- เวลาพูดถึง อ.แม่สอด จ.ตาก หลายคนนึกถึงเมืองเศรษฐกิจชายแดนเชื่อมต่อนครย่างกุ้ง ของเมียนมา แต่อีกด้านหนึ่ง แม่สอดเป็นเมืองที่มีศูนย์การเรียนลูกหลานแรงงานข้ามชาติที่มากที่สุดในประเทศไทย
- 3 ปีหลังรัฐประหารในเมียนมาและผลกระทบจากสงครามกลางเมือง ทำให้จำนวนนักเรียนในศูนย์การเรียนเพิ่มขึ้น และผู้ปกครองชาวเมียนมาเริ่มคิดถึงการอยู่ในประเทศไทยในระยะยาว ทั้ง 2 ปัจจัยเป็นข้อท้าทายสำหรับผู้ให้บริการด้านการศึกษาในแม่สอด
- แม้ว่าศูนย์การเรียนเข้าถึงง่าย แต่การสอนในหลักสูตรพม่าก็ทำให้นักเรียนศึกษาในมหาวิทยาลัยไทยได้ยาก ขณะที่การเข้าเรียนในโรงเรียนรัฐ ข้อดีคือสามารถเข้ามหาวิทยาลัยไทย แต่ต้องมีความรู้ภาษาไทย ทำให้เด็กๆ ชาวเมียนมาเข้าถึงยาก
- ช่วงที่ผ่านมาศูนย์การเรียนพยายามปรับตัว โดยการเพิ่มวิชาภาษาไทย และโปรแกรมอาชีวศึกษา ซึ่งจะช่วยให้เด็กที่จบออกมามีงานทำและปรับตัวในสังคมไทยได้ง่ายขึ้น แต่ข้อจำกัดสำคัญยังคงอยู่ที่งบประมาณในการจ้างอาจารย์สอนภาษาไทย
- ‘สุรพงษ์’ จากมูลนิธิผสานวัฒนธรรม เสนอปรับมุมมองของภาครัฐ ผลักดัน และสนับสนุนการศึกษาของแรงงานข้ามชาติ
ช่วงกลางปีถือเป็นฤดูเปิดเทอมของศูนย์การเรียนรู้ลูกหลานแรงงานข้ามชาติ ที่ตั้งใน อ.แม่สอด จ.ตาก เช่นเดียวกับที่ศูนย์การเรียน ‘นิวโซไซตี้’ ทุกเย็นจะมีผู้ปกครองมายืนออกันหน้าตึกแถวสีเขียว ส่วนหนึ่งเพื่อรอรับลูก อีกส่วนเพื่อมารอคุยกับครูใหญ่ขอให้ลูกได้เข้ามาเรียน
ศูนย์แห่งนี้มีนักเรียนประมาณ 190 คน เปิดสอนการเรียนหลักสูตรของพม่า ตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงเกรด 8 หรือเทียบเท่ากับระดับมัธยมศึกษาปีที่ 2 ของไทย มีสอนด้วยกัน 3 ภาษา คือภาษาพม่า ไทย และอังกฤษ และมีสอนหลักสูตร กศน. ฟังดูแล้วคล้ายโรงเรียนนานาชาติไม่ใช้น้อย
บรรยากาศการเรียนเต็มไปด้วยความคึกคัก ห้องเรียนดูแน่นขนัดไปด้วยนักเรียน เด็กๆ พยายามพูดตามที่อาจารย์สอนกันเสียงดัง
วาวามยิ้ด ครูใหญ่ประจำศูนย์ฯ อายุ 63 ปี เล่าให้ฟังว่า นักเรียนที่มาเรียนบางส่วนอาศัยอยู่ในแม่สอด และบางคนก็อพยพมาจากฝั่งพม่า ตอนนี้มีเด็กจากฝั่งพม่าสมัครเรียนเข้ามาเยอะ ทำให้ต้องมีการประเมินว่าศูนย์ฯ สามารถรับเด็กเพิ่มได้หรือเปล่า ถ้าไม่ไหว ก็จะแนะนำให้ไปสมัครศูนย์การเรียนอื่นๆ ที่ไม่ไกลจากบ้านของเด็ก
สถานการณ์หลังการทำรัฐประหารล่าสุด เมื่อปี 2564 และการประกาศบังคับใช้มาตรการบังคับเกณฑ์ทหารของพม่าเมื่อต้นปี 2567 ส่งผลให้มีผู้อพยพจากพม่าเข้ามาฝั่งไทยจำนวนมาก ทำให้ตัวศูนย์การเรียนฯ ในแม่สอดเผชิญปัญหาในการจัดการศึกษาอย่างมีคุณภาพและโอบอุ้มลูกหลานแรงงานข้ามชาติให้ได้ทุกคน
