เปิด 3 เหตุผลที่อัตราภาษีของ ทรัมป์ ไม่ใช่ปัญหาเดียวของจีน
Article recordsdata
- Creator, สุรันจนา เทวารี
- Position, ผู้สื่อข่าวธุรกิจ บีบีซีนิวส์
จีนเตรียมเปิดเผยตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประจำปี 2024 ถึงแม้ต้องดิ้นรนเพื่อสลัดวิกฤตอสังหาริมทรัพย์ที่ยืดเยื้อ หนี้รัฐบาลท้องถิ่นที่สูงขึ้น และการว่างงานของคนรุ่นใหม่
รัฐบาลกรุงปักกิ่งตั้งเป้าหมายการเติบโตของจีดีพีไว้ที่ “ประมาณ 5%” และเมื่อเดือน ธ.ค. ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน กล่าวว่า ประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่อันดับ 2 ของโลกนี้กำลังอยู่ในเส้นทางที่จะบรรลุเป้าหมายดังกล่าว
“เช่นเคย เราเติบโตท่ามกลางสายลมและสายฝน และเราแข็งแกร่งขึ้นในช่วงเวลาที่ยากลำบาก เราต้องมีความมั่นใจอย่างเปี่ยมล้น” เขากล่าว
ผู้เชี่ยวชาญเห็นด้วยอย่างกว้างขวาง โดยธนาคารโลกกล่าวว่า ต้นทุนการกู้ยืมที่ลดลง และการส่งออกที่เพิ่มขึ้น ย่อมหมายถึงจีนจะสามารถบรรลุการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ 4.9% ได้
อย่างไรก็ตาม นักลงทุนกำลังเตรียมการรับมือกับภัยคุกคามจากการที่ โดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ จะขึ้นภาษีสินค้าจีนมูลค่า 500,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 17.2 ล้านบาท)
Skip เรื่องแนะนำ and continue readingเรื่องแนะนำ
Kill of เรื่องแนะนำ
แต่ถึงอย่างนั้น นี่ไม่ใช่สิ่งเดียวที่สกัดกั้นไม่ให้จีนบรรลุเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจในปีหน้า ความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจและผู้บริโภคที่อยู่ในระดับต่ำ และเงินหยวนที่อ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องจากการที่รัฐบาลจีนปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
ต่อไปนี้คือ 3 เหตุผลว่าทำไม สี จิ้นผิง จึงต้องเผชิญกับความท้าทายที่ใหญ่กว่าปมภาษีนำเข้าของทรัมป์
1. ภาษีศุลกากรส่งผลกระทบต่อการส่งออกของจีนแล้ว
มีเสียงเตือนประสานดังขึ้นเรื่อย ๆ ว่า เศรษฐกิจของจีนจะชะลอตัวในปี 2025 ด้วยเพราะการส่งออกซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนการเติบโตในปีที่แล้วกำลังตกอยู่ในความเสี่ยง ณ เวลานี้
จีนพึ่งพาการผลิตเพื่อช่วยให้หลุดพ้นจากภาวะชะลอตัว จึงส่งออกทั้งรถยนต์ไฟฟ้า เครื่องพิมพ์ 3 มิติ และหุ่นยนต์อุตสาหกรรมมากเป็นประวัติการณ์
สหรัฐฯ แคนาดา และสหภาพยุโรป กล่าวหาว่าจีนผลิตสินค้ามากเกินไป และกำหนดภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนเพื่อปกป้องการจ้างงานและธุรกิจในประเทศ
ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า ขณะนี้ผู้ส่งออกของจีนอาจมุ่งเน้นไปที่ส่วนอื่น ๆ ของโลก แต่ดูเหมือนประเทศเหล่านั้นจะอยู่ในตลาดเกิดใหม่ ซึ่งปริมาณความต้องการอยู่คนละระดับกับอเมริกาเหนือและยุโรป ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อธุรกิจของจีนที่คาดหวังการขยายตัว และส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตสินค้าและวัตถุดิบ (ซัพพลายเออร์) พลังงาน
ขณะที่ประธานาธิบดีสีต้องการพลิกโฉมหน้าจีนจาก โรงงานผลิตสินค้าราคาถูกของโลก ให้กลายเป็น มหาอำนาจด้านเทคโนโลยีภายในปี 2035 แต่ยังไม่ชัดเจนว่า ภาคการผลิตจะเป็นแรงกระตุ้นการเติบโตที่ยิ่งใหญ่ได้อย่างไรเมื่อต้องเผชิญกับภาษีศุลกากรที่เพิ่มสูงขึ้น
2. ผู้คนใช้จ่ายไม่เพียงพอ
ในประเทศจีน ความมั่งคั่งของครัวเรือนส่วนใหญ่ถูกนำไปลงทุนในตลาดอสังหาริมทรัพย์ โดยคิดเป็นเกือบ 1 ใน 3 ของเศรษฐกิจจีน ก่อนเกิดวิกฤตอสังหาริมทรัพย์ มีการจ้างงานผู้คนนับล้านคน ตั้งแต่คนสร้างบ้าน นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ไปจนถึงผู้ผลิตปูนซีเมนต์และนักออกแบบตกแต่งภายใน
รัฐบาลจีนได้นำนโยบายต่าง ๆ มาใช้เพื่อรักษาเสถียรภาพของตลาดอสังหาริมทรัพย์ และหน่วยงานกำกับดูแลตลาดการเงินอย่างคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์จีน (CSRC) กล่าวว่าจะสนับสนุนการปฏิรูปอย่างเต็มที่
แต่ยังคงมีบ้านและอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์ถูกทิ้งร้างขายไม่ออกล้นตลาด และอุปทานส่วนเกินยังคงกดดันให้ราคาลดลง
มีการคาดการณ์ว่า ตลาดอสังหาริมทรัพย์จะตกต่ำลงจนถึงระดับต่ำสุดในปีนี้ แต่โกลด์แมน แซคส์ ธนาคารยักษ์ใหญ่ของวอลล์สตรีท สหรัฐฯ กล่าวว่า ภาวะตกต่ำครั้งนี้จะเป็น “อุปสรรคที่ลากยาว” ขัดขวางการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนไปอีกหลายปี
นอกจากไร้กำลังซื้อ ในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปี 2024 การบริโภคภาคครัวเรือนยังมีส่วนสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจของจีนเพียง 29% เท่านั้น โดยลดลงจาก 59% ก่อนเกิดโรคระบาดโควิด-19 นั่นคือหนึ่งในเหตุผลที่รัฐบาลจีนต้องเร่งเครื่องการส่งออกเพื่อชดเชยการใช้จ่ายภายในประเทศที่ซบเซา ไม่ว่าจะเป็น การออกรถยนต์ใหม่ สินค้าฟุ่มเฟือย และสินค้าแทบทุกชนิด
รัฐบาลได้ออกสารพัดโครงการ เช่น การแลกเปลี่ยนสินค้าอุปโภคบริโภค ซึ่งผู้คนสามารถนำเครื่องซักผ้า ไมโครเวฟ และหม้อหุงข้าวมาแลกได้ แต่ผู้เชี่ยวชาญยังคลางแคลงใจว่า ลำพังมาตรการเหล่านี้จะเพียงพอหรือไม่หากไม่แก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจที่ลึกซึ้งกว่า
พวกเขากล่าวว่า ผู้คนจะต้องมีเงินในกระเป๋าเพิ่มมากขึ้น ในระดับก่อนเกิดโควิด-19 ถึงจะทำให้การใช้จ่ายกลับมาเป็นปกติ
“จีนจำเป็นต้องนำสัญชาติญาณของสัตว์ (animal spirit) กลับคืนมาสู่ประชากร และเรายังห่างไกลจากสิ่งนั้นมาก” ชวง ดิง หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ประจำจีนแผ่นดินใหญ่และเอเชียเหนือของธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ กล่าว
