เปิดไทม์ไลน์ประชามติ 2 ครั้ง “หนทางเดียว” ได้รัฐธรรมนูญใหม่ก่อนรัฐบาล “แพทองธาร” ครบเทอม
Article files
- Writer, หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ
- Role, ผู้สื่อข่าว.
นักการเมืองสังกัดพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาชนพยายามอย่างยิ่งที่จะลดจำนวนครั้งในการทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เหลือ 2 ครั้ง โดยพวกเขายอมรับว่า หากเดินหน้าทำประชามติ 3 ครั้ง ไม่มีโอกาสได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่เพื่อใช้จัดการเลือกตั้งปี 2570
ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ที่ สภาสูง-สภาล่าง เห็นไม่ตรงกัน ถือเป็น “อุปสรรคของการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่” ตามความเห็นของ ชูศักดิ์ ศิรินิล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ผู้เป็นมือกฎหมายของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย (พท.)
สภาผู้แทนราษฎรมีมติเอกฉันท์ 409 เสียง ผ่านร่าง พ.ร.บ.ประชามติ เมื่อเดือน ส.ค. โดยสาระสำคัญคือการกำหนดให้ใช้เสียงข้างมากของผู้มาใช้สิทธิออกเสียงในการผ่านความเห็นชอบในเรื่องที่ขอลงประชามติ โดยวุฒิสภาก็มีมติรับร่างของ สส. เอาไว้พิจารณาในวาระ 1 (ขั้นรับหลักการ) ด้วยคะแนนเสียง 179:5 งดออกเสียง 3 เสียง ก่อนเกิดเหตุพลิกผัน-พลิกมติตัวเองในระหว่างการพิจารณาในวาระ 2 และ 3 เมื่อ “สว. สีน้ำเงิน” นำทีมรื้อสาระสำคัญ โดยให้กลับไปใช้เกณฑ์ “เสียงข้างมาก 2 ชั้น” (Double Majority) ในการหาข้อยุติกรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จนต้องตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ร่วมกันเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประชามติ มี พล.ต.ต.ฉัตรวรรษ แสงเพชร สว. เป็นประธาน
มีการคาดการณ์กันว่า ร่าง พ.ร.บ.ประชามติ ที่ กมธ.ร่วมฯ พิจารณาแล้วโดยให้ยึดตามเกณฑ์ของ สว. คือใช้เสียงข้างมาก 2 ชั้น จะกลับเข้าสู่การพิจารณาของวุฒิสภา 16 ธ.ค. และสภาผู้แทนราษฎร 18 ธ.ค. นี้ โดยมี สส. พรรคภูมิใจไทย (ภท.) พลิกมาร่วมสนับสนุนแนวทางเสียงข้างมาก 2 ชั้นด้วย
หากสภาไม่เห็นชอบด้วย ร่างกฎหมายนี้ก็จะถูกยับยั้งเอาไว้ก่อน 180 วัน ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 137 จากนั้นสภาสามารถหยิบร่าง พ.ร.บ.ประชามติฉบับดั้งเดิมของตนที่ให้ใช้ “เสียงข้างมากชั้นเดียว” (Easy Majority) มายืนยัน โดยให้ถือว่าร่าง พ.ร.บ. นั้นได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาแล้วโดยไม่ต้องกลับมาถามวุฒิสภาอีก