บรรยากาศช่วงหลังเลิกเรียนของศูนย์การเรียน “นิวโซไซตี้” ที่แม่สอด จ.ตาก อาคารของศูนย์การเรียนฯ เป็นตึกแถวทาด้วยสีเขียว โดยทางศูนย์ฯ เช่ามาจากเจ้าของคนไทยที่เห็นด้วยกับการศึกษาของลูกหลานแรงงานข้ามชาติ
‘เด็กล้น' ข้อท้าทายในการโอบอุ้มนักเรียนข้ามชาติ
จำนวนเด็กที่เพิ่มขึ้นไม่ได้เกิดขึ้นแค่ที่ศูนย์การเรียน นิวโซไซตี้ เท่านั้น ‘ราตรี’ จากมูลนิธิคณะกรรมการด้านการศึกษาแรงงานข้ามชาติพม่า (BMWEC) ซึ่งบริหารจัดการศูนย์การเรียนในจังหวัดตาก ประมาณ 25 แห่งก็ระบุว่า มีจำนวนนักเรียนเพิ่มจากเดิม 4,000-5,000 คน แต่ปีนี้เพิ่มมาเป็น 6,000-7,000 คน
ขณะที่เมื่อคุยกับนักจัดการศึกษาหลายคนในแม่สอด ก็ตอบเป็นเสียงเดียวกันว่ามีนักเรียนเข้าสมัครที่ศูนย์การเรียนเพิ่มขึ้นอย่างมาก
สุรพงษ์ กองจันทึก ประธานมูลนิธืผสานวัฒนธรรม ระบุว่า เราสามารถจำแนกผู้ลี้ภัยเมียนมาออกเป็น 2 ช่วง คือ
1. กลุ่มผู้ลี้ภัยเก่าที่เดินทางมาประเทศไทยตั้งแต่ปี 2527 ปัจจุบันมีจำนวนประชากรประมาณ 80,000 คน กระจายตัวอยู่ที่ศูนย์พักพิงชั่วคราวของกระทรวงมหาดไทย 9 แห่งใน 4 จังหวัด ได้แก่ ตาก แม่ฮ่องสอน กาญจนบุรี และราชบุรี
2. กลุ่มผู้ลี้ภัยใหม่หลังรัฐประหารปี 2564 เฉพาะกลุ่มเด็กก็นับแสนคน
ข้อมูลจากศูนย์ประสานงานแรงงานต่างด้าว (MECC) ดำเนินงานภายใต้ สพป.ตาก เขต 2 เปรียบเทียบตั้งแต่ ธ.ค. 2565 จนถึง ธ.ค. 2567 พบว่า
- ธ.ค. 2565 มีจำนวนเด็กนักเรียนที่ศูนย์การเรียนฯ อยู่ที่ 11,156 คน จากจำนวน 65 แห่ง
- ธ.ค. 2566 มีจำนวนนักเรียนที่ศูนย์การเรียนฯ อยู่ที่ 14,627 คน จากจำนวน 64 แห่ง
- ธ.ค. 2567 มีจำนวนนักเรียนที่ศูนย์การเรียนฯ อยู่ที่ 17,824 คน จากจำนวน 63 แห่ง
ดังนั้น ภาพรวมตั้งแต่ปลายปี 2565-2567 มีนักเรียนเพิ่มขึ้น 6,668 คน ขณะที่จำนวนศูนย์การเรียน กลับลดลงเหลือ 63 แห่ง
ขณะที่ข้อมูลจากสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) เผยว่า นับตั้งแต่มีการรัฐประหารเมื่อ 1 ก.พ. 2564 จนถึง 30 พ.ย. 2567 มีจำนวนผู้ลี้ภัยเดินทางไปประเทศเพื่อนบ้าน (อินเดีย และไทย) จำนวน 1,183,300 คน
รู้จักศูนย์การเรียนในแม่สอด
ศูนย์การเรียนในแม่สอด เป็นสถาบันการศึกษาที่ไม่ได้จดทะเบียนภายใต้กระทรวงศึกษาธิการของรัฐบาลไทย แต่ดำเนินการโดยองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร เพื่อจัดการศึกษาให้กับลูกหลานแรงงานข้ามชาติเมียนมาที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย ซึ่งจะนำไปสู่ใบเบิกทางชีวิตและการทำงานที่ดีขึ้น ขณะเดียวกัน ผู้ให้บริการด้านการศึกษาก็หวังอย่างยิ่งว่า ศูนย์การเรียนจะเป็นพื้นที่ปลอดภัย และเป็นเกราะป้องกันปัญหาอื่นๆ อย่างยาเสพติด เหยื่อค้ามนุษย์ หรือการใช้แรงงานเด็ก
