เปิดประวัติ “จิมมี คาร์เตอร์” อดีตผู้นำเพื่อมวลชนเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ
อดีตประธานาธิบดี จิมมี คาร์เตอร์ ของสหรัฐฯ ถึงแก่อสัญกรรมในวัย 100 ปี โดยองค์กรเอกชนที่เขาก่อตั้งขึ้นได้แถลงยืนยันข่าวดังกล่าวแล้ว
ศูนย์คาร์เตอร์ (The Carter Heart) ซึ่งมุ่งส่งเสริมประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนของทั่วโลก ระบุว่าอดีตประธานาธิบดีคาร์เตอร์ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อช่วงบ่ายของวันอาทิตย์ที่ 29 ธ.ค. ที่บ้านพักของเขาในเมืองเพลนส์ (Plains) รัฐจอร์เจีย
เหตุการณ์นี้ถือได้ว่าเป็นการปิดฉากชีวิตของอดีตเกษตรกรไร่ถั่วลิสง ผู้กลายมาเป็นประธานาธิบดีที่มีอายุยืนยาวที่สุดในประวัติศาสตร์ของสหรัฐอเมริกา โดยเขาเพิ่งฉลองวันเกิดครบรอบหนึ่งศตวรรษไปเมื่อเดือนต.ค. ที่ผ่านมา
เส้นทางการเป็นผู้นำสหรัฐฯ ของคาร์เตอร์เริ่มขึ้น ภายหลังความปั่นป่วนวุ่นวายทางการเมืองอันเนื่องมาจากคดีวอเตอร์เกต (Watergate scandal) โดยเขาขึ้นครองอำนาจในทำเนียบขาวได้สำเร็จ หลังให้คำมั่นสัญญากับชาวอเมริกันว่าจะไม่โกหกประชาชนเหมือนผู้นำคนก่อน
อดีตชาวไร่ถั่วลิสงจากรัฐจอร์เจียผู้นี้ อภัยโทษให้แก่คนนับแสนที่หนีการเกณฑ์ทหารในช่วงสงครามเวียดนาม ทั้งยังเป็นผู้นำสหรัฐฯ คนแรก ที่สนใจปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศอย่างจริงจัง ส่วนบนเวทีการเมืองระหว่างประเทศนั้น คาร์เตอร์ยังเป็นตัวกลางคนสำคัญที่ช่วยเจรจาให้ข้อตกลงสันติภาพครั้งประวัติศาสตร์ระหว่างอียิปต์และอิสราเอลเป็นจริงขึ้นมา อย่างไรก็ตาม เขากลับประสบความล้มเหลวเมื่อต้องเผชิญกับวิกฤตตัวประกันอิหร่าน และเหตุการณ์ที่สหภาพโซเวียตรุกรานอัฟกานิสถาน
Skip เรื่องแนะนำ and continue readingเรื่องแนะนำ
Stop of เรื่องแนะนำ
เนื่องจากสหรัฐฯ เริ่มมีความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นกับจีนในช่วงทศวรรษ 1970 รัฐบาลของคาร์เตอร์จึงประกาศสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตในระดับปกติกับจีนในปี 1979 ซึ่งหมายความว่าสหรัฐฯ จำต้องตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับไต้หวัน และต้องสั่งปิดสถานทูตสหรัฐฯ ในกรุงไทเปลง
อดีตประธานาธิบดีคาร์เตอร์ดำรงตำแหน่งผู้นำสหรัฐฯ ได้เพียงสมัยเดียว ก็พ่ายแพ้ให้กับโรนัลด์ เรแกน ในศึกชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่ในปี 1980 โดยคาร์เตอร์สามารถคว้าคะแนนเสียงข้างมากมาครองได้ใน 6 รัฐเท่านั้น
แม้จะไม่ได้ดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศแล้ว แต่คาร์เตอร์ยังคงมุ่งมั่นทำงานต่อไปเพื่อส่งเสริมสันติภาพ, สิทธิมนุษยชน, และประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม จนได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในปี 2002
