เผย 5 วิธี วางตัวเองอย่างไรไม่ให้กลายร่างเป็น “เพื่อนพิษ”

ที่มาของภาพ, Getty Pictures

Article recordsdata

  • Author, เดวิด ร็อบสัน
  • Aim, บีบีซี ฟิวเจอร์

คนส่วนใหญ่ต่างทราบกันดีว่า มนุษย์นั้นยอมรับความผิดพลาดของตนเองได้ยาก เราสามารถจะกล่าวตำหนิหรือบ่นถึงความเย่อหยิ่งจองหอง ความโง่เขลา หรือการกระทำแบบไม่รู้เรื่องรู้ราวของคนอื่นได้อย่างง่ายดาย แต่ไม่เคยจะหวนคิดไตร่ตรองดูเลยว่า คนรอบตัวได้พบเห็นความผิดพลาดใหญ่หลวงของเราในเรื่องไหนบ้าง

จุดบอดที่ตัวเราเองมองไม่เห็นนี้ มักจะปรากฏอยู่ชัดเจนในความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเพื่อนสนิท บ่อยครั้งที่เราได้ทำร้ายเพื่อนรักด้วยคำพูดหรือการกระทำที่ขาดความยั้งคิด แม้จะไม่ได้มีเจตนาร้ายเลยก็ตาม แต่ไม่ว่าจะตั้งใจทำร้ายกันหรือไม่ ผลของการกระทำด้วยความเผลอไผลดังกล่าวก็สร้างความเสียหายร้ายแรงได้ไม่แพ้กัน

ตอนที่ผมกำลังเขียนหนังสือเล่มใหม่ของตัวเอง ซึ่งมีเนื้อหาว่าด้วยวิทยาศาสตร์ของการเชื่อมสัมพันธ์ทางสังคม ผมได้ค้นพบโดยบังเอิญว่า “ความสัมพันธ์แบบสับสนย้อนแย้ง” (ambivalent relationship) หรือการที่คนผู้หนึ่งมักมีพฤติกรรมเดี๋ยวดีเดี๋ยวร้ายใส่คนรอบข้าง สามารถจะสร้างความเสียหายต่อมิตรภาพ รวมทั้งทำลายสุขภาพกายและจิตของคนเหล่านั้นได้มากกว่า เมื่อเทียบกับศัตรูคู่อาฆาตที่มีแต่ความมุ่งร้าย แต่ก็มีพฤติกรรมเป็นแบบแผนที่แน่นอนจนสามารถทำนายล่วงหน้าได้

โชคดีที่ผลวิจัยทางจิตวิทยาในปัจจุบัน สามารถจะช่วยให้เราพัฒนากลยุทธ์ง่าย ๆ แต่ทรงพลัง เพื่อนำมาใช้ค้นหาและชี้ให้เห็นนิสัยที่แย่ที่สุดของตัวเรา ซึ่งก็จะเปิดโอกาสให้เราหลีกเลี่ยงหรือบรรเทาความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นลงได้

ต่อไปนี้คือวิธีรักษาความสัมพันธ์ฉันเพื่อน 5 ข้อ ที่เป็นบทเรียนสอนใจสุดโปรดของผม ซึ่งมันจะช่วยไม่ให้คุณเผลอกลายร่างจากเพื่อนรักไปเป็น “เพื่อนพิษ” (poisonous friend) หรือศัตรูที่จำแลงแฝงกายมาในรูปของเพื่อนสนิทโดยไม่รู้ตัว

Skip เรื่องแนะนำ and proceed readingเรื่องแนะนำ

Extinguish of เรื่องแนะนำ

ทำตัวอยู่กับร่องกับรอย

ไม่มีใครชอบหากจะต้องตกไปอยู่ในสถานการณ์ที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน ข้อเท็จจริงนี้ได้ผ่านการพิสูจน์มาแล้ว ด้วยผลการทดลองทางจิตวิทยาของอาร์ชี เดอ เบอร์เคอร์ และคณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัย ยูนิเวอร์ซิตี คอลเลจ ลอนดอน (UCL) แห่งสหราชอาณาจักร

