เจาะลึก “สงครามโดรน” ระลอกใหม่ในสงครามรัสเซีย-ยูเครน

ที่มาของภาพ, Getty Images

Article recordsdata

  • Writer, พาเวล อัคเซนอฟ, โอเลห์ เชอร์นิช และ เจเรมี ฮาวเวลล์
  • Feature, บีบีซีเวิลด์เซอร์วิส

ในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา รัสเซียกับยูเครนได้เปิดฉาก “สงครามโดรน” ที่แต่ละฝ่ายเน้นใช้อากาศยานไร้คนขับถล่มโจมตีเข้าใส่กันอย่างไม่ยั้ง โดยถือว่าเป็นยุทธการที่รบกันด้วยโดรนครั้งใหญ่ที่สุด นับตั้งแต่สงครามระหว่างสองประเทศได้เริ่มต้นขึ้น เมื่อเดือนก.พ. ปี 2022

มีรายงานว่ายูเครนปล่อยโดรน 80 ลำ เข้าโจมตีเมืองต่าง ๆ ของรัสเซีย ซึ่งรวมไปถึงกรุงมอสโกที่เป็นเมืองหลวงด้วย ส่วนรัสเซียนั้นมีรายงานข่าวเช่นกันว่า ได้ปล่อยฝูงโดรนจำนวนมากถึง 140 ลำ เข้าโจมตีเป้าหมายหลายแห่งทั่วยูเครน

ยุทธวิธีแบบเน้นหนักไปที่การใช้โดรนเป็นอาวุธโจมตีนั้น ถือว่าเป็นการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญอย่างหนึ่ง ในแนวทางการรุกรบของสงครามที่กินเวลายืดเยื้อยาวนานนี้

ผู้เชี่ยวชาญบอกว่า เมื่อกองทัพผสมผสานการใช้โดรนเข้ากับการทำสงครามอิเล็กทรอนิกส์ (electronics war) และการสู้รบด้วยปืนใหญ่แบบดั้งเดิม โดรนจะมีประสิทธิภาพในการตั้งรับและป้องกันการโจมตีจากฝ่ายตรงข้ามได้เป็นอย่างดี ทั้งยังช่วยปิดทางถอยหนีและเข้ายิงทำลายกองกำลังฝ่ายศัตรูได้อย่างราบคาบอีกด้วย

โดรนคือตาที่มองเห็นทุกสิ่งในสมรภูมิ

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, โดรนได้ปฏิวัติวิธีการทำสงคราม

ฟิลลิปส์ โอไบรอัน ศาสตราจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสงครามศึกษา จากมหาวิทยาลัยเซนต์แอนดรูว์สในสกอตแลนด์ ให้คำอธิบายต่อเรื่องนี้ว่า โดรนได้กลายเป็นอาวุธสำคัญในสงครามรัสเซีย-ยูเครน และได้กลายเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลกระทบอย่างลึกซึ้งต่อยุทธวิธีที่ทั้งสองฝ่ายเลือกใช้ เนื่องจาก “โดรนทำให้สมรภูมิรบมีความโปร่งใสมากขึ้น” หรือถูกมองเห็นได้อย่างทะลุปรุโปร่งมากขึ้นนั่นเอง

Skip เรื่องแนะนำ and proceed learningเรื่องแนะนำ

Cease of เรื่องแนะนำ

โดรนสอดแนม (surveillance drones) สามารถตรวจพบความเคลื่อนไหวของกองกำลัง ทั้งในตอนเคลื่อนพลหรือขณะที่กำลังเตรียมการเพื่อบุกเข้าโจมตี โดยมองเห็นสภาพการณ์ในแนวหน้าได้ทั้งหมดแบบเรียลไทม์ทันเวลาที่เกิดขึ้นจริง ตัวอย่างเช่นเมื่อโดรนตรวจพบเป้าหมายที่ต้องการโจมตี มันจะรายงานพิกัดตำแหน่งของเป้าหมายกลับไปยังศูนย์บัญชาการ ซึ่งจะออกคำสั่งให้ยิงปืนใหญ่โจมตีได้อย่างแม่นยำ กระบวนการทั้งหมดนี้เรียกเป็นคำศัพท์ทางการทหารว่า “ห่วงโซ่การสังหาร” (rupture chain) ซึ่งศ.โอไบรอันบอกว่า ห่วงโซ่ดังกล่าวจะถูกเร่งให้ดำเนินไปจนสิ้นสุดเร็วขึ้นได้ด้วยการใช้โดรน

