เหตุใดพจนานุกรมฉบับใหม่ของฝรั่งเศสถูกวิจารณ์ว่า “ล่าช้าเกินไปจนแทบจะไร้ประโยชน์”
Article info
- Creator, ฮิวจ์ สโคฟีลด์
- Role, บีบีซีนิวส์
ภารกิจการทำพจนานุกรมภาษาฝรั่งเศสฉบับสมบูรณ์ใช้เวลากว่า 40 ปี และเป็นเวลาเกือบสี่ร้อยปีหลังจากได้รับมอบหมายครั้งแรก ในที่สุดบรรดานักปราชญ์ในกรุงปารีสของฝรั่งเศสก็สามารถเผยแพร่พจนานุกรมภาษาฝรั่งเศสฉบับสมบูรณ์ฉบับใหม่ได้สำเร็จ
พจนานุกรมฝรั่งเศส (Dictionnaire de l’Académie Française) ฉบับเต็มฉบับที่เก้านี้ ได้รับการนำเสนออย่างเป็นทางการต่อประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง ในสัปดาห์ที่ผ่านมา เกิดขึ้นภายในบรรยากาศหรูหราของอาคารวิทยาลัยแห่งสี่ชาติ (Collège des Quatre-Countries) แห่งศตวรรษที่ 17 บนฝั่งซ้ายของแม่น้ำแซน
สถานที่แห่งนี้เป็นที่ประชุมของชายหญิงผู้ทรงภูมิ 40 คนแห่งสถาบันภาษาฝรั่งเศส หรือ “French Academy” หรือที่ชาวฝรั่งเศสเรียกว่า immortels พวกเขาคือผู้ได้รับเลือกสรรจากผลงานอันโดดเด่นในด้านภาษาและวรรณกรรมฝรั่งเศส องค์กรนี้ก่อตั้งขึ้นโดยพระคาร์ดินัลริเชอลิเยอในปี 1635
หน้าที่ในช่วงเริ่มต้นของพวกเขาคือ “การกำหนดกฎเกณฑ์บางประการให้กับภาษา เพื่อให้มันบริสุทธิ์และไพเราะ” ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการเขียนพจนานุกรมฉบับแรกของพวกเขา
อย่างไรก็ตาม งานนี้กลับดำเนินไปด้วยความล่าช้าอย่างมาก หนังสือเล่มแรกไม่ได้ตีพิมพ์จนถึงปี ค.ศ. 1694 และในปัจจุบันต้องใช้เวลามากกว่าหนึ่งปีเพียงจัดเรียงตัวอักษรแค่ตัวเดียว สถานการณ์ทั้งหมดนี้ทำให้โครงการถูกตั้งคำถามมากขึ้นเรื่อย ๆ
Skip เรื่องแนะนำ and proceed readingเรื่องแนะนำ
Pause of เรื่องแนะนำ
“ความพยายามนี้น่ายกย่อง แต่ล่าช้าจนเกินไปจนแทบจะไร้ประโยชน์โดยสิ้นเชิง” กลุ่มนักภาษาศาสตร์เขียนในหนังสือพิมพ์ “Liberation” เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา
พจนานุกรมฉบับที่เก้านี้มาแทนที่ฉบับที่แปด ซึ่งเสร็จสมบูรณ์ในปี ค.ศ. 1935 โดยการทำงานเริ่มต้นตั้งแต่ปี ค.ศ. 1986 และมีการตีพิมพ์สามส่วนก่อนหน้านี้จนถึงตัวอักษร “R”
ล่าสุด ส่วนสุดท้าย (คำสุดท้ายคือคำว่า “Zzz”) ได้ถูกเพิ่มเข้าไป ซึ่งหมายความว่า งานนี้ได้เสร็จสมบูรณ์แล้ว
คำศัพท์ “ใหม่ ๆ” มีอะไรบ้าง
ในแถลงการณ์ สถาบันภาษาฝรั่งเศสระบุว่า พจนานุกรมฉบับนี้เป็น “กระจกสะท้อนยุคสมัยตั้งแต่ทศวรรษ 1950 จนถึงปัจจุบัน” และมีคำเพิ่มเข้ามาใหม่ 21,000 คำเมื่อเทียบกับฉบับปี 1935
