เหตุลอบสังหาร “ลิม กิมยา” สะท้อนปัญหา “การกดปราบข้ามพรมแดน” อย่างไร

ที่มาของภาพ, Getty Photos

คำบรรยายภาพ, นายลิม กิมยา

จากกรณีมือปืนก่อเหตุยิงนายลิม กิมยา อดีต สส. ฝ่ายค้านกัมพูชา บริเวณตรงข้ามวัดบวรนิเวศราชวรวิหาร แขวงวัดบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร กลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ของกลุ่มสิทธิมนุษยชนและนักการเมืองของไทย พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลอย่านิ่งเฉยต่อเรื่องนี้โดยหาคนผิดมาลงโทษ ก่อนที่ไทยจะถูกมองว่า ไม่สามารถจัดการกับ “การกดปราบข้ามแดน” ได้

ที่ปรึกษาองค์กรสิทธิมนุษยชนฮิวแมนไรท์วอทช์มองว่า เหตุลอบสังหารนายลิม กิมยา นี้เป็นเรื่องที่ “น่าแปลกใจ” เพราะว่า เขาเองไม่ได้มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองใด ๆ ที่โดดเด่นไปในทางที่จะทำให้เขาตกเป็นเป้าหมายการโจมตี ในลักษณะปฏิบัติการข้ามชาติ

“มีการแจ้งให้ทราบว่า เขาเดินทางจากกัมพูชาอย่างไร เดินทางด้วยรถโดยสารแบบใด และพอรถยนต์มาถึงจุดหมายที่กรุงเทพมหานคร ก็มีคนชี้เป้าเพื่อยืนยันตัวตนและมีคนรอก่อเหตุลอบสังหารขึ้น จึงทำให้เห็นได้ว่า เป็นปฏิบัติการที่จงใจแบบจำเพาะเจาะจง แต่ว่าทำไมเลือกเขาเป็นเป้าหมาย” นายสุณัย ผาสุข ที่ปรึกษาองค์กรสิทธิมนุษยชนฮิวแมนไรท์วอทช์ บอกกับ.

ขณะที่หลังการสืบสวนเบื้องต้นของเจ้าหน้าที่ตำรวจ พล.ต.ท.สยาม บุญสม ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) เปิดเผยความคืบหน้าว่า เบื้องต้นจากข้อมูลทางการสืบสวนทราบว่า คาดว่ามีคนจ้างวานและมีคนชี้เป้า แต่ในรายละเอียด ขอสงวนข้อมูลเอาไว้ก่อน

ด้านพรรคกู้ชาติกัมพูชา หรือ ซีเอ็นอาร์พี (Cambodia Nationwide Rescue Win collectively – CNRP) ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 7 ม.ค. ที่ผ่านมา ประณามการลอบสังหารนายลิม กิมยา เปรียบเสมือนการละเมิดสิทธิมนุษยธรรมและเป็นภัยคุกคามโดยตรงต่อความอิสระทางการเมือง พร้อมกับเรียกร้องให้รัฐบาลไทยจัดการสอบสวนการฆาตกรรมนี้อย่างรวดเร็ว ถี่ถ้วน และเป็นกลาง และนำผู้กระทำความผิดมาดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรม

Skip เรื่องแนะนำ and continue learningเรื่องแนะนำ

Live of เรื่องแนะนำ

เหตุเกิดขึ้นได้อย่างไร

ข้อมูลจาก พ.ต.ท.พัชรภณ สุขประดิษฐ์ สว.สอบสวน สน.ชนะสงคราม ที่แจ้งให้สื่อมวลชนทราบว่า ที่เกิดเหตุเป็นบริเวณเกาะกลางถนน ตรงข้ามวัดบวรนิเวศฯ ใกล้วงเวียนสิบสามห้าง ในวันอังคารที่ 7 ม.ค. เวลาประมาณ 16.00 น. โดยนายลิม กิมยา อายุ 74 ปี ชาวกัมพูชา สัญชาติฝรั่งเศส สวมเสื้อโปโลสีดำ กางเกงขาสั้นครีม ถูกยิงด้วยอาวุธปืนบาดเจ็บสาหัส กระสุนเข้าที่ชายโครงขวาและหัวไหล่ขวาอย่างละนัด แม้ว่าจะมีหน่วยกู้ชีพปฐมพยาบาลปั๊มหัวใจ แต่ผู้บาดเจ็บอาการสาหัสเสียชีวิตในที่เกิดเหตุ

