เหตุใดแคนาดากำลังจะกลายเป็น ‘มหาอำนาจ' แห่งพลังงานนิวเคลียร์ประเทศต่อไป

ที่มาของภาพ, NexGen

คำบรรยายภาพ, ฐานปฏิบัติการของเน็กซ์เจน (NexGen) ในที่ราบลุ่มอธาบาสกา (Athabasca) อันห่างไกลของแคนาดา

Article info

  • Creator, นาดีน ยูซิฟ
  • Characteristic, บีบีซีนิวส์ นครโตรอนโต แคนาดา

ยูเรเนียมกำลังกลับมาอีกครั้ง เนื่องจากการปรับเปลี่ยนมาให้ความสำคัญกับพลังงานนิวเคลียร์อีกครั้งเพื่อแก้ปัญหาวิกฤตสภาพภูมิอากาศ

ขณะที่แคนาดาซึ่งอุดมไปด้วยแหล่งแร่ยูเรเนียมคุณภาพสูงอาจกลายเป็น “มหาอำนาจ” ทางนิวเคลียร์ได้ แต่ศักยภาพดังกล่าวจะเกิดขึ้นจริงได้หรือไม่ ?

เลห์ เคอร์เยอร์ ทำงานในเหมืองแร่ยูเรเนียมมาเกือบสองทศวรรษ เมื่อเขาสังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงที่น่าตื่นตานี้

ในปี 2011 ภัยพิบัติโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะในญี่ปุ่นสร้างความเสียหายอย่างหนักต่อทัศนคติของโลกเกี่ยวกับพลังงานนิวเคลียร์ และราคาของโลหะหนักซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญสำหรับเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ก็ดิ่งลง

แต่ในช่วงห้าปีที่ผ่านมา เราได้เห็นการพลิกกลับของราคา โดยราคายูเรเนียมทั่วโลกพุ่งสูงขึ้นมากกว่า 200% และถือเป็นหนึ่งในสินค้าโภคภัณฑ์ที่ราคาเพิ่มขึ้นสูงสุดในปีนี้

Skip เรื่องแนะนำ and continue readingเรื่องแนะนำ

Discontinue of เรื่องแนะนำ

เคอร์เยอร์ ซึ่งเป็นนักธุรกิจชาวออสเตรเลียโดยกำเนิด ให้เครดิตสิ่งนี้กับการเปลี่ยนแปลงทางทัศนคติ ซึ่งเริ่มขึ้นไม่นานหลังจากที่บิล เกตส์ ผู้ก่อตั้งไมโครซอฟต์ กล่าวยกย่องพลังงานนิวเคลียร์ในปี 2018 ว่า “สมบูรณ์แบบต่อการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ”

สี่ปีต่อมา บอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักรในขณะนั้น ได้ผลักดันนโยบายการผลิตพลังงานนิวเคลียร์ให้ได้อย่างน้อย 25% ของกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งประเทศ

หลังจากนั้นไม่นาน สหภาพยุโรปได้ลงมติประกาศให้พลังงานนิวเคลียร์เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

เหตุการณ์เหล่านี้เป็น “ตัวเร่งปฏิกิริยา” สำหรับอุตสาหกรรมยูเรเนียม และเป็นจุดเปลี่ยนของบริษัท NexGen ของ เคอร์เยอร์ ซึ่งอยู่เบื้องหลังเหมืองยูเรเนียมที่อยู่ระหว่างการพัฒนาที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในแคนาดา

เขาเริ่มได้รับสายเรียกเข้าจากนักลงทุนทั่วโลก ซึ่งเป็นสิ่งที่ “ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในอุตสาหกรรมนี้ตลอด 17 ปีที่ผมอยู่ในวงการมา” เขากล่าว

ที่มาของภาพ, NexGen

คำบรรยายภาพ, เลห์ เคอร์เยอร์ เป็นผู้นำของ NexGen ซึ่งเป็นเจ้าของเหมืองยูเรเนียมที่กำลังพัฒนาที่ใหญ่ที่สุดในแคนาดา

NexGen ซึ่งมีโครงการตั้งอยู่ในพื้นที่ห่างไกลที่อุดมไปด้วยแร่ยูเรเนียมในที่ราบลุ่มอธาบาสกา (Athabasca) ทางตอนเหนือของรัฐซัสแคตเชวัน (Saskatchewan) ปัจจุบันมีมูลค่าเกือบ 4 พันล้านดอลลาร์ (1.4 แสนล้านบาท) แม้ว่าเหมืองดังกล่าวจะยังไม่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์จนกว่าจะถึงปี 2028 เป็นอย่างน้อยก็ตาม