Skip เรื่องแนะนำ and continue finding outเรื่องแนะนำ
Discontinue of เรื่องแนะนำ
ไทม์ไลน์ประชามติ 3 ครั้ง vs 2 ครั้ง
หากกระบวนการเป็นเช่นนั้น นิกร จำนง เลขานุการ กมธ.ร่วมกันเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประชามติ ประมาณการณ์ว่าจะสามารถทำประชามติครั้งแรกได้ช่วงเดือน ม.ค. 2569 ซึ่งล่าช้ากว่ากำหนดเดิมถึง 11 เดือน จากเคยกำหนดปฏิทินไว้ว่าประชาชนจะได้เข้าคูหาประชามติครั้งแรกพร้อมกับการเลือกตั้งนายกและสมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ในเดือน ก.พ. 2568
ขณะนี้ทางออกที่คนการเมืองเห็นตรงกันจึงเหลือเพียงทางเลือกเดียว นั่นคือ ต้องลดการทำประชามติจาก 3 ครั้ง เหลือ 2 ครั้ง
“ถ้าทำประชามติ 3 ครั้งคงไม่ทัน (ได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่) แต่ถึงอย่างไรก็จะดันเต็มที่ให้เกิดสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) อย่างน้อยก่อนหมดวาระรัฐบาลชุดนี้ ก็จะได้มี สสร. ส่วนการเลือกตั้งก็ใช้กติการัฐธรรมนูญฉบับเก่าไปก่อน” ชูศักดิ์ กล่าวยอมรับสภาพ
พริษฐ์ วัชรสินธุ โฆษกพรรคประชาชน (ปชน.) และประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร ชวนทบทวนความทรงจำว่า รัฐบาลเคยสัญญาไว้กับประชาชนว่าจะมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทันก่อนการเลือกตั้งครั้งถัดไป และบรรจุเป็นนโยบายของรัฐบาล แต่ถึงวันนี้ชัดเจนว่าหากรัฐบาลเดินตามแผนเดิมที่ให้ทำประชามติ 3 ครั้ง โดยไม่ริเริ่มครั้งแรกจนกว่าจะมีการแก้ พ.ร.บ.ประชามติเสร็จ เป้าหมายดังกล่าวก็มีโอกาสเป็นจริงน้อยมาก
“หนทางเดียวที่จะทำให้เป้าหมายดังกล่าวเป็นจริงได้ คือการลดจำนวนการทำประชามติจาก 3 เป็น 2 ครั้ง” พริษฐ์ กล่าว
สส. ฝ่ายค้านรายนี้คาดหวังจะเห็น “ความมุ่งมั่นของรัฐบาลในการพยายามรักษาสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชน” พร้อมเปิดเผยไทม์ไลน์การได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ กรณีทำประชามติ 2 ครั้ง
.ขอสรุปเป็นปฏิทินเอาไว้ ดังนี้
- ธ.ค. 2567 พรรค ปชน. ยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 และหมวด 15/1 เพื่อตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา
- ธ.ค. 2567 รัฐสภาพิจารณาวาระ 1 หากประธานรัฐสภาตัดสินใจบรรจุระเบียบวาระ
- มี.ค.-มิ.ย. 2568 ผ่านการพิจารณาของรัฐสภา 3 วาระ (ใช้เวลาราว 3-6 เดือน)
- ครึ่งหลังปี 2568 ทำประชามติรอบแรก (นำร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขมาตรา 256 ทไปขอความเห็นชอบจากประชาชน)
- ภายในปี 2568 กระบวนการการเลือกตั้ง สสร.