ตลอดระยะเวลา 77 ปีในชีวิตสมรส คาร์เตอร์ได้รับการช่วยเหลือสนับสนุนจาก “โรซาลิน” ผู้เป็นภรรยาของเขา ตราบจนวาระสุดท้ายในชีวิตของเธอเมื่อเดือนพ.ย. ปี 2023 ซึ่งเขาได้กล่าวไว้อาลัยให้กับคู่ชีวิตว่า “เธอมีส่วนในการสร้างความสำเร็จมากพอ ๆ กับผม ในผลงานทุกอย่างที่ได้ทำมา”
ก่อนจะถึงแก่อสัญกรรมได้ไม่นาน อดีตประธานาธิบดีผู้มีอายุยืนยาวที่สุดในประวัติศาสตร์ของสหรัฐฯ ได้เข้ารับการรักษาโรคมะเร็งมาระยะหนึ่ง ก่อนจะตัดสินใจรับการรักษาแบบผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่บ้านพักหลังเล็ก ๆ ของเขา ซึ่งตั้งอยู่ที่บ้านเกิดในรัฐจอร์เจีย
บาสเกตบอลและนิกายแบ๊บติสต์
เจมส์ เอิร์ล คาร์เตอร์ จูเนียร์ เกิดเมื่อวันที่ 1 ต.ค. 1924 ที่เมืองเพลนส์ (Plains) ซึ่งเป็นเมืองเล็ก ๆ ในรัฐจอร์เจีย โดยเป็นลูกคนโตในบรรดาบุตร 4 คน ของเจมส์ เอิร์ล คาร์เตอร์ ซีเนียร์ ผู้ก่อตั้งธุรกิจไร่ถั่วลิสงของครอบครัวและนักการเมืองที่มีแนวคิดแบ่งแยกสีผิว กับนางลิเลียนผู้ภรรยาซึ่งเป็นพยาบาลวิชาชีพ
คาร์เตอร์เป็นนักบาสเกตบอลดาวเด่นตอนเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ประสบการณ์ชีวิตหลังจากเผชิญภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (Mountainous Despair) และความศรัทธาอย่างเหนียวแน่นในคริสตจักรแบ๊บติสต์ ได้หล่อหลอมพื้นฐานปรัชญาและแนวคิดทางการเมืองของตัวเขาเองขึ้นมา
คาร์เตอร์เคยเป็นทหารในกองทัพเรือสหรัฐฯ นานถึง 7 ปี จนได้เป็นเจ้าหน้าที่ประจำเรือดำน้ำ โดยในระหว่างนั้นเขาสมรสกับโรซาลินผู้ภรรยาซึ่งเป็นเพื่อนของน้องสาวมาก่อน จนกระทั่งมรณกรรมของบิดาในปี 1953 ทำให้เขาต้องลาออกจากกองทัพเรือ เพื่อกลับไปดูแลฟาร์มและไร่ถั่วลิสงของที่บ้านซึ่งกำลังอยู่ในสภาพย่ำแย่
ในปีแรกพืชผลเสียหายอย่างหนักเนื่องจากภัยแล้ง แต่ต่อมาคาร์เตอร์ได้พยายามพลิกฟื้นและเปลี่ยนแปลงธุรกิจการเกษตรของเขาจนมีฐานะร่ำรวยขึ้น และได้เข้าสู่แวดวงการเมืองโดยไต่เต้าจากสนามเลือกตั้งระดับล่าง เช่นการเลือกตั้งคณะกรรมการโรงเรียนและห้องสมุดท้องถิ่น จนได้เป็นวุฒิสมาชิกของรัฐจอร์เจียในที่สุด
นักรณรงค์เพื่อสิทธิพลเมือง
ในยุคนั้นการเมืองอเมริกันลุกเป็นไฟ เพราะศาลฎีกามีคำตัดสินให้โรงเรียนต่าง ๆ รับนักเรียนทุกเชื้อชาติและสีผิวเข้ามาเรียนรวมกันโดยไม่แบ่งแยก ซึ่งแม้จะดูเหมือนว่าคาร์เตอร์ที่เป็นเกษตรกรจากรัฐทางใต้ ควรจะคัดค้านนโยบายปฏิรูปดังกล่าวเหมือนกับพ่อของเขา แต่ในความเป็นจริงแล้ว ความคิดเห็นของวุฒิสมาชิกคาร์เตอร์กลับแตกต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง
อย่างไรก็ตาม ระหว่างที่ดำรงตำแหน่งวุฒิสมาชิกรัฐจอร์เจียอยู่สองสมัย คาร์เตอร์พยายามหลีกเลี่ยงการปะทะขัดแย้งกับบรรดานักการเมืองที่สนับสนุนนโยบายแบ่งแยกสีผิว โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเหล่านักการเมืองภายในพรรคเดโมแครตที่เขาสังกัดอยู่ จนกระทั่งเขาได้เป็นผู้ว่าการรัฐจอร์เจียในปี 1970 คาร์เตอร์จึงแสดงออกอย่างแข็งขันมากขึ้นในการรณรงค์เรียกร้องเพื่อสิทธิพลเมือง
“ผมขอบอกตรง ๆ ว่า ยุคสมัยของการแบ่งแยกเชื้อชาตินั้นจบสิ้นลงแล้ว” คาร์เตอร์กล่าวประโยคนี้ในสุนทรพจน์ของพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งผู้ว่าการรัฐจอร์เจีย เขายังแขวนภาพของมาร์ติน ลูเธอร์ คิง บนผนังของอาคารรัฐสภาของรัฐจอร์เจียด้วย ในตอนที่กลุ่มคู คลักซ์ แคลน กำลังชุมนุมประท้วงอยู่ตรงด้านนอก เขายังเป็นผู้ออกนโยบายที่รับประกันว่า คนอเมริกันเชื้อสายแอฟริกันจะได้รับการแต่งตั้งเข้าดำรงตำแหน่งในภาครัฐอย่างแน่นอน
แต่ในประเด็นเรื่องการทำแท้งนั้น คาร์เตอร์พบว่าเป็นเรื่องยากที่เขาจะประนีประนอมความเชื่อทางศาสนาที่ฝังแน่น ให้สอดคล้องกับสัญชาตญาณนักเสรีนิยมของตนเองได้ ผลก็คือแม้เขาจะสนับสนุนสิทธิในการยุติการตั้งครรภ์ของผู้หญิง แต่กลับปฏิเสธที่จะเพิ่มงบประมาณให้ภาครัฐเพื่อปฏิบัติตามนโยบายดังกล่าว
ในปี 1974 คาร์เตอร์เข้าร่วมศึกชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในระหว่างที่การเมืองอเมริกันยังคงปั่นป่วนวุ่นวายด้วยคดีฉาววอเตอร์เกตที่กระแสยังไม่จางหาย เขาใช้โอกาสนี้ชูภาพลักษณ์คนธรรมดาของตัวเองที่เป็นเพียงชาวไร่ถั่วลิสง โดยสื่อแสดงถึงความมือสะอาดปราศจากสิ่งแปดเปื้อนทางจริยธรรมแบบนักการเมืองอาชีพ
สวมกางเกงยีนส์เข้าทำเนียบขาว
การรณรงค์หาเสียงแบบนี้เข้ากับยุคสมัยอย่างเหมาะเหม็ง เพราะคนอเมริกันในตอนนั้นกำลังต้องการ “คนนอก” ที่ไม่เกี่ยวข้องกับกลุ่มอำนาจเดิม ซึ่งคาร์เตอร์คือบุคคลที่เหมาะสมที่สุดในสถานการณ์ดังกล่าว
แม้จะมีภาพลักษณ์ที่ใสสะอาดเปี่ยมศีลธรรม แต่เขากล่าวยอมรับกับนิตยสารเพลย์บอยในการสัมภาษณ์ครั้งหนึ่งว่า “ผมแอบมีชู้ทางใจหลายต่อหลายครั้ง” อย่างไรก็ตาม ไม่ปรากฏหลักฐานว่าเขาเคยมีสัมพันธ์สวาทนอกสมรสแต่อย่างใด
ในช่วงต้นของการดำรงตำแหน่งผู้นำสหรัฐฯ ผลสำรวจชี้ว่าเขามีเสียงสนับสนุนจากภายในพรรคเดโมแครตเพียง 4% แต่ในเวลาเพียง 9 เดือนต่อมา เขากลับมีคะแนนนิยมนำหน้าเจ้าของสถิติเดิม ซึ่งก็คือประธานาธิบดีเจอรัลด์ ฟอร์ด เสียอีก
ในการทำงานวันแรก คาร์เตอร์ออกคำสั่งอภัยโทษให้ชายชาวอเมริกันนับแสนคน ที่หนีการเกณฑ์ทหารไปในช่วงสงครามเวียดนาม ไม่ว่าจะเป็นการหลบหนีไปต่างประเทศ หรือกรณีหลบเลี่ยงไม่ไปรายงานตัวกับสัสดีในท้องที่ของตนเองก็ตาม
