2024 ปีแห่งการเลือกตั้ง และความอยู่รอดของประชาธิปไตยเป็นอย่างไร
Article recordsdata
- Creator, วัชชิรานนท์ ทองเทพ
- Role, ผู้สื่อข่าว. เรียบเรียง
ปี 2024 ถือเป็นปีแห่งการเลือกตั้งในหลายสิบประเทศทั่วโลก และยังเป็นบททดสอบสำคัญของผู้นำในแต่ละประเทศว่าจะยังคงสามารถครองใจประชาชนได้หรือไม่
ท่ามกลางปัจจัยต่าง ๆ ทั้งปัจจัยภายในของแต่ละประเทศ อาทิ ภาวะเงินเฟ้อ เศรษฐกิจไม่เติบโตตามที่คาดการณ์ และสถานการณ์ทางการเมืองระหว่างประเทศที่ส่งผลกระทบต่อคนทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นสงครามระหว่างอิสราเอลและฮามาส หรือสงครามระหว่างยูเครนและรัสเซีย
ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากการเลือกตั้งในปีนี้อาจจะสะท้อนนัยสำคัญของประชาธิปไตยของโลกนี้ได้ .ประมวลเหตุการณ์สำคัญตลอดปี 2024 ที่ถือว่าเป็น “ปีแห่งการเลือกตั้งครั้งใหญ่ของมนุษยชาติ” รวมทั้งทัศนะและมุมมองต่าง ๆ ต่อปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น
“ปีแห่งการเลือกตั้ง”
มูลนิธิเพื่อการเลือกตั้งระหว่างประเทศ (World Basis for Electoral Programs – IFES) ได้ยกให้ปี 2024 เป็น “ปีแห่งการเลือกตั้ง” เนื่องจากมีการจัดการเลือกตั้งครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ที่มีขึ้นในกว่า 70 ประเทศ ซึ่งรวมทั้งการจัดทำประชามติควบคู่ไปกับการเลือกตั้งในทุกระดับ ที่สำคัญมีการจัดการเลือกตั้งในประเทศที่มีประชากรจำนวนมากที่สุด เช่น อินเดีย สหรัฐอเมริกา อินโดนีเซีย ปากีสถาน บังกลาเทศ รัสเซีย เม็กซิโก นอกจากนี้ยังมีการเลือกตั้งรัฐสภายุโรป
มูลนิธิ IFES ประเมินว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเลือกตั้งตลอดทั้งปีนี้ ส่งผลกระทบในแบบไม่เคยมีมาก่อน ส่วนหนึ่งมาจากเป็นการเลือกตั้งเกิดขึ้นในประเทศที่มีประชากรรวมกันถึง 4.16 พันล้านคน หรือกว่าครึ่งหนึ่งของประชากรของโลกในปัจจุบัน
ผลที่เกิดขึ้นจากการเลือกตั้งและการทำประชามติในปีนี้ยังสร้างสถิติใหม่ด้วยเช่นกัน คือ จำนวนบัตรเลือกตั้งจำนวนมากกว่า 1.5 พันล้านใบ และโดยเฉลี่ยแล้วคิดเป็น 61.79% (คำนวณจากผลรวมเฉลี่ยการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการของแต่ประเทศ แม้ว่าในแต่ละประเทศจะมีสัดส่วนที่แตกต่างกันบ้างก็ตาม)
มูลนิธิ IFES พบว่า มีการเลือกตั้งอย่างน้อย 36 ครั้งในปีนี้ ส่งผลให้มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลหรือผู้ครองอำนาจ แต่การเลือกตั้งในบางประเทศก็เป็นเพียงการเปลี่ยนถ่ายอำนาจบริหารระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลเดิมเท่านั้น
หากพิจารณาจากข้อมูลของมูลนิธิ IFES แล้วในปี 2024 มีการจัดการเลือกตั้งเกือบทุกเดือนในปีนี้ ยกเว้นเดือน ส.ค.
เริ่มต้นที่การเลือกตั้งในบังกลาเทศ วันที่ 7 ม.ค. ตามมาด้วยที่ฟินแลนด์ในวันที่ 28 ม.ค. ต่อมาในเดือน ก.พ. การเลือกตั้งประธานาธิบดีอินโดนีเซียในวันที่ 14 ก.พ.
