เปิดตำนานแวมไพร์ มีต้นกำเนิดจากอะไร ?
Article records
- Creator, มิลิกา ราเดนโควิช เจเรมิช
- Role, บีบีซีแผนกภาษาเซอร์เบีย
ในช่วงต้นศตวรรษที่ 18 ผู้คนหลายสิบคนในเซอร์เบียเริ่มเสียชีวิตลงอย่างลึกลับ โดยกล่าวกันว่าเพื่อนบ้านที่ตายไปกลับมาหลอกหลอนชาวบ้าน ขณะที่มีบางคนรู้สึกสำลักหรือไม่ก็หายใจไม่ออกหรือหายใจแรงก่อนเสียชีวิต
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่บ้านเล็ก ๆ 2 แห่ง ได้แก่ เมดเวดยา (Medvedja) ทางตอนใต้ของเซอร์เบีย และคิซิลเยโว (Kisiljevo) ทางตะวันออกเฉียงเหนือ ตกเป็นศูนย์กลางข่าวลือเกี่ยวกับเสียชีวิตเหล่านี้ แม้หมู่บ้านทั้งสองแห่งอยู่ห่างกัน 200 กิโลเมตร แต่กลับพบรายงานเหตุการณ์แปลกประหลาดคล้ายคลึงกันภายในช่วง 1 ทศวรรษ
แพทย์ชาวออสเตรียถูกส่งไปที่นั่นเพื่อสืบสวนว่าอะไรคือสาเหตุการเสียชีวิตเหล่านี้ และพวกเขารวบรวมรายงานอย่างละเอียดเกี่ยวกับทุกสิ่งที่พวกเขาค้นพบ ซึ่งเผยแพร่ไปยังสื่อมวลชนในออสเตรียยังรวดเร็ว รวมถึงแวดวงวิชาการ
โทมัส เอ็ม โบห์น นักประวัติศาสตร์ชาวเยอรมัน ผู้เขียน “แวมไพร์: ต้นกำเนิดตำนานยุโรป (Vampires: The Beginning of the European Yarn)” กล่าวว่าปรากฏคำว่า “แวมไพร์” เป็นครั้งแรกในหนังสือพิมพ์รายวันของออสเตรียที่ชื่อว่า Wienerisches Diarium ในปี 1725
แวมไพร์เป็นสิ่งมีชีวิตในตำนานที่คิดว่าอยู่รอดได้ด้วยการกินเลือดของคนเป็นอาหาร
Skip เรื่องแนะนำ and continue discovering outเรื่องแนะนำ
End of เรื่องแนะนำ
แม้เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเกี่ยวกับการปรากฏตัวของแวมไพร์ได้รับการการบันทึกไว้ในวัฒนธรรมทั่วโลก แต่คำว่า “แวมไพร์” ถูกใช้อย่างแพร่หลายในยุโรปตะวันตกช่วงศตวรรษที่ 18 หลังการรายงานดังกล่าว
“กิจการของปีศาจ”
ในคิซิลเยโวช่วงปี 1725 มีผู้เสียชีวิตจำนวน 9 คนภายในเวลาสองวัน โดยบอกว่าพวกเขาทั้งหมดต่างพูดถึงเพื่อนบ้านคนหนึ่งก่อนเสียชีวิต
พวกเขากล่าวว่าชายที่มีชื่อว่า เปตาร์ บลาโกเยวิช ซึ่งเสียชีวิตไปแล้วก่อนหน้านี้ได้มาเยี่ยมเยือนพวกเขาในฝันและเริ่มบีบคอพวกเขา
เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ชาวบ้านเปิดหลุมฝังศพของบลาโกเยวิช จนพบกันศพที่ยังถูกเก็บรักษาไว้ในสภาพดีจนถูกมองว่า “เป็นหลักฐานกิจการของปีศาจ”
“ใบหน้า มือ เท้า และร่างกายทั้งหมด คงจะอยู่ในสภาพสมบูรณ์ที่สุดหากยังมีชีวิตอยู่” เจ้าหน้าที่ชาวออสเตรียซึ่งอยู่ในเหตุการณ์ขุดศพเขียนบันทึกไว้
“ฉันพบเลือดสด ๆ ในปากของมัน ซึ่งตามความเชื่อทั่วไป เขาได้ดูดเลือดจากคนที่เขาฆ่า”
ศ.คลีเมนส์ รูธเนอร์ จากมหาวิทยาลัยทรินิตีในกรุงดับลินเชื่อว่าคำว่า “แวมไพร์” มีต้นกำเนิดจากช่วงเวลาที่แพทย์ชาวออสเตรียเปิดหลุมฝังศพและพูดคุยกับล่ามในท้องถิ่น เพื่อทำความเข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้น
“ล่ามอาจพึมพำคำบางคำ เช่น upir (อูเปียร์) ซึ่งแปลว่าปีศาจในภาษาสโลวีเนีย แล้วมันเกิดความเข้าใจผิดขึ้น และทำให้เกิดคำว่าแวมไพร์” เขากล่าว
เขากล่าวเสริมว่าการเผชิญหน้ากันระหว่างเจ้าอาณานิคมจากออสเตรียที่คิดว่าตัวเองเป็น “ผู้รู้แจ้ง” และชาวบ้านในท้องถิ่นที่ถูกมองว่าเป็น “พวกหลังเขา” มันจึงเกิดสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ขึ้น
เพื่อหยุดการกระทำของปีเตอร์ มีการกล่าวว่าพวกชาวบ้านได้ใช้เสาแทงทะลุหัวใจของเขาและเผาร่างของเขา ซึ่งส่งผลให้ไม่พบการรายงานเกี่ยวกับแวมไพร์ในหมู่บ้านนี้อีกเลยในเวลาต่อมา
แม้ว่าเหตุการณ์นี้จะดึงดูดความสนใจ แต่ ศ.โบห์นบอกว่าในช่วงเวลานั้นยังไม่ใช่ช่วงที่สุกงอมสำหรับความเชื่อเรื่อง “แวมไพริซึม (Vampirism)” ซึ่งสื่อถึงความเชื่อเกี่ยวกับผีดูดเดือดที่กลายเป็นเรื่องดึงดูดทางจินตนาการในวงกว้าง
แวมไพร์หรือแพะรับบาป ?