วุฒิสมาชิกแบร์รี โกลด์วอเทอร์ จากพรรครีพับลิกัน วิจารณ์ตำหนิการตัดสินใจของคาร์เตอร์ว่า “เป็นสิ่งน่าอับอายที่สุดที่ผู้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีเคยทำมา” ส่วนคาร์เตอร์กล่าวยอมรับในภายหลังว่า เรื่องนี้ถือเป็นการตัดสินใจครั้งที่ยากที่สุด ในระหว่างการดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศ
ในด้านการส่งเสริมสิทธิสตรีนั้น คาร์เตอร์แต่งตั้งให้ผู้หญิงเข้ารับตำแหน่งสำคัญในรัฐบาล และสนับสนุนให้ภรรยาของเขาปฏิบัติหน้าที่สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งได้เป็นอย่างดี โดยให้เธอเป็นผู้นำการรณรงค์แก้ไขบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญเรื่องสิทธิเท่าเทียม เพื่อปูทางให้มีการออกกฎหมายต่อต้านการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุผลทางเพศ แม้การรณรงค์นี้จะไม่ประสบความสำเร็จก็ตาม
คาร์เตอร์ยังเป็นหนึ่งในผู้นำระดับโลกคนแรก ที่ให้ความสนใจต่อปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศอย่างจริงจัง เขาเคยสวมกางเกงยีนส์และเสื้อสเวตเตอร์กันหนาวเข้าไปที่ทำเนียบขาว พร้อมกับปรับลดอุณหภูมิเครื่องทำความร้อนเพื่อประหยัดพลังงาน ต่อมาเขายังติดตั้งแผงเซลล์สุริยะบนหลังคาของทำเนียบขาว ซึ่งต่อมาอดีตประธานาธิบดีเรแกนได้รื้อออก นอกจากนี้ เขายังเคยผ่านกฎหมายคุ้มครองพื้นที่ทางธรรมชาติหลายล้านเอเคอร์ในอะแลสกาซึ่งยังอยู่ในสภาพสมบูรณ์ เพื่อไม่ให้ถูกบุกรุกทำลายเพราะการพัฒนาในอนาคตด้วย
หายนะภารกิจช่วยเหลือตัวประกัน
รายการ “สนทนาข้างเตาผิงไฟ” (fireside chat) ของคาร์เตอร์ หรือรายการผู้นำพบประชาชนซึ่งออกอากาศทางโทรทัศน์เป็นประจำ แม้จะเป็นการเจตนาสร้างภาพลักษณ์ผู้นำที่ง่าย ๆ สบาย ๆ ให้กับตัวเขา แต่มันกลับส่งผลเสียให้เขาดูไม่เป็นทางการและไม่เป็นมืออาชีพ เมื่อต้องเผชิญกับปัญหาร้ายแรงที่รับมือได้ยาก
ในตอนที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ ถดถอยถึงขั้นดิ่งเหว ความนิยมในตัวคาร์เตอร์ก็ลดฮวบลงไปด้วยเช่นกัน ในตอนนั้นเขาพยายามชักจูงให้คนทั้งประเทศ ยอมทำตามมาตรการรัดเข็มขัดเพื่อรับมือกับวิกฤตด้านพลังงาน เช่นยอมรับการปันส่วนน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งนโยบายนี้พบกับการต่อต้านคัดค้านอย่างรุนแรงในสภาคองเกรส นอกจากนี้ แผนจัดตั้งระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้ายังล้มเหลวระหว่างการอภิปรายในรัฐสภา ในขณะที่อัตราการว่างงานและอัตราดอกเบี้ยยังคงพุ่งสูงอย่างต่อเนื่อง
ในตอนแรกนโยบายต่างประเทศเพื่อแก้ปัญหาในภูมิภาคตะวันออกกลาง ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีหลังประธานาธิบดีซาดัตของอียิปต์ และนายกรัฐมนตรีเบกินของอิสราเอล ยอมลงนามในข้อตกลงสันติภาพแคมป์เดวิดเมื่อปี 1978
