เปิดประวัติกองหินปริศนา “สโตนเฮนจ์” ถูกรื้อถอน-ตั้งเรียงใหม่หลายครั้งในอดีต

ที่มาของภาพ : Mike Pitts

แสงสุดท้ายของวันส่องผ่านเสาหินของสโตนเฮนจ์ ก่อนที่ดวงอาทิตย์จะลับขอบฟ้าไป

Article files

  • Author, ไมก์ พิตส์
  • Feature, บีบีซี ฟิวเจอร์

เมื่อราว 4,500 ปีก่อน รูปทรงของสถาปัตยกรรมยุคก่อนประวัติศาสตร์อันเลื่องชื่อ “สโตนเฮนจ์” (Stonehenge) ในมณฑลวิลต์เชียร์ของสหราชอาณาจักร อาจดูแปลกตาและแตกต่างไปจากที่คนทั่วโลกรู้จักคุ้นเคยกันดีในปัจจุบันมาก ซึ่ง “ไมก์ พิตส์” นักโบราณคดีและนักเขียนชาวอังกฤษ ผู้คร่ำหวอดในวงการผู้ศึกษาความเป็นมาของสโตนเฮนจ์ ได้บอกเล่าถึงประวัติศาสตร์ของกองหินปริศนาไว้ในบทความของเขาดังนี้

หากคุณยืนอยู่ที่สโตนเฮนจ์และเฝ้ามองดูตะวันตกดิน ในช่วงเย็นย่ำของวันที่ 21 ธ.ค. ที่ผ่านมา คุณจะได้เห็นปรากฏการณ์ที่น่าตื่นตะลึงของวันเหมายัน (winter solstice) ซึ่งมีช่วงเวลากลางวันแสนสั้นและมียามราตรียาวนานที่สุดของปี ถ้าวันนั้นท้องฟ้าโปร่งและอากาศแจ่มใสเพียงพอ

อันดับแรกคุณต้องไปยืนอยู่ในตำแหน่งตรงกลางระหว่างหิน “ฮีลสโตน” (Heel Stone) ซึ่งตั้งอยู่โดดเดี่ยวที่ด้านนอก กับวงกลมหลักของสโตนเฮนจ์เสียก่อน จากนั้นให้มองไปที่ช่องว่างระหว่างคู่หินตั้ง (megalith) ของสโตนเฮนจ์ตรงทิศตะวันออกเฉียงใต้ แสงสีส้มจากดวงอาทิตย์ที่กำลังคล้อยต่ำ จะฉายผ่านออกมาจากช่องว่างดังกล่าวพอดี ซึ่งช่วงเวลาที่น่าอัศจรรย์นี้ปรากฏขึ้นเพียงชั่วพริบตา ก่อนที่แสงสุดท้ายจะหายวับราวกับว่าสโตนเฮนจ์ได้กลืนกินดวงอาทิตย์ลงไปก็ไม่ปาน

ตัวผมและเพื่อนร่วมทีมขุดค้นทางโบราณคดีเชื่อว่า เหตุการณ์ที่ดวงอาทิตย์ตกในตำแหน่งที่เหมาะเจาะพอดิบพอดีเช่นนี้ ไม่ใช่เรื่องบังเอิญอย่างแน่นอน แต่เป็นผลมาจากการออกแบบของสถาปนิกยุคโบราณผู้ก่อสร้างสโตนเฮนจ์เมื่อหลายพันปีก่อน ซึ่งก็ชวนให้สงสัยต่อไปว่า หน้าตาของสโตนเฮนจ์เมื่อถูกสร้างขึ้นครั้งแรกเมื่อราว 4,500 ปีที่แล้ว อาจไม่เหมือนกับที่เรารู้จักคุ้นเคยกันดีในปัจจุบัน

