“ฉันดื่มเพื่อเข้าสังคมจนตับพังตอนอายุ 31”

ที่มาของภาพ, Daniel Taylor-Sweet / BBC

คำบรรยายภาพ, แพทย์สั่งให้เฮเซล มาร์ติน ผู้สื่อข่าวบีบีซี งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด

Article recordsdata

  • Author, เฮเซล มาร์ติน
  • Characteristic, บีบีซี พานอรามา

ตอนที่ฉันมีอายุได้ 31 ปี หมอบอกว่าหากยังไม่เลิกดื่มแอลกอฮอล์ ฉันอาจจะต้องตาย

ตอนนั้นฉันรู้สึกช็อก เพราะตัวเองไม่ใช่คนที่ติดการดื่มเป็นประจำทุกวัน ฉันไม่เคยนั่งดื่มคนเดียว และสาเหตุที่ดื่มในบางครั้งก็เพียงเพราะฉันชอบการเข้าสังคม ไม่ใช่เพราะต้องพึ่งพาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นนิสัย เนื่องจากมีปมปัญหาในชีวิตแต่อย่างใด

แต่เมื่อพิจารณาจากนิยามทางการแพทย์แล้ว การดื่มหรือบริโภคแอลกอฮอล์ของฉันตั้งแต่ช่วงวัยรุ่นตอนปลายจนถึงช่วงอายุใกล้จะขึ้นเลขสาม ถือได้ว่าเป็นการดื่มจัดหรือดื่มหนักอย่างแท้จริง ตัวฉันเองไม่รู้สึกว่ามันเป็นพฤติกรรมที่ผิดปกติ เพราะคนรอบข้างต่างก็ทำแบบเดียวกัน จนตอนนี้ผลร้ายของมันตามมาสนองกับตัวของฉันเองแล้ว

ไม่นานมานี้ฉันเพิ่งมีลูกคนแรก และต้องไปพบแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป (GP) เพราะรู้สึกเหนื่อยตลอดเวลา ซึ่งแพทย์ได้สั่งให้ฉันรับการตรวจเลือดหลายรายการ รวมทั้งตรวจการทำงานของตับด้วย

ผลการตรวจสอบเพิ่มเติมออกมาว่า ฉันมีภาวะพังผืดที่ตับ (liver fibrosis) ขั้นร้ายแรง อันเนื่องมาจากการดื่มแอลกอฮอล์ ภาวะนี้คือการอักเสบของเนื้อตับจนเกิดแผลเป็นอยู่เต็มไปหมด ซึ่งเป็นไปได้มากที่สุดว่า ความเสียหายของตับนี้มาจากนิสัยการดื่มในอดีตของฉันนั่นเอง

Skip เรื่องแนะนำ and continue studyingเรื่องแนะนำ

Terminate of เรื่องแนะนำ

หลังได้รู้ผลการตรวจร่างกายที่โรงพยาบาล ฉันเดินลากขากลับบ้านและดันรถเข็นเด็กของลูกสาวไปข้างหน้าด้วยความรู้สึกหนักอึ้งมึนงง ในหัวสมองก็คิดไปว่า เรื่องสุดแสนเหลือเชื่อเกินความคาดหมายเช่นนี้ ไม่น่าจะเกิดขึ้นกับฉันเพียงคนเดียวอย่างแน่นอน

ด้วยสาเหตุที่เล่ามาดังข้างต้น ฉันจึงเกิดความต้องการที่จะเรียนรู้ให้มากขึ้น เกี่ยวกับวัฒนธรรมการดื่มแอลกอฮอล์ของคนในสหราชอาณาจักร และได้เริ่มค้นคว้าหาข้อมูล เพื่อผลิตสารคดีให้กับรายการพานอรามาของบีบีซี (BBC Panorama)

ปัจจุบันอัตราการเสียชีวิตด้วยสาเหตุจากการดื่มแอลกอฮอล์ของสหราชอาณาจักร อยู่ที่ระดับสูงสุดนับตั้งแต่เริ่มมีการเก็บสถิติมาในปี 2001 และในขณะที่พบปัญหาการดื่มจัดในกลุ่มผู้ชายมากกว่ากลุ่มผู้หญิง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มชายสูงวัย แต่ทว่าผู้หญิงที่อายุต่ำกว่า 45ปี ก็เริ่มเสียชีวิตด้วยโรคตับที่เกี่ยวข้องกับการดื่มแอลกอฮอล์ (ARLD) กันมากขึ้นกว่าเดิม ตัวเลขสถิติทั้งหมดนี้มาจากข้อมูลระหว่างปี 2001-2022 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ (ONS)

