ใครจะเข้ามามีบทบาทบ้าง ในการกำหนดอนาคตต่อจากนี้ของซีเรีย
Article files
- Author, ลิซ ดูเซต
- Role, หัวหน้าผู้สื่อข่าวต่างประเทศ
“พวกเขามาถึงที่นี่พร้อมกับความกังวลเกี่ยวกับกลุ่มอิสลาม” นี่คือสิ่งที่แหล่งข่าวคนหนึ่งอธิบายอารมณ์ความรู้สึกของเหล่ารัฐมนตรีต่างประเทศของกลุ่มประเทศอาหรับ ซึ่งบินมาที่กรุงโดฮาเมื่อวันเสาร์ช่วงเย็น เพื่อประชุมกันอย่างเร่งด่วนว่าจะหลีกเลี่ยงการล่มสลายที่นำไปสู่ความวุ่นวายและนองเลือดในกรุงดามัสกัสได้อย่างไร
ภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง ก็มีรายงานว่ากลุ่มอิสลามที่ทรงพลังที่ขับดันกลุ่มกบฏต่าง ๆ ให้ขึ้นสู่อำนาจ ได้ไปถึงใจกลางเมืองหลวงของซีเรียแล้ว
ผู้นำของกลุ่มฮายัต ทาห์รีร์ อัล-ชาม (Hayat Tahrir al-Sham – HTS) ที่ชื่อ อาบู โมฮัมหมัด อัล-โจลานี (Abu Mohammad al-Jolani) ได้ประกาศชัยชนะว่าพวกเขา “ยึดครองกรุงดามัสกัส” ได้แล้ว ตอนนี้เขาได้ใช้ชื่อจริง อาเหม็ด อัล-ชาอะรา (Ahmed al-Sharaa) แทนนามแฝงที่ใช้ระหว่างการต่อสู้ ซึ่งนี่เป็นสัญลักษณ์ของการที่เขาขึ้นมามีบทบาทสำคัญในระดับประเทศอย่างรวดเร็ว
เขาจะเป็นคนที่มีบทบาทสำคัญในการกำหนดระเบียบและความเป็นไปในซีเรียต่อจากนี้อย่างแน่นอน หลังระบอบการปกครองอันกดขี่โดยตระกูลอัสซาดที่กินเวลากว่าครึ่งศตวรรษถึงจุดสิ้นสุดลงอย่างกะทันหัน แต่ผู้นำขององค์กรที่คณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติและชาติตะวันตกอีกหลายประเทศถือว่าเป็นองค์กรก่อการร้าย ก็ไม่ใช่ตัวละครสำคัญหนึ่งเดียวในซีเรียขณะนี้
“เรื่องราวยังไม่ถูกเขียนขึ้นมา” มาเรีย ฟอเรสเทียร์ ที่ปรึกษาอาวุโสด้านซีเรียของสถาบันสันติภาพยุโรป (European Institute of Peace) กล่าว เธอและผู้สังเกตการณ์คนอื่น ๆ ที่ติดตามสถานการณ์ในซีเรียอย่างใกล้ชิด ชี้ว่ามีกบฏอีกกลุ่มหนึ่งที่เพิ่งตั้งชื่อใหม่ว่า ห้องปฏิบัติการณ์ทางใต้ (Southern Operations Room) ซึ่งได้ทำงานกับผู้คนในกรุงดามัสกัส และบุกเข้าไปในเมืองหลวงของซีเรียอย่างรวดเร็ว สมาชิกของกองกำลังนี้ส่วนใหญ่เป็นอดีตนักรบจากกองทัพปลดปล่อยซีเรีย (Free Syrian Military – FSA) ซึ่งทำงานอย่างใกล้ชิดกับกลุ่มอำนาจตะวันตกในช่วงต้น ๆ ของการลุกฮือในซีเรียเมื่อปี 2011
Skip เรื่องแนะนำ and proceed studyingเรื่องแนะนำ
Discontinuance of เรื่องแนะนำ
