อิสราเอลตัดสินใจโจมตีถล่มซีเรียเพราะเหตุใด ?
Article files
- Creator, เจเรมี เฮาเวล
- Position, บีบีซี เวิลด์ เซอร์วิส
องค์กรสังเกตการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในซีเรีย (SOHR) ซึ่งมีสำนักงานตั้งอยู่ในสหราชอาณาจักร ระบุว่าได้ติดตามบันทึกข้อมูลเรื่องที่กองกำลังป้องกันอิสราเอล (IDF) ก่อเหตุโจมตีทางอากาศในเขตแดนของซีเรียไปแล้วกว่า 310 ครั้ง นับตั้งแต่การล่มสลายของระบอบอัสซาดเมื่อวันอาทิตย์ที่ 8 ธ.ค. ที่ผ่านมา
มีรายงานว่าการโจมตีดังกล่าว มุ่งเป้าไปยังสถานที่ทางทหารของกองทัพซีเรียเป็นหลัก ตั้งแต่เมืองสำคัญอย่างอะเลปโปในทางตอนเหนือ ไปจนถึงกรุงดามัสกัสที่เป็นเมืองหลวงในทางตอนใต้ของประเทศ โดยเน้นถล่มโจมตีเพื่อทำลายคลังแสงและโกดังเก็บเครื่องกระสุนต่าง ๆ รวมทั้งสนามบิน, ฐานทัพเรือ, และศูนย์วิจัยของกองทัพซีเรียด้วย
รามี อับดุล ราห์มาน ผู้ก่อตั้งองค์กร SOHR กล่าวว่า “การโจมตีครั้งนี้ได้ทำลายสมรรถนะในการรุกรบของกองทัพซีเรียลงทั้งหมด” ทั้งยังกล่าวเน้นย้ำว่า “ดินแดนของซีเรียถูกรุกราน”
ด้านอิสราเอลชี้แจงว่า ปฏิบัติการโจมตีดังกล่าวมีขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้อาวุธของกองทัพซีเรียตกไปอยู่ในมือของกลุ่มหัวรุนแรงสุดโต่ง ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวอาจมีความเป็นไปได้สูง ในช่วงที่ซีเรียกำลังเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคหลังสิ้นสุดการปกครองของระบอบอัสซาด
อิสราเอลกังวลเรื่องอะไรเกี่ยวกับอาวุธเคมี ?
สิ่งที่อิสราเอลเป็นห่วงกังวลอย่างมากก็คือ ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอาจเข้ายึดครองคลังอาวุธเคมีของซีเรีย ซึ่งก่อนหน้านี้ประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาด ถูกกล่าวหาว่าลักลอบผลิตและใช้อาวุธเคมีทำร้ายพลเรือน
Skip เรื่องแนะนำ and continue discovering outเรื่องแนะนำ
Cessation of เรื่องแนะนำ
แม้จะยังไม่ทราบอย่างแน่ชัดว่า อาวุธเคมีดังกล่าวมีอยู่เป็นจำนวนเท่าใดและถูกเก็บไว้ที่ไหนบ้าง แต่เชื่อกันว่าอดีตผู้นำซีเรียได้เก็บสะสมเอาไว้เป็นจำนวนมาก โดยเมื่อวันจันทร์ที่ 9 ธ.ค. ที่ผ่านมา หน่วยงานด้านการเฝ้าระวังอาวุธเคมีของสหประชาชาติได้ออกมาเตือนว่า ทางการซีเรียควรตรวจสอบให้แน่ใจว่าอาวุธเคมีใด ๆ ที่พวกเขาครอบครองอยู่ ถูกเก็บรักษาไว้ในสถานที่ที่ปลอดภัยแล้ว
ดร.เอก เซลล์สตรัม อดีตหัวหน้าคณะผู้ตรวจสอบอาวุธในซีเรียของสหประชาชาติ ซึ่งปัจจุบันเป็นรองศาสตราจารย์ด้านจุลกายวิภาคศาสตร์ของเนื้อเยื่อ (histology) ที่มหาวิทยาลัยอูเมโอของสวีเดน แสดงความเห็นว่าการโจมตีทางอากาศครั้งนี้ของอิสราเอล มีขึ้นเพื่อมุ่งทำลายบรรดาอาวุธเคมีที่ซีเรียครอบครองอยู่
“สิ่งที่อิสราเอลทำก็คือการกำจัดทรัพยากร มันอาจเป็นบุคคล สถานที่ หรือเครื่องไม้เครื่องมือก็ได้” ดร.เซลล์สตรัมกล่าวกับผู้สื่อข่าวบีบีซี