ทีมผู้วิจัยได้จัดให้อาสาสมัครเล่นเกมคอมพิวเตอร์ โดยผู้เล่นเกมจะถูกช็อตด้วยกระแสไฟฟ้าอ่อน ๆ จนรู้สึกเจ็บปวด หากเกิดไปพบงูซ่อนอยู่ใต้ก้อนหิน ภายในโลกเสมือนจริงของเกมนั้น

นอกจากนี้ ทีมผู้วิจัยยังจัดสภาพแวดล้อมภายในเกมดังกล่าว โดยให้หินแต่ละก้อนดูมีความเสี่ยงที่อาจจะมีงูซ่อนอยู่ไม่เท่ากัน เพื่อตรวจวัดผลกระทบของความไม่แน่นอน ที่มีต่อปฏิกิริยาตอบสนองต่อความเครียดของอาสาสมัครแต่ละคน รวมทั้งติดตามตรวจวัดสัญญาณทางกายที่บ่งชี้ถึงความเครียดวิตกกังวล เช่นการมีเหงื่อออกและรูม่านตาขยายด้วย

ผลปรากฏว่าอาสาสมัครที่ร่วมเล่นเกม มีแนวโน้มจะแสดงสัญญาณความเครียดในระดับสูงออกมาอย่างชัดเจน แม้ในกรณีที่มีโอกาสพบงูใต้ก้อนหินและถูกช็อตด้วยกระแสไฟฟ้าเพียงแค่ 50% เท่านั้น แต่พวกเขากลับแสดงสัญญาณของความเครียดวิตกกังวลออกมาน้อยกว่า ในสถานการณ์ที่รู้ล่วงหน้าได้อย่างแน่นอนว่าจะต้องถูกไฟฟ้าช็อตอย่างเลี่ยงไม่ได้

ด้วยเหตุนี้พฤติกรรมแบบเดี๋ยวดีเดี๋ยวร้ายไม่อยู่กับร่องกับรอย จึงทำให้ผู้คนรอบข้างเกิดความเครียดวิตกกังวลโดยไม่จำเป็น โดยในการทดลองของคณะนักวิจัยอีกทีมหนึ่ง ซึ่งมุ่งศึกษาความสัมพันธ์แบบสับสนย้อนแย้งในหมู่เพื่อนฝูง มีการขอให้อาสาสมัครลองจินตนาการว่า ได้เข้าไปหาเพื่อนคนหนึ่งเพื่อขอคำแนะนำ ขอความเห็นอกเห็นใจ หรือขอความช่วยเหลือ จากนั้นให้ตอบคำถามสองข้อ ว่าความสัมพันธ์ของพวกเขากับเพื่อนคนนั้นเป็นประโยชน์หรือน่าผิดหวังเพียงใด โดยให้คะแนนในระดับต่าง ๆ จาก 1 (ไม่เลย) ไปจนถึง 6 (มากที่สุด)

อาสาสมัครที่ให้ 2 คะแนนขึ้นไปกับคำถามทั้งสองข้อ คือผู้ที่ตกอยู่ในภาวะการเชื่อมสัมพันธ์แบบสับสนย้อนแย้ง (ambivalent connection) กับเพื่อนที่ตนจินตนาการถึง เพราะความหวาดระแวงสงสัยและไม่แน่ใจต่อปฏิกิริยาที่เพื่อนอาจแสดงออกมา ทำให้พวกเขาเกิดความเครียดในระดับสูงได้ งานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งยังพบว่า แค่อาสาสมัครบางคนได้รู้ว่าเพื่อนที่มีอารมณ์แปรปรวนคุ้มดีคุ้มร้ายนั่งอยู่ในห้องข้าง ๆ ความดันโลหิตของพวกเขาก็พุ่งสูงขึ้นแล้ว

เราอาจจะไม่สามารถช่วยเหลือหรือตอบสนองความต้องการของเพื่อนได้ทุกเรื่อง แต่อย่างน้อยเราควรจะพยายามเป็นคนที่อารมณ์มั่นคง และมีพฤติกรรมตอบสนองแบบเสมอต้นเสมอปลาย เราอาจจะลองเรียนรู้เทคนิคการควบคุมอารมณ์ให้ดีขึ้น เช่นตั้งใจว่าจะไม่ระบายโทสะใส่เพื่อนที่บังเอิญเข้ามาหาเราผิดเวลา เพราะจะเป็นการดีกว่าหากไม่ปล่อยให้เพื่อนตกเป็นเหยื่อในสนามอารมณ์ของเราเอง

