เปิดเหตุผล 5 ข้อ เบื้องหลังความพ่ายแพ้ของกมลา แฮร์ริส
ในที่สุดโดนัลด์ ทรัมป์ ก็คว้าชัยชนะในศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ 2024 ซึ่งนับเป็นการหวนคืนสู่ทำเนียบขาวครั้งประวัติศาสตร์ หลังเอาชนะกมลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีคนปัจจุบันจากพรรคเดโมแครตไปได้อย่างขาดลอย
ศึกชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในครั้งนี้ ไม่ได้ตัดสินกันด้วยคะแนนที่สูสีชวนลุ้นระทึก หรือเฉือนเอาชนะกันแบบเส้นยาแดงผ่าแปดเหมือนในปี 2020 เพราะคราวนี้คะแนนของทรัมป์ขึ้นนำโด่งแซงแฮร์ริสตั้งแต่ต้น โดยได้รับเสียงสนับสนุนจากชาวอเมริกันส่วนใหญ่ในรัฐสมรภูมิ (battleground) ที่ไม่ได้เป็นฐานเสียงของพรรคใดพรรคหนึ่งไปอย่างท่วมท้น
ผลการเลือกตั้งดังกล่าวทำให้แฮร์ริส ตัวแทนพรรคเดโมแครตที่ได้รับการเสนอชื่อเพราะประธานาธิบดีโจ ไบเดน ขอถอนตัวเมื่อเดือน ก.ค. กลายเป็นผู้สมัครหญิงคนที่สองที่ต้องพ่ายแพ้ต่อทรัมป์ หลังจากที่ฮิลลารี คลินตัน เคยเพลี่ยงพล้ำมาแล้วในศึกชิงเก้าอี้ผู้นำสหรัฐฯ เมื่อปี 2016
มีความเป็นไปได้ว่า สาเหตุเบื้องหลังที่ทำให้นักการเมืองหญิงแกร่งต้องพ่ายแพ้แก่มหาเศรษฐีผู้ทรงอิทธิพล มีอยู่ด้วยกัน 5 ประการดังต่อไปนี้
1. ภาวะเศรษฐกิจ
แม้อัตราการว่างงานจะอยู่ในระดับต่ำ และตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐฯ ก็กำลังคึกคักอย่างยิ่ง แต่ชาวอเมริกันส่วนใหญ่กลับรู้สึกว่า พวกเขากำลังลำบากยากจนจากค่าครองชีพที่พุ่งสูง จนปัญหาเรื่องปากท้องและภาวะเศรษฐกิจกลายเป็นประเด็นหลักที่ผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งพากันห่วงกังวล
Skip เรื่องแนะนำ and continue readingเรื่องแนะนำ
Pause of เรื่องแนะนำ
อัตราเงินเฟ้อหลังการระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 ซึ่งพุ่งทะยานสู่ระดับที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน นับตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1970 เป็นต้นมา ทำให้ทรัมป์สามารถหาเสียงด้วยการตั้งคำถามว่า “ตอนนี้พวกคุณฐานะดีขึ้นกว่าเมื่อสี่ปีก่อนหรือยัง ?”