เป็นที่ทราบกันดีว่ากองกำลังที่จงรักภักดีต่อบาชาร์ อัล-อัสซาด เคยใช้ก๊าซพิษซารินโจมตีย่าน “กูตา” (Ghouta) ที่ชานกรุงดามัสกัสเมื่อปี 2013 ซึ่งคาดกันว่าเหตุการณ์ครั้งนั้นได้ทำให้มีผู้เสียชีวิตไปกว่าหนึ่งพันคน นอกจากนี้ กองกำลังดังกล่าวยังถูกกล่าวหาว่าใช้ก๊าซพิษซารินและก๊าซคลอรีน ก่อเหตุโจมตีอีกหลายครั้งเมื่อไม่นานมานี้ด้วย
ดร.เซลล์สตรัมยังบอกว่า กลุ่มกบฏที่โค่นล้มระบอบอัสซาดก็อาจมีอาวุธเคมีในครอบครองด้วยเช่นกัน เนื่องจากมีรายงานว่า กลุ่มกบฏเคยใช้อาวุธร้ายแรงประเภทนี้โจมตีศัตรูภายในประเทศของตนมาก่อน
“อัสซาดครอบครองอาวุธเคมี เพื่อแสดงความแข็งแกร่งของตนเองในการสู้รบกับอิสราเอล แต่ก็ไม่เคยลงมือใช้อาวุธประเภทนี้ด้วยตนเองโดยตรง” ดร.เซลล์สตรัมกล่าว “ปัจจุบันเรามีรัฐบาลที่ปกครองซีเรียชุดใหม่แล้ว อิสราเอลจึงเข้าไปกวาดล้างสิ่งใดก็ตาม ที่ถือได้ว่าอาจเป็นอาวุธเคมีที่พวกเขาครอบครองอยู่”
อิสราเอลเข้าไปทำอะไรในที่ราบสูงโกลัน ?
นายกรัฐมนตรีของอิสราเอลประกาศว่า กองกำลังของตนได้เข้าควบคุมเขตกันชนปลอดทหารบนที่ราบสูงโกลัน (Golan Heights) เอาไว้ได้เรียบร้อยแล้ว ส่งผลให้พื้นที่ยึดครองของอิสราเอลในภูมิภาคดังกล่าวของซีเรียขยายวงกว้างขึ้น
นายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู ชี้แจงว่าปฏิบัติการทางทหารดังกล่าว “คือการวางกำลังป้องกันชั่วคราว จนกว่าจะมีมาตรการความมั่นคงที่เหมาะสมกว่านี้”
ศาสตราจารย์กิลเบิร์ต อัชคาร์ จากสำนักวิชาบูรพคดีและแอฟริกาศึกษา (SOAS) แห่งมหาวิทยาลัยลอนดอน บอกว่า “อิสราเอลอ้างว่าต้องการป้องกันเหตุโจมตีที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งเป็นไปได้ว่าอาจจะมีการบุกจู่โจมมาจากฝั่งซีเรีย เหมือนกับการโจมตีของกลุ่มฮามาสในวันที่ 7 ต.ค. ของปีที่แล้ว”
“แต่อันที่จริง นี่คือโอกาสเหมาะที่อิสราเอลจะรุกคืบไปข้างหน้า และลงมือยับยั้งกองกำลังใด ๆ ก็ตาม ไม่ให้เข้ามาปักหลักใกล้กับแนวพรมแดนของเขตยึดครองได้” ศ.อัชคาร์ แสดงความเห็น
บรรดาประเทศในกลุ่มอาหรับ ต่างออกแถลงการณ์ประณามการบุกยึดครองเขตกันชนปลอดทหารของอิสราเอลโดยทั่วกัน โดยแถลงการณ์จากกระทรวงการต่างประเทศของอียิปต์ระบุว่า การกระทำเช่นนี้ไม่ต่างจาก “การเข้ายึดครองดินแดนของซีเรีย และเป็นการละเมิดข้อตกลงถอนทหารปี 1974 อย่างโจ่งแจ้งโดยไม่ละอายใจ”
รายงานข่าวของซีเรียระบุว่า กองทัพอิสราเอลได้รุกคืบเข้ามาในเขตแดนของตนลึกเกินกว่าแนวกันชน ทั้งยังเข้ามาอยู่ในระยะประชิดใกล้กรุงดามัสกัสเพียง 25 กิโลเมตร แต่ในตอนแรกแหล่งข่าวจากกองทัพอิสราเอลได้ปฏิเสธรายงานข่าวนี้
อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมากองทัพอิสราเอลได้ยอมรับเป็นครั้งแรกว่า ฝ่ายของตนล่วงล้ำเข้าไปปฏิบัติภารกิจทางทหาร โดยไปไกลเกินกว่าแนวกันชนบนที่ราบสูงโกลันจริง แต่นาดาฟ โชชานี โฆษกของกองทัพอิสราเอลกล่าวเน้นย้ำว่า อิสราเอลไม่ได้รุกคืบไปไกลเกินกว่าแนวกันชนมากนัก
ที่ราบสูงโกลันมีความสำคัญอย่างไรและใครครอบครองอยู่ ?
