เมื่อรัฐบาลไทยมีแนวคิดนำเข้าวัวจากพม่าอย่างเป็นทางการ ก่อให้เกิดแรงต้านจากเกตรกรผู้เลี้ยงวัวชาวไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นั่นเพราะทุกคนรับรู้ว่าพม่าเป็นพื้นที่ระบาดของโรคสำคัญอย่างโรคปากและเท้าเปื่อย และมีความเสี่ยงส่งออกโรคข้ามพรมแดนมาสู่ไทย
ที่มา: ณัฐกิตติ์ มีสกุล
จากตอนที่แล้ว เมื่อรัฐบาลไทยมีแนวคิดนำเข้าวัวจากพม่าอย่างเป็นทางการ ก่อให้เกิดแรงต้านจากเกตรกรผู้เลี้ยงวัวชาวไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
นั่นเพราะทุกคนรับรู้ว่าสหภาพแห่งสาธารณรัฐเมียนมาหรือพม่า ยังเป็นพื้นที่ระบาดของโรคสำคัญอย่างโรคปากและเท้าเปื่อย (Foot and Mouth Disease หรือ FMD) และมีความเสี่ยงส่งออกโรคข้ามพรมแดนมาสู่ไทย
ทั้งยังมีระบบการตรวจตราและควบคุมโรควัวหละหลวม โดยเฉพาะหลังเกิดรัฐประหารในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2564 ซึ่งรัฐบาลทหารพม่าทุ่มทรัพยากรทำสงครามกับประชาชนและกลุ่มชาติพันธุ์ จนปัญหาด้านสังคมและสุขภาพไม่ได้รับการเหลียวแล
นายสัตวแพทย์เทิดศักดิ์ ญาโณ คณะสัตวแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งเป็นนักวิจัยด้านสุขภาพสัตว์ และผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพหนึ่งเดียว (One Successfully being) ที่มีประสบการณ์การทำงานในเมียนมาระบุว่าที่นั่นระบบการเลี้ยงวัวและการให้วัคซีนยังมีช่องโหว่มาก จนอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงที่เชื้อโรคจะแพร่กระจายข้ามประเทศ หากไม่มีการกักกันและเฝ้าระวังที่เข้มข้น
“เชื้อโรคที่แพร่มาสู่คน 70% แพร่มาจากสัตว์ หรือมีสัตว์เป็นพาหะ” น.สพ.เทิดศักดิ์ให้ความเห็น “เพราะเชื้อโรคสามารถแพร่กระจายได้ง่ายกว่าสัตว์ที่ชำแหละแล้ว น้ำลายหรือลมหายใจกระจายเชื้อได้ทันที”
วัวอาจมีโรคในตัวโดยไม่แสดงอาการ ซึ่ง น.สพ.เทิดศักดิ์ เห็นว่าเป็นจุดอ่อนที่ทำให้โรคเดินทางข้ามพรมแดนมาไทยได้
“สำหรับเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ การที่วัวไม่แสดงอาการหมายถึงไม่มีโรค พร้อมจะอนุญาตให้เคลื่อนย้ายได้ แต่ในความเป็นจริงวัวอาจแสดงอาการของโรคระหว่างการเคลื่อนย้าย วัวเครียด เหนื่อย และต้องอดน้ำอดอาหารระหว่างการขนส่งที่อาจยาวนาน 10 ชั่วโมง ภูมิคุ้มกันจะลดลงและแสดงอาการตลอดจนแพร่เชื้อได้ระหว่างทาง ผ่านระบบทางเดินทางหายใจหรือของเสียที่ปล่อยออกมา”
ในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา น.สพ. โท มิน ทุน (Toe Min Tun) รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ของของเมียนมา รายงานต่อที่ประชุมคณะทำงานป้องกันโรคปากและเท้าเปื่อย และการจัดการเคลื่อนย้ายสัตว์มีชีวิตในกลุ่มประเทศแม่น้ำโขงตอนบนครั้งที่ 15
ระบุว่า เมียนมามีวัคซีนป้องกันโรคปากเท้าเปื่อยในวัวและกระบือปีละ 300,000 โดส และมีแผนก่อสร้างโรงงานผลิตวัคซีนขนาดใหญ่ เพื่อผลิตให้ได้ปีละ 1 ล้านโดสภายในสิ้นปีนี้ ภายใต้การสนับสนุนขององค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น
อย่างไรก็ดี การตรวจสอบล่าสุดกับแหล่งข่าวพบว่าโครงการนี้ยังไม่สามารถดำเนินการตามที่ระบุได้ สืบเนื่องจากสงครามภายในประเทศที่รุนแรงยิ่งขึ้น ขณะที่เมียนมามีวัวมากถึง 10 ล้านตัว สะท้อนว่าแม้โรงงานผลิตวัคซีนจะสร้างได้จริง แต่ก็อาจไม่เพียงพอกับความต้องการ
ที่มา: DVB
แม้ว่ารัฐบาลไทยจะยังปิดชายแดนเพื่อสกัดโรคจากวัวจากเมียนมาจนถึงวันนี้ เกษตรกรและผู้ค้าวัวให้ข้อมูลว่ายังมีการลักลอบนำเข้าวัวเมียนมาสู่ไทยโดยไม่แผ่วลง เสมือนว่ายิ่งปิดชายแดน ยิ่งเพิ่มแรงจูงใจในการลักลอบนำเข้า
เปลี่ยนวัวพม่าเป็นวัวไทย
การลักลอบนำเข้าวัวเกิดขึ้นตลอดแนวชายไทยและเมียนมา ซึ่งมีภูมิประเทศเป็นภูเขาและป่าสลับซับซ้อน โดยเฉพาะจุดที่ไม่มีการเฝ้าระวังชายแดน ช่องทางธรรมชาติ และจุดที่ไม่มีการสู้รบในฝั่งเมียนมา โดยมีจังหวัดตาก แม่ฮ่องสอน กาญจนบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และระนอง เป็นทางผ่านหลัก ก่อนที่จะนำวัวไปส่งยังจังหวัดอื่นๆ
ศรีนวล สุนทร เกษตรกรเลี้ยงวัว อ.ไชยปราการ จ.เชียงใหม่ ให้ข้อมูลว่า มีวัวจากเมียนมาเข้ามาถึงพื้นที่ตนต่อเนื่อง แม้หลังรัฐบาลไทยประกาศชะลอการนำเข้าวัวจากประเทศเพื่อนบ้าน
ส่วนใหญ่มีคนพาวัวลักลอบเข้ามาในเวลากลางคืน หรือวันหยุดราชการ โดยจูงวัวเข้ามากลุ่มละไม่เกิน 20 ตัว และถูกขายต่อให้นายหน้าหรือเกษตรกรในไทย เพื่อนำไปเลี้ยงชั่วคราว ก่อนนำไปขายในตลาดนัดวัวท้องถิ่น
“สังเกตได้ง่ายวัวพวกนี้จะเล็กและผอมกว่าวัวที่เลี้ยงในบ้านเรา และขายในราคาถูกมาก เช่น วัวขนาดปานกลางน้ำหนักประมาณ 200 กิโลกรัม จะขายที่ตัวละ 5,000-7,000 บาทเท่านั้น ขณะที่วัวบ้านเราขายตัวละเกือบ 20,000 บาท” ศรีนวลกล่าว
“พ่อค้าจะซื้อวัวเหล่านี้ไปขุน และขายแก่โรงเชือดในพื้นที่ ถ้าเป็นวัวส่งออก เขาจะเลือกวัวที่ลักษณะดี สมบูรณ์ ไม่ต้องเอาไปขุนต่อ วัวที่ลักลอบนำเข้าจึงไม่ค่อยถูกเลือก จะปะปนอยู่กับวัวแถวชายแดน”
อย่างไรก็ดี มีพ่อค้าวัวระบุว่า วัวจากเมียนมาจำนวนหนึ่งก็ถูกขุนในไทย เพื่อส่งออกสู่จีนผ่านไทยและลาวเช่นกัน
