สำรวจแนวโน้มการอพยพของชนชั้นกลางพม่า เจาะลึกชีวิต ‘นักศึกษาพม่า’ ที่เข้ามาเรียนต่อไทยจำนวนมาก หลังจากที่พม่าบังคับเกณฑ์ทหาร ดูเหมือนไทยจะกลายเป็นทางผ่านด้านการศึกษาของหนุ่มสาวพม่าจำนวนมาก ก่อนจะเดินทางไปยังประเทศที่ 3
เฟรชชี่จากรัฐฉาน
นักศึกษาชาติพันธุ์ไทใหญ่ ชั้นปีที่ 1 จากมหาวิทยาลัยเอกชนแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ให้สัมภาษณ์กับประชาไท เธอขอใช้นามแฝงว่า หลาว (Lao) ที่แปลว่า ดาว ในภาษาไทใหญ่
หลาว วัย 20 ปี เรียนสาขาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร วิทยาลัยนานาชาติ เพิ่งมาถึงเมืองไทยเมื่อไม่นาน หลังจากที่รัฐบาลพม่าประกาศใช้กฎหมายบังคับเกณฑ์ทหารพลเรือน ท่ามกลางความระส่ำระสายทางการเมือง
กฎหมายฉบับนี้กำหนดให้ผู้ชายที่อายุตั้งแต่ 18-35 ปี และผู้หญิงที่อายุตั้งแต่ 18-27 ปี ต้องรับใช้กองทัพเป็นเวลา 2 ปี
“ตอนที่ฉันมาไทยถือว่าง่ายและราบรื่น มหาวิทยาลัยช่วยจัดหาเอกสารทุกอย่างสำหรับขอวีซ่านักศึกษา มันจึงไม่ยากสำหรับฉัน แต่ว่าสำหรับเพื่อนๆ ในมหาวิทยาลัยอื่นหรือคนที่ไปเรียนต่อประเทศอื่น สำหรับพวกเขาขั้นตอนมันยุ่งยากมาก”
เธอเป็นหนึ่งในผู้หญิงจำนวนน้อย อีกทั้งยังเป็นคนเดียวในรุ่นที่มีพื้นเพจากเมืองแสนหวี ทางตอนเหนือของรัฐฉาน ท่ามกลางอีก 90% ของเพื่อนในรุ่นที่มาจากพม่าเหมือนกัน ส่วนมากเป็นเพศชายและมาจากนครย่างกุ้ง บ้างจบปริญญาตรีสาขาอื่นมาแล้ว แต่ก็ใช้สถานะนักเรียนเป็นใบเบิกทางย้ายประเทศ
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
แรกเริ่มหลาวสมัครไปถึง 3 มหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯ แต่ลงเอยที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้ได้เพราะมหาวิทยาลัยมอบทุนให้ครอบคลุมค่าเล่าเรียน 50% จนจบสี่ปีการศึกษา ท่ามกลางนักเรียนส่วนใหญ่ที่ครอบครัวจ่ายได้ทั้งหมด
อย่างไรก็ตาม ค่าเทอมส่วนที่เหลือและค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือนก็ยังมากเกินไป หลาวผู้ใช้ภาษาอังกฤษ ไทใหญ่ และพม่าได้คล่องแคล่ว จึงแอบรับงานพาร์ทไทม์เป็นล่ามและแปลเอกสาร แม้เงื่อนไขของวีซ่านักเรียนต่างชาติจะไม่อนุญาตให้ทำงานพาร์ทไทม์
ย้อนไปก่อนที่จะมีเหตุการณ์รัฐประหารพม่าในปี 2564 หลาวมีชีวิตวัยรุ่นตามปกติ เธอฝันอยากเป็นหมอ เนื่องจากเห็นความสูญเสียจากเหตุการณ์สู้รบในรัฐฉานจึงอยากช่วยเหลือคนบวกกับความหวังว่าเงินเดือนของหมอจะช่วยยกระดับฐานะทางเศรษฐกิจของครอบครัวได้ อาจพูดได้ว่าหากไม่มีการรัฐประหาร เธอคงกำลังเรียนคณะแพทย์ในมหาวิทยาลัยของรัฐ