คำบรรยายภาพ, พญ.เด็บบี ชอว์ครอสส์ อาจารย์แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคตับบอกว่า ทุกวันนี้มีคนหนุ่มสาวจำนวนมากขึ้น ที่ต้องเข้ารับการรักษาโรคตับและภาวะตับวาย

หากเราดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมากในคราวเดียว เช่นในขณะที่ออกไปเที่ยวตอนกลางคืน มันจะสร้างความเสียหายแก่ร่างกายได้มากกว่า เมื่อเทียบกับการดื่มระดับปานกลางด้วยปริมาณที่เท่ากันทุกครั้งในระยะยาว

ผลการศึกษาล่าสุดซึ่งจัดทำโดยทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยชั้นนำของสหราชอาณาจักร ทั้งยูซีแอล (UCL), อ็อกซ์ฟอร์ด, และเคมบริดจ์ ต่างชี้ว่าการดื่มแอลกอฮอล์แบบกระดกรวดเดียวในปริมาณมาก จะสร้างความเสียหายต่อตับได้มากกว่าถึง 4 เท่า

เมื่อเราพูดถึงการดื่มหนักแบบเมาหัวราน้ำ ผู้คนมักจะคิดถึงภาพของบรรดาขี้เหล้าพากันเดินโซซัดโซเซออกมาจากผับ ก่อนจะไปล้มฟุบหมดสติกองกันอยู่ตามป้ายรถประจำทาง แต่ในความเป็นจริงแล้ว ปริมาณแอลกอฮอล์ที่ทางการแพทย์ถือว่าเป็นการดื่มจัดนั้น น้อยกว่าที่คนทั่วไปจินตนาการเอาไว้มาก

นิยามของหน่วยงานด้านสุขภาพในสหราชอาณาจักร กำหนดว่าการดื่มแอลกอฮอล์ตั้งแต่ 6 หน่วยขึ้นไปในคราวเดียว หรือสองแก้วไวน์ขนาดใหญ่ ถือว่าเป็นการดื่มหนักสำหรับผู้หญิง ส่วนปริมาณแอลกอฮอล์ที่ถือว่าเข้าข่ายการดื่มจัดของผู้ชายนั้น อยู่ที่ตั้งแต่ 8 หน่วยขึ้นไป

แพทย์หญิงเด็บบี ชอว์ครอสส์ อาจารย์แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคตับ ประจำโรงพยาบาลของราชวิทยาลัยหรือคิงส์คอลเลจ (KCL) ในกรุงลอนดอน บอกกับฉันว่าคนไข้ส่วนใหญ่ที่มักจะมารับการรักษาจากเธออยู่เป็นประจำ คือผู้หญิงทำงานมืออาชีพในวัยเลข 4 หรือเลข 5

“พวกเธอต่างมีงานล้นมือที่ต้องทำ และอาจจะต้องรับผิดชอบครอบครัวโดยเลี้ยงลูกที่ยังเล็กไปด้วย ผู้หญิงกลุ่มนี้ไม่ใช่คนติดสุรา แต่อาจจะดื่มมากเกินไปบ่อยครั้งจนเป็นนิสัย” พญ.ชอว์ครอสส์กล่าว

แม้จะยังมีอายุไม่ถึง 40 ปี แต่สิ่งที่คุณหมอชอว์ครอสส์พูดมา ตรงกับชีวิตของฉันหมดทุกอย่าง ในตอนที่อายุยังน้อยกว่านี้ ฉันมักจะดื่มแอลกอฮอล์เกินพิกัดได้ง่ายมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อออกไปเที่ยวหรือดื่มสังสรรค์กับเพื่อนในตอนกลางคืน ซึ่งฉันไม่เคยคิดว่ามันจะเป็นเรื่องเสียหายอะไรเลย จนกระทั่งได้รับผลตรวจร่างกายจากโรงพยาบาล

หลังผลตรวจในขั้นต้นชี้ว่ามีความผิดปกติ ฉันก็ถูกส่งตัวไปที่โรงพยาบาลนิววิกตอเรียในเมืองกลาสโกว์ เพื่อรับการตรวจตับด้วยคลื่นอัลตราซาวด์ รวมทั้งตรวจไฟโบรสแกน (fibroscan) ซึ่งกระบวนการทั้งหมดนี้กินเวลายาวนานราวหนึ่งปี