ในวันที่ 10 มี.ค. มีการเลือกตั้งที่โปรตุเกส ส่วนในวันที่ 10 เม.ย. เป็นการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาเกาหลีใต้ และในวันที่ 19 เม.ย. เป็นวันเริ่มการเลือกตั้งทั่วไปในอินเดียที่กินเวลาถึงเดือน มิ.ย.
ส่วนในเดือน พ.ค. มีการเลือกตั้งสองแห่ง คือ ที่ปานามาในวันที่ 5 พ.ค. และที่แอฟริกาใต้ในวันที่ 29 พ.ค. สำหรับในเดือน มิ.ย. มีการเลือกตั้งสำคัญสามแห่งคือ การเลือกตั้งในเม็กซิโกวันที่ 2 มิ.ย. และการเลือกตั้งรัฐสภายุโรปในวันที่ 6 มิ.ย. และปิดท้ายที่การเลือกตั้งรัฐสภารอบแรกในฝรั่งเศสวันที่ 30 มิ.ย.
หลังจากเว้นว่างไปในเดือน ส.ค. ในวันที่ 21 ก.ย. มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีในศรีลังกา ส่วนในเดือน ต.ค. มีในตูนิเซีย (6 ต.ค.) ญี่ปุ่น (27 ต.ค.) อุรุกวัย (27 ต.ค.) และบอตสวานา (30 ต.ค.)
ในเดือน พ.ย. ถือว่าเป็นจุดไฮไลท์ด้วยการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในวันที่ 5 พ.ย. และปิดท้ายในเดือน ธ.ค. ด้วยสองประเทศคือ โรมาเนีย (1 ธ.ค.) และกานา (7 ธ.ค.)
โจทย์ใหญ่ท้าทายสำหรับผู้ครองอำนาจเดิม
ผู้เชี่ยวชาญและสำนักวิจัยทางด้านการเมืองหลายสำนักต่างมีมุมมองคล้าย ๆ กันว่า การเลือกตั้งที่มีขึ้นในปี 2024 ถือเป็นบททดสอบครั้งสำคัญของบรรดารัฐบาลที่ยังครองอำนาจอยู่ว่าจะรักษาฐานการสนับสนุนทางการเมืองไว้ได้อย่างไร ท่ามกลางปัจจัยต่าง ๆ ภายในประเทศของตนเอง
ศูนย์วิจัยพิว (Pew Assessment Middle) ยกการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาที่มีขึ้นในเดือน พ.ย. ที่ผ่านมา ให้เป็นตัวอย่างในการอธิบายเรื่องนี้ ที่ลงเอยด้วยความพ่ายแพ้ของกมลา แฮร์ริส ผู้ชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจากของพรรคเดโมเครต และทำให้อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จากพรรครีพับลีกันได้กลับเข้าทำเนียบอีกสมัย ที่สำคัญ ชัยชนะครั้งนี้ของพรรครีพับลีกันยังครองเสียงส่วนมากได้ทั้งสองสภาอีกด้วย
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ทรัมป์ได้รับชัยชนะนั้น คือ ปัจจัยทางเศรษฐกิจและภาวะเงินเฟ้อที่กระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของชาวอเมริกัน
จากผลการสำรวจของศูนย์วิจัยพิวในช่วงเดือน ส.ค. – ก.ย. 2024 ซึ่งเป็นช่วงก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ พบว่า 81% ของผู้ลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้ง บอกว่าปัจจัยทางเศรษฐกิจถือเป็นสิ่งสำคัญที่พวกเขานำมาพิจารณาในการเลือกตั้งฯ
