50 ปี การค้นพบฟอสซิล “ทวดลูซี่” เปิดบทใหม่ประวัติศาสตร์วิวัฒนาการมนุษย์อย่างไร
Article data
- Creator, บีบีซีนิวส์ มุนโด
- Role, (แผนกภาษาสเปน)
เมื่อครึ่งศตวรรษก่อน ในช่วงเช้าของวันอาทิตย์ปลายเดือนพฤศจิกายน ปี 1974 ทีมนักวิจัยด้านมานุษยวิทยากลุ่มหนึ่ง กำลังทำการขุดค้นที่ภูมิภาคอะฟาร์อันห่างไกลของประเทศเอธิโอเปีย
ระหว่างการสำรวจพื้นที่ดังกล่าว โดนัลด์ โจแฮนสัน นักบรรพมานุษยวิทยาผู้ร่วมทีม ได้ค้นพบกระดูกข้อศอกขนาดเล็กชิ้นหนึ่ง ซึ่งเขาทราบได้ในทันทีว่ามันคือกระดูกของบรรพบุรุษมนุษย์ ต่อมาเขายังได้พบชิ้นส่วนกระดูกที่คล้ายกับจะเป็นของร่างเดียวกันอีกจำนวนมาก
“เมื่อผมเหลียวมองไปทางซ้าย ก็พบเศษชิ้นส่วนกะโหลกศีรษะตกอยู่ นอกจากนี้ยังมีชิ้นส่วนกระดูกขากรรไกร และกระดูกสันหลังอีกสองสามชิ้นด้วย” โจแฮนสันเล่า “ในที่สุดเราก็รู้ว่า พวกมันคือชิ้นส่วนฟอสซิลจากโครงกระดูกที่มีอายุเก่าแก่ถึงกว่าสามล้านปี”
ซากร่างที่โจแฮนสันกล่าวถึงข้างต้น คือสิ่งมีชีวิตในวงศ์ลิงใหญ่และมนุษย์หรือ “โฮมินิด” (hominid) ซึ่งมีอายุเก่าแก่มากที่สุดเท่าที่เคยมีการค้นพบมาในยุคนั้น โดยชิ้นส่วนฟอสซิลที่ยังเหลืออยู่คิดเป็น 40% ของทั้งหมด ทำให้มันเป็นซากร่างของโฮมินิดที่อยู่ในสภาพสมบูรณ์ที่สุดของโลกอีกด้วย
คืนนั้นเมื่อโจแฮนสันกลับมาที่ค่ายพัก เขาเปิดเพลงของวงเดอะบีเทิลส์จากตลับเทปคาสเซ็ต และได้ยินเสียงบรรเลงเพลง “ลูซี่บนท้องฟ้าประดับเพชร” (Lucy in the Sky with Diamonds) ดังขึ้นมา
Skip เรื่องแนะนำ and proceed finding outเรื่องแนะนำ
Smash of เรื่องแนะนำ
ฟอสซิลที่ไม่ธรรมดา
เมื่อคาดการณ์จากขนาดของชิ้นส่วนกระดูก โจแฮนสันเชื่อว่าร่างดังกล่าวเป็นโฮมินิดเพศหญิง สอดคล้องกับชื่อ “ลูซี่” ในเพลงดังกล่าวพอดี ดังนั้นเมื่อสมาชิกผู้ร่วมทีมขุดค้น แนะนำให้เขาตั้งชื่อโครงกระดูกตามเพลงที่บรรเลงอยู่ โจแฮนสันจึงเห็นด้วยทันที “จู่ ๆ เธอก็กลายเป็นคนผู้หนึ่งขึ้นมา” เขากล่าว
อย่างไรก็ตาม ทีมวิจัยใช้เวลาศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมอีกถึง 4 ปี ก่อนที่พวกเขาจะสามารถให้คำอธิบายที่ชัดเจนเกี่ยวกับร่างของบรรพบุรุษมนุษย์เพศหญิงนี้ได้
ผลการศึกษาชี้ว่า ลูซี่เป็นโฮมินิดในชนิดพันธุ์หรือสปีชีส์ที่มีการค้นพบใหม่ ชื่อว่า “ออสตราโลพิเทคัส อะฟาเรนซิส” (Australopithecus afarensis) แต่ก็ยังคงมีคำถามที่เป็นปริศนาเกี่ยวกับตัวเธออีกมากมาย เช่นลูซี่อายุเท่าไหร่ในตอนที่เสียชีวิต ? เธอมีลูกหลานหรือไม่ ? ทายาทของลูซี่คือบรรพบุรุษสายตรงของมนุษย์ในยุคปัจจุบันหรือไม่ ? พวกเขาคือห่วงโซ่ที่หายไปในการสืบสายวิวัฒนาการมนุษย์ใช่หรือไม่ ?
