เบลเยียมมอบสิทธิผู้ให้บริการทางเพศ ลาคลอดได้-มีบำนาญ ครั้งแรกของโลก
Article info
- Author, โซเฟีย เบตติซา
- Position, ผู้สื่อข่าวประเด็นเพศและอัตลักษณ์
- Reporting from กรุงบรัสเซลส์
คำเตือน: มีคำบรรยายเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องทางเพศ
“ฉันจำเป็นต้องทำงาน แม้จะอุ้มท้องถึงเก้าเดือนแล้ว” โซฟี (นามสมมติ) ผู้ให้บริการทางเพศคนหนึ่งในประเทศเบลเยียมกล่าว “หนึ่งสัปดาห์ก่อนวันคลอด ฉันยังต้องนอนกับแขกอยู่เลย”
นอกจากจะต้องทำงานหนักแล้ว โซฟียังแบกภาระเลี้ยงดูลูก 5 คน ซึ่งเธอบอกว่า “มันแสนยากลำบากจริง ๆ”
หญิงผู้ให้บริการทางเพศผู้ไม่ต้องการเปิดเผยชื่อจริงคนนี้ บอกกับผู้สื่อข่าวบีบีซีว่า ตอนที่เธอคลอดลูกคนที่ห้า หมอได้ผ่าตัดทำคลอดให้เธอทางหน้าท้อง แล้วสั่งให้เธอพักผ่อนนอนนิ่ง ๆ หลังจากนั้น เป็นเวลานานถึง 6 สัปดาห์ แต่ในความเป็นจริงแล้ว เธอกลับมาทำงานแทบจะในทันที “ฉันหยุดงานไม่ได้จริง ๆ เพราะฉันต้องการเงิน”
ชีวิตของโซฟีอาจจะสบายกว่านี้ หากเธอมีสิทธิลาคลอดและเลี้ยงดูบุตรแรกเกิด โดยยังคงได้รับเงินเดือนจากนายจ้างเช่นเดียวกับคนทำงานทั่วไป
Skip เรื่องแนะนำ and continue readingเรื่องแนะนำ
Close of เรื่องแนะนำ
ล่าสุดกฎหมายใหม่ของเบลเยียม ซึ่งมีเนื้อหามอบสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ แก่ผู้ให้บริการทางเพศเป็นฉบับแรกของโลก ได้ทำให้ความฝันดังข้างต้นของโซฟีเป็นจริงขึ้นมา โดยนับแต่นี้ไป ผู้ให้บริการทางเพศจะมีสัญญาจ้างงานที่เป็นทางการ, มีประกันสุขภาพ, มีเงินบำนาญจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ, ทั้งยังสามารถลาคลอดและลาป่วยได้ด้วย ซึ่งไม่แตกต่างจากคนทำงานในสายอาชีพอื่น ๆ
“มันคือโอกาสที่พวกเราจะได้มีตัวตนเป็นผู้เป็นคนกับเขาบ้าง” โซฟีกล่าว
สหภาพระหว่างประเทศของผู้ให้บริการทางเพศ (IUSW) ประมาณการว่า ในปัจจุบันทั่วโลกมีผู้ให้บริการทางเพศอยู่ราว 52 ล้านคน แต่ที่เบลเยียมเพิ่งมีการรับรองอาชีพนี้ให้ถูกกฎหมายในปี 2022 ส่วนประเทศที่ทำแบบเดียวกันก็มีอยู่อีกหลายประเทศ ตัวอย่างเช่นตุรกีและเปรู ทว่าการมอบสิทธิด้านแรงงานให้กับคนกลุ่มนี้ เบลเยียมจัดว่าเป็นประเทศแรกของโลก
“มันทั้งแหวกแนวและเป็นความก้าวหน้าที่ดีที่สุด เท่าที่เราได้เห็นมาแล้วทั่วโลก” เอริน คิลไบรด์ นักวิจัยจากองค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ (HRW) กล่าว “เราต้องการให้ทุกประเทศเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางนั้นด้วย”
