เขต ‘บลูโซน' แห่งที่ 6 ของโลก ทำไมสิงคโปร์จึงเป็นดินแดนที่ผู้คนมีอายุยืน

ที่มาของภาพ, Getty Photos

คำบรรยายภาพ, สวนสาธารณะของสิงคโปร์ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางของชุมชน

Article records

  • Creator, ลินด์เซย์ กัลโลเวย์
  • Feature, บีบีซีนิวส์

เมื่อพูดถึงอายุขัยที่ยืนยาว มีเพียงไม่กี่แห่งในโลกที่ประชากรมีอายุขัยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เหมือนกับสิงคโปร์ — รัฐที่เป็นเกาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แห่งนี้

เด็กที่เกิดในสิงคโปร์ในปี 1960 มีแนวโน้มจะมีอายุยืนยาว (ในขณะนั้น) ถึง 65 ปี และคาดว่าเด็กที่เกิดในสิงคโปร์ยุคปัจจุบันจะมีอายุยืนถึง 86 ปี ตามการประมาณการ นอกจากนี้จำนวนผู้มีอายุยืนยาวในสิงคโปร์ ยังเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าในช่วง 10 ปี ตั้งแต่ปี 2010-2020

ตัวเลขอายุขัยที่ก้าวกระโดดขึ้นมานี้ ส่วนใหญ่แล้วเป็นผลจากการขับเคลื่อนนโยบายและการลงทุนของรัฐบาลอย่างตั้งใจ ความแตกต่างนี้ยังทำให้สิงคโปร์ได้รับการขนานนามว่าเป็น “โซนสีน้ำเงิน” หรือบลูโซน (Blue Zone) ซึ่งหมายถึงประเทศที่ผู้คนมีอายุขัยยืนยาวแห่งที่ 6 ของโลกในเดือน ส.ค. 2023

ถึงแม้ว่าเมื่อไม่นานนี้ นักประชากรศาสตร์จะตั้งคำถามถึงความแม่นยำในการจัดกลุ่ม แต่ “โซนสีน้ำเงิน” ซึ่งค้นพบและบัญญัติศัพท์โดยแดน บิวต์เนอร์ ผู้สื่อข่าวของเนชันแนล จีโอกราฟิก (National Geographic – NG) อ้างว่าสามารถระบุภูมิภาคที่ผู้คนมีอายุยืนยาวและมีสุขภาพดีกว่าคนในภูมิภาคอื่นได้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลจากการผสมผสานระหว่างวัฒนธรรม วิถีชีวิต อาหาร และชุมชน

สิงคโปร์เป็นภูมิภาคแรกในรอบหลายทศวรรษที่ได้รับการยกให้เป็นบลูโซน (ซึ่งบิวต์เนอร์ เรียกขานว่า “บลูโซน 2.0”) และมีความโดดเด่นกว่าบลูโซนแห่งอื่น ๆ โดยเหตุผลส่วนหนึ่งที่ทำให้ประชากรของสิงคโปร์อายุยืนกว่าที่อื่นมาจากนโยบายของประเทศที่ก้าวหน้า มากกว่าจะเป็นปัจจัยด้านประเพณีวัฒนธรรมที่ยึดถือกันมายาวนานเฉกเช่นในชุมชนบลูโซนอื่น ๆ อย่างอิคาเรีย กรีซ หรือ นิโคยา และคอสตาริกา

Skip เรื่องแนะนำ and proceed discovering outเรื่องแนะนำ

Cease of เรื่องแนะนำ

ทว่าไม่ใช่แค่ในแง่ของจำนวนประชากรที่มีอายุยืนยาวเท่านั้นที่น่าชื่นชม แต่พวกเขายังมีชีวิตที่มีคุณภาพด้วย บีบีซีได้พูดคุยกับชาวสิงคโปร์บางส่วนเพื่อทำความเข้าใจว่า นโยบายและแนวทางปฏิบัติใดที่ทำให้พวกเขามีสุขภาพดีและมีความสุขมากขึ้น และมีข้อแนะนำอะไรให้กับคนอื่น ๆ ที่ต้องการใช้ชีวิตที่นี่และมีชีวิตยืนยาว

ที่มาของภาพ, Getty Photos

การเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลดีต่อสุขภาพ

ชาวสิงคโปร์ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงนโยบายอย่างค่อยเป็นค่อยไปของรัฐบาล ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพและความสมบูรณ์แข็งแรงของพวกเขา

“การเติบโตที่นี่ ทำให้ฉันได้เห็นการเปลี่ยนแปลงในจิตสำนึกด้านสุขภาพของชุมชนด้วยตาตัวเอง” ฟิร์ดอส ซยาซวานี ชาวสิงคโปร์ ผู้เป็นเจ้าของบล็อกคำแนะนำทางการเงินดอลลาร์บูโร (Buck Bureau) กล่าว