ศูนย์การเรียนจะเปิดสอนหลักสูตรด้วยกัน 3 หลักสูตร แต่ขึ้นอยู่กับศักยภาพของศูนย์การเรียนฯ คือ 1. ‘หลักสูตรพม่า’ ซึ่งมีข้อดีคือเด็กสามารถกลับไปเรียนต่อที่พม่าได้ 2. หลักสูตร กศน. หรือการศึกษานอกระบบ ข้อดีคือ เด็กเรียนต่อระดับมหาวิทยาลัยในไทยได้ และ 3. บางแห่งจะมีติวสอบ GED (Classic Education Pattern) ของสหรัฐอเมริกา สำหรับเด็กเกรด 9-12 ดีสำหรับคนที่วางแผนเรียนต่อเฉพาะหลักสูตรนานาชาติในมหาวิทยาลัยไทย หรือผู้ลี้ภัยที่ได้ไปประเทศที่ 3 และไปเรียนต่อในประเทศตะวันตก
ยกตัวอย่างที่ นิวโซไซตี้ จะเปิดสอนหลักสูตรพม่าตั้งแต่อนุบาลถึงเกรด 8 และหลักสูตร กศน.ชั้นประถมฯ และมัธยมฯ ขณะที่บางศูนย์การเรียนอย่าง “Kid's Pattern Heart: (CDC) ที่ ต.แม่ตาว จะมีหลักสูตร กศน. และติวสอบ GED ด้วย
การสอนภาษาอังกฤษของ นิวโซไซตี้
ส่วนเหตุผลที่ทำให้พ่อแม่แรงงานข้ามชาติส่งเด็กเรียนที่ศูนย์การเรียนมีหลายปัจจัย เช่น อยากให้ลูกเรียนต่อในประเทศเมียนมา มีความรู้ด้านภาษาพม่าอ่านพูดภาษาพม่าได้ ค่าเล่าเรียนถูกแรงงานข้ามชาติเอื้อมไหว สมัครเข้าเรียนง่าย และอื่นๆ
แม้ว่าศูนย์การเรียนฯ จะไม่ได้จดทะเบียนภายใต้กระทรวงศึกษาธิการ แต่รัฐไทยก็อะลุ่มอล่วยให้ศูนย์การเรียนเปิดสอนได้ เพื่อให้เด็กๆ เข้าถึงการศึกษา และไม่ก่อปัญหากับสังคมไทย
พงศ์ศาสตร์ ไพรสินธุ์ อดีตรองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาตาก เขต 2 (สพป.ตาก เขต 2) กล่าวว่า การมีศูนย์การเรียนที่สอนลูกหลานแรงงานข้ามชาติเป็นประโยชน์กับเศรษฐกิจในพื้นที่ของไทย และต่อแรงงานข้ามชาติ เนื่องจากพวกเขาจะมีสภาพจิตใจที่มั่นคง ไม่ต้องห่วงหน้าพะวงหลังเรื่องลูก ทำให้ทำงานได้อย่างเต็มที่
“แรงงานต่างด้าวถ้าลูกหลานของเขาไม่มีที่เรียน การทำงานของเขาก็ด้อยประสิทธิภาพลง แต่ตราบใดที่เขาไม่ห่วงแล้ว ลูกของเขาได้เข้าเรียนโรงเรียนรัฐบาล หรือศูนย์การเรียนมันก็จะส่งผลต่อสภาพจิตใจ เขาจะได้ไปทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ของไทย” พงศ์ศาสตร์ กล่าว
ปัจจุบัน ใน 5 อำเภอของจังหวัดตาก มีศูนย์การเรียนที่ขึ้นทะเบียนกับ สพป.ตาก เขต 2 ประมาณ 63 ศูนย์ ถือว่าเป็นจังหวัดที่มีศูนย์การเรียนเยอะที่สุดในประเทศไทย
ขาดแคลนบุคลากร ครูมีภาระสอนเพิ่ม
มูลนิธิ BMWEC ระบุว่า ผลจากนักเรียนที่เพิ่มขึ้นทำให้ศูนย์การเรียนมีอาจารย์ไม่พอสอน และทางศูนย์การเรียนก็ไม่มีงบประมาณในการจ้างอาจารย์เพิ่ม ทำให้อาจารย์บางคนทำงานลักษณะอาสาสมัคร อาจได้ค่าจ้างไม่เต็มจำนวน หรือบางทีได้ค่าตอบแทนเป็นข้าวสาร
ขณะเดียวกัน อาจารย์ที่มีอยู่เดิมก็ต้องแบกรับภาระการสอนนักเรียนมากขึ้น เมื่อก่อนครูคนหนึ่งอาจสอนนักเรียนประมาณ 35-40 คน แต่ตอนนี้ห้องเรียนหนึ่งครูต้องสอนนักเรียนไม่ต่ำกว่า 40-50 คน อีกทั้งสถานที่ก็เริ่มไม่พอรองรับเช่นกัน