หากหน่วยงานกำกับดูแลอนุมัติโครงการของ NexGen อย่างสมบูรณ์ โครงการดังกล่าวเพียงอย่างเดียวก็สามารถผลักดันให้แคนาดากลายเป็นผู้ผลิตยูเรเนียมรายใหญ่ที่สุดของโลกในทศวรรษหน้าได้แล้ว และจะส่งผลให้คาซัคสถานหลุดจากอันดับหนึ่งไป

บริษัทอื่น ๆ ได้รุดไปที่ซัสแคตเชวันเช่นกันเพื่อฉกฉวยประโยชน์จากความต้องการยูเรเนียมที่สูงขึ้นมาก โดยเริ่มโครงการสำรวจของตนเองในภูมิภาคนี้ ในขณะที่ผู้เล่นรายเดิมที่มีอยู่ก็ได้เปิดเหมืองที่ปิดตายขึ้นมาอีกครั้ง

ด้วยทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์ เหล่าบริษัทเหมืองแร่ของแคนาดามองเห็นประเทศว่ามีบทบาทสำคัญในอนาคตของพลังงานนิวเคลียร์ โดยจะเป็นผู้ตอบสนองความต้องการยูเรเนียมที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นหลังจากที่เกือบ 20 ประเทศให้คำมั่นในการประชุมสภาพภูมิอากาศ COP28 ว่าจะเพิ่มการผลิตไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ขึ้นสามเท่าภายในปี 2050

พลังงานนิวเคลียร์มักได้รับการยกย่องว่า มีการปล่อยปลดปล่อยคาร์บอนต่ำเมื่อเทียบกับแหล่งพลังงานอื่นๆ เช่น ก๊าซธรรมชาติหรือถ่านหิน

สมาคมนิวเคลียร์โลกประมาณการว่า 10% ของพลังงานที่ผลิตทั่วโลกมาจากแหล่งนิวเคลียร์ ในขณะที่มากกว่า 50% ยังคงผลิตจากก๊าซหรือถ่านหิน

ในงานประชุม COP29 ปีนี้ การเพิ่มเงินทุนสำหรับโครงการนิวเคลียร์จะเป็นหนึ่งในเรื่องที่ถูกให้ความสำคัญ ภายหลังจากการเผยแพร่รายงานของสหประชาชาติเมื่อเร็ว ๆ นี้ที่ระบุว่า นโยบายและการลงทุนในปัจจุบันยังไม่เพียงพอต่อการชะลอการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลก

บทบาทของแคนาดาในการจัดหาแร่ยูเรเนียมมีความจำเป็นเร่งด่วนมากขึ้นเนื่องจากการรุกรานยูเครนของรัสเซีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับสหรัฐฯ ซึ่งพึ่งพายูเรเนียมจากรัสเซียในการเดินเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์เชิงพาณิชย์

เคอร์เยอร์เชื่อว่า เหมืองของเขาจะสามารถพิสูจน์ตัวเองได้ว่า “มีความสำคัญอย่างยิ่ง” ต่ออนาคตพลังงานนิวเคลียร์ของอเมริกา ในขณะที่สหรัฐฯ กำลังค้นหาทางเลือกอื่นนอกเหนือจากรัสเซีย รวมถึงการเร่งสำรวจบนดินแดนของตนเอง

แร่ยูเรเนียมสามารถพบได้ทั่วโลก แม้ว่าจะพบอยู่มากในแคนาดา ออสเตรเลีย และคาซัคสถานก็ตาม

แต่สิ่งที่ทำให้ภูมิภาคอธาบาสกาของแคนาดามีเอกลักษณ์เฉพาะตัวก็คือ ยูเรเนียมของแคนาดามีคุณภาพสูงเป็นพิเศษ ตามคำกล่าวของ มาร์คัส ปีโร ศาสตราจารย์ด้านวิศวกรรมนิวเคลียร์จากมหาวิทยาลัยแมคมาสเตอร์

ศาสตราจารย์ปีโรกล่าว แคนาดาได้กำหนดกฎเกณฑ์ที่เข้มงวดในการขายแร่ยูเรเนียมให้กับประเทศอื่น ๆ และยังกำหนดให้นำไปใช้เฉพาะเพื่อการผลิตไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์เท่านั้นด้วย

เขายังเรียกแคนาดาว่าเป็น “ประเทศนิวเคลียร์ลำดับที่หนึ่ง” ด้วย เนื่องจากความสามารถในการผลิตเชื้อเพลิงนิวเคลียร์เอง ตั้งแต่การทำเหมืองจนถึงขั้นตอนการผลิต

