติก็ต้องร่วมมือกัน
รัฐบาลภายใต้นายกรัฐมนตรีที่มาจากตระกูลชินวัตร ถูกยึดอำนาจผ่านการรัฐประหารมาแล้วสองครั้ง เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า จะเป็นนายกฯ คนแรกของตระกูลชินวัตรที่จะไม่ถูกรัฐประหารใช่หรือไม่ น.ส.แพทองธาร ระบุว่าไม่ทราบ แต่ขอให้สื่อมวลชนช่วยตอบ พร้อมบอกว่า ในทางออกของประเทศคือการช่วยกันทำเศรษฐกิจให้ดี ให้ประชาชนมีกิน มีใช้ และชี้ว่าไม่มีเวลามาขัดแย้ง
ก่อนหน้านี้ นักการเมืองจากพรรคอนุรักษนิยมอย่างน้อย 3 พรรคออกมาประกาศจุดยืน “ไม่เอาด้วย”
3 พรรคการเมืองที่ออกมาคัดค้านร่างกฎหมายนี้ ประกอบด้วย พรรคภูมิใจไทย (ภท.), พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) และ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) โดยนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรค ภท. คือคนแรกที่ออกมาบอกว่าไม่เห็นด้วย เพราะมองว่าไม่มีความจำเป็น พร้อมระบุด้วยว่า เงื่อนไขการปฏิวัติมีอยู่แค่ไม่กี่เงื่อนไข ส่วนใหญ่มาจากนักการเมืองทั้งนั้น เราก็อย่าไปเข้าเงื่อนไขเหล่านั้น มันก็จะปฏิวัติไม่ได้
Skip เรื่องแนะนำ and proceed studyingเรื่องแนะนำ
Cease of เรื่องแนะนำ
“ต่อให้ออกกฎหมายอะไรมา ถ้ามีการปฏิวัติ สิ่งแรกที่ทำก็คือการฉีกรัฐธรรมนูญ ดังนั้นตรงนี้ที่จะทำก็อาจเป็นแค่สัญลักษณ์ บังคับใช้อะไรไม่ได้” นายอนุทินกล่าวเมื่อ 9 ธ.ค.
ร่าง พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหมฉบับล่าสุด ซึ่งถูกเรียกขานว่า “กฎหมายสกัดรัฐประหาร” เสนอโดยนายประยุทธ์ ศิริพานิชย์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรค พท. ขณะนี้อยู่ระหว่างการเปิดรับฟังความเห็นประชาชนผ่านเว็บไซต์สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 77 ซึ่งจะสิ้นสุดการรับฟังความเห็นในวันที่ 1 ม.ค. 2568
ทว่าเมื่อเกิดเสียงคัดค้านจากประชาชนและนักการเมือง นายประยุทธ์ เจ้าของร่างกฎหมาย จึงรีบออกมาบอกว่าเป็นกฎหมายที่เขาและคณะเสนอในนามส่วนตัว ไม่ใช่ความเห็นพรรค พท. และส่งสัญญาณพร้อมถอย
“เมื่อมีเสียงคัดค้านมากก็ต้องนำมาปรับปรุง จากที่หวังไว้ 100% ได้มาสัก 30-50% คงพอใจแล้ว แต่คงไปสุดซอยไม่ได้แล้ว” นายประยุทธ์กล่าวเมื่อวันที่ 10 ธ.ค.