การตรวจไฟโบรสแกนหรือตรวจหาพังผืด คือการตรวจด้วยคลื่นอัลตราซาวด์จากภายนอกร่างกาย เพื่อวัดความแข็งกระด้างของเนื้อตับ ผลปรากฏว่าตับของฉันมีค่าความแข็งตัวที่ 10.2 kPA (หน่วยบอกระดับของออกซิเจนในเลือด) ซึ่งถือว่าสูงเกินระดับของคนปกติไปมาก เพราะคนที่มีสุขภาพตับดีจะมีค่านี้ไม่เกิน 7 kPA เท่านั้น

ผลตรวจดังกล่าวแสดงว่าตับของฉันมีความเสียหายหนัก จนเกิดรอยแผลเป็นหรือพังผืดอยู่ทั่วไปหมด และหากไม่มีการตรวจพบแต่เนิ่น ๆ รวมทั้งหยุดการดื่มแอลกอฮอล์ลงในทันที โรคอาจลุกลามจนกลายเป็นภาวะตับแข็ง (cirrhosis) ซึ่งมีอันตรายถึงชีวิตได้

ฉันได้รับผลตรวจนี้เมื่อเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา โดยแพทย์ประจำตัวของฉันคือ นพ.ชูเรน ดัตตา บอกว่าหากฉันสามารถงดดื่มแอลกอฮอล์ได้อย่างเด็ดขาด ก็มีโอกาสที่พังผืดในเนื้อตับจะหายและฟื้นคืนสภาพกลับเป็นปกติได้

ที่มาของภาพ, Rachel Adam

คำบรรยายภาพ, เฮเซล (ซ้าย) กับเพื่อนสาว ขณะกำลังดื่มสังสรรค์กันในช่วงวัยรุ่น เธอถือว่าการดื่มแบบนี้เป็นเรื่องปกติธรรมดา

ฉันรู้สึกว่าตัวเองโชคดีมาก ที่ปัญหาสุขภาพถูกตรวจพบอย่างทันท่วงที ในตอนที่ยังไม่สายเกินกว่าจะพยายามแก้ไขมัน

อันที่จริงแล้วหมอตรวจพบโรคตับของฉัน เพราะตอนแรกฉันมาขอคำปรึกษาเรื่องที่รู้สึกเหนื่อยไม่มีเรี่ยวแรงอยู่ตลอดเวลา แต่โดยทั่วไปแล้ว โรคตับนั้นไม่มีสัญญาณบ่งบอกหรืออาการใด ๆ ที่เกิดนำมาก่อนอย่างชัดเจน ผู้ป่วย 7 ใน 10 คน ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคตับระยะสุดท้าย ไม่เคยล่วงรู้มาก่อนว่าตนเองมีโรคร้ายแฝงอยู่ จนกระทั่งถูกหามส่งโรงพยาบาลเพราะเกิดภาวะดีซ่าน, ตัวบวมน้ำ, หรือมีเลือดออกมากผิดปกติ

เอ็มมา โจนส์ วัย 39 ปี คือผู้ที่เคยผ่านประสบการณ์อันน่าตื่นตระหนกดังข้างต้นมาก่อน เธอมาจากแคว้นเวลส์ทางตอนเหนือ และเราได้พบกันหลังเธอเพิ่งผ่านการผ่าตัดปลูกถ่ายตับที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี

เอ็มมาก็เหมือนกับฉันที่เป็นนักดื่มเพื่อเข้าสังคมตัวยง เธอเคยมีอาชีพการงานที่ดี และได้ร่วมกิจกรรมสังสรรค์กับเพื่อนฝูงอยู่เสมอ แต่ระหว่างการระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 ที่มีการล็อกดาวน์และการเว้นระยะห่างทางสังคม ชีวิตของเธอเริ่มตกต่ำลง จนในช่วงที่สถานการณ์เลวร้ายที่สุด เธอดื่มไวน์อย่างหนักถึงวันละ 3 ขวด

คำบรรยายภาพ, เอ็มมาบอกว่าเธอยังโชคดีที่รอดชีวิตมาได้

เอ็มมาถูกส่งตัวเข้าโรงพยาบาล และได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคตับระยะสุดท้าย ซึ่งหมอบอกว่าเธอจะมีชีวิตอยู่ได้ไม่เกิน 36 ชั่วโมงเท่านั้น

