แผ่นดินไหวขนาด 8.2 จากเมียนมา ทำตึกสูงย่านจตุจักรถล่ม พบผู้เสียชีวิตแล้ว 9 ราย สูญหาย 101 คน

ที่มาของภาพ : Reuters
แผ่นดินไหวรุนแรงขนาด 8.2 ลึกจากพื้นดินราว 10 กม. มีศูนย์กลางอยู่ในประเทศเมียนมา ตามรายงานโดยกรมอุตุนิยมวิทยา โดยเหตุแผ่นดินไหวครั้งนี้เกิดขึ้นเวลาประมาณ 13.20 น. ของวันที่ 28 มี.ค. แต่ส่งแรงสะเทือนถึงประเทศไทยหลายพื้นที่ รวมถึงกรุงเทพมหานคร ที่สามารรับรู้สึกได้ถึงแรงสั่นสะเทือนได้
นอกจากนี้ยังมีรายงานว่าเกิดอาฟเตอร์ช็อกอย่างน้อย 44 ครั้ง โดยแต่ละครั้ง มีขนาดความรุนแรงตั้งแต่ขนาด 3.1 – 5.5 แต่ขนาดความรุนแรงมีแนวโน้มลดลงหลังจากเกิดแผ่นดินไหว
แรงสั่นสะเทือนที่รุนแรงยังทำให้อาคารอย่างน้อย 3 แห่ง ได้รับความเสียหายและพังถล่ม
จากการแถลงข่าวผลการติดตามเหตุแผ่นดินไหวในพื้นที่กรุงเทพฯ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า แรงสะเทือนได้สร้างความเสียหายให้กับอาคารที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง 3 แห่ง
- จุดที่รุนแรงที่สุดคือ อาคารของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินที่กำลังก่อสร้าง
- จุดที่สองคือ เครนก่อสร้างคอนโดมิเนียมบริเวณเขตดินแดงถล่ม มีรายงานผู้เสียชีวิต 1 ราย
- จุดสุดท้ายคือ นั่งร้านอาคารถล่ม โดยมีผู้เสียชีวิต 1 ราย นอกจากนี้ยังมีรายงานเรื่องรอยแตกร้าวของอาคารทั่วไป
นายชัชชาติ เน้นย้ำว่าอาคารที่ได้รับผลกระทบดังกล่าว คืออาคารที่อยู่ระหว่างก่อสร้างทั้งหมด และไม่มีรายงานอาคารที่สร้างเสร็จแล้วที่เกิดการถล่มลงมา เนื่องจากกฎหมายควบคุมอาคารและการก่อสร้างอาคารได้กำหนดเกณฑ์รับแรงแผ่นดินไหวได้ “มาตรฐานการก่อสร้างอาคารในกรุงเทพมหานครอยู่ในระดับดีมาก เชื่อมั่นได้ ที่เห็นว่ามีการพังเป็นอาคารที่กำลังก่อสร้าง เพราะยังมีความเปราะบางอยู่ “
เรื่องแนะนำ
Discontinuance of เรื่องแนะนำ