40 ปีต่อมา นักวิทยาศาสตร์สามารถตอบคำถามข้างต้นไปได้บางส่วน ทั้งยังพบข้อมูลใหม่เพิ่มเติมอีก เช่นแม้ลูซี่จะเป็นโฮมินิดในสปีชีส์ที่ค้นพบใหม่ แต่ก็ไม่ใช่ฟอสซิลของออสตราโลพิเทคัสที่ถูกค้นพบเป็นร่างแรก เพราะเจ้าของตำแหน่งดังกล่าวคือกะโหลกศีรษะของ “เด็กเมืองตาอุง” (Taung Child) เด็กชายที่เคยมีชีวิตอยู่เมื่อ 2.8 ล้านปีก่อน ในทางตอนใต้ของแอฟริกา
ฟอสซิลกะโหลกศีรษะของเด็กเมืองตาอุง ถูกค้นพบตั้งแต่ปี 1924 โดยเรย์มอนด์ ดาร์ต นักกายวิภาคเป็นผู้ตรวจวิเคราะห์ซากฟอสซิลดังกล่าว ซึ่งในตอนแรกเขาคิดว่ามันเป็นโฮมินิดอีกสปีชีส์หนึ่ง จึงตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ให้ว่า ออสตราโลพิเทคัส แอฟริกานัส (Australopithecus africanus)
แต่เมื่อโจแฮนสันได้เห็นฟอสซิลกะโหลกศีรษะของเด็กชายยุคโบราณ เขาถึงกับบอกว่า “มองเพียงแวบเดียวผมก็รู้ได้ว่า สิ่งที่ถืออยู่ในมือไม่ใช่อวัยวะบรรจุสมองของสัตว์ตระกูลมนุษย์ธรรมดา มันแสดงถึงขนาดสมองที่ใหญ่กว่าลิงบาบูนสามเท่า และใหญ่กว่าสมองของลิงชิมแปนซีที่โตเต็มวัยพอสมควร”
กำเนิดมนุษย์ในทวีปแอฟริกา
ฟันของเด็กเมืองตาอุงยังมีความคล้ายคลึงกับฟันของมนุษย์มากกว่าลิงใหญ่ ผลวิเคราะห์ของดาร์ตยังชี้ว่า เด็กชายจากยุคโบราณหลายล้านปีก่อนผู้นี้ สามารถเดินตัวตรงด้วยสองขาได้เหมือนกับคนในปัจจุบัน เพราะส่วนฐานของกะโหลกศีรษะตรงที่กระดูกสันหลังมาบรรจบกับสมองนั้น มีลักษณะเหมือนมนุษย์อย่างไม่ผิดเพี้ยน
ฟอสซิลของเด็กเมืองตาอุงยังเป็นหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ชิ้นแรก ที่ชี้ว่าเผ่าพันธุ์มนุษย์มีต้นกำเนิดจากทวีปแอฟริกา แต่ในตอนที่ดาร์ตตีพิมพ์เผยแพร่ผลการศึกษาของเขานั้น เหล่าผู้เชี่ยวชาญพากันวิพากษ์วิจารณ์คัดค้านเขาอย่างหนัก เพราะในยุคนั้นเชื่อกันว่า ภูมิภาคยุโรปและเอเชียมีความสำคัญเหนือกว่าในฐานะแหล่งกำเนิดวิวัฒนาการมนุษย์
จนต่อมาเมื่อมีการค้นพบฟอสซิลของลูซี่แล้ว บรรดานักมานุษยวิทยาจึงยอมรับกันโดยดีว่า สัตว์ในสกุลออสตราโลพิเทคัสไม่ได้มีแต่ลิงใหญ่เท่านั้น แต่ยังรวมถึงบรรพบุรุษมนุษย์ในยุคดึกดำบรรพ์ด้วย