ข้อมูลจากศรีนวลสอดคล้องกับรายงานของผู้สื่อข่าวในเมียนมาภายใต้ความร่วมมือทำข่าวเชิงสืบสวนสอบสวนชิ้นนี้ ซึ่งระบุว่าการลักลอบนำวัวข้ามพรมแดนมาไทยมีต่อเนื่อง
หนึ่งในพ่อค้าในเมียนมาเล่าว่า วัวถูกจูงข้ามพรมแดนเป็นฝูง ทีละ 10-20 ตัว โดยหลีกเลี่ยงการนำเข้าฝูงใหญ่ เผื่อถูกจัมกุมและวัวถูกยึด ความสูญเสียจะได้อยู่ในวงจำกัด
ขณะที่ยังพบการพาวัวข้ามพรมแดนคืนละ 10-15 ตัว ณ จุดข้ามแดนแห่งหนึ่งใน จ.ตาก สะท้อนว่าการลักลอบนำวัวเข้าเขตไทยในจุดนี้จุดเดียวอาจมีจำนวนหลายพันตัวต่อปี
การรวบรวมข่าวสารของทีมงานพบว่า มีรายงานข่าวจับวัวเถื่อนในไทยประมาณ 23 ครั้งในระหว่างปี 2565 ถึงกลางปี 2566 รวมจำนวนวัวของกลาง 1,182 ตัว อย่างไรก็ดี ตัวเลขนี้สะท้อนเพียงส่วนหนึ่งของปัญหาการลักลอบนำเข้าวัวเถื่อนจากเมียนมา
หลังจากข้ามพรมแดนเข้ามาในไทยแล้ว ผู้ซื้อจะนำวัวเถื่อนไปแสดงต่อเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ในพื้นที่ ยืนยันว่าเป็นวัวที่ถูกต้อง แต่ลืมแจ้งขึ้นทะเบียนตามเวลาที่กำหนด หากไม่พบข้อพิรุธเจ้าหน้าที่จะขึ้นทะเบียนและออกใบรับรองให้ ทำให้วัวพม่ากลายเป็นวัวไทยโดยสมบูรณ์
“เมื่อเข้าสูู่ระบบของเรา ได้รับวัคซีนได้รับอนุญาตให้เคลื่อนย้าย และเมื่อย้ายเข้าไปยังจังหวัดชั้นในที่ไม่ใช่จังหวัดชายแดน ก็ขอออกเบอร์หูได้ จากนั้นจะไปไหนก็ไปได้หมด” เกษตรกรผู้เลี้ยงวัวรายหนึ่งใน อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่ ให้ข้อมูล
กระบวนการเปลี่ยนวัวพม่าเป็นวัวไทยเคยถูกพูดถึงในสภา โดยนายคริษฐ์ ปานเนียม สส.ตาก อดีตพรรคก้าวไกล เคยอภิปรายตั้งข้อสังเกตถึงกรณีที่พบวัวเถื่อนหลายตัวในโครงการโคบาลชายแดนใต้ ใช้ชื่อเดียวกันคือ “บัวทอง” โดยน่าจะลงทะเบียนโดยสวมสิทธิเอกสารจากวัวชื่อดังกล่าว
เชื่อว่าวัวเถื่อนเหล่านี้ขนย้ายมาจาก จ.ตาก แต่กลับผ่านด่านตรวจได้ถึง 5 ด่านจนถึง จ.นครสวรรค์ ก่อนที่จะนำไปยังภาคใต้ จึงน่าจะมีการทุจริตเกี่ยวข้อง
ขณะที่นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เคยให้สัมภาษณ์เมื่อต้นปีที่ผ่านมาว่ามี “คนสีเทาและสีดำ” ที่ทำให้การลักลอบนำวัวเถื่อนเข้าไทยยังคงเป็นปัญหา ก่อให้เกิดผลกระทบต่อเกษตรกรไทยและราคาวัวตกต่ำ
เมื่อเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ไพบูลย์ ใจเด็ด อุปนายกสมาคมสัตวบาลแห่งประเทศไทย ระบุเส้นทางพาวัวเถื่อนจากเมียนมาเข้าไทย ในระหว่างการเสวนาทางวิชาการ “โคเนื้อไทย…จะไปรอดได้อย่างไร?”
