20 ปี สึนามิ รวมภาพถ่ายประวัติศาสตร์ที่โลกไม่ลืม
ในวันที่ 26 ธ.ค. 2547 หรือเมื่อ 20 ปีแล้ว ได้เกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ครั้งประวัติศาสตร์ขนาด 9.1 ที่บริเวณนอกชายฝั่งทะเลของเกาะสุมาตราของอินโดนีเซีย เป็นเหตุให้เกิดคลื่นยักษ์สึนามิขึ้นในมหาสมุทรอินเดีย และซัดทำลายพื้นที่รอบ ๆ ชายฝั่งมหาสมุทรอินเดีย และหนึ่งในนั้นคือ ชายฝั่งทะเลอันดามันในภาคใต้ของไทย
พิบัติภัยครั้งนั้นได้คร่าชีวิตผู้คนไปกว่า 228,000 ราย ในจำนวนนั้นเป็นคนไทยที่ทั้งเสียชีวิตและสูญหายราว 8,800 ราย ในหลายจังหวัดริมชายฝั่งทะเลอันดามัน เช่น ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล
ผ่านมาแล้วสองทศวรรษ เหตุการณ์ครั้งนั้นสำหรับหลายคนยังไม่เคยลืมเลือน และได้กลายเป็นบทเรียนที่สำคัญในการเตรียมรับมือและการวางระบบเตือนภัยล่วงหน้าในประเทศไทยด้วย
.รวบรวมภาพเหตุการณ์สำคัญที่เคยเกิดขึ้นเมื่อ 20 ปีก่อนว่า เหตุการณ์พิบัติภัยครั้งร้ายแรงครั้งนั้นเกิดขึ้นอย่างไร
เวลา 07.58 น. ตามเวลาท้องถิ่นบนเกาะสุมาตรา ซึ่งเป็นเวลาเดียวกันกับประเทศไทย ได้เกิดแผ่นดินไหวรุนแรงจากแผ่นเปลือกโลกที่บริเวณร่องลึกซุนดรา (Sundra trench) ที่เกิดการยุบตัวของเปลือกโลกบริเวณรอยต่อของแผ่นธรณีอินเดีย (Indian plate) กับแผ่นธรณีพม่า (Burma microplate) ทำให้เกิดแรงสั่นสะเทือนขนาด 9.1 โดยมีจุดเหนือศูนย์เกิดแผ่นดินไหวอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของเกาะสุมาตรา และสามารถรับรู้ได้ในหลายประเทศไม่ว่าจะเป็นอินโดนีเซีย มาเลเซีย เมียนมา และไทย
Skip เรื่องแนะนำ and continue readingเรื่องแนะนำ
Quit of เรื่องแนะนำ
สถานีสังเกตการณ์ที่สถาบันเทคโนโลยีแห่งแคลิฟอร์เนียระบุว่า แผ่นดินไหวครั้งนั้นทำให้เกิดรอยปริแตกจากจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหว และเคลื่อนตัวไปทางเหนือตามรอยเลื่อนด้วยความเร็วประมาณ 2 กม. ต่อวินาที ยาวนานราว 10 นาที โดยรอยปริแตกดังกล่าวมีขนาดยาวถึง 1,500 กิโลเมตร ถือว่ามากที่สุดเท่าที่ถูกบันทึกมา จึงทำให้เกิดระนาบคลื่นที่สามารถเคลื่อนที่ได้ไปไกลถึงชายฝั่งประเทศเม็กซิโก ชิลี และแถบอาร์กติก ด้วยความเร็วและรุนแรง
เวลา 8.30 น. คลื่นยักษ์สึนามิที่เกิดจากแผ่นดินไหวเข้าถล่มชายฝั่งตะวันตกของเกาะสุมาตรา โดยพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายมากที่สุดคือ จังหวัดอาเจะห์ ทางตอนเหนือของเกาะสุมาตรา ซึ่งมีผู้เสียชีวิตกว่า 160,000 ราย
เวลา 09.30 น. พบว่ามีน้ำทะเลแห้งบริเวณชายหาดของประเทศไทย รวมถึงชายฝั่งทางใต้ของเมียนมาและบังกลาเทศ ก่อนที่จะมีคลื่นลูกที่สองสูงประมาณ 2-3 เมตรเข้ากระทบฝั่ง แล้วตามมาด้วยคลื่นที่มีความสูงกว่าราว 6-7 เมตร
