แผ่นดินไหว: สำรวจ 7 ปัจจัยที่ทำให้เหตุแผ่นดินไหวรุนแรงจนมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก

ที่มาของภาพ : EPA

เจ้าหน้าที่กู้ภัยเมียนมาและจีนค้นหาผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวที่ตึกสกายวิลลาในเมืองมัณฑะเลย์ ประเทศเมียนมา เมื่อวันที่ 30 มี.ค. 2568 ขณะที่ยอดผู้เสียชีวิตในเมียนมายังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

ยอดผู้เสียชีวิตจากเหตุแผ่นดินไหวขนาด 7.7 ในเมียนมา เมื่อวันที่ 28 มี.ค. ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด เมื่อวันอาทิตย์ (30 มี.ค.) ตัวเลขผู้เสียชีวิตอยู่ที่ประมาณ 1,700 คน บาดเจ็บ 3,400 คน และยังสูญหายกว่า 300 คน ขณะที่ในประเทศไทย การกู้ภัยและค้นหาผู้รอดชีวิตจากเหตุอาคารที่กำลังก่อสร้างของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ถล่ม ยังเป็นไปได้ความยากลำบาก

ภาพความเสียหายที่ปรากฏออกมา ทั้งอาคารสิ่งปลูกสร้างและท้องถนนในเมียนมา และอาคาร สตง. ความสูง 30 ชั้นที่ถล่มลงมา แสดงให้เห็นความเสียหายอย่างรุนแรงจากแผ่นดินไหวครั้งนี้

เมื่อปี 2019 เกิดแผ่นดินไหวขนาด 7.1 ที่รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐฯ ทว่าในภัยพิบัติครั้งนั้นไม่มีผู้เสียชีวิต และไม่ได้สร้างความเสียหายร้ายแรงต่อโครงสร้างพื้นฐาน

มีปัจจัยหลายประการที่ส่งผลต่อความรุนแรงของแผ่นดินไหวในแง่ของจำนวนผู้เสียชีวิตและความเสียหาย ต่อไปนี้คือปัจจัยสำคัญที่สุด

ขนาดและระยะเวลา

ปัจจุบัน แผ่นดินไหวถูกวัดด้วยมาตราส่วนที่เรียกว่า มาตราโมเมนต์ (Moment Magnitude Scale – Mw) ซึ่งได้เข้ามาแทนที่มาตราริกเตอร์ที่เป็นที่รู้จักมากกว่า แต่ถือว่าล้าสมัยและมีความแม่นยำน้อยกว่า

and proceed finding outเรื่องแนะนำ

Finish of เรื่องแนะนำ

ตัวเลขที่กำหนดให้กับแผ่นดินไหวแสดงถึงการรวมกันระหว่างระยะทางที่รอยเลื่อนเคลื่อนที่และแรงที่ทำให้มันเคลื่อน

โดยปกติแล้วมนุษย์จะไม่รับรู้เมื่อเกิดแรงสั่นสะเทือนที่มีขนาด 2.5 หรือน้อยกว่านั้น แต่สามารถตรวจจับได้ด้วยเครื่องมือ ทว่าเมื่อเหตุแผ่นดินไหวมีขนาดสูงถึง 5 มนุษย์จะสามารถรับรู้ได้และอาจก่อให้เกิดความเสียหายเล็กน้อย

แผ่นดินไหวในทิเบตมีขนาด 7.1 ถือว่ามีความรุนแรงในระดับ “ใหญ่” (major) เช่นเดียวกับแผ่นดินไหวขนาด 7.8 ที่ทางตอนใต้ของตุรกีและซีเรียเมื่อเดือน ก.พ. 2024

แผ่นดินไหวที่มีขนาดเกิน 8 ขึ้นไปจัดว่าอยู่ในระดับ “รุนแรงมาก” (immense) ซึ่งสามารถก่อให้เกิดความเสียหายอย่างหายนะและทำลายชุมชนในจุดศูนย์กลางได้อย่างสิ้นเชิง

แผนภาพแสดงพลังทำลายล้างของแผ่นดินไหว โดยเทียบระหว่างขนาดแรงสั่นสะเทือน (Magnitude) และพลังงานที่ปลดปล่อย (ซึ่งเทียบเท่ากับกิโลกรัมของวัตถุsะเบิด) ตัวอย่างเช่น เหตุแผ่นดินไหวชิลี เมื่อปี 1960 มีขนาด 10 หรือเทียบเท่า พลังงาน 56 ล้านล้านกิโลกรัมของวัตถุsะเบิด