“โดรนมองเห็นทุกสิ่ง เว้นแต่ของที่ถูกกำบังไว้อย่างหนาและมิดชิดเป็นพิเศษ มันหมายความว่าคุณไม่อาจเคลื่อนขบวนรถถังหรือยานยนต์หุ้มเกราะอื่น ๆ เพื่อบุกไปข้างหน้าได้ โดยไม่ถูกยิงทำลายไปเสียก่อน” ศ.โอไบรอันกล่าว

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, โดรนถูกนำมาใช้กันอย่างแพร่หลายในการตรวจจับการเคลื่อนไหวของศัตรูในแนวหน้า

โดรนโจมตี (attack drones) เป็นอาวุธที่ถูกนำมาใช้ควบคู่กับปืนใหญ่ประเภทต่าง ๆ เพื่อยิงทำลายศัตรู ซึ่งก่อนหน้านี้กองทัพยูเครนเคยขับไล่ขบวนรถถังของรัสเซียให้ต้องล่าถอยไปมาแล้ว โดยใช้การโจมตีด้วยโดรนเพียงอย่างเดียว

เมื่อตอนที่สงครามรัสเซีย-ยูเครน เพิ่งเริ่มต้นขึ้น ยูเครนใช้โดรนที่ผลิตในตุรกีรุ่น TB-2 Bayraktar เป็นหลัก ซึ่งโดรนรุ่นนี้ถูกผลิตขึ้นเพื่อใช้ในการทหารโดยเฉพาะ โดยสามารถทิ้งระเบิดและยิงจรวดได้

อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมาทั้งรัสเซียและยูเครนหันมาใช้โดรนที่มีราคาถูกกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งโดรนแบบ “คามิคาเซะ” (kamikaze) ที่ชื่อคล้ายกับฝูงบินพลีชีพของญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่สอง โดรนแบบนี้ไม่ใช่โดรนทางทหารและถูกผลิตมาเพื่อการพาณิชย์เป็นหลัก แต่ถูกนำมาดัดแปลงโดยติดวัตถุระเบิดเข้าไป โดรนคามิคาเซะจะถูกควบคุมบังคับจากตำแหน่งที่อยู่ห่างออกไปหลายกิโลเมตร และสามารถลอยตัวนิ่งเหนือเป้าหมายก่อนเข้าทำการโจมตี

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, ยูเครนเปลี่ยนโดรนราคาถูกให้กลายเป็นเครื่องบินทิ้งระเบิดขั้นพื้นฐาน

ฝ่ายรัสเซียก็ใช้โดรนคามิคาเซะเช่นกัน โดยเคยใช้โจมตีเป้าหมายทางทหารและพลเรือนของยูเครนมาแล้วเป็นจำนวนหลายพันลำ แต่รุ่นที่ใช้จำนวนหนึ่งอาจเป็น Shahed-136 ของอิหร่าน ซึ่งรัสเซียมักใช้พร้อมกันครั้งละหลายลำในรูปของฝูงบิน เพื่อทำให้แนวป้องกันทางอากาศของยูเครนอ่อนล้าและถูกทำลายด้วยจำนวนโดรนที่มากกว่า

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, ซากโดรน Shahed-136 ในเขตที่อยู่อาศัยของกรุงเคียฟ

ทั้งสองฝ่ายใช้กระสุนปืนใหญ่เปลือง “เหมือนเทน้ำ”

