5 เรื่องเกี่ยวกับนโยบายโลกร้อน-เศรษฐกิจสีเขียวของทรัมป์ ที่จะกระทบต่อโลกและไทย
การหวนคืนทำเนียบขาวเป็นสมัยที่ 2 ของ โดนัลด์ ทรัมป์ อาจทำให้ความก้าวหน้าที่สหรัฐฯ ได้ทำเพื่อต่อสู้กับภาวะโลกร้อนต้องพลิกผันอีกครั้ง
วิกฤตสภาพภูมิอากาศและนโยบายทางด้านเศรษฐกิจสีเขียวของสหรัฐอเมริกา เป็นหนึ่งในประเด็นที่อาจได้เห็นความเปลี่ยนแปลงทางนโยบายจากการเป็นประธานาธิบดีอีกสมัยของทรัมป์
ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ผู้นี้ เป็นที่รู้จักในฐานะผู้ที่สงสัยในประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเคยกล่าวว่าความพยายามในการส่งเสริมพลังงานสีเขียวเป็น “การหลอกลวง”
หลายคนคาดการณ์ว่า โดนัลด์ ทรัมป์ จะพาสหรัฐฯ ถอนตัวออกจาก “ความตกลงปารีส” (Paris Settlement) ซึ่งเป็นสนธิสัญญาระหว่างประเทศที่มีผลผูกพันทางกฎหมายเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่นเดียวกับที่เคยทำในช่วงดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยแรก
เขายังประกาศว่าจะเพิ่มการผลิตเชื้อเพลิงฟอสซิล และจะยกเลิกการอุดหนุนเรื่องพลังงานสีเขียวซึ่งเป็นนโยบายของอดีตประธานาธิบดีโจ ไบเดน
Skip เรื่องแนะนำ and proceed readingเรื่องแนะนำ
Stay of เรื่องแนะนำ
เนื่องด้วยผู้นำโลกจะมาพบกันในสัปดาห์หน้าเพื่อการประชุมสุดยอดด้านสภาพภูมิอากาศของสหประชาชาติ หรือ COP29 ที่ประเทศอาเซอร์ไบจาน การชนะเลือกตั้งของทรัมป์จึงถูกมองว่าเป็นอุปสรรคใหญ่ในการเดินหน้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการระดมทุนสำหรับประเทศกำลังพัฒนา
ชัยชนะของทรัมป์จะส่งผลกระทบต่อการดำเนินการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระดับโลกอย่างแน่นอน แต่เรื่องเหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อเนื่องมายังประเทศไทยอย่างไร .คุยกับธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการประจำประเทศไทย กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
1. อาจพาสหรัฐฯ ถอนตัวจาก “ความตกลงปารีส” อีกครั้ง
การหวนคืนทำเนียบขาวเป็นสมัยที่ 2 ของ โดนัลด์ ทรัมป์ มาพร้อมคำประกาศนำสหรัฐฯ ถอนตัวออกจากข้อตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เขา “ขู่” หันหลังให้ความตกลงปารีส เพราะเขาเคย “ทำจริง” มาแล้วในเดือน มิ.ย. 2017 ในขณะดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยแรก ทว่า โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 46 ได้ลงนามในคำสั่งพิเศษ นำสหรัฐฯ กลับเข้าเป็นภาคีในความตกลงปารีสอีกครั้ง โดยถือเป็นภารกิจแรก ๆ ที่ประธานาธิบดีสังกัดพรรคเดโมแครตทำหลังรับตำแหน่งในเดือน ม.ค. 2021
สหรัฐฯ ถือเป็นประเทศผู้ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์รายใหญ่ของโลก โดยอยู่ที่ 15% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลก
ข้อตกลงปารีสจัดทำขึ้นเมื่อปี 2015 (มีผลบังคับใช้ 4 พ.ย. 2016) โดยมีเป้าหมายเพื่อควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส และพยายามไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียสเมื่อเทียบกับช่วงก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม โดยให้ประเทศต่าง ๆ จัดทำเป้าหมายและแผนการลดก๊าซเรือนกระจก เพื่อให้บรรลุเป้าหมายปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Accumulate zero emission) ภายในปี 2050
ธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการประจำประเทศไทย กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวกับ.ว่า ในสายตาของโดนัลด์ ทรัมป์ และผู้สนับสนุน มองว่าภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ประเทศอื่น ๆ ก็ไม่ทำตามเป้าหมายเลย เช่น ประเทศผู้ผลิตน้ำมันในตะวันออกกลาง หรือประเทศผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกอันดับต้น ๆ อย่างจีน ยังบรรลุตามเป้าหมายไม่ได้ เหตุใดสหรัฐฯ จะต้องทำ
“เรื่องนี้ไปบ่อนทำลายเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ซึ่งรวมถึงการจ้างงานในบ้านของเขาเอง อันนี้คือสมมติฐานของทรัมป์” ธารากล่าว
ประเทศไทยร่วมให้สัตยาบันใน “ความตกลงปารีส” เมื่อปี 2016 ซึ่งมีพันธกิจที่ต้องดำเนินการ ได้แก่ จัดทำเป้าหมายและแผนการลดก๊าซเรือนกระจก จัดส่งข้อมูลความก้าวหน้าในการดำเนินงานของประเทศตามเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกที่ได้นำเสนอไว้ และในปี 2021 แสดงความมุ่งมั่นที่จะดำเนินการเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Accumulate Zero Greenhouse Gas Emission) ภายในปี 2065
แล้วหากประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ ถอนตัวจากความตกลงนี้อีกรอบ จะส่งผลอย่างไรต่อไทย ธารา บัวคำศรี กล่าวกับ.ว่า ผลกระทบต่อไทยยังตอบได้ยาก เนื่องจากแผนของประเทศไทยที่จะเข้าไปอยู่บนเวทีเจรจานั้นถูกเตรียมไว้แล้วระดับหนึ่ง และอำนาจในการเจรจาของไทยเองก็ไม่ได้สามารถไปพลิกผลใด ๆ ในการเจรจาได้
ทว่าผลพวงจากสหรัฐฯ ถอนตัว อาจเกิดขึ้นในทางอ้อม
ธารา กล่าวว่า ประชาคมโลกที่เข้าร่วมเจรจาเรื่องสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงมาตั้งแต่ต้นมีบทเรียนจากการที่โดนัลด์ ทรัมป์ นำสหรัฐฯ ถอนตัวออกจากความตกลงปารีสในครั้งแรก การวิเคราะห์ในระดับนานาชาติในครั้งนี้มองว่า หากสหรัฐฯ ถอนตัว สมการใหม่ก็จะเกิดขึ้น นั่นคือการเปิดให้มีผู้เล่นคนใหม่เข้ามา โดยผู้เล่นใหม่ที่เข้ามาซึ่งเห็นชัด ๆ คือ จีน เพราะจีนเป็นผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกอันดับหนึ่งของโลก โดยที่สหรัฐฯ เป็นอันดับสอง นอกจากนี้ยังอาจเป็นสหภาพยุโรป อินเดีย หรือประเทศอื่น ๆ ที่ค่อนข้างจริงจังต่อวิกฤตสภาพภูมิอากาศ
“พอจีนเข้ามาเป็นคีย์เพลเยอร์ [ผู้เล่นคนสำคัญ] ผมคิดว่าประเทศไทยต้องปรับทิศทางเล็กน้อย ในการสร้างจุดยืนและท่าทีในการเจรจาที่มีบทบาทของผู้เล่นที่เปลี่ยนไป” ธารากล่าว
2. ยกเลิกการอุดหนุนสีเขียวในยุค ไบเดน