อย่างไรก็ตาม มีบางฝ่ายวิพากษ์วิจารณ์ว่ากฎหมายใหม่นี้ไม่ช่วยแก้ปัญหาการค้ามนุษย์, การกดขี่ข่มเหงเพื่อแสวงประโยชน์, และการใช้ความรุนแรงโหดร้ายในภาคอุตสาหกรรมนี้
“มันอันตรายมาก เพราะกฎหมายนี้รับรองอาชีพที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงแบบหยั่งรากลึกเสมอ” จูเลีย ครูเมียร์ อาสาสมัครจาก ISALA องค์กรเอกชนซึ่งมอบความช่วยเหลือแก่ผู้ให้บริการทางเพศตามท้องถนนของเบลเยียมกล่าว
แต่ถึงกระนั้นก็ตาม ผู้ให้บริการทางเพศหลายคนซึ่งส่วนใหญ่ต้องทำอาชีพนี้เพราะความจำเป็น มองว่ากฎหมายใหม่นั้นออกมาช้าเกินไปด้วยซ้ำ
เมล (นามสมมติ) รู้สึกสยองเมื่อเธอถูกบังคับทำออรัลเซ็กส์ให้กับแขกที่มาซื้อบริการ โดยถูกห้ามไม่ให้ใช้ถุงยางอนามัยป้องกันโรคติดต่อ ตอนนั้นเธอเพิ่งรู้ข่าวมาว่า มีกามโรคชนิดหนึ่งกำลังแพร่ระบาดหนักอยู่ในสถานบริการของเธอ แต่ในที่สุดก็ต้องจำใจยอมทำตามคำสั่งไป “ฉันมีทางเลือกอยู่เพียงสองทาง คือจะยอมติดเชื้อและแพร่เชื้อต่อ หรือจะยอมเสียรายได้ไป”
เมลเล่าว่าเธอเริ่มทำอาชีพผู้ให้บริการทางเพศแบบเพื่อนเที่ยวหรือเอสคอร์ต (escort) ตั้งแต่อายุ 23 ปี ในตอนนั้นเธอร้อนเงิน และต่อมาก็เริ่มหาเงินได้มากมายเกินคาดอย่างรวดเร็ว เธอเคยคิดว่าตนเองได้พบขุมทรัพย์เข้าแล้ว แต่ประสบการณ์เลวร้ายที่ต้องติดกามโรค ได้ดึงเธอกลับมาสู่โลกของความเป็นจริงในทันที
แต่ด้วยกฎหมายฉบับใหม่ ตอนนี้เมลสามารถจะบอกปฏิเสธไม่รับแขก หรือขัดขืนไม่ยอมทำสิ่งที่เธอไม่สะดวกใจได้ ซึ่งหมายความว่า “หากสมัยก่อนเรามีกฎหมายนี้ ตอนนั้นฉันคงสามารถชี้นิ้วใส่มาดาม (แม่เล้า) แล้วเถียงกลับว่าคุณกำลังละเมิดกฎหมาย บทบัญญัติเหล่านี้ต่างหากคือสิ่งที่คุณควรปฏิบัติต่อฉัน ฉันคงได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายตั้งแต่ตอนนั้นแล้ว”
การออกกฎหมายดังกล่าวของเบลเยียม เป็นผลมาจากการชุมนุมประท้วงนานหลายเดือนของเหล่าผู้ให้บริการทางเพศเมื่อปี 2022 เนื่องจากขาดการช่วยเหลือสนับสนุนจากภาครัฐ ในช่วงการระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19
หนึ่งในแนวหน้าของการชุมนุมคือวิกตอเรีย (นามสมมติ) ประธานสหภาพผู้ให้บริการทางเพศชาวเบลเยียม (UTSOPI) ซึ่งในอดีตเธอเคยเป็นเอสคอร์ตมานานถึง 12 ปี
