แนวคิดซื้อหนี้ประชาชนโดยทักษิณ จะสามารถแก้ปัญหาหนี้ของคนไทยได้อย่างยั่งยืนหรือไม่ ?

นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ประกาศบนเวทีปราศรัยที่ จ.พิษณุโลก เมื่อวันที่ 17 มี.ค. ที่ผ่านมา โยนไอเดียในการชักจูงภาคเอกชนให้เข้าซื้อหนี้ของประชาชน เพื่อช่วยลดปัญหาหนี้ครัวเรือน พร้อมระบุด้วยว่าไอเดียของเขาไม่จำเป็นต้องใช้งบประมาณภาครัฐ
“จะซื้อหนี้ทั้งหมดออกจากประชาชน ออกจากระบบธนาคารดีไหม แล้วให้ประชาชนค่อย ๆ ผ่อน ไม่ต้องชำระเต็มจำนวน มีโอกาสเริ่มต้นชีวิตใหม่ ยกออกจากเครดิตบูโรให้หมด” อดีตนายกฯ คนที่ 23 กล่าว
ในวันถัดมา (18 มี.ค.) สื่อมวลชนได้นำเรื่องดังกล่าวไปสอบถาม นายพิชัย ชุนหวชิระ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งยอมรับว่ารัฐบาลกำลังคุยในรายละเอียดเกี่ยวกับนโยบายการซื้อหนี้ดังกล่าวอยู่
ทั้งนี้ ทักษิณเคยพูดถึงนโยบายซื้อหนี้ประชาชนมาก่อนแล้วครั้งหนึ่ง บนเวที “Vision for Thailand 2024” เมื่อเดือน ส.ค. ปีที่แล้ว โดยเขาระบุว่า ตนเองเห็นภาคธุรกิจมีการทำแฮร์คัทหนี้ได้ จึงคิดว่า “วันนี้เรามาดูภาคประชาชน เราทำให้เขาได้บ้างไหม เราแฮร์คัทภาคธุรกิจได้ เราจะแฮร์คัทภาคประชาชน บ้าง ได้ไหม”
ปัจจุบัน สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของไทยอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูงและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเพิ่มจาก 50% เป็นประมาณ 90% ต่อจีดีพีในระยะ 20 ปีที่ผ่านมา และแม้หลายรัฐบาลได้ออกมาตรการต่าง ๆ ในการพยายามลดหนี้ครัวเรือน แต่ก็ยังไม่สามารถทำให้ตัวเลขหนี้ครัวเรือนลดลงได้
เรื่องแนะนำ
Discontinue of เรื่องแนะนำ
บีบีซีไทยพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ทั้งจากภาคเอกชน สถาบันวิจัย และสถาบันการศึกษา เพื่อวิเคราะห์ว่าแนวคิดการซื้อหนี้ครัวเรือนแบบที่อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 23 เสนอ มีโอกาสเกิดขึ้นได้จริงแค่ไหน จะแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนในไทยได้หรือไม่ และมีความยั่งยืนเพียงใด
สถานการณ์หนี้ครัวเรือนไทยในปัจจุบัน
ในปี 2567 คนไทยกว่า 38% เป็นหนี้ในระบบ และมีปริมาณหนี้เฉลี่ยที่คนละ 540,000 บาท โดยหนี้จำนวนมากของคนไทยเป็นหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ตามการวิเคราะห์ข้อมูลเครดิตบูโรโดยธนาคารแห่งประเทศไทย
