เรารู้อะไรบ้างเกี่ยวกับอุบัติเหตุครั้งล่าสุดบนถนนพระราม 2
อุบัติเหตุคานก่อสร้างถนนพระราม 2 ช่วง อ.เมือง จ.สมุทรสาคร ถล่มจนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ ผู้เชี่ยวชาญจากวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย คาดว่าอุบัติเหตุเกิดขึ้นขณะกำลังมีการประกอบกล่องคอนกรีตเซกเมนต์ โดยจะต้องตรวจสอบสาเหตุอย่างละเอียดอีกครั้งว่าเกิดจากการวิบัติของโครงสร้างส่วนใด ส่วนการรื้อถอนสถานที่เกิดเหตุคาดว่าต้องใช้เวลาหลายวัน
ราชการส่วนจังหวัดสมุทรสาคร วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย และบริษัทผู้รับเหมา ร่วมหารือถึงแผนการกู้ที่เกิดเหตุที่จุดบัญชาการชั่วคราว โดยเบื้องต้นได้มีการระดมรถเครนขนาดใหญ่จำนวน 3 คัน ซึ่งคาดว่าจะเข้าพื้นที่ได้ในช่วง 15.00 น. วันนี้ (29 พ.ย.)
นายวรณัฎฐ์ หนูรอด รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร เปิดเผยล่าสุดเมื่อเวลา 11.00 น. ว่าอุบัติเหตุดังกล่าวทำให้มีผู้เสียชีวิตเบื้องต้น 4 ราย บาดเจ็บ 5 ราย และยังสูญหายอีก 2 ราย เบื้องต้นผู้เสียชีวิตจะได้รับเงินช่วยเหลือเยียวยาตามสิทธิประกันสังคมกว่า 8 แสนบาท
ก่อนหน้านี้ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เคยลั่นวาจาไว้เมื่อเดือน มี.ค. ที่ผ่านมาว่า ได้เรียกผู้รับเหมาโครงการก่อสร้างบนถนนพระราม 2 เข้ามาพูดคุย และให้ทุกรายยืนยันว่า ในเดือน มิ.ย.2568 แล้วเสร็จ ยกเว้นทางหลวงพิเศษช่วงเอกชัย-บ้านแพ้ว ตอน 4 และ 6 เนื่องจากมีการแก้ไขแบบ และเป็นจุดขึ้นลงทำให้เสร็จปลายปี 2568
การให้คำมั่นดังกล่าวเกิดขึ้น เมื่อเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ทางสังคมออนไลน์ถึงความล่าช้าของการก่อสร้าง และอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นนับไม่ถ้วนในการก่อสร้างโครงการต่าง ๆ บนถนนเส้นนี้
Skip เรื่องแนะนำ and continue discovering outเรื่องแนะนำ
Cease of เรื่องแนะนำ
.รวบรวมข้อมูลล่าสุดของอุบัติเหตุและแผนการกู้และรื้อถอนที่เกิดเหตุ
เกิดอะไรขึ้น
เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในเวลาราว 04.07 น. ของวันนี้ (29 พ.ย.) เมื่อคานสะพานที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างทางยกระดับพังถล่มลงมา
จุดเกิดเหตุอยู่ที่ถนนพระราม 2 กิโลเมตรที่ 21 ขาออกกรุงเทพฯ บริเวณหมู่ 4 ต.นาดี อ.เมือง จ.สมุทรสาคร ใกล้ตลาดมหาชัยเมืองใหม่