- ภายในปี 2569 สสร. จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ (ใช้เวลาราว 1 ปี)
- ต้นปี 2570 ทำประชามติรอบที่ 2 (นำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไปขอความเห็นชอบจากประชาชน)
- พ.ค. 2570 หากร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติ ก็ได้นำไปใช้จัดการเลือกตั้งครั้งต่อไป
คำถามที่เกิดขึ้นคือ ใครคือผู้มีอำนาจในการตัดสินใจให้ทำประชามติ 2 ครั้ง และจะกล้าตัดสินใจเช่นนั้นหรือไม่หลังยื้อมากว่า 1 ปี
อุปสรรคในการรื้อรัฐธรรมนูญ
หากย้อนดูปัญหาอุปสรรคในกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญในรอบปีที่ผ่านมา จะพบว่าเกิดจาก…
หนึ่ง นักการเมืองตีความคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564 ไม่ตรงกัน บ้างก็ตีความว่าต้องทำประชามติ 2 ครั้ง บ้างก็ว่า 3 ครั้ง รัฐสภาจึงมีมติเมื่อ 29 มี.ค. ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญชี้ให้ชัด ทว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องไว้พิจารณา ทำให้ สส. และ สว. ต่างยังตีความตามความเชื่อของตัวเองต่อไป
คำวินิจฉัยที่ 4/2564 ระบุตอนหนึ่งว่า “หากรัฐสภาต้องการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ต้องจัดให้ประชาชนผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญออกเสียงประชามติเสียก่อนว่าสมควรมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ ถ้าผลการออกเสียงประชามติเห็นชอบด้วย จึงดำเนินการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต่อไป เมื่อเสร็จแล้วต้องจัดให้มีการออกเสียงประชามติว่าเห็นชอบหรือไม่กับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อีกครั้งหนึ่ง”
สอง วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานรัฐสภา ไม่ยอมบรรจุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 และเพิ่มเติมหมวด 15/1 การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ของ 2 พรรคการเมือง เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา โดยให้เหตุผลว่า ทำตามคำแนะนำของคณะกรรมการประสานงานและเสนอความเห็นเพื่อประกอบการวินิจฉัยของประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีมติเสียงข้างมากแนะนำให้ไม่บรรจุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าว เพราะเห็นว่า “เป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2560 จึงมิใช่ร่างแก้ไขเพิ่มเติมตามที่ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยไว้” เมื่อ 11 มี.ค. 2564
สำหรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับที่ประธานไม่ให้บรรจุระเบียบวาระ ฉบับแรกเสนอโดยพรรค พท. และฉบับที่ 2 เสนอโดยพรรคก้าวไกล (ปัจจุบันเป็นพรรคประชาชน หรือ ปชน.)
สาม คณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติ ที่มี ภูมิธรรม เวชยชัย เป็นประธาน ได้ข้อสรุปให้ทำประชามติ 3 ครั้ง ก่อนนำเสนอและออกเป็นมติ ครม. “เศรษฐา” เมื่อ 23 เม.ย. ให้ทำประชามติ 3 ครั้ง โดยตั้งคำถามในการทำประชามติครั้งแรกว่า “ท่านเห็นชอบหรือไม่ ที่จะมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยไม่แก้ไขหมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์” เมื่อรัฐบาล “แพทองธาร” เข้ามาบริหารประเทศต่อ ก็ยังไม่ตัดสินใจชัดเจนว่าจะจัดทำประชามติกี่ครั้งกันแน่
พริษฐ์ พบ วันนอร์ เตรียมชงร่างแก้ไข รธน. ฉบับใหม่-เดินหน้าประชามติ 2 ครั้ง
วันนี้ (27 พ.ย.) พริษฐ์ วัชรสินธุ ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พัฒนาการเมืองฯ ได้นำทีมพบปะพูดคุยกับ วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา เพื่อหารือกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
หนึ่งในสิ่งที่ พริษฐ์ พกมาด้วยในการเข้าพบกับประธานสภาในวันนี้ก็คือ ผลการหารืออย่างไม่เป็นทางการกับ นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อ 21 พ.ย.
