“ปีศาจที่เรารู้จัก” หรือ ภัยคุกคามที่เพิ่มขึ้น ? ภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกของอิสราเอลต่อเหตุสู้รบในซีเรีย

ที่มาของภาพ, Getty Photos

คำบรรยายภาพ, กลุ่มติดอาวุธต่อต้านระบอบการปกครองของรัฐบาลซีเรียได้เข้ายึดครองดินแดนในประเทศเพิ่มขึ้น

Article data

  • Author, มูฮันนัด ตูตุนจิ
  • Position, บีบีซีแผนกภาษาอารบิก

มีรายงานว่ากองกำลังกบฏทางตอนใต้ของซีเรียได้ยึดครองพื้นที่ส่วนใหญ่ของภูมิภาคเดรา ซึ่งเคยเป็นจุดกำเนิดการลุกฮือต่อต้านประธานาธิบดีบาซาร์ อัล-อัสซาด เมื่อปี 2011

ด้านกลุ่มกบฏบอกกับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า พวกเขาได้บรรลุข้อตกลงให้กองทัพถอนตัวออกจากพื้นที่และให้เจ้าหน้าที่ทหารเคลื่อนกำลังพลไปยังกรุงดามากัสอย่างปลอดภัย ซึ่งอยู่ห่างออกไปราว 100 กิโลเมตร

นอกจากนี้ยังมีรายงานว่ากลุ่มกบฎที่นำโดยกลุ่มอิสลามทางตอนเหนือของซีเรียอ้างว่าเคลื่อนพลถึงชานเมืองฮอมส์แล้ว แต่บีบีซีไม่สามารถตรวจสอบข้อมูลเหล่านี้ได้อย่างอิสระ

ขณะที่กลุ่มสังเกตการณ์สิทธิมนุษยชนซีเรียหรือเอสโอเอชอาร์ (Syrian Observatory for Human Rights -SOHR) ซึ่งเป็นหน่วยติดตามการสู้รบจากสหราชอาณาจักร กล่าวเมื่อวันศุกร์ (6 ธ.ค.) ว่า ขณะนี้กลุ่มกบฏทางตอนใต้เข้าควบคุมพื้นที่มากกว่า 90% ของภูมิภาคเดรา และมีเพียงพื้นที่ซานามายน์เท่านั้นที่อยู่ในมือของรัฐบาล

เมืองเดรามีความสำคัญทั้งในเชิงกลยุทธ์และเชิงสัญลักษณ์ เนื่องจากมันเป็นเมืองหลักในจังหวัดที่อยู่ใกล้กับจุดผ่านแดนหลักของซีเรียที่ติดต่อกับจอร์แดน และที่นี่ยังเป็นจุดกำเนิดการประท้วงเพื่อประชาธิปไตยซึ่งเกิดขึ้นเมื่อปี 2011 และส่งผลให้ประเทศตกอยู่ในสภาวะสงครามการเมืองจนถึงตอนนี้ ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนไปมากกว่า 500,000 คน

Skip เรื่องแนะนำ and proceed readingเรื่องแนะนำ

Quit of เรื่องแนะนำ

ขณะที่ความขัดแย้งของซีเรียทวีความรุนแรงขึ้น เป็นอีกครั้งที่อิสราเอลต้องทบทวนเป้าประสงค์ที่ไม่เคยเอื้อนเอ่ยออกมาว่าพวกเขาจะสนับสนุนระบอบการปกครองของประธานาธิบดีอัสซาดหรือไม่

นายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู ของอิสราเอลได้จัดการประชุมแล้ว 2 ครั้ง เพื่อหารือเกี่ยวกับสถานการณ์ที่กำลังพัฒนาการขึ้นของประเทศเพื่อนบ้าน

ขณะที่กองทัพของอิสราเอลได้วางกำลังของตนให้อยู่ในความตื่นตัวสูง เพราะกังวลว่าอาจเกิดสถานการณ์ที่กระทบต่อความมั่นคงบริเวณที่ราบสูงโกลัน ซึ่งเป็นดินแดนทางตะวันตกเฉียงใต้ของซีเรียที่ถูกยึดครองโดยอิสราเอล

นับตั้งแต่เกิดสงครามกลางเมืองในซีเรีย อิสราเอลก็มีส่วนร่วมอย่างแข็งขัน โดยเปิดการโจมตีทางอากาศตั้งแต่ปี 2015 ต่อเป้าหมายในซีเรียและเลบานอน ซึ่งพวกเขาอ้างว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับอิหร่านและฮิซบอลเลาะห์