แต่แล้วก็เกิดปาฏิหาริย์ เมื่อเอ็มมาสามารถรอดพ้นจากช่วงเวลาวิกฤตนั้นมาได้ และหลังจากที่งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นเวลานาน 6 เดือน ตามคำสั่งแพทย์ เธอก็พร้อมเข้ารับการผ่าตัดปลูกถ่ายตับ ซึ่งสำคัญและจำเป็นต่อการอยู่ดูโลกต่อไปของเธออย่างยิ่ง

ปัจจุบันสุขภาพของเอ็มมามีการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง แต่ชีวิตบางส่วนของเธอก็ต้องเปลี่ยนแปลงไปเช่นกัน เพราะนับแต่นี้เธอต้องรับยากดภูมิคุ้มกัน และยาต้านการปฏิเสธอวัยวะปลูกถ่ายไปตลอดชีวิต ซึ่งหมายความว่าร่างกายของเธอจะต่อสู้กับการติดเชื้อและโรคต่าง ๆ ได้ยากขึ้น

แต่ถึงกระนั้นก็ตาม เอ็มมาบอกว่าถึงอย่างไรเธอก็ยังมีชีวิตอยู่และสบายดี ทั้งตอนนี้เธอก็อยู่ในจุดที่ดีที่สุด เมื่อเทียบกับชีวิตที่ผ่านมา ฉันพบว่าตัวเองได้รับพลังความมุ่งมั่นและการมองโลกในแง่ดีของเธอติดตัวมาด้วย

“โมงยามของการดื่มเพื่อผ่อนคลาย”

ข้อมูลสถิติล่าสุดของ ONS ชี้ว่า นับตั้งแต่ปี 2018 เป็นต้นมา ในทุกปีโรคตับได้กลายเป็นหนึ่งในสาเหตุการตายหลัก 3 อันดับแรก ในหมู่ผู้หญิงอายุ 39-45 ปี “ปริมาณการดื่มของผู้หญิงเพิ่มมากขึ้นเป็นสองเท่า ภายในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ ไม่เกินสิบปีมานี้เอง” ศาสตราจารย์ฟีโอนา มีแชม ผู้เชี่ยวชาญด้านวัฒนธรรมการดื่มแอลกอฮอล์และใช้ยาเสพติด จากมหาวิทยาลัยลิเวอร์พูลกล่าว

งานวิจัยของเธอพบว่าในช่วงทศวรรษ 1990 และ 2000 อุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มุ่งเป้าเจาะตลาดไปยังกลุ่มผู้หญิงโดยตรง ผ่านการผลิตสินค้าอย่างเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รสชาติต่าง ๆ รวมทั้งเครื่องดื่มแบบช็อตที่พร้อมดื่มได้ทันทีออกวางตลาด บริษัทเหล่านี้ยังใช้กลยุทธ์การโฆษณาที่เน้นเนื้อหาเกี่ยวกับแนวคิดสตรีนิยม, การปลดปล่อย, และเพื่อนหญิงพลังหญิง มาเป็นเครื่องมือทางการตลาดที่ได้ผลอย่างมาก

ศ.มีแชม มองว่า แผนการตลาดในรูปแบบนี้ทำให้เกิดวัฒนธรรมการดื่มแอลกอฮอล์ในหมู่ผู้หญิง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับกลุ่มสตรีที่เป็นคนในรุ่นหรือยุคนั้นทั้งหมด ซึ่งต่อมาสิ่งนี้ทำให้เกิดพฤติกรรมการดื่มหนักที่ยังคงอยู่มาจนถึงปัจจุบัน

“สำหรับแนวโน้มในตอนนี้ เราพบว่าคนรุ่นใหม่ที่อายุยังน้อยบริโภคแอลกอฮอล์ลดลงอย่างมากและลดลงเร็วที่สุด ในขณะที่ผู้ใหญ่วัยกลางคน ซึ่งมีอายุอยู่ในวัยเลขสาม, เลขสี่, และเลขห้า กลับมีอัตราการบริโภคแอลกอฮอล์คงที่เหมือนเดิม” ศ. มีแชมกล่าว