นอกจากขนาดของแผ่นดินไหวแล้ว ระยะเวลาของแรงสั่นสะเทือนที่เกิดขึ้นก็สามารถส่งผลต่อพลังทำลายล้างได้เช่นกัน

“ในขณะที่แรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวขนาดเล็กมักกินเวลาเพียงไม่กี่วินาที แต่แรงสั่นสะเทือนอย่างรุนแรงจากแผ่นดินไหวขนาดปานกลางถึงขนาดใหญ่ เช่น แผ่นดินไหวที่สุมาตราในปี 2004 สามารถกินเวลานานถึงสองสามนาที” ข้อมูลจากเครือข่ายวัดแผ่นดินไหวแปซิฟิกตะวันตกเฉียงเหนือ (Pacific Northwest Seismic Network) ระบุ

ความลึก

อย่างไรก็ดี ขนาดของแผ่นดินไหวไม่ใช่ปัจจัยสำคัญเพียงอย่างเดียว แต่ตำแหน่งที่เกิดแผ่นดินไหวภายในโลกก็มีความสำคัญเช่นกัน

สำหรับในกรณีเหตุแผ่นดินไหวในโมร็อกโก จุดโฟกัส (focal level) อยู่ลึกลงไปใต้พื้นดินประมาณ 18 กิโลเมตร ซึ่งถือเป็นความลึกประมาณสองเท่าของความสูงของยอดเขาเอเวอเรสต์ แต่ตามมาตรฐานทางธรณีวิทยาแล้วไม่ได้ถือว่าลึกมากนัก

“แผ่นดินไหวครั้งนี้ค่อนข้างตื้น นั่นหมายความว่ามีชั้นดินด้านบนน้อยลงในการดูดซับพลังงานและแรงสั่นสะเทือน ทำให้การสั่นสะเทือนมีพลังงานสูงและรุนแรงมาก” ดร. คาร์เมน โซลานา นักภูเขาไฟและนักธรณีวิทยาจากมหาวิทยาลัยพอร์ตสมัธ ให้สัมภาษณ์กับบีบีซี

ในทางตรงกันข้าม แผ่นดินไหวขนาด 6.2 ที่เกิดขึ้นในจังหวัดมาลูกูเหนือของอินโดนีเซียเมื่อเดือนก.ย. 2023 (วันที่ 11 ก.ย.) เกิดขึ้นที่ความลึกถึง168 กิโลเมตร และเหตุแผ่นดินไหวครั้งนั้นไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต

ที่มาของภาพ : Getty Pictures

แผ่นดินไหวสามารถคร่าชีวิตและก่อให้เกิดความเสียหายอย่างมหาศาล แต่ความรุนแรงขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ

ช่วงเวลาที่เกิดแผ่นดินไหว

แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นในตอนกลางของโมร็อกโกเกิดขึ้นในเวลา 23.11 น. ตามเวลาท้องถิ่น ซึ่งเป็นปัจจัยที่อาจส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่อความรุนแรงของตัวเลขผู้เสียชีวิต

“อาคารหลายแห่งอาจพังถล่ม ในขณะที่ผู้คนกำลังนอนหลับ” ดร.โซลานากล่าว

ผู้เสียชีวิตจากแผ่นดินไหวจำนวนมากมักเกิดจากการพังถล่มของอาคาร โดยนักแผ่นดินไหววิทยามักกล่าวว่า “แผ่นดินไหวไม่ฆ่-าคน เป็นตึกถล่มต่างหากที่ฆ่-า”

ดังนั้น แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นในช่วงกลางวัน ซึ่งมีคนอยู่ในอาคารน้อยกว่าจึงมักมีจำนวนผู้เสียชีวิตน้อยกว่า

โครงสร้างอาคาร

ปัจจุบัน สามารถสร้างบ้านที่ทนทานต่อแผ่นดินไหวได้ เว้นเพียงแต่เหตุแผ่นดินไหวในกรณีที่รุนแรงที่สุด การจะสร้างอาคารที่ทนต่อแผ่นดินไหวเช่นนี้หมายความว่าอาคารจำเป็นต้องดูดซับพลังงานจากแรงสั่นสะเทือนให้ได้มากที่สุด