ข้อมูลดังกล่าวสอดคล้องกับความสนใจของผู้สนับสนุนทรัมป์ที่ให้ความสำคัญกับปัจจัยทางเศรษฐกิจถึง 93% ตามมาด้วยประเด็นเกี่ยวกับการเข้าเมือง 82% และอาชญากรรมรุนแรง 76% ขณะที่บทวิเคราะห์หลังการเลือกตั้งโดย ซาราห์ สมิธ บรรณาธิการประจำภูมิภาคอเมริกาเหนือของบีบีซีนิวส์ก็ระบุเช่นกันว่า ปัจจัยแห่งชัยชนะของทรัมป์ส่วนหนึ่งมาจาก “การหาเสียงเรื่องเศรษฐกิจของทรัมป์ที่โดนใจ”
นอกจากกรณีของสหรัฐฯ แล้ว การเลือกตั้งทั่วไปของสหราชอาณาจักรก็เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญการเมืองอังกฤษเมื่อพรรคแรงงาน (Labour) ของเซอร์ เคียร์ สตาร์เมอร์กำชัยชนะแบบ “แลนด์สไลด์” ปิดประตูทางสู่อำนาจของพรรคอนุรักษนิยม (Conservative) ที่บริหารประเทศมาอย่างยาวนาน 14 ปี จากความนิยมที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง บวกกับความด้อยประสิทธิภาพของการบริหารจัดการปัญหาเศรษฐกิจอย่างอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้น นี่ยังไม่นับรวมกับกรณีเรื่องราวอื้อฉาวของบรรดานักการเมืองในพรรคอีกด้วย
การเลือกตั้งในเกาหลีใต้ก็เป็นอีกหนึ่งบทพิสูจน์สำคัญของการใช้กลไกการเลือกตั้งเพื่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง โดยประชาชนชาวเกาหลีใต้ร่วมกันมอบความไว้วางใจให้พรรคประชาธิปไตยซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้าน คว้าที่นั่งในรัฐสภามากกว่า 170 ที่นั่ง ครองเสียงส่วนมากในรัฐสภาชุดใหม่ เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงความนิยมที่ลดลงของประธานาธิบดียุน ซอก-ยอล จากพรรคพลังประชาชน (Of us Vitality Birthday celebration) หลังจากไม่สามารถจัดการวิกฤตค่าครองชีพ รวมถึงเรื่องราวอื้อฉาวทางการเมืองของเขาด้วย
นี่ยังไม่นับรวมกับการประกาศกฏอัยการศึกในช่วงต้นเดือน ธ.ค. ที่ผ่านมา โดยอ้างว่า พรรคฝ่ายค้านมีแนวความคิดต่อต้านรัฐ ก่อนที่สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติโหวตคว่ำการประกาศกฎอัยการศึกดังกล่าวออกไปภายในระยะเวลาไม่กี่ชั่วโมง และต่อมานายยุนเองต้องเผชิญกับกระบวนการถอดถอนออกจากตำแหน่งด้วย
อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยพิวพบว่า แม้ว่าการเลือกตั้งจะไม่สามารถเปลี่ยนขั้วอำนาจได้ในบางประเทศ แต่ผลการเลือกตั้งกลับเป็นเสมือนความพ่ายแพ้ครั้งสำคัญสำหรับพรรคการเมืองหลักที่ยังคงครองอำนาจได้ อย่างพรรคแกนนำในแอฟริกาใต้ที่ไม่สามารถครองเสียงข้างมากรัฐสภาได้ เช่นเดียวกันกันกับพรรคเสรีประชาธิปไตยในญี่ปุ่น
ขณะที่ พรรคภราติยะ ชนะตะ (Bharatiya Janata Birthday celebration-BJP) ของนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ของอินเดียที่แม้ว่าจะชนะการเลือกตั้ง แต่ก็ไม่สามารถครองเสียงข้างมากใน “โลกสภา” หรือสภาผู้แทนราษฎรได้ จึงทำให้ต้องจัดตั้งรัฐบาลผสมขึ้น
การเมืองโลกเอียงขวาจริงหรือไม่ ?