เมื่อถลุงแร่ได้แล้ว แร่ยูเรเนียมจะถูกบดเพื่อผลิตสิ่งที่เรียกว่า เค้กเหลือง (yellow cake) จากแร่ดิบ จากนั้นจึงเสริมสมรรถนะที่โรงงานในแคนาดาหรือในต่างประเทศ เพื่อสร้างเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์

“เรามีบริการแบบครบวงจรในแคนาดา ไม่ใช่ทุกประเทศที่เป็นแบบนั้น” ศาสตราจารย์ปีโรกล่าว

คำบรรยายภาพ, เปรียบเทียบกำลังการผลิตแร่ยูเรเนียมทั่วโลกในปัจจุบัน คาซัคสถานยังเป็นประเทศผู้ผลิตแร่ยูเรเนียมใหญ่ที่สุดของโลก ตามมาด้วยแคนาดา นามิเบีย ออสเตรเลียและอุซเบกิสถาน

ปัจจุบัน แคนาดาเป็นผู้ผลิตแร่ยูเรเนียมรายใหญ่อันดับสองของโลก คิดเป็นประมาณ 13% ของการผลิตทั่วโลก ตามข้อมูลของรัฐบาลแคนาดา

NexGen คาดการณ์ว่า เมื่อเหมืองเปิดใช้งานแล้ว ปริมาณดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นเป็น 25%

ในขณะเดียวกัน คาเมโค (Cameco) ซึ่งทำเหมืองแร่ยูเรเนียมในรัฐซัสแคตเชวันมาตั้งแต่ปี 1988 และผลิตเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ 30 เครื่องทั่วโลก ได้เปิดเหมือง 2 แห่งอีกครั้งในปลายปี 2022 เพื่อเพิ่มการผลิต

ทิม จิทเซล ซีอีโอของ Cameco บอกกับบีบีซีว่า เขาเชื่อว่า “แคนาดาอาจเป็นมหาอำนาจด้านนิวเคลียร์ไปทั่วโลก”

แต่ความกระตือรือร้นเกี่ยวกับพลังงานนิวเคลียร์ที่เกิดขึ้นนี้ ก็มีกลุ่มผู้วิพากษ์วิจารณ์เช่นกัน

กลุ่มสิ่งแวดล้อมบางกลุ่มกังวลว่าโครงการนิวเคลียร์มีค่าใช้จ่ายสูงเกินไป และมาพร้อมกับกำหนดเวลาที่ไม่สอดคล้องกับความเร่งด่วนด้านวิกฤตสภาพภูมิอากาศ

ข้อมูลจากสมาคมนิวเคลียร์โลกซึ่งมีสำนักงานใหญ่ในอังกฤษ แสดงให้เห็นว่าเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ 60 เครื่องยังอยู่ระหว่างการก่อสร้างใน 16 ประเทศ ส่วนใหญ่อยู่ในจีน และอีก 110 เครื่องอยู่ในขั้นตอนการวางแผนสร้าง

ทั้งนี้ คาดว่าบางโครงการจะเริ่มผลิตกระแสไฟฟ้าได้ภายในปีนี้ ในขณะที่อีกหลายโครงการอาจยังไม่พร้อมจนกว่าจะถึงสิ้นทศวรรษนี้เป็นอย่างน้อย

ในขณะเดียวกัน มีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์มากกว่า 100 แห่งทั่วโลกที่ถูกปิดไปในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งรวมถึงโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เพียงแห่งเดียวของรัฐนิวยอร์กที่เลิกผลิตไฟฟ้าในปี 2021 เนื่องจากต้นทุนการดำเนินงานที่สูง ตลอดจนข้อกังวลด้านสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย

นอกจากนี้ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ยังถูกปิดในรัฐแมสซาชูเซตส์ รัฐเพนซิลเวเนีย ของสหรัฐฯ และแคว้นควิเบก ของแคนาดา

และไม่ใช่ทุกพื้นที่ในแคนาดาที่เข้าร่วมในอุตสาหกรรมยูเรเนียมของประเทศ

มลฑลบริติชโคลัมเบียมีแหล่งยูเรเนียมเป็นของตัวเอง แต่ไม่อนุญาตให้โรงงานนิวเคลียร์หรือเหมืองยูเรเนียมใด ๆ เปิดดำเนินการในมลฑลนี้มาตั้งแต่ปี 1980

นักวิจารณ์ยังแสดงความกังวลเกี่ยวกับขยะกัมมันตภาพรังสีซึ่งเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์จะทิ้งไว้ให้คนรุ่นถัด ๆ ไปด้วย