ที่มาของภาพ, EPA

คำบรรยายภาพ, จุดเกิดเหตุลอบสังหารนายลิม กิมยา

เบื้องต้นคนร้ายเป็นชายขับขี่รถจักรยานยนต์ฮอนด้า เวฟ 100 สีแดง ทะเบียน 845 คนร้ายสวมเสื้อสีเทาแขนสั้น สะพายกระเป๋าคาดหน้าอก กางเกงยีนส์ สวมหมวกกันน็อก คาดว่าซุกซ่อนอาวุธปืนไว้ในกระเป๋า

ข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ตำรวจระบุเบื้องต้นว่า ผู้เสียชีวิตเป็นนักเคลื่อนไหวทางการเมือง เดินทางมาจากเมืองเสียมเรียบ ประเทศกัมพูชา โดยรถบัสมาพร้อมกับภรรยาชาวฝรั่งเศส และลุงชาวกัมพูชา ได้มาลงตรงบริเวณที่เกิดเหตุ จากนั้นมีคนร้ายขับรถจักรยานยนต์ จอดรถแล้วก็ลงมายิงผู้ตาย ก่อนจะขับขี่รถจักรยานยนต์หลบหนี เส้นทางใช้ถนนพระสุเมรุ ผ่านหน้าวัดบวรฯ ขณะนี้เจ้าหน้าที่กำลังสอบปากคำภรรยาของเขาเพื่อหาสาเหตุปมสังหารนักเคลื่อนไหวทางการเมืองครั้งนี้

ล่าสุดวันนี้ (8 ม.ค.) พ.ต.อ.สนอง แสงมณี ผกก.สน.ชนะสงคราม เปิดเผยว่า พนักงานสอบสวน สน.ชนะสงคราม ได้ออกหมายจับคนร้ายที่ก่อเหตุยิง นายลิม กิมยา โดยผู้ก่อเหตุที่ถูกออกหมายจับ ชื่อ นายเอกลักษณ์ แพน้อย หรือ “จ่าเอ็ม” อายุ 41 ปี ชาวกรุงเทพมหานคร ในข้อหา ฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน พกอาวุธปืนไปในเมืองหมู่บ้านหรือทางสาธารณะ โดยไม่มีเหตุอันควร ยิงปืนซึ่งใช้ดินระเบิดซึ่งใช่เหตุในเมือง

ที่มาของภาพ, EPA

คำบรรยายภาพ, บริเวณเกาะกลางถนน ตรงข้ามวัดบวรนิเวศฯ ใกล้วงเวียนสิบสามห้าง

มีรายงานข่าวเพิ่มเติมว่า ประวัติของ นายเอกลักษณ์ เคยรับราชการเป็นทหารเรือ สังกัดหน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน มีความชำนาญในการใช้อาวุธปืน นอกจากนี้ยังเป็นนักกีฬาสนุกเกอร์ ฉายา “เอ็ม กองเรือ” มีผลงานเคยเข้าร่วมการแข่งขันสนุกเกอร์อาชีพเก็บสะสมคะแนน ดิวิชั่น 2 จำนวน 4 รายการ

ฮิวแมนไรท์วอทช์เชื่อเป็น “การลอบสังหารในทางการเมือง”

เมื่อพิจารณาจากรูปการณ์ นายสุณัยเชื่อว่า การเสียชีวิตของนายลิม กิมยา เป็นการลอบสังหารในทางการเมือง (political assassination) ในจังหวะเวลาที่น่ากังวล เนื่องจากเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องจาก อดีตนายกรัฐมนตรีฮุน เซน ซึ่งปัจจุบันยังคงมีอำนาจทางการเมืองและอยู่ในฐานะประธานวุฒิสภาได้ประกาศให้มีการผลักดันกฎหมายฉบับใหม่ ที่จะถือว่าการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาล เป็นการก่อการร้าย มีการลงโทษอย่างหนักทั้งตัวบุคคลและองค์กร หรือพรรคการเมืองที่มีการเคลื่อนไหว

“นี่จึงเป็นการแสดงความกังวลอีกทางหนึ่งว่า นี่จะเป็นการส่งสัญญาณการปราบปรามรอบใหม่เกิดขึ้นในทางการเมืองต่อฝ่ายที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล และควบคู่กันไปก็มีการลอบสังหารตัวบุคคล ซึ่งเหมือนกับการส่งสัญญาณและแรงกระเพื่อมอย่างแรงในหมู่นักกิจกรรม คนที่รณรงค์วิจารณ์รัฐบาล รวมทั้งสมาชิกพรรคฝ่ายค้านที่ต้องหลบลี้หนีภัยนอกประเทศด้วยว่า ต่อให้ออกมานอกกัมพูชาแล้วก็ยังไม่มีความปลอดภัย ถ้าหากยังถูกถือว่าเป็นศัตรูของรัฐบาล” เขาอธิบาย