“เรารับไม่ไหว ห้องเรียนไม่พอ ความเครียดของอาจารย์จะเยอะมาก อุปกรณ์การเรียนก็ขาดด้วย ค่าตอบแทนครูต้องพยายามหาให้ แต่ไม่ได้เต็มจำนวนอยู่แล้ว ตอนนี้ก็แย่ลง การบริหารยากขึ้น จะทำให้แบบคุณภาพของการเรียนจะลดลง” ราตรี กล่าวถึงปัญหา
นอพอริ ครูใหญ่ของศูนย์การเรียน ‘ซาทูเลย์' ตั้งอยู่ใน อ.แม่สอด เริ่มให้บริการด้านการศึกษามาตั้งแต่ปี 2542 เผยว่า เธอพยายามปรับเปลี่ยนห้องเก็บของทำเป็นห้องเรียน เพื่อรองรับนักเรียนเพิ่มขึ้น
กลับกัน ถ้าศูนย์การเรียนที่เช่าตึกเจ้าของคนไทย อย่าง ‘นิวโซไซตี้’ ก็จะไม่สามารถปรับปรุงอาคารเพื่อขยายห้องเรียนได้ โดยทั้งนอพอริ วาวามยิ้ด รวมถึงครูคนอื่นๆ จะใช้วิธีการแก้ไขปัญหาโดยการเฉลี่ยๆ เด็กไปที่ศูนย์การเรียนฯ อื่นให้ช่วยรับนักเรียน
ซาทูเลย์ พยายามปรับเปลี่ยนจากห้องเก็บของ และห้องอ่านหนังสือมาทำเป็นห้องเรียนใหม่ เพื่อรอบรับนักเรียนที่เพิ่มขึ้น
งบประมาณเพื่อการจัดการศึกษายังไม่เสถียร
นอกจากปัญหาข้างต้น ศูนย์การเรียนมีภาระที่ต้องหางบประมาณมาดูแลการจัดการศึกษาเพิ่มเติม ปกติศูนย์การเรียนจะได้รับทุนสนับสนุนจากองค์กรระหว่างประเทศ หรือใครก็ตามที่ต้องการช่วยเหลือ เพราะไม่ได้เป็นสถาบันการศึกษาที่สังกัดกระทรวงศึกษาฯ ของไทย ทำให้ไม่ได้รับการช่วยเหลือเรื่องเงินจากรัฐบาลไทย ขณะเดียวกัน พวกเขาก็ไม่ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาลพม่าอีกด้วย
ศิราพร แก้วสมบัติ จากมูลนิธิช่วยไร้พรมแดน หนึ่งในมูลนิธิฯ ที่บริหารศูนย์การเรียนฯ ในแม่สอด มองว่า ศูนย์การเรียนฯ เหล่านี้อยู่ได้โดยการพึ่งพิงเงินบริจาคและทุนสนับสนุนจากองค์กรระหว่างประเทศ และองค์กร NGO เป็นหลัก แต่ในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา เงินสนับสนุนเหล่านี้น้อยลงไป เนื่องด้วยภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก ทำให้ศูนย์การเรียนบางแห่งต้องปิดตัวลงเพราะแบกรับปัญหาด้านการเงินไม่ไหว
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
- ‘กว่าจะได้เรียน' เด็กชายแดนไทย-เมียนมา ต้องผ่านอะไรบ้าง
ราตรี กล่าวว่า ช่วงที่ผ่านมา องค์กรที่ให้ความช่วยเหลือให้เงินสนับสนุนลดลง เพราะผู้ให้บริจาคต้องแบ่งเงินไปช่วยเหลือคนที่ได้รับผลกระทบจากสงครามในฝั่งพม่า
“ต้องให้แรงงานจ่ายเงินค่าลงทะเบียนเยอะขึ้น ทั้งปีเราให้นักเรียนเสียค่าใช้จ่ายแค่ 1,000 กว่าบาท เขาก็เข้าใจ เวลาเราขาดทุน เราจะหาเงินจากข้างนอก” ราตรี กล่าว
‘เบาะ' รองรับลูกหลานแรงงานที่ตกหล่นจากระบบการศึกษาไทย