ที่มาของภาพ : BBC

วิศวกรชาวญี่ปุ่นสามารถสร้างอาคารสูงจำนวนมากที่ทนทานต่อแผ่นดินไหวรุนแรงได้

ตามข้อมูลของสำนักงานสำรวจทางธรณีวิทยาสหรัฐฯ (USGS) ญี่ปุ่นซึ่งยังคงเป็นประเทศที่เกิดแผ่นดินไหวบ่อยที่สุดในโลก ได้บุกเบิกการก่อสร้างอาคารที่ทนทานต่อแผ่นดินไหว

“เมื่อโครงสร้างสามารถดูดซับพลังงานจากแผ่นดินไหวได้ทั้งหมด อาคารจะไม่ถล่มลงมา” จุน ซาโตะ วิศวกรโครงสร้างและรองศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยโตเกียวกล่าว

เทคนิคนี้เรียกว่า “การแยกแรงสั่นสะเทือน” (seismic isolation) โดยอาคารหรือโครงสร้างจะถูกติดตั้งบนวัสดุที่ช่วยดูดซับแรงสั่นสะเทือน เช่น แผ่นยางที่มีความหนาประมาณ 30-50 ซม. เพื่อช่วยลดแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหว

อย่างไรก็ตาม ระบบฐานรองรับแรงสั่นสะเทือนประเภทนี้มีต้นทุนสูง และงบประมาณในการก่อสร้าง รวมถึงวัสดุที่ใช้ มีความแตกต่างกันอย่างมากในแต่ละประเทศ

ในพื้นที่ห่างไกลของโมร็อกโก ซึ่งได้รับความเสียหายหนักที่สุด อาคารจำนวนมากก่อสร้างด้วยอิฐโคลนหรือดินอัด (adobe) ซึ่งไม่สามารถต้านทานแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ อาคารสูงที่มีผู้อยู่อาศัยจำนวนมาก อาจทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมากเช่นเดียวกัน หากพังถล่มลงมาในระหว่างเกิดแผ่นดินไหว

ชาวตุรกีหลายคนออกมาวิพากษ์วิจารณ์มาตรฐานการก่อสร้างที่ต่ำเกินไป หลังจากเกิดเหตุแผ่นดินไหวเมื่อเดือน ก.พ. 2023 ซึ่งทำให้อาคารจำนวนมากพังถล่ม โดยเฉพาะความบกพร่องของรัฐบาลในการบังคับใช้ข้อกำหนดด้านโครงสร้างอาคาร

แม้ว่าแผ่นดินไหวจะมีความรุนแรงสูง แต่ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า อาคารที่ก่อสร้างอย่างเหมาะสมควรสามารถตั้งอยู่ได้เมื่อเกิดแผ่นดินไหว

“ระดับความรุนแรงสูงสุดของแผ่นดินไหวครั้งนี้ถือว่ารุนแรง แต่นั่นไม่ได้หมายความว่ามันมากพอที่จะทำให้อาคารที่สร้างอย่างถูกต้องถล่มลงมา” ศาสตราจารย์เดวิด อเล็กซานเดอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการวางแผนและจัดการภาวะฉุกเฉินจากมหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอน (UCL) กล่าว

“ในพื้นที่ส่วนใหญ่ ระดับแรงสั่นสะเทือนไม่ได้สูงถึงขีดสุด ดังนั้น อาคารหลายพันหลังที่พังถล่มลงมา เป็นเพราะ เกือบทั้งหมดไม่สามารถทนทานต่อแรงสั่นสะเทือนได้ตามมาตรฐานโครงสร้างอาคารที่สมเหตุสมผล”

ความหนาแน่นของประชากร

ทราบหรือไม่ว่าเกิดเหตุแผ่นดินไหวขนาดรุนแรงถึง 8.2 บริเวณใกล้คาบสมุทรอะแลสกาเมื่อเดือน ก.ค. 2021 เป็นไปได้มากว่าคุณอาจไม่เคยได้ยินเกี่ยวกับเหตุการณ์นี้

แผ่นดินไหวที่เมืองชิกนิค (Chignik) ครั้งนั้นเชื่อว่าเป็นหนึ่งในแผ่นดินไหวที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 7 ในประวัติศาสตร์ของสหรัฐอเมริกา แต่กลับไม่มีผู้เสียชีวิตหรือได้รับบาดเจ็บเลย

เหตุผลเป็นเพราะอะไร ?