กรมทางหลวง (ทล.) รายงานนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คมนาคม ว่า เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นจากคานปูน (Section) และเครน (Launching Gantry Crane) ซึ่งเป็นชิ้นส่วนและอุปกรณ์ที่ใช้ก่อสร้างทางยกระดับ โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษหมายเลข 82 สายทางยกระดับบางขุนเทียน-บ้านแพ้ว ช่วงเอกชัย-บ้านแพ้ว ตอน 1 ถล่ม ขณะที่กำลังเชื่อมคานปูนเข้าด้วยกัน
นายมนตรี วงศ์วิวัฒน์ รอง ผอ.แขวงทางหลวงสมุทรสาคร กล่าวว่า ตอนนี้ยังไม่สามารถระบุสาเหตุที่ทำให้ทรัส (Launching Truss) ถล่มลงมาได้ ต้องรอให้ทางวิศวกรผู้เชี่ยวชาญ เข้ามาตรวจสอบ
สื่อมวลชนหลายสำนัก อาทิ สถานีโทรทัศน์ช่อง 3, เอ็นบีที รายงานโดยอ้างคำให้สัมภาษณ์จากหัวหน้าคนงาน กล่าวว่า ตอนเกิดเหตุ ทุกคนกำลังทำงานอยู่ด้านบน ช่วงที่กำลังจะย้ายมาทำงานอีกฟากหนึ่งของตัวยกแผ่นปูน จู่ ๆ ตัวโครงก็ถล่มลงมา โดยไม่มีสัญญาณใด ๆ ทำให้ลูกน้องตกลงมาเสียชีวิต และเชื่อว่าบางคนน่าจะถูกทับอยู่ใต้ซากคานที่ถล่มลงมา
“ตอนนั้นผมก็ไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น แต่ที่จำได้คือภาพที่ลูกน้องตกลงมาเสียชีวิตและบาดเจ็บ” หัวหน้าคนงานกล่าว
สาเหตุเบื้องต้นจากการประเมินของผู้เชี่ยวชาญ
นายวุฒินันท์ ปัทมวิสุทธิ์ ประธานสาขาวิศวกรรมเครื่องกล วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย (วสท.) ให้สัมภาษณ์สื่อที่จุดบัญชาการเหตุเกี่ยวกับสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุว่า จากการประเมินด้านนอกบริเวณหน้างานก่อสร้างและสอบถามข้อมูลจากผู้คุมงาน คาดว่าอุบัติเหตุเกิดขึ้นขณะกำลังประกอบชิ้นส่วน โดยเครนลอนเชอร์ทรัสที่เกิดอุบัติเหตุเป็นเครนที่ใช้ประกอบชิ้นส่วนคอนกรีตหรือเซกเมนต์ของทางวิ่งด้านบน แต่การจะตรวจสอบได้อย่างแน่ชัดจะต้องดูในขั้นตอนที่มีการเคลื่อนย้ายรื้อถอนชิ้นส่วนออกมาแล้วจึงจะประเมินได้ว่าสาเหตุเกิดจากการวิบัติในตัวโครงสร้างส่วนใด
“น้ำหนักที่ห้อยอยู่หนักหลายร้อยตัน และมีการขยับเคลื่อนที่ของตัวชุดรอกที่ยกรับน้ำหนัก ซึ่งเวลาขยับมันอาจจะไม่เกิดแรงบางด้าน แต่ทั้งนี้ต้องพูดคุยกับผู้ควบคุมพื้นที่หน้างานก่อน” นายวุฒินันท์กล่าว
ผู้เกี่ยวข้องทำอะไรแล้วบ้าง แผนการรื้อถอนเป็นอย่างไร