สมาชิกมูลนิธิผสานวัฒนธรรม เผยว่า ช่วงที่ผ่านมาผู้ปกครองชาวเมียนมาเริ่มมองโลกในความเป็นจริง หลังการทำรัฐประหารของ พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ส่งผลให้เกิดการสู้รบบ่อยครั้งและไม่รู้ว่าสถานการณ์แบบนี้จะยาวนานอีกเท่าไร ทำให้แรงงานข้ามชาติสรุปว่า อนาคตทำกินที่พม่าไม่ได้แน่นอน และก็หวังว่าประเทศไทยจะเป็นที่อยู่กึ่งถาวรของพวกเขา
ภาพวาดของนักเรียนที่ Sunset Night College
สุรพงษ์ ระบุด้วยว่า การอพยพของชาวพม่าในช่วงหลังจะแตกต่างจากเมื่อ 4-5 ปีก่อน สมัยก่อนชาวพม่าเวลาอพยพ เขาจะเดินทางหอบของและอาหารเข้ามาในไทย พอเหตุการณ์การสู้รบสงบ ก็จะเดินทางกลับไปทำมาหากินที่เดิม แต่ตอนนี้ชาวพม่าอพยพก็จะหอบเอาเสื้อผ้า และพาลูกหลานมาด้วย อย่างในจังหวัดสมุทรสาคร แรงงานข้ามชาติเวลาเข้ามาทำงาน เขาจะฝากญาติผู้ใหญ่ในเมียนมาช่วยเลี้ยงลูก แต่ตอนนี้ทำไม่ได้แล้ว
สุรพงษ์ ให้ความเห็นว่า การนำเด็กแรงงานข้ามชาติพม่าเข้าระบบการศึกษาไทยจะเป็นประโยชน์ต่อเด็กมากที่สุด เนื่องจากพวกเขาจะต้องอยู่และเติบโตในไทย ค่าใช้จ่ายในการเรียนระดับอุดมศึกษามีราคาถูกกว่า แต่ปัญหาก็คือบางครั้งผู้บริหารโรงเรียนก็ไม่รับเด็กข้ามชาติถ้าไม่มีเอกสาร และนักเรียนต้องได้ภาษาไทย
“รัฐควรผลักดันให้ทุกคนมีโอกาสเข้าเรียนมหาวิทยาลัยอย่างเสมอภาค แต่ปัจจุบันนี้เด็กเหล่านี้ถูกจำกัดสิทธิการเข้าถึงระบบการศึกษา เขามีสิทธิเรียนในโรงเรียนไทย เราไปจำกัดสิทธิเขา พอเข้าระบบไทยไม่ได้ เขาต้องไปหาระบบอื่น แต่ระบบอื่นทางมันก็แคบ เราพยายามผลักเขาไปทางที่ยากลำบาก” สุรพงษ์ กล่าว
ทั้งนี้ แม้ว่าเมื่อ 5 ก.ค. 2548 จะมีมติคณะรัฐมนตรี ว่าด้วยเรื่อง ‘การศึกษาเพื่อปวงชน’ (Education for all) เปรียบเสมือนประตูที่ทำให้เด็กทุกคนเข้าถึงการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายเป็นเวลา 15 ปี โดยไม่คำนึงถึงเชื้อชาติ หรือสถานะทางกฎหมาย ดังนั้น ถ้าลูกหลานแรงงานข้ามชาติต้องการเรียนในโรงเรียนไทยก็สามารถทำได้ แต่ในทางปฏิบัติขึ้นอยู่กับผู้บริหารของแต่ละโรงเรียนจะตัดสินใจรับเด็กหรือไม่
ครูใหญ่จากซาทูเลย์ กล่าวตรงกันว่า จากการคุยกับผู้ปกครอง หลายคนมองว่ารัฐประหารมันกินเวลายาวนาน และครั้งล่าสุดไม่รู้ว่าจะนานอีกเท่าไร ผู้ปกครองเลยคิดว่าเข้าเรียนในไทยดีกว่า ถ้ามีคนมาปรึกษาเราจะแนะนำให้เขาไปสมัครเรียนมากขึ้น แต่ถ้าถูกโรงเรียนปฏิเสธ ก็จะให้ศูนย์การเรียนรับเด็กไปดูแลแทน
“ถ้าเป็นคนที่พ่อแม่อยู่ที่นี่ เด็กอาจจะไม่มีใบเกิด แต่พ่อแม่มีเอกสาร โรงเรียนเขาก็รับบ้าง แต่พ่อแม่และเด็กไม่มีเอกสารเลย โรงเรียนรัฐเขาก็ไม่อยากรับ” ครูใหญ่ของซาทูเลย์ กล่าว
เพิ่มวิชา ‘อาชีวะ-ภาษาไทย’ ช่วยเด็กปรับตัวกับชีวิตใหม่