แม้จะมีการใช้งานโดรนในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ แต่ยุทโธปกรณ์ดั้งเดิมอย่างปืนใหญ่และเครื่องกระสุนชนิดต่าง ๆ ยังคงเป็นอาวุธหลักที่รัสเซีย-ยูเครน ใช้ไปในการทำสงครามครั้งนี้มากที่สุด โดยราชสถาบันรวมเหล่าทัพ (RUSI) องค์กรวิจัยและให้คำปรึกษาด้านการทหารของสหราชอาณาจักร ระบุว่ารัสเซียยิงกระสุนปืนใหญ่ราว 10,000 นัดต่อวัน ในขณะที่ยูเครนยิงกระสุนปืนใหญ่ 2,000 – 2,500 นัดต่อวัน

อาวุธดังกล่าวจะถูกนำมาใช้เป็นประจำ เพื่อตรวจสอบความเคลื่อนไหวของกองกำลังฝ่ายศัตรู และเพื่อโจมตียานยนต์หุ้มเกราะ, แนวป้องกัน, จุดบัญชาการ, และคลังเสบียงของฝ่ายตรงข้าม “ระหว่างการทำสงคราม เครื่องกระสุนต่าง ๆ ก็เหมือนกับน้ำ ซึ่งคนเราจำเป็นจะต้องดื่มเข้าไปอย่างสม่ำเสมอ หรือจะเรียกว่าเป็นเสมือนน้ำมันเชื้อเพลิงที่ต้องเติมให้รถยนต์ก็ได้” พ.อ. เปโตร เปียตาคอฟ ผู้เชี่ยวชาญด้านการทหารและปืนใหญ่ของบีบีซีกล่าว

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, ปืนใหญ่หลายพันกระบอกถูกยิงทุกวันในสงครามรัสเซีย-ยูเครน

ทั้งสองฝ่ายใช้กระสุนปืนใหญ่นับล้านนัดจากต่างประเทศ โดยสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป จัดส่งยุทโธปกรณ์ดังกล่าวให้กับยูเครน ส่วนรัสเซียใช้กระสุนปืนใหญ่ที่นำเข้าจากเกาหลีเหนือ

จัสติน ครัมป์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Sybilline บริษัทผู้วิเคราะห์กิจการทหารในสหราชอาณาจักร บอกว่าปัจจุบันชาติตะวันตกกำลังมีปัญหา ในเรื่องการจัดส่งเครื่องกระสุนให้กับยูเครนได้ไม่เพียงพอต่อความต้องการ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า อุตสาหกรรมการผลิตอาวุธของชาติตะวันตกก็กำลังประสบปัญหาอยู่เหมือนกัน

“บริษัทผู้ผลิตอาวุธในโลกตะวันตกทุกวันนี้ ผลิตอาวุธชนิดที่มีความแม่นยำสูงออกมาค่อนข้างน้อย แต่ถึงกระนั้น พวกเขาก็ยังไม่สามารถจะผลิตยุทโธปกรณ์ธรรมดา ๆ อย่างกระสุนปืนใหญ่ ออกมาทีละมาก ๆ ได้” ครัมป์กล่าว

คำบรรยายภาพ, ระยะขีปนาวุธและปืนใหญ่ของยูเครน (สีฟ้า) และรัสเซีย (สีแดง)

ทั้งรัสเซียและยูเครนต่างก็ใช้ปืนใหญ่และเครื่องกระสุนที่มีความแม่นยำสูง ยูเครนนั้นใช้กระสุนปืนใหญ่ของตะวันตกที่มีการนำวิถีด้วยดาวเทียม อย่างเช่น Excalibur ในขณะที่รัสเซียใช้ Krasnopol ซึ่งนำวิถีด้วยเลเซอร์ นอกจากนี้สหรัฐฯ และเหล่าพันธมิตรชาติตะวันตก ยังส่งมอบขีปนาวุธพิสัยไกล Himars ซึ่งนำวิถีด้วยดาวเทียมให้กับยูเครนด้วย ทำให้สามารถบุกโจมตีคลังแสงและจุดบัญชาการที่หลังแนวหน้าของรัสเซียได้สำเร็จมาแล้ว