สำหรับวิกตอเรียแล้ว การเรียกร้องสิทธิดังกล่าวถือเป็นการต่อสู้เพื่อตัวเธอเองอย่างแท้จริง เธอมองว่างานของเอสคอร์ตนั้นคือการให้บริการทางสังคมเป็นหลัก โดยมีกิจกรรมทางเพศเข้ามาเกี่ยวข้องเพียง 10% เท่านั้น “มันคือการให้ความสนใจกับแขก รับฟังเรื่องราวของพวกเขา ไปกินขนมหรือเต้นรำเพลงวอลต์ซด้วยกัน ซึ่งที่สุดแล้วมันคือการเป็นเพื่อนแก้เหงามากกว่า”
แต่ในอดีตก่อนปี 2022 การที่อาชีพของวิกตอเรียผิดกฎหมาย ทำให้เกิดอุปสรรคใหญ่และความเสี่ยงในการทำงาน เพราะมันหมายความว่าเธอและเพื่อนร่วมอาชีพจะต้องตกอยู่ในสภาพการณ์ที่เสี่ยงอันตรายอยู่เสมอ เนื่องจากไม่อาจจะเลือกแขกได้ หรือไม่ก็ถูกพ่อเล้าแม่เล้าหักเงินรายได้ไปก้อนใหญ่อยู่เป็นประจำ
วิกตอเรียเล่าว่าเธอเคยถูกแขกคนหนึ่งที่หมกมุ่นหลงใหลในตัวเธอลงมือข่มขืน เธอจึงไปแจ้งความที่สถานีตำรวจ แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจหญิงผู้หนึ่งกลับใจร้ายกับเธอมาก “ตำรวจหญิงคนนั้นบอกฉันว่า ไม่มีผู้ให้บริการทางเพศคนไหนถูกข่มขืนได้หรอก เธอยังพูดเสียจนดูเหมือนเป็นความผิดของฉันเอง เพราะฉันดันไปทำงานนั้น ท้ายที่สุดฉันต้องเดินออกมาจากสถานีตำรวจทั้งน้ำตา”
ผู้ให้บริการทางเพศทุกคนที่ได้พูดคุยกับผู้สื่อข่าวบีบีซี ล้วนเคยถูกกดดันให้ต้องทำสิ่งที่ตัวเองลำบากใจกันมาแล้ว ซึ่งนั่นเป็นสาเหตุที่ทำให้วิกตอเรียเชื่อมั่นอย่างแน่วแน่ว่า กฎหมายใหม่จะทำให้ชีวิตของพวกเธอดีขึ้น
“หากไม่มีกฎหมายควบคุม และอาชีพของคุณยังคงผิดกฎหมายอยู่ มันจะไม่มีกฎเกณฑ์ใดมาคอยช่วยเหลือคุณได้ กฎหมายฉบับนี้ทำให้ทุกฝ่ายมีเครื่องมือที่จะช่วยปกป้องพวกเราให้ปลอดภัยขึ้น”
ส่วนพ่อเล้าแม่เล้าหรือแมงดาซึ่งเป็นคนควบคุมการค้าบริการทางเพศมาก่อน ก็สามารถจะทำอาชีพเดิมต่อไปได้อย่างถูกกฎหมาย หากยอมปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่เข้มงวดของกฎหมายฉบับใหม่ แต่คนที่มีประวัติอาชญากรรมหรือเคยต้องโทษในคดีร้ายแรงมาแล้ว จะไม่ได้รับอนุญาตให้ว่าจ้างผู้ให้บริการทางเพศมาทำงานในสังกัดของตน
“ผมว่าคงต้องมีสถานบริการหลายแห่งปิดตัวลง เพราะเจ้าของส่วนใหญ่มีประวัติอาชญากรรม” คริส รีกมานส์ ผู้บริหารของสถานบริการแห่งหนึ่งกล่าว เขาและอเล็กซานดราผู้เป็นภรรยาทำกิจการร้านนวดแนวอีโรติก ซึ่งตั้งอยู่ที่ “ถนนแห่งความรัก” (Esteem Street) ที่เมืองเล็ก ๆ ชื่อว่าเบ็กเกเวิร์ต (Bekkevoort) ของเบลเยียม