“การเก็บภาษีบุหรี่และแอลกอฮอล์ในอัตราสูงควบคู่ไปกับการห้ามสูบบุหรี่ในที่สาธารณะที่เข้มงวด ไม่เพียงแต่ทำให้สุขภาพของแต่ละคนดีขึ้นเท่านั้น แต่ยังทำให้พื้นที่สาธารณะดีขึ้นอีกด้วย ทำให้น่าอยู่และสะอาดขึ้น ไม่มีควันบุหรี่มือสองอีกต่อไป” เขากล่าว

เขาประหลาดใจเมื่อได้เรียนรู้สิ่งต่าง ๆ เกี่ยวกับการกำหนดพื้นที่บลูโซน เพราะแม้ว่าจะมีการใช้น้ำตาล เกลือ และกะทิในอาหารท้องถิ่นในปริมาณที่สูงมากก็ตาม แต่การเปลี่ยนแปลงก็ค่อย ๆ เกิดขึ้น เพราะนโยบายถึงแม้จะช้าก็ตาม

“เนื่องจากอาหารท้องถิ่นของเราชอบใช้วัตถุดิบที่มีความเข้มข้น คณะกรรมการส่งเสริมสุขภาพจึงมีแผนริเริ่มจะส่งเสริมให้ชาวสิงคโปร์เลือกรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพมากขึ้น” เขาอธิบายและว่า “มาตรการต่าง ๆ เช่น การบังคับให้ติดฉลากโภชนาการและการลดปริมาณน้ำตาลในเครื่องดื่มได้สร้างความแตกต่างอย่างเห็นได้ชัดในด้านความตระหนักรู้และทางเลือกด้านสาธารณสุข แม้ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าแผนนี้มีประสิทธิภาพเพียงใด แต่โดยส่วนตัวแล้ว ผมมักจะหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลเมื่อเห็นฉลากเหล่านี้”

ที่มาของภาพ, Getty Photos

คำบรรยายภาพ, คณะกรรมการส่งเสริมสุขภาพของสิงคโปร์ได้ริเริ่มโครงการต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมการเลือกรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพมากขึ้นในหมู่ประชาชน

ระบบการดูแลสุขภาพของสิงคโปร์ได้รับการยกย่องจากทั่วโลกทั้งในด้านคุณภาพการดูแลรักษาพยาบาลและความสามารถในการควบคุมต้นทุน ดัชนีความมั่งคั่งของสถาบันเลกาทัม (Legatum Institude) ประจำปี 2023 จัดอันดับให้สิงคโปร์เป็นประเทศที่ดีที่สุดในโลกในด้านสุขภาพของประชาชนและความสามารถในการเข้าถึงการดูแลสุขภาพ สิงคโปร์ไม่เพียงแต่จัดให้มีระบบสุขภาพถ้วนหน้า (universal healthcare protection) แต่ยังมีระบบร่วมรักษากับระบบสุขภาพของเอกชนและกองทุนการออมเพื่อช่วยเหลือค่าใช้จ่ายส่วนเกินให้ครอบคลุมขึ้น

เน้นพื้นที่สีเขียว

ไม่ใช่แค่การดูแลสุขภาพเท่านั้นที่ส่งผลต่ออายุขัยของประชากร นโยบายอื่น ๆ เช่น ระบบขนส่งสาธารณะที่เข้มแข็งยังสนับสนุนการเดินและการออกกำลังกายในแต่ละวัน ในขณะที่การให้ความสำคัญกับการรักษาความสะอาดและความสวยงามของประเทศยังทำให้ผู้อยู่อาศัยรู้สึกปลอดภัยและรู้สึกสงบ

“ความคิดริเริ่มของรัฐบาลที่ให้ความสำคัญกับการเชื่อมต่อพื้นที่สวนสาธารณะ สวน และเขตอนุรักษ์ธรรมชาติเข้ากับทัศนียภาพของเมืองอย่างราบรื่นทำให้ [สิงคโปร์] ได้รับชื่อเสียงว่าเป็น ‘เมืองสวน'” ชารุ โคคาเต หุ้นส่วนอาวุโสของบริษัทสถาปนิก Safdie Architects และหัวหน้าโครงการเบื้องหลังอาคารสัญลักษณ์ต่าง ๆ เช่น ตึกสกายแฮบิแทตเรซิเดนเชียล และศูนย์การค้าจิวเวลในสนามบินนานาชาติชางงี กล่าว

“หลังจากอาศัยอยู่ในสิงคโปร์มานานกว่า 15 ปี ฉันรู้สึกประทับใจอยู่เสมอที่หน่วยงานพัฒนาเมืองได้วางแผนเมืองอย่างพิถีพิถัน การเน้นย้ำถึงความยั่งยืน การใช้ที่ดินอย่างมีประสิทธิภาพ และการนำพื้นที่สีเขียวเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตในเมืองนั้นน่าทึ่งมาก แม้ว่ากฎหมายของสิงคโปร์จะเข้มงวด แต่ก็ส่งผลให้มีสภาพแวดล้อมที่สะอาดและได้รับการดูแลอย่างดี”

