UN ประณามไทยละเมิดกฎหมายสิทธิ หลังตัดสินใจส่งตัวผู้เห็นต่างชาวกัมพูชากลับประเทศ 6 รายเมื่อวันที่ 24 พ.ย. ย้ำชัดการกระทำเช่นนี้เป็นการละเมิดกฎหมายอุ้มหายของไทยเอง ขณะฮิวแมนไรท์วอทช์จี้ทางการไทยหยุดร่วมมือกัมพูชาตามล่าผู้เห็นต่างข้ามชาติ
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่าเมื่อวันที่ 27 พ.ย.ที่ผ่านมา สำนักข่าวเรดิโอฟรีเอเชีย (RFA) ของสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศกัมพูชาได้รายงานข่าวกรณีที่ทางการไทยได้ผลักดันผู้เห็นต่างทางการเมืองชาวกัมพูชาจำนวนหกรายออกนอกประเทศ การกระทำเช่นนี้ทางสหประชาชาติหรือยูเอ็นได้ออกมาประณามว่าเป็นการกระทำที่ละเมิดความมุ่งมั่นต่อหลักการไม่ส่งกลับ ซึ่งห้ามไม่ให้รัฐดำเนินการส่งกลับผู้คนไปยังประเทศที่พวกเขาอาจเผชิญกับการทรมานหรือการละเมิดสิทธิมนุษยชนอื่น ๆ ตามการให้สัมภาษณ์ของโฆษก สํานักงานผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติที่ให้ไว้ต่อ RFA
นักกิจกรรมทั้งหกคนดังกล่าวนั้นอยู่ในสังกัดพรรคการเมือง Cambodia Nationwide Rescue Occasion ซึ่งเป็นพรรคที่ถูกแบนในกัมพูชา โดยก่อนหน้านี้มีข้อมูลว่ามีผู้เยาว์คนหนึ่งถูกทางการไทยเนรเทศกลับกัมพูชาเมื่อวันที่ 24 พ.ย.ที่ผ่านมา ขณะที่ผู้ใหญ่จำนวนอีกจำนวนหกรายพบว่าเป็นผู้ที่หนีออกจากกัมพูชาเมื่อปี 2565 โดยหลังหนีออกมาไม่นานพวกเขาก็ถูกตั้งข้อหากบฏ
มีข้อมูลว่าตอนนี้นักกิจกรรมอีกหกรายที่เป็นผู้ใหญ่ดังกล่าวถูกขังแยกออกจากกันในเรือนจำสามแห่งในประเทศกัมพูชา จากข้อมูลทางการเรือนจำที่กัมพูชาระบุว่าผู้เยาว์ที่ถูกทางการไทยส่งตัวกลับนั้นถูกปล่อยตัวให้ไปอยู่กับครอบครัวแล้ว เมื่อเขาเดินทางไปถึงกัมพูชา
นางวิเวียน ถัน โฆษกข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติหรือ UNHCR กล่าวว่าการตัดสินใจดังกล่าวนั้นเป็นการละเมิดต่อ กฎหมายภายในประเทศของประเทศไทยคุ้มครองผู้ที่อาจเผชิญกับอันตรายเมื่อกลับไปที่บ้านเกิด
“”UNHCR มีความกังวลอย่างยิ่งต่อการเนรเทศผู้ลี้ภัยชาวกัมพูชาของไทย ซึ่งละเมิดหลักการไม่ส่งกลับ” นางถันกล่าวผ่านอีเมลไปยัง RFA กัมพูชา และกล่าวต่อว่าหลักการนี้กําหนดให้รัฐที่มีความผูกพันรวมถึงประเทศไทยต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่าไม่มีบุคคลใดถูกขับไล่หรือส่งกลับไปยังดินแดนที่ชีวิตหรือเสรีภาพของพวกเขาอาจตกอยู่ในความเสี่ยงอันตราย
“UNHCR เรียกร้องให้ประเทศไทยยึดมั่นในคํามั่นสัญญาภายใต้กฎหมายภายในประเทศและอนุสัญญาระหว่างประเทศ รวมถึงพระราชบัญญัติการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับให้สูญหาย เพื่อรักษาหลักการไม่ส่งกลับ” นางถันกล่าว