ที่มาของภาพ : Reuters
ตึกถล่มย่านจตุจักร คาดมีผู้ติดอยู่ภายในซากอาคารจำนวนมาก
จุดที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือ อาคารสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (แห่งใหม่) ซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้าง อยู่บริเวณถนนกำแพงเพชร 2 เขตจตุจักร ที่พังถล่มลงมา ศูนย์นเรนทร สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ได้รับแจ้งจากหัวหน้างานก่อสร้างอาคารดังกล่าวว่า มีคนงานก่อสร้างทั้งหมด 320 คน
เวลาประมาณ 22.00 น. ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ กรุงเทพมหานคร รายงานจำนวนผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์อาคารที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง 3 แห่งในเขตดินแดน บางซื่อ และจตุจักร ถล่มจากแรงสั่นสะเทือนจากเหตุกแผ่นดินไหวรุนแรงทางตอนกลางของเมียนมา โดยมีผู้เสียชีวิต 9 ราย บาดเจ็บ 16 คน และสูญหายอีก 101 คน
ด้านนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ภายหลังการเข้าพื้นที่อาคารถล่มว่า “เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้ไม่เคยเกิดมาในรอบ 100 ปี สำหรับกรุงเทพมหานคร และตอนนี้กำลังกังวลว่าอาจมีเหตุแผ่นดินไหวตามมาอีก (อาฟเตอร์ช็อก) กำลังติดตามอย่างใกล้ชิด” นายภูมิธรรมระบุในระหว่างให้สัมภาษณ์เมื่อช่วงเวลาประมาณ 16.00 น.
ขณะนี้เจ้าหน้าที่กู้ภัย พร้อมด้วยสุนัขตำรวจเร่งค้นหาสัญญาณชีพของผู้รอดชีวิตเป็นภารกิจแรก
ข้าม Facebook โพสต์ ยินยอมรับเนื้อหาจาก Facebook
บทความนี้ประกอบด้วยเนื้อหาจาก Facebook เราขอความยินยอมจากคุณก่อนใช้คุกกี้ หรือเทคโนโลยีอื่น ๆ บันทึกอะไรลงไป คุณอาจต้องอ่านนโยบายคุกกี้ของ Facebook และนโยบายความเป็นส่วนตัวของ Facebook ก่อนให้ความยินยอม หากต้องการอ่านเนื้อหานี้ โปรดเลือก “ยินยอมและไปต่อ”
สิ้นสุด Facebook โพสต์
สำหรับตึกที่ถล่มลงมาเป็นโครงการก่อสร้างอาคารที่ทำการสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (แห่งใหม่) ดำเนินการก่อสร้างบนพื้นที่ประมาณ 10 ไร่ 3 งาน คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติงบก่อสร้าง 2,560 ล้านบาทเมื่อวันที่ 4 ก.พ. 2563 โดยผู้ที่ชนะการประกวดราคาการสร้างอาคารดังกล่าว คือกิจการร่วมค้า ไอทีดี-ซีอาร์อีซี (บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด) ซึ่งเป็นผู้เสนอราคาต่ำสุด 2,136 ล้านบาท

ที่มาของภาพ : Thai News Pix

ที่มาของภาพ : Thai News Pix

ที่มาของภาพ : Thai News Pix

ที่มาของภาพ : BBC Thai
คำบอกเล่าของผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์

ที่มาของภาพ : BBC Thai
นายณัฐพงศ์ หงษ์ทอง เจ้าหน้าที่ดับเพลิงตึกแดงวินเทจ จตุจักร ซึ่งเป็นห้างสรรพสินค้าที่อยู่ใกล้ ๆ กับอาคารที่ถล่มลงมา บอกกับบีบีซีไทยว่า ตอนเวลาประมาณ 13.30-13.40 น. ตนรู้สึกว่าพื้นดินไม่คงที่และสั่นไหว แต่ในตอนที่เกิดแผ่นดินไหวครั้งแรกนั้น ตึกดังกล่าวยังไม่ถล่มลงมา แต่ “พอผ่านไปได้ 5 นาที ตึกถล่ม ได้ยินเสียงคล้ายๆ ตึกถล่มลงมา ทั้งชั้น ทั้งหมดเลยมันยุบลงมา ดังโครม ออกมาเห็นตอนมันถล่มเสร็จเรียบร้อยแล้ว ใช้เวลาถล่มไม่เกิน 1 นาที ต่อหน้าต่อตา”
เขาระบุด้วยว่าเจ้าหน้าที่ รปภ. ของตึกแดงวินเทจ ได้พยายามเคลียร์คนออกจากห้างทางประตูหนีไฟ เพื่อป้องกันเหตุที่อาจเกิดจากอาฟเตอร์ช็อกด้วย
“ตัวเลขคร่าว ๆ ประมาณเกือบ 500 คนครับ ที่ลำเลียงอพยพออกมา ถ้ารวมผู้ประกอบการด้วย เจ้าหน้าที่ใช้เวลาประมาณ 15 นาที”
นายอดิศร คำพาสอน ซึ่งเป็นคนงานก่อสร้างในตึกที่ถล่มลงมา เล่าให้บีบีซีไทยฟังกว่า “ผมกำลังขนเหล็กลงมาจากชั้น 6 อยู่ดี ๆ ปูนก็ตกลงมา ผมก็รีบวิ่งออกมา” พร้อมบอกด้วยว่าขณะนั้นเขาสังเกตเห็นเครนที่อยู่บนชั้นบนสุดแกว่งแล้ว
“จากนั้น ผมก็วิ่งออกมา ผมวิ่งมาตรงนี้ผมก็เห็นเลย ตึกมันถล่มแบบพรึ่บ ๆ ๆ ลงเลย” เขาเล่าให้บีบีซีไทยฟังและเสริมด้วยว่า การถล่มของตึกดังกล่าวกินเวลาเกือบ 1 นาที
“นึกว่าไม่มีใครรอดแล้วทีแรก เพราะว่าตอนนี้ชุดผมยังมีอยู่อีกที่ชั้น 6… ไม่เห็นอะไรเลยครับ คิดว่าจะเสียชีวิตแล้ว คนนี่วิ่งกันเต็มเลย ผมก็มองไม่เห็นทางเลย เห็นคนข้างหน้าวิ่งไป ผมก็วิ่งตามเขา”
“คิดถึงพ่อแม่เลยครับ” เขาอธิบายถึงความรู้สึกที่เกิดขึ้นขณะเกิดเหตุ พร้อมระบุว่าตอนนี้ไม่สามารถติดต่อพ่อแม่ได้ เนื่องจากโทรศัพท์มือถือหายไปกับซากอาคารที่ถล่มลงมา