ก่อนหน้านี้ อิสราเอลได้สนับสนุนกลุ่มต่อต้านที่ต่อสู้กับกองทัพซีเรียตามแนวชายแดนอิสราเอล-ซีเรีย อย่างลับ ๆ ไม่ว่าจะเป็นความช่วยเหลือทางการแพทย์ เสบียงอาหาร การฝึกซ้อมรบทางทหาร รวมถึงการจัดหาอาวุธ จากการเปิดเผยของสื่อและเจ้าหน้าที่อิสราเอลในภายหลัง

การรุดคืบอย่างรวดเร็วของกองกำลังต่อต้านในซีเรีย ซึ่งนำโดยกลุ่มฮายัต ทาห์รีร์ อัล-ชาม หรือ เอชทีเอส (Hayat Tahrir al-Sham-HTS) รวมถึงการเข้ายึดครองภูมิภาคที่มีความอ่อนไหว ทำให้อิสราเอลเริ่มประเมินภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกนี้อีกครั้งว่าประเทศควรสนับสนุนการรุกคืบของฝ่ายต่อต้านซึ่งมีจุดยืนต่อสู้กับอิหร่านและฮิซบอลเลาะห์ร่วมกัน หรือควรเห็นชอบระบอบการปกครองเดิมของซีเรียที่ยังเอื้อให้อิหร่านยังคงมีอิทธิพลในซีเรียต่อไป แม้ว่าการปกครองของอัสซาดจะไม่ได้เป็นภัยคุกคามโดยตรงของอิสราเอลมานานหลายทศวรรษแล้วก็ตาม

“ภัยคุกคามต่ออิสราเอลที่เพิ่มมากขึ้น”

ที่มาของภาพ, Getty Photos

คำบรรยายภาพ, นักรบกบฏที่นำโดยกลุ่มอิสลาม ฮายัต ทาห์รีร์ อัล-ชาม ได้ยึดดินแดนจากระบอบการปกครองซีเรียได้สำเร็จในการสู้รบรอบใหม่

ฮานัน เกฟเฟน อดีตหัวหน้าข่าวกรองทางทหารของอิสราเอลหน่วย 8200 บอกกับบีบีซีว่าสถานการณ์ในซีเรียนั้นกำลัง “คุกคามอิสราเอลมากขึ้น” เนื่องจากซีเรียนั้นเป็น “เต็มไปด้วย” กิจกรรมของฮิซบอลเลาะห์ ไม่ว่าจะเป็นโรงงานผลิตอาวุธขั้นสูง เช่น โดรน และขีปนาวุธ

เขาอธิบายว่าระบอบการปกครองของอัสซาดที่อ่อนแอ ประกอบกับความสามารถอันจำกัดของอิหร่านในการควบคุมพื้นที่นี้ ทำให้ “สถานการณ์การเมืองในซีเรียกำลังคุกคามอิสราเอลมากขึ้น เมื่อเทียบกับความเป็นไปได้ที่กลุ่มต่อต้านจะเข้าควบคุมกรุงดามากัส”

ผู้เชี่ยวชาญด้านการทหารของอิสราเอลยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่าภายในสถาบันด้านความมั่นคงของอิสราเอลเอง กำลังมีความกังวลมากขึ้นเกี่ยวกับอิทธิพลและอำนาจที่ลดลงของอัสซาด เมื่อเขาเผชิญกับการแทรกแซงทั้งในระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศ นอกจากนี้เขายังรับรู้มาว่าอิสราเอลมีความกังวลเกี่ยวกับการเพิ่มขึ้นของกลุ่มหัวรุนแรงที่กำลังเข้าสู่อำนาจในซีเรียด้วย

เขาชี้ให้เห็นว่าอิสราเอลอาจกำลังเผชิญกับความเสี่ยงใหม่จากกลุ่มต่าง ๆ เช่น กลุ่มติดอาวุธ HTS ซึ่งสหรัฐอเมริกาและอีกหลายประเทศระบุว่าเป็นองค์กรก่อการร้าย จากแนวคิดสุดโต่งของพวกเขา

เขากล่าวว่า “การปรากฏตัวของกลุ่มเหล่านี้ในพื้นที่ชายแดนอาจเป็นภัยคุกคามที่ยิ่งใหญ่กว่าในอนาคต”

กลุ่ม HTS เคยก่อตั้งภายใต้ชื่ออื่น นั่นคือ จาบัต อัล-นุสรา (Jabhat an-Nusra) ซึ่งขึ้นตรงกับกลุ่มอัลกออิดะห์ (Al Qaeda) ในฐานะพันธมิตร และนายอาบู บาการ์ อัล-บักห์ดาดี ผู้นำของกลุ่มรัฐอิสลามหรือไอเอส (Islamic Convey-IS) ก็เป็นส่วนหนึ่งในการร่วมก่อตั้งกลุ่มดังกล่าวเช่นกัน

