เปิดปัจจัย เหตุใดการค้นหาและกู้ภัยตึก สตง. ถล่ม จึงทำได้ยาก

ที่มาของภาพ : Getty Images
การกู้ภัยและค้นหาผู้สูญหายใต้ซากอาคารก่อสร้างสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่ถล่มจากแผ่นดินไหวเมื่อวันศุกร์ที่ 28 มี.ค. เข้าสู่วันที่ 6 แล้ว โดยปฏิบัติการได้เข้าสู่ระยะการใช้เครื่องจักรหนักเพื่อเปิดหน้างาน ควบคู่ไปกับการใช้เจ้าหน้าที่และเรดาร์ค้นหาสัญญาณชีพรวมทั้งสุนัขกู้ภัย K9 เพื่อยืนยันผู้ประสบภัย
เครื่องจักรหนักทั้งรถแบคโฮร์ รถตัด-คีบ พร้อมด้วยเครนขนาดใหญ่ ได้เข้าดำเนินการรื้อถอน ตัดแยกชิ้นส่วนของซากอาคารที่ทับถมกันเทียบเท่าความสูงตึก 4-5 ชั้น เพื่อเร่งค้นหาผู้ที่ติดอยู่ใต้ซากอาคาร ตลอดทั้งวันนี้ (2 เม.ย.) ซึ่งเป็นปฏิบัติการที่แตกต่างจากการกู้ภัยในช่วง 5 วันแรก
ความคืบหน้าในวันนี้ เจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการร่วมกับการใช้อุปกรณ์กู้ภัย ตัด เจาะ เพื่อเข้าถึงตัวผู้ประสบภัย โดยหลังจากสามารถเปิดพื้นที่ออกทีละชั้น เจ้าหน้าที่ได้เข้าไปสำรวจเพื่อค้นหาผู้สูญหายที่เหลืออยู่กว่า 70 คน
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า จะยังไม่มีการยุติปฎิบัติการค้นหาชีวิต แต่เป็นการใช้เครื่องมือหนักเข้าไปปฏิบัติการเพิ่มขึ้น ในรูปแบบของการรื้อที่หนักขึ้น แต่ระหว่างการรื้อก็คอยมอนิเตอร์การช่วยชีวิตคู่ขนาดกันไป
ณ เวลา 8.40 น. วันนี้ (2 เม.ย.) กรุงเทพมหานคร ระบุตัวเลขของผู้สูญหายจากเหตุอาคาร สตง. ถล่มอยู่ที่ 72 ราย เสียชีวิต 15 ราย และรอดชีวิต 9 ราย
เรื่องแนะนำ
End of เรื่องแนะนำ
จากปฏิบัติการที่ล่วงเข้าสู่วันที่ 6 นับตั้งแต่เกิดเหตุ มีเสียงวิจารณ์ถึงความล่าช้าและวิธีการค้นหา บีบีซีไทยรวบรวมความยากและอุปสรรคของการปฏิบัติงาน และคำอธิบายจากผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนี้
แนวปฏิบัติ 72 ชั่วโมงของการช่วยชีวิต
ระยะเวลา 72 ชั่วโมงหลังเกิดเหตุการณ์ตึกถล่มและมีผู้ติดอยู่ซากอาคาร เป็นตัวเลขที่ทางการกล่าวในการแถลงข่าวบ่อยครั้งในช่วงการค้นหาและช่วยชีวิต ตั้งแต่วันแรก ๆ
ตัวเลข 72 ชั่วโมงคือ ชั่วโมงทองในการช่วยชีวิตซึ่งตามคำอธิบายของ ผศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการภัยพิบัติ อธิบายว่า คือช่วงเวลาที่ผู้ประสบภัยจะมีโอกาสในการรอดชีวิตสูง ซึ่งเป็นระยะเวลาที่่ร่างกายจะสามารถทนได้
ในปฏิบัติการที่เห็นในช่วงตั้งแต่วันแรกจนถึงอย่างน้อยวันที่ 3 จึงเป็นการเข้าค้นหาเพื่อช่วยชีวิต โดยเจ้าหน้าที่กู้ภัยและสุนัขกู้ภัย (K9) ที่เข้าไประบุจุดพิกัดที่พบผู้ประสบภัย

ที่มาของภาพ : Getty Images
“72 ชั่วโมงมันเป็นไกด์ไลน์ของการอยู่รอด แต่คนอยู่รอดก็มี 5 วัน 7 วัน ก็มี ดังนั้น ไม่ได้เดดไลน์ว่าต้องเป็น 72 ชั่วโมง ก็ขอบคุณผู้ที่แนะนำ แนวคิดเอาปูนออกจากร่าง เอาร่างออกจากปูน ผมก็ไม่เคยได้ยินแนวทางนี้ ก็เป็นแนวคิดของแต่ละคน แต่ก็เป็นสิ่งที่พยายามทำอยู่” นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ระบุ เมื่อ 2 เม.ย.