ทั้งนี้ หนี้ครัวเรือนในไทยเริ่มเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญตั้งแต่ช่วงน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 เป็นต้นมา เนื่องจากผู้คนต้องกู้เงินมาเพื่อการอุปโภคบริโภคเพราะรายได้ไม่พอ ประกอบกับในช่วงเดียวกันมีนโยบายรถคันแรกของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ จึงทำให้ในช่วงปี 2554-2555 สินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภค รวมถึงสินเชื่อรถยนต์ เพิ่มขึ้นอย่างมาก ตามข้อมูลการนำเสนอโดย ดร.โสมรัศมิ์ จันทรัตน์ จากสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย
นอกจากนี้ ข้อมูลดังกล่าวจากธนาคารแห่งประเทศไทยยังชี้ด้วยว่า สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ยังเพิ่มสูงขึ้นอีกในช่วงวิกฤตโควิด-19 จากหลุมรายได้ซึ่งเกิดขึ้นพร้อมการก่อหนี้เพื่อมากินมาใช้ และแม้จะพ้นช่วงวิกฤตโรคระบาดแล้ว รายได้ของครัวเรือนบางกลุ่มก็ยังไม่กลับมาดี ส่งผลให้เกิดปัญหาการชำระหนี้ตามมา
สำหรับหนี้ครัวเรือนไทยล่าสุดในไตรมาสที่สามของปี 2567 อยู่ที่ 89.0% ต่อ GDP
นอกจากนี้ ประเทศไทยยังประสบปัญหาการลงทุนต่ำ ซึ่งส่งผลให้ศักยภาพการสร้างรายได้เพิ่มลดลงไปด้วย โดย ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวในงานสัมมนาประจำปีของแบงก์ชาติเมื่อปี 2567 ว่า ประเทศไทยประสบปัญหาการลงทุนที่ค่อนข้างต่ำมาเป็นระยะเวลานาน โดย “การลงทุนโดยรวมของไทยจากที่เคยโตเฉลี่ย 10% ต่อปี ก่อนเกิดวิกฤตปี 2540 เหลือเพียง 2% ต่อปี ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา”

ที่มาของภาพ : EPA
ดร.ปิยศักดิ์ มานะสันต์ หัวหน้านักวิจัยเศรษฐกิจ ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ อินโนเวสท์ เอกซ์ ให้สัมภาษณ์กับบีบีซีไทยโดยระบุว่า การขาดความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจในไทยถือเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้หนี้ครัวเรือนสูงขึ้น
“เรา เศรษฐกิจไทย ขาดความสามารถในการแข่งขัน การส่งออกของประเทศแย่ลงในช่วงหลังถ้าเทียบกับประเทศต่าง ๆ ฉะนั้นรายได้เข้าประเทศจากด้านนั้นก็ค่อนข้างลำบาก การบริโภคในประเทศก็ซึมเซาเพราะหนี้มันเริ่มสูง” ดร.ปิยศักดิ์ กล่าว
ด้าน ผศ.ดร.รุ่งเกียรติ รัตนบานชื่น อาจารย์ประจำภาควิชาการเงินและการธนาคาร คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แสดงทัศนะกับบีบีซีไทยในประเด็นนี้ว่า การมีหนี้สินอาจไม่ได้มาจากการใช้เงินอย่างไม่มีวินัยเสมอไป พร้อมชี้ว่าการมีรายได้ไม่เพียงพอต่อการใช้ชีวิตประจำวันเป็นอีกสาเหตุหลักที่ทำให้คนไทยก่อหนี้มากขึ้น
“พอหนี้เกิดจากการอุปโภคบริโภค เราอย่าไปบอกนะครับว่าทุกคนเขาใช้จ่ายเกินตัว ในความเป็นจริงทุกคนไม่ได้ใช้จ่ายฟุ้งเฟ้อมากขนาดนั้นหรอก แต่เป็นเพราะว่ารายได้เขาน้อยกว่าความสามารถในการบริโภคขั้นต่ำอย่างพอเพียง” ผศ.ดร. รุ่งเกียรติ กล่าวกับบีบีซีไทย
นโยบายลดหนี้ครัวเรือนของรัฐบาลเพื่อไทย มีอะไรบ้าง ?