หลายคนอาจสงสัยว่า ซากฟอสซิลของลูซี่ที่เสียหายกระจัดกระจายนี้ แท้จริงแล้วมีรูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไรในตอนที่ยังมีชีวิตอยู่ ? เหล่านักวิทยาศาสตร์ในปัจจุบันให้คำตอบว่า กะโหลกศีรษะ ขากรรไกร และฟันของลูซี่นั้น คล้ายกับลิงใหญ่มากกว่าสัตว์ในสกุลออสตราโลพิเทคัสชนิดอื่น ส่วนช่องว่างที่ใช้บรรจุสมองก็ค่อนข้างเล็ก โดยไม่ได้มีขนาดใหญ่ไปกว่าสมองของชิมแปนซีเท่าใดนัก นอกจากนี้ยังมีขากรรไกรที่ใหญ่และหนา หน้าผากเล็กแคบ สองแขนห้อยยาวลงมาข้างลำตัว
โจแฮนสันบอกได้ทันทีว่า ลูซี่ต้องเดินตัวตรงด้วยสองขาอย่างแน่นอน เพราะรูปทรงรวมทั้งตำแหน่งของกระดูกอุ้งเชิงกราน เข่า และข้อเท้า ล้วนบ่งชี้ถึงพฤติกรรมดังกล่าว ซึ่งข้อเท็จจริงนี้สนับสนุนแนวคิดที่ว่า ความจำเป็นที่คนเราจะต้องเดินแบบตัวตั้งตรง คือแรงผลักดันหนึ่งที่ทำให้มนุษย์เกิดวิวัฒนาการขึ้น
ชีวิตบนต้นไม้
โฮมินิดในยุคแรกเริ่มไม่จำเป็นต้องมีสมองขนาดใหญ่เป็นพิเศษ เพื่อที่จะแยกสายวิวัฒนาการออกจากลิงใหญ่ แต่ลักษณะดังกล่าวเริ่มปรากฏขึ้นในอีก 1 ล้านปีต่อมา พร้อมกับการถือกำเนิดของมนุษย์โบราณ “โฮโม อีเร็กตัส” (Homo erectus)
แม้ขนาดสมองจะมีความสำคัญอย่างมากต่อวิวัฒนาการของคนเราในยุคถัดมา แต่การเดินตัวตรงด้วยสองขานั้น ถือเป็นเอกลักษณ์สำคัญอย่างหนึ่งของมนุษย์เช่นกัน ซึ่งบรรพบุรุษมนุษย์อย่างลูซี่ที่เคยอาศัยอยู่บนต้นไม้ในป่า อาจเริ่มลงมาเดินบนพื้นแบบตัวตั้งตรงแทนการปีนป่ายห้อยโหน เพราะต้องการเอื้อมจับกิ่งไม้เตี้ย ๆ ที่เรี่ยดินอยู่ก็เป็นได้
คริส สตริงเกอร์ นักวิจัยจากพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยากรุงลอนดอนบอกว่า ทุกวันนี้นักวิทยาศาสตร์ก็ยังไม่ทราบชัดว่าเหตุใดลูซี่และพวกพ้องของเธอจึงทำเช่นนั้น แต่ก็มีผู้เสนอสมมติฐานว่า บรรพบุรุษมนุษย์ในรุ่นดังกล่าวอาจต้องการหาอาหารที่ตกอยู่ตามพื้นดิน หรือแสวงหาพืชผลที่อยู่ใกล้กับพื้นดินมากขึ้น หลักฐานที่พบเมื่อไม่นานมานี้ยังบ่งชี้ว่า มีความเปลี่ยนแปลงในเรื่องการกินอาหารของออสตราโลพิเทคัสในยุคนั้นด้วย
ร่องรอยที่พบในฟอสซิลฟันของลูซี่และโฮมินิดอีกหลายชนิดพันธุ์ บ่งชี้ว่าเริ่มมีการกินอาหารที่หลากหลายมากขึ้นเมื่อราว 3.5 ล้านปีก่อน โดยนอกจากจะกินผลไม้แล้ว ยังมีการกินต้นหญ้า ต้นอ้อ หรือต้นกกบางชนิด และอาจจะกินเนื้อด้วย ซึ่งอาจเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม ทำให้การเดินตัวตรงด้วยสองขากลายมาเป็นสิ่งที่จะขาดเสียมิได้ สำหรับการเคลื่อนตัวออกไปค้นหาอาหารได้อย่างรวดเร็ว