หลีกเลี่ยง “ความโปร่งใสลวงตา”

เราทุกคนต่างถูกกักขังอยู่แต่ในความคิดจิตใจของตนเอง ทำให้เรามักจะประเมินผิด ๆ หรือคาดเดาอย่างเกินจริงว่า คนอื่นสามารถอ่านใจและล่วงรู้ถึงอารมณ์ความรู้สึกภายในของเราได้อย่างทะลุปรุโปร่ง ซึ่งสิ่งนี้คือปรากฏการณ์ทางจิตวิทยาที่เรียกว่า “ความโปร่งใสลวงตา” (illusion of transparency)

ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดของความเข้าใจผิดแบบนี้ คือการสัมภาษณ์คัดเลือกคนที่มาสมัครงาน โดยทั่วไปแล้วผู้เข้ารับการสัมภาษณ์มักจะคิดไปเองว่า สัญญาณของความประหม่ากลัวและวิตกกังวลคงจะแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนอยู่ทั่วใบหน้า จนผู้ทำการสัมภาษณ์ล่วงรู้ได้อย่างง่ายดาย แต่อันที่จริงแล้ว การอ่านใจและอารมณ์ความรู้สึกเบื้องลึกของผู้อื่นทำได้ยากกว่านั้นมาก

ความคิดที่ผิดพลาดดังกล่าว ซึ่งลวงตาว่าตัวตนของเราโปร่งใสจนผู้อื่นมองเห็นความคิดจิตใจของเราได้ทั้งหมดโดยไม่ต้องเอ่ยปากบอก อาจทำให้เราหลงลืมที่จะแสดงความขอบคุณต่อคนที่ทำดีกับเรามาตลอด จนเขาเหล่านั้นรู้สึกว่าถูกมองข้ามละเลย และไม่ได้รับการมองเห็นคุณค่าเท่าที่ควร

อมิต กุมาร์ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเทกซัส วิทยาเขตออสติน และนิโคลัส เอปลีย์ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยชิคาโก ร่วมกันทำการศึกษาทดลอง โดยให้อาสาสมัครจำนวนหนึ่งเขียนจดหมายแสดงความขอบคุณ เพื่อส่งถึงบุคคลสำคัญในชีวิตของพวกเขา จากนั้นให้คนทั้งสองกลุ่มข้างต้นตอบแบบสอบถาม เพื่อประเมินถึงความคาดหวังของผู้ส่งจดหมาย และปฏิกิริยาตอบสนองที่เกิดขึ้นจริงจากผู้รับจดหมาย

ผลปรากฏว่าอาสาสมัครที่เขียนจดหมายส่วนใหญ่ คาดหวังต่อปฏิกิริยาตอบสนองจากผู้รับไว้ต่ำกว่าความเป็นจริงมาก โดยคิดว่าอีกฝ่ายน่าจะไม่ค่อยตื่นเต้นประหลาดใจ หรือรู้สึกซาบซึ้งกับคำขอบคุณสักเท่าใดนัก เนื่องจากคาดว่าบุคคลสำคัญเหล่านั้นได้ล่วงรู้ถึงความสำนึกในพระคุณของพวกเขามานานแล้ว

แม้การแสดงออกเพิ่มเติมด้วยภาษากาย อาจช่วยถ่ายทอดความรู้สึกอบอุ่นใจ และช่วยสื่อสารความรู้สึกขอบคุณจากใจให้ผู้อื่นรับรู้ได้นอกเหนือจากการใช้คำพูด แต่ภาษากายก็เป็นการสื่อสารที่ถอดรหัสได้ยากเช่นกัน จึงเป็นการแน่นอนกว่าหากเราจะเอ่ยคำขอบคุณออกไปตรง ๆ เพื่อให้เพื่อนที่ดีกับเราได้เข้าใจอย่างชัดเจน

สนับสนุนความคิดของเพื่อน (แต่กระตุ้นให้พิจารณามุมมองอื่นด้วย)