ผู้อำนวยการประจำประเทศไทย กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวกับ.ว่า สำหรับในประเทศไทย การลงทุนเรื่องพลังงานหมุนเวียน ไม่ได้มีอิทธิพลของประเทศใดประเทศหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม ธาราบอกว่า ส่วนใหญ่แล้วจีนจะลงทุนที่นี่ ไม่ว่าจะเป็นพลังงานแสงอาทิตย์ หรือแม้กระทั่งพลังงานลม เพราะในขณะที่จีนปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นอันดับหนึ่งของโลก แต่จีนก็มีตลาดพลังงานหมุนเวียนที่ขยายตัวเร็วที่สุดในโลกด้วย ทั้งในเรื่องของพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม
“อาจจะไม่ได้กระทบอะไรกับประเทศไทยมาก เพราะตอนนี้การลงทุนของจีนเห็นชัดมากกว่า” ธารากล่าว
ทว่าความเห็นอีกด้านจากบทวิเคราะห์ “เมื่อ ทรัมป์ กลับมา จะพาโลกไปทางไหน” ซึ่งได้รับการเผยแพร่ทางเว็บไซต์ของรัฐบาลไทย ระบุตอนหนึ่งถึงนโยบายสีเขียวว่า การที่สหรัฐฯ อาจชะลอกฎหมาย Tidy Competitors Act (CCA) ลดแรงกดดันต่อธุรกิจส่งออกไทยในการปรับตัวเพื่อลดคาร์บอน ซึ่งอาจมองเป็นมุมบวกของภาคธุรกิจได้ในระยะสั้น เนื่องจากไม่ต้องเร่งลงทุนเพื่อปรับตัว แต่ก็จะส่งผลเสียต่อการผลักดันเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำของไทยในระยะถัดไป
“กลไกการลดคาร์บอนโลกอาจสะดุด และส่งผลต่อการผลักดันเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำของไทยทางอ้อม” คือข้อวิเคราะห์ส่วนหนึ่งของฝ่ายวิจัยธุรกิจ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย หรือเอ็กซิมแบงก์ (EXIM Bank)
สำหรับร่างกฎหมาย CCA เป็นการเก็บภาษีคาร์บอนกับสินค้าที่มีการปล่อยคาร์บอนสูง
ปฏิเสธไม่ได้ว่ากฎหมายเป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญที่จะทำให้สหรัฐฯ บรรลุเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ในยุครัฐบาลไบเดนได้นำพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ลดอัตราเงินเฟ้อปี 2022 (Inflation Discount Act – IRA) มาใช้อย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างเศรษฐกิจพลังงานสะอาด กฎหมายนี้ให้การสนับสนุนการออกเงินกู้ใหม่ให้แก่โครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและพลังงานหมุนเวียน
อย่างไรก็ตาม ทรัมป์แสดงท่าทีไม่เป็นมิตรต่อโครงการพลังงานหมุนเวียน โดยเฉพาะโครงการที่เกี่ยวข้องกับพลังงานลม พร้อมระบุว่า จะชะลอการดำเนินการตาม IRA ต่อไป โดยเรียกชื่อว่าเป็น “กลลวงสีเขียวใหม่”
สำหรับโครงการของรัฐบาลไบเดนซึ่งว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่ลั่นวาจาว่า “จะยกเลิก” หรือ “อาจยกเลิก” ก็เช่น โครงการพลังงานลมนอกชายฝั่ง 10 โครงการ และเครดิตภาษีมูลค่า 7,500 ดอลลาร์ของ IRA สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า
3. หนุนอุตสาหกรรมที่ใช้พลังงานฟอสซิล
ในขณะที่อุตสาหกรรมของสหรัฐฯ กำลังหันเหออกจากเชื้อเพลิงฟอสซิล ดูเหมือนทรัมป์กำลังดึงสถานการณ์ให้ย้อนกลับไปที่เดิม
“ตั้งแต่วันแรก ผมจะอนุมัติการขุดเจาะใหม่ ท่อส่งน้ำมันใหม่ โรงกลั่นใหม่ โรงไฟฟ้าใหม่ เครื่องปฏิกรณ์ใหม่ และเราจะลดขั้นตอนที่ไม่จำเป็นลง” เขากล่าวบนเวทีหาเสียงที่รัฐมิชิแกนเมื่อเดือน ส.ค.