ที่มาของภาพ : EPA
ตั้งแต่ช่วงกลางปี 2566 รัฐบาลซึ่งมีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำได้ออกนโยบายจำนวนหนึ่ง ซึ่งมุ่งเน้นแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือน เช่น
- โครงการพักหนี้เกษตรกรเป็นระยะเวลา 3 ปี
- นโยบายแก้หนี้นอกระบบ
- โครงการ ‘คุณสู้ เราช่วย'
โครงการพักหนี้เกษตรกรเป็นระยะเวลา 3 ปี
รัฐบาลภายใต้แกนนำของนายเศรษฐา ทวีสิน ได้จัดทำโครงการพักหนี้เกษตรกรเป็นระยะเวลา 3 ปี ครอบคลุมเกษตรกรรายย่อยกว่า 2.7 ล้านคน รวมยอดหนี้ทั้งหมด 283,000 ล้านบาท โดยโครงการเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือน ต.ค. 2566 ทั้งนี้ เกษตรกรที่มีสิทธิเข้าร่วมโครงการจะต้องมีหนี้ทุกสัญญารวมกันไม่เกิน 300,000 บาท โดยเปลี่ยนลำดับการตัดชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ย อีกทั้งรัฐบาลจะช่วยจ่ายชดเชยดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นระหว่างการพักชำระหนี้ให้กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) แทนลูกหนี้ด้วย โดยในระหว่างการเข้าร่วมโครงการ ลูกหนี้จะยังสามารถทำการกู้เงินเพิ่มได้เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เกษตรกรก่อหนี้นอกระบบ
อย่างไรก็ตาม รายงานจากสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ้งภากรณ์ เรื่อง “ถอดบทเรียนมาตรการพักหนี้เกษตรกรไทย ช่วยเกษตรกรไทยได้จริงหรือ?” ได้กล่าวถึงนโยบายการพักหนี้เกษตรทั้งในอดีตและปัจจุบันว่า นโยบายดังกล่าวไม่สามารถแก้ไขปัญหาหนี้อย่างยั่งยืนได้ โดยเกษตรกรที่เข้าร่วมมาตรการพักหนี้กลับมียอดหนี้สูงขึ้นกว่ากลุ่มที่ไม่ได้เข้าร่วม เนื่องจากมีแนวโน้มที่จะก่อหนี้ใหม่ระหว่างการพักหนี้สูง
นายพงษ์พันธ์ จงรักษ์ รองผู้จัดการ ธ.ก.ส. ยังระบุในงาน Protection Forum ครั้งที่ 5 ของ The Active เมื่อเดือน ธ.ค. 2566 เกี่ยวกับความกังวลต่อนโยบายดังกล่าวด้วยว่า อาจแก้ปัญหาหนี้ได้ไม่ตรงจุดและไม่ครอบคลุม “เกษตกรกลุ่มใหญ่มีหนี้ก้อนใหญ่ต่ำสุดกว่า 450,000 บาท โครงการพักหนี้เกษตรกร ช่วยได้เกษตกรที่มีหนี้น้อย สิ่งที่น่ากังวลอีกเรื่องคือ ยืดอายุหนี้ แต่ไม่ได้แก้หนี้ หนี้วิกฤตเข้าร่วมไม่ได้ ส่วนใหญ่อายุมากใช้หนี้ไม่ไหว เกิดมรดกหนี้ และเกิดหนี้เรื้อรัง”
นโยบายแก้หนี้นอกระบบ
ถัดมาในช่วงปลายปี 2566 รัฐบาลเศรษฐาได้ออกนโยบายแก้หนี้นอกระบบ โดยเปิดให้ลูกหนี้ลงทะเบียน และทำการสำรวจ ดำเนินคดี และจับกุมผู้ประกอบการหนี้นอกระบบ รวมถึงให้ธนาคารออมสินปล่อยสินเชื่อให้ประชาชนและผู้ประกอบธุรกิจรายย่อย
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยเมื่อเดือน พ.ค. 2567 ว่า มีลูกหนี้ที่ดำเนินการไกล่เกลี่ยหนี้แล้วเสร็จกว่า 144,313 ราย จากผู้ลงทะเบียนทั้งหมด 153,400 คน ทำให้มูลหนี้ลดลงประมาณ 1.2 พันล้านบาท หรือประมาณ 7,800 บาทต่อราย