ที่ราบสูงโกลัน (Golan Heights) เป็นที่ราบสูงหินแข็งทางตะวันตกเฉียงใต้ของซีเรีย ซึ่งถูกอิสราเอลเข้ายึดครองเป็นเวลานานกว่า 50 ปีมาแล้ว หลังเกิดสงครามในภูมิภาคตะวันออกกลางเมื่อปี 1967 โดยในตอนแรกซีเรียใช้ที่ราบสูงโกลันถล่มโจมตีอิสราเอล แต่อิสราเอลตอบโต้จนกองทัพซีเรียต้องถอยร่นไป และสามารถบุกเข้าวางกำลังทหารยึดครองพื้นที่ 1,200 ตารางกิโลเมตรบนที่ราบสูงโกลันเอาไว้ได้
ต่อมาซีเรียพยายามบุกโจมตีเพื่อทวงคืนพื้นที่ดังกล่าว ในระหว่างที่เกิดสงครามยมคิปปูร์ (Yom Kippur Battle) ในภูมิภาคตะวันออกกลางเมื่อปี 1973 แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ทำให้ทั้งสองประเทศยอมลงนามในข้อตกลงสงบศึกเมื่อปี 1974 และยอมให้กองกำลังสังเกตการณ์ของสหประชาชาติเข้าประจำการตรงแนวเส้นหยุดยิง นับแต่นั้นเป็นต้นมา
แต่ถึงกระนั้นในปี 1980 อิสราเอลกลับผนวกพื้นที่ดังกล่าวเข้ามาเป็นเขตแดนของตน ทว่าประชาคมนานาชาติส่วนใหญ่แสดงการไม่ยอมรับ และต่างประณามการผนวกดินแดนของอิสราเอลในวงกว้าง ส่วนซีเรียประกาศกร้าวว่าจะไม่ทำข้อตกลงสันติภาพกับอิสราเอลอีก เว้นแต่อิสราเอลจะถอนกำลังทหารออกจากที่ราบสูงโกลันทั้งหมด
ชาวซีเรียเชื้อสายอาหรับที่ตั้งถิ่นฐานบนที่ราบสูงโกลันส่วนใหญ่ ต่างอพยพหนีภัยสงครามในปี 1967 ไปจนเกือบหมด ทำให้ปัจจุบันมีชาวยิวเข้ามาตั้งถิ่นฐานในบริเวณดังกล่าวมากกว่า 30 ชุมชนแล้ว โดยคาดว่าประชากรในชุมชนของอิสราเอลดังกล่าวน่าจะมีอยู่ราว 20,000 คน ซึ่งอิสราเอลได้ก่อสร้างอาคารบ้านเรือนเหล่านี้ขึ้นทันทีหลังสงครามสงบลง
การตั้งถิ่นฐานของอิสราเอลบนที่ราบสูงโกลัน ถือว่าละเมิดต่อกฎหมายระหว่างประเทศ แต่อิสราเอลไม่ยอมรับว่าการกระทำของตนเป็นสิ่งที่ผิด ทำให้ชาวยิวที่เข้ามาก่อตั้งชุมชนบนที่ราบสูงโกลัน ต้องอยู่อาศัยร่วมกับชาวซีเรียที่ยังไม่ได้อพยพไปไหนประมาณ 20,000 คน ซึ่งชาวซีเรียที่เหลืออยู่นี้ส่วนใหญ่นับถือศาสนาดรูซ (Druze) และเป็นคนท้องถิ่นดั้งเดิมที่ไม่ได้อพยพหนีภัยสงครามไปเมื่อหลายสิบปีก่อน
ความหวาดระแวงของอิสราเอลสมเหตุสมผลหรือไม่ ?