ระเบิดร่อน อาวุธธรรมดาแต่อานุภาพทำลายล้างสูงยากจะต้านทาน

ที่มาของภาพ, Getty Images/Russian Defence Ministry

คำบรรยายภาพ, เครื่องบินรบรัสเซียปล่อยระเบิดร่อนหนัก 3,000 กิโลกรัม

นับตั้งแต่ต้นปี 2023 เป็นต้นมา กองทัพรัสเซียใช้ระเบิดร่อน (flit bomb) ไปหลายพันลูก เพื่อถล่มโจมตีที่มั่นของยูเครนในสมรภูมิ รวมทั้งใช้ทำลายเป้าหมายในเขตที่อยู่อาศัยของพลเรือนและโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ

ระเบิดร่อนคืออาวุธชนิดเก่าแก่ที่มีมานาน โดยเป็นระเบิดที่ถูกทิ้งให้ตกลงมาอย่างอิสระ (free drop) แต่มีปีกที่กางออกได้ และมีระบบนำวิถีด้วยดาวเทียมติดตั้งอยู่ มันมีน้ำหนักตั้งแต่ 200 กิโลกรัม ไปจนถึง 3,000 กิโลกรัมหรือมากกว่า โดยรัสเซียชอบใช้ระเบิดชนิดนี้ในการรบมากที่สุด

“ปัจจุบันระเบิดร่อนมีประสิทธิภาพสูงขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการทำลายตัวอาคาร รวมทั้งฐานที่มั่นซึ่งมีการเสริมแนวป้องกันหรือป้อมปราการ” ศ.จัสติน บรองก์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการป้องกันทางอากาศจาก RUSI กล่าวอธิบาย เขายังบอกว่ารัสเซียเคยใช้ระเบิดร่อนอย่างหนัก ในการโจมตีเมืองแอดวีฟกา (Adviivka) จุดยุทธศาสตร์สำคัญทางตะวันออกของยูเครน จนเข้ายึดครองได้สำเร็จเมื่อเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา

ที่มาของภาพ, Getty Images/Russian Defence Ministry

คำบรรยายภาพ, ระเบิดร่อนสามารถถูกปล่อยได้หลายสิบไมล์ไกลจากเป้าหมาย

ระเบิดร่อนมีต้นทุนการผลิตเพียง 20,000 – 30,000 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อลูก สามารถจะยิงไปยังเป้าหมายที่อยู่ห่างออกไปได้หลายกิโลเมตร ทั้งยังถูกยิงสกัดให้ตกลงมาได้ยาก เว้นแต่จะใช้ขีปนาวุธป้องกันภัยทางอากาศที่ทันสมัยที่สุดเท่านั้น

ที่มาของภาพ, Reuters

คำบรรยายภาพ, ระเบิดที่ยังไม่ระเบิดของรัสเซียพุ่งทะลุกำแพงบ้านหลังหนึ่งในเมืองคาร์คิฟ

ยูเครนใช้ระเบิดร่อนเช่นกัน แต่เป็นขีปนาวุธพิสัยไกลรุ่น Joint Standoff Weapon ที่สหรัฐฯและฝรั่งเศสมอบให้ ยูเครนยังประดิษฐ์ระเบิดร่อนขึ้นใช้เอง โดยติดปีกให้กับระเบิด Exiguous Diameter Bomb ของสหรัฐฯ ซึ่งบรรจุวัตถุระเบิดหนัก 200 กิโลกรัม มิฉะนั้นยูเครนจะมีจำนวนระเบิดร่อนไว้ใช้น้อยกว่ารัสเซีย

สงครามอิเล็กทรอนิกส์ ยุทธวิธีต้นทุนต่ำทำลายของแพงให้ใช้การไม่ได้

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, เซ็นเซอร์รับคลื่นวิทยุในสถานีสงครามอิเล็กทรอนิกส์ของยูเครน