อย่างไรก็ตาม ตัวเลขมูลหนี้และคนลงทะเบียนแก้หนี้นอกระบบอาจถือว่าอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ หากเทียบกับจำนวนผู้เป็นหนี้นอกระบบทั้งหมด โดยงานวิจัยเรื่อง Informal Loans in Thailand: Stylized Facts and Empirical Prognosis ของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ้งภากรณ์ พบว่าปัจเจกบุคคลในไทยกว่าร้อยละ 42.3% เป็นหนี้นอกระบบ และโดยเฉลี่ยมีจำนวนหนี้นอกระบอยู่ที่ 54,300 บาทต่อราย
ทั้งนี้ งานศึกษาจาก 101 PUB ชี้ให้เห็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ภาครัฐไม่สามารถไกล่เกลี่ยหนี้นอกระบบได้อย่างมีประสิทธิภาพเท่าที่ควร ว่าอาจเป็นเพราะลูกหนี้ที่เข้าร่วมโครงการจำเป็นต้องเปิดเผยชื่อ นามสกุล และดำเนินการโดยมีเจ้าหน้าที่รัฐช่วยเจรจากับเจ้าหนี้ แต่ในขณะเดียวกัน เจ้าหนี้นอกระบบมักมีอิทธิพลเหนือลูกหนี้ จึงอาจทำให้ลูกหนี้กังวลเรื่องความปลอดภัยของตนหากเข้าร่วมโครงการดังกล่าว

ที่มาของภาพ : Reuters
โครงการ ‘คุณสู้ เราช่วย'
โครงการ ‘คุณสู้ เราช่วย' เริ่มต้นขึ้นในรัฐบาลของนายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร เปิดให้ลงทะเบียนมาตั้งแต่ช่วงกลางเดือน ธ.ค. ปีที่แล้ว โดยประกอบไปด้วย 2 มาตราการย่อยคือ
- มาตราการ ‘จ่ายตรง คงทรัพย์' โดยใช้กลไกพักหนี้ในส่วนของดอกเบี้ยเป็นระยะเวลา 3 ปี สำหรับผู้มีประวัติค้างชำระหนี้อย่างน้อย 30 วัน ถึง 1 ปี และ
- มาตราการ ‘จ่าย ปิด จบ' ซึ่งปรับโครงสร้างหนี้ส่วนบุคคลให้เหมาะสมกับขีดความสามารถของลูกหนี้ สำหรับผู้ที่มีบัญชีหนี้ค้างชำระเกิน 90 วัน โดยมียอดหนี้ไม่เกิน 5,000 บาทต่อบัญชี
อย่างไรก็ตาม โครงการดังกล่าวมีเงื่อนไขว่าผู้ที่เข้าร่วมโครงการต้องไม่ก่อหนี้เพิ่มในช่วง 12 เดือนแรกด้วย
ปัจจุบัน ได้มีการขยายเวลาลงทะเบียนโครงการข้างต้นไปจนถึงสิ้นเดือน เม.ย. 2568 เนื่องจากยอดผู้ลงทะเบียนต่ำ โดยมีผู้ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการฯ จำนวนเพียง 642,030 ราย ณ วันที่ 10 ก.พ. 68
ดร.ปิยศักดิ์ กล่าวกับบีบีซีไทยว่า สาเหตุที่ทำให้ตัวเลขผู้ลงทะเบียนต่ำนั้นอาจเป็นเพราะเงื่อนไขที่ซับซ้อนและไม่ตอบโจทย์
“บางทีต่อให้ได้การลดหย่อนในเรื่องของการจ่ายค่างวดในแง่ของตัวดอกเบี้ยแล้ว… แต่กระนั้นก็ตามในช่วง ระยะเวลาเข้าร่วมโครงการ นั้น บางทีคนที่เขามีปัญหาก็ต้องการกู้ยืมเพิ่ม แต่เงื่อนไขของ ‘คุณสู้ เราช่วย' ไม่อนุญาตให้ทำอย่างนั้น เราจึงเห็นการตอบรับที่ค่อนข้างต่ำ”
ด้าน ผศ.ดร.รุ่งเกียรติ แสดงทัศนะกับบีบีซีไทยถึงนโยบายแก้หนี้ครัวเรือนต่าง ๆ ของทางภาครัฐว่าเป็นการแก้ปัญหาได้ไม่ตรงจุด