ที่มาของภาพ, Getty Pictures

คำบรรยายภาพ, เมื่อเพื่อนมาระบายความทุกข์ให้ฟัง การเออออแสดงความเห็นด้วยแต่เพียงอย่างเดียว อาจไม่ช่วยอะไรมากนัก

ในเวลาที่คนเรากำลังตกที่นั่งลำบาก พวกเขามักจะแสวงหาความเห็นอกเห็นใจจากผู้อื่นเป็นธรรมดา ดังนั้นการคล้อยตามและแสดงความเข้าใจ โดยช่วยยืนยันสนับสนุนความคิดและอารมณ์ความรู้สึกของเพื่อนที่มาปรับทุกข์ด้วย จะช่วยผ่อนคลายความตึงเครียดของเขาหรือเธอลงไปได้บางส่วน

แต่ในกรณีของมิตรเทียมที่มักจะพ่นพิษใส่เพื่อนของตัวเอง คนกลุ่มนี้จะแสดงการไม่ยอมรับและวิจารณ์ตัดสินความคิดของเพื่อนอย่างรุนแรง จนอีกฝ่ายรู้สึกได้ว่าตนเองถูกปฏิเสธ ซึ่งความรู้สึกแย่ ๆ เช่นนี้ จะไปเพิ่มภาระทางอารมณ์และกดดันให้ยิ่งเครียดหนักขึ้นไปอีก

อย่างไรก็ตาม การที่เราแสดงความเห็นอกเห็นใจต่อความเจ็บปวดของเพื่อน ไม่ได้หมายความว่าเราต้องเห็นด้วยกับมุมมองที่ใช้วิเคราะห์ตีความสถานการณ์ของเพื่อนไปเสียหมด ดังนั้นการให้ความช่วยเหลือและการสนับสนุนทางอารมณ์ที่ได้ผลดีที่สุด อาจรวมถึงการให้กำลังใจและคำแนะนำ ซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้เพื่อนได้คิดพิจารณาปัญหาจากมุมมองอื่นด้วย

ปัจจุบันมีงานวิจัยทางจิตวิทยาเพิ่มขึ้นหลายชิ้น ที่บ่งชี้ว่าการปล่อยให้เพื่อนร้องไห้คร่ำครวญไปเรื่อย ๆ เพื่อระบายออกมา โดยไม่พยายามจะช่วยให้เพื่อนได้คิดหรือมองเห็นปัญหาจากมุมมองใหม่เลยนั้น มีแต่จะทำให้เพื่อนจมอยู่กับการคิดวนเวียนในรูปแบบเดิม และเพิ่มความโศกเศร้าเสียใจเป็นทวีคูณในระยะยาว การเล่นกับอารมณ์ของผู้อื่นโดยไม่พยายามช่วยพลิกสถานการณ์เลยเช่นนี้ ถือได้ว่าเป็นอีกรูปแบบหนึ่งของความสัมพันธ์ที่ “เพื่อนเป็นพิษ”

แม้การสนทนาปรับทุกข์แบบสร้างสรรค์จะทำได้ยาก เพราะต้องใช้ไหวพริบชั้นเชิงและการรับรู้อารมณ์ความรู้สึกของผู้อื่นได้อย่างว่องไว แต่ผลการศึกษาของอีธาน ครอส และคณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยมิชิแกน ได้เสนอตัวอย่างคำถามที่จะช่วยให้เพื่อนของเราคิดแก้ปัญหาจากมุมมองที่กว้างขึ้นได้

  • เมื่อลองพิจารณาสถานการณ์ดูแล้ว บอกได้ไหมว่าทำไมเหตุการณ์นี้ถึงทำให้คุณเครียดและเป็นทุกข์ ?
  • คุณได้เรียนรู้อะไรจากประสบการณ์นี้บ้างไหม ? ถ้าไม่รังเกียจ ช่วยเล่าให้ฉันฟังหน่อยได้ไหม ?
  • หากมองปัญหาจากภาพรวมในมุมกว้าง มันช่วยให้คุณเข้าใจถึงเหตุผลที่อยู่เบื้องหลังเรื่องนี้ชัดเจนขึ้นไหม ? เพราะเหตุใด ?