ความไม่สงบทางการเมืองหลังรัฐประหารทำให้หลาวไม่อยากเรียนต่อในมหาวิทยาลัยของรัฐ เธอตกอยู่ในสภาวะเคว้งๆ หมดหนทางอยู่พักหนึ่งก่อนทิ้งความฝันเดิมแล้วมุ่งมั่นเรียนเตรียมสอบ GED หรือ Fashioned Academic Pattern การสอบเทียบวุฒิ ม.ปลาย (ม.6) ในระบบอเมริกัน เพื่อใช้ยื่นเข้าเรียนต่อปริญญาตรีในมหาวิทยาลัยต่างประเทศ
“ในอนาคตฉันอยากใช้เทคโนโลยีเพื่อสืบทอดภาษาไทใหญ่ ซึ่งเป็นมรดกของชุมชนของเราเอาไว้”
หลาวเรียนเตรียมสอบกับองค์กรภาคประชาสังคมเพื่อสิทธิด้านการศึกษาของชาวไทใหญ่ และได้ทำงานเป็นครูอาสาสมัครที่นั่น 2 ปี ก่อนจะย้ายมาเมืองไทย ความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนยังอยู่กับเธอแม้ในวันที่ต้องไกลบ้านแบบนี้ เธอกล่าวถึงเป้าหมายพร้อมบอกด้วยว่าหลังเรียนจบจะหางานและพาตัวเองไปประเทศที่สามให้ได้
หลาวในชุดนักศึกษา
ปลอดภัย-ได้เรียนเต็มที่
“ฉันสังเกตว่าการเรียนที่ไทยจะมีภาคปฏิบัติมากกว่า ถ้าเทียบกับในพม่าที่เรามักได้เรียนภาคทฤษฎีเป็นส่วนมาก ที่ไทยก็ยังให้การสนับสนุนนักศึกษาต่างชาติมากๆ ด้วย มันทำให้ฉันปรับตัวง่ายขึ้น”
ตุลา* นักศึกษาปีที่ 2 สาขาเคมีประยุกต์ จากมหาวิทยาลัยในจังหวัดเชียงราย และผู้มีความหลากหลายทางเพศ กล่าวว่าการย้ายมาที่นี่ทำให้รู้สึกมั่นคงปลอดภัยมากขึ้น โฟกัสกับการเรียนได้เต็มที่ แตกต่างจากบรรยากาศในพม่าอย่างสิ้นเชิง
เช่นเดียวกันกับหลาว ตุลาได้รับทุนค่าเล่าเรียนจากมหาวิทยาลัย ต่างไปตรงที่ตุลาต้องเก็บชั่วโมงฝึกงานเป็นบาริสต้าในมหาวิทยาลัยตามเงื่อนไขของทุน โดยบางเดือนอาจได้ค่าตอบแทนเล็กน้อยราว 500-800 บาท ในส่วนค่าครองชีพยังต้องพึ่งพาการสนับสนุนจากครอบครัว
ตุลาสะท้อนว่าอุปสรรคใหญ่ที่สุดของนักศึกษาจากพม่า คือความยุ่งยากในการทำเอกสารและวีซ่า บ่อยครั้งที่กระบวนการติดขัดจนล่าช้า อย่างไรก็ตาม เพื่อนๆ จากพม่าต่างเข้าใจและช่วยเหลือกันเป็นอย่างดี
ตุลาในชุดฝึกงานบาริสต้า
เริ่มเรียนใหม่หลังรัฐประหารทำสะดุด
“ฉันรีบเตรียมเอกสารแบบฉุกละหุก เพราะกว่าจะเห็นประกาศรับสมัครทุนก็เหลือเวลาแค่เดือนเดียว ตอนนั้นสมัครแค่มหาวิทยาลัยนี้ที่เดียว แล้วก็ได้เลย จริงๆ ตอนแรกฉันสนใจไปอเมริกาด้วย แต่ว่าการขอวีซ่านั้นยากมากจริงๆ และมันก็ไกลจากบ้านเกินไป ถ้าเทียบกับเมืองไทยที่ฉันสามารถเจอพ่อกับแม่ได้ง่ายๆ เมื่อคิดถึงบ้าน”
เมย์* นักศึกษาปีสุดท้ายจากสาขาธุรกิจระหว่างประเทศ วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยเอกชนในจังหวัดปทุมธานี เล่าย้อนถึงช่วงที่สมัครเรียนต่อ เธอจะเรียนจบในอีก 6 เดือนข้างหน้าและกำลังมองหางานด้านธุรกิจและการตลาดออนไลน์
เมย์
