เปิดเบื้องหลังที่ประชุมคณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ลงมติเลือก ศาสตราจารย์ สิริพรรณ นกสวน สวัสดี เสียงเอกฉันท์ 8 ต่อ 0 ขณะที่ ชาตรี อรรจนานันท์ ลงมติถึง 3 รอบ หลังประธานขอประชุมลับ
สืบเนื่องจากกรณีเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2567 ที่ประชุมคณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ครั้งที่ 4 ที่มีนางชนากานต์ ธีรเวชพลกุล ประธานศาลฎีกา เป็นประธานการประชุมได้ลงมติเลือก 1.ศาสตราจารย์ สิริพรรณ นกสวน สวัสดี ศาสตราจารย์ สาขาวิชารัฐศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในสัดส่วนเป็นบุคคลผู้เข้ารับการสรรหาเป็นผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ทรงคุณวุฒิสาขารัฐศาสตร์หรือรัฐประศาสตร์ซึ่งดำรงตำแหน่ง หรือเคยดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัยในประเทศไทยมาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปี และยังมีผลงานทางวิชาการเป็นที่ประจักษ์ แทนนายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ประธานตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่ครบวาระ
2.นายชาตรี อรรจนานันท์ อดีตอธิบดีกรมการกงสุล อดีตเอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮก ในสัดส่วนเป็นบุคคลผู้เข้ารับการสรรหาเป็นผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ทรงคุณวุฒิที่รับหรือเคยรับราชการในตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดี หรือหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่า หรือตำแหน่งไม่ต่ำกว่ารองอัยการสูงสุดมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี แทนนายปัญญา อุดชาชน ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ครบวาระ
อ่านประกอบ : คณะกก.สรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เคาะ สิริพรรณ นกสวน สวัสดี – ชาตรี อรรจนานันท์
แหล่งข่าวจากที่ประชุมคณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเปิดเผยสำนักข่าวอิศรา . ว่า การลงมติเลือกผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ รายศาสตราจารย์ สิริพรรณ นกสวน สวัสดี ที่ประชุมลงมติเพียงรอบเดียว โดยมีมติเอกฉันท์ 8 ต่อ 0 เสียง ขณะที่การลงมติเลือกสมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ รายนายชาตรี อรรจนานันท์ ที่ประชุมคณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญต้องลงมติถึง 3 รอบ เนื่องจากรอบแรกและรอบที่สองไม่มีผู้สมัครคนใดได้รับคะแนนเสียงถึงสองในสาม หรือ 6 เสียง โดยรอบที่หนึ่งและรอบที่สองมีผู้สมัครสามคนได้คะแนนเท่ากัน คือ นายชาตรี ได้ 5 คะแนน นายสราวุธ ทรงวิไล อดีตอธิบดีกรมการขนส่งทางราง ได้ 2 คะแนน และ นายสุรชัย ขันอาสา อดีตอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ได้ 1 คะแนน
“ก่อนลงมติรอบที่สาม มีการประชุมลับ นางชนากานต์ ประธานในที่ประชุมได้หารือว่า นายชาตรีได้คะแนน 5 เสียงแล้ว ขาดเพียง 1 เสียงก็จะได้คะแนนครบสองในสาม หรือ 6 คะแนน จะมีกรรมการสรรหาฯคนใดเปลี่ยนใจหรือไม่ เพราะถ้ายืนยันที่จะลงมติเหมือนกับรอบที่หนึ่งกับรอบที่สองจะต้องสรรหาใหม่ ทำให้นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร กรรมการสรรหาฯ ยอมเปลี่ยนมาลงคะแนนให้กับนายชาตรี เพราะในการลงคะแนนในรอบแรกกับรอบที่สองได้ลงคะแนนให้นายสุรชัยเพียงคนเดียว ส่งผลให้นายชาตรีได้คะแนนครบ 6 เสียง”แหล่งข่าวกล่าว
แหล่งข่าวกล่าวว่า อย่างไรก็ดี ประธานในที่ประชุมยังเสนออีกว่า เมื่อนายชาตรีได้เสียงครบสองในสามแล้ว แต่เพื่อให้ผลคะแนนออกมาดูดีเหมือนกับการลงมติเลือกศาสตราจารย์ สิริพรรณที่ได้รับคะแนนเสียงเป็นเอกฉันท์ ทำให้นายประสิทธิ์ศักดิ์ มีลาภ ประธานศาลปกครองสูงสุด และนายชาญนะ เอี่ยมแสง บุคคลซึ่งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แต่งตั้งเป็นกรรมการ ยอมเปลี่ยนมาลงคะแนนให้นายชาตรี หลังจากในการลงมติรอบแรกและรอบที่สองลงคะแนนให้นายสราวุธ ส่งผลให้การลงมติในรอบที่สามผลจึงออกมาให้นายชาตรีได้คะแนนเสียงเอกฉันท์ 8 ต่อ 0 เสียง
รายงานข่าวเพิ่มเติมว่า รายชื่อคณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 8 คน ประกอบด้วย
- นางชนากานต์ ธีรเวชพลกุล ประธานศาลฎีกา เป็นประธานกรรมการ
- นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร กรรมการ
- นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร กรรมการ
- นายประสิทธิ์ศักดิ์ มีลาภ ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการ
- นางสุพัตรา ศรีไมตรีพิทักษ์ บุคคลซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้งแต่งตั้ง กรรมการ
- นายอรรถยุทธ ศรีสมุทร บุคคลซึ่งผู้ตรวจการแผ่นดินแต่งตั้ง กรรมการ
- นายชาญนะ เอี่ยมแสง บุคคลซึ่งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติแต่งตั้ง กรรมการ
- นายเจษฎา กตเวทิน บุคคลซึ่งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติแต่งตั้ง กรรมการ
ที่มา สำนักข่าวอิศรา ( isranews.org )