วันเสาร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศเป็นวันเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ทั่วประเทศไทย โดยการเลือกครั้งนี้จะเป็นการเลือก นายก อบจ.จำนวน 47 จังหวัด และการเลือกสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ส.อบจ.) ที่จะเลือกพร้อมกันทั่วประเทศทั้ง 76 จังหวัด
สำหรับสาเหตุที่ว่า ทำไมจึงมีการเลือกตั้งนายก อบจ. เพียง 47 จังหวัด ก็เพราะว่าก่อนหน้านี้มี 29 จังหวัดได้ทยอยกันเลือกตั้งนายก อบจ.ไปก่อนหน้านี้แล้ว แบ่งได้เป็น 2 กรณี
- มี 27 จังหวัด ที่เกิดเหตุการณ์นายก อบจ.ลาออกก่อนครบวาระ ด้วยเหตุผลหลายประการ อาทิ เพื่อชิงความได้เปรียบทางการเมือง, เพื่อเปลี่ยนตำแหน่งทางการเมือง และเพื่อหลีกเลี่ยงข้อกฎหมายที่ทำให้การทำงานมีข้อจำกัด
- ส่วน 2 จังหวัด คือ กาฬสินธุ์และร้อยเอ็ด มีการเลือกตั้งใหม่ตามคำสั่งศาลและ กกต.
โดยภาพรวมพรรคเพื่อไทยประกาศส่งนายก อบจ.ลงสมัครในนามพรรครวมทั้งหมด 22 จังหวัด พรรคประชาชนประกาศส่ง 20 จังหวัด
พรรคภูมิใจไทยไม่ประกาศส่งในนามพรรค แต่เครือข่ายพื้นที่แน่นปึ้ก และช่วงชิงเก้าอี้นายก อบจ.ไปได้ไม่น้อย
29 สนามก่อนหน้า ฝ่ายไหนชนะกี่จังหวัด ?
ประชาไทรวบรวมรายชื่อผู้ชนะการเลือกตั้ง อบจ. ทั้ง 29 จังหวัด เพื่อดูว่าแต่ละพื้นที่เป็นใคร-มาในนามพรรคใด หรือมีความสัมพันธ์กับเครือข่ายบ้านใหญ่ที่ได้รับการสนับสนุนจากพรรคการเมืองใด
จากข้อมูลที่ปรากฏพบว่ามีเพียง 2 พรรค คือเพื่อไทยและประชาชนที่มีการส่งผู้สมัครในนามพรรค เนื่องจากการเลือกตั้งนายก อบจ. ไม่ได้มีข้อกำหนดให้ผู้สมัครต้องสังกัดพรรคการเมือง ทำให้ผู้สมัครจำนวนมากลงสมัครในนามอิสระหรือในนามกลุ่มการเมืองท้องถิ่นที่ตัวเองสังกัดโดยไม่ได้มีความเกี่ยวข้องการพรรคการเมืองโดยตรง
แต่โดยความสัมพันธ์ส่วนตัวก็พบว่าผู้ชนะเลือกตั้ง นายก อบจ.หลายคนมีความสัมพันธ์ทางการเมืองกับพรรคการเมืองต่างๆ โดยอาจกล่าวได้ว่าเป็นเครือข่ายกันผ่านการส่งเครือญาติหรือคนในกลุ่มเป็น สส.หรือดำรงตำแหน่งในพรรคการเมืองต่างๆ
11 จากเพื่อไทย-เครือข่ายบ้านใหญ่
ประกอบด้วย 7 จังหวัด เป็นผู้สมัคร “ในนามพรรคเพื่อไทย” ได้แก่
- พะเยา: ธวัช สุทธวงค์
- สุโขทัย: มนู พุกประเสริฐ
- ยโสธร: วิเชียร สมวงศ์
- อุดรธานี: ศราวุธ เพชรพนมพร
- ร้อยเอ็ด: เศกสิทธิ์ ไวนิยมพงศ์
- กาฬสินธุ์: เฉลิมขวัญ หล่อตระกูล
- กาญจนบุรี: นายแพทย์ประวัติ กิจธรรมกูลนิจ
ทั้งนี้ ในกรณีของจังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งมีการเลือกตั้งไปในปี 2566 ทางเพจเฟซบุ๊กพรรคเพื่อไทยระบุว่าหมอประวัติลงสมัคร “ในนามพรรค” แต่จากข้อมูลเท่าที่ปรากฏในสื่อมวลชน ระบุเพียงว่าได้รับการสนับสนุนจาก สส.เพื่อไทย
ขณะที่อีก 2 จังหวัดส่ง “ในนามสมาชิกพรรค” 2 จังหวัดคือ