อย่างไรก็ตาม คำ “ทันสมัย” หลายคำที่เพิ่มเข้ามาในช่วงทศวรรษ 1980 หรือ 1990 กลับล้าสมัยไปแล้ว และด้วยการเปลี่ยนแปลงของภาษาอย่างรวดเร็ว คำที่ใช้อยู่ในปัจจุบันหลายคำก็ยังใหม่เกินไปที่จะถูกรวมไว้ในพจนานุกรม
ดังนั้น คำสามัญอย่าง “tiktokeur” (ผู้ใช้งาน TikTok), “vlog” (วิดีโอบล็อก), “smartphone” (สมาร์ทโฟน) และ “émoji” (อีโมจิ) ซึ่งมีอยู่ในพจนานุกรมเชิงพาณิชย์ล่าสุด กลับไม่ปรากฏในพจนานุกรมของสถาบันภาษาแห่งนี้
ในทางตรงกันข้าม คำ “ใหม่” ในพจนานุกรมฉบับนี้กลับรวมคำที่ก้าวหน้ามากอย่าง “soda” (โซดา), “sauna” (ซาวน่า), “yuppie” (คนอายุน้อยที่มีความทะเยอทะยานและความเชี่ยวชาญซึ่งทำงานหารายได้เองแล้วและใช้จ่ายหมดไปกับสิ่งของตามสมัยนิยม), และ “supérette” (มินิมาร์เก็ต)
สำหรับส่วนล่าสุดที่ครอบคลุมตัวอักษร R ถึง Z ผู้เขียนได้รวมแนวคิดใหม่เกี่ยวกับการทำให้ตำแหน่งงานมีรูปเพศหญิง โดยเพิ่มคำทางเลือกในรูปเพศหญิง (ซึ่งไม่เคยมีมาก่อน) สำหรับตำแหน่งงาน เช่น “ambassadeur” (เอกอัครราชทูต) และ “professeur” (อาจารย์) อย่างไรก็ตาม ฉบับพิมพ์ของส่วนก่อนหน้านี้ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงนี้ เพราะสถาบันฯ ได้พยายามต่อต้านการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวมาเป็นเวลาหลายปี
ในส่วนที่สามของพจนานุกรมฉบับใหม่ ซึ่งรวมตัวอักษร M ได้ให้คำนิยามของคำว่า “marriage” (การแต่งงาน) ว่าเป็นการสมรสระหว่างชายและหญิง ซึ่งในฝรั่งเศสปัจจุบันไม่ใช่เช่นนั้นอีกต่อไป
“จะมีใครกล้าอ้างว่ารวบรวมนี้สามารถใช้เป็นแหล่งอ้างอิงสำหรับใครได้จริงหรือ” กลุ่มนักภาษาศาสตร์ตั้งคำถาม พร้อมชี้ว่า พจนานุกรมออนไลน์มีเนื้อหาครอบคลุมมากกว่าและทันสมัยกว่า
ภายใต้การนำของประธาน อมิน มาลูฟ นักเขียนชื่อดัง คณะกรรมการจัดทำพจนานุกรมจะประชุมกันทุกเช้าวันพฤหัสบดี หลังจากการอภิปราย พวกเขาจะลงมติในคำจำกัดความที่ผู้เชี่ยวชาญภายนอกได้จัดทำเบื้องต้นมาให้
หนึ่งในสมาชิกสถาบันภาษาฝรั่งเศสคือ ไมเคิล เอ็ดเวิร์ดส์ นักประพันธ์ชาวอังกฤษและผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาฝรั่งเศส ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์เลอ ฟิกาโร (Le Figaro) ว่าเขาพยายามผลักดันให้สถาบันฯ รื้อฟื้นคำที่ถูกลืมไปนานอย่างคำว่า “improfond” (ไม่ลึก/ไม่ลึกซึ้ง)
“ภาษาฝรั่งเศสต้องการคำนี้ เพราะนักเรียนภาษาอังกฤษทุกคนที่เรียนภาษาฝรั่งเศสรู้ดีว่าไม่มีคำที่แปลว่า ‘ตื้น’” เขากล่าว น่าเสียดายที่ความพยายามของเขาไม่สำเร็จ
ขณะนี้ การอภิปราย (ที่ยืดยาว) ได้เริ่มขึ้นแล้วสำหรับการจัดทำพจนานุกรมฉบับที่ 10
ที่มา BBC.co.uk