จากผลการเลือกตั้งสำคัญในปี 2024 ทำให้เกิดคำถามหนึ่งตามมาคือ “การเมืองโลกกำลังเอียงขวาหรือไม่” โดยเฉพาะหลังจากพรรคประชาชนยุโรปหรืออีพีพี (European Of us's Birthday celebration-EPP) ซึ่งเป็นกลุ่มพรรคขวากลางได้เสียงสนับสนุนและที่นั่งเพิ่มมากที่สุด ในการเลือกตั้งรัฐสภายุโรปในเดือน มิ.ย. 2024
ส่วนสาเหตุสำคัญที่ทำให้เป็นเช่นนี้ เนื่องจากผู้ลงคะแนนเสียงมีความกังวลเรื่องผู้อพยพ อัตราเงินเฟ้อ และค่าใช้จ่ายในการปฏิรูปด้านสิ่งแวดล้อม แต่ฝ่ายขวาจัดจะมีอิทธิพลต่อนโยบายของสหภาพยุโรปในอนาคตหรือไม่นั้น ต้องติดตามต่อไป
อย่างไรก็ตาม แนวโน้มนี้ก็ปรากฏในหลายประเทศในยุโรปเช่นกัน เช่นใน การเลือกตั้งรัฐสภาฝรั่งเศสรอบแรกที่พรรคเนชันแนลแรลลีหรือเอ็นอาร์ (National Rally-NR) ซึ่งเป็นพรรคการเมืองฝ่ายขวาจัดของฝรั่งเศส มีคะแนนนำในการเลือกตั้งรัฐสภาด้วยคะแนนเสียงถึง 33% เนื่องจากความเบื่อหน่ายกับระบบเดิมและวิกฤตค่าครองชีพ แต่ในการเลือกตั้งรอบที่สอง พบว่ากลุ่มพรรคการเมืองฝ่ายซ้ายกลับพลิกล็อกเป็นฝ่ายชนะไป แต่ถึงกระนั้นพรรคฝ่ายขวาก็ได้ที่นั่งในรัฐสภาเพิ่มขึ้นกว่าในอดีต
ขณะเดียวกันในรัฐสภาของสหราชอาณาจักร เยอรมนี โปรตุเกส และออสเตรีย กลุ่มการเมืองที่มีแนวความคิดเอียงขวาก็มีที่นั่งเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน
ความอยู่รอดของประชาธิปไตยเป็นอย่างไรในปีแห่งการเลือกตั้ง
ในระบอบประชาธิปไตย การเลือกตั้งเป็นส่วนหนึ่งขององค์ประกอบแห่งความสำเร็จ แต่ยังมีประเด็นอื่น ๆ ที่เป็นส่วนสำคัญเกื้อหนุนให้ประชาธิปไตยมีพัฒนาการ ไม่ว่าจะเป็นเสรีภาพในการพูดและการแสดงออก ความเท่าเทียมกันในการมีส่วนร่วมทางการเมือง ดุลอำนาจที่เหมาะสมในฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และฝ่ายตุลาการ รวมไปถึงเสรีภาพของสื่อมวลชน หากขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งไปย่อมมีผลต่อความอยู่รอดของประชาธิปไตย
จากบทวิเคราะห์ที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ของฟรีดอมเฮาส์ (Freedom Dwelling) เมื่อวันที่ 5 ธ.ค. ที่ผ่านมา ได้ให้มุมมองที่น่าสนใจต่อ “ปีแห่งการเลือกตั้ง” ไว้ว่า การเลือกตั้งในปี 2024 ได้ให้ภาพสะท้อนที่ผสมผสานกันของการขับเคี่ยวอย่างดุเดือดในประเทศที่เป็นประชาธิปไตย
ขณะเดียวกัน การเลือกตั้งก็กลายเป็นสิ่งที่น่าอับอายในประเทศที่ยังมีความเผด็จการครองอำนาจ และยังพบเห็นความรุนแรงทางการเมืองต่อฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง การพุ่งเป้าไปยังสถานที่จัดการเลือกตั้ง หรือ การประท้วงผลการเลือกตั้ง เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์จากฟรีดอมเฮาส์มองว่า การเลือกตั้งส่วนใหญ่ในปี 2024 ถือว่ามีอิสระและเป็นธรรมในภาพรวม และยังมีการเปลี่ยนถ่ายอำนาจกันโดยสันติ