“หากภาคเอกชนเริ่มลงทุนและสร้างสรรค์สิ่งใหม่ สิ่งนี้จะช่วยเพิ่มรายได้และแนวโน้มการจ้างงาน และผู้คนจะมีความมั่นใจในการบริโภคมากขึ้น”
หนี้สาธารณะที่เพิ่มสูงขึ้นและการว่างงานยังส่งผลกระทบต่อการออมและการใช้จ่ายของผู้คนอีกด้วย
ตัวเลขอย่างเป็นทางการบ่งชี้ว่า อัตราการว่างงานของคนรุ่นใหม่ยังคงสูงเมื่อเทียบกับตัวเลขก่อนเกิดโรคระบาด อีกทั้งการขึ้นค่าแรงก็ยังหยุดชะงักลงด้วย
3. การลงทุนไม่หลั่งไหลเข้าสู่จีนเหมือนอย่างเคย
ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ให้คำมั่นว่า จะลงทุนในอุตสาหกรรมล้ำสมัยที่รัฐบาลเรียกว่า “พลังการผลิตใหม่” (fresh productive forces)
จนถึงปัจจุบัน สิ่งนี้ช่วยให้จีนกลายเป็นผู้นำในสินค้าอย่างผลิตภัณฑ์พลังงานหมุนเวียน เช่น แผงโซลาร์เซลล์และแบตเตอรีรถยนต์ไฟฟ้า
เมื่อปีที่แล้ว จีนแซงหน้าญี่ปุ่นขึ้นเป็นผู้ส่งออกรถยนต์รายใหญ่ที่สุดในโลก
แต่ภาพเศรษฐกิจที่ไม่สดใส ความไม่แน่นอนเกี่ยวกับภาษีศุลกากร และความไม่แน่นอนทางภูมิรัฐศาสตร์อื่น ๆ ทำให้ปริมาณความต้องการลงทุนในจีนของธุรกิจต่างชาติลดน้อยลง
สเตฟานี เหลียง จากแพลตฟอร์มการจัดการความมั่งคั่ง สแตชอะเวย์ (StashAway) กล่าวว่า ไม่ใช่เรื่องการลงทุนจากต่างประเทศหรือในประเทศ แต่เป็นเรื่องของการที่ธุรกิจต่าง ๆ มองไม่เห็นอนาคตที่สดใส
“พวกเขาต้องการเห็นนักลงทุนที่หลากหลายมากขึ้นเข้ามา”
ด้วยเหตุผลทั้งหมดนี้ ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่ามาตรการสนับสนุนเศรษฐกิจจะช่วยบรรเทาผลกระทบของภาษีศุลกากรใหม่ที่อาจเกิดขึ้นของสหรัฐฯ ได้เพียงบางส่วนเท่านั้น
ฮุย ซาน หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ประจำจีนของโกลด์แมนแซคส์ ระบุในรายงานฉบับล่าสุดว่า รัฐบาลจีนต้องดำเนินการอย่างยิ่งใหญ่และกล้าหาญ หรือไม่ก็ต้องยอมรับว่า เศรษฐกิจจะไม่เติบโตเร็วขนาดนั้น “เราคาดว่าพวกเขาจะเลือกอย่างแรก”
“จีนจำเป็นต้องทำให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์มีความมั่นคง และสร้างงานให้เพียงพอเพื่อให้แน่ใจว่าสังคมมีความมั่นคง” ชวงดิง จากสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ กล่าว
ตามรายงานของ China Dissent Visual show unit พบว่า ระหว่างเดือน มิ.ย.-ก.ย. 2024 มีการประท้วงมากกว่า 900 ครั้งในจีน นำโดยคนงานและเจ้าของทรัพย์สิน ซึ่งเพิ่มขึ้น 27% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
ภาวะตึงเครียดทางสังคมเหล่านี้เป็นผลจากความคับข้องใจทางเศรษฐกิจและความมั่งคั่งที่ลดลงเรื่องที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนกังวล
ท้ายที่สุดแล้ว การเติบโตอย่างรวดเร็วได้เปลี่ยนจีนให้กลายเป็นมหาอำนาจระดับโลก และคำมั่นสัญญาที่จะเพิ่มความเจริญรุ่งเรืองเป็นตัวช่วยให้ผู้นำจีนสามารถ “ปิดปาก” บรรดาความคิดเห็นที่ไม่เห็นด้วยได้เป็นส่วนใหญ่
ที่มา BBC.co.uk