เวลา 10.03 น. คลื่นลูกที่ 3 ที่มีความสูงกว่า 10 เมตร ซัดถล่มชายฝั่งของไทยเป็นระยะเวลา 20 นาที ตามมาด้วยคลื่นลูกที่ 4 สูง 5 เมตร เข้ากระทบชายฝั่งและทำให้เกิดน้ำท่วมอยู่ประมาณ 1 ชั่วโมง ก่อนที่น้ำทะเลจะกลับสู่ระดับปกติในเวลาประมาณ 12.00 น. ของวันเดียวกัน
ในเวลาไล่เลี่ยกันกับประเทศไทยช่วง 10.00 น. คลื่นยักษ์สึนามิได้พัดถล่มในหลายประเทศ รวมไปถึงศรีลังกา และชายฝั่งทะเลของอินเดีย ตลอดจนพื้นที่บางส่วนด้านชายฝั่งทะเลอันดามันของมาเลเซีย
ไม่เพียงบ้านเรือน สิ่งปลูกสร้างที่ได้รับความเสียหายเป็นวงกว้าง คลื่นยักษ์ยังทำลายพืชพรรณต่าง ๆ โดยคลื่นได้ซัดกินเข้าไปในแผ่นดินหลายร้อยเมตร เรือบรรทุกสินค้าพลิกคว่ำ บางลำถูกซัดขึ้นไปอยู่บนต้นไม้ มีการประเมินว่า ความเสียหายทั้งหมดประมาณ 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 340,000 ล้านบาท
ความเสียหายที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งที่เกินความคาดหมายเนื่องจากเป็นภัยพิบัติที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
ภารกิจการกู้ภัย การค้นหาผู้รอดชีวิตและผู้สูญหาย ตลอดจนการเก็บกู้ร่างผู้เสียชีวิต จึงต้องระดมสรรพกำลังทั้งกองทัพของไทยและเจ้าหน้าที่บรรเทาสาธารณภัยต่าง ๆ รวมทั้งหน่วยกู้ภัยนานาชาติ จากประเทศที่เคยมีประสบการณ์มาก่อน เช่น ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย เยอรมนี และฝรั่งเศส
ความท้าทายอีกประการในการจัดการกับวิกฤตในครั้งนี้คือ การจัดการกับร่างของผู้เสียชีวิตจำนวนมากในขณะที่การพิสูจน์อัตลักษณ์ส่วนบุคคลกลายเป็นงานใหญ่และต้องใช้ระยะเวลาในการดำเนินการเป็นระยะเวลาหลายปี โดยมีการจัดสถานที่เก็บศพไว้ที่สุสานชาวไทยใหม่ ที่บริเวณหาดไม้ขาว อ.ถลาง จ.ภูเก็ต
ข้อมูลจากศูนย์อำนวยการบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย ณ วันที่ 11 ต.ค. 2548 ระบุว่า เหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิครั้งนั้น ได้คร่าชีวิตคนไป 5,395 คน แบ่งเป็นคนไทย 2,059 คน ชาวต่างชาติ 2,436 คน และยังไม่ระบุสัญชาติอีก 900 คน ขณะที่ผู้สูญหายมีจำนวนทั้งสิ้น 2,817 คน เป็นคนไทย 1,921 คน และต่างชาติ 896 คน
ในจำนวนนี้มีผู้สูญหายที่ จ.พังงา มากที่สุด 1,655 คน
แม้ว่าเวลาจะผ่านไปแล้วกว่า 20 ปี เหตุการณ์ครั้งประวัติศาสตร์นี้ได้กลายเป็นบทเรียนสำคัญต่อรัฐบาลในหลายประเทศ รวมทั้งภาคประชาชนในการให้ความสำคัญกับระบบเตือนภัยทางทะเล จากการเกิดคลื่นยักษ์ รวมทั้งมาตรการรับมือ กู้ภัยและการเยียวยาฟื้นฟู ในกรณีประสบภัยธรรมชาติดังกล่าว
ที่มา BBC.co.uk