บางคนอาจสงสัยว่า ลูซี่กับพวกพ้องรู้จักปรุงอาหารชนิดใหม่นี้หรือไม่ ? แต่ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์ก็ยังไม่พบหลักฐานเป็นเครื่องไม้เครื่องมือใด ๆ ที่ช่วยในการทำครัว เหมือนกับที่พบในมนุษย์โบราณยุคหลังอย่างโฮโม อีเร็กตัส
อย่างไรก็ตามในปี 2010 มีการค้นพบกระดูกสัตว์ที่มีรอยกรีดเฉือนด้วยเครื่องมือหิน ซึ่งอาจเป็นของที่ออสตราโลพิเทคัสใช้ในเวลากินเนื้อสัตว์ก็เป็นได้
สังคมของบรรพบุรุษมนุษย์
จากหลักฐานที่พบในแหล่งฟอสซิลฮาดาร์ของเอธิโอเปีย ดูเหมือนว่าลูซี่จะอาศัยอยู่กับเครือญาติในลักษณะของกลุ่มสังคมขนาดย่อม ซึ่งเพศหญิงจะตัวเตี้ยเล็กกว่าเพศชาย ทำให้มีความเป็นไปได้ว่าสังคมของพวกเขาอาจยกให้ชายเป็นใหญ่
นอกจากนี้ยังเป็นไปได้สูงว่า กลุ่มของลูซี่อาจเป็นสังคมผัวเดียวหลายเมีย (polygamy) เหมือนกับสังคมของลิงกอริลลา เพราะโดยทั่วไปแล้วเมื่อสัตว์เพศผู้มีขนาดใหญ่กว่า มันจะสามารถปกครองเพศเมียได้ครั้งละหลายตัว
หลักฐานจากฟอสซิลยังชี้ว่า ช่วงเวลาวัยเด็กของลูซี่นั้นสั้นกว่ามนุษย์ในทุกวันนี้มาก เพราะดูเหมือนว่าเธอต้องต่อสู้ป้องกันตัวเองจากภยันตรายต่าง ๆ มาตั้งแต่อายุยังน้อย อย่างไรก็ตาม ในตอนที่ลูซี่เสียชีวิตเธออยู่ในวัยผู้ใหญ่แล้ว เพราะกระดูกชิ้นต่าง ๆ เชื่อมต่อกันสนิทดี ทั้งยังมีฟันกรามซี่ในสุดที่คนปัจจุบันเรียกว่าฟันคุดขึ้นมาแล้ว
อย่างไรก็ตาม ลูซี่แตกต่างจากมนุษย์ยุคปัจจุบันตรงที่เธอและพวกพ้องโตเต็มวัยเร็วกว่ามาก สมองของพวกเขาพัฒนาสู่จุดที่ถือว่าโตเต็มที่ได้เร็วกว่า และเธอตายจากไปตอนที่มีอายุได้เพียง 12 ปีเท่านั้น
หากจะกล่าวโดยสรุปแล้ว ลูซี่คือสิ่งมีชีวิตที่อยู่ตรงกึ่งกลางระหว่างลิงใหญ่กับมนุษย์ ส่วนตำแหน่งแห่งที่ของเธอในแผนผังสายวิวัฒนาการมนุษย์นั้น ถือได้ว่าเป็น “ผู้มาทีหลัง” เพราะผลตรวจวิเคราะห์พันธุกรรมล่าสุดชี้ว่า มนุษย์อาจแยกสายวิวัฒนาการออกจากการมีบรรพบุรุษร่วมกับชิมแปนซีอย่างเร็วที่สุด เมื่อราว 13 ล้านปีก่อน แต่เผ่าพันธุ์ของลูซี่กลับแยกสายวิวัฒนาการออกมาหลังจากนั้น ทำให้แนวคิดดั้งเดิมที่ว่า ออสตราโลพิเทคัส อะฟาเรนซิส คือบรรพบุรุษสายตรงของมนุษย์ มีอันต้องตกไป