เกี่ยวกับเรื่องนี้ รศ.เอนก ศิริพานิชกร ที่ปรึกษาสาขาวิศวกรรมโยธา วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) บอกกับบีบีซีไทยว่า “เมจิก นัมเบอร์ คือ 72 ชั่วโมงแรก” ดังนั้นการค้นหาจะเห็นว่าเน้นในกิจกรรมที่ไม่เกิดการกระทบ เพราะถ้ามีการรื้อถอนในช่วงระยะนี้ โครงสร้างและซากอาคารต่าง ๆ อาจไปกระทบกับผู้ประสบภัยที่ติดอยู่ภายใต้ซาก ซึ่งอาจกลายเป็นอุบัติเหตุซ้ำซ้อนและเป็นเหตุที่ทำให้เสียชีวิตได้
“ในต่างประเทศ เมจิกนัมเบอร์ก็ 72 ชม. เช่นกัน แต่เราก็มีความหวังว่าสมมติว่า (ผู้สูญหาย) ไปอยู่ในแชมเบอร์ (ช่อง) ที่มันมีอากาศ ขยับตัวน้อย ใช้พลังงานน้อย ก็น่าจะเจอผู้รอดชีวิต… ที่ผ่านมา ทีมกู้ภัยพยายามตรวจสอบว่าช่องโพรงจุดไหนที่เข้าได้ เพื่อที่จะพยายามเปิดช่องเอาอากาศเข้าไป จะทำให้ผู้ประสบภัย อาจจะสามารถดำรงชีพอยู่ได้ในสถานการณ์นั้น” ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรม กล่าว
น้ำหนักของซากอาคาร
การค้นหาผู้รอดชีวิตอย่างต่อเนื่องและเริ่มการรื้อถอนไปด้วย คือยุทธวิธีที่เริ่มดำเนินการเมื่อวันอังคารที่ 1 เม.ย. หรือวันที่ 5 หลังจากที่เกิดเหตุตึกถล่ม ตามการเปิดเผยของนายชัชชาติ ผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานคร
นายชัชชาติกล่าวว่า ตั้งแต่คืนวันจันทร์ (31 มี.ค.) ได้มีการติดตั้งเครนทั้งหมด 4 ตัว โดยมีรถเครน 600 และ 500 ตัน อย่างละ 1 ตัว และขนาด 200 ตัน อีกจำนวน 2 ตัว ซึ่งจะนำมายกชิ้นส่วนขนาดใหญ่เพื่อเปิดโพรงเส้นทางเพิ่มเติมให้เจ้าหน้าที่กู้ภัยเข้าไปสำรวจพื้นที่และระบุตำแหน่งผู้รอดชีวิตและร่างเพิ่มเติม อย่างไรก็ตาม แม้เครนจะมีกำลังมากแต่เนื่องจากแขนรถเครนต้องยื่นออกไปในระยะไกล ทำให้แรงกำลังของเครนลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ
“เรามีเครน 600 ตัน ก็จริง แต่เครนเวลามันยื่นแขนออกไป 50 เมตร กำลังยกมันเหลือแค่ 20 ตัน แล้ว 20 ตัน เนี่ยมันต้องมีความเสี่ยง เพราะฉะนั้นเราต้องตัดชิ้น ซากอาคาร ให้เหลือแค่ 10 ตัน จึงต้องซอยชิ้นให้เล็กก่อน แล้วก็ยก” ผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานคร กล่าว