นอกจากนี้ ทรัมป์ยังสัญญาว่าจะยกเลิกการระงับการอนุมัติโครงการก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ใหม่ที่ส่งออกไปยังประเทศที่ไม่มีข้อตกลงการค้าเสรีกับสหรัฐฯ ทันที โดยอ้างถึง “วิกฤตการณ์สภาพภูมิอากาศ” และเขายังต้องการเปิดพื้นที่อย่างเช่นเขตอาร์กติกเพื่อการขุดเจาะน้ำมัน โดยเขาอ้างว่าจะช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน
ชัยชนะของทรัมป์อาจจะเป็นการสนับสนุนบริษัทต่าง ๆ ในสหรัฐฯ ลดค่าใช้จ่ายที่ต้องทำเพื่อสิ่งแวดล้อม เช่น การยกเลิกกฎหมายปี 2016 ที่กำหนดให้บริษัทน้ำมันและก๊าซต้องตรวจสอบและจำกัดการรั่วไหลของมีเทนจากบ่อน้ำมัน และการดำเนินงานอื่น ๆ
สำหรับผลพวงที่มีต่อไทย ผู้อำนวยการกรีนพีซประจำประเทศไทย กล่าวว่า หากโดนัลด์ ทรัมป์ มีนโยบายที่ชัดเจนในการขยายการขุดเจาะเชื้อเพลิงฟอสซิลในสหรัฐฯ เอง และรวมถึงจุดอื่น ๆ ที่มีบริษัทข้ามชาติสัญชาติอเมริกันไปอยู่ด้วย ก็อาจจะทำให้เป็นตัวบ่อนทำลายนโยบายพลังงานของประเทศอื่น ซึ่งประเทศไทยก็มีบริษัทข้ามชาติอเมริกันอยู่เช่นกัน และรวมถึงในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
“ขึ้นอยู่กับว่าจะล็อบบีโพลีซี [นโยบาย] ของประเทศไทยได้มากน้อยแค่ไหน”
ธารา ยกตัวอย่างกรณีการขุดเจาะก๊าซและปิโตรเลียมในฝั่งเมียนมาที่มีบริษัทของไทยเข้าไปเอี่ยวในการลงทุน แม้ว่าสหรัฐฯ จะบอกว่าได้ถอนตัวออกจากการลงทุนช่วงที่ไบเดนยังดำรงตำแหน่ง แต่ต้องจับตาดูว่าบทบาทของบริษัทพลังงานยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ ในแถบเอเชียแปซิฟิกหรืออาเซียนจะเป็นอย่างไร
“การเดินเกมของนโยบายพลังงานของโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ยังไม่เกิดขึ้น มันอาจจะยังไม่ชัดตอนนี้ และเป็นช่วงเปลี่ยนผ่าน ซึ่งต้องจับตาดูว่าจะมีนัยสำคัญอย่างไรต่อทิศทางนโยบายของประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน” ผู้อำนวยการกรีนพีซประจำประเทศไทย ระบุ
ธารายังให้ความเห็นสั้น ๆ เกี่ยวกับการขยายพื้นที่ขุดเจาะน้ำมันไปยังเขตอาร์กติกว่า อาจก่อความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ เนื่องจากบริเวณดังกล่าวไม่ได้มีแค่สหรัฐฯ แต่ยังมีรัสเซีย จีน และประเทศอื่น แต่ทั้งนี้ไม่มีผลกระทบต่อประเทศไทย
4. จีนอาจก้าวขึ้นมามีบทบาทนำ ในเวทีเจรจาโลกร้อน
ผู้เชี่ยวชาญด้านโยบายสิ่งแวดล้อมและวิกฤตสภาพภูมิอากาศ ชี้ว่า หากจีนกลายเป็นผู้เล่นที่มีบทบาทสำคัญในเวทีการเจรจาโลกร้อนหรือเวทีสภาพภูมิอากาศ จีนก็จะมีอิทธิพลในการโน้มน้าวนโยบายของประเทศอื่น ๆ ในเอเชียมากขึ้น
“พอจีนไปเป็นคีย์เพลเยอร์ในเวทีโลกร้อนต่าง ๆ เขาต้องทำบทบาทการทูตด้านสภาพภูมิอากาศที่ทำให้เขาขึ้นมามีบทบาทนำในเวทีโลกมากขึ้น”
ผู้อำนวยการประจำประเทศไทย กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ระบุว่า ประเด็นของจีนเกี่ยวกับการดำเนินการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีสองด้าน ด้านหนึ่งเรื่องปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จีนยังมีความจำเป็นทางเศรษฐกิจที่จะต้องใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยเฉพาะถ่านหิน และในแง่ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเฉลี่ยต่อหัวประชากรยังถือว่ามีอัตราการปล่อยที่น้อย