ตัวอย่างเช่นแนวเส้นสายตาที่ใช้สังเกตการณ์วันเหมายันและครีษมายัน (solstice sightline) ในอดีตอาจมีคู่หินตั้งวางเรียงรายอยู่มากกว่าในทุกวันนี้ถึง 6 คู่ แต่น่าเสียดายที่ในปัจจุบัน หินตั้งแท่งที่สูงที่สุดและมีการแกะสลักอย่างประณีตที่สุด ซึ่งเรียกว่าหินหมายเลข 56 (Stone 56) กลับตั้งตระหง่านโดยไร้คู่และเหลืออยู่เพียงแท่งเดียว ส่วนยอดของมันที่เป็นเดือยสำหรับสอดเข้าไปในขื่อหิน (lintel) ที่ควรจะวางทับในแนวนอนอยู่ด้านบน บัดนี้กลับเปลือยเปล่าและดูไร้ประโยชน์

and proceed studyingเรื่องแนะนำ

Stay of เรื่องแนะนำ

การที่หินตั้งแท่งยักษ์หายไปจากสโตนเฮนจ์มากมายขนาดนี้ ชวนให้สงสัยว่ามีผู้รื้อถอนมันออกไป แต่พวกเขาเป็นใครและนำหินตั้งเหล่านั้นไปไหนด้วยจุดประสงค์อะไร ยังคงเป็นคำถามที่นักโบราณคดีพยายามค้นหาคำตอบอยู่ ซึ่งล่าสุดผลการสำรวจภาคสนามรวมถึงการขุดค้นและการวิเคราะห์ทางธรณีวิทยา ช่วยให้นักโบราณคดีสามารถปะติดปะต่อข้อมูล เกี่ยวกับความเป็นมาของการก่อสร้างและการแก้ไขเปลี่ยนแปลงสโตนเฮนจ์ในอดีตได้มากขึ้น

รูปร่างหน้าตาของสโตนเฮนจ์ที่เราเห็นกันอยู่ในทุกวันนี้ แทบไม่เปลี่ยนแปลงไปจากแผนผังที่บันทึกไว้โดยจอห์น วูด สถาปนิกผู้มีชื่อเสียงในปี 1740 ส่วนภาพสเกตช์ของสโตนเฮนจ์แบบเหมือนจริงที่เก่าแก่ที่สุด เป็นผลงานของศิลปินในยุคศตวรรษที่ 16 ซึ่งแม้จะเป็นเพียงภาพร่าง แต่รายละเอียดส่วนใหญ่ก็แทบจะไม่แตกต่างไปจากแผนผังของจอห์น วูด ที่เขียนขึ้นในอีกราวสองร้อยปีต่อมาเลย

แม้จะดูเหมือนว่าสโตนเฮนจ์ได้ยืนหยัดท้ากาลเวลามานานโดยแทบจะไม่เปลี่ยนแปลง แต่ผลการสำรวจและขุดค้นทางโบราณคดีซึ่งเริ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นศตวรรษที่ 20 กลับชี้ว่าในยุคโบราณมีการเคลื่อนย้ายหินของสโตนเฮนจ์ไปกว่าครึ่ง โดยในระหว่างปี 1901-1964 การบูรณปฏิสังขรณ์หินตั้งที่เอียงกะเท่เร่จนต้องใช้ไม้ซุงค้ำไว้ รวมทั้งขื่อหินแนวนอนที่วางซ้อนอยู่ด้านบนอย่างหมิ่นเหม่จนน่ากลัวจะตกลงมาใส่นักท่องเที่ยว ทำให้นักโบราณคดีมีโอกาสตรวจสอบโครงสร้างของสโตนเฮนจ์อย่างละเอียด และได้พบหลักฐานที่ชี้ถึงความเปลี่ยนแปลงทางสถาปัตยกรรมในอดีตมากมาย

ที่มาของภาพ : Mike Pitts

แผนภาพแสดงถึงโครงสร้างของสโตนเฮนจ์ในอดีตและปัจจุบัน สีน้ำตาลคือหินที่อยู่ในตำแหน่งเดิมมาแต่โบราณ ส่วนสีขาวคือหินที่ถูกเคลื่อนย้ายหรือปรับตำแหน่งใหม่ในช่วงศตวรรษที่ 20