น้ำหนักของซากอาคารเหล่านี้คือปัจจัยหนึ่งที่ทำให้การเปิดเส้นทางตรวจสอบเป็นไปได้อย่างล่าช้า “เราใช้เวลาเกือบ 4 ชั่วโมง ในการยกชิ้นส่วนเพียง 4 ชิ้น” นายชัชชาติ กล่าวเสริม และในการแถลงประจำวันในวันนี้ (2 เม.ย.) เขาเปิดเผยว่า ตลอดทั้งคืนที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่สามารถยกชิ้นส่วนออกไปได้ราว 10 ชิ้น รวมน้ำหนักประมาณ 100 ตัน

ที่มาของภาพ : Getty Images
น้ำหนักของเศษซากถือเป็นอุปสรรคใหญ่ รศ.เอนก ที่ปรึกษาสาขาวิศวกรรมโยธา วสท. อธิบายกับบีบีซีไทยว่า น้ำหนักของคอนกรีตสำเร็จจะหนักประมาณ 2.4 ตันต่อลูกบาศก์เมตร จากการประเมินพื้นที่ทางอากาศซึ่งใช้โดรนขึ้นบิน คาดว่าปริมาตรของวัสดุซากอาคารทั้งหมดอยู่ 26,000 คิว ซึ่งหากคำนวณเป็นน้ำหนักแล้วจะอยู่ที่เกือบ 40,000 ตัน จึงไม่ง่ายต่อการที่จะยกชิ้นส่วนต่าง ๆ ออก
“อย่าลืมว่าแต่ละชิ้นอย่างต่ำผมว่ามี 15 ตัน อย่างต่ำเลยนะ ไม่ง่ายเลย” รศ.เอนก กล่าว “อย่างเสาที่เป็นเสาด้านหน้าอาคาร สตง. ขนาด 1.4 เมตร คูณ 1.4 เมตร สมมติถ้ามันหักท่อนละ 3 เมตร ก็หนัก 14 ตันแล้ว ถ้าเป็นการทุบรื้อถอนอาคารแบบตั้งใจ เราจะทอนให้มันเล็กกว่านี้”
เมื่อประกอบปัจจัยที่อาจไปกระทบต่อตัวผู้ประสบภัย ทำให้ในระยะเวลา 72 ชั่วโมงแรก จึงยังไม่ใช่การใช้เครื่องมือหนักในการเปิดพื้นที่
ความไม่เสถียรของซากอาคารที่ถล่ม
“หลายคนอาจจะบ่นว่าทำไมไม่เอากู้ภัยเข้ามา งานไม่ได้เข้ามาได้ง่าย ๆ นะ ไม่ใช่จำนวนคนจะเข้ามาได้ เพราะว่าแต่ละคนเข้ามาก็ต้องระวัง มันเป็นทางชัน เหมือนภูเขาเลย” ผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ กล่าว
นายชัชชาติ ผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานคร เปิดเผยผ่านการถ่ายทอดสดบนเฟซบุ๊กของเขาเมื่อช่วงค่ำที่ผ่านมาว่า เจ้าหน้าที่กู้ภัยจำนวนมากไม่สามารถเข้าไปภายในบริเวณตึกที่ถล่มได้ โดยต้องมีการจำกัดจำนวนคนเพื่อความปลอดภัย เนื่องจากบางพื้นที่ของอาคารที่ถล่มลงมานั้นยังมีความเคลื่อนไหวอาจทำให้เกิดอันตรายต่อเจ้าหน้าที่ได้
ระหว่างการถ่ายทอดสดออนไลน์ข้างต้นของนายชัชชาติ มีเสียงสัญญาณเตือนดังขึ้นระหว่างการดำเนินการกู้ภัย เนื่องจากมีการตรวจพบการเคลื่อนไหวของซากอาคารประมาณ 5 มิลลิเมตร ทำให้เจ้าหน้าที่กู้ภัยต้องหยุดการดำเนินงานชั่วคราว
“จุดนี้เป็นจุดที่เปราะบางนิดหนึ่งเพราะว่ามันมีการขยับตัวเหมือนกับว่ามันจะพังลงมา มันก็ต้องมีทีมงานที่ต้องคอยเฝ้าระวังตลอด ไม่อย่างงั้นมันจะมาทับคนที่ทำงานอยู่” นายชัชชาติระบุ พร้อมหันกล้องไปทางเศษซากอาคารสูงที่มีการเอียงตัว