“ผมว่าเราเดินผิดทางนิดนึง ในแง่ที่ว่าเราดำเนินการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนผ่านการสร้างเงื่อนไขให้เกิดความเข้มงวดในการเป็นหนี้มากขึ้น มันทำให้คนเป็นหนี้เพิ่มไม่ได้ เพราะว่าดอกเบี้ยมันสูง ฉะนั้นเราอย่าไปดีใจกับหนี้ครัวเรือนที่นิ่งหรือลดลงเล็กน้อยซึ่งเป็นผลจากนโยบายแบบนี้ เพราะสุดท้ายแล้วคุณก็ต้องกลับมากระตุ้นเศรษฐกิจแล้วลดดอกเบี้ยอยู่ดี แล้วเดี๋ยวหนี้ครัวเรือนก็พุ่งอีก การแก้หนี้ครัวเรือนเช่นนี้มันสูญเปล่า” อาจารย์ประจำภาควิชาการเงินและการธนาคาร จุฬาฯ กล่าว
นอกจากนี้ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ยังมีมติลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% มาอยู่ที่ 2.00% ต่อปีในเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา ซึ่งจะส่งผลช่วยบรรเทาภาระการชำระหนี้ของประชาชนได้ส่วนหนึ่ง สอดคล้องกับความต้องการของรัฐบาลที่อยากเห็นการลดดอกเบี้ยของแบงก์ชาติ
อย่างไรก็ตาม นายวราวิชญ์ โปตระนันทน์ นักวิจัยด้านนโยบายด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง จากทีดีอาร์ไอ ระบุกับบีบีซีไทยในประเด็นนี้ว่า การลดอัตราดอกเบี้ยเป็นการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนได้เพียงระยะสั้นเท่านั้น “เรื่องการลดดอกเบี้ยในระยะสั้นลูกหนี้ภาระลดลงแน่นอน แต่พอลดดอกเบี้ย ลูกหนี้ก็ไปก่อหนี้ใหม่ เพราะว่าเห็นช่องทางเห็นโอกาสว่าตอนนี้ดอกเบี้ยต่ำ”
นโยบายซื้อหนี้จะแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนได้หรือไม่ ?
นโยบายการซื้อหนี้กลับมาเป็นที่สนใจของสังคมอีกครั้งหลังมีการประกาศจาก นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เมื่อกลางเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา นี่ถือเป็นครั้งที่สองของอดีตนายกฯ คนที่ 23 ในการนำเสนอแนวคิดดังกล่าว
แม้รายละเอียดของตัวนโยบายยังไม่ชัดเจนนัก แต่หากอ้างอิงตามคำปราศัยของอดีตนายกฯ นโยบายดังกล่าวจะเป็นการที่ภาครัฐชักจูงให้ภาคเอกชนเข้าซื้อหนี้ประชาชน เพื่อนำไปบริหารต่อ และประชาชนจะสามารถค่อย ๆ ผ่อนจ่ายคืน และได้รับการล้างประวัติเครดิตบูโรอีกด้วย โดยรัฐบาลไม่จำเป็นต้องใช้งบประมาณเพิ่มเติม
นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง ได้ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมเกี่ยวกับแนวคิดการซื้อหนี้เมื่อวันที่ 24 มี.ค. ที่ผ่านมาว่า “อาจจะใช้บริษัทบริหารสินทรัพย์ (AMC) ที่มีอยู่แล้ว หรือจะตั้งใหม่ ต้องพิจารณา แต่อยากทำให้เร็วที่สุด ไม่ให้นานเกิน 3 เดือน 6 เดือน”