เธอเป็นหนึ่งในนักเรียนทุนเพียงไม่กี่คนในรุ่น โดยได้ทุนค่าเล่าเรียน 50% จากมหาวิทยาลัยจนจบการศึกษา ครอบครัวของเมย์สามารถจ่ายส่วนที่เหลือรวมถึงค่าครองชีพ เมย์จึงสามารถทุ่มเวลาทั้งหมดไปกับการเรียนและกิจกรรม
กิจกรรมของเมย์แบ่งได้เป็น 2 ประเภท อย่างแรกคือ การเป็นสต๊าฟในอีเวนต์ของมหาวิทยาลัยซึ่งเป็นหนึ่งในเงื่อนไขของทุน อย่างที่สองคือ การเข้าร่วมแข่งขันด้านธุรกิจและค่ายเยาวชน ซึ่งอย่างหลังนี้เธอหวังว่ามันอาจช่วยให้เธอได้งานดีๆ ในอนาคต
“ตอนนี้สถานการณ์ในพม่าเข้าแย่ลงกว่าเดิม ถ้าเรากลับไปที่นั่น ฉันไม่แน่ใจว่าเราจะออกมาอีกได้หรือเปล่า”
ชีวิตมหาวิทยาลัยของเมย์ไม่ได้เริ่มที่นี่เป็นครั้งแรก ก่อนหน้านี้เธอเรียนอยู่ชั้นปีที่ 3 เอกภาษาไทย มหาวิทยาลัยภาษาต่างประเทศ ย่างกุ้ง (Yangon College Of Foreign Languages) ทว่าเกิดการระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลให้มหาวิทยาลัยจำต้องหยุดการเรียนการสอน หลังจากนั้นก็เกิดเหตุการณ์รัฐประหารตามมา
เช่นเดียวกับวัยรุ่นจำนวนมาก เธอลงถนนประท้วงและร่วมแคมเปญรณรงค์ทางออนไลน์อยู่หลายเดือน ต่อมามหาวิทยาลัยกลับมาเปิดอีกครั้ง ทว่าเมย์ตัดสินใจไม่เรียนต่อที่มหาวิทยาลัยเดิมอีกต่อไป เนื่องจากอาจารย์มหาวิทยาลัยจำนวนหนึ่งได้ลาออกไปร่วมกับกลุ่มต่อต้าน ปัญหาการขาดแคลนบุคลากร รวมถึงความรู้สึกผิดต่อเพื่อนในวัยเดียวกันที่ต้องหลุดจากระบบการศึกษาทำให้เมย์มองหาทางเรียนต่อต่างประเทศ
พื้นเพของเมย์เป็นชาวไทใหญ่-พม่าจากนครย่างกุ้ง พ่อทำงานเป็นวิศวกรในบริษัทเอกชน ส่วนแม่เป็นแม่บ้าน เธอบอกด้วยว่าถ้าสุดท้ายหางานไม่ได้ในเมืองไทยก็จะย้ายไปประเทศที่สาม
กลับไม่ได้ หางานก็ไม่ง่าย
การเดินทางกลับประเทศยิ่งเป็นเรื่องเสี่ยงอันตรายสำหรับนักศึกษาที่มีพื้นเพเป็นนักเคลื่อนไหวทางการเมือง พวกเขามีแนวโน้มกระจุกตัวตามคณะสายสังคมศาสตร์ ในมหาวิทยาลัยทางภาคเหนือของไทย
“ผมมาที่นี่ในปี 2566 ตอนแรกคิดว่าเรียนจบแล้วก็จะกลับบ้าน เพราะว่าตอนนั้นกองทัพพม่ายังไม่ได้นำกฎหมายเกณฑ์ทหารกลับมาใช้ แต่หลังจากที่ปีนี้ มีการประกาศใช้กฎหมายเกณฑ์ทหาร ตอนนั้นแหละผมคิดจะอยู่ต่อเมืองไทย เพราะผมกลับไปไม่ได้แล้ว”
คำบอกเล่าจาก โม* วัยยี่สิบปลายผู้เคยเป็นนักกิจกรรมทางการเมือง เขากำลังเรียนปริญญาโท หลักสูตรระยะสั้น ด้านนโยบายสาธารณะ
โม
ตัวเขาเก็บหน่วยกิตครบแล้ว แต่เลือกที่จะยืดระยะเวลาจบการศึกษาออกไปตราบเท่าที่เกณฑ์มหาวิทยาลัยกำหนด นี่เป็นวิธีที่นักศึกษาจากพม่าจำนวนหนึ่งต้องทำ เพราะต้องการคงสถานะนักศึกษาเพื่ออยู่อาศัยและหางานทำ ขณะนี้โมยังคงหางานไม่ได้ ยังต้องพึ่งพาเงินที่ครอบครัวส่งมาให้ทุกเดือนราวๆ 10,000 บาท