ด้าน ศ.แครอล เอ็มส์ลี จากมหาวิทยาลัยกลาสโกว์คาลีโดเนียน เชื่อว่ากลยุทธ์ทางการตลาดที่มุ่งเจาะกลุ่มผู้หญิงเป็นหลักนี้ ยังคงนิยมทำกันอยู่ในวงกว้าง ในหมู่บริษัทผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปัจจุบัน โดยตอนนี้พวกเขาหันมาเน้นโฆษณาส่งเสริมให้ผู้หญิงมีเวลาดื่มผ่อนคลายเป็นประจำ โดยอาจจะเรียกว่า “โมงยามของการดื่มจิน” (gin’o clock) หรือ “เวลาไวน์” (wine time) ซึ่งพวกเขาอ้างว่าเป็นเวลาพักผ่อนและดูแลตัวเองของผู้หญิง หลังต้องเจองานหนักมาทั้งวัน

อย่างไรก็ตาม ทางบริษัทพอร์ตแมนกรุ๊ป (The Portman Neighborhood) ซึ่งเป็นตัวแทนของภาคอุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ชี้แจงว่า “แม้การเพิ่มขึ้นของผู้ป่วยโรคตับทั้งชายและหญิงซึ่งมีสาเหตุมาจากการดื่มแอลกอฮอล์ จะนับเป็นปัญหาที่น่าห่วงกังวลอย่างยิ่ง แต่ก็เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องจดจำไว้ด้วยว่า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นสินค้าที่ถูกกฎหมาย”

“มาตรฐานทางจริยธรรมในการค้าของเรานั้น ไม่มีข้อใดที่ห้ามทำการตลาดโดยมุ่งเจาะจงกลุ่มลูกค้าเพศใดเพศหนึ่งโดยเฉพาะ อย่างไรก็ตามเรามีข้อกำหนดขั้นต่ำ ในเรื่องที่ผู้ผลิตต้องทำการตลาดอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคม และเรายังคงยึดมั่นที่จะส่งเสริมนิสัยการดื่มแต่พอประมาณต่อไป และจะควบคุมให้ภาคอุตสาหกรรมของเรามีความรับผิดชอบ”

หลายเดือนหลังจากที่ได้รับการวินิจฉัยโรคครั้งแรก ฉันกลับไปทำการตรวจไฟโบรสแกนเพื่อดูพังผืดในตับอีกครั้ง ผลที่ออกมาทำให้รู้สึกโล่งใจ เพราะตอนนี้ค่าความแข็งของตับฉันลดลงจาก 10.2 มาเป็น 4.7 แล้ว ซึ่งถือว่าอยู่ในช่วงที่ปกติเหมือนคนที่มีสุขภาพดีโดยทั่วไป

ฉันรู้สึกอัศจรรย์ใจอย่างมากกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในเวลาอันสั้น นับแต่นี้ไปฉันไม่คิดจะกลับไปดื่มแอลกอฮอล์อีกแล้ว เนื่องจากเป็นพฤติกรรมที่แพทย์ไม่แนะนำ และเพราะรู้สึกว่าสุขภาพร่างกายดีขึ้นมาก หลังจากงดเว้นไม่ดื่มแอลกอฮอล์แม้แต่หยดเดียวมานานเกือบหนึ่งปี แม้จะยังรู้สึกอาลัยอาวรณ์มันอยู่บ้างก็ตาม

การดื่มแอลกอฮอล์นั้นเป็นสิ่งที่ถูกปลูกฝังกันมายาวนานในวัฒนธรรมของเรา จนรู้สึกว่าต้องดื่มกันในทุกเวลาและทุกโอกาส ซึ่งทำให้เรามองว่ามันเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่ใครก็ทำกัน ฉันเพิ่งรับรู้ว่าเราถูกสังคมกดดันให้ต้องดื่มมากแค่ไหน ในวันที่สังขารของตัวเองบังคับให้ต้องเลิกดื่มอย่างสิ้นเชิง

แม้การเลิกดื่มจะไม่ใช่เรื่องง่ายนัก เพราะคนเราต้องใช้เวลาปรับและตั้งโปรแกรมให้กับสมองของตัวเองใหม่ เพื่อที่จะไม่ยึดติดกับแอลกอฮอล์ว่าเป็นรางวัล เป็นตัวช่วยผ่อนคลาย หรือเป็นเครื่องมือในการเข้าสังคมให้สนุกสนานอีกต่อไป แต่ฉันเชื่อว่าผู้คนและสังคมจะมองหาทางออกกับประเด็นดังกล่าวได้ในเร็ววันนี้

รายงานเพิ่มเติมโดย แอมเบอร์ ลาทิฟ และเคิร์สตี บรูเวอร์