แต่ความสำเร็จนี้อยู่ได้ไม่นานนัก รัฐบาลของคาร์เตอร์ก็ต้องเผชิญกับวิกฤตครั้งใหม่ หลังสหภาพโซเวียตรุกรานอัฟกานิสถาน และการปฏิวัติอิสลามในอิหร่านส่งผลให้มีการจับชาวอเมริกันหลายคนเป็นตัวประกัน
บททดสอบที่ยากยิ่งดังกล่าว ทำให้รัฐบาลของคาร์เตอร์ตัดความสัมพันธ์ทางการทูต และใช้มาตรการคว่ำบาตรทางการค้ากับอิหร่าน โดยหวังให้มีการปล่อยตัวประกันทันทีแต่ก็ไม่เป็นผล ต่อมาความพยายามใช้กำลังทหารเข้าช่วยเหลือตัวประกัน ทำให้เจ้าหน้าที่ของสหรัฐฯ เสียชีวิตถึง 8 คน ซึ่งดับฝันของคาร์เตอร์ที่จะได้รับเลือกตั้งเป็นผู้นำสมัยที่สองลงอย่างสิ้นเชิง
พ่ายแพ้ให้เรแกน
แม้คาร์เตอร์จะสามารถเอาชนะวุฒิสมาชิกเอ็ดเวิร์ด เคเนดี ในการเป็นตัวแทนพรรคลงชิงชัยในศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 1980 ไปได้อย่างเฉียดฉิว และได้รับคะแนนเสียงจากประชาชนทั้งประเทศที่ 41% ในการเลือกตั้งครั้งนั้น แต่เสียงสนับสนุนดังกล่าวก็ไม่เพียงพอที่จะเอาชนะโรนัลด์ เรแกน อดีตดารานักแสดงตัวแทนพรรครีพับลิกัน ที่คว้าชัยไปด้วยคะแนนเสียงจากคณะผู้เลือกตั้งอย่างถล่มทลายได้
ในวันสุดท้ายของการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี คาร์เตอร์ได้ประกาศถึงความสำเร็จในการเจรจาปล่อยตัวประกันกับอิหร่าน ซึ่งขั้นตอนสุดท้ายในการเจรจาได้เสร็จสิ้นสมบูรณ์แล้ว อย่างไรก็ตาม อิหร่านได้รั้งรอต่อไปจนประธานาธิบดีคนใหม่สาบานตนเข้ารับตำแหน่ง จึงได้ยอมปล่อยตัวประกันให้เดินทางกลับสหรัฐฯ
ในตอนที่พ้นตำแหน่ง คาร์เตอร์มีคะแนนนิยมจากประชาชนในระดับต่ำที่สุด ในบรรดาประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่เคยมีมาทั้งหมด แต่ในอีกหลายปีต่อมา การทำงานอย่างไม่ลดละทำให้เขาสามารถกอบกู้ชื่อเสียงกลับคืนมาได้
ในฐานะผู้แทนของรัฐบาลสหรัฐฯ คาร์เตอร์ได้เดินทางไปเกาหลีเหนือเพื่อเจรจาสร้างสันติ ซึ่งได้นำไปสู่การร่างกรอบงานเพื่อสันติภาพที่เห็นพ้องต้องกันทั้งสองฝ่ายในที่สุด ซึ่งนับเป็นขั้นแรกในการทำสนธิสัญญาขจัดอาวุธนิวเคลียร์ต่อไป
ศูนย์ประธานาธิบดีคาร์เตอร์ (Carter Presidential Heart) ซึ่งเป็นห้องสมุดขนาดใหญ่ของเขา ได้กลายมาเป็นศูนย์รวมแนวคิดและโครงการเพื่อแก้ไขวิกฤตความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอันทรงอิทธิพล จนต่อมาในปี 2002 เขาได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ โดยเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่สาม ที่ได้รับรางวัลอันทรงเกียรติดังกล่าว ต่อจากธีโอดอร์ รูสเวลต์ และวูดโรว์ วิลสัน แต่เขาเป็นคนเดียวที่ได้รับรางวัลจากผลงานในช่วงหลังพ้นตำแหน่งผู้นำประเทศ