ข้อสงสัยที่ว่าสโตนเฮนจ์ในยุคก่อนประวัติศาสตร์ อาจไม่ได้มีรูปร่างหน้าตาดังเช่นที่เห็นกันในปัจจุบันนั้น คนแรกที่ตั้งคำถามดังกล่าวคือจอห์น ออเบรย์ นักเขียนชีวประวัติและนักสะสมของโบราณตัวยงในยุคศตวรรษที่ 17 โดยในปี 1666 เขาค้นพบหลุมปริศนาในพื้นดิน 5 หลุม บริเวณตลิ่งของคูน้ำที่ล้อมรอบสโตนเฮนจ์ ซึ่งตั้งอยู่ห่างออกไปจากวงกลมหลักของสโตนเฮนจ์พอสมควร ทำให้เกิดข้อสันนิษฐานว่าหลุมดังกล่าวอาจเกิดจากการรื้อถอนเคลื่อนย้ายกลุ่มหินตั้งดั้งเดิม ซึ่งตั้งเรียงเป็นวงกลมเส้นผ่านศูนย์กลาง 85 เมตร และโอบล้อมตำแหน่งของสโตนเฮนจ์ในปัจจุบันเอาไว้

การขุดค้นในช่วงทศวรรษ 1920 ยังพบหลุมอายุเก่าแก่ที่คล้ายกับจะเป็นฐานของหินตั้ง ซึ่งปัจจุบันนักโบราณคดีเรียกว่า “หลุมออเบรย์” (Aubrey Holes) อีก 56 หลุม โดยทั้งหมดจัดเรียงตัวเป็นรูปวงกลมอย่างสมบูรณ์ ต่อมายังมีการค้นพบวงแหวนที่เกิดขึ้นจากหลุมปริศนาเหล่านี้เพิ่มอีกสองแห่ง โดยพบว่าตั้งอยู่ใกล้กับตำแหน่งของสโตนเฮนจ์ในปัจจุบันมากกว่าหลุมออเบรย์ชุดแรก ทำให้นักโบราณคดียุคปัจจุบันสันนิษฐานว่า หลุมดังกล่าวอาจเป็นร่องรอยของวงกลมหินโบราณขนาดยักษ์ที่กว้างใหญ่กว่าสโตนเฮนจ์ก็เป็นได้

การขุดค้นทางโบราณคดีและการบูรณปฏิสังขรณ์ ซึ่งมีขึ้นอีกครั้งในช่วงทศวรรษ 1950-1960 ทำให้ค้นพบหลุมออเบรย์ที่ถูกฝังกลบอยู่เป็นจำนวนมากขึ้น ภายในบริเวณพื้นที่วงกลมของสโตนเฮนจ์เอง โดยบางส่วนดูเหมือนว่าเป็นหลุมที่เคยใช้วางหินตั้งขนาดเล็ก ส่วนหลักฐานที่พบในหลุมอื่น ๆ ชี้ว่ามีการรื้อถอนหินตั้งแท่งเดิมและมีการจัดเรียงใหม่ด้วย แต่หินที่เคยถูกวางตั้งบนหลุมดังกล่าวจำนวนมากได้หายไปอย่างไร้ร่องรอย

การขุดค้นของผมและเพื่อนร่วมทีมในปี 1979 ได้ค้นพบหลุมออเบรย์หลุมหนึ่งที่ด้านข้างของหินฮีลสโตน ตรงก้นหลุมมีร่องรอยผงชอล์ก ซึ่งก็คือเศษหินปูนที่ถูกบดขยี้ด้วยน้ำหนักมหาศาลของหินก้อนใหญ่ แสดงว่าหลุมดังกล่าวอาจเคยเป็นที่ตั้งของแท่งหินยักษ์ที่หายไปจากสโตนเฮนจ์ก็เป็นได้

ที่มาของภาพ : Getty Pictures

ผู้คนพากันมาเฉลิมฉลองวันเหมายันที่สโตนเฮนจ์ในปีนี้

การค้นพบข้างต้นคือเรื่องน่าประหลาดใจที่ผมไม่คาดฝันมาก่อน เนื่องจากหลุมนั้นตั้งอยู่ชิดติดกับริมถนนที่ผู้คนชอบมารวมตัวกันเพื่อเฉลิมฉลองเทศกาลครีษมายันในฤดูร้อน ซึ่งก็เป็นไปได้ว่า ในอดีตมันอาจจะเป็นที่ตั้งของแท่งหินที่เป็นคู่กับฮีลสโตน โดยทั้งสองอาจเป็นส่วนหนึ่งของซุ้มประตูบนแนวเส้นสายตาที่ใช้มองไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อสังเกตการณ์อาทิตย์อุทัยในวันครีษมายันนั่นเอง