ที่มาของภาพ, Reuters

คำบรรยายภาพ, ฮุน เซน สั่งปิดสื่ออิสระแห่งสุดท้ายในกัมพูชา ฐาน “ทำร้าย” ชื่อเสียงครอบครัว เมื่อเดือน ก.พ. 2023

เหตุการณ์ดังกล่าวตามทัศนะของที่ปรึกษาองค์กรสิทธิมนุษยชนฮิวแมนไรท์วอทช์มองว่า ทำให้เห็นว่า กำลังเกิด “การกดปราบ” ทั้งในกัมพูชา อย่างเช่น การยุบพรรคการเมือง การดำเนินคดีกับฝ่ายค้าน นักกิจกรรม และสื่อมวลชน และยังมีลักษณะเกิด “การกดปราบข้ามแดน” มายังประเทศเพื่อนบ้านอีกด้วย ซึ่งประเด็นดังกล่าว ฮิวแมนไรท์วอทช์และคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติแสดงความกังวลต่อประเด็นนี้มากขึ้น เนื่องจากเริ่มเห็นการส่งตัวผู้เห็นต่างทางการเมืองกลับประเทศ หรือมีผู้สูญหายมากขึ้นในประเทศภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และกรณีการลอบสังหารนายลิม กิมยา นี่ถือเป็นการยกระดับขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง

“นานาชาติคงตั้งคำถามต่อรัฐบาลไทยว่า เมื่อเดือนที่แล้วทางการไทยได้ส่งนักเคลื่อนไหวทางการเมือง 6 คนกลับกัมพูชา ที่เผชิญกับข้อหายุยงปลุกปั่น และตามมาด้วยเหตุลอบสังหารนายลิม กิมยานี้ ซึ่งก็ตกเป็นภาระของฝ่ายทางการไทยที่จะต้องดำเนินการให้เห็นว่าสามารถนำตัวคนร้ายที่ก่อเหตุเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมให้ได้” เขากล่าวเสริม

ปฏิกิริยาจากนักการเมืองไทยและกัมพูชาเป็นอย่างไร

เนื่องจากเหตุการณ์ลอบสังหารดังกล่าวเกิดขึ้นกับนักการเมืองฝ่ายค้านของกัมพูชา และขณะเกิดเหตุก็เกิดขึ้นในสถานที่มีผู้คนพลุกพล่านและเป็นสถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังของกรุงเทพมหานคร ทำให้มีนักการเมืองทั้งไทยและในกัมพูชาออกมาแสดงความคิดเห็นและวิพากษ์วิจารณ์กันโดยเฉพาะ สส. ฝ่ายค้าน และ สว. บางส่วนที่ขับเคลื่อนด้านสิทธิมนุษยชน

หนึ่งในนั้นคือ นางอังคณา นีละไพจิตร สมาชิกวุฒิสภา (สว.) โพสต์ข้อความเฟซบุ๊กของเธอ Angkhana Neelapaijit ถึงกรณีดังกล่าวว่า นายกรัฐมนตรีต้องไม่เพิกเฉยกรณีนักการเมืองฝ่ายค้านกัมพูชาถูกยิงตายกลางกรุงเทพมหานคร ถือเป็น “การกระทำที่อุกอาจมากเกินกว่าจะยอมรับได้” อีกทั้งเป็นสัญญานว่ากรุงเทพฯ ไม่มีความปลอดภัยอีกต่อไป โดยเฉพาะกับผู้เห็นต่างทางการเมือง รวมถึงผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่พักพิง

เธอได้ยกตัวอย่าง กรณีที่มีผู้ลี้ภัยทางการเมืองหลายคนถูกลักพาตัวหรือถูกบังคับให้สูญหายในไทย รวมถึงนายอ๊อด ไชยวงศ์ นักรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยชาวลาวที่ถูกอุ้มหายที่กรุงเทพ เมื่อวันที่ 26 ส.ค. 2562 จนถึงปัจจุบันไม่มีใครทราบที่อยู่และชะตากรรมของเขา ตามรายงานคณะผู้เชี่ยวชาญสหประชาชาติที่ผ่านมา