สรุปเนื้อหาร่าง พ.ร.บ.จัดระเบียบกลาโหม
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่นักการเมืองไทยพยายามผลักดันกฎหมายสกัดกั้นอำนาจนอกระบบ ภายหลังการเลือกตั้ง 2566 มีความพยายามจะเสนอร่างแก้ไข พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม อย่างน้อย 3 ฉบับ ประกอบด้วย ร่างของพรรค พท., ร่างของพรรคประชาชน (ปชน.) และร่างของกระทรวงกลาโหม สมัยนายสุทิน คลังแสง สส.มหาสารคาม พรรค พท. เป็น รมว.กลาโหม
เหตุที่ร่างกฎหมายฉบับ “ประยุทธ์” ถูกเรียกขานว่า “กฎหมายสกัดรัฐประหาร” เป็นเพราะมีการแก้ไข พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ. 2551 ในประเด็นสำคัญ ๆ ดังนี้
- กำหนดให้นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีอำนาจสั่งให้นายทหารชั้นสัญญาบัตรที่ก่อการกบฏหยุดปฏิบัติหน้าที่ไว้เป็นการชั่วคราวในระหว่างรอการสอบสวน โดยไม่ต้องปฏิบัติตามขั้นตอนการสั่งให้พักราชการตามกฎหมาย (เพิ่มมาตรา 35/1)
- ห้ามมิให้ใช้กำลังทหารหรือข้าราชการทหารเพื่อกระทำการ 4 อย่าง ในจำนวนนี้คือ การยึดอำนาจจากรัฐบาลหรือก่อการกบฏ และขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของส่วนราชการต่าง ๆ โดยให้สิทธิข้าราชการทหารไม่ต้องปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาที่สั่งการให้กระทำการดังกล่าว (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 35)
- ให้ฝ่ายการเมืองป้องกันการรัฐประหารตั้งแต่ต้นทางผ่านสายสัมพันธ์ “เพื่อนร่วมรุ่น” หรือ “นายทหารร่วมสาย” ของบรรดาผู้บัญชาการเหล่าทัพ โดยให้อำนาจ ครม. พิจารณาแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพล แทนการ “วางตัวบุคคลของทางกองทัพที่เป็นพวกพ้องของผู้บัญชาการเหล่าทัพให้สืบสายเป็นผู้บัญชาการเหล่าทัพต่อไป” (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 25)
- แก้ไของค์ประกอบของสภากลาโหม โดยให้นายกรัฐมนตรีเป็นประธานสภากลาโหม และให้หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเข้าเป็นสมาชิกสภากลาโหมเพิ่มเติม รวมทั้งตัดตำแหน่งสมาชิกสภากลาโหมบางตำแหน่งที่เห็นว่าไม่จำเป็นออกไป (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 42)
ขณะที่ร่าง พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม ฉบับ สส. พรรคก้าวไกล/ประชาชน เสนอ มีเป้าหมายเพื่อปรับโครงสร้างการบริหารจัดการและการใช้อำนาจ “เพื่อให้สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตย” โดยสรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
- เมื่อมีการประกาศกฎอัยการศึก ให้ รมว.กลาโหม โดยการเสนอความเห็นของสภากลาโหม มีอำนาจกำหนดหน่วยงาน แต่งตั้งเจ้าหน้าที่ทางทหารและกำหนดอำนาจหน้าที่ของหน่วยงาน และเจ้าหน้าที่ทางทหารได้ตามความเหมาะสมแก่การปฏิบัติภารกิจ หรือพิจารณาสั่งยกเลิกเมื่อมีการยกเลิกประกาศกฎอัยการศึก (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 34)
