การพังถล่มลงมาของอาคารสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แห่งใหม่ ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่มีจุดศูนย์กลางในประเทศwม่า เมื่อบ่ายวันที่ 28 มี.ค. ที่ผ่านมา นำมาซึ่งคำถามที่ว่า การก่อสร้างตึกแห่งนี้มีความโปร่งใสหรือไม่ ทำไมโครงการของรัฐที่ใช้งบประมาณหลักพันล้านบาทจึงกลายเป็นอาคารแห่งเดียวในประเทศไทยที่ถล่มลงมา
ประเด็นความโปร่งใสของการก่อสร้างที่กำลังถูกตรวจสอบ แบ่งออกเป็น 3 เรื่องหลัก ได้แก่
- ทำไม บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) ที่อยู่เบื้องหลังการก่อสร้างตึกแห่งนี้ จึงคว้างานก่อสร้างภาครัฐไปได้เพียบ
- บริษัทดังกล่าว อาจมีการใช้คนไทย 3 คนเป็นนอมินีถือหุ้นแทนหรือไม่
- ในการก่อสร้าง พบว่ามีการใช้ชิ้นส่วนเหล็กจากจีนที่ไม่ได้มาตรฐานจาก บริษัท ซิน เคอ หยวน สตีล จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ถูกกรมโรงงานอุตสาหกรรมสั่งปิดชั่วคราวไปแล้วตั้งแต่เมื่อเดือนธันวาคมปี 2567
ประชาไทรวบรวมการตรวจสอบในแต่ละประเด็น โดยรวบรวมข้อมูลจากที่ปรากฏในสื่อมวลชน
ดีเอสไอรับเป็นคดีพิเศษ ปม ‘นอมินี-ฮั้วประมูล-มอก.’
ในวันนี้ (2 เม.ย.) หลายสำนักข่าว ได้แก่ ไทยรัฐ, ไทยโพสต์ และผู้จัดการออนไลน์ รายงานตรงกันว่า พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ยืนยันว่ากรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) รับคดีตึก สตง.ถล่มเป็นคดีพิเศษเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยใช้อำนาจของอธิบดี เป็นความผิดท้ายพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษในการพิจารณา และจากการรวบรวมพยานหลักฐานพบว่า บริษัทดังกล่าวมีพฤติกรรมการเป็นนอมินี ซึ่งปกติบริษัทต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทยจะต้องมีการแบ่งสัดส่วนผลประโยชน์ให้คนไทย 51% และเป็นต่างชาติ 49%
ทางกรมสอบสวนคดีพิเศษมีหลักฐานมากพอที่จะสามารถเชื่อได้ว่า บริษัทแห่งนี้เข้าข่ายการเป็นนอมินี ประกอบกับมีความเสียหายมูลค่ามากกว่า 100 ล้านบาท ถือได้ว่าเข้าข่ายการเป็นคดีพิเศษ นอกจากความผิดที่มีการรับเป็นนอมินีแล้ว จะมีการขยายผลในคดีเรื่องสินค้าที่ไม่ได้คุณภาพของ มอก. การฮั้วประมูล และดูคุณภาพเนื้องาน ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญในการที่ทำให้ตึกถล่มลงมา
พันตำรวจเอกทวี กล่าวว่า ไม่ได้รู้สึกถึงความกังวล ในการสอบสวนคดีนี้ถึงแม้ว่า บริษัทดังกล่าวจะเป็นบริษัทลูกของหนึ่งในรัฐวิสาหกิจจีน ตนเองยืนยันว่าจะดำเนินการให้โปร่งใสมากที่สุดถึงแม้ว่าจะเป็นใครก็ตาม และจะมีการตรวจสอบย้อนหลังไปถึง โครงการอีก 10 โครงการ ที่ได้รับการประมูลไปจากทางภาครัฐ รวมไปถึงรายละเอียดเรื่องวิศวกรที่เป็นชาวต่างชาติ ที่ใช้วีซ่านักศึกษาเข้ามาทำงานด้วย นอกจากบริษัทนี้กรมสอบสวนคดีพิเศษจะทำการตรวจสอบบริษัทอื่นๆ ที่มีลักษณะการร่วมทุนของชาวต่างชาติ ทั่วประเทศ ว่ามีบริษัทใดบ้างที่มีพฤติกรรมการรับเป็นนอมินี เพื่อที่จะขยายผลและดำเนินคดีต่อไป