ตั้งแต่ช่วงเช้า ผู้เกี่ยวข้องต่างลงพื้นที่ต่อเนื่อง นำโดยนายวรณัฎฐ์ หนูรอด รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ที่รุดไปตรวจสถานที่เกิดเหตุ และพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ผู้ควบคุมงาน หัวหน้าคนงาน และคนงานก่อสร้าง
ขณะที่ผู้อำนวยการแขวงทางหลวงสมุทรสาคร หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
กรมทางหลวง (ทล.) จะส่งผู้เชี่ยวชาญ ร่วมกับวิศวกรจากบริษัทผู้รับจ้าง เข้าตรวจสอบและประเมินความเสียหาย มีนายธนสาร สิทธาภา แขวงทางหลวงสมุทรสาครเป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ โดยพร้อมเข้าเคลียร์พื้นที่ด้วยถเครนขนาด 400 ตัน 1 คัน และ 200 ตัน 2 คัน หลังการประเมินเสร็จสิ้น
ส่วนการรื้อถอนกู้ซากคอนกรีต ประธานสาขาวิศวกรรมเครื่องกล กล่าวว่า การยกรื้อถอนส่วนที่เกิดอุบัติเหตุ “เป็นงานที่ค่อนข้างละเอียดอ่อน” และ “การกู้คาดว่าต้องใช้เวลาหลายวัน”
ที่เป็นเช่นนี้ นายวุฒินันท์อธิบายว่า เนื่องจากตัวโครงสร้างที่พักพังทลายอยู่ในจุดนี้ น้ำหนักตามปกติน่าจะหนักที่หลายร้อยตัน อีกทั้งมีกล่องคอนกรีตเซกเมนต์ที่ห้อยคาอยู่ประมาณ 3-4 กล่อง ซึ่งมีน้ำหนักเดินกว่า 50 ตัน มีชิ้นส่วนที่กองบริเวณพื้น 8 ท่อน ดังนั้น การเคลื่อนย้ายต้องใช้เครนขนาดใหญ่
นายวุฒินันท์กล่าวต่อไปว่า และด้วยโครงสร้างที่พังทลายอาจมีการแตกหักเสียหาย และชิ้นส่วนแต่ละส่วนอาจจะยึดโยงกันอยู่เพราะมีขนาดยาวมาก จึงทำให้ไม่สามารถยกโครงสร้างที่ต่อเนื่องและมีการพังทลายได้ในครั้งเดียว การกู้ยอาจต้องมีการตัดทีละส่วน จึงทำให้การกู้และรื้อถอนอาจต้องใช้เวลาหลายวัน
“ทาง วสท. จะมีทีมวิศวกรด้านงานยกเคลื่อนย้ายโดยเฉพาะ ซึ่งจะให้คำแนะนำว่าจะรื้ออย่างไร หรือจะต้องมีการตัดแยกส่วนก่อนลำเลียงลงสู่ด้านล่าง” ประธานสาขาวิศวกรรมเครื่องกล วสท.
เครนที่เกิดอุบัติเหตุคืออะไร
โครงสร้างสะพานที่พังถล่มลงมาคือ เครนลอนเชอร์ หรือเครนทรัส (Launching Truss) ซึ่งเป็นอุปกรณ์ในการติดตั้งคานสะพานด้วยโครงเหล็กเลื่อนของการก่อสร้างสะพานด้วยวิธีแบบก่อสร้างทีละช่วง (Span-by-Span) โดยโครงสร้างส่วนบน (Huge Construction) ใช้รูปแบบคานคอนกรีตอัดแรงรูปกล่องแบ่งเป็นหลายชิ้นใน 1 span
ในการติดตั้งจะใช้รอกไฟฟ้ายกชิ้นส่วนคานขึ้นมาอยู่ในระดับการติดตั้ง และเลื่อนชิ้นส่วนให้เข้าชิดติดกันตามตำแหน่งแหน่งที่ระบุในแบบ แล้วใช้เส้นลวดสลิงขนาดใหญ่แขวนชิ้นส่วนสำเร็จทั้งหมดให้ลอยอยู่ในระดับที่ต้องการติดตั้ง และเข้าสู่ กระบวนการเชื่อมรอยต่อระหว่างชิ้นส่วนต่าง ๆ