ที่มาของภาพ : BBC Thai
นุกูล เข็มอุทา คนงานที่ทำงานอยู่ในไซต์ก่อสร้างดังกล่าว บอกว่าขณะเกิดเหตุ ตนทำงานอยู่ที่ชั้น 5 ของอาคาร
“ตอนแรกยังเอะใจอยู่ คิดว่ามันเป็นเศษปูนเศษอะไรร่วง พอซักพักมันเหมือนแผ่นดินไหว แล้วเราก็ยืนไม่อยู่ เราก็เวียนหัว แค่นั้นผมก็ตะโกนบอกน้อง ‘วิ่ง' ” เขาย้อนเล่า
นุกูล บอกกับบีบีซีไทยว่า ขณะนั้นเขาคิดไว้แล้วว่าตึกจะถล่มแน่ ๆ “ยังไงก็ไม่เหลือ มันโยกขนาดนั้น” เขาบอก “ผมก็วิ่ง วิ่ง จาก ชั้น 5 ชั้น 4 ชั้น 3 มันก็ค่อย ๆ ยุบทีละชั้น ตุ้ม ๆ ๆ ลงมา พอผมมาถึงชั้น 1 มันก็ร่วงลงมา ตอนนั้นคือทั้งฝุ่นทั้งอะไรมันมองไม่เห็นแล้ว”
เขาเล่าด้วยว่า ก่อนหน้านี้พวกเขาเคยซักซ้อมการอพยพ และเช็กจำนวนคน กรณีมีเหตุไฟไหม้มาแล้ว แต่ยังไม่เคยซักซ้อมกรณีที่เกิดเหตุตึกถล่ม ซึ่งหลังเกิดเหตุจนถึงขณะที่ให้สัมภาษณ์กับบีบีซี เขายังไม่พบทีมงานของตัวเองอีก 3 คน ซึ่งหนึ่งในนั้นไปเข้าห้องน้ำที่ชั้น 10 ขณะเกิดเหตุ ส่วนอีก 2 คนอยู่ที่ชั้นใต้ดิน
“คิดว่าไม่รอดแล้ว” เขาเล่าความรู้สึกขณะที่ตึกกำลังถล่ม “คือมันมืดไปหมดตอนนั้น มันลงถึงชั้น 1 แล้วมันบึ้ม แต่พอเสียงบึ้มมันเงียบ เราก็พยายามตะโกนนะว่าใครรอด ๆ” เขาบอกว่าตอนนั้นได้ยินเสียงเพื่อนคนงานทั้งชาวเมียนมาและชาวไทยตอบกลับว่า “ผมอยู่นี่ ๆ” ซึ่งบางคนก็บอกว่าหายใจไม่ออก จึงพยายามพากันออกมายังที่โล่ง
เขาบอกว่าเหตุการณ์ทั้งหมดเกิดขึ้นในเวลาเพียงราว 1 นาที ซึ่งแม้ตอนนี้จะปลอดภัยแล้ว แต่โทรศัพท์ก็หายไปกับซากตึกที่ถล่ม ทำให้ยังไม่ได้โทรศัพท์ไปบอกครอบครัว
ปิดทางลงทางด่วนดินแดง เศษวัสดุหล่นกีดขวางการจราจร
ทั้งนี้ หลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวเมื่อเวลา 14.36 น. มีรายงานการปิดการจารจรทางลงทางด่วนดินแดงทุกช่องทาง หลังเครนบนอาคารที่กำลังก่อสร้างล้มทับและมีเศษวัสดุก่อสร้างตกหล่นกีดขวางการจราจรช่องทางลงทางด่วนดินแดงขาออก เพื่อเดินทางไปถนนวิภาวดีฯ
นอกจากนี้ มีรายงานผลกระทบเหตุแผ่นดินไหว บริเวณถนนพระราม 2 ขาเข้าตรงข้ามกับ รพ.บางมด ด้วย โดยถนนมีการทรุดตัวเป็นลูกคลื่นและมีการปิดการจราจรบนถนนสายดังกล่าว