เป็นที่ชัดเจนว่าร่องรอยหลักฐานทั้งหมดล้วนชี้ว่า สโตนเฮนจ์เป็นโบราณสถานที่มีประวัติความเป็นมาซับซ้อน และมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นหลายครั้งตลอดช่วงหลายพันปีที่แล้ว อย่างไรก็ตาม ไม่มีผู้ใดทราบชัดว่าหินตั้งมากมายหลายแท่ง ได้หายไปจากสโตนเฮนจ์เป็นจำนวนเท่าใดกันแน่ นักโบราณคดีบางคนถึงกับมองว่า แท้จริงสโตนเฮนจ์เป็นโบราณสถานที่ยังก่อสร้างไม่แล้วเสร็จ จึงปรากฏร่องรอยของความไม่สมบูรณ์แบบอยู่เต็มไปหมด เช่นด้านตะวันตกเฉียงใต้ของวงกลมมีหินตั้งเหลืออยู่เพียงแท่งเดียว และแท่งหินที่ล้มหรือตกหล่นอยู่โดยรอบนั้น มีจำนวนไม่เพียงพอที่จะเติมให้วงกลมสมบูรณ์ได้

ต่อมามีการค้นพบที่น่าตื่นเต้นเกิดขึ้นในปี 2009 โดยมีคนเจอร่องรอยของวงกลมหินที่นักโบราณคดีไม่เคยรู้จักมาก่อน ตั้งอยู่ไม่ไกลจากสโตนเฮนจ์โดยสามารถเดินไปถึงได้ภายในเวลาเพียงไม่กี่นาที วงกลมหินที่ว่านี้เหลือเพียงหลุมออเบรย์ 25 หลุม ซึ่งน่าจะเคยเป็นที่ตั้งของแท่งหินซึ่งมีขนาดเล็กกว่าของสโตนเฮนจ์ แต่หลุมทั้งหมดว่างเปล่าและไม่มีก้อนหินหลงเหลืออยู่เลย

ความแตกต่างระหว่างวงกลมหินขนาดเล็กที่ค้นพบใหม่นี้กับสโตนเฮนจ์ คือชนิดของหินที่นำมาก่อสร้าง โดยหินตั้งขนาดยักษ์ของสโตนเฮนจ์นั้นทำจากหินซาร์เซน (sarsen) หรือหินทรายแข็งในท้องถิ่น ที่นำมาจากหน้าผาหินปูนสีขาวริมชายฝั่งทางตอนใต้ของอังกฤษ ส่วนหินตั้งขนาดย่อมของวงกลมหินที่เล็กกว่านั้น ทำจากหินบลูสโตน (bluestones) หรือหินเนื้ออ่อนหลายชนิดที่มีสีเทาอมฟ้า ซึ่งได้จากทางตะวันตกเฉียงใต้ของแคว้นเวลส์ที่อยู่ห่างไกลออกไป

ชนิดและขนาดของหินเหล่านี้คือปัจจัยหลักที่นักโบราณคดีคาดว่า คนโบราณใช้มันตัดสินใจว่าหินก้อนไหนควรอยู่ต่อหรือควรถูกย้ายไปยังวงกลมหินแห่งใหม่ โดยหลุมออเบรย์ของวงกลมหินขนาดเล็กนั้น มีความกว้างและลึกเพียงพอที่จะตั้งหินบลูสโตนขนาดย่อมได้เท่านั้น ในขณะที่หลุมของวงกลมหินอีกแห่งที่อยู่ใกล้กัน มีร่องรอยว่าแท่งหินซาร์เซนอาจถูกขนย้ายไปยังสโตนเฮนจ์แล้ว