ย้อนดูอุบัติเหตุจากการก่อสร้างบนถนนพระราม 2
ตั้งแต่ปี 2561 ถนนเส้นนี้เต็มไปด้วยโปรเจกต์ก่อสร้าง รวมทั้งสิ้น 3 โครงการ ไม่นับโครงการซ่อมแซมอื่น ได้แก่ 1) ทางยกระดับบนทางถนนพระราม 2 หรือมอเตอร์เวย์ 2) ทางหลวงพิเศษหมายเลข 82 และโครงการทางพิเศษสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก และ 3) โครงการขยายพระราม 2 ช่วงทางแยกต่างระดับบางขุนเทียน-เอกชัย ซึ่งเสร็จสิ้นไปแล้วเมื่อเดือน ก.ค. 2564
ในรอบ 6 ปีที่ผ่านมามีอุบัติเหตุเกิดขึ้นบ่อยครั้ง อาทิ
- 9 ส.ค. 2563 รถยนต์ 2 คันเป็นรถกระบะ และรถเก๋ง ตกร่องถนนที่กำลังก่อสร้าง จุดเกิดเหตุอยู่บริเวณหน้าบริษัท โลหะกิจเจริญทรัพย์ ถนนพระราม 2 จ.สมุทรสาคร ขาเข้ากรุงเทพฯ โดยที่เกิดเหตุไม่มีป้ายแจ้งเตือนและเป็นลักษณะน้ำท่วมบริเวณร่องถนน
- 21 ส.ค. 2564 คนงานบริษัท อิตาเลียนไทยฯ หล่นจากคานทางยกระดับพระราม 2 ช่วง กม.19 เสียชีวิตระหว่างทำการติดตั้งแผ่นรองรับตัวคาน คาดว่าเป็นช่วงมุดเข้าใต้ท้องสะพานจึงถอดเข็มขัดนิรภัยออก
- 17 ก.ค. 2565 วัสดุก่อสร้างร่วงหล่นลงบนถนนพระราม 2 กม.17 ขาเข้ากรุงเทพฯ ช่วงสมุทรสาคร เหล็กขนาดใหญ่ได้ลอยตกลงมาทับจนรถกระดอนขึ้นสร้างความเสียหายอย่างรุนแรง และมีรถยนต์ส่วนบุคคลเสียหายอีก 2 คัน มีผู้ได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย 3 คน ทล. ชี้แจงว่าเหล็กดังกล่าวเป็นชิ้นส่วนนั่งร้านเหล็ก
- 22 ก.ค. 2565 พบรอยแตกร้าวพื้นสะพานทางด่วนพระราม 2 บริเวณทางเข้าหมู่บ้านเนเชอร่า ทล. ชี้แจงคาดว่าเกิดจากความสั่นสะเทือน เนื่องจากสะพานช่วงดังกล่าวมีปริมาณการจราจรสูงมาก พร้อมระบุถึงการเข้าซ่อมแซมโดยปิดช่องจราจรด้านใต้ของสะพานเป็นเวลา 2 สัปดาห์
- 31 ก.ค. 2565 สะพานกลับรถหรือจุดยูเทิร์นเกือกม้าบนถนนพระราม 2 กิโลเมตรที่ 34 บริเวณใกล้โรงพยาบาลวิภาราม จ.สมุทรสาคร เกิดเหตุถล่ม เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 2 ราย ซึ่งหนึ่งในนั้นเป็นคนงานก่อสร้าง และบาดเจ็บ 2 ราย
- 7 มี.ค. 2566 เกิดเหตุเครนล้มขวางถนนพระราม 2 ฝั่งขาออกจากกรุงเทพฯ ช่วง ต.นาดี อ.เมือง จ.สมุทรสาคร ในโครงการ M82 สายทางยกระดับบางขุนเทียน-บ้านแพ้ว ช่วงเอกชัย-บ้านแพ้ว ตอน 3 ผู้รับจ้างใช้รถเครนยกรถแบ็กโฮที่ติดหล่ม ระหว่างที่ยกนั้น สลิงของรถเครนได้หลุดออกจากรถแบ็กโฮ ทำให้บูมรถเครนเหวี่ยงและหักขวางถนน เคราะห์ดีไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ
ที่มา BBC.co.uk