และมีอีกหลายคนที่หวาดกลัวภัยพิบัติในระดับฟุกุชิมะอีกครั้ง โดยในครั้งนั้น สึนามิทำให้เครื่องปฏิกรณ์ 3 เครื่องใช้งานไม่ได้ และทำให้เกิดการปล่อยสารที่มีกัมมันตภาพรังสีสูงและต้องสั่งอพยพผู้คนจำนวนมาก

“แน่นอนว่าความเสี่ยงไม่เท่ากับศูนย์” แม้ว่ามันจะสามารถลดลงได้ก็ตาม ศาสตราจารย์ปีโร กล่าว

“แม้ว่าคนทั่วไปจะมีความรู้สึกผสมปนเปกันไปเกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่ความจริงก็คือว่า มันได้ผลิตไฟฟ้าที่ปลอดภัย เชื่อถือได้มาก และราคาไม่แพงไปทั่วโลก”

ผู้คนในอุตสาหกรรมนี้เชื่อว่า เทคโนโลยีด้านนิวเคลียร์นั้นมีอนาคตที่สดใสและใช้งานได้จริง

จิทเซลจาก Cameco กล่าวว่า อุตสาหกรรมได้เรียนรู้จากข้อผิดพลาดด้านความปลอดภัยในอดีต

“และประชาชนก็กำลังตอบรับกับกระแสดังกล่าว” เขากล่าว “ผมบอกคุณได้เลยว่า เราได้รับการสนับสนุนจากสาธารณะอย่างมากสำหรับพลังงานนิวเคลียร์ในแคนาดา”

ผลสำรวจของสำนักวิจัย อิปซอสส์ (Ipsos) ในปี 2023 ระบุว่าชาวแคนาดา 55% สนับสนุนพลังงานนิวเคลียร์

ที่มาของภาพ, Getty Photos

คำบรรยายภาพ, ยูเรเนียมซิตีแห่งนี้ถูกบันทึกภาพในปี 1975 ครั้งหนึ่งที่นี่เคยเป็นที่อยู่อาศัยของผู้คนราว 2,500 คน

ถึงกระนั้น ความรุ่งเรืองของอุตสาหกรรมแร่ยูเรเนียมในอดีตในแคนาดากลับเข้าสู่ภาวะหยุดชะงักอย่างฮวบฮาบ

ทางตอนเหนือของเหมืองของ NexGen คือยูเรเนียมซิตี (Uranium City) ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นที่อยู่อาศัยของผู้คนราว 2,500 คนในช่วงกลางศตวรรษที่ 20 ที่รุ่งเรือง ในปี 1982 บริษัทเหมืองแร่รายใหญ่ในท้องถิ่นแห่งหนึ่งได้ปิดกิจการลงเนื่องจากมีต้นทุนสูงและตลาดยูเรเนียมซบเซาลง

ปัจจุบันยูเรเนียมซิตีมีประชากรเหลือเพียง 91 คน

แต่นักลงทุนยืนยันว่า มีความต้องการยูเรเนียมเพิ่มขึ้นทั่วโลกอย่างแท้จริง ซึ่งถือเป็นโอกาสทองสำหรับแคนาดา

NexGen คาดการณ์ว่า การก่อสร้างเหมืองซึ่งกำลังรอการอนุมัติจากหน่วยงานควบคุมนิวเคลียร์ของรัฐบาลกลางของแคนาดา จะเริ่มในต้นปีหน้า

จิทเซล กล่าวว่าขณะนี้มีบริษัทอื่น ๆ ประมาณ 100 แห่งกำลังทำการสำรวจในรัฐซัสแคตเชวัน เพื่อหาแหล่งแร่อย่างจริงจัง ส่วนจะพร้อมผลิตแร่ออกสู่ตลาดเมื่อใดยังไม่ชัดเจน

จิทเซลเตือนว่า บางบริษัทได้เคยทำการสำรวจในอดีต แต่ไม่เคยไปถึงขั้นตอนการผลิต นอกจากนี้ ไทม์ไลน์หรือระยะเวลาในการขออนุมัติโครงการขุดในแคนาดาอาจใช้เวลานานเช่นกัน

“การสร้างเหมืองจะใช้เวลา 5-10 ปี และจนถึงตอนนี้ เหมืองเดียวที่ยังดำเนินการอยู่นั้นเป็นของเรา ดังนั้นเราจะรอดูว่ามันจะเป็นอย่างไร” เขากล่าว

สำหรับเคอร์เยอร์แล้ว โครงการของเขาและโครงการอื่น ๆ จะต้องเป็นจริงในอีกสี่ปีข้างหน้า เพื่อทั้งแคนาดาและทั่วโลก

“มิฉะนั้น จะเกิดการขาดแคลนแร่ยูเรเนียม และจะส่งผลกระทบต่อราคาพลังงานในภายหลัง” เขากล่าว