บทวิเคราะห์จากศูนย์วิจัยกสิกรไทยเรื่อง “แนวคิดตั้ง AMC ซื้อหนี้ของประชาชน: ประเด็นที่ต้องคำนึงถึง” ได้เปรียบเทียบนโยบายดังกล่าวกับกรณีการจัดตั้ง บริษัทบริหารสินทรัพย์ (AMC) และ บริษัทบริหารสินทรัพย์ไทย (TAMC) หลังวิกฤตต้มยำกุ้งในปี 2540 ไว้ว่า ในตอนนั้น ประเทศไทยมีหนี้เสียสูงถึง 52.3% และสถาบันการเงินไม่สามารถที่จะแก้ไขปัญหาได้ในระยะเวลาสั้น จึงเกิดการจัดตั้ง AMC ของภาคเอกชนและภาครัฐกว่า 10 แห่ง เพื่อซื้อหนี้จากธนาคารแม่และนำไปบริหาร และในเวลาต่อมาจึงมีการจัดตั้ง TAMC เพื่อซื้อหนี้ก้อนใหญ่ในช่วงปลายวิกฤตเพื่อนำไปบริหารและปิดจบหนี้
อย่างไรก็ตาม บทวิเคราะห์ดังกล่าวชี้ว่า เศรษฐกิจของไทยในปัจจุบันแตกต่างกับในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง เนื่องจาก “หนี้เสียทั้งธุรกิจและรายย่อยจำนวนไม่น้อยผ่านการปรับปรุงโครงสร้างหนี้และมาตรการช่วยเหลือจากทั้งธนาคารพาณิชย์และทางการ สถานการณ์เศรษฐกิจยังมีความไม่แน่นอนสูงทำให้ปัจจัยด้านรายได้ของธุรกิจและครัวเรือนไม่ชัดเจน ซึ่งย่อมจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อความสำเร็จในการแก้ไขหนี้ โดยนโยบายซื้อหนี้”
ด้าน ผศ.ดร.รุ่งเกียรติ กล่าวกับบีบีซีไทยว่า นโยบายดังกล่าวไม่ถือเป็นการแก้หนี้ครัวเรือน
“การซื้อหนี้ไม่ได้แก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน เพราะว่าหนี้ยังคงอยู่แค่เปลี่ยนเงื่อนไขการชำระ เปลี่ยนอัตราดอกเบี้ย ทำให้ลูกหนี้สามารถลืมตาอ้าปากได้ มันไม่ได้เป็นนโยบายที่สามารถลดหนี้ครัวเรือนได้” นักวิชาการจากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ ระบุ
เขายกเหตุผลด้วยว่านโยบายการซื้อหนี้ไม่ทำให้หนี้ครัวเรือนลดลงเนื่องจากไม่ใช่การแฮร์คัทหนี้ หรือการยกหนี้ โดยนโยบายดังกล่าวเป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการชำระคืนให้ลูกหนี้สามารถบริหารจัดการได้ดีขึ้นเท่านั้น
นายวราวิชญ์ นักวิจัยจากทีดีอาร์ไอ มองเช่นเดียวกันว่า นโยบายซื้อหนี้ดังกล่าวอาจลดตัวเลขหนี้ครัวเรือนได้เพียงระยะสั้นเท่านั้น แต่ไม่ได้เป็นภาพสะท้อนว่าเศรษฐกิจในประเทศดีขึ้น
“หนี้ไม่ได้หายไป แต่มันอาจทำให้มูลหนี้ลดลง ในระยะสั้นเราอาจจะเห็นได้เลยว่า สัดส่วนหนี้หรือหนี้เสียอาจลดฮวบลง แต่ในระยะยาวหากตัวลูกหนี้ยังไม่มีการปรับพฤติกรรม เขาอาจไปก่อหนี้ใหม่ได้ เพราะโครงการนี้จะสามารถไปล้างเครดิตบูโรได้ด้วย” นักวิชาการจากทีดีอาร์ไอ ระบุ
นอกจากนี้ แม้นายทักษิณจะกล่าวว่านโยบายการซื้อหนี้ที่ตนเสนอนั้นไม่จำเป็นต้องใช้งบประมาณจากภาครัฐ แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินตั้งข้อสังเกตว่าหากภาครัฐต้องการชักจูงให้เอกชนซื้อหนี้มากขึ้นหรือเร็วขึ้น รัฐเองก็คงจะต้องเสนออะไรบางอย่างเพื่อจูงใจด้วยเช่นเดียวกัน ซึ่งอาจเป็นการเพิ่มภาระให้กับรัฐบาล