ย้อนไปสมัยเรียนมหาวิทยาลัย โมมีบทบาทเป็นประธานสหภาพนักศึกษา หลังเรียนจบจากสาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยดะโก่ง เขาได้ทำงานด้านการพัฒนาชนบทในองค์การระหว่างประเทศเป็นเวลา 3 ปี ประสบการณ์ในสายงานกลายมาเป็นใบเบิกทางให้ได้ทุนค่าเล่าเรียนเต็มจำนวน หากปราศจากทุนการศึกษา เขาก็คงออกมาได้ยาก
“ช่วงหลังรัฐประหาร ตอนนั้นสถานการณ์มันแย่แบบที่ผมไม่รู้จะอธิบายด้วยคำไหน การมีชีวิตอยู่แต่ว่าไม่มีความหวังก็เหมือนกับตายทั้งเป็น คนหนุ่มสาวเริ่มรู้สึกว่าทำไมเราต้องมาเสียเวลาอยู่ในประเทศแบบนี้ จะเป็นยังไงถ้าเราหาทางไปต่างประเทศและเริ่มชีวิตใหม่อีกครั้ง”
แม้โมจะเป็นนักเรียนหัวกะทิพร้อมประสบการณ์ทำงาน แต่การหางานสายเดิมในไทยก็นับเป็นเรื่องยาก เขาพบว่ากำแพงภาษายังคงเป็นอุปสรรคสำคัญ บางองค์กรระหว่างประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลัก ยังคงกำหนดให้แคนดิเดตต้องใช้ภาษาไทยได้ด้วย เกณฑ์ข้อนี้ก็ทำเขาตกม้าตาย อีกทั้งยังต้องแข่งขันกับชาวต่างชาติคนอื่น โดยเฉพาะนักศึกษาจากพม่าที่ก็อยู่ในภาวะดิ้นรนเอาตัวรอดไม่ต่างกัน
เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา กระทรวงมหาดไทยประกาศขยายเวลาพำนักในประเทศไทยให้นักศึกษาต่างชาติที่เข้ามาเรียนระดับปริญญาตรีขึ้นไป ที่ได้รับการตรวจลงตรา Non-Immigrant Visa รหัส ED หลังสำเร็จการศึกษา 1 ปี เพื่อหางาน เดินทางท่องเที่ยว หรือทำกิจกรรมอื่นๆ ในประเทศไทยได้
แนวโน้มการอพยพ
พิมพ์ ไชยสาส์น เลขานุการเอก ฝ่ายกงสุล สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงย่างกุ้ง ให้สัมภาษณ์กับประชาไทถึงความท้าทายในการทำงานตรวจลงตรา ระบุว่า นับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นมาที่ทางการพม่านำกฎหมายเกณฑ์ทหารกลับมาบังคับใช้ คนหนุ่มสาวหลั่งไหลขอวีซ่าเข้าไทยมากเกินกว่าที่คาดการณ์ไว้ สถิติการตรวจลงตรานักเดินทางชาวพม่าทุกประเภท พุ่งขึ้นไปถึงวันละ 800 คน ซึ่งเต็มกำลังของสถานเอกอัครราชทูตแล้ว จากเดิมที่การตรวจลงตราจะมีประมาณวันละ 200 คน โดยพีคที่สุดแค่ช่วงเปิดเทอม
คนหนุ่มสาวแห่ขอวีซ่าเข้าไทย หลังรัฐบาลประกาศกฎหมายเกณฑ์บังคับทหารพลเรือน
ภาพจาก เฟซบุ๊กกัณวีร์ สืบแสง
พิมพ์อธิบายภาพรวมของนักศึกษากลุ่มนี้ว่านับเป็นชนชั้นกลางค่อนบน จากหัวเมืองใหญ่ๆ อาทิ ย่างกุ้ง มัณฑะเลย์ เป็นต้น กระทั่งกลุ่มที่ได้ทุนจากมหาวิทยาลัยไทยก็ยังต้องมีฐานะประมาณหนึ่ง