ขณะที่อีกด้านหนึ่ง จีนเป็นยักษ์ใหญ่ทางด้านพลังงานหมุนเวียน แผงโซลาเซลล์ที่นำเข้ามาในประเทศไทยทั้ง 100% น่าจะผลิตในจีน กังหันลมของบริษัทเยอรมนีหรือบริษัทในยุโรปก็ผลิตจากจีน ดังนั้น สิ่งหนึ่งที่จีนจะเข้ามามีบทบาทสำคัญ คือการขยายตลาดมายังเอเชียแปซิฟิกให้มากขึ้น
ธารา กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นเหมือน “ดาบสองคม” เพราะไม่ได้หมายความว่าจีนมาแล้วเราจะได้ประโยชน์ในเชิงบวกอย่างเดียว ถ้าประเทศไทยไม่มีนโยบายการลงทุนที่เข้มแข็งพอ แม้จะเป็นการลงทุนในพลังงานสีเขียว แต่ต้องเป็นการลงทุนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนด้วย และต้องมีการกรองและจัดเตรียมนโยบายและกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมให้ชัดเจน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการใช้ช่องทาง “ซิกแซ็ก” ซึ่งทำให้เขาไม่จำเป็นต้องลงทุนในการปกป้องสิ่งแวดล้อม
“ผมคิดว่าเราจะแย่กว่านี้ เพราะจีนจะมีพาวเวอร์ในการเจรจาและมีอำนาจในการต่อรองมากขึ้น ในเวทีสภาพภูมิอากาศเสียงเขาก็ดังขึ้น พลังในการขยายตลาดพลังงานหมุนเวียนเขาก็จะมากขึ้น” ธารากล่าว และบอกว่า “เราต้องจับตาดูด้วย เพราะตอนนี้ประเทศไทยก็กลายเป็นถังขยะของทุนจีนสีเทาที่มาประกอบกิจการรีไซเคิล และไม่ได้ตรวจตราตรวจสอบ พอเข้ามาก็สร้างปัญหาให้กับระบบนิเวศและชุมชน”
5. จะเกิดอะไรขึ้นในการประชุม COP29 สัปดาห์หน้า
ในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 29 หรือ COP29 ในสัปดาห์หน้า ระหว่างวันที่ 11-22 พ.ย. สาธารณรัฐอาเซอร์ไบจาน คณะเจรจาภายใต้ประธานาธิบดีโจ ไบเดน จะยังคงทำหน้าที่เจรจาอยู่ แต่ข้อตกลงใด ๆ ที่จะเกิดใน COP29 จะไม่มีผลผูกพันใด ๆ ต่อรัฐบาลของโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งจะมีพิธีสาบานตนในต้นปีหน้า
“สหรัฐฯ และการประชุม COP ในครั้งนี้ ไม่ได้เป็นเพียงเป็ดง่อย แต่มันคือเป็ดที่ตายแล้ว” ศาสตราจารย์ริชาร์ด เคลน ผู้เชี่ยวชาญนโยบายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งสถาบันสิ่งแวดล้อมสตอกโฮล์ม กล่าว
“พวกเขาไม่สามารถให้คำมั่นใด ๆ ได้เลย และนั่นหมายความว่าประเทศต่าง ๆ อย่างเช่นจีน ก็จะไม่ต้องการที่จะให้คำมั่นใด ๆ ด้วย”
ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ประเทศร่ำรวยอย่างสหรัฐฯ, สหราชอาณาจักร และชาติในยุโรป ได้พยายามเพิ่มการระดมทุนสำหรับประเทศกำลังพัฒนาเพื่อต่อสู้กับความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ แต่พวกเขาก็ยืนยันด้วยว่า ประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่กำลังพัฒนาก็ควรยื่นมือมาช่วยด้วย
“โดยพื้นฐานแล้ว สหรัฐฯ ต้องการให้จีนควักเงินจำนวนหนึ่งสำหรับกองทุนดังกล่าวเช่นกัน แต่ตอนนี้พวกเขาคงทำไม่ได้แล้ว นั่นทำให้จีนรอดตัวไป” ศ.เคลน ระบุ
ที่มา BBC.co.uk