นอกจากนี้ เธอยังเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตร ซึ่งมีความสัมพันธ์แนบแน่นกับรัฐบาลกัมพูชา จะต้องไม่เพิกเฉยต่อเหตุลอบสังหารดังกล่าวด้วย

“รัฐบาลคุณแพทองธารต้องสืบค้นให้ได้ว่าใครอยู่เบื้องหลังการลอบสังหารนายลิม กิมยา และนำผู้กระทำผิดมาลงโทษตามกระบวนการยุติธรรมโดยเร็ว” เธอระบุในข้อความบนเฟซบุ๊ก

นอกจากนี้ ยังมีนายปิยรัฐ จงเทพ สส.พรรคประชาชน ระบุว่า การเสียชีวิตของนายลิม กิมยา ในกรุงเทพมหานครเป็นเรื่องใหญ่ พร้อมกับการจับตาจากนานาชาติ เพราะผู้เสียชีวิตอยู่ฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาลของกัมพูชา พร้อมเร่งให้จับกุมผู้ก่อเหตุโดยเร็วที่สุด

ที่มาของภาพ, Cambodia Nationwide Rescue Win collectively/Handout

ก่อนหน้านั้นในวันที่ 7 ม.ค. พรรคกู้ชาติกัมพูชา หรือพรรคซีเอ็นอาร์พี ซึ่งพรรคดังกล่าวถูกศาลตัดสินยุบพรรคไปเมื่อปี 2560 ขณะที่สมาชิกพรรคและกรรมการพรรคถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองเป็นระยะเวลา 5 ปี รวมถึงนายลิม กิมยาด้วย ได้ออกแถลงการณ์ประณามเหตุสังหารนายลิม กิมยา ซึ่งเป็นอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดกำปงธมของพรรคซีเอ็นอาร์พี

“การฆาตกรรมอย่างเลือดเย็นที่เกิดขึ้นกลางที่แจ้งแสดงให้เห็นถึงความไม่สนใจต่อชีวิตมนุษย์และกฎหมาย” ข้อความในแถลงการณ์ระบุ

ลิม กิมยา คือใคร

ที่มาของภาพ, Getty Photos

คำบรรยายภาพ, นายลิม กิมยา เป็นอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดกำปงธมของพรรคซีเอ็นอาร์พี

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานเกี่ยวกับนายลิม กิมยา ว่า เขาเป็นสมาชิกของพรรคซีเอ็นอาร์พี ซึ่งถือเป็นพรรคฝ่ายค้านที่เคยได้รับความนิยมในอดีต แต่กลับถูกศาลในกัมพูชาสั่งยุบพรรคในปี 2560 ก่อนการเลือกตั้งทั่วไปในปีถัดมา ด้วยข้อหาสมคบกับสหรัฐฯ เพื่อโค่นล้มรัฐบาล ซึ่งในขณะนั้นพรรคซีเอ็นอาร์พีกล่าวว่า ข้อหาดังกล่าวเป็นการใส่ร้ายโดยพรรคประชาชนกัมพูชาของสมเด็จฮุน เซน

ตลอดระยะเวลากว่าสี่ทศวรรษที่กัมพูชาถูกปกครองโดยพรรคประชาชนกัมพูชา ได้มีการปราบปรามฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองอย่างต่อเนื่องและรุนแรง มีนักการเมืองและนักเคลื่อนไหวทางการเมืองจำนวนมากต้องถูกจำคุก มีจำนวนมากที่สูญหาย และหลายร้อบคนต้องลี้ภัยในต่างประเทศ แต่รัฐบาลออกมาปฏิเสธว่าไม่เคยข่มเหงฝ่ายค้านแต่อย่างใด

สำนักข่าวรอยเตอร์ยังรายงานด้วยว่า นายลิม กิมยา ไม่ได้เป็นนักเคลื่อนไหวทางการเมืองที่เคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลกัมพูชาที่โดดเด่นนัก

แต่ก่อนหน้านี้ เขาเคยให้สัมภาษณ์สำนักข่าวต่างประเทศหลายครั้ง อย่างเมื่อเดือน พ.ย. 2560 เขาเคยให้สัมภาษณ์สำนักข่าวเอเอฟพีว่า เขาจะ “ไม่มีทางเลิกเล่นการเมือง” และยังคงมีแผนจะอยู่ในกัมพูชาต่อไป แม้ว่าในขณะนั้นจะมีคำสั่งศาลฎีกาสั่งยุบพรรคซีเอ็นอาร์พีก็ตาม