“หากภาครัฐต้องการกระตุ้น การซื้อหนี้ ให้เกิดขึ้นแบบเชิงรุก ก็แสดงว่าภาครัฐก็ต้องมีกลไกหรือมีขาของภาครัฐเข้ามาเอี่ยวบ้างในบางส่วน ที่จะทำให้ภาคเอกชนที่มาซื้อหนี้เสียไปรู้สึกว่ามีคนคอยช่วยแบ่งความเสี่ยงออกไป” ผศ.ดร.รุ่งเกียรติ ระบุ

ที่มาของภาพ : Reuters
นอกจากนี้ ยังมีข้อกังวลเกี่ยวกับนโยบายดังกล่าว เพราะในระยะเวลาเพียง 10 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลไทยมีโครงการแก้ปัญหาหนี้เกษตรกรไปแล้วกว่า 14 ครั้ง โดยรายงาน “นโยบายพักชำระหนี้เกษตรกรรอบใหม่: ทำอย่างไรไม่ให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย” ของทีดีอาร์ไร ระบุว่า เกษตรกรจำนวนมากอาจตั้งใจไม่ชำระหนี้ของ ธกส. เพราะรู้ว่าในที่สุดรัฐบาลก็ต้องมีนโยบายพักชำระหนี้รอบใหม่ออกมา
นี่เป็นหนึ่งในข้อกังวลที่ ดร.ปิยศักดิ์ กล่าวกับบีบีซีไทยเช่นเดียวกัน เขาระบุว่า “การพักหนี้ ลบหนี้อะไรต่าง ๆ มันก็เป็นการแก้เป็นจุด ๆ ไป บางส่วนอาจมองว่าจะนำมาสู่ประเด็นในเรื่องของ ภัยทางศีลธรรม (dazzling hazard) ทำให้คนรู้สึกว่า ถึงฉันมีปัญหาเดี๋ยวก็มีคนเข้ามาดูแล ทำให้ฉันกู้แบบไม่มีความรับผิดชอบได้อีก”
สำหรับนายวราวิชญ์ จากทีดีอาร์ไอ เขามองว่าอาจมีประชาชนบางส่วนที่ค้างชำระหนี้มาเป็นระยะเวลาหนึ่งแต่ยังไม่ถึง 3 เดือน คือยังไม่เข้าเกณฑ์เป็นหนี้เสีย แต่เมื่อทราบว่าจะมีนโยบายการซื้อหนี้ ก็อาจจะค้างชำระหนี้ที่มีอยู่นั้นให้เป็นหนี้เสียเพื่อจะได้รับการ แฮร์คัท หรือการเข้าซื้อหนี้
“พอเห็นช่องแล้วว่า หากรออีกแป๊ปเดียวแล้วหนี้กลายเป็นหนี้เสีย ก็จะได้ถูกซื้อหนี้ เขาก็รอสิครับให้ตัวเองหนี้เสีย แล้วสุดท้ายก็ยกประโยชน์ให้ตัวเอง เข้าโครงการและได้ลดหนี้ไปโดยปริยาย” นายวราวิชญ์ กล่าวกับบีบีซีไทย
นโยบายแบบไหนสามารถลดหนี้ครัวเรือนได้อย่างยั่งยืน ?
ดร.ปิยศักดิ์ หัวหน้านักวิจัยฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ อินโนเวสท์ เอกซ์ อธิบายถึงแนวทางการแก้หนี้ครัวเรือนต่อ GDP ว่ามีด้วยกันอยู่สองรูปแบบ คือ 1. การลดตัวเศษซึ่งก็คือหนี้ครัวเรือน หรือ 2. การเพิ่มตัวส่วน นั่นก็คือ GDP ดังนั้นนโยบายต่าง ๆ ของรัฐที่มุ่งไปที่การแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน เพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ถูกจุดเสียทีเดียว
“แนวนโยบายของแบงก์ชาติคือการคุมในเรื่องของหนี้เป็นหลัก ให้มูลหนี้ลดลง ตัวเลขหนี้ครัวเรือนต่อ GDP จึงลดลง คือดีขึ้นในแง่ของตัวเลข แต่ในด้านเศรษฐกิจคือแย่มาก เพราะนั่นแปลว่าการปล่อยสินเชื่อลำบากขึ้น” ดร.ปิยศักดิ์ กล่าวกับบีบีซีไทย
ดร.ปิยศักดิ์ ชี้ด้วยว่าภาครัฐควรลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ด้วยงบประมาณที่สูงเพื่อให้เกิดการเพิ่มรายได้และเพิ่ม GDP ในประเทศ และแม้การลงทุนดังกล่าวจะทำให้หนี้สาธารณะเพิ่มมากขึ้น แต่ประชาชนก็จะมีรายได้เพิ่มมากขึ้นเช่นกัน