อย่างไรก็ตาม มีหลักฐานจากบันทึกทางประวัติศาสตร์ที่ชี้ว่า หินตั้งของสโตนเฮนจ์บางส่วนอาจสูญหายหรือถูกทำลายไปด้วยฝีมือของคนรุ่นหลังที่ชอบสะสมของโบราณ หรือนักท่องเที่ยวรุ่นเก่าในช่วงศตวรรษที่ 19 ที่ต้องการของที่ระลึก โดยผลการสำรวจด้วยเลเซอร์ในปี 2012 พบว่ามีร่องรอยการทุบหินด้วยค้อน ซึ่งเอกสารบันทึกประวัติศาสตร์เมื่อสองร้อยปีก่อนระบุว่า ผู้ที่อยากได้หินจากสโตนเฮนจ์ติดมือกลับบ้าน สามารถว่าจ้างช่างสกัดหินได้จากเมืองใกล้เคียง

ที่มาของภาพ : Getty Pictures

ขื่อหินซาร์เซนก้อนหนึ่งที่ร่วงหล่นลงมาจากด้านบนในปี 1797 และถูกนำกลับขึ้นไปในปี 1958 มีรูปทรงที่แปลกไปคล้ายขนมปังไส้กรอก โดยมีส่วนปลายกลมมนจากการถูกทุบและถากเอาเศษหินมานานหลายปี จนไม่ปรากฏเหลี่ยมมุมที่ชัดเจนเหมือนหินโบราณก้อนอื่น ๆ แต่ในอีกหลายกรณีอย่างเช่นหินก้อนใหญ่ที่เรียกว่า “หินเชือดสังหาร” (Slaughter Stone) แม้จะมีร่องรอยการทุบและถากด้วยสิ่ว แต่ก็พบหลุมออเบรย์อยู่ข้างกันด้วย ทำให้น่าสงสัยว่าหินก้อนนี้ถูกคนโบราณเคลื่อนย้ายหรือถูกทำลายด้วยสาเหตุอื่นกันแน่ ส่วนหินที่หายไปจากด้านตะวันตกเฉียงใต้ของสโตนเฮนจ์นั้น สันนิษฐานว่าอาจสึกกร่อนและสลายไปด้วยสาเหตุทางธรรมชาติ

แต่ถึงกระนั้นก็ตาม นักโบราณคดีไม่เคยพบว่ามีหินซาร์เซนที่ถูกเคลื่อนย้ายออกไปจากสโตนเฮนจ์เลย แต่หินบลูสโตนที่แตกสลายได้ง่ายกว่ากลับสูญหายไปตามกาลเวลาเพราะการกัดกร่อนของลมและน้ำ รวมทั้งอาจถูกนำไปใช้เป็นหินแผ่พลังรักษาโรค ตามความเชื่อของคนยุคสัมฤทธิ์และชาวโรมันโบราณ

ส่วนคำถามที่ว่าหินบลูสโตนถูกคนยุคหินใหม่นำมาจากแคว้นเวลส์ที่ห่างไกลออกไปมากได้อย่างไรนั้น หลักฐานที่พบจากหิน Boles Barrow Stone ซึ่งนักเขียนชาวอังกฤษผู้หนึ่งพบในปี 1934 ที่สวนหลังบ้านของเขาซึ่งไม่ไกลจากสโตนเฮนจ์นัก ชี้ว่าหินบลูสโตนอาจถูกธารน้ำแข็งในช่วงปลายยุคน้ำแข็งครั้งล่าสุด พัดพามายังตอนใต้ของอังกฤษก็เป็นได้

การค้นพบล่าสุดในปี 2024 ยังชี้ว่า “หินแท่นบูชา” (Altar Stone) ซึ่งเป็นหินทรายบลูสโตนขนาดใหญ่ก้อนเดียวที่หลงเหลืออยู่ และตั้งอยู่ตรงใจกลางวงกลมของสโตนเฮนจ์นั้น แท้จริงแล้วมาจากแหล่งกำเนิดที่ห่างไกลออกไปนับพันกิโลเมตร ในทางตะวันออกเฉียงเหนือของสกอตแลนด์ ซึ่งมีแต่การพัดพาของธารน้ำแข็งตามธรรมชาติในยุคดึกดำบรรพ์เท่านั้น ที่ทำให้มันสามารถมาปรากฏอยู่ตรงที่ตั้งของสโตนเฮนจ์ได้