สุรพงษ์ มองว่า ต่อไปศูนย์การเรียนอาจจะต้องมีการปรับตัว เพราะการสอนในหลักสูตรพม่าอาจทำให้เด็กไม่ได้รับประโยชน์เท่าเดิม ด้านผู้อำนวยการ BMWEC อธิบายว่า ศูนย์การเรียนเริ่มมีการปรับตัวเพื่อรองรับกับสถานการณ์ที่ ‘กลับไม่ได้’ ของนักเรียนเมียนมา อย่างการเพิ่ม โปรแกรมเรียนวิชาชีพ
เมื่อปี 2566 มูลนิธิ BMWEC เผยว่า ศูนย์การเรียนในสังกัดเริ่มเปิดสอนวิชาชีพ (Vocational Program) โดยจะมีการสอนวิชาวิชาชีพต่างๆ เช่น ฝึกทำขนม ซ่อมโทรศัพท์ ซ่อมมอเตอร์ไซค์ เป็นต้น เพื่อให้เด็กที่จบจากหลักสูตรพม่าแล้วไม่สามารถกลับไปเรียนต่อที่ประเทศต้นทาง รวมถึงเด็กที่ไม่มีทุนทรัพย์มากพอจะสอบ GED สามารถหางานทำต่อไปได้
ข้อเสียของการสอบ GED คือต้องใช้เงินเยอะ ไม่ใช่ใครก็ได้ที่เข้าถึง การสอบ GED มีทั้งหมด 4 วิชา ได้แก่ คณิตศาสตร์ สังคมศึกษา ภาษาอังกฤษ และวิทยาศาสตร์ ต้องใช้ค่าใช้จ่ายวิชาละ 3,000 บาท รวมทั้งหมด 12,000 บาท สมมติว่านักเรียนสอบได้คะแนนดี ก็ยังไม่ได้แปลว่าเข้าเรียนได้ทุกคณะ/สาขาวิชา เข้าได้เฉพาะหลักสูตรนานาชาติ ซึ่งค่าเทอมอาจมีราคาแพงมากหากเทียบกับหลักสูตรไทย
ซูซานดา ครูใหญ่จากศูนย์การเรียน ‘Sunset Night College' ซึ่งเป็นศูนย์การเรียนที่เปิดสอนเฉพาะช่วงเย็นและวันหยุด โดยเน้นการเรียนพิเศษวิชาภาษาพม่า อังกฤษ คอมพิวเตอร์ และศิลปะ บอกว่า ที่นี่เคยมีเรียนภาษาไทยช่วงเสาร์-อาทิตย์ด้วย แต่ครูผู้สอนต้องเรียนต่อมหาวิทยาลัย ทำให้ยังไม่มีอาจารย์มาสอนภาษาไทยให้
“พ่อแม่ทุกคนคิดว่าเราอยู่ในประเทศไทย ถ้าลูกหลานเรียนภาษาไทยเขียนได้ พูดได้ หรือเรียนในระดับสูง เขาจะมีงานที่ดี ถ้าเรียนจบของพม่า แม้ว่าจะเรียนจบ งานก็ไม่ค่อยมีถ้าอยู่ที่นู่น ถ้าเด็กได้เรียนทั้งหลักสูตรพม่า-ไทย เขาจะมีงานที่ดี พ่อแม่ทุกคนคาดหวังแบบนี้ ครูก็แนะนำให้นักเรียนไปเรียนภาษาไทยด้วย” ซูซานดา กล่าว
บรรยากาศการเรียนที่นิวโซไซตี้
คนองฤทธิ์ สิงหบุตร เจ้าหน้าที่จาก MECC เคยให้สัมภาษณ์กับทางประชาไท มองว่า ช่วงที่ผ่านมาศูนย์การเรียนต่างๆ เริ่มเห็นความสำคัญของการสอนภาษาไทย และมีการบรรจุวิชาเรียนภาษาไทยในหลักสูตรมากขึ้นจากเดิมที่เน้นภาษาพม่าอย่างเดียว ตรงนี้จะช่วยให้เด็กได้เรียนในหลักสูตร กศน.หลักสูตรพิเศษ
เจ้าหน้าที่ MECC เผยต่อว่า หลักสูตรพิเศษนี้สามารถเรียนไปพร้อมๆ กับการเรียนในศูนย์การเรียน และหากสอบผ่าน เด็กนักเรียนพม่าสามารถศึกษาต่อในโรงเรียนหลักสูตรไทย ซึ่งมีเงื่อนไขสำคัญต้องได้ภาษาไทยในระดับที่อ่านออก พูด และเขียนได้ และจะเป็นใบเบิกทางการศึกษาในระดับสูงต่อไป อย่างไรก็ดี การเข้าโรงเรียนไทยไม่ได้บังคับว่า เด็กนักเรียนต้องอ่านออกเขียนได้ แต่ครูโรงเรียนไทยไม่ใช่ครูพม่าที่สื่อสารได้ 2 ภาษา ทำให้เด็กนักเรียนต้องเรียนรู้ภาษาไทย เพื่อเรียนและสื่อสารกับอาจารย์