หนึ่งในสถานที่ที่เธอโปรดปรานที่จะไปเยือนคือ สวนพฤกษศาสตร์สิงคโปร์ (Singapore Botanic Gardens) ซึ่งตั้งอยู่ในกลางเมืองสิงคโปร์ สวนนี้เป็นสวนเขตร้อนเพียงแห่งเดียวที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่มรดกโลกจากองค์การยูเนสโก

“จุดเด่นที่สวนรวบรวมกล้วยไม้นานาพันธุ์เอาไว้ และมุ่งเน้นการวิจัยเกี่ยวกับพืชและการอนุรักษ์ ทำให้สวนแห่งนี้เป็นสวรรค์ของคนรักธรรมชาติ รวมถึงครอบครัวและนักท่องเที่ยวที่มองหาความสงบและความสวยงาม” เธอกล่าว

นอกจากนี้ สวนสาธารณะยังทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางของชุมชน ซึ่งนักวิจัยด้านอายุยืนทุกคนเห็นพ้องต้องกันว่าปัจจัยนี้จำเป็นต่อการมีชีวิตที่ยืนยาวและมีสุขภาพดี

“ตั้งแต่วัยรุ่นไปจนถึงผู้สูงอายุ คุณจะพบว่าประชากรจำนวนมากออกกำลังกายเป็นประจำ โดยมีสวนสาธารณะขนาดใหญ่ มุมออกกำลังกาย และคลาสออกกำลังกายที่เข้าถึงได้ง่ายทั่วทั้งเมือง” ชยาซวานี กล่าว

สำหรับผู้ที่กำลังพิจารณาย้ายมาที่นี่ การยอมรับจิตวิญญาณและวิถีชีวิตของชุมชนเป็นสิ่งสำคัญ เขาแนะนำสวนอีสต์โคสต์ (East Amble Park) ซึ่งเป็นชายหาดที่ทอดยาว มีสถานที่ปิกนิกมากมาย และมีพื้นที่ให้เดินเล่นพร้อมรับลมทะเล

ที่มาของภาพ, Getty Photos

คำบรรยายภาพ, สวนกล้วยไม้แห่งชาติมีกล้วยไม้จัดแสดงมากกว่า 1,000 สายพันธุ์และพันธุ์ผสม 2,000 สายพันธุ์

สิ่งที่ควรรู้

แม้คุณภาพชีวิตในสิงคโปร์จะสูง แต่ค่าครองชีพที่นี่ก็สูงตามไปด้วย สิงคโปร์ถูกจัดอันดับให้เป็นหนึ่งในสถานที่ที่มีค่าครองชีพแพงที่สุดในโลก โดยการสำรวจของเมอร์เซอร์ (Mercer) ซึ่งเป็นรองแต่เพียงฮ่องกงเท่านั้น

แม้ว่าประชากรจะมีความหลากหลาย มีผู้คนอพยพเข้ามาจากทั่วโลก แต่รัฐบาลให้ความสำคัญกับความสามัคคีทางสังคมที่เข้มแข็ง ซึ่งบังคับใช้ผ่านกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมาย รัฐบาลมีกฎหมายเข้มงวด (และมีบทลงโทษ) ต่อการทิ้งขยะ การสูบบุหรี่ในที่สาธารณะ ยาเสพติด และแม้แต่การข้ามถนนโดยทางม้าลาย แต่ผู้อยู่อาศัยจำนวนมากพบว่ากฎระเบียบเหล่านี้ช่วยให้ประเทศเป็นสถานที่ที่ปลอดภัยและน่าอยู่อาศัยมากขึ้น

“นโยบายของรัฐบาลสอดคล้องกับความต้องการของประชากร โดยเน้นที่การปรับปรุงคุณภาพชีวิตโดยรวม สนับสนุนเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ และรักษาความสามัคคีทางสังคม” โคคาเต กล่าว

“เสถียรภาพทางการเมืองของสิงคโปร์มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการลงทุนทางธุรกิจ การเติบโตทางเศรษฐกิจ และความสามัคคีทางสังคม”

ที่มาของภาพ, Getty Photos

คำบรรยายภาพ, สิงคโปร์เป็นสังคมที่มีหลายเชื้อชาติและเฉลิมฉลองกันตั้งแต่วันตรุษจีน วันดีปาวลี และรอมฎอน

อย่างไรก็ตาม ประเทศนี้ยังเฉลิมฉลองความหลากหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรูปแบบของเมืองแห่งอาหารที่มีชื่อเสียงระดับโลกและเทศกาลประจำปี ตั้งแต่เทศกาลตรุษจีน ไปจนถึงเทศกาลดีปาวาลี (Diwali) และเทศกาลศิลปะนานาชาติ

“เมืองนี้มีสิ่งที่น่าสนใจสำหรับทุกคน ไม่ว่าจะอายุเท่าไหร่ก็ตาม” โคคาเตกล่าว “สังคมพหุวัฒนธรรมโอบรับประเพณีที่หลากหลาย สร้างประสบการณ์ทางวัฒนธรรมที่หลากหลายและมีชีวิตชีวา ซึ่งเพิ่มประสบการณ์การเข้าพักสำหรับทั้งนักท่องเที่ยวและชาวต่างชาติ”