- อุบลราชธานี: กานต์ กัลป์ตินันท์
- ขอนแก่น: วัฒนา ช่างเหลา
ส่วนจังหวัดอุตรดิตถ์ ชัยศิริ ศุภรักษ์จินดา สื่อเดลินิวส์และสยามรัฐระบุว่าได้รับการสนับสนุนจาก สส.เพื่อไทย
และจังหวัดพิษณุโลก คือ มนต์ชัย วิวัฒน์ธนาฒน์ ข้อมูลจากไอลอว์ระบุว่ามีสายสัมพันธ์กับเพื่อไทย
อย่างไรก็ดี สำหรับพรรคเพื่อไทยซึ่งประกาศจะส่งนายก อบจ.ลงสมัครในนามพรรครวมทั้งหมด 22 จังหวัด (เลือกไปแล้วรวม 6 จังหวัด) ยังมีจังหวัดที่ต้องจับตาในวันที่ 1 ก.พ.นี้อีก ได้แก่ ลำพูน, ลำปาง, แพร่, น่าน, เชียงราย, นครพนม, มหาสารคาม, สกลนคร, ศรีสะเกษ, บึงกาฬ, หนองคาย, มุกดาหาร, โคราช, ปราจีนบุรี
สำหรับจังหวัดที่น่า ‘จับตาพิเศษ’ เพราะชิงกันหนักระหว่าง เพื่อไทย vs ภูมิใจไทย คือ จังหวัด นครพนม ศรีสะเกษ และอำนาจเจริญ
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
11 จากภูมิใจไทย-เครือข่ายบ้านใหญ่
แม้ว่า อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย เคยประกาศว่าจะไม่ส่งคนลงเลือกตั้งท้องถิ่น แต่ปรากฏว่ามีหลายจังหวัดที่ผู้สมัครในนามกลุ่มต่างๆ ในท้องถิ่น หรือ “ในนามอิสระ” คือคนที่เป็นเครือข่ายหรือมีสายสัมพันธ์กับพรรคในทางใดทางหนึ่ง
- เลย: ชัยธวัช เนียมศิริ
- ชัยภูมิ: สุรีวรรณ นาคาศัย
- สุรินทร์: ธัญพร มุ่งเจริญพร
- อุทัยธานี: เผด็จ นุ้ยปรี
- ระนอง: สีหราช สรรพกุล หรือ “ผู้ใหญ่แบงก์”
- นครศรีธรรมราช: วาริน ชิณวงศ์
- พระนครศรีอยุธยา: สมทรง พันธ์เจริญวรกุล
- ตาก: อัจฉรา ทวีเกื้อกุลกิจ
- ปทุมธานี: พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง
- นครสวรรค์: พลตำรวจเอก สมศักดิ์ จันทะพิงค์
- อ่างทอง: สุรเชษ นิ่มกุล
3 จากรวมไทยสร้างชาติ-เครือข่ายบ้านใหญ่
- ชัยนาท: จิตร์ธนา ยิ่งทวีลาภ
- ชุมพร: นพพร อุสิทธิ์
- เพชรบุรี: ชัยยะ อังกินันทน์
3 จากพลังประชารัฐ-เครือข่ายบ้านใหญ่
- สระแก้ว: ฐานิสร์ เทียนทอง
- เพชรบูรณ์: อัครเดช ทองใจสด
- กำแพงเพชร: สุนทร รัตนากร
1 จากกล้าธรรม (กลุ่มธรรมนัส)
- ราชบุรี: วิวัฒน์ นิติกาญจนา หรือ “กำนันตุ้ย”
ทั้งนี้ พรรคประชาชนประกาศส่งผู้สมัคร 20 จังหวัด ที่ผ่านมายังไม่สามารถคว้าชัยได้ด้วยหลายปัจจัย แต่ก็มีอยู่ 5 จังหวัดที่น่าจับตาเพราะแกนนำคณะก้าวหน้าตั้งความหวังคว้าชัย คือ สมุทรปราการ , สมุทรสาคร, ระยอง, ตราด, นครนายก
แหล่งข้อมูล
- 4 จังหวัด ตาก-เพชรบูรณ์-อุตรดิตถ์-อุบลราชธานี
- 5 จังหวัด อุดรธานี-สุรินทร์-เพชรบุรี-นครศรีธรรมราช-กำแพงเพชร
- 3 จังหวัด ชุมพร-สุโขทัย-ขอนแก่น
- 2 จังหวัด ยโสธร-ระนอง
- ราชบุรี
- พิษณุโลก
- 3 จังหวัด ชัยนาท-อยุธยา-พะเยา
- ปทุมธานี
- นครสวรรค์
- อุทัยธานี
- เลย
- สระแก้ว
- อ่างทอง
- ชัยภูมิ
- กาญจนบุรี
- ร้อยเอ็ด
- กาฬสินธุ์
ที่มา ประชาไท ( prachatai.com )