ถือว่า HTS เป็นหนึ่งในกลุ่มที่มีประสิทธิภาพและอันตรายที่สุดในบรรดากลุ่มต่อต้านประธานาธิบดีอัสซาด

“ปีศาจที่เรารู้จัก”

ที่มาของภาพ, Getty Photos

คำบรรยายภาพ, ประธานาธิบดีบาซาร์ อัล-อัสซาด ปกครองซีเรียมาตั้งแต่ปี 2000 โดยระบอบการปกครองของเขารอดจากการปฏิวัติอาหรับสปริงในปี 2011 แต่ก็ผลักให้ประเทศตกอยู่ในสภาวะสงครามกลางเมือง

ศ.เอยาล ซิสเซอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านกิจการซีเรียและรองอธิการบดี ม.กรุงเทลอาวีฟ อธิบายถึงการล่มสลายของกองทัพซีเรียทางตอนเหนือซึ่งเกิดขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ว่ามันเป็นจุดเปลี่ยนทางยุทธศาสตร์

ซิสเซอร์บอกกับบีบีซีว่าอิสราเอลคุ้นเคยกับการปกครองของอัสซาดมาตั้งแต่เขาเข้าสู่อำนาจในปี 2000 ซึ่งสถานการณ์ชายแดนระหว่างสองประเทศค่อนข้างสงบ

“ความสงบนี้ถูกมองว่าเป็นประโยชน์ต่ออิสราเอล เนื่องจากไม่ได้เห็นการตอบโต้ทางทหารจากรัฐบาลซีเรีย หลังการโจมตีทางอากาศของอิสราเอล” เขากล่าว

นักวิเคราะห์บางคนในอิสราเอลมองว่าการปกครองอย่างต่อเนื่องของอัสซาด ส่งผลดีต่ออิสราเอลมากกว่า โดยอธิบายว่าเขาเป็น “ปีศาจที่เรารู้จัก”

พวกเขาเชื่อว่าการปกครองอย่างต่อเนื่องของอัสซาดทำให้เกิดเสถียรภาพในภูมิภาค อย่างไรก็ตาม คนอื่น ๆ โต้แย้งว่าการสนับสนุนกลุ่มกบฏอาจเป็นประโยชน์ต่ออิสราเอลมากกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่การลดอิทธิพลของอิหร่านและฮิซบอลเลาะห์

“ปล่อยให้ซีเรียล่มสลาย ดีกว่าปล่อยให้ระบอบอัสซาดสิ้นสุดลง”

ที่มาของภาพ, Getty Photos

คำบรรยายภาพ, รัฐบาลซีเรียได้สั่งการโจมตีทางอากาศที่เมืองอเลปโปทางตอนเหนือของประเทศ โดยมุ่งเป้าไปที่กองกำลังกบฏต่อต้าน

เมื่อถามว่าอิสราเอลจะกำหนดทิศทางสถานการณ์ที่มีความซับซ้อนเช่นนี้อย่างไร เกฟเฟนบอกว่า “ผมคงเสนอปล่อยให้ซีเรียล่มสลายไปจะดีกว่าปล่อยให้ระบอบการปกครองหมดสภาพและผลประโยชน์ไปเอง”

เขาเน้นย้ำว่าอิสราเอลจะสามารถปรับตัวให้เข้ากับความเป็นจริงใหม่ที่กำลังเกิดขึ้นในซีเรียได้ เมื่อเวลาผ่านไป

สงครามในซีเรียให้ความรู้สึกว่ามันได้จบลงแล้วตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา จนกระทั่งตอนนี้ การปกครองของอัสซาดตามเมืองใหญ่ต่าง ๆ ยังไม่ถูกคุกคามใด ๆ แม้ว่าส่วนอื่น ๆ ของซีเรียจะอยู่นอกเหนือการควบคุมโดยตรงของเขา

เกฟเฟนตั้งข้อสังเกตว่า สงครามกลางเมืองในซีเรียอาจยืดเยื้อเป็นระยะเวลานาน ทำให้อิสราเอลมีเวลาทบทวนสถานการณ์อย่างรอบคอบและหายุทธศาสตร์ทางเลือกอื่น ๆ ที่ดีขึ้น