นายกรัฐมนตรีเนทันยาฮูได้กล่าวว่า การเข้ายึดครองพื้นที่กันชนบนที่ราบสูงโกลันของกองทัพอิสราเอลนั้น เป็นเพียงสิ่งที่จะเกิดขึ้นชั่วคราว แต่เงื่อนไขของการถอนทหารนั้นขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของรัฐบาลชุดใหม่ของซีเรียด้วย
“หากเราสามารถผูกสัมพันธ์ฉันมิตรแบบเพื่อนบ้านที่อยู่กันอย่างสันติกับรัฐบาลใหม่ของซีเรียได้ นั่นคือความปรารถนาของเรา” ผู้นำอิสราเอลกล่าว “แต่หากเราไม่สามารถทำเช่นนั้นได้ เราจะทำทุกวิถีทางเพื่อปกป้องรัฐอิสราเอลและพรมแดนของอิสราเอล”
ดร.เอชเอ เฮลเยอร์ จากราชสถาบันรวมเหล่าทัพ (RUSI) ซึ่งเป็นองค์กรวิจัยและให้คำปรึกษาทางการทหารของสหราชอาณาจักร มองว่า “สิ่งที่ติดค้างอยู่ในใจของอิสราเอลก็คือ เป็นไปได้ที่จะมีความเสี่ยงเรื่องกองกำลังติดอาวุธในซีเรียบุกโจมตีที่ราบสูงโกลัน ดังนั้นเพื่อให้แน่ใจว่าอิสราเอลจะไม่มีความเสี่ยงต่อภัยดังกล่าว กองทัพอิสราเอลจึงเป็นฝ่ายชิงรุกคืบเข้าไปในเขตแดนของซีเรียก่อน”
“อย่างไรเสียอิสราเอลก็เคยใช้กลยุทธ์นี้มาก่อน ซึ่งก็คือดำเนินมาตรการความปลอดภัยโดยชิงเข้ายึดครองที่ราบสูงโกลัน จากนั้นก็วางกำลังทหารเสริมความแข็งแกร่งให้แนวป้องกันของตน ดังนั้นจึงเป็นไปได้ที่อิสราเอลจะใช้แผนนี้อีกครั้ง” ดร.เฮลเยอร์กล่าว
กีเดียน ซาร์ รัฐมนตรีต่างประเทศของอิสราเอล แถลงว่าได้ตัดสินใจโจมตีทางอากาศต่อฐานทัพของซีเรียไป เพียงเพื่อปกป้องพลเรือนของตนเท่านั้น “นั่นคือสาเหตุที่เราทำลายระบบอาวุธทางยุทธศาสตร์ ตัวอย่างเช่นอาวุธเคมี รวมทั้งจรวดหรือขีปนาวุธพิสัยไกลที่ยังหลงเหลืออยู่ เพื่อไม่ให้ตกไปอยู่ในมือของกลุ่มหัวรุนแรงสุดโต่ง”
อย่างไรก็ตาม ดร.อัชคาร์ เห็นแย้งว่า “อาวุธเคมีไม่ได้ใช้กันอย่างแพร่หลายในซีเรีย โดยน่าจะถูกเก็บไว้ในสถานที่เพียง 2-3 แห่งเท่านั้น แต่การลงมือโจมตีทางอากาศถึงกว่า 300 ครั้ง ทำให้เห็นได้ชัดว่า อิสราเอลต้องการจะทำให้ซีเรียอ่อนแอลง”
ดร.อัชคาร์ยังกล่าวเสริมว่า ก่อนหน้านี้อิสราเอลถือว่าบาชาร์ อัล-อัสซาด เป็น “มารร้ายที่พวกเขารู้จักดี” แต่สถานการณ์ก็ยังไม่แน่นอนว่าอนาคตจะเป็นอย่างไรต่อไป
“อิสราเอลคาดว่าซีเรียจะแตกแยกออกเป็นฝักฝ่าย โดยกองกำลังต่าง ๆ จะสู้รบขัดแย้งกันเหมือนกับลิเบีย ทั้งยังเกรงด้วยว่า จะมีกองกำลังบางกลุ่มที่เป็นศัตรูกับอิสราเอลทำการบุกโจมตีเข้ามา จึงไม่แปลกที่อิสราเอลต้องการจะป้องกันภัยคุกคาม ซึ่งกลุ่มดังกล่าวอาจใช้อาวุธของซีเรียมาโจมตีตนเองได้” ดร.อัชคาร์กล่าวสรุป
ที่มา BBC.co.uk