ที่มาของภาพ : Getty Images
อาคารสูง 30 ชั้นสร้างไม่เสร็จและไม่มีแปลน – พื้นปูนและผนังมีความหนา
“อุปสรรคมีเกี่ยวกับเรื่องตึก 30 ชั้น พอ 30 ชั้นแล้วมันยังสร้างไม่เสร็จ พอยังไม่เสร็จ เราไม่มีแปลนอาคาร” นายบิณฑ์ บรรลือฤทธิ์ เจ้าหน้าที่ทีมอาสาสมัครกู้ภัยมูลนิธิร่วมกตัญญู ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนเมื่อ 1 เม.ย. ว่าหนึ่งในอุปสรรคที่ทีมกู้ภัยเผชิญคือ ความยากในการระบุพิกัดจุดต่าง ๆ ในซากตึกถล่ม เนื่องจากไม่มีแปลนชั้นที่ชัดเจน
นอกจากนี้โครงสร้างของตึกที่ถล่มยังมีพื้นปูนและผนังด้านข้างที่หนาเป็นหลักเมตร โดยเครื่องมือที่เจ้าหน้าที่ใช้ไม่สามารถเจาะเข้าไปได้
“เราพยายามรีบสแกนหา ร่างหรือผู้รอดชีวิต เจอตรงไหนเราพยายามเจาะ แต่จริง ๆ แล้วถ้าใช้พวกเครื่องมือที่เรานำเข้าไป มันใช้ไม่ได้เลย ใช้ได้กับบางพื้นที่เท่านั้นเอง ฉะนั้น 4 วัน เราเพิ่งเจอร่างอยู่ประมาณ 14 ร่าง เพราะฉะนั้นเราไม่สามารถที่จะทำอะไรได้เลย ตอนนี้ต้องรอใช้เครื่องมือหนัก” นายบิณฑ์ ระบุ
“ผมว่าในประเทศไทยไม่มีใครมีประสบการณ์ขนาดนี้ ในขนาดนี้” นายชัชชาติ ระบุในการให้สัมภาษณ์กับรายการ “กรรมกรข่าว คุยนอกจอ” เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา พร้อมทั้งเปิดเผยบทสนทนาระหว่างตัวนายชัชชาติที่พูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญการกู้ภัยนานาชาติที่มีประสบการณ์มานานกว่า 40 ปีว่า การค้นหาและกู้ภัยครั้งนี้ ถือเป็นหนึ่งในการกู้ภัยที่ยากที่สุดที่เคยเจอมา เนื่องจากงานมีความซับซ้อนสูง
“ตึก 30 ชั้น มันกองอยู่ที่เดียวกัน แล้วเป็นตึกคอนกรีตด้วย มันก็ทำให้มีสิ่งปรักหักพังเยอะ และก็น้ำหนักเยอะ ชิ้นหนึ่งก็เป็น 100 ตัน การเข้าออกต่าง ๆ ก็ไม่ได้ง่าย”
การค้นหาและกู้ภัย ณ ตอนนี้ มียุทธวิธีอย่างไร
นายชัชชาติ ผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานคร แถลงเมื่อช่วงเย็นที่ผ่านมา (2 เม.ย.) ว่าตอนนี้การค้นหาและกู้ภัย เริ่มปรับยุทธวิธี เพราะการเข้าด้วยเครนที่ยกชิ้นส่วนที่น้ำหนักเบาเริ่มไม่เพียงพอ จึงเริ่มมีเครื่องมือหนักเข้ามาในพื้นที่หน้างาน