เขาสรุปว่า แม้การรุกหน้าของฝ่ายต่อต้านในซีเรียจะเป็นอันตรายต่ออิสราเอล แต่ท้ายที่สุดแล้ว พวกเขาอาจเป็นพันธมิตรที่เอื้ออำนวยมากกว่าระบอบการปกครองปัจจุบันที่เอื้อให้ซีเรียทำหน้าที่เป็นเส้นทางขนส่งอาวุธสำคัญ ๆ จากอิหร่านไปยังฮิซบอลเลาะห์

“การสนับสนุนกบฏไม่ใช่ทางเลือก”

ที่มาของภาพ, Getty Photos

คำบรรยายภาพ, เครื่องบินรบของรัสเซียได้ทำการโจมตีทางอากาศในซีเรีย นับตั้งแต่การสู้รบครั้งใหม่เริ่มต้นขึ้น

แม้อิสราเอลจะสนับสนุนกลุ่มต่อต้านบางกลุ่มในอดีต แต่ซิสเซอร์เชื่อว่า “การสนับสนุนฝ่ายกบฏโดยตรง ไม่ใช่ทางเลือกที่ดีในตอนนี้” โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคเหนือของซีเรีย ซึ่งพบว่ากองกำลังติดอาวุธเหล่านี้มีความสัมพันธ์ที่ดีกับตุรกี ซึ่งเป็นอีกหนึ่งรัฐที่มีความสัมพันธ์อันตึงเครียดกับอิสราเอล

ซิสเซอร์ชี้ให้เห็นว่าแม้อิสราเอลไม่ได้ให้การสนับสนุนระบอบการปกครองของซีเรียโดยตรง แต่ยังสามารถท้าทายอิทธิพลของอิหร่านได้ เช่น การป้องกันไม่ให้เครื่องบินลงจอดที่ซีเรีย หรือขัดขวางการเคลื่อนไหวของกองกำลังติดอาวุธที่ได้รับการสนับสนุนจากอิหร่านผ่านอิรัก เป็นต้น

เขายังเน้นย้ำถึงความสำคัญของรัสเซียในฐานะพันธมิตรที่สำคัญของอัสซาด โดยเตือนว่าการกลับมาของกลุ่มรัฐอิสลามแห่งอิรักและซีเรีย หรือ ไอซิส (Islamic Convey of Iraq and Syria-ISIS) อาจนำความโกลาหลและภัยคุกคามที่ยิ่งใหญ่กว่า ซึ่งส่งผลกระทบต่อทั้งอิสราเอลและระบอบการปกครองของซีเรีย

เพื่อให้ได้รับชัยชนะเหนือกองกำลังติดอาวุธของกลุ่มอิสลามในอดีต อัสซาดไม่สามารถพึ่งพากองทัพที่ขาดอาวุธและเต็มไปด้วยทหารเกณฑ์ไร้แรงจูงใจในการสู้รบ และในไม่ช้าก็ไม่สามารถรักษาตำแหน่งของฐานหลังถูกกลุ่มกบฏโจมตีได้

แทนที่เขากลับพึ่งพาอำนาจทางอากาศของรัสเซีย และความช่วยเหลือทางทหารซึ่งได้รับการสนับสนุนจากอิหร่านกับฮิซบอลเลาะห์ในภาคพื้นดินเป็นอย่างมาก

ซิสเซอร์บอกว่า เป็นไปได้ยากที่อิสราเอลจะเปิดสงครามเต็มรูปแบบในซีเรีย เพื่อสนับสนุนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งในความขัดแย้งดังกล่าว แต่จะดำเนินการอย่างจำกัดต่อเป้าหมายทางทหารที่เชื่อมโยงกับอิหร่านเท่านั้น

การถกเถียงในอิสราเอลเกี่ยวกับอนาคตของอัสซาดนั้นเป็นภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกทางภูมิรัฐศาสตร์ในวงกว้าง ซึ่งหมายถึงเสถียรภาพของอิสราเอล ไม่ว่าจะเป็นการทำงานร่วมกับระบอบการปกครองของอัสซาด หรือเลือกหนุนหลังกองกำลังกลุ่มต่อต้านซึ่งจะนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลง แม้มันจะนำไปสู่ความไม่มั่นคงมากขึ้นก็ตาม

ขณะที่สถานการณ์ในซีเรียยังคงดำเนินต่อไปเรื่อย ๆ อิสราเอลจะต้องกำหนดทิศทางพลวัตที่ซับซ้อนเหล่านี้อย่างระมัดระวัง โดยสมดุลระหว่างผลประโยชน์ทางยุทธศาสตร์ระยะยาว ผนวกกับความกังวลด้านความมั่นคงที่อาจเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลันจากภูมิทัศน์ของซีเรียที่เปลี่ยนแปลงไป