ผลการศึกษาของครอสและคณะชี้ว่า หลังจากที่คู่สนทนาพยายามชี้ให้อีกฝ่ายเห็นถึงมุมมองที่ต่างออกไปด้วยคำถามเหล่านี้ ผู้เข้าร่วมการทดลองที่เป็นฝ่ายมาปรับทุกข์รู้สึกดีขึ้น โดยมีแนวโน้มจะมองเห็นทางออกหรือการสิ้นสุดของปัญหาได้มากกว่า เมื่อเทียบกับผู้ที่ถูกย้ำเตือนให้คิดวนเวียนไปมาถึงรายละเอียดยิบย่อยของเหตุการณ์ รวมทั้งเฝ้าย้อนรำลึกถึงความรู้สึกเจ็บปวดซ้ำแล้วซ้ำเล่า

ชื่นชมความสำเร็จของเพื่อนและมีมุทิตาจิตต่อกัน

ความเห็นอกเห็นใจหรือความเมตตา (compassion) มีรากศัพท์มาจากคำในภาษาละตินที่แปลว่า “ความรู้สึกเจ็บปวดร่วมกัน” แนวคิดนี้มีการยอมรับกันทั่วไปว่าเป็นรากฐานของมิตรภาพ แต่ในขณะเดียวกัน แนวคิดเรื่องการมีมุทิตาจิต (confelicity) หรือความรู้สึกร่วมยินดีกับความสุขของผู้อื่น กลับไม่ค่อยจะถูกพูดถึงมากนัก แม้แต่ผลสำรวจงานวิจัยทางจิตวิทยาในปี 2010 ซึ่งจัดทำโดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัย UCSB และมหาวิทยาลัยรอเชสเตอร์ของสหรัฐฯ ยังพบว่าบทความวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์ มุ่งเน้นให้ความสำคัญต่อเหตุการณ์เลวร้ายในชีวิตมากกว่าเหตุการณ์ที่เป็นเรื่องดี ในสัดส่วนที่มากกว่า 7 ต่อ 1 เลยทีเดียว

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มของงานวิจัยทางจิตวิทยาในปัจจุบัน เริ่มให้ความสำคัญต่อการศึกษาเรื่องมุทิตาจิตมากขึ้น โดยผลการศึกษาล่าสุดหลายชิ้นชี้ว่า การพูดคุยถึงข่าวดีและแสดงความยินดีในเรื่องต่าง ๆ มีความสำคัญต่อการรักษามิตรภาพ ไม่น้อยไปกว่าการแสดงความเห็นอกเห็นใจเมื่อเพื่อนตกทุกข์ได้ยาก

เพื่อนที่ดีควรมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อความสุขหรือความสำเร็จของเพื่อนในเชิงบวกอย่างสร้างสรรค์และกระตือรือร้น เช่นไต่ถามถึงรายละเอียดและพูดคุยถึงผลดีที่จะติดตามมาให้มากขึ้น รวมทั้งแสดงความภาคภูมิใจในตัวเพื่อนด้วย ส่วนเพื่อนที่เป็นพิษนั้นอาจเฉยเมย หรือแสดงความยินดีกับเพื่อนอย่างเฉื่อยชาแบบขอไปที คนกลุ่มนี้อาจพยายามเปลี่ยนหัวข้อการสนทนาอย่างรวดเร็ว หรือแสดงความเห็นด้อยค่าเรื่องดี ๆ ของเพื่อน ให้มีความสำคัญลดน้อยลง

เพื่อนแท้นั้นแม้ชีวิตจะยุ่งเหยิงวุ่นวายและไม่มีเวลาขนาดไหน ก็จะพยายามเจียดเวลามาแสดงความชื่นชมกับความสำเร็จของเพื่อนเสมอ ไม่ว่าความสำเร็จนั้นจะเป็นเรื่องเล็กหรือใหญ่แค่ไหน ดังนั้นหากเราอยากจะเป็นเพื่อนที่ดีของผู้อื่น การใส่ใจที่จะแสดงมุทิตาจิต รวมทั้งระมัดระวังไม่บอกข่าวดีของตนเองกับเพื่อนโดยแสดงความโอ้อวดหรือยกตนข่มท่าน จึงเป็นสิ่งที่ควรยึดถือปฏิบัติ