- กำหนดให้การบริหารจัดการกำลังพลของกระทรวงกลาโหมเป็นไปตามกฎหมายและตามที่กระทรวงกลาโหมกำหนด การแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพลให้ดำเนินการด้วยระบบคุณธรรรม ด้วยการเลือกผู้มีคุณสมบัติตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่งโดยคณะกรรมการที่ส่วนราชการนั้นแต่งตั้งขึ้น แล้วเสนอต่อ รมว.กลาโหม พิจารณา (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 25)
- แก้ไของค์ประกอบของสภากลาโหม อำนาจหน้าที่ และวาระดำรงตำแหน่ง (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 42-forty five)
แก้ พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกลาโหมฯ ช่วยสกัดรัฐประหารได้หรือไม่
ศุภณัฐ บุญสด นักวิชาการจากสถาบันพระปกเกล้า บอกกับ.ว่าการแก้ไข พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ. 2551 ถือเป็นการจัดระดับความสัมพันธ์ระหว่างคณะรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กับกองทัพ เนื่องจากกฎหมายฉบับดังกล่าวมี 2 เงื่อนไขที่ทำให้กองทัพมีความเป็นอิสระจากฝ่ายบริหาร ไม่ว่าจะเป็นการแต่งตั้งนายพล หรือการสั่งการนโยบายต่าง ๆ ภายในกลาโหม
“จะมีข้าราชการประจำชุดหนึ่งที่มีอำนาจในการลงมติตัดสินใจแต่งตั้งนายพลได้เลยโดยไม่ต้องผ่านตัวคณะรัฐมนตรี หรือแม้แต่ตัวรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมก็เป็นแค่เสียงหนึ่งที่มีอำนาจในการแต่งตั้ง ขณะที่เสียงส่วนใหญ่ยังขึ้นอยู่กับข้าราชการประจำ ทำให้เขา (เหล่าทัพ) สามารถแต่งตั้งบุคลากรทางทหารที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองหรือมีเฉดทางการเมืองเช่นเดียวกับคนที่เคยทำรัฐประหารมาก่อนในอดีต หรืออาจทำในอนาคตได้”
ไม่เพียงเฉพาะการแต่งตั้งโยกย้าย นักวิชาการจากสถาบันพระปกเกล้าบอกด้วยว่า ในการบังคับบัญชากองทัพระดับนโยบายขณะนี้ ก็ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของสภากลาโหม ซึ่งเสียงส่วนใหญ่เป็นนายทหาร ขณะที่ฝ่ายการเมืองในสภากลาโหมเป็นเพียงเสียงส่วนน้อย หรือเรียกได้ว่าแทบไม่มีสิทธิมีเสียงใด ๆ
“ด้วย 2 เงื่อนไขที่กล่าวมาทำให้กองทัพได้รับการปกป้องจากพรมแดนทางกฎหมายที่ทำให้เขาทำอะไรก็ได้ โดยที่ตัวรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีเข้ามายุ่งเกี่ยวกับกิจการของเขาไม่ได้ มันเลยเกิดปรากฏการณ์ที่เคยเห็นทหารออกมาแถลงข่าวให้รัฐบาลลาออก แล้วรัฐบาลไม่สามารถไปสั่งปลดหรือทำอะไรทหารเหล่านี้ได้ เพราะมีเงื่อนไขทางกฎหมายไปล็อกไว้ หรือแม้แต่การประกาศกฎอัยการศึกทั่วประเทศที่ขัดต่อ พ.ร.บ.กฎอัยการศึกฯ เองด้วยซ้ำ รัฐบาลก็ปลดอะไรไม่ได้ และทำให้เกิดการรัฐประหารในปี 2557” ศุภณัฐ กล่าว