การสู้รบระหว่างรัสเซียกับยูเครนในครั้งนี้ มีการทำ “สงครามอิเล็กทรอนิกส์” (electronic war) อย่างบ่อยครั้งและหนักหน่วงยิ่งกว่าสงครามครั้งใดที่เคยมีมา โดยแต่ละฝ่ายใช้กำลังพลหลายพันคน ทำงานในหน่วยรบที่มีความเชี่ยวชาญพิเศษ ในการทำให้โดรนและระบบสื่อสารของฝ่ายตรงข้ามใช้การไม่ได้ รวมทั้งคอยสกัดกั้นขีปนาวุธของศัตรูที่ยิงเข้ามาให้พลาดเป้าด้วย

รัสเซียมีระบบทำสงครามอิเล็กทรอนิกส์ Zhitel ที่รบกวนการสื่อสารผ่านดาวเทียม, คลื่นวิทยุ, และสัญญาณโทรศัพท์มือถือในรัศมีกว่า 10 กิโลเมตร ให้ไม่สามารถใช้งานได้ โดยปลดปล่อยพลังงานจากคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่ทรงพลังเหนือกว่าคลื่นวิทยุของศัตรู

รัสเซียยังมีระบบต่อต้านโดรน Shipnovic-Aero ที่สามารถยิงโดรนซึ่งอยู่ห่างออกไปถึง 10 กิโลเมตร ให้ตกลงมาได้ ระบบนี้ยังสามารถค้นหาตำแหน่งของผู้บังคับโดรน และส่งพิกัดดังกล่าวให้กับหน่วยปืนใหญ่เพื่อยิงทำลายได้ทันที

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, ทั้งกองทัพรัสเซียและยูเครนใช้ปืนต่อต้านโดรนแบบพกพา

ดร. มารินา ไมรอน จากภาควิชาสงครามศึกษาของมหาวิทยาลัยคิงส์ คอลเลจ ลอนดอน บอกกับบีบีซีว่า บรรดาชาติตะวันตกนั้นอาจรู้สึกช็อก ที่ได้เห็นยุทธการอิเล็กทรอนิกส์ของรัสเซียทำให้ขีปนาวุธล้ำสมัยอย่าง Himars ขัดข้อง “มันเป็นสงครามที่ทั้งสองฝ่ายมีกำลังไม่เท่าเทียมกัน พันธมิตรนาโตอาจมีอาวุธล้ำสมัยไฮเทคกว่าที่รัสเซียมีอยู่ แต่รัสเซียกลับทำให้เห็นว่า พวกเขาสามารถใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ง่าย ๆ ที่ราคาค่อนข้างถูก มาทำให้อาวุธล้ำสมัยใช้การไม่ได้”

ด้านดันแคน แม็กคอรี จากสถาบันกิจการทางอากาศและอวกาศฟรีแมน แห่งมหาวิทยาลัยคิงส์ คอลเลจ ลอนดอน แสดงความเห็นว่า เหล่าผู้บัญชาการของกองกำลังพันธมิตรนาโต ควรต้องเรียนรู้จากรัสเซียถึงวิธีการทำสงครามอิเล็กทรอนิกส์กับยูเครน

“พวกเขาจำเป็นต้องฝึกฝนกองกำลังของตน ให้รู้จักดำเนินปฏิบัติการในตอนที่ถูกไล่ล่าด้วยโดรน และให้รู้ว่าต้องทำอย่างไร หากสัญญาณวิทยุที่ส่งออกไปถูกศัตรูสกัดขัดขวาง จนไม่อาจจะรับฟังได้” แม็กคอรีกล่าว “เราไม่อาจรับมือกับสงครามอิเล็กทรอนิกส์ด้วยวิธีวัวหายล้อมคอกได้ แต่จำเป็นต้องวางมาตรการเผื่อไว้ล่วงหน้า ในทุกครั้งที่มีการคิดแผนยุทธศาสตร์, มีการฝึกอบรม, หรือพัฒนาระบบอาวุธยุทโธปกรณ์ชนิดใหม่ขึ้นมา”