อันที่จริงแล้ว การสืบสายวิวัฒนาการของมนุษย์นั้นมีความซับซ้อนกว่าที่เราคิดมาก ตัวอย่างเช่นโฮมินิดในยุคแรกเริ่มนั้นมีถึงกว่า 20 สายพันธุ์ โดยทั้งหมดดำรงชีวิตอยู่ร่วมสมัยกัน และอาจมีการผสมข้ามสายพันธุ์กันไปมาได้ด้วย ทำให้เราไม่อาจทราบได้ว่า โฮมินิดชนิดพันธุ์ใดที่สูญพันธุ์หมดสิ้นไป และโฮมินิดชนิดพันธุ์ใดที่อยู่รอด รวมทั้งให้กำเนิดมนุษย์ยุคใหม่หรือโฮโมเซเปียนส์ขึ้นมา
จุดเปลี่ยนผันและแรงบันดาลใจจากลูซี่
แต่ถึงกระนั้น ดร.ทิม ไวท์ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียของสหรัฐฯ ยังคงเชื่อว่า เผ่าพันธุ์ของลูซี่มีความเป็นไปได้มากที่สุดที่จะเป็นบรรพบุรุษสายตรงของมนุษย์ แต่นักวิทยาศาสตร์จำเป็นจะต้องหาหลักฐานเพิ่มเติม โดยเฉพาะอย่างยิ่งฟอสซิลจากยุคเดียวกันมายืนยันความถูกต้อง “ผมเชื่อมั่นว่าเราจะพบฟอสซิลจากยุคนั้นอีกอย่างแน่นอน เพราะในเอธิโอเปียเราพบแหล่งศึกษาฟอสซิลจากช่วงเวลาเดียวกันแล้วถึง 4 แห่ง” ดร. ไวท์กล่าว
ด้านโจแฮนสันมองว่า คุณประโยชน์ข้อสำคัญที่สุดที่การค้นพบลูซี่มีต่อวงการวิทยาศาสตร์นั้น คือการจุดประกายให้เกิดความตื่นตัวต่อการทำวิจัยหลายระลอก ซึ่งส่งผลเป็นการค้นพบโฮมินิดชนิดพันธุ์ใหม่ ๆ อย่างเช่นอาร์ดิพิเทคัส (Ardipithecus) และออสตราโลพิเทคัส เซดิบา (A. sediba)
การค้นพบเหล่านี้ทำให้นักวิทยาศาสตร์ยุคปัจจุบันได้ทราบว่า เส้นทางวิวัฒนาการมนุษย์นั้นยอกย้อนซับซ้อนและไม่เป็นเส้นตรงอย่างที่เคยคิดกัน ธรรมชาติได้ทำการทดลองอย่างหลากหลาย จนมีเผ่าพันธุ์มนุษย์เกิดขึ้นและดับสูญไปแล้วมากมาย
เช่นเดียวกับในทุกปี ทีมวิจัยของโจแฮนสันมีแผนจะลงมือขุดค้นอีกครั้งในภูมิภาคอะฟาร์ของเอธิโอเปีย ซึ่งเป็นสถานที่ที่พวกเขาค้นพบลูซี่มาก่อน แม้ที่ผ่านมาจะไม่เคยพบชิ้นส่วนของเธอเพิ่มเติมอีกเลย แต่ก็ได้พบฟอสซิลกระดูกของบรรพบุรุษมนุษย์ที่เก่าแก่กว่าหลายชิ้น ซึ่งไม่ต้องสงสัยเลยว่า สิ่งนี้จะทำให้ลูซี่ยังคงมีความสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์วิวัฒนาการมนุษย์ตลอดไป
ที่มา BBC.co.uk