ตลอดปี 2024 นี้ ผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งในหลายประเทศทั่วโลก ต่างพากันไปลงคะแนนเพื่อโค่นล้มพรรคการเมืองที่ครองอำนาจอยู่แต่เดิม เนื่องจากค่าครองชีพที่ถีบตัวสูงขึ้นหลังเกิดโรคระบาดเป็นสาเหตุหลัก ซึ่งดูเหมือนว่าชาวอเมริกันก็กระหายใคร่จะเปลี่ยนแปลงกับเขาด้วยเหมือนกัน
ผลการสำรวจหนึ่งพบว่า มีชาวอเมริกันเพียง 1 ใน 4 คน ที่พึงพอใจกับแนวโน้มทางสังคมและการเมืองของประเทศในปัจจุบัน และมีชาวอเมริกันมากถึง 2 ใน 3 ที่มองถึงทิศทางของเศรษฐกิจในแง่ลบ
ไมเคิล เฮิร์ช คอลัมนิสต์ผู้เขียนบทความเกี่ยวกับนโยบายต่างประเทศ แสดงความเห็นว่า “ภาวะเงินเฟ้อที่ส่วนหนึ่งเกิดจากโครงการซึ่งใช้จ่ายงบประมาณจำนวนมหาศาลของไบเดน ยังคงเป็นประเด็นที่รบกวนจิตใจผู้คน รวมทั้งความไม่พอใจต่อนโยบายต่าง ๆ ของไบเดน ยังคงทำให้คะแนนเสียงของเขาและพรรคเดโมแครตติดลบ จนการลงสู้ศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีของแฮร์ริสนั้น ทำได้ยากเย็นเหมือนเข็นครกขึ้นภูเขาไปตลอดทาง”
ผลการสำรวจความเห็นหน้าคูหาเลือกตั้งหรือเอ็กซิตโพลของสถานีโทรทัศน์ซีเอ็นเอ็น (CNN) ชี้ว่าผู้มีสิทธิออกเสียงกว่าครึ่งเลือกทรัมป์ ด้วยเหตุผลเรื่องความสามารถในการบริหารเศรษฐกิจ ซึ่งผู้มีสิทธิออกเสียงถึง 31% มองว่าเรื่องนี้มีความสำคัญสูงสุดเป็นอันดับแรกสำหรับพวกเขา
2. คะแนนนิยมของไบเดนดิ่งลงเหว
แม้แฮร์ริสจะวางตัวในฐานะของผู้สมัครที่จะนำพาความเปลี่ยนแปลงมาสู่ประเทศ แต่การที่เธอเป็นรองประธานาธิบดีของโจ ไบเดน ทำให้เธอไม่อาจจะแยกตัวจากเขา และยากที่จะสลัดภาพลักษณ์ของการเป็นพวกเดียวกันทิ้งไปได้ ทั้งที่คะแนนนิยมของไบเดนมักจะดิ่งเหว จนตกต่ำลงไปอยู่ที่เพียง 40% แทบจะตลอดวาระการดำรงตำแหน่งผู้นำสหรัฐฯ
ซ้ำร้ายแฮร์ริสยังคงจงรักภักดีต่อไบเดนเสมอ แม้ชาวอเมริกันจำนวนมากจะพากันแสดงความไม่พอใจต่อไบเดน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการจัดการเงินเฟ้อ และวิกฤตแนวพรมแดนระหว่างสหรัฐฯ กับเม็กซิโก
ตัวอย่างหนึ่งที่บรรดานักวิเคราะห์การเมืองต่างชี้ให้เห็น ก็คือตอนที่แฮร์ริสไปออกรายการดัง “เดอะวิว” (The Ogle) ทางสถานีโทรทัศน์เอบีซี (ABC) เมื่อเดือนที่แล้ว ซึ่งแทนที่เธอจะใช้โอกาสนี้แนะนำตัวเอง เพื่อให้ชาวอเมริกันที่ไม่คุ้นเคยได้ทราบถึงคุณสมบัติอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของเธอดีขึ้น แฮร์ริสกลับไม่สามารถอธิบายได้ว่าเธอต่างจากประธานาธิบดีไบเดนอย่างไร โดยเธอยอมรับตรง ๆ ว่า “นึกไม่ออกเลย” ว่าความแตกต่างของเธอคืออะไร
เดวิด แอ็กเซลรอด ซึ่งเคยเป็นที่ปรึกษาของอดีตประธานาธิบดีบารัก โอบามา เรียกบทสนทนาระหว่างแฮร์ริสกับพิธีกรในรายการดังกล่าวว่าเป็น “หายนะ” สำหรับแฮร์ริสอย่างแท้จริง เพราะภายหลังมันถูกหยิบยกไปใช้ในโฆษณารณรงค์หาเสียงของทรัมป์ด้วย
