เผยเบื้องหลัง คณะกรรมการกฤษฎีกา ร่วม 3 คณะ มีมติ ‘เสียงข้างมาก’ ชี้ ‘กิตติรัตน์ ณ ระนอง’ ขาดคุณสมบัติ ‘ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ’ ชี้ ตำแหน่ง ‘ประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี’ ถือเป็น ‘ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง’ และมีส่วนในการกำหนดนโยบาย – ‘อัชพร จารุจินดา’ กรรมการกฤษฎีกา คณะที่ 2 – หนึ่งในคณะกรรมการรสรรหา ‘เสียงข้างน้อย’ ที่ไม่เห็นด้วย
สำนักข่าวอิศรา . รายงานว่า แหล่งข่าวจากที่ประชุมคณะกรรมการกฤษฎีการ่วม 3 คณะ เปิดเผยกับสำนักข่าวอิศรา ถึงกรณีการประชุมเพื่อมีความเห็นเรื่องคุณสมบัติของนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ผู้ได้รับการคัดเลือกจากคณะกรรมการสรรหา ที่มีนายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ อดีตปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธานคัดเลือกให้เป็นผู้ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือ ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ว่า ที่ประร่วมคณะกรรมกากฤษฎีการ่วม 3 คณะ มีมติด้วยเสียงข้างมาก เห็นว่า นายกิตติรัตน์ ขาดคุณสมบัติการดำรงตำแหน่งประธานบอร์ดแบงก์ชาติ เนื่องจากตำแหน่งประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ที่นายกิตติรัตน์ได้รับการแต่งตั้งในสมัยรัฐบาลของนายเศรษฐา ทวีสิน ถือเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เนื่องจากมีส่วนกับการกำหนดนโยบาย
อ่านประกอบ : ‘เลขาฯ กฤษฎีกา’ ปัด ข่าวรั่ว ‘กิตติรัตน์’ ขาดคุณสมบัติ ‘ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ’
แหล่งข่าวกล่าวเพิ่มเติมว่า เสียงส่วนใหญ่ที่ตีความว่า ตำแหน่งประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ถือเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มาจากคณะกรรมการกฤษฎีกา คณะที่ 1 ที่มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน ซึ่งเป็นคณะหลัก สอดรับกับคณะกรรมการกฤษฎีกา คณะที่ 13 ที่อภิปรายเห็นด้วย ส่วนเสียงข้างน้อยที่ไม่เห็นด้วย คือ นายอัชพร จารุจินดา อดีตเลขาธิการกฤษฎีกา กรรมการคณะกรรมการกฤษฎีกา คณะที่ 2 และเป็นหนึ่งในคณะกรรมการรสรรหาประธานบอร์ดแบงก์ชาติ เนื่องจากเห็นว่า ตำแหน่งประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ไม่ใช่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
ทั้งนี้ คณะกรรมการร่วม 3 คณะ ได้ประชุมและมีมติตั้งแต่เมื่อวาน (24 ธ.ค.67) ซึ่งในวันนี้นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้ทำบันทึกความเห็นเพื่อส่งให้กระทรวงการคลังต่อไป
ที่มา สำนักข่าวอิศรา ( isranews.org )