เปิดใจพ่อดีเด่นประจำปี 2567 ยกแนวคิดเลี้ยงลูกด้วย “เวลาคุณภาพ”
เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2567 สมาคมสมาพันธ์สถานประกอบการเพื่อสุขภาพและผู้สูงอายุร่วมกับมูลนิธิทองเนื้อเก้า ประกาศรายชื่อผู้ได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติ “พ่อดีเด่น ประจำปี 2567” ในกิจกรรม “น้อมรำลึกพ่อหลวงไทย ร่วมใจเชิดชูวัฒนธรรม” เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยมี ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ประธานมูลนิธิทองเนื้อเก้า เป็นประธานคณะกรรมการจัดงานฯ ในวันที่ 12 ธันวาคม 2567 ณ อาคารราชนาวิกสภา หอประชุมกองทัพเรือ ตั้งแต่เวลา 17.00 น. เป็นต้นไป
นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา กรรมการกฤษฎีกาและอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หนึ่งในผู้ได้รับคัดเลือกเป็นพ่อดีเด่น ประจำปี 2567 เปิดเผยว่า ตนมีความรู้สึกดีใจอย่างยิ่งที่ได้รับรางวัลพ่อดีเด่นประจำปี 2567 ซึ่งตนมีหลักการในการเลี้ยงดูลูกในด้านการ “ให้” คือ 1.ให้ความรัก แบบไม่มีเงื่อนไข ไม่ได้คิดว่าลูกจะต้องกลับมาเลี้ยงดูหรือเป็นที่พึ่งของเรายามแก่ และ 2.ให้เสรีภาพทางความคิด ในการดำเนินชีวิตตามที่อยากจะเป็น และพ่อแม่ต้องเป็นเพื่อนในยามที่เขาต้องการ มองดูอยู่ห่าง ๆ ให้เขามีเสรีภาพ ขณะเดียวกัน หลักการให้การอบรม “สอน” ลูก คือ 1.สอนให้เขาเป็นคนรักความยุติธรรม ไม่เอาเปรียบใคร ช่วยเหลือคนที่จำเป็นต้องช่วยอย่างเหมาะสม 2.สอนให้ลูกมีความอดทน เพราะชีวิตคนเราไม่มีอะไรราบรื่นไปทั้งหมด ดังนั้น ลูกจะต้องรู้จักปรับตัวกับสิ่งที่เป็นอยู่ในปัจจุบันให้ได้ และ 3.สอนให้เขารู้จักสถานภาพของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการใช้ชีวิต วินัยทางการเงิน ไม่ให้ลูกฟุ่มเฟือย หรือใช้ชีวิตหรูหรา
นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา กรรมการกฤษฎีกาและอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
“การเลี้ยงลูกไม่ว่าจะเป็นยุคสมัยไหน ก็มีความยาก โดยเฉพาะยุคปัจจุบันที่โลกเปลี่ยนแปลงเร็ว ทำให้เกิดช่องว่างทางความคิด การเมือง ความเชื่อ ช่องทางจากการใช้เทคโนโลยี ผมเองก็พยายามติดตามเรื่องเหล่านี้ แต่คงไม่สามารถติดตามได้ทั้งหมด ดังนั้นสิ่งที่จะอบรมลูกในสมัยนี้ คือ ให้เขาอยู่กับสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงเร็ว และสำหรับแนวคิดของครอบครัวสมัยใหม่ที่ไม่อยากมีลูกนั้น ผมในฐานะพ่อ มองว่าการมีลูก ทำให้ชีวิตมีจุดมุ่งหมายมากขึ้น เหมือนเราสร้างอะไรขึ้นมาแล้วดูเขาเจริญเติบโตเป็นคนดีในสังคม แต่ก็อย่าไปคาดหวังว่าเขาจะต้องเป็นเหมือนเรา หรือต้องมาเลี้ยงดูเราในอนาคต เราต้องให้เขาได้ใช้ชีวิตอย่างอิสระตามที่เขาอยากจะเป็น” นายปีติพงศ์ กล่าว
ด้าน ดร.วัลลภ สุวรรณดี อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต กล่าวว่า ตนมองว่าการที่จะเป็นพ่อที่ดีได้ จะต้องเป็นคนที่ให้ความอบอุ่น ให้ความรักกับครอบครัว พร้อมทั้งให้ชีวิตความเป็นอยู่ โดยเฉพาะการศึกษา ที่จะเป็นเครื่องมือสู่ความสำเร็จของลูก รวมถึงการรับฟังลูกในยามที่พบเจอกับความทุกข์ เผชิญกับปัญหาในชีวิต โดยเฉพาะสังคมปัจจุบันที่มีปัญหาต่าง ๆ ที่มากระทบความรู้สึกอย่างมาก ฉะนั้น พ่อแม่จะต้องดูแลให้ลูกมีความสุขให้ได้ในสังคมปัจจุบัน ตนชื่นชอบคำโฆษณาคำหนึ่งที่บอกว่า “วันนี้คุณกอดลูกหรือยัง” เพราะคำนี้มีความหมายมาก คำว่ากอดในความหมายนี้ ไม่ใช่เพียงกอดทางกายแต่ต้องกอดเขาในทุกช่วงความรู้สึก ไม่ว่าจะยามสำเร็จ ยามทุกข์ใจ ทั้งนี้ ตนเชื่อว่าแต่ละครอบครัวต่างมีข้อจำกัดต่างกันไป แต่สิ่งที่ดีที่สุดคือ การมอบความรัก ความเข้าใจ มอบความหวังให้กับลูก ตนเชื่อว่าไม่ว่าลูกจะต้องเผชิญกับสถานการณ์ยากลำบากอย่างไร แต่ถ้ามีพลังบวกจากครอบครัวคอยเกื้อหนุน ก็จะเป็นแรงขับเคลื่อนเขาต่อไปได้
ดร.วัลลภ สุวรรณดี อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต
ทั้งนี้ การจัดงาน “น้อมรำลึกพ่อหลวงไทย ร่วมใจเชิดชูวัฒนธรรม” พร้อมมอบรางวัลเชิดชูเกียรติให้แก่พ่อดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2567 ซึ่งมีการดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง นับรวมครั้งนี้เป็น ครั้งที่ 4 ในวันพฤหัสบดีที่ 12 ธันวาคม 2567 ณ อาคารราชนาวิกสภา หอประชุมกองทัพเรือ ตั้งแต่เวลา 17.00 น. เป็นต้นไป พร้อมมีการแสดงดนตรีเพลงพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระบนมชนกาธิเบศร และปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “สนองพระราชปณิธานตามรอยบาทนิรันดร์” โดย ศ.ดร.วิษณุ เครืองาม อดีตรองนายกรัฐมนตรี และพ่อดีเด่นแห่งชาติ ปี 2565
ที่มา สำนักข่าวอิศรา ( isranews.org )