“เกมเริ่มขึ้นแล้วตอนนี้” คือคำที่ฟอเรสเทียร์ใช้อธิบายการเริ่มต้นบทใหม่ในซีเรีย ที่ได้เห็นผู้คนออกมาเฉลิมฉลองตามท้องถนน แต่คำถามสำคัญคืออะไรจะเกิดขึ้นต่อไป
เมื่อกลุ่มฮายัต ทาห์รีร์ อัล-ชาม เดินหน้าบุกด้วยความเร็วอันน่าทึ่ง โดยเผชิญกับการต่อต้านน้อยมาก มันก็ได้จุดประกายให้เกิดการเคลื่อนไหวโดยกลุ่มกบฏอื่นในภูมิภาคอื่นของซีเรียเช่นกัน รวมถึงการขึ้นมาของกลุ่มติดอาวุธในท้องถิ่นที่อยากมีส่วนร่วมในพื้นที่ของตัวเองด้วย
“การต่อสู้กับระบอบอัสซาดเป็นกาวผสานที่ทำให้กลุ่มพันธมิตรนี้รวมกันอยู่ได้” โธมัน จูเนอ ผู้เชี่ยวชาญด้านตะวันออกกลางจากมหาวิทยาลัยออตตาวา ระบุ
“ตอนนี้เมื่ออัสซาดได้หนีไปแล้ว การเป็นพันธมิตรกันต่อไปก็เป็นเรื่องที่ท้าทาย” เขากล่าว
พันธมิตรที่ร่วมกันต่อสู้ระบอบอัสซาด มีทั้งกองทัพแห่งชาติซีเรีย (Syrian National Military – SNA) ซึ่งเป็นกองกำลังที่ตุรกีให้การหนุนหลังและมีฐานที่มั่นอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือเช่นเดียวกับ HTS ส่วนทางตะวันออกเฉียงเหนือ กองกำลังประชาธิปไตยซีเรีย (Syrian Democratic Forces – SDF) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวเคิร์ด ก็บุกยึดพื้นที่จากรัฐบาลซีเรียมาได้ไม่น้อย และคงจะตั้งใจที่จะรักษาพื้นที่ที่ตนได้มาเอาไว้
แต่ผู้นำของ HTS ได้อยู่ท่ามกลางสปอตไลท์และความสนใจของทั่วโลกในตอนนี้ วาทกรรมและประวัติของเขาถูกตรวจสอบอย่างละเอียด ทั้งจากชาวซีเรียเอง และจากประเทศเพื่อนบ้านและชาติอื่น ๆ ผู้บัญชาการคนนี้มีชื่อขึ้นมาครั้งแรกกับกลุ่มอัลกออิดะห์ และต่อมาได้ประกาศแยกตัวออกมาในปี 2016 จากนั้นเขาได้พยายามปรับภาพลักษณ์ของตนเอง หลายปีที่ผ่านมา เขาได้ส่งสารที่เป็นมิตรออกไปยังนอกประเทศ และตอนนี้เขาได้ให้ความมั่นใจกับชุมชนกลุ่มน้อยหลากหลายกลุ่มในซีเรียว่า ไม่มีอะไรที่พวกเขาต้องกังวล
“ข้อความของเขานั้นมีส่วนที่น่ายินดี” ฟอเรสเทียร์กล่าว “แต่เราต้องไม่ลืมช่วงเวลา 8 ปีที่เขาปกครองแบบเผด็จการ และประวัติในอดีตของเขาด้วย” การปกครองโดยกลุ่มฮายัต ทาห์รีร์ อัล-ชาม ซึ่งเป็นทั้งองค์กรทางการเมืองและองค์กรกึ่งทหาร ในเมืองอนุรักษนิยมอย่างอิดลิบ เป็นที่จดจำว่าปกครองโดยรัฐบาลกู้ชาติ (Salvation Authorities) ซึ่งให้เสรีภาพในการนับถือศาสนาระดับหนึ่ง แต่ในขณะเดียวกันก็มีมาตรการกดขี่หลายอย่างด้วย
ในเมืองที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสองในซีเรียอย่างอเลปโป ซึ่งเป็นเมืองแรกที่ถูก HTS บุกยึดครองอย่างรวดเร็ว นักรบของ HTS ก็ได้พยายามที่จะพิสูจน์ว่าพวกเขาเหมาะสมที่จะปกครอง