กลุ่มแรกนักศึกษาส่วนใหญ่มักเลือกเรียนในมหาวิทยาลัยเอกชน ซึ่งการแข่งขันสอบเข้าไม่ได้สูงมากเทียบเท่ามหาวิทยาลัยของรัฐ ส่วนอีกกลุ่มที่มีงบจำกัดลงมา อาจเลือกเรียนมหาวิทยาลัยเอกชนตามแนวชายแดน หรือเลือกเรียนหลักสูตรระยะสั้น เช่น คอร์สภาษาไทยและอังกฤษ ด้วยเหตุผลเรื่องที่พักอาศัยหรือมีญาติพี่น้องอยู่บริเวณนั้น ส่วนชนชั้นนำอาจส่งลูกไปเรียนได้ไกลถึงประเทศตะวันตก
อีกหนึ่งอย่างที่สะท้อนให้เห็นความต้องการเรียนต่อไทยที่เพิ่มมากขึ้นก็คือ ผลตอบรับจากงาน Thailand Education Gorgeous (Myanmar) เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา มีจำนวนผู้ลงทะเบียนเข้าร่วมงานมากถึง 3,600 คน
ในงานมีการออกบูธของสถาบันการศึกษาหลายสิบแห่ง แนะนำหลักสูตรและขั้นตอนการสมัคร ตลอดจนทุนการศึกษาต่างๆ โดยเป็นโครงการความร่วมมือของกรมความร่วมมือระหว่างประเทศกับสมาคมศิษย์เก่าพม่าที่จบจากมหาวิทยาลัยในประเทศไทย (Affiliation of Myanmar Alumni from Universities in Thailand – AMAUT)
ในเดือนพฤศจิกายนที่จะถึงนี้ จะมีการจัดงาน Thailand Education Gorgeous (Myanmar) ครั้งที่ 8 จากผลตอบรับของงานครั้งที่แล้วค่อนข้างจะพลุแตก ครั้งนี้จึงขยายระยะเวลางานเป็น 2 วัน โดยคาดการณ์ว่าจะมีผู้เข้าร่วมประมาณ 5,000-7,000 คน
พิมพ์กล่าวด้วยว่า แม้จะมีเทรนด์อพยพของกลุ่มนักศึกษาเพิ่มขึ้น แต่ตัวเลขในอนาคตก็อาจไม่ได้เปลี่ยนไปจากที่เป็นอยู่ เนื่องจากสัดส่วนชนชั้นกลางค่อนบนไม่ได้ใหญ่มากนัก รวมถึงปัญหาเศรษฐกิจและความเหลื่อมล้ำทางสังคม
นักเรียนและผู้ปกครองเข้าร่วมงาน Thailand Education Gorgeous (Myanmar) ครั้งที่ 7 เมื่อเดือนเมษายน 2567
ภาพจากสมาคมศิษย์เก่าพม่าที่จบจากมหาวิทยาลัยในประเทศไทย
พม่าพยายามดึงคนกลับไปเกณฑ์ทหาร ?
เมื่อกลางเดือนกันยายนที่ผ่านมา รัฐบาลทหารพม่าประกาศว่า สถานเอกอัครราชทูตพม่าประจำกรุงเทพมหานคร หรือ กงสุลพม่าในจังหวัดเชียงใหม่ จะไม่ต่อหนังสือเดินทางให้นักศึกษาพม่าที่กำลังศึกษาอยู่ในประเทศไทยด้วยวีซ่านักเรียนระยะสั้น โดยนักศึกษากลุ่มนี้ต้องเดินทางกลับประเทศต้นทางเพื่อต่อหนังสือเดินทางฉบับใหม่เท่านั้น
หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่ามาตรการดังกล่าวเป็นความพยายามของรัฐบาลทหารพม่าในการให้คนรุ่นใหม่กลับประเทศเพื่อเรียกตัวเข้าเกณฑ์ทหารหรือไม่
แม้ว่าจะยังไม่มีรายงานถึงผลกระทบจากมาตรการนี้ แต่นักศึกษากลุ่มที่ประชาไทได้พูดคุยล้วนรู้สึกกังวลใจกับสถานะการอยู่อาศัยของพวกเขาในอนาคตอันใกล้
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
บทความนี้ได้รับการสนับสนุนโดย IOM ผ่านโครงการทุนเพื่อการรายงานข่าวเกี่ยวกับการโยกย้ายถิ่นฐาน
ที่มา ประชาไท ( prachatai.com )