
ใครจะเป็นผู้ชนะในการแข่งขันพัฒนา “หุ่นยนต์คล้ายมนุษย์” ?

ที่มาของภาพ : Getty Photos
Article files
- Creator, แครรี คิง และเบ็น มอร์ริส
- Feature, บีบีซีนิวส์
ในเช้าที่แจ่มใสวันหนึ่งของฤดูใบไม้ผลิในเมืองฮันโนเวอร์ ประเทศเยอรมนี ฉันกำลังเดินทางไปพบกับ…หุ่นยนต์ตัวหนึ่ง
ฉันได้รับเชิญให้ไปเจอกับ “จีวัน” (G1) หรือหุ่นยนต์ฮิวแมนนอยด์ หุ่ยยนต์ที่มีรูปร่างอย่างมนุษย์ ที่สร้างโดยบริษัทสัญชาติจีนอย่าง “ยูนิทรี” (Unitree) ณ งาน ฮันโนเวอร์ เมสเซอร์ (Hannover Messe) ซึ่งเป็นหนึ่งในมหกรรมแสดงสินค้าอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดในโลก
ด้วยความสูงประมาณ 130 เซนติเมตร G1 ตัวเล็กกว่าและราคาย่อมเยากว่าหุ่นยนต์ฮิวแมนนอยด์รุ่นอื่น ๆ ในตลาด และมีการเคลื่อนไหวที่ลื่นไหลคล่องแคล่วมากจนคลิปวิดีโอที่มันเต้นและแสดงศิลปะการต่อสู้กลายเป็นไวรัลบนอินเทอร์เน็ต
วันนี้ G1 ถูกควบคุมจากระยะไกลโดย เปโดร เจิ้ง ผู้จัดการฝ่ายขายของ Unitree เขาอธิบายว่าลูกค้าแต่ละคนต้องเป็นผู้โปรแกรมให้ G1 สามารถทำงานได้อย่างอิสระเอง
ผู้คนที่เดินผ่านไปมาต่างหยุดและพยายามมีปฏิสัมพันธ์กับเจ้า G1 อย่างตั้งใจ แตกต่างจากเครื่องจักรกลอื่น ๆ อีกหลายตัวที่จัดแสดงอยู่ในห้องประชุมขนาดใหญ่นี้
Skip ได้รับความนิยมสูงสุด and proceed readingได้รับความนิยมสูงสุด
Conclude of ได้รับความนิยมสูงสุด
พวกเขายื่นมือออกไปจับมือกับ G1 ขยับตัวอย่างรวดเร็วเพื่อดูว่าหุ่นจะตอบสนองหรือไม่ พวกเขาต่างหัวเราะเมื่อ G1 โบกมือหรือเอนตัวไปด้านหลัง และเอ่ยขอโทษเมื่อบังเอิญชนกับหุ่นยนต์ ราวกับว่ามีบางอย่างเกี่ยวกับรูปร่างที่เหมือนมนุษย์ของมันที่แม้จะดูแปลกประหลาด แต่กลับทำให้ผู้คนรู้สึกผ่อนคลายได้
Unitree เป็นเพียงหนึ่งในหลายสิบบริษัททั่วโลกที่กำลังพัฒนาหุ่นยนต์ในรูปแบบมนุษย์
ศักยภาพที่เป็นไปได้ของพวกมันยิ่งใหญ่มาก สำหรับธุรกิจ หุ่นยนต์เหล่านี้สัญญาว่าจะเป็นแรงงานที่ไม่ต้องการวันหยุดหรือขอขึ้นเงินเดือน
มันอาจกลายเป็นเครื่องใช้ในบ้านที่สมบูรณ์แบบที่สุดด้วยเช่นกัน ท้ายที่สุดแล้ว ใครเล่าจะไม่ต้องการเครื่องซักผ้าที่สามารถซักผ้าและวางจานซ้อนกันในเครื่องล้างจานได้
แต่ยังต้องให้เวลากับเทคโนโลยีประเภทนี้อีกมาก แม้ว่าแขนกลและหุ่นยนต์เคลื่อนที่จะถูกใช้อย่างแพร่หลายในโรงงานและโกดังมานานหลายสิบปี แต่สภาพแวดล้อมในที่ทำงานเหล่านั้นสามารถควบคุมได้ และสามารถรับประกันความปลอดภัยของคนงานได้
การนำหุ่นยนต์ฮิวแมนนอยด์เข้าไปในสภาพแวดล้อมที่คาดเดายาก เช่น ร้านอาหารหรือในบ้าน เป็นปัญหาที่ยากกว่ามาก
หุ่นยนต์ฮิวแมนนอยด์จะต้องมีความแข็งแรงเพื่อที่จะมีประโยชน์ต่อผู้ใช้งาน แต่สิ่งนี้ก็ทำให้มันมีอันตรายได้เช่นกัน เพียงแค่ล้มผิดที่ผิดทางเล็กน้อยมันก็อาจเป็นอันตรายได้
ด้วยเหตุนี้จึงยังต้องมีการพัฒนาเกี่ยวกับปัญญาประดิษฐ์ที่จะควบคุมเครื่องจักรลักษณะนี้