สาเหตุเป็นเพราะแผ่นดินไหวครั้งนั้นเกิดขึ้นค่อนข้างลึกและเกิดขึ้นห่างไกลจากพื้นที่ที่มีประชากรอาศัยอยู่หนาแน่น

ในทางตรงกันข้าม แผ่นดินไหวขนาด 7.0 ที่เฮติในเดือน ม.ค. 2010 นำไปสู่การสูญเสียชีวิตและความเสียหายครั้งใหญ่ โดยมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 250,000 คน ได้รับบาดเจ็บประมาณ 300,000 คน และมีประชากรกว่า 1.5 ล้านคนไร้ที่อยู่อาศัย

เมืองหลวงอย่างปอร์โตแปรงซ์ (Port-au-Prince) ได้รับแรงสั่นสะเทือนอย่างเต็มที่ โดยความหนาแน่นของประชากรที่สูงมากกว่า 27,000 คนต่อตารางกิโลเมตร นั่นเป็นปัจจัยสำคัญที่อธิบายถึงจำนวนผู้เสียชีวิตที่สูงมากในการเกิดเหตุครั้งนั้น

ประเภทของดิน

โอกาสในการรอดชีวิตจากแผ่นดินไหวของทุกคนยังขึ้นอยู่กับความแข็งแกร่งของพื้นดินที่อยู่ใต้เท้าของเรา

ตามข้อมูลจากสำนักงานสำรวจทางธรณีวิทยาสหรัฐฯ (USGS) หากดินมีลักษณะหลวมและมีความอุ้มน้ำในชั้นผิวดินหรือใกล้กับระดับพื้นดิน ดินจะไม่สามารถต้านทานแรงสั่นสะเทือนได้ดีเท่าที่ควร ซึ่งอาจทำให้เกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า “ดินเหลว” (liquefaction)

ดินเหลวคือภาวะที่วัสดุดินซึ่งปกติเป็นของแข็งเริ่มมีลักษณะเหลว ส่งผลให้ความเสียหายจากแผ่นดินไหวรุนแรงขึ้น เช่น เหตุแผ่นดินไหวในเมืองนีงาตะ ประเทศญี่ปุ่น ปี 1964

ในทางตรงกันข้าม เหตุแผ่นดินไหวในตุรกีเมื่อปี 2023 ซึ่งมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 50,000 คน ทว่าความเสียหายที่เมืองเออร์ซิน (Erzin) ซึ่งอยู่ห่างจากจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวเพียงประมาณ 80 กิโลเมตร กลับรอดพ้นจากความเสียหายแทบทั้งหมด

ไม่มีผู้เสียชีวิตและไม่มีอาคารใดพังถล่ม ในขณะที่เมืองโดยรอบได้รับความเสียหายอย่างหนัก

นักธรณีวิทยาระบุว่า เมืองเออร์ซินปลอดภัยเพราะตั้งอยู่บนชั้นหินแข็งและดินที่แน่นกว่า ซึ่งสามารถดูดซับแรงสั่นสะเทือนได้ดี

การจัดการในสถานการณ์ฉุกเฉิน

ที่มาของภาพ : Getty Pictures

การตอบสนองต่อเหตุฉุกเฉินอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพสามารถช่วยชีวิตผู้คนได้เป็นจำนวนมาก

การเตรียมพร้อมรับมือกับภัยพิบัติทางธรรมชาติถือเป็นปัจจัยสำคัญที่สามารถช่วยชีวิตผู้คนได้

ในญี่ปุ่น โรงเรียนทุกแห่งต้องจัดการฝึกซ้อมรับมือแผ่นดินไหวปีละสองครั้ง และเด็ก ๆ จะได้รับการสอนวิธีปฏิบัติตัวเมื่อเกิดแผ่นดินไหว ไม่ว่าจะอยู่ที่บ้าน กลางแจ้ง หรือในยานพาหนะ ขณะที่ไต้หวันมีการจัดการฝึกซ้อมรับมือแผ่นดินไหวทั่วประเทศเพื่อทดสอบความสามารถของทีมกู้ภัย