เจ้าหน้าที่ MECC มองว่าไม่ใช่ทุกที่ๆ สามารถอำนวยวิชาภาษาไทยให้กับนักเรียนได้ เหตุเพราะบางศูนย์ฯ ยังขาดงบประมาณในการจ้างบุคลากรการศึกษาที่จะมาสอน ส่งผลให้ครูสอนภาษาไทยอาจมีแค่ในเฉพาะศูนย์การเรียนที่มีงบจำนวนมากเท่านั้น
โมเดลครูภาษาพม่า-ไทย ดึง นร.ข้ามชาติเข้าระบบ
จากการสำรวจยังมีคนทำงานภาคประชาสังคมคือ ‘มูลนิธิเพื่อการศึกษาแบบเรียนรวม’ (InEd Foundation) ที่มีโครงการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานรัฐ และภาคประชาสังคม โดยจะมีการส่งครูพี่เลี้ยง หรือผู้ช่วยครู ไปช่วยโรงเรียนรัฐสอน ครูพี่เลี้ยงจะมีบทบทหน้าที่เสมือนล่ามสื่อสารระหว่างครู นักเรียน และผู้ปกครอง โดยแลกกับการที่โรงเรียนต้องรับเด็กข้ามชาติเป็นนักเรียนเพิ่มขึ้น
‘โน’ อายุ 21 ปี ครูพี่เลี้ยงโรงเรียนบ้านหัวฝาย อ.แม่สอด มองว่า การที่มีครูที่สื่อสารได้ทั้งภาษาเมียนมาและไทย ทำให้ผู้ปกครองมั่นใจที่จะส่งเด็กมาเรียนมากขึ้น พวกเขามีคนที่คอยให้คำปรึกษาปัญหาต่างๆ ซึ่งเธอพยายามอย่างดีที่สุดเท่าที่จะทำได้
ปัจจุบันโรงเรียนบ้านหัวฝายส่วนใหญ่เต็มไปด้วยนักเรียนข้ามชาติจำนวนมาก ‘โน’ เผยว่า ห้องเรียนห้องหนึ่งรับนักเรียนได้แค่ 30 คน ถ้ามีคนมาสมัครเพิ่ม เราจะแนะนำให้เขาลองไปสมัครโรงเรียนอื่นๆ หรือเรียนที่ศูนย์การเรียนสัก 1-2 ปี แล้วกลับมาสมัครที่โรงเรียนอีกครั้งก็ได้
โครงการที่เกิดขึ้นดูเหมือนจะช่วยทลายข้อจำกัดของโรงเรียนรัฐ เพราะเมื่อมีครูพี่เลี้ยงเข้ามาช่วยหนุนเสริม ก็ทำให้เด็กข้ามชาติสามารถเข้าเรียนหนังสือในโรงเรียนรัฐได้มากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม โครงการดังกล่าวไม่ได้มีทุกโรงเรียน
ครูพี่เลี้ยง ‘โน' อายุ 21 ปี
ในอีกทางหนึ่ง สุรพงษ์ เสนอให้ภาครัฐเข้ามาสนับสนุนการสอนภาษาไทยให้กับศูนย์การเรียน เพิ่มขึ้น เพราะว่าเขามองว่าภาษาไทยจะจำเป็นสำหรับเด็กที่จะต้องอยู่ในไทยอีกนาน เขาสะท้อนด้วยว่าถ้าดูจากที่จังหวัดสมุทรสาคร เด็กที่จบจากศูนย์การเรียนจะมีกลับบ้านเกิดเพียง 10% ส่วนที่เหลือคือใช้ชีวิตในประเทศไทย
“ผมเชื่อว่าศูนย์การเรียนจำนวนมากอยากสอนภาษาไทย ภาษาไทยจำเป็นสำหรับเด็ก แต่ว่าเขาไม่มีความพร้อม กศน.เข้ามาเสริมเขาได้ไหม ทำงานประสานกัน” ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ระบุ
ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม เชื่อว่า การที่รัฐเข้าไปส่งเสริมองค์กรเอกชน หรือองค์กรภาคประชาชนเพื่อให้จัดการศึกษา รัฐจะใช้งบประมาณในจำนวนน้อยกว่าการจัดการศึกษาด้วยตัวเอง ดีกว่าไปแบกรับภาระไว้คนเดียว
ความหวังถึงภาครัฐ
ราตรี วางแผนว่า เธออยากผลักดันให้ศูนย์การเรียนเข้าไปอยู่ในระบบกระทรวงศึกษาไทย โดยไม่ต้องมีทุนสนับสนุนจากภาครัฐก็ได้ เหตุผลหลักเพราะเธออยากให้เด็กที่เรียนจบสามารถเรียนต่อมหาวิทยาลัยไทยที่ไหนก็ได้ และเธอมองด้วยว่าภาครัฐก็ได้ประโยชน์ ในการเข้ามาควบคุมตรวจสอบเนื้อหาการสอนของศูนย์การเรียน