ที่มาของภาพ : X / 1197สายด่วนจราจร

ที่มาของภาพ : X / 1197สายด่วนจราจร

ที่มาของภาพ : X / 1197สายด่วนจราจร
นายกฯ ประกาศให้ กรุงเทพมหานคร เป็นพื้นที่ฉุกเฉิน
เวลา 15.00 น. นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แถลงข่าวกรณีเหตุแผ่นดินไหวจาก จ.จังหวัดภูเก็ตว่า ได้รับรายงานเกี่ยวกับเหตุตึกถล่มในย่านจตุจักรในกรุงเทพฯ แล้ว และสั่งการให้กระทรวงมหาดไทยแจ้งให้กรุงเทพฯ เป็นพื้นที่ฉุกเฉินและได้แจ้งทั่วประเทศให้ทำเสมือนว่าเป็นเหตุการณ์ฉุกเฉินทั้งหมด เพื่อให้เมื่อมีเหตุการณ์ที่จะต้องช่วยเหลือประชาชนทำได้ทันที
ต่อมานายชัชชาติ ได้ลงนามในประกาศให้กรุงเทพมหานครเป็นเขตประสบสาธารณภัย เพื่อให้การช่วยเหลือและฟื้นฟูสถานการณ์ได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ

ที่มาของภาพ : Handout
สถานการณ์ในเมียนมา
สำนักงานสำรวจธรณีวิทยาสหรัฐ (USGS) รายงานว่าแผ่นดินไหวในประเทศเมียนมา มีศูนย์กลางอยู่ห่างจากเมืองซะไกง์ไปทางตะวันตกเฉียงเหนือ 16 กม. ใกล้กับเมืองมัณฑะเลย์ เมืองใหญ่อันดับสองของเมียนมา และอยู่ห่างจากกรุงเนปิดอว์ เมืองหลวง ไปทางเหนือประมาณ 100 กม.
ในกรุงเนปิดอว์ พบว่าถนนหลายสายได้รับความเสียหาย บางแห่งมีรอยร้าว และบางส่วนถนนแตกแยกออกจากกัน

เวลาประมาณ 22.00 น. บีบีซี แผนกภาษาพม่า รายงานว่า เหตุแผ่นดินไหวรุนแรงในตอนกลางของเมียนมา มีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 144 ราย และบาดเจ็บอีกอย่างน้อย 732 คน โดยระบุว่า ตัวเลขดังกล่าวมา พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้นำทหารของเมียนมา เขายังระบุว่า ตัวเลขดังกล่าวคาดว่าจะสูงขึ้นอีก
ในจำนวนดังกล่าวแบ่งเป็น ในกรุงเนปิดอว์มีผู้เสียชีวิต 96 ราย บาดเจ็บ 132 คน ส่วนเมืองสะกาย 18 ราย บาดเจ็บ 300 คน ขณะที่เมืองมัณฑะเลย์ มีผู้เสียชีวิต 30 ราย

ที่มาของภาพ : Getty Photos
ส่วนในเมืองมัณฑะเลย์ บีบีซีพบว่าตึกบางแห่งถล่มลงมาเช่นกัน แม้ว่าจะเป็นอาคารที่ไม่อาจนับได้ว่าเป็นอาคารสูงก็ตาม
นอกจากนี้ ภาพที่สนามบินมัณฑะเลย์ขณะเกิดแผ่นดินไหว ยังแสดงให้เห็นภาพผู้คนกรีดร้องและหมอบราบบนพื้นลานจอดเครื่องบิน และได้ยินเสียงผู้คนตะโกนว่า “นั่งลง! อย่าวิ่ง!”

ที่มาของภาพ : Getty Photos

ที่มาของภาพ : Getty Photos

ที่มาของภาพ : BBC Burmese

ที่มาของภาพ : BBC Burmese
ที่มา BBC.co.uk