เมื่อผู้สื่อข่าวบีบีซีไปเยี่ยมชมสถานบริการแห่งดังกล่าว ปรากฏว่าผู้ให้บริการทางเพศทุกคนถูกแขกจองเต็มทั้งหมด แม้จะเป็นช่วงเช้าของวันจันทร์ก็ตาม เจ้าของสถานที่พาเราไปชมห้องให้บริการที่ตกแต่งไว้อย่างดี โดยในนั้นมีเตียงนวด ผ้าขนหนู และเสื้อคลุมสำหรับแขกที่สะอาดสะอ้าน ทั้งยังมีอ่างน้ำอุ่นและสระว่ายน้ำอีกด้วย
คริสและภรรยามีลูกจ้างเป็นผู้ให้บริการทางเพศ 15 คน ทั้งสองต่างภาคภูมิใจที่ได้เป็นนายจ้างตัวอย่าง ซึ่งปฏิบัติต่อบรรดาลูกจ้างด้วยความเคารพ ทั้งยังคอยปกป้องคุ้มครองและจ่ายเงินเดือนให้พวกเขาอย่างงาม “ผมหวังว่าพวกเจ้าของกิจการเลว ๆ จะต้องถอยออกไป ส่วนคนดี ๆ ที่ต้องการทำอาชีพนี้อย่างสุจริตจะได้อยู่ต่อ คนกลุ่มหลังนี้ยิ่งมีมากก็ยิ่งดี” คริสกล่าว
เอริน คิลไบรด์ จากองค์กร HRW แสดงความเห็นด้วยกับคริส โดยเธอบอกว่าการที่กฎหมายใหม่วางกฎเกณฑ์กำกับควบคุมบรรดาเจ้าของสถานบริการ จะช่วยลดทอนอำนาจที่พวกเขามีอยู่เหนือผู้ให้บริการทางเพศได้
อย่างไรก็ตาม จูเลีย ครูเมียร์ จากองค์กร ISALA มองต่างออกไปว่า ผู้หญิงส่วนใหญ่ที่เธอเคยให้ความช่วยเหลือ ไม่ได้ต้องการสิทธิแรงงาน พวกเธอแค่ต้องการเลิกทำอาชีพนี้ และอยากจะหา “งานปกติ” อย่างที่คนทั่วไปทำให้ได้เท่านั้น
“ปัญหาก็คือเราจะทำอย่างไร เพื่อให้ผู้หญิงเหล่านี้ไม่ต้องไปอยู่ข้างนอกท่ามกลางอากาศหนาวเหน็บ คอยมีเซ็กส์กับคนแปลกหน้าที่จ่ายเงินเพื่อเข้าถึงเนื้อถึงตัวของพวกเธอ”
แม้กฎหมายใหม่จะระบุว่า ห้องสำหรับให้บริการทางเพศทุกห้องจะต้องมีปุ่มกดฉุกเฉิน ซึ่งผู้ให้บริการทางเพศจะสามารถกดติดต่อขอความช่วยเหลือจากบุคคลอ้างอิงที่พวกเธอระบุชื่อไว้ล่วงหน้าได้ แต่ครูเมียร์ก็ยังมองว่า มาตรการนี้จะไม่ช่วยยกระดับความปลอดภัยในงานให้บริการทางเพศแต่อย่างใด
“มีงานแบบไหนอีกที่ต้องใช้ปุ่มกดฉุกเฉินแบบนี้ ? แท้จริงแล้วงานให้บริการทางเพศ ไม่ใช่อาชีพเก่าแก่ที่สุดในโลก แต่เป็นอาชีพที่ถูกกดขี่เอารัดเอาเปรียบมานานที่สุดของโลกต่างหาก” ครูเมียร์กล่าว
มาตรการกำกับควบคุมอุตสาหกรรมทางเพศควรเป็นเช่นไรนั้น ยังคงเป็นหัวข้อที่ทั่วโลกต้องอภิปรายถกเถียงกันต่อไป แต่สำหรับเมลแล้ว การนำอาชีพนี้ออกจากเงามืดของธุรกิจใต้ดิน ล้วนมีแต่ข้อดีและเป็นประโยชน์ในการช่วยเหลือผู้หญิง
“ฉันภูมิใจมากที่เบลเยียมก้าวหน้าไปไกลกว่าอีกหลายประเทศ ตอนนี้ฉันมีอนาคตแล้ว” เมล กล่าว
มีการเปลี่ยนชื่อในบทความนี้เพื่อประเด็นด้านความปลอดภัย
ที่มา BBC.co.uk