7 ปีต่อมา ในเดือน ม.ค. ปี 1732 หมู่บ้านเมดเวดยาก็ถูกครอบงำด้วยความกลัว เนื่องจากมีผู้เสียชีวิต 17 รายภายใน 3 เดือน ซึ่งบางคนยังเป็นเด็กมีสุขภาพแข็งแรง โดยไม่ทราบสาเหตุการตายที่แน่ชัด
นอกจากนี้ ยังพบว่าผู้เสียชีวิตบางคนบ่นเกี่ยวกับความรู้สึกหายใจไม่ออกและเจ็บหน้าอกอย่างรุนแรง เช่นเดียวกันกับที่เคยเกิดขึ้นในหมู่บ้านคิซิลเยโว
หลังจากขุดหลุมฝังศพตามคำสั่งที่ได้รับมา นายแพทย์โยฮันเนส ฟลัคคิงเกอร์ ได้เขียนรายงานว่ามีนายทหารเป็นผู้กระทำความผิดในลักษณะแวมไพริซึมหรือพวกดูดเลือด
ร่างกายของนายทหารผู้นั้นไม่เน่าเปื่อย และมีเลือดสดไหลออกจากตา จมูก ปาก และหูของเขา
ชาวเมดเวดยามองว่าทั้งหมดเป็นข้อพิสูจน์ว่า เขาคือแวมไพร์จริง ๆ พวกเขาจึงตัดสินใจตอกเสาทะลุหัวใจศพนายทหารดังกล่าว พร้อมกับเผาร่างจนสิ้น
“ไม่ค่อยมีใครรู้เกี่ยวกับชีวิตและชะตากรรมของชายคนนี้ ซึ่งเสียชีวิตหลังจากล้มลง และชาวบ้านก็เปลี่ยนเขาให้กลายเป็นแพะรับบาป” โทมัส โบห์น เขียนในหนังสือของเขา
เขาเชื่อว่าชายผู้นี้มีชื่อว่า อาโนลต์ พาฟเล ชาวแอลบาเนียที่มาจากกรุงโคโซโว
“เปตาร์ บลาโกเจวิช จากหมู่บ้านคิซิลเยโว และ อาโนลต์ พาฟเล จากหมู่บ้านเมดเวดยา เป็นตัวแทนแรก ๆ ของสายพันธุ์แวมไพร์” เขากล่าว
คำอธิบายทางวิทยาศาสตร์
ในขณะที่ชาวบ้านพากันหวาดกลัวศพที่ไม่เน่าเปื่อยเหล่านั้น แต่นักพยาธิวิทยาร่วมสมัยชี้ให้เห็นว่าการพบคนตายในสภาพนั้นไม่ใช่เรื่องผิดปกติแต่อย่างใด
“คริสเตียน ไรเตอร์ นักพยาธิชาวเวียนนาที่มีชื่อเสียงคิดว่าเบื้องหลังการตายเหล่านี้มาจากการแพร่ระบาดของโรคแอนแทรกซ์ ซึ่งเป็นเหตุการณ์ปกติที่เกิดขึ้นในช่วงสงครามและหลังสงครามเมื่อในอดีต” ศ.รูธเนอร์ กล่าว
แอนแทรกซ์เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่เกิดจากสัตว์และข้ามมาติดเชื้อในคนได้ ซึ่งมักส่งผลให้เกิดการเสียชีวิต
รูธเนอร์เชื่อว่ารายงานที่ระบุเกี่ยวกับอาการหายใจไม่ออกก่อนเสียชีวิต อาจมีสาเหตุเกี่ยวข้องกับอาการปอดบวม
“หากคุณอ่านรายงานอย่างละเอียด จะเห็นว่าไม่มีใครเห็นแวมไพร์ด้วยตาตัวเองเลย ความคิดที่ว่าพวกเขาเป็นพวกดูดเลือดนั้น เป็นการตีความโดยแพทย์ชาวออสเตรีย” เขากล่าว
โทมัส โบห์น ยังคิดด้วยว่าการดูดเลือดเป็นตำนานที่สร้างขึ้นโดยชาวตะวันตก