แต่การปิดปากเงียบโดยเก็บงำข่าวความสำเร็จของตนเองไว้เป็นความลับ อาจไม่ใช่สิ่งที่ดีเช่นกัน เพราะผลการศึกษาของทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยคอร์แนล, มหาวิทยาลัยชิคาโก, และมหาวิทยาลัยเทกซัส วิทยาเขตออสติน ชี้ว่าคนส่วนใหญ่รู้สึกว่าตนเองถูกเหยียดหยามอย่างรุนแรง หากพบว่ามีผู้พยายามปิดบังข้อมูลที่เป็นข่าวดีอย่างเช่นการเลื่อนตำแหน่ง โดยไม่ให้คนรอบข้างได้รู้ คนส่วนใหญ่ยังมีแนวโน้มที่จะมองว่า ผู้ปิดบังข่าวดีนั้นมีพฤติกรรมแบบเผด็จการและชอบหลอกลวง

ยอมเป็นฝ่ายเอ่ยคำขอโทษก่อน

แม้ทุกคนจะทำผิดพลาดกันได้เสมอ แต่มีน้อยคนที่จะยอมเอ่ยปากกล่าวคำขอโทษอย่างจริงใจและรวดเร็ว ทำให้ความเกลียดชังยังคงฝังลึกและแฝงอยู่ในความสัมพันธ์ทางสังคมต่อไปอีกนาน แม้การกระทำผิดครั้งนั้นจะได้ล่วงเลยผ่านไปแล้ว

งานวิจัยทางจิตวิทยาชิ้นหนึ่งระบุว่า มีอุปสรรค 4 ประการ ที่ทำให้การกล่าวคำขออภัยนั้นไม่ได้ผล ได้แก่การที่เราไม่สำนึกถึงความผิดที่ทำลงไป, การที่เรามองว่าการเอ่ยคำขอโทษนั้นน่าอับอายและเจ็บปวด, การที่เราเชื่อว่าการขออภัยจะไม่ช่วยสมานรอยร้าวในความสัมพันธ์, และการที่เราไม่รู้ว่าการขออภัยที่ดีนั้นทำกันอย่างไร

แม้ว่าการก้าวข้ามอุปสรรคข้อแรก อาจขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงและรายละเอียดในความขัดแย้งที่เกิดขึ้น แต่อุปสรรคข้อสองและสามนั้นเป็นเพียงมายาคติที่เรามักจะคิดทึกทักไปเอง ทั้งที่ความจริงแล้ว คนส่วนใหญ่มักรู้สึกโล่งใจเมื่อได้ทำบางสิ่งเพื่อชดเชยแก้ไขความผิดพลาด การขออภัยยังเพิ่มโอกาสในการหวนคืนมาเชื่อมความสัมพันธ์ฉันเพื่อนกันดังเดิมได้มากกว่าที่คิด หากคุณสามารถเอ่ยคำขอโทษได้อย่างถูกวิธี

หลักการขออภัยต่อเพื่อนอย่างมีประสิทธิภาพ ต้องให้เวลาแก่อีกฝ่ายเพื่อระบายความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นจากการกระทำของเราออกมาให้พอ จากนั้นฝ่ายที่ขออภัยต้องกล่าวแสดงความรับผิดชอบ ยอมรับผิดและแสดงความเสียใจ รวมทั้งเสนอที่จะชดใช้ความเสียหาย ท้ายที่สุดฝ่ายที่ขออภัยควรให้คำมั่นพร้อมทั้งอธิบายกำกับด้วยว่า จะทำอย่างไรเพื่อไม่ให้ตนเองกระทำผิดซ้ำรอยเดิมอีก

ทุกความสัมพันธ์ของมนุษย์นั้นมีทั้งขาขึ้นและขาลง แต่สิ่งสำคัญคือการรักษามิตรภาพให้ยั่งยืนคงทนไปยาวนาน ด้วยการหลีกเลี่ยงความผิดพลาดที่มักจะเกิดขึ้นโดยไม่ตั้งใจ การปฏิบัติตามเทคนิคทั้ง 5 ข้อนี้ คือการรับประกันที่ดีที่สุดว่า คุณจะเป็นเพื่อนที่ดีของคนรอบข้าง ไม่ต่างจากเพื่อนในอุดมคติที่ตัวคุณเองก็ต้องการจะคบหาด้วย