ซูซานดา เสนอว่า เธออยากให้ภาครัฐมีมาตรการสำหรับผู้ลี้ภัยเด็ก สามารถอาศัยอยู่ในไทยชั่วคราวจนกว่าเหตุการณ์ในประเทศเมียนมาจะดีขึ้น เพราะว่าเดิม MECC จะช่วยออกบัตรประจำตัวนักเรียนให้ แต่บัตรไม่สามารถนำไปใช้เป็นหลักฐานกับทางตำรวจตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ได้ หาก ตม.พบว่าเข้าเมืองผิดกฎหมาย เด็กจะต้องถูกผลักดันกลับประเทศต้นทาง ซึ่งเธอมองว่าจะเป็นอันตรายสำหรับเด็ก และเสี่ยงถูกจับไปเป็นทหาร แต่ถ้ามีมาตรการให้เด็กอยู่ได้ชั่วคราว พวกเขาจะกล้าออกมาเรียนข้างนอกมากขึ้นด้วย
ขณะที่อาจารย์คนอื่นๆ ระบุด้วยว่า ถ้าเป็นไปได้พวกเขาอยากให้ภาครัฐเข้ามาสนับสนุนด้านเงินเดือนให้กับอาจารย์ในศูนย์การเรียน
รัฐต้องเปลี่ยนจากผู้ควบคุม สู่ผู้สนับสนุน
สำหรับข้อเสนอของสุรพงษ์ มองว่ารัฐต้องมีหน้าที่สนับสนุนการศึกษาของลูกหลานแรงงานข้ามชาติอย่างเต็มที่ แทนการตั้งเงื่อนไขและกีดกัน ขณะเดียวกัน ภาครัฐต้องทำให้นโยบายการศึกษาเพื่อปวงชนทำงานได้เต็มที่ กระทรวงศึกษาธิการต้องกล้าลงโทษเจ้าหน้าที่หรือผู้บริหาการศึกษาบางคนที่ทำขัดมติ ครม. หรือกีดกันไม่ให้เด็กนักเรียนได้รับการศึกษา
สุรพงษ์ ยกตัวอย่างกรณีของ สพป.ตาก เขต 2 เคยมีประกาศเมื่อปี 2566 ว่าห้ามโรงเรียนในสังกัดรับเด็กที่อาศัยในพื้นที่พักพิงชั่วคราวหรือผู้ลี้ภัย เด็กที่เข้าเมืองผิดกฎหมาย และเด็กที่มีภูมิลำเนาบริเวณชายแดน ซึ่งหลังประกาศดังกล่าวออกมาไม่นาน ก็ถูกภาคประชาสังคมที่ทำงานด้านสิทธิการศึกษาของลูกหลานแรงงานข้ามชาติ วิจารณ์และตั้งคำถามว่าเป็นการเลือกปฏิบัติ และขัดกับมติ ครม. เมื่อวันที่ 5 ก.ค. 2548 หรือไม่ เขามองว่าเรื่องนี้ส่วนกลางทราบ แต่ไม่ทำอะไร ซึ่งจะทำให้โรงเรียนอื่นๆ กล้าขัดมติ ครม.
สุรพงษ์ กองจันทึก
ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม มองว่ารัฐไทยต้องยอมรับการมีอยู่ของ ‘ผู้ลี้ภัย’ หากเรายังไม่ยอมรับว่าการมีตัวตนของพวกเขา เราบอกว่าประเทศเราไม่มีผู้ลี้ภัย สุดท้ายการแก้ไขอย่างจริงๆ จังๆ ก็จะไม่เกิดขึ้น และท้ายที่สุด การแก้ไขปัญหาการเข้าสิทธิการศึกษาของลูกหลานแรงงานข้ามชาติ เป็นเรื่องของทุกคนที่ต้องมาช่วยกันส่งเสียง และแก้ไขปัญหาร่วมกัน
“การศึกษามันเป็นเรื่องของการพัฒนามนุษย์ โดยสัญชาตญาณของมนุษย์จะสนับสนุนเรื่องการศึกษาให้กันอยู่แล้ว แต่ปัจจุบันปัญหาเรื่องรัฐธรรมนูญยังมีข้อจำกัดเรื่องการศึกษา รวมถึงกฎหมายจำนวนมาก สังคมต้องช่วยกัน เพื่อให้มนุษย์เราเข้าถึงธรรมชาติปกติ” สุรพงษ์ ทิ้งท้าย
ที่มา ประชาไท ( prachatai.com )