ในทางตรงกันข้าม ในบางประเทศที่ไม่มีองค์กรทางประชาธิปไตย หรือถ้ามีแต่อ่อนแอทำงานไม่มีประสิทธิภาพ หรือมีกลไกบิดเบือนการเลือกตั้งเพื่อช่วยเหลือให้ผู้นำคนปัจจุบันมีแต้มต่อมากกว่า ก็ยังคงปรากฏให้เห็นกันอย่างแพร่หลายเช่นกัน
จากข้อมูลที่ฟรีดอมเฮาส์ ระหว่างวันที่ 1 ม.ค. – 5 พ.ย. 2024 พบว่า 1 ใน 4 ของการเลือกตั้งที่องค์กรนี้ได้ติดตาม พบว่าผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่มีทางเลือกที่แท้จริงในการลงคะแนนเสียง และมีการเลือกตั้งอย่างน้อย 16 ครั้ง ที่ผู้นำเผด็จการได้สั่งจำคุกหรือไม่ก็ตัดสิทธินักการเมืองฝ่ายตรงข้ามโดยพลการก่อนการเลือกตั้ง เพื่อเอื้ออำนวยให้ตนเองสามารถอยู่ในอำนาจได้ โดยพบกรณีเช่นนี้ได้ที่ แอลจีเรีย อาเซอร์ไบจาน และรวันดา
อีกตัวอย่างที่ฟรีดอมเฮาส์หยิบยกขึ้นมา คือ การเลือกตั้งในเวเนซุเอลาที่ศาลสูงสุดได้มีคำสั่งตัดสิทธิทางการเมืองของนางมาเรีย โครินา มาชาโด ผู้นำฝ่ายค้านที่กำลังได้รับความนิยมและสามารถคว้าชัยชนะในการเลือกตั้งขั้นต้นเมื่อปี 2023 เป็นระยะเวลาถึง 15 ปี ด้วยข้อหาพัวพันกับปมคอร์รัปชัน และกันเธอออกจากการลงสมัครเลือกตั้งประธานาธิบดีในปีนี้
ทั้งนี้ แม้ว่าคู่ปรับทางการเมืองของเธออย่างประธานาธิบดีนิโกลัส มาดูโร จะชนะการเลือกตั้ง แต่มันก็ตามมาด้วยการประท้วงอย่างรุนแรงตามท้องถนนที่ออกมาประณามผลการเลือกตั้งที่มีผู้ชนะเป็นประธานาธิบดีมาดูโร ว่าเป็นการทุจริต
กลับมาที่การเลือกตั้งที่ใกล้ประเทศไทยมากที่สุดและเป็นการเลือกตั้งที่มีผู้ลงคะแนนเสียงมากที่สุดในภูมิภาคเชียตะวันออกเฉียงใต้ นั่นคือ การเลือกตั้งประธานาธิบดีอินโดนีเซีย ที่ถูกตั้งคำถามอย่างมากต่ออนาคตของประชาธิปไตยของประเทศที่เป็นบ้านของคนจำนวนกว่า 250 ล้านคน
ชัยชนะของปราโบโว ซูเบียนโต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมวัย 72 ปี ในการขึ้นสู่อำนาจสูงสุดในฐานะผู้นำอินโดนีเซียภายใต้การสนับสนุนของอดีตประธานาธิบดีโจโก วิโดโด ด้วยการส่ง กิบราน รากาบูมิง รากา ลูกชายคนโตวัย 36 ปี ของนายวิโดโด ลงชิงชัยในตำแหน่งรองประธานาธิบดีร่วมกับนายปราโบโว ซึ่งสร้างความวิตกกังวลในหลายแง่มุมทางการเมือง
หนึ่งในนั้นคือความหวาดกลัวว่าอินโดนีเซียกำลังถอยหลังกลับไปสู่การปกครองแบบอำนาจนิยมหรือไม่ ขณะที่ในอดีต ปราโบโวเคยดำรงตำแหน่งเป็นผู้บัญชาการกองกำลังพิเศษภายใต้การปกครองของ พล.อ.ซูฮาร์โต อดีตผู้นำเผด็จการ และที่สำคัญปราโบโวยังมีฐานะเป็นบุตรเขยของอดีตผู้นำเผด็จการผู้นี้อีกด้วย โดยในเวลาต่อมานายปราโบโวหลุดพ้นทุกข้อกล่าวหาที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน
อีกประเด็นคือนักวิชาการและสื่อมวลชนหลายสำนักทั้งในเอเชียและนานาชาติต่างตั้งคำถามว่า การที่อดีตประธานาธิบดีวิโดโดพลักดันให้ลูกชายของเขาเข้ามาเป็นรองประธานาธิบดีนั้น คือพัฒนาการของประชาธิปไตย (democracy) หรือเพื่อตระกูลทางการเมือง (political dynasty) กันแน่
ที่มา BBC.co.uk