อิวาน เนซิค นักประวัติศาสร์ท้องถิ่นจากเมดเวดยา บอกว่า ความเชื่อและความกลัวเกี่ยวกับแวมไพร์ยังคงเกาะกุมจิตใจผู้คนมาจนถึงตอนนี้ โดยเขาชี้ให้เห็นว่าแม้หลังจากเปตาร์และอาโนลต์เสียชีวิตไปนานแล้ว แต่ชาวบ้านก็ยังพยายามป้องกันพื้นที่ส่วนบุคคลให้ปลอดภัยจากแวมไพร์
“เชื่อกันว่าแวมไพร์เซอร์เบียมีลักษณะคล้ายกับผิวหนังที่พองตัวออกและภายในเต็มไปด้วยเลือดสด ๆ” เขากล่าว
“จึงเกิดความคิดที่ว่าเขาอาจยุบตัวลงเหมือนลูกโป่ง หากถูกเจาะเข้าที่จุดใดจุดหนึ่ง ดังนั้นผู้คนจึงวางหนามแหลมไว้ตามประตูและหน้าต่าง เพื่อป้องกันตัว”
“ภัยคุกคามของตุรกี” อีกหนึ่งเบื้องหลังตำนานแวมไพร์
ทั้งคิซิลเยโวและเมดเวดยาตั้งอยู่ในพื้นที่ชายแดนซึ่งอยู่ภายใต้อำนาจของราชวงศ์ฮับสเบิร์กในช่วงทศวรรษที่ 1700 จากเดิมที่เคยตกอยู่ในการปกครองของจักรวรรดิออตโตมันมานานหลายศตวรรษ
ศ.รูธเนอร์เชื่อว่าการปรากฏตัวของแวมไพร์ได้รับความสนใจ เนื่องจากเหตุการณ์เหล่านี้ถูกรายงานมาจากพื้นที่ดังกล่าวซึ่งยังมีข้อถกเถียงเรื่องดินแดน
“ความขัดแย้งครั้งใหญ่ระหว่างจักรวรรดิออตโตมันและตะวันตก ถือเป็นฉากหลังสำคัญของเหตุการณ์เหล่านี้” เขาอธิบาย
ศ.โบห์น ยังชี้ให้เห็นว่าหลังจากออตโตมันปิดล้อมกรุงเวียนนาครั้งที่สองในปี 1683 ที่ไม่ประสบผลสำเร็จ แวมไพร์จึงกลายเป็นตัวแทนที่สื่อถึง “ภัยคุกคามของตุรกี” ต่อศาสนาคริสต์
ในช่วงกลางศตวรรษที่ 18 เกิดการพบเห็น “แวมไพร์” ระลอกใหม่อีกครั้งในสมัยราชวงศ์ฮับสเบิร์ก แต่การต่อสู้กับสิ่งมีชีวิตในจินตนาการถือเป็นเรื่องต้องห้าม เนื่องจากถือว่าเป็นความเชื่องมงาย
แต่แวมไพร์ก็ฟื้นคืนชีพในเวลาต่อมาไม่นาน ภายใต้รูปแบบหลากหลายกันไป
“แวมไพร์ในยุคโรแมนติก มีหน้าตาหล่อเหลา ผิวขาวซีด ดูทรงภูมิปัญญา ไม่ใช่พวกชาวเซอร์เบียที่หน้าบวมแดง” รูธเนอร์กล่าว
แวมไพร์ผู้มีเสน่ห์และซับซ้อนในนิยายสมัยใหม่ถือกำเนิดขึ้นในปี 1819 จากการตีพิมพ์เรื่อง “ผู้เป็นแวมไพร์ (The Vampyre)” โดยจอห์น โพลิโดริ นักเขียนชาวอังกฤษ
ขณะที่นวนิยายเรื่องแดร็กคูลาของบราม สโตเกอร์ ซึ่งตีพิมพ์ในปี 1897 ได้รับการยกย่องว่าเป็นนวนิยายแวมไพร์ที่สมบูรณ์แบบ และเป็นรากฐานให้กับตำนานแวมไพร์สมัยใหม่มาจนถึงทุกวันนี้
ที่มา BBC.co.uk