แหล่งข่าวในแวดวงการเมืองของสหรัฐฯ ยังบอกกับบีบีซีว่า พรรคเดโมแครตกำลังเผชิญกับวิกฤตด้านภาพลักษณ์ โดยเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการในฝ่ายการเมืองของพรรคเดโมแครตคนหนึ่ง บอกกับไอโอนี เวลส์ ผู้สื่อข่าวบีบีซีประจำกรุงวอชิงตันว่า “ทางพรรคต้องล้างบาง ขจัดพวกชนชั้นนำที่หัวสูงเย่อหยิ่งในเมืองหลวงออกไป เพื่อที่จะได้เริ่มต้นกันใหม่”
แม้หลายฝ่ายจะส่งเสียงชื่นชมความพยายามในการทำงานของพรรคเดโมแครต แต่ก็ยอมรับว่าปัจจุบันพรรคฝ่ายซ้ายที่มีจุดยืนเสรีนิยมนี้ กำลังมีปัญหาในเรื่องภาพลักษณ์อย่างรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตอนที่ผู้คนต่างวิตกกังวลกับปัญหาเศรษฐกิจไปทุกหย่อมหญ้าเช่นนี้
“ภาวะชวนสิ้นหวังของพรรคเดโมแครต ทำให้ฉันนึกขึ้นมาได้ถึงตอนที่มีโอกาสพูดคุยกับสมาชิกพรรครีพับลิกันคนหนึ่ง ในงานรณรงค์หาเสียงของทรัมป์” ไอโอนี เวลส์ กล่าว
“เขาบอกว่าผู้สมัครชุดนี้ได้สร้างจินตนาการใหม่ ซึ่งจะมอบภาพลักษณ์ที่แตกต่างออกไปอย่างสิ้นเชิงให้กับพรรครีพับลิกัน โดยจะไม่เป็นพรรคของคนรวยที่ใช้ชีวิตหรูหราในคันทรีคลับอีกต่อไป แต่จะพยายามดึงคะแนนเสียงจากครอบครัวชนชั้นแรงงานให้มากขึ้น ในขณะที่พรรคเดโมแครตได้กลายเป็นพรรคของดาราฮอลลีวูดไปเสียแล้ว”
3. ปัญหาสังคม
นอกจากปัญหาเศรษฐกิจแล้ว ปัญหาสังคมที่สะเทือนอารมณ์ของประชาชน ก็มีอิทธิพลอย่างมากต่อการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งด้วย ตัวอย่างเช่นประเด็นเรื่องสิทธิการทำแท้งที่พรรคเดโมแครตใช้จูงใจเหล่าผู้ออกเสียงเลือกตั้ง ในขณะที่ทรัมป์เน้นใช้ประเด็นเรื่องผู้อพยพเข้าเมืองเพื่อการนี้โดยเฉพาะ
โพลสำรวจความคิดเห็นที่จัดทำโดยศูนย์วิจัย Pew Compare Center ระบุว่าสถิติการตรวจพบผู้ลักลอบเข้าเมืองตามแนวชายแดนที่พุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ในยุคของไบเดน รวมทั้งผลกระทบจากปัญหาผู้อพยพที่เริ่มลุกลามไปยังรัฐที่อยู่ห่างไกลจากพรมแดนของประเทศ ทำให้บรรดาผู้ออกเสียงเลือกตั้งให้ความเชื่อถือแก่ทรัมป์มากกว่าในประเด็นดังกล่าว
ด้านแฮร์ริสที่มุ่งหาเสียงด้วยนโยบายคืนสิทธิการทำแท้ง ผลสำรวจเอ็กซิตโพลของ Edison Compare ชี้ว่าเธอได้รับคะแนนนิยมจากกลุ่มผู้หญิงสูงกว่าถึง 54% ในขณะที่คู่แข่งชิงคะแนนเสียงในส่วนนี้มาได้ราว 44% แต่ถึงกระนั้น คะแนนจากผู้ออกเสียงสตรีที่แฮร์ริสได้รับในครั้งนี้ ยังต่ำกว่าของโจ ไบเดน ในการเลือกตั้งปี 2020 อยู่เล็กน้อย โดยในครั้งนั้นไบเดนสามารถชนะใจหญิงอเมริกัน โดยมีคะแนนเสียงเหนือคู่แข่งในส่วนนี้ที่ 57% ต่อ 42% ส่วนทรัมป์ได้รับคะแนนเสียงจากกลุ่มผู้สนับสนุนส่วนใหญ่ที่เป็นชาย 54% และจากผู้หญิง 44% ในการเลือกตั้งครั้งล่าสุด