HTS ยังได้ส่งสารไปยังประเทศอย่างอิรักด้วยว่า สงครามจะไม่ขยายวงข้ามแดนไปถึงประเทศพวกเขา ส่วนประเทศเพื่อนบ้านอื่น ๆ เช่น จอร์แดน ก็กังวลว่าความสำเร็จของกลุ่มอิสลามในซีเรียอาจกระตุ้นกลุ่มติดอาวุธที่มีความไม่พอใจเป็นทุนเดิมในประเทศได้ ทางด้านตุรกีซึ่งจะมีบทบาทสำคัญอย่างแน่นอน ก็มีความกังวลของตัวเอง ตุรกีถือว่า SDF เป็นกลุ่มก่อการร้าย และพวกเขาจะไม่ลังเลที่จะแทรกแซงทั้งในทางทหารและทางการเมือง หากผลประโยชน์ของตนตกอยู่ในความเสี่ยง
เซอร์เกย์ ลาฟรอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศของรัสเซีย ได้กล่าวในการประชุมที่โดฮาเมื่อวันเสาร์ว่า รัสเซีย “ไม่ยอมรับ” ที่กลุ่มที่เขาเรียกว่าผู้ก่อการร้าย (ชัดเจนว่าหมายถึง HTS) จะสามารถปกครองซีเรียได้
ในช่วงเย็นวันเดียวกัน กายร์ ปีเดอร์เซน ผู้แทนพิเศษด้านซีเรียของสหประชาชาติ ได้บอกกับบีบีซีว่า ได้เกิด “ความเข้าใจใหม่เกี่ยวกับความเป็นจริงใหม่” ในซีเรีย
เหล่ารัฐมนตรีต่างประเทศในภูมิภาค ซึ่งรวมถึงรัฐมนตรีต่างประเทศของประเทศพันธมิตรของอัสซาด อย่างอิหร่านและรัสเซีย ต่างตกอยู่ในสถานการณ์ยากลำบากจากเหตุการณ์ที่แปรผันไปอย่างรวดเร็ว และกำลังเรียกร้องให้เกิดความพยายามที่จะสร้างกระบวนการทางการเมืองที่รวมทุกฝ่ายเข้ามาเจรจา นี่ตรงกับที่นายปีเดอร์เซนเสนอ
“ช่วงเวลาที่มืดหม่นนี้ได้ทิ้งรอยแผลลึกเอาไว้ แต่วันนี้เรามองไปข้างหน้าอย่างมีความหวังกับบทใหม่ที่กำลังเปิดขึ้น ซึ่งจะมีสันติภาพ การประนีประนอม การให้เกียรติ และการรวมชาวซีเรียทุกคนเข้ามาร่วม” เขากล่าวในการประชุมที่โดฮา
ดูเหมือนผู้สังเกตการณ์ที่นี่หลายคนยังคงลังเลที่จะสร้างข้อสรุปเกี่ยวกับว่า กฎใหม่ที่จะเกิดขึ้นในซีเรียจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร ในประเทศที่เป็นที่รู้กันดีว่ามีความหลากหลายทางนิกายทั้งคริสต์และมุสลิมอย่างมาก
“ผมยังไม่อยากคิดถึงเรื่องนั้นตอนนี้” นักการทูตชาวตะวันตกผู้หนึ่งกล่าว หลังถูกถามเกี่ยวกับความกังวลเกี่ยวกับระเบียบการปกครองแบบมุสลิมที่เข้มงวด “เราเพิ่งเริ่มต้นกับ HTS ซึ่งทำการปฏิวัติสำเร็จโดยไม่นองเลือด”
จูเนอ เห็นด้วย “สำหรับตอนนี้ มันเป็นเรื่องดีที่จะแค่ยินดีกับการล่มสลายครั้งประวัติศาสตร์ของหนึ่งในระบอบการปกครองที่ทารุณที่สุดในช่วงสามทศวรรษที่ผ่านมา” เขากล่าว
ที่มา BBC.co.uk