“เอไอยังไปไม่ถึงจุดที่จะเรียกว่าเป็นการพัฒนาแบบก้าวกระโดด” โฆษกของ Unitree บอกกับบีบีซี
“ปัญญาประดิษฐ์ในหุ่นยนต์ยุคปัจจุบันยังคงพบความยากลำบากในการใช้ตรรกะและเหตุผลพื้นฐาน เช่น การเข้าใจและทำงานที่ซับซ้อนต่าง ๆ ให้สำเร็จลุล่วงอย่างมีเหตุผล”
ขณะนี้ G1 จึงถูกวางตำแหน่งการตลาดไว้สำหรับสถาบันวิจวิจัยและบริษัทเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่สามารถใช้ซอฟต์แวร์แบบโอเพนซอร์สของ Unitree เพื่อการพัฒนาต่อยอดได้
ในขณะนี้ ผู้ประกอบการส่วนใหญ่กำลังมุ่งพัฒนาหุ่นยนต์ฮิวแมนนอยด์สำหรับงานคลังสินค้าและโรงงาน
อีลอน มัสก์ คือหนึ่งในตัวอย่างที่ได้รับความสนใจสูงสุด บริษัทผลิตรถยนต์ของเขาอย่างเทสลา กำลังพัฒนาหุ่นยนต์ฮิวแมนนอยด์ชื่อ “Optimus” ออปติมัส ซึ่งมัสก์เคยระบุไว้เมื่อเดือน ม.ค. ที่ผ่านมาว่า จะผลิตออกมา “หลายพันตัว” ภายในปีนี้ และเขาคาดว่าหุ่นยนต์เหล่านี้จะทำงาน “ที่มีประโยชน์” ในโรงงานของเทสลา
ขณะเดียวกัน ผู้ผลิตรถยนต์รายอื่นก็เริ่มเดินตามเส้นทางเดียวกัน เช่น BMW เพิ่งนำหุ่นยนต์ฮิวแมนนอยด์เข้าไปใช้งานในโรงงานที่สหรัฐอเมริกา ส่วนบริษัท Hyundai ของเกาหลีใต้ก็ได้สั่งซื้อหุ่นยนต์หลายหมื่นตัวจากบริษัท Boston Dynamics ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตหุ่นยนต์ที่ Hyundai เข้าซื้อกิจการมาในปี 2021
โทมัส แอนเดอร์สัน ผู้ก่อตั้งบริษัทวิจัย STIQ ได้ติดตามบริษัททั้งหมด 49 แห่งที่กำลังพัฒนาหุ่นยนต์ฮิวแมนนอยด์ ซึ่งมีลักษณะสองแขนสองขา และหากขยายขอบเขตให้รวมถึงหุ่นยนต์ที่มีสองแขนแต่เคลื่อนที่ด้วยล้อด้วย จำนวนบริษัทที่เขาติดตามจะเพิ่มเป็นมากกว่า 100 แห่ง
แอนเดอร์สันมองว่า บริษัทจีนมีแนวโน้มจะครองตลาดในอนาคต
“จีนมีห่วงโซ่อุปทานและระบบนิเวศที่สนับสนุนอุตสาหกรรมหุ่นยนต์อย่างกว้างขวาง ทำให้การทดลอง การพัฒนา และการวิจัยสามารถดำเนินไปได้อย่างรวดเร็วและง่ายดาย” เขากล่าว
Unitree เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของข้อได้เปรียบนี้ หุ่นยนต์ G1 ของบริษัทมีราคาถูกมากเมื่อเทียบกับหุ่นยนต์อื่น ๆ โดยมีราคาขายที่โฆษณาไว้เพียง 16,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 560,000 บาท
แอนเดอร์สันยังชี้ให้เห็นว่าการลงทุนส่วนใหญ่ในตลาดนี้เทไปที่ประเทศในเอเชีย
รายงานล่าสุดของ STIQ ระบุว่าเงินลงทุนเกือบ 60% ของเม็ดเงินทั้งหมดที่ใช้ในการพัฒนาหุ่นยนต์ฮิวแมนนอยด์ อยู่ในเอเชีย ส่วนที่เหลือส่วนใหญ่อยู่ที่สหรัฐอเมริกา
บริษัทจีนยังมีข้อได้เปรียบเพิ่มเติมจากการสนับสนุนของรัฐบาลทั้งระดับประเทศและท้องถิ่น
เช่น ที่นครเซี่ยงไฮ้ มีศูนย์ฝึกอบรมหุ่นยนต์ที่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ ซึ่งมีหุ่นยนต์ฮิวแมนนอยด์หลายสิบตัวกำลังเรียนรู้และฝึกฝนทำงานต่าง ๆ อยู่ที่นั่น

ที่มาของภาพ : Getty Photos
เช่นนั้นแล้วผู้ผลิตหุ่นยนต์ในสหรัฐฯ และยุโรปจะสามารถแข่งขันกับจีนได้อย่างไร ?