ด้วยเหตุนี้ นักวิชาการจากสถาบันพระปกเกล้าจึงเห็นว่าการปลดล็อก พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ. 2551 ให้รัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีสามารถเข้าไปจัดการเกี่ยวกับการแต่งตั้งข้าราชการทหารได้ หรือกำหนดให้สภากลาโหมไม่มีอำนาจควบคุมกองทัพ พร้อมกับดึงอำนาจเหล่านี้เข้ามาที่ตัว รมว.กลาโหม หรือคณะรัฐมนตรีนั้น “จะเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้อำนาจพลเรือนสามารถเข้าไปสกัดยับยั้งกองทัพไม่ให้เป็นอิสระและทำรัฐประหารได้” ในอนาคต
ด้าน รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์และหัวหน้าศูนย์วิจัยและพัฒนากฎหมาย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวกับ.ว่า การแต่งตั้งโยกย้ายนายพลหรือผู้นำเหล่าทัพ ตาม พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ. 2551 ซึ่งประกอบด้วยการพิจารณาที่มีผู้นำเหล่าทัพเป็นหลักที่ให้ความเห็นชอบ เป็นปัญหาที่ขัดต่อหลักการประชาธิปไตยที่รัฐบาลพลเรือนต้องมีอำนาจเหนือกองทัพในการแต่งตั้งโยกย้ายในเหล่าทัพ
“การแต่งตั้งโยกย้ายในปัจจุบัน มีความเป็นอิสระจากรัฐบาลพลเรือนหรือรัฐบาลจากการเลือกตั้ง ซึ่งในแง่นี้ทำให้การตรวจสอบหรือการเลื่อน/ลดคนในเหล่าทัพ ไม่ได้มีความเชื่อมโยงกับอำนาจอธิปไตยจากประชาชนเลย” รศ.สมชาย กล่าว
แก้กฎหมายความมั่นคงฉบับเดียวอาจไม่พอ
นายศุภณัฐกล่าวต่อว่าการแก้ไข พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหมฯ เป็นเพียงหนึ่งในกลไกสำคัญที่ช่วยสกัดและยับยั้งการรัฐประหารได้ เพราะยังมีกฎหมายอีกหลายฉบับที่ต้องวางกลไกยับยั้งการรัฐประหารไว้ด้วยเช่นกัน เพื่อทำให้การยึดอำนาจโดยกองทัพในอนาคตเกิดขึ้นได้ยากที่สุด
เขาเสนอว่าควรแก้ไข พ.ร.บ.กฎอัยการศึก พ.ศ. 2457 และ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 โดยวางกลไกให้รัฐสภามีอำนาจเข้าไปตรวจสอบและยับยั้งการประกาศใช้กฎอัยการศึก รวมถึงประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วประเทศได้ เช่นเดียวกับที่เห็นตัวอย่างการใช้กลไกรัฐสภาเพิกถอนคำสั่งกฎอัยการศึกของประธานาธิบดียุน ซอก-ยอล ของเกาหลีใต้ เมื่อต้นเดือน ธ.ค. ที่ผ่านมา
อีกหนึ่งกฎหมายที่นักวิชาการผู้นี้เสนอให้แก้ไข คือ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 ซึ่งเอื้อให้ “กองทัพเข้าไปฝังในภารกิจของพลเรือน และเข้าไปอยู่ในแข้งขาของระบบกฎหมาย” ซึ่งเขามองว่าไม่ใช่ภารกิจของกองทัพโดยตรง
กฎหมายหนึ่งฉบับสกัดรัฐประหารไม่ได้ 100%
การรัฐประหารในการเมืองไทย 13 ครั้ง สิ่งแรกที่คณะผู้ก่อการยึดอำนาจกระทำคือ การฉีกรัฐธรรมนูญ แล้วลำพังกฎหมายระดับพระราชบัญญัติหนึ่งฉบับจะสกัดรัฐประหารได้หรือไม่ นักวิชาการสถาบันพระปกเกล้าบอกว่า การแก้ไขกฎหมายต่าง ๆ เพื่อวางกลไกให้คณะรัฐมนตรี รวมถึงรัฐสภา สามารถยับยั้งการรัฐประหารในอนาคตได้ ย่อมดีกว่าไม่ทำอะไรเลยในตอนนี้
“ถ้าไม่แก้ [กฎหมาย] เลย การรัฐประหารย่อมเกิดขึ้นง่ายกว่า เมื่อเทียบกับมีการแก้ไข [กฎหมาย] แล้ว” ศุภณัฐ ระบุ “เพราะอย่างน้อยการแก้ไขก็คือการเพิ่มเครื่องมือทางกฎหมาย ทำให้เกิดการรัฐประหารในอนาคตยากขึ้น”