คว้างานก่อสร้างหน่วยงานรัฐเพียบ
สำนักข่าวกรุงเทพธุรกิจรายงานว่า โครงการนี้มีการชงของบประมาณเพื่อขอก่อสร้างมาตั้งแต่ปีงบประมาณ 2550 หรือราว 18 ปีก่อน ต่อมามีการขอปรับเปลี่ยนงบประมาณในปี 2563 ออกเป็น 2 แบ่งเป็นงานก่อสร้างอาคารดังกล่าว วงเงิน 2.1 พันล้านบาทเศษ ดำเนินการโดย กิจการร่วมค้า ไอทีดี-ซีอาร์อีซี (บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จํากัด (มหาชน) และบริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จํากัด
ตามรายงานของไทยพีบีเอส บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จํากัด เป็นบริษัทลูกของ China Railway No.10 Engineering Personnel หนึ่งในรัฐวิสาหกิจจีนในเครือ China Railway Personnel Runt (CREC) ที่เข้ามาดำเนินธุรกิจในไทยตั้งแต่ปี 2561 ใช้โมเดลทางธุรกิจแบบ “กิจการร่วมค้า” กับบริษัทเอกชนไทย เพื่อเข้าร่วมประมูลงานก่อสร้างภาครัฐขนาดใหญ่หลายโครงการ ทำให้เกิดคำถามถึงวิธีการเข้าประมูลงานของบริษัท ซึ่งมักเข้าไปซื้อซองเอกสารแต่ไม่ยื่นเสนอราคาเอง และไปจับมือกับเอกชนไทยรายใหญ่เพื่อยื่นซองแทนในนาม “กิจการร่วมค้า”
จากคลิปข่าวของเนชั่น ทีวี ระบุว่า บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จํากัด ซึ่งดูแลโครงการในประเทศไทยนั้น เข้าเป็นกิจการร่วมค้า และได้คว้างานประมูลภาครัฐไปแล้วอย่างน้อย 14 แห่ง รวมมูลค่า 7.2 พันล้านบาท
ตัวอย่างเช่น
- โครงการก่อสร้างสนามบินนราธิวาส วงเงินกว่า 639 ล้านบาท
สำหรับโครงการนี้ เว็บไซต์ข่าวหุ้น รายงานว่า มีผู้รับจ้าง คือ “กิจการร่วมค้าซีไอเอส” ซึ่งประกอบด้วย บริษัท ไอเอสโอ เอนจิเนียริ่ง จำกัด และ บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด ที่กำลังเป็นประเด็นอยู่ในตอนนี้
วันนี้ (2 เม.ย.) มนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า เนื่องจากงานคืบหน้าน้อยมากและไม่เป็นไปตามกำหนด จึงเตรียมจะยกเลิกสัญญากับทาง “กิจการร่วมค้าซีไอเอส””และขึ้นแบล็กลิสต์
- สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ วงเงินกว่า 146 ล้านบาท
- อาคารชุดพักอาศัยข้าราชการตุลาการ ศาลอุทธรณ์ภาค 9 วงเงิน 386 ล้านบาท
- โครงการก่อสร้างอาคารที่ทำการ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) จ.นนทบุรี วงเงินกว่า 716 ล้านบาท
อาจใช้คนไทยเป็นนอมินีถือหุ้นแทน
จากรายงานของกรุงเทพธุรกิจระบุว่า บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จํากัด มี ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 เอ็นจิเนียริ่ง กรุ๊ป คัมปะนี (สัญชาติจีน) ถือหุ้นใหญ่สุด 49% และมี “คนไทย” ร่วมถือหุ้น 3 คน คือ โสภณ มีชัย, มานัส ศรีอนันท์ และประจวบ ศิริเขตร