จะเห็นได้ว่าในที่สุดแล้ว นโยบายคืนสิทธิการทำแท้งไม่ได้ส่งผลทางบวกให้กับพรรคเดโมแครตมากมาย เท่ากับที่เคยเป็นมาก่อนในการเลือกตั้งปี 2020 ซึ่งตอนนั้นพรรคเดโมแครตทำได้ดีเกินคาดในการเลือกตั้งกลางเทอม (midterm election)
ไนออล เฟอร์กูสัน นักประวัติศาสตร์อังกฤษ-อเมริกัน และนักวิจัยอาวุโสจากสถาบันฮูเวอร์ของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด บอกว่าชาวอเมริกันที่ไปใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้ง “ได้แสดงการปฏิเสธ โดยไม่ยอมรับนโยบายของรัฐบาลตลอดสี่ปีที่ผ่านมาด้วยเสียงเอกฉันท์”
เฟอร์กูสันบอกว่า ผลการเลือกตั้งครั้งนี้คือการที่ชาวอเมริกันแสดงการต่อต้านนโยบายเศรษฐกิจที่ล้มเหลว ซึ่งนำไปสู่ภาวะเงินเฟ้อที่พุ่งสูงอย่างฉุดไม่อยู่ รวมทั้งเป็นการต่อต้านนโยบายต่างประเทศที่ทำให้เกิดสงครามในตะวันออกกลาง และการปฏิเสธสารพัดนโยบายทางสังคมที่ถูกตีตราว่าเป็นของพวก “ตื่นรู้” หรือ “โวก” (woke)
“หลายนโยบายที่เป็นการประกาศเจตนารมณ์ของพวกหัวก้าวหน้า ได้ทำให้คนหลายกลุ่มรู้สึกแปลกแยก ไม่ใช่แค่กับคนอเมริกันผิวขาวและชนชั้นแรงงานเท่านั้น แต่ยังรวมถึงคนเชื้อสายฮิสแปนิกหรือลาตินอเมริกาด้วย มันทำให้คนทั่วประเทศรู้สึกแปลกแยกแตกต่างกันไปหมด” เฟอร์กูสันกล่าวให้สัมภาษณ์ในรายการ “ทูเดย์” (Currently) ของสถานีวิทยุบีบีซี เรดิโอ โฟร์ (BBC Radio 4)
“ตอนนี้พรรคเดโมแครตได้รับสารที่ชัดเจนจากประชาชนแล้วว่า คนอเมริกันไม่ได้ต้องการนโยบายเหล่านี้ พวกเขาต้องการสันติสุขผ่านการเสริมสร้างความแข็งแกร่งและมั่งคั่งทางเศรษฐกิจโดยปราศจากเงินเฟ้อ และแน่นอนว่าพวกเขาไม่ต้องการแนวความคิดแบบตื่นรู้หรือโวกในนโยบายทางสังคม”
4. คะแนนเสียงจากกลุ่มคนผิวดำและลาตินอเมริกันน้อยกว่าที่คาด
ระหว่างการนับคะแนนหลังปิดหีบเลือกตั้ง ทรัมป์เริ่มมั่นใจว่าเขาจะได้ชัยชนะอย่างแน่นอน เมื่อสามารถคว้า 19 คะแนนเสียงจากคณะผู้เลือกตั้งของรัฐเพนซิลเวเนียมาครองได้สำเร็จ เนื่องจากรัฐนี้เป็นรัฐสมรภูมิสำคัญที่เดโมแครตเคยช่วงชิงฐานเสียงมาครองได้ตลอด โดยนับแต่ปี 1988 เป็นต้นมา เดโมแครตเคยพ่ายแพ้ให้กับรีพับลิกันในรัฐเพนซิลเวเนียเพียงครั้งเดียว ในตอนที่ทรัมป์เอาชนะฮิลลารี คลินตัน ได้เมื่อปี 2016
การรณรงค์หาเสียงของแฮร์ริสได้ทุ่มงบประมาณและทรัพยากรมหาศาล ให้กับรัฐสมรภูมิในแถบอากาศร้อนและแดดแรงที่เรียกว่า “ซันเบลต์” (Solar Belt) อย่างเช่นรัฐแอริโซนา, เนวาดา, จอร์เจีย, และนอร์ท แคโรไลนา โดยหวังว่าจะเอาชนะใจสมาชิกพรรครีพับลิกันสายกลาง รวมทั้งคนไม่สังกัดพรรคที่ไม่พอใจกับความแตกแยกทางสังคมในยุคของทรัมป์ แต่ทว่าการทุ่มทุนหาเสียงของพรรคเดโมแครตกลับไม่ได้รับผลตอบแทนอย่างที่หวัง