เบรน เพียร์ซ ผู้ประกอบการจากเมืองบริสตอลในอังกฤษ ซึ่งก่อตั้งบริษัทหุ่นยนต์มาแล้วสามบริษัท และล่าสุดคือ Kinisi เพิ่งเปิดตัวหุ่นยนต์รุ่นใหม่ KR1
แม้ว่าหุ่นยนต์รุ่นนี้จะถูกออกแบบและพัฒนาในสหราชอาณาจักร แต่การผลิตจริงจะทำในเอเชีย
“ปัญหาของบริษัทในยุโรปหรืออเมริกาคือ คุณยังต้องซื้อชิ้นส่วนย่อยเหล่านี้จากจีนตั้งแต่แรกอยู่แล้ว” เขาอธิบาย
“มันกลายเป็นเรื่องที่ไม่สมเหตุสมผลที่คุณจะซื้อแบตเตอรี่ มอเตอร์ หรือตัวต้านทานไฟฟ้า แล้วขนส่งมันข้ามโลกเพื่อมาประกอบในยุโรป ในเมื่อคุณสามารถประกอบทุกอย่างเสร็จที่ต้นทางในเอเชียได้เลย”
นอกจากการผลิตหุ่นยนต์ในเอเชียแล้ว เพียร์ซยังลดต้นทุนด้วยการไม่พัฒนาหุ่นยนต์ให้มีรูปร่างเหมือนมนุษย์อย่างเต็มตัว
KR1 ถูกออกแบบมาเพื่อใช้งานในโกดังและโรงงานอุตสาหกรรมโดยเฉพาะ ดังนั้นมันจึงไม่มีขา
“สถานที่เหล่านี้ล้วนแต่มีพื้นราบเรียบ แล้วทำไมเราถึงจะต้องแบกรับค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นจากการออกแบบที่ซับซ้อน ทั้งที่เราสามารถติดตั้งมันบนฐานที่เคลื่อนที่ด้วยล้อได้ง่าย ๆ?” เขาตั้งคำถาม
KR1 จะใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตออกมาเป็นจำนวนมากอยู่แล้วในทุกจุดที่เป็นไปได้ เช่น ล้อที่ใช้ก็เป็นล้อแบบเดียวกับที่คุณสามารถพบเห็นได้ในสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าทั่วไป
“ปรัชญาของผมคือ ซื้อทุกอย่างที่มีขายตามท้องตลาดทั่วไปมาใช้ให้ได้มากที่สุด ดังนั้น มอเตอร์ แบตเตอรี่ คอมพิวเตอร์ กล้อง ทั้งหมดล้วนเป็นชิ้นส่วนที่มีการผลิตจำนวนมากและหาซื้อได้ง่ายในเชิงพาณิชย์” เพียร์ซกล่าว
เพียร์ซบอกว่า “หัวใจสำคัญ” ที่แท้จริงคือซอฟต์แวร์ที่ช่วยให้หุ่นยนต์สามารถทำงานร่วมกับมนุษย์ได้ เช่นเดียวกับคู่แข่งอย่าง Unitree
“บริษัทจำนวนมากสร้างหุ่นยนต์เทคโนโลยีสูง แต่สุดท้ายคุณกลับต้องมีปริญญาเอกด้านหุ่นยนต์เพื่อที่จะใช้งานมันได้”
“สิ่งที่เรากำลังออกแบบ คือ หุ่นยนต์ที่เรียบง่ายมาก ๆ จนคนงานในคลังสินค้าหรือโรงงานทั่วไปสามารถเรียนรู้ที่จะใช้งานมันได้ภายในเวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมง”
เขากล่าวว่า KR1 สามารถทำงานได้เองหลังจากที่ได้รับการฝึกจากมนุษย์แค่ประมาณ 20-30 ครั้งเท่านั้น
ปัจจุบัน KR1 กำลังเตรียมส่งให้ลูกค้ากลุ่มทดลองเพื่อทดสอบการใช้งานจริงภายในปีนี้

ที่มาของภาพ : Kinisi
แล้วหุ่นยนต์จะสามารถก้าวออกจากโรงงานไปสู่การใช้งานในบ้านได้จริงหรือไม่ ? แม้แต่เพียร์ซ ผู้ที่มองโลกในแง่ดีก็ยอมรับว่ายังอีกไกล
“ความฝันระยะยาวตลอด 20 ปีที่ผ่านมาของผม คือการสร้างหุ่นยนต์ที่ทำได้ทุกอย่าง นั่นคืองานวิจัยในระดับปริญญาเอกของผม” เพียร์ซกล่าว
“ผมเชื่อว่านั่นคือเป้าหมายสูงสุด แต่ก็เป็นงานที่ซับซ้อนมาก”
“ผมยังเชื่อว่าในที่สุดเราจะมีหุ่นยนต์แบบนั้นได้ แต่คงต้องใช้เวลาอย่างน้อยอีก 10 ถึง 15 ปี”
ที่มา BBC.co.uk