“ปัญหารุนแรงที่สุดที่พบเจอกันบ่อยที่สุดทั่วโลก คือการขยายตัวของช่องว่างความเหลื่อมล้ำ ระหว่างคนจนที่สุดกับคนรวยที่สุดของโลก” คาร์เตอร์กล่าวข้างต้นในสุนทรพจน์ระหว่างพิธีมอบรางวัลโนเบลปี 2002 เขายังร่วมกับเนลสัน แมนเดลา ก่อตั้งกลุ่ม “ผู้อาวุโส” (The Elders) ซึ่งเป็นเหล่าผู้นำระดับโลกที่อุทิศตนให้กับการส่งเสริมสันติภาพและสิทธิมนุษยชน
ไม่เคยใฝ่ฝันถึงความมั่งคั่งร่ำรวย
ในวัยเกษียณ คาร์เตอร์เลือกใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย หลีกเลี่ยงการปรากฏตัวในที่สาธารณะและการแสดงสุนทรพจน์ต่าง ๆ เพื่อใช้ชีวิตในบ้านเกิดกับภรรยา ก่อนหน้านี้เขากล่าวเสมอว่า ไม่เคยต้องการสร้างความมั่งคั่งร่ำรวยระหว่างที่ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีเลย คาร์เตอร์เคยให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์ว่า “ผมว่ามันไม่ผิด และไม่ขอกล่าวโทษคนอื่นที่ทำเช่นนั้น เพียงแต่ผมไม่เคยใฝ่ฝันถึงความมั่งคั่งร่ำรวยก็เท่านั้น”
คาร์เตอร์เป็นผู้นำคนเดียวในประวัติศาสตร์ของสหรัฐฯ ที่กลับไปอยู่บ้านเกิดแบบเต็มเวลาหลังพ้นวาระการดำรงตำแหน่ง โดยเขากลับไปอยู่บ้านชั้นเดียวสองห้องนอน ที่เคยอยู่ตั้งแต่สมัยยังไม่ได้ลงเล่นการเมือง ซึ่งหนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์รายงานว่า บ้านหลังดังกล่าวมีมูลค่าเพียง 167,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งถูกกว่าราคารถยนต์ของกรมกิจการลับที่ให้การอารักขาบุคคลสำคัญของสหรัฐฯ ที่จอดอยู่หน้าบ้านของคาร์เตอร์เสียอีก
ในปี 2015 คาร์เตอร์แถลงว่าเขาป่วยด้วยโรคมะเร็ง ซึ่งเป็นโรคเดียวกับที่คร่าชีวิตพ่อแม่และน้องสาวทั้งสามคนของเขาไปก่อนหน้านั้น และหลังจากเข้ารับการผ่าตัดรักษากระดูกสะโพกที่หักได้ไม่กี่เดือน เขากับภรรยาก็กลับไปทำงานเป็นอาสาสมัครก่อสร้างบ้านให้กับโครงการ “ที่อยู่อาศัยเพื่อมนุษยชาติ” (Habitat for Humanity) ในทันที ซึ่งทั้งคู่เป็นอาสาสมัครให้กับโครงการนี้มาตั้งแต่ปี 1984 โดยช่วยสร้างและซ่อมแซมบ้านมากว่า 4,000 หลังแล้ว
คาร์เตอร์ยังไปช่วยสอนหนังสือที่คริสตจักรแบ๊บติสต์มารานาธาในเมืองเพลนส์ทุกวันอาทิตย์ และในบางครั้งก็ได้มีโอกาสต้อนรับว่าที่ตัวแทนพรรคเดโมแครต ที่ต้องการลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีด้วย ปรัชญาการเมืองของเขานั้นเป็นส่วนผสมของความขัดแย้ง ระหว่างสัญชาตญาณแบบเสรีนิยมกับแนวคิดของคนที่เติบโตมาในเมืองเล็ก ๆ ที่มีความเป็นอนุรักษนิยมสูง แต่สิ่งที่ขับเคลื่อนการทำงานเพื่อสาธารณชนส่วนใหญ่ในชีวิตของเขา คือความเชื่อทางศาสนาที่เขายึดมั่นศรัทธาอย่างลึกซึ้ง
“เราไม่อาจแยกการรับใช้รัฐและประชาชนออกจากความเชื่อทางศาสนาได้ ผมไม่เคยพบความขัดแย้งใด ๆ ระหว่างพระประสงค์ของพระเจ้าและภารกิจทางการเมืองของตัวเอง หากคุณละเมิดสิ่งหนึ่ง ก็เท่ากับละเมิดอีกสิ่งหนึ่งด้วย”
ที่มา BBC.co.uk