อนึ่งประเทศไทยได้ผ่านกฎหมายที่นางถันกล่าวถึงไปเมื่อปี 2565 และมีผลบังคับใช้ในปี 2566 ซึ่งรายละเอียดกฎหมายระบุว่าให้การทรมานและการบังคับให้สูญหายเป็นอาชญากรรม และปกป้องหลักการไม่ส่งกลับ
นางถันกล่าวว่าเธอตั้งข้อสังเกตว่าเด็กคนหนึ่งซึ่งเป็นหลานชายวัย 7 ขวบของนักกิจกรรมคนหนึ่งเป็นหนึ่งในผู้ที่ถูกเนรเทศ ซึ่งเรืองนี้ เป็นเรื่องที่น่าตกใจเนื่องจากขัดกับหลักการของการกระทําเพื่อประโยชน์สูงสุดของเด็ก ตามที่พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กของประเทศไทยและกฎหมายอื่นๆ กําหนด
มีรายงานว่านักกิจกรรมชาวกัมพูชาคนอื่นที่ยังอยู่ในประเทศไทยให้สัมภาษณ์ RFA ว่าตอนนี้พวกเขากังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยและต้องอาศัยด้วยความกลัวว่าจะมีใครมาเคาะประตูบ้าน
นายเพน บุนธรกล่าวว่าชุมชนผู้เห็นต่างชาวกัมพูชาที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ มองว่าการเนรเทศเมื่อวันที่ 24 พ.ย. เป็นลางสังหรณ์ของสิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมา และเหล่าผู้เห็นต่างตอนนี้กําลังใช้ชีวิตด้วยความกลัวว่าทางการไทยจะมาเยี่ยมเยียนมากขึ้น
ทางด้านของนายบึง โกฟฮูน ผู้เห็นต่างอีกรายกล่าวว่านับตั้งแต่การเนรเทศผู้ลี้ภัยชาวกัมพูชาจำนวนหกคน ผู้ลี้ภัยชาวกัมพูชาอีกจำนวนเกือบนับร้อยคนก็ต้องหนีจากห้องเช่าของพวกเขา เพื่อไปหาที่อยู่อาศัยใหม่และตกลงที่จะหยุดการนัดพบปะกัน
นายบึงได้กล่าวต่อไปโดยเรียกร้องให้สํานักงานผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติเร่งดําเนินการอย่างเป็นทางการเพื่อช่วยเหลือผู้ลี้ภัยในการหาการตั้งถิ่นฐานใหม่ในประเทศที่สามก่อนที่ชาวกัมพูชาจะถูกจับกุมและเนรเทศมากขึ้น
ทางด้านของนางเอเลน เพียร์สัน ผู้อํานวยการกิจการเอเชียของฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าวว่ารัฐบาลไทยควรหยุดร่วมมือกับกัมพูชาเพื่อช่วยไล่ล่าพรรคการเมืองที่ถูกยุบสภาเมื่อเจ็ดปีก่อน
“เจ้าหน้าที่ไทยเนรเทศผู้ลี้ภัยชาวกัมพูชาเหล่านี้โดยเพิกเฉยต่อหลักการคุ้มครองผู้ลี้ภัยขั้นพื้นฐานอย่างโจ่งแจ้ง” นางเพียร์สันกล่าวผ่านอีเมลที่ส่งมายัง RFAและกล่าวว่าทางการไทยไม่ควรสมรู้ร่วมคิดในการข่มเหงผู้วิพากษ์วิจารณ์ข้ามชาติของรัฐบาลกัมพูชา
เรียบเรียงจาก:https://www.rfa.org/english/cambodia/2024/11/27/cambodia-refugees-refoulement/
ที่มา สำนักข่าวอิศรา ( isranews.org )