แต่เมื่อผู้สื่อข่าวติดต่อไพบูลย์เพื่อขอสัมภาษณ์เพิ่มเติม เขาระบุว่าถูกข่มขู่หลังเปิดเผยเรื่องดังกล่าว และไม่ขอให้ข้อมูลใดๆ
เส้นทางค้าวัว รวบรวมจากเอกสารและการสัมภาษณ์แหล่งข่าว ที่มา: กราฟฟิกโดย Mekong Leer
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
สารพัดโรควัวข้ามพรมแดนในไทย
เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ไทย ซึ่งทำงานในอำเภอที่มีพรมแดนติดต่อกับรัฐกะเหรี่ยงเล่าว่า เจ้าหน้าที่ไม่สามารถจัดการวัวเถื่อนได้ทั้งหมด เพราะชายแดนทอดยาวหลายสิบกิโลเมตร ขณะที่เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์อำเภอมีไม่ถึง 10 คน
“สิ่งที่เราพอทำได้คือเมื่อทราบว่ามีวัวแปลกๆ เข้ามา เราก็ไปฉีดวัคซีนตรวจโรคให้ อย่างน้อยก็เพื่อไม่ให้มีปัญหากับวัวของเรา แต่ถ้าไม่มีใครแจ้งเข้ามา ก็เกินกว่าที่เราจะทำอะไรได้”
เมื่อสัตว์ยังเคลื่อนย้ายภายใต้มาตรการเฝ้าระวังและป้องกันโรคข้ามพรมแดนที่ขาดประสิทธิภาพ ผลลัพธ์คือโรควัวในไทยที่ยังไม่มีท่าทีว่าจะถูกกำจัดให้หมดสิ้น
รายงานของสำนักสุขภาพสัตว์แห่งชาติ กรมปศุสัตว์ ระบุว่า ไทยพบโรคปากและเท้าเปื่อยในวัวและกระบือ 53 ตัว ในปี 2566 ถือว่าเป็นจำนวนต่ำและสามารถควบคุมได้
ขณะที่พบโรคลัมปิสกิน (Lumpy pores and skin disease หรือ LSD) 584 ตัว ทั้งสองโรคนี้ไม่ติดต่อสู่คน แต่ติดต่อและแพร่กระจายในวัวได้อย่างรวดเร็ว ทำให้วัวหมดมูลค่าและไม่สามารถค้าขายได้
นอกจากนี้ พบโรคแท้งติดต่อในวัว (Brucellosis) จำนวน 258 ตัว โรคนี้เกิดจากเชื้อแบคทีเรียตระกูล Brucella spp. ที่สามารถติดต่อจากสัตว์สู่คน ก่อให้เกิดอาการคล้ายไข้หวัด
สำนักสุขภาพสัตว์แห่งชาติยังเน้นความกังวลต่อเชื้อดื้อยาปฏิชีวนะ (Antibiotic resistant infection) ซึ่้งถููกจัดให้เป็นโรคติดต่ออุุบัติใหม่ตามนิยามขององค์การอนามัยโลก และสร้างภาระต่อระบบสาธารณสุุข และความปลอดภัยอาหาร เพราะหากคนติดเชื้อดื้อยาแล้ว จะไม่สามารถรักษาโดยยาปฏิชีวนะที่มีอยู่เดิม
ในปี 2566 ศูนย์วิจัยและพัฒนาการสัตวแพทย์ 7 แห่งทั่วประเทศทำการตรวจสอบเนื้อสัตว์ 2,674 ตัวอย่าง พบยาปฏิชีวนะตกค้างเกินมาตรฐาน
เป็นยาที่ใช้ต้านเชื้อ Salmonella spp. จำนวน 848 ตัวอย่าง และยาต้านเชื้อ E. coli 1,097 ตัวอย่าง และพบ 521 ตัวอย่างที่มียาต้านเชื้อทั้งสองชนิดเกินมาตรฐาน
งบประมาณปศุสัตว์อันจำกัด
มิใช่ไทยเท่านั้นที่เผชิญกับความท้าทายในการจัดการโรคข้ามพรมแดน แต่เป็นความท้าทายระดับภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ที่แม้มีระบบประสานงานและคณะกรรมการโรคข้ามพรมแดนระหว่างประเทศ แต่ยังขาดประสิทธิภาพด้วยข้อจำกัดทางทรัพยากร ทั้งด้านบุคลากรและการเงิน
เมื่อพิจารณาการจัดสรรงบประมาณให้กับกระทรวงที่ทำงานด้านเกษตรและปศุสัตว์ พม่าได้รับงบประมาณลดลงหลังรัฐประหาร ลดจาก 4% ของงบประมาณประจำปี 2562 เหลือ ประมาณ 0.4% และ 1.3% ในปี 2566 และ 2567 ตามลำดับ
เช่นเดียวกับลาว ที่หน่วยงานด้านเกษตรและปศุสัตว์ได้รับงบประมาณจากรัฐบาลเพียงประมาณ 1% ของงบประมาณทั้งหมดในปีนี้ สาเหตุหลักมาจากปัญหาทางเศรษฐกิจที่รุ้มเร้าด้วยภาวะเงินเฟ้อสูง
ภาคเกษตรกรรมและปศุสัตว์ในเวียดนามได้รับการสนับสนุนน้อยกว่า 1% ของงบประมาณทั้งหมด แต่ยังสามารถจัดตั้งศูนย์ผลิตวัคซีนเพื่อใช้ในประเทศและส่งออกไปยังลาว
ขณะที่ไทยสามารถจัดสรรงบประมาณให้กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ประมาณ 3% ของงบประมาณทั้งหมดมาต่อเนื่องทุกปี
กราฟงบประมาณรายประเทศ ดาวน์โหลดที่ Myanmar: https://www.datawrapper.de/_/kyPwk/ Thailand: https://www.datawrapper.de/_/IQ14u/ Laos: https://www.datawrapper.de/_/M1XmF/ และ Vietnam: https://www.datawrapper.de/_/I2i5P/
ด้วยเสถียรภาพทางงบประมาณนี้ กรมปศุสัตว์ไทยสามารถผลิตวัคซีนต้านโรควัวแจกฟรีให้เกษตรกรมากกกว่า 100 ล้านโดสต่อปี รวมทั้งวัคซีนต้านโรคปากและเท้าเปื่อย 13 ล้านโดส และโรคลัมปิสกิน 600,000 โดส นอกจากจะมีวัคซีนเพียงพอรับมือโรควัวในไทยแล้ว ยังมีวัคซีนส่วนเกินที่ส่งออกไปยังเมียนมาและลาวอีกด้วย
“เราอาจไม่สมบูรณ์สุด ยังมีช่องว่างต้องปรับปรุง แต่เทียบศักยภาพในประเทศกลุ่มนี้ ไทยมีประสิทธิภาพสูงสุด” น.สพ.เทิดศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่กล่าว
ที่มา: Chris Trinh
เมื่อวันที่ 4 ก.ย. ที่ผ่านมา นายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ ในฐานะผู้แทนองค์การสุขภาพสัตว์โลกของไทย ได้รับเลือกเป็นประธานคณะอนุกรรมการโรคปากและเท้าเปื่อยในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และจีน ในการประชุมอนุกรรมการครั้งที่ 27 ณ กรุงเทพ
ความเคลื่อนไหวนี้สะท้อนถึงความมั่นใจของนานาชาติและจีนต่อระบบการดูแลและป้องกันสุขภาพสัตว์ในไทย และอาจเป็นสัญญาณที่ดีต่อความพยายามของไทยในการเจรจาเพื่อขอส่งวัวมีชีวิตให้จีน
ขณะที่อิทธิ ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวต่อที่ประชุมวุฒิสภาเมื่อเร็วนี้ว่า กรมปศุสัตว์กำลังเจรจากับจีนเพื่อขอส่งวัวมีชีวิตไปยังจีนอีกครั้งภายใต้มาตรฐานการเลี้ยงและการป้องกันโรคที่มีประสิทธิภาพ
“เป็นการขอส่งตรงไม่ผ่านประเทศอื่น เราได้ส่งมอบเอกสารทุกอย่างให้จีนพิจารณาแล้ว หากเขายอมรับก็จะไปสู่ขั้นตอนตรวจสอบต่อไป”
รายงานนี้เป็นความร่วมมือระหว่างประชาไท กับ Mekong Leer ภายใต้การสนับสนุนจาก Internews' Earth Journalism Network
ที่มา ประชาไท ( prachatai.com )