“การค้นหาจนถึง 6 โมงเช้า ที่ผ่านมา เมื่อคืนเรานำผู้เสียชีวิตออกมา 1 คน แต่ร่างที่เราเห็นแล้วตามปล่องส่วนต่าง ๆ ข้างในมีประมาณ 14 คน และเมื่อคืนก็ได้กลิ่นหลายจุด แต่ยังเข้าไปไม่ได้ เพราะถึงแม้จะเปิดชิ้นส่วนออกมาแล้ว พอลงไปจริง ๆ ก็เจอเหล็ก เจออะไรอยู่ข้างในที่กีดขวางอยู่ค่อนข้างมาก อุปสรรคการเข้าถึง ก็ยังเป็นปัญหา”
เขาอธิบายว่า การเข้าค้นหากู้ภัยจะเป็นการค่อย ๆ เปลี่ยนจากโหมดการช่วยชีวิต เป็นการช่วยชีวิตและการรื้อถอนไปควบคู่กัน
“ถ้าเรสคิว ช่วยชีวิต ขั้นแรกถึงจุดหนึ่งไปต่อไม่ได้ ก็ค่อย ๆ รื้อถอนด้วยเครื่องมือเบาก่อน พวกเครนและเครื่องมือเบาก็เข้าไป จากนั้นถ้าเกิดเครื่องมือเบาไม่พอก็จะเริ่มหนักขึ้น การเรสคิว ช่วยชีวิต ก็ต้องหยุดชั่วคราว” ผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานคร กล่าว และบอกว่า ในวันนี้เป็นการสลับกันระหว่างการใช้เครื่องมือหนัก กับการส่งเจ้าหน้าที่กู้ภัยและสุนัขกู้ภัยเข้าไป
“เป็นกระบวนการร่วมกันของการรื้อกับการช่วยชีวิต เพราะฉะนั้น การช่วยชีวิตก็ยังทำงานอยู่” นายชัชชาติกล่าว

ที่มาของภาพ : Getty Images
ความแตกต่างการรื้อซากตึกถล่มกับการรื้อถอนอาคารทั่วไป
รศ.เอนก ศิริพานิชกร ที่ปรึกษาสาขาวิศวกรรมโยธา วสท. กล่าวกับบีบีซีไทย การรื้อซากอาคารตึกถล่มในเหตุภัยพิบัติอย่างแผ่นดินไหว แตกต่างกับการรื้อถอนอาคารทั่วไป
เขาอธิบายว่า หากดูตัวอย่างการรื้อถอนอาคารในต่างประเทศ ตัวเศษซากต่าง ๆ ที่ถล่มจะสามารถเก็บได้ง่าย เนื่องจากมีการคำนวณ วิเคราะห์โครงสร้างแล้วว่า เมื่อมีการsะเบิดอาคารแล้วชิ้นส่วนที่หักพังลงไปจะมีขนาดไม่ใหญ่นัก
“แต่กรณีของตึกถล่มนี้ มันต่างกัน อันนี้เป็นเสาขนาดใหญ่เป็นท่อน และพื้นก็หนา 30 เซ็นติเมตร ส่วนที่เป็นคานน้อย และยังมีเสา สนามปล่องลิฟต์ คำนวณปริมาณทั้งหมดอยู่ที่ 26,000 คิวบิกเมตร จากการประมาณการพื้นที่”
ผู้เชี่ยวชาญจาก วสท. ให้ความเห็นด้วยว่า สิ่งที่ต้องจัดการต่อไป คือ การขนย้ายซากอาคาร เพราะเมื่อปฏิบัติการกู้ภัยเสร็จสิ้นพื้นที่บริเวณก่อสร้างอาคารจะต้องเป็น “กราวด์ซีโร่” หรือพื้นที่ว่าง ดังนั้น การคำนวณปริมาณเศษซากทั้งคอนกรีต เหล็กจึงเป็นสิ่งสำคัญ รวมทั้งการจัดการปัญหาฝุ่นที่เกิดขึ้นระหว่างการรื้อถอนและค้นหาผู้ประสบภัยที่ควบคู่กันไปในระยะนี้ด้วย
ที่มา BBC.co.uk