“ต้องทำนโยบายขนาดใหญ่มากกว่าที่จะมานั่งดูว่าเรามีปัญหาอะไรแล้วแก้เป็นจุด ๆ ทางแก้คือมันต้องมีการปรับประเทศครั้งใหญ่ ผ่านการเพิ่มตัวนโยบายการเงินการคลังครั้งใหญ่ ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจกันของทุกฝ่าย” ดร.ปิยศักดิ์ ระบุกับบีบีซีไทย
ด้านนายวราวิชญ์ นักวิจัยจากทีดีอาร์ไอ ก็ได้ตั้งคำถามต่อเรื่องการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนของภาครัฐว่า “ถ้าเกิดปัญหามันอยู่ที่รายได้ คำถามก็คือตอนนี้รัฐบาลมีนโยบายที่พยายามจะยกระดับรายได้ของประชาชนหรือยัง”
โดยเขาเสนอแนะว่า ภาครัฐควรมุ้งเน้นไปที่การออกนโยบายให้ครบทุกด้านเพื่อการแก้ไขปัญหาอย่างครบมิติ เช่นการสร้างรายได้เพิ่ม เพื่อให้ประชาชนมีขีดความสามารถในการชำระหนี้เพิ่มขึ้น “คำว่ายกระดับรายได้ คือต้องมีความยั่งยืนนะครับ ไม่ใช่ระยะสั้น อย่างเช่นการปรับค่าแรง ยกระดับทักษะ เสริมสร้างทักษะดิจิทัล รัฐบาล มี นโยบาย ลักษณะนี้หรือยัง” เขากล่าวเสริม
ส่วน ผศ.ดร.รุ่งเกียรติ เสนอว่าไทยควรออกนโยบายที่มุ้งเน้นเรื่องการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ออกมาเพิ่มเติม เนื่องจากภาคอสังหาริมทรัพย์เปรียบเสมือนสันหลังหลักของระบบเศรษฐกิจ เพราะว่ามีห่วงโซ่อุปทานที่ต่อเนื่องกับภาคส่วนอื่น ๆ เป็นจำนวนมาก
“ห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) ของภาคอสังหาริมทรัพย์เต็มไปด้วยธุรกิจขนาดเล็กทั้งสิ้น และมันก็จะทำให้เกิดกิจกรรมและการเติบโตทางเศรษฐกิจ และเงินก็จะมีการหมุนเวียน”
อาจารย์ประจำภาควิชาการเงินและการธนาคาร จุฬาฯ เสนอแนะด้วยว่า รัฐบาลควรมุ่งเน้นเรื่องนโยบายการต่างประเทศควบคู่ไปด้วยเพื่อเพิ่มโอกาสในการเจรจา โดยเน้นการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ “เรื่องการเจรจา เขตการค้าเสรี (FTA) ต้องพยายามทำให้เกิดขึ้นให้ได้ ตรงนี้ต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ที่เราจะต้องบริหารจัดการ การต่อรองเชิงการเมืองในระดับโลกที่ดี หากทำได้จะทำให้เกิดการลงทุนจากต่างชาติเข้ามาในประเทศ”
ทั้งนี้ ผศ.ดร.รุ่งเกียรติ กล่าวทิ้งท้ายกับบีบีซีไทยด้วยว่า รัฐบาลไม่ควรกลัวการที่คนในประเทศจะมีหนี้เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากจะเป็นการเพิ่มการลงทุนและการบริโภคในประเทศ แต่ควรที่จะเพิ่มมาตรการกระตุ้นทางเศรษฐกิจเพื่อให้ประชาขนมีขีดความสามารถในการจ่ายหนี้ที่สูงขึ้นได้
“เราทำนโยบายเหมือนกับเรากลัวไม่อยากให้คนเป็นหนี้เพิ่ม เราพยายามกดเอาไว้ เราควรต้องบอกใหม่ว่า โอเค คุณอยากเป็นหนี้ก็เป็นไป แต่ว่าเราจะพยายามกระตุ้นเศรษฐกิจให้คุณ”
ที่มา BBC.co.uk