อย่างไรก็ตาม หลายประเทศไม่ได้มีการฝึกซ้อมรับมือกับเหตุแผ่นดินไหวเช่นนี้ โดยเฉพาะประเทศที่แทบไม่เคยเผชิญกับภัยพิบัติแผ่นดินไหว

ความเร็วและขอบเขตของการตอบสนองต่อเหตุฉุกเฉินมีความสำคัญเช่นเดียวกัน แม้ว่าจะมีเหตุการณ์ที่ทีมกู้ภัยสามารถช่วยผู้คนออกมาจากซากอาคารหลังเหตุแผ่นดินไหวในตุรกีผ่านไปแล้วกว่า 10 วัน แต่ผู้บาดเจ็บและผู้ประสบภัยที่ติดอยู่ใต้ซากจำนวนมากไม่สามารถรอดชีวิตได้ หากติดอยู่นานขนาดนั้น

ด้วยเหตุนี้โครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งและความสามารถในการฟื้นฟูการเข้าถึงพื้นที่จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในการตอบสนองต่อภัยพิบัติ

ในพื้นที่ห่างไกลของโมร็อกโกที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวเมื่อปี 2023 ถนนหลายสายถูกปิดกั้นจากดินถล่มและซากปรักหักพัง ส่งผลให้หลายหมู่บ้านร้องเรียนว่าไม่ได้รับความช่วยเหลือหรือมีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่ได้รับการช่วยเหลือ

รัฐบาลโมร็อกโกยังถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ฐานดำเนินการล่าช้าและปฏิเสธความช่วยเหลือจากนานาชาติในช่วงแรก

ผลกระทบขั้นถัดมาจากแผ่นดินไหว

อาคารพังถล่มไม่ใช่สาเหตุเดียวที่ทำให้เกิดการสูญเสียชีวิตหลังเกิดแผ่นดินไหว

ประชากรที่อาศัยอยู่ตามแนวชายฝั่งยังต้องเผชิญกับความเสี่ยงต่อแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นใต้ทะเล เนื่องจากนั่นอาจทำให้เกิดคลื่นสึนามิที่รุนแรงและเป็นอันตรายถึงชีวิต

ภัยพิบัติคลื่นยักษ์สึนามิในเอเชียเมื่อปี 2004 เกิดจากแผ่นดินไหวขนาด 9.1 ใต้มหาสมุทรอินเดีย ใกล้เมืองบันดาอาเจะห์ ทางตอนเหนือสุดของเกาะสุมาตรา

แผ่นดินไหวและคลื่นยักษ์ที่ตามมาได้คร่าชีวิตผู้คนราว 230,000 คน ในกว่า 12 ประเทศ คลื่นยักษ์เหล่านั้นทรงพลังถึงขนาดคร่าชีวิตผู้คนในอีกฟากหนึ่งของมหาสมุทรอินเดียไกลถึงทวีปแอฟริกา

ในพื้นที่ภูเขา แผ่นดินไหวยังสามารถทำให้เกิดดินถล่ม ซึ่งฝังบ้านเรือนและเป็นอุปสรรคต่อการกู้ภัยช่วยชีวิต เช่น ในปี 2015 มีผู้เสียชีวิตเกือบ 9,000 คนจากแผ่นดินไหวรุนแรงในเนปาล

แผ่นดินไหวได้สร้างความเสียหายให้แก่ทุกทวีปตลอดช่วง 40 ปีที่ผ่านมา

นักธรณีวิทยาระบุว่า แผ่นดินไหวได้กระตุ้นให้เกิดเหตุดินถล่มมากกว่า 3,000 จุดในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ

แผ่นดินไหวที่ซานฟรานซิสโกในปี 1906 แม้ส่งผลให้เกิดแรงสั่นสะเทือนอย่างรุนแรงเพียงประมาณ 20-25 วินาที แต่คลื่นแรงสั่นสะเทือนนั้นรุนแรงพอที่จะทำให้ท่อส่งก๊าซและท่อส่งน้ำของเมืองแตก

ก๊าซที่รั่วไหลติดไฟในหลายจุด และการขาดแคลนน้ำทำให้การดับไฟเป็นไปได้ยากมาก ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 3,000 คน