ทางด้าน รศ.สมชาย จากคณะนิติศาสตร์ ม.เชียงใหม่ กล่าวว่า การเขียนกฎหมายลักษณะดังกล่าวคงไม่สามารถสกัดกั้นการรัฐประหารได้ 100%
“ต่อให้ถูกประกาศเป็นกฎหมาย แต่ถ้าเกิดมีการรัฐประหารเกิดขึ้น โดยจารีตของระบบกฎหมายไทย ถ้าเมื่อไหร่ยึดอำนาจสำเร็จปุ๊ป คณะรัฐประหารใช้อำนาจอะไรก็ตาม ฝ่ายศาล [อำนาจตุลาการ] ก็จะยอมรับว่าอันนี้สามารถบังคับใช้เป็นกฎหมายเลย เพราะฉะนั้นที่เขียนไว้ ถ้ามีการรัฐประหารเกิดขึ้น ไม่สู้จะเป็นผลให้เห็นเท่าไหร่”
นักวิชาการกฎหมายผู้นี้ กล่าวว่าที่ผ่านมาในอดีต เคยมีความพยายามเขียนกฎหมายเพื่อสกัดรัฐประหารมาแล้ว อย่างเช่น รัฐธรรมนูญฉบับปี 2517 เคยเขียนบทบัญญัติห้ามการทำนิรโทษกรรมสำหรับการทำรัฐธรรมนูญ แต่เมื่อเกิดรัฐประหารก็เกิดการฉีกรัฐธรรมนูญทิ้ง จึงทำให้บทบัญญัตินี้ไม่มีผลอะไร เพราะฉะนั้นในแง่นี้ความพยายามในการเขียนกฎหมายเพื่อจะสกัดกั้นรัฐประหาร คงไม่ได้เป็นคำตอบที่จะสัมฤทธิ์ผลได้ในตัวของมันเอง แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าการเขียนกฎหมายในลักษณะนี้ไม่มีความสำคัญ
“กฎหมายแบบนี้มันสำคัญ เพราะในแง่หนึ่ง จะแสดงให้เห็นเจตจำนงทั้งของรัฐบาลที่อย่างน้อยได้พยายามทำให้เห็นว่ามีหลักประกันทางกฎหมายว่าถ้าการรัฐประหารเกิดขึ้น คนทำรัฐประหารคงต้องคิดและไตร่ตรองอะไรมากขึ้นว่า มันอาจนำไปสู่การกระทำที่กลายเป็นความผิดในอนาคตก็ได้ ผมคิดว่าเป็นการผลักดันที่ควรสนับสนุน หากมันเป็นการแสดงเจตจำนงของฝ่ายที่เป็นเสียงของประชาชน” รศ.สมชายกล่าว
นักวิชาการกฎหมายจาก มช. บอกด้วยว่า แต่สิ่งที่จะช่วยให้การสกัดรัฐประหารมีความเป็นไปได้ พรรคการเมืองและเสียงของประชาชนก็มีความสำคัญเช่นกัน
“กฎหมายเกี่ยวกับการเมืองหรือรัฐประหาร โดยตัวบทบัญญัติล้วน ๆ ผมคิดว่ามันคงป้องกันรัฐประหารไม่ได้ เจตจำนงของ สส. ผมคิดว่าจำเป็น เช่น ถ้าเกิดการรัฐประหารเกิดขึ้น เกิดการประกาศกฎอัยการศึกเมื่อไหร่ เราจะเห็น สส. ทำแบบที่ สส. เกาหลีใต้ทำหรือ ? ตอนนี้ถ้าถามผม ผมคิดว่าอาจจะมีบางส่วนทำ แต่ถ้า สส. พรรครัฐบาล ผมคิดว่าไม่มี สส. คนไหนกล้าออกไปอยู่แนวหน้า เพื่อที่จะเผชิญหน้ากับกองทัพ หรือเผชิญหน้ากับฝ่ายผู้มีอำนาจ”
เกี่ยวกับการส่งสัญญาณถอนร่าง พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม ของพรรคเพื่อไทย รศ.สมชาย เห็นว่าจนถึงตอนนี้ ไม่เห็นว่าพรรคเพื่อไทยจะผลักดันประเด็นทางการเมืองใด ๆ ตามที่หาเสียงไว้เลย เช่น การแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 การจัดทำร่างรัฐธรรมนูญที่ก็ยัง “เป็นลูกผีลูกคน” หรือการยกเลิกเกณฑ์ทหารแบบบังคับ
“ผมคิดว่าถึงนาทีนี้ พรรคเพื่อไทยไม่มีเจตจำนงใด ๆ ที่จะกระทำการเพื่อจะปฏิรูปกองทัพ หรือทำให้กองทัพทันสมัยสอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตยเลย ผมคิดว่ายังไม่เห็นความพยายามนี้เกิดขึ้นแม้แต่น้อย กรณีนี้ก็เหมือนกัน ถึงที่สุดก็คงจบแบบ สส. ในพรรคปืนลั่นขึ้นมา ใครเสนอก็เดี๋ยวคงแบกศพกลับไปเท่านั้น”
ที่มา BBC.co.uk