ในวันนั้น มีการทบทวนคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564 ที่ระบุไว้ในย่อหน้าสุดท้ายถึงการทำประชามติ 2 ครั้งคือ “1 ครั้งก่อน และ 1 ครั้งหลัง” และหารือถึงความหมาย ซึ่ง พริษฐ์ บอกว่า “ไม่มีใครแสดงความคิดเห็นว่ามีความจำเป็นต้องทำประชามติ 3 ครั้ง”
นอกจากนี้เขายังสรุปคำวินิจฉัยส่วนตนของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 6 จาก 9 คนที่ตีความว่าการทำประชามติ 2 ครั้งก็เพียงพอ มานำเสนอในระหว่างการประชุมด้วย
ภายหลังปิดห้องคุยกับประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ พริษฐ์ เปิดเผยว่า ได้ข้อสรุปว่าหากจะให้คณะกรรมการประสานงานฯ วินิจฉัยเรื่องนี้อีกครั้ง ต้องยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 และเพิ่มเติมหมวด 15/1 ให้มี สสร. เพื่อมาจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาอีกครั้ง หลังจากนี้จะหารือกับ สส. พรรค ปชน. เพื่อยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่
“เรามีความหวังว่าข้อมูลใหม่ที่ได้นำมาในวันนี้ จะเพียงพอในการทำให้คณะกรรมการประสานงานฯ วินิจฉัยว่า (ทำประชามติ) 2 ครั้งเพียงพอ” พริษฐ์ กล่าว
สำหรับเหตุผลที่ต้องยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ฉบับใหม่ แทนที่ประธานสภาจะหยิบยกร่างเดิมที่ค้างอยู่ 2 ฉบับมาพิจารณา พริษฐ์ ชี้แจงว่า เป็นเพราะประธานได้วินิจฉัยไปแล้วเกี่ยวกับร่างนั้นว่าไม่บรรจุ เรื่องนั้นถือว่าสิ้นสุดไปแล้ว แม้จะมีข้อมูลใหม่ ก็ไม่สามารถเปลี่ยนคำวินิจฉัยได้
เลขาฯ สภาเผย “มีโอกาสจะกลับมติ” หลังได้รับ “ข้อมูลใหม่”
ด้าน ว่าที่ ร.ต.อาพัทธ์ สุขะนันท์ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานและเสนอความเห็นเพื่อประกอบการวินิจฉัยของประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า พร้อมนำ “ข้อมูลใหม่” ที่ได้ไปประกอบการพิจารณา หากมีการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา
ส่วนพรรค ปชน. สามารถนำร่างเดิมที่ “ถูกแขวน” ไว้มาเสนอใหม่ได้หรือไม่ เลขาธิการสภาบอกว่า ไม่ปิดกั้น แล้วแต่ผู้เสนอ
.ถามว่า ประธานสภาได้บอกหรือไม่ว่าเหตุใดความเห็นของข้าราชการที่เป็นฝ่ายกฎหมายของสำนักเลขาธิการสภา ถึงมีน้ำหนักมากกว่าคำวินิจฉัยส่วนตนของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 6 คนที่บอกว่าให้ทำประชามติ 2 ครั้งก็เพียงพอ
“ไม่ได้บอกครับ ประธานสภาเพียงแต่มอบโจทย์ใหม่จากข้อมูลที่เปลี่ยนไป แต่ให้เป็นดุลยพินิจของคณะกรรมการแต่ละคน” เขาตอบ ก่อนย้ำว่า คณะกรรมการประสานงานฯ ซึ่งมี 10 กว่าคน มีหน้าที่เพียงให้ความเห็นประกอบ แต่ผู้ใช้ดุลยพินิจคือประธานสภา และส่วนใหญ่จะมีความเห็นคล้อยตามที่คณะกรรมการเสนอไป
เขากล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่ได้กำหนดว่าจะเรียกประชุมคณะกรรมการประสานงานฯ เมื่อไร เพราะต้องรอให้มีร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ยื่นเข้ามาก่อน แต่ได้รับปากประธาน กมธ.พัฒนาการเมืองฯ ต่อหน้ากับประธานสภาว่า จะนำความเห็นที่ได้จากการหารือกับประธานศาลรัฐธรรมนูญมาร่วมพิจารณา และถ้ามีโอกาสก็จะเชิญ พริษฐ์ และผู้เกี่ยวข้องไปร่วมให้ข้อมูลด้วย
ว่าที่ ร.ต.ต.อาพัทธ์ ยอมรับว่า “ข้อมูลใหม่” ที่ได้จากทั้ง 2 ส่วนถือว่า “มีน้ำหนัก” และ “มีโอกาสจะกลับมติได้ เพราะทำให้คำวินิจฉัยกลางมีความกระจ่างมากขึ้น”
ส่วนที่มีข้อโต้แย้งว่าคำวินิจฉัยส่วนตนของตุลาการเป็นเพียงความเห็น-ไม่มีผลในทางกฎหมายนั้น เลขาธิการสภามองว่า คำวินิจฉัยส่วนตนเป็นตัวช่วยในการตีความคำวินิจฉัยกลาง
ที่มา BBC.co.uk