ผลการเลือกตั้งชี้ว่าเกิด “เสียงแตก” ขึ้นในหมู่ของกลุ่มคนผิวดำและกลุ่มชาวลาตินอเมริกันหรือ “ลาติโน” รวมทั้งในกลุ่มของคนหนุ่มสาวอายุน้อย ซึ่งตามปกติแล้วพวกเขาเป็นฐานเสียงสำคัญของพรรคเดโมแครต และถึงแม้ว่าแฮร์ริสจะยังคงรักษาคะแนนเสียงของกลุ่มคนมีการศึกษา ซึ่งมักอาศัยอยู่ในแถบชานเมืองเอาไว้ได้ แต่ก็ไม่เพียงพอที่จะชดเชยกับคะแนนเสียงของทรัมป์ ที่กวาดไปได้เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนไม่น้อยในรัฐนี้
ผลสำรวจเอ็กซิตโพลของ Edison Compare ชี้ว่าแฮร์ริสได้คะแนนเสียงจากคนผิวดำไปมากกว่าคู่แข่งที่ 82% ต่อ 12% และได้คะแนนเสียงจากกลุ่มชาวลาติโนสูงกว่าคู่แข่งเล็กน้อยที่ Fifty three% ต่อ forty five% แต่ตัวเลขสถิตินี้ก็ไม่อาจเทียบกับคะแนนเสียงของไบเดนในปี 2020 ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มคนผิวดำที่ 87% และจากชาวลาติโน 65%
ความเปลี่ยนแปลงสำคัญในการเลือกตั้งครั้งนี้ คือทรัมป์ได้คะแนนเสียงสนับสนุนจากชายชาวลาติโนเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยสามารถเอาชนะแฮร์ริสไปในส่วนนี้ที่ 54% ต่อ 44% ในขณะที่คะแนนเสียงของไบเดนในคนกลุ่มเดียวกันเมื่อปี 2020 อยู่ที่ 59% ต่อ 36%
เมื่อเปรียบเทียบกับชัยชนะของไบเดนในปี 2020 แล้ว แฮร์ริสยังทำได้ไม่ดีนักและพ่ายแพ้อย่างหมดรูปในพื้นที่ชนบทที่เป็นฐานเสียงของรีพับลิกัน โดยคะแนนเสียงของเธอตกไปอยู่ในระดับเดียวกับของฮิลลารี คลินตัน เมื่อปี 2016
5. หาเสียงโดยมุ่งเน้นโจมตีทรัมป์มากเกินไป
แฮร์ริสทำพลาดด้วยการดำเนินรอยตามแนวทางหาเสียงของฮิลลารี คลินตัน เมื่อแปดปีก่อน ซึ่งก็คือมุ่งโจมตีคู่แข่งเพียงอย่างเดียว โดยเน้นย้ำถึงความไม่เหมาะสมของทรัมป์ในการเป็นผู้นำสหรัฐฯ เป็นหลัก
แฮร์ริสได้วางแนวทางให้การรณรงค์หาเสียงของเธอ เป็นเสมือนการลงประชามติต่อทรัมป์มาตั้งแต่แรก โดยในสัปดาห์ท้าย ๆ ก่อนการเลือกตั้ง เธอเริ่มใช้วาทะโจมตีที่รุนแรงขึ้น โดยเรียกทรัมป์ว่าเป็น “เผด็จการฟาสซิสต์” “สติวิปลาส” “คุ้มดีคุ้มร้าย” ทั้งยังอ้างคำพูดของจอห์น เคลลี อดีตหัวหน้าเจ้าหน้าที่ทำเนียบขาว ที่เผยว่าทรัมป์เคยกล่าวแสดงความชื่นชมฮิตเลอร์
นอกจากนี้แฮร์ริสยังพยายามทำให้การหาเสียงของเธอ เป็นเสมือนการต่อสู้เพื่อระบอบประชาธิปไตย ซึ่งก็เหมือนกับแนวทางการหาเสียงของไบเดน ก่อนที่เขาจะถอนตัวไปเมื่อเดือนก.ค. ของปีนี้
แฟรงก์ ลุนต์ซ นักจัดทำและวิเคราะห์โพลสำรวจความคิดเห็น เผยแพร่ข้อความของเขาทางสื่อสังคมออนไลน์ “เอ็กซ์” (X) ว่า “กมลา แฮร์ริส แพ้การเลือกตั้งครั้งนี้ เพราะเธอแทบจะเอาแต่มุ่งโจมตีโดนัลด์ ทรัมป์ เพียงอย่างเดียว โดยลืมไปว่าบรรดาผู้ออกเสียงเลือกตั้งนั้นรู้จักทรัมป์ดีอยู่แล้ว อันที่จริงประชาชนต้องการจะรู้ถึงแผนการของแฮร์ริสให้มากกว่านี้ ว่าเธอจะทำอะไรตอนที่เข้ารับตำแหน่งวันแรก ๆ และแผนการในระยะยาว”
ที่มา BBC.co.uk