- “โสภณ-มานัส” ได้ร่วมถือหุ้น “บริษัทในเครือทุนจีน” อีกหลายสิบแห่ง ขณะเดียวกันที่ตั้งของ บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จํากัด ใช้ที่อยู่เดียวกันกับบริษัทที่ “โสภณ-มานัส” ร่วมถือหุ้นหรือเป็นกรรมการอีก 9 แห่ง
- ส่วนในกรณีของ “ประจวบ” พบว่าเขาเป็นกรรมการบริษัทอย่างน้อย 4 แห่ง (เท่าที่ตรวจสอบพบ) และถือหุ้นอย่างน้อย 8 แห่ง
- จากข้อมูลข้างต้น จะพบว่าทั้ง โสภณ, มานัส และประจวบ ต่างเป็นกรรมการ หรือผู้ถือหุ้น ในบริษัทเครือข่าย “ทุนจีน” ที่เป็นผู้ถือหุ้นร่วมกัน หรือที่ตั้งบริษัทเดียวกันกับ บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด
คลิปข่าวไทยรัฐทีวีรายงานเกี่ยวกับคนไทยทั้ง 3 คนไว้ว่า ถ้าดูจากอาชีพการงานและพื้นเพของแต่ละคน คงไม่น่าที่จะไปถือหุ้นใหญ่ได้ขนาดนี้
เพจเฟซบุ๊กดัง CSI LA โพสต์ตั้งข้อสังเกตว่า คนไทย 3 รายดังกล่าว อาจเข้าไปถือหุ้นแทน (เป็นนอมินี) ให้กับบริษัทจีน ทั้งนี้ ยังไม่มีการตรวจสอบว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร
ซิน เคอ หยวน : เครนถล่ม โรงงานไฟไหม้ เหล็กไม่ได้คุณภาพ
แม้ว่าการถล่มของตึกจะเกิดได้จากหลายปัจจัย แต่ปัจจัยที่ถูกจับตาอย่างมากในตอนนี้คือคุณภาพของเหล็กข้ออ้อย 2 ขนาดที่สอบตกมาตรฐานที่ภายหลังมีรายงานว่าเป็นเหล็กยี่ห้อ “SKY” ตัวย่อของบริษัท ซิน เคอ หยวน สตีล จำกัด
เรื่องการตรวจสอบเหล็กเส้นที่ใช้ก่อสร้าง เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม มาติดตามตรวจสอบถึงที่เกิดเหตุเองและมาชี้แจงเป็นระยะตั้งแต่หลังเกิดเหตุเพียง 1 วัน และตอนนี้ก็อยู่ในการติดตามของ “ทีมสุดซอย” หรือคณะกรรมการตรวจสอบการประกอบการอุตสาหกรรมอย่างเข้มข้น ที่เอกนัฏตั้งขึ้นมาติดตามตรวจสอบโรงงานอุตสาหกรรม
ตามที่มีรายงานข่าว มีเหล็กเส้นจำนวน 28 เส้นจาก 3 บริษัทได้แก่ SKY (บริษัทซินเคอหยวน ซึ่งเป็นผู้ผลิตจากจีน) TATA (บริษัท ทาทา สตีล ผู้ผลิตจากอินเดีย) และ TYS ( เครือบริษัทไทยคูณ ผู้ผลิตจากจีนร่วมทุนกับไทย) ถูกเก็บจากพื้นที่เกิดเหตุแล้วส่งไปตรวจสอบที่สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย (ITSI) เมื่อวันที่ 30 มี.ค.ที่ผ่านมา ก่อนจะมีการแถลงในช่วงค่ำวันถัดมา
แต่จากการแถลงข่าวของทีมตรวจสอบก็ทำให้ได้รู้ว่านอกจากข้อกังวลในการเข้าพื้นที่เก็บหลักฐานจะซ้อนกับงานช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ ยังเจอปัญหาจากเจ้าของพื้นที่อย่าง สตง.ด้วยและความกังวลของผู้แถลงอย่างนนทิชัย ลิขิตาภรณ์ ผู้อำนวยการกองตรวจการมาตรฐาน 1 ที่กล่าวว่าหากบอกขนาดเหล็กที่เป็นปัญหาแล้ว “ส่งผลให้ที่หน้างานเปลี่ยนแปลงสภาพในบางเรื่อง” และอยากให้การทำงานง่ายกว่าเมื่อวันที่ 30 มี.ค.
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากการแถลงทำให้ทราบว่าเหล็กที่มีปัญหามีผลตรวจสอบไม่เป็นไปตามมาตราฐานทั้ง 2 ขนาดคือ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 20 มม.มวลต่อเมตรไม่ได้ตามมาตรฐานซึ่งจะทำให้รับ และ 32 มม.มีจุดครากก่อนที่เหล็กจะเกิดการเสียรูปถาวรไม่ได้ตามมาตรฐาน และเอกนัฏได้ระบุว่าเป็นเหล็กจากบริษัท ซิน เคอ หยวน
แต่ผู้ตรวจสอบก็ยังต้องการตัวอย่างเหล็กจากที่เกิดเหตุเพิ่มเติมแต่ยังไม่สามารถเข้าไปเก็บเพิ่มเติมได้
ข้อมูลที่ปรากฏจากการให้สัมภาษณ์ของเอกนัฏ ปรากฏว่าบริษัทเจ้าของเหล็กดังกล่าวทางกระทรวงอุตสาหกรรมเพิ่งถูกสั่งปิดชั่วคราวและยึดเหล็กข้ออ้อยของกลางขนาด 16, 25 และ 32 มม.ที่ผลิตเมื่อช่วงเดือน ต.ค.-ธ.ค. 2567 ไปจำนวน 2,441 ตัน มูลค่าราว 49.2 ล้านบาท ไปรอบหนึ่งแล้วตั้งแต่มกราคม 2568 เนื่องจากทีมสุดซอยของกระทรวงพบว่าเหล็กที่บริษัทผลิต “ตกเกณฑ์ที่สำคัญที่ส่งผลโดยตรงกับความแข็งแรงของเหล็ก”
ผลตรวจสอบเหล็กของบริษัทจากสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทยในตอนนั้นที่พบปัญหาคือเหล็กข้ออ้อย ไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน 2 รายการ คือ ในรายการส่วนสูงของบั้งที่มีผลทำให้ความสามารถในการยึดเกาะระหว่างเนื้อเหล็กและเนื้อคอนกรีตลดลง เมื่อนำไปใช้งาน และรายการธาตุโบรอน มีผลทำให้เนื้อเหล็กเปราะ ความเหนียวของเนื้อเหล็กลดลง ซึ่งอาจทำให้ไม่สามารถรับแรงดึงได้ตามที่มาตรฐานกำหนด
นอกจากนั้นทางกระทรวงยังดำเนินคดีกับผู้ประกอบการอย่าง เจี้ยนฉี เฉิน, สู้ หลงเฉิน และสมพัน ปันแก้ว เป็นกรรมการด้วยในฐานความผิดผลิตภัณฑ์ไม่ได้มาตรฐาน
อย่างไรก็ตาม หลังจากสื่อนำเสนอว่าเหล็กจากบริษัทซิน เคอ หยวนคุณภาพไม่ได้ตามมาตรฐาน วันนี้ทางบริษัทก็ออกมาโต้แย้งระหว่างทีมสุดซอยไปตรวจสอบที่โรงงานว่ายังดำเนินการผลิตอยู่หรือไม่ เมื่อทีมตรวจสอบจะเก็บเหล็กตัวอย่างขนาด 32 มม.ไปตรวจสอบก็เกิดการโต้เถียงกันกับตัวแทนของบริษัท
ทางตัวแทนของบริษัทโต้แย้งว่าค่ามาตรฐานของสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าฯ สูงเกินไป จึงจะขอให้นำไปตรวจสอบที่สถาบันยานยนต์อีกแห่งด้วยเนื่องจากมาตรฐานค่าโบรอนของสองสถาบันนี้ต่างกัน แต่ถ้าหากค่าโบรอนในเหล็กของบริษัทตกมาตรฐานทั้งสองสถาบันก็จะยอมรับ และผู้ช่วยผู้บริหารของโรงงานยังบอกกับสื่อด้วยว่าการอายัดเหล็กของของกระทรวงอุตสาหกรรมก่อนหน้านี้ก็ไม่เป็นธรรมกับบริษัทด้วยเพราะนำตัวอย่างไปตรวจแค่ 5 เส้นเท่านั้น
แต่ไม่ใช่แค่สินค้าที่ผลิตจะไม่ได้คุณภาพ การดำเนินกิจการของบริษัทก็ดูน่าสงสัยถึงมาตรฐานการดำเนินงาน เพราะเหตุที่ทำให้บริษัทถูกกระทรวงเข้าตรวจสอบก็เพราะเหตุไฟไหม้ของโรงงานที่ ต.หนองละลอก อ.บ้านค่าย จ.ระยอง เมื่อเดือนธันวาคม 2567 จนพบว่าบริษัทมีข้อบกพร่องทั้งด้านความปลอดภัย ด้านสิ่งแวดล้อมด้วย
แต่ถ้าย้อนไปอีกเมื่อ 1 ปีที่แล้ว 29 มี.ค.2567 โรงงานของบริษัทซิน เคอ หยวนในต.ตาสิทธิ์ อ.ปลวกแดง จ.ระยองที่กำลังก่อสร้าง เกิดเหตุเครนก่อสร้างของโรงงานพังล้มทับคนงานของบริษัทเสียชีวิตไป 7 คน เป็นชาวพม่า 6 คนและคนจีน 1 คน จนคนงานรวมตัวประท้วงเพื่อเรียกร้องให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยคนละ 5,000,000 บาท